“ศาลและความยุติธรรม ?” ศาลต้องทำให้คนเห็นว่านั่นคือความยุติธรรม

27 กรกฎาคม 2565 ที่ห้องประชุมโฉมฉาย ชั้น3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อความยุติธรรมและสันติภาพ จัดวงเสวนาวิชาการ เรื่อง “ศาลและความยุติธรรม ?” 

ผู้ร่วมวงเสวนาคือ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อ.ดร.พัชร นิยมศิลป์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw และพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยมี กฤษณ์พชร โสมณวัตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการ 

คดีการเมืองพุ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์

พูนสุข พูนสุขเจริญ หรือทนายเมย์ กล่าวว่าในช่วงระยะเวลา 8 ปี ภายใต้รัฐบาล คสช. สิ่งที่ประเทศไทยถูกทำลายมากที่สุด คือ ระบอบ ‘นิติรัฐ’  ในการเก็บข้อมูลคดีของทางศูนย์ทนาย ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฏาคม 2563 นับจากการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ Free Youth ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในช่วงแรกนั้นมีการใช้มาตรา 116 เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งวันที่มีแถลงการณ์จากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วันที่ 19 พฤษจิกายน 2563 บอกประชาชน ว่าจะดำนเนิคดีกับผู้ชุมนุมในทุกมาตรา จึงเริ่มมีการใช้มาตรา 112 มากขึ้นจนถึงปัจจุบัน

“คำว่า ทุกมาตรา ของแถลงการณ์ฉบับนั้นหมายถึงมาตรา 112 จนถึงปัจจุบันนี้มีคนที่ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง ทั้งการชุมนุม การโพสข้อความต่างๆ 1,800 คน จากทั้งหมด 1,000 คดี เป็นจำนวนคดีที่ต้องบอกว่าไม่เคยพบมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มีประชาชนถูกดำเนินคดีมากขนาดนี้ในระยะเวลาเพียงสองปี”

พูนสุขกล่าวถึงจำนวนสถิติคดีที่มากที่สุด คือ คดีจากการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการห้ามการชุมนุม รองลงมา คือ คดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามกฎหมายอาญามาตรา 112 แลฃะพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสข้อความ กฎหมายอีกฉบับที่ถูกใช้มาก คือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แม้ว่าเมื่อประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วจะไม่ใช้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณก็ตาม แต่คนถูกดำเนินคดีก็ยังเยอะมาก ในระยะเวลาเพียง 2 ปี นับตั้งแต่ 18 กรกฎาคม 2563 มีการดำเนินคดีกับเยาวชนถึง 283 คน นับเป็นที่น่าตกใจ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้านั้นที่ศูนย์ทนายฯ ไม่มีลูกความที่เป็นเยาวชนเลย

ส่วนสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 206 คน โดยตัวเลขนี้อาจจะยังไม่ใช่ทั้งหมดที่ศูนย์ทนายทราบ เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาอาจไม่ได้หาทนายความ ส่วนคดีจากการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มากกว่า 1,464 คน 

“ใน 200 คดี ข้อสังเกตุคือ ครึ่งหนึ่ง 104 คดี เป็นประชาชนด้วยกันเองไปร้องทุกข์กล่าวโทษ อีกครึ่งหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อาจจะเป็นกระทรวงดีอี อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้อสังเกตุก็คือว่ามีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เอาตรงๆก็อาจจะเป็นทนายของคุณประยุทธ์ก็มีการกล่าวโทษมาตรา 112”

พูนสุขตั้งข้อสังเกตว่า กำไลติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EM นั้นไม่เคยถูกใช้มาก่อนในคดีทางการเมือง เคยมีการใช้ในคดียาเสพติด และคดีกลุ่มคนที่เรียกร้องสหพันธรัฐไทในช่วงปี 2561 ไม่กี่ราย แต่ในปัจจุบันมีนักกิจกรรมทางการเมืองถูกสั่งให้ติดกำไล EM แลกกับการประกันตัวอย่างแพร่หลาย เป็นจำนวนถึง 60-70 คน รวมถึงการกำหนดเวลาเข้าออกเคหะสถาน อย่างเช่น ‘ตะวัน’ ที่ถูกสั่งให้ต้องอยู่ในเคหะสถาน 24 ชั่วโมง หากตะวันไม่มีพ่อแม่เลี้ยงดูเขาจะยังชีพแบบไหน ผู้ต้องหาหลายคนจากกลุ่มทะลุแก๊ซ ต้องหารายได้เสริมด้วยตัวเอง เช่น การขับรถเป็นไรด์เดอร์ หรืออาชีพนวด ทำให้พวกเขาเจอปัญหาจากข้อกำหนดดังกล่าว

“ข้อสังเกตในเรื่องของการประกันตัว คือ คำสั่งอนุญาติหรือไม่อนุญาติในหลายๆครั้ง ศาลเขียนชัดเจนลงมาในคำสั่งว่าเป็นมติที่ประชุมของผู้บริหารศาล คำถามก็คือว่าผู้พิพากษานายเดียวมีอำนาจในการให้ประกัน แต่ว่าทำไมต้องเป็นมติผู้บริหารศาลในการทำคำสั่ง ถ้าสมมติบอกว่าเป็นคดีนโยบายเป็นคดีสำคัญที่ต้องมีผู้บริหารพิจารณา ถามว่าทำไมผู้บริหารศาลทั้งหมดไม่ลงชื่อในคำสั่ง เพราะว่าคุณมีมติมีความเห็นแต่คุณไม่ลงชื่อ ให้ผู้พิพากษาที่ทำคำสั่งเป็นผู้ลงชื่อคนเดียว ในทางกฎหมายคนรับผิดชอบคือคนที่เซนต์ คนที่ลงชื่อ” ทนายเมย์เล่า

การประท้วงที่ปัญหาไม่ถูกแก้ อาจนำไปสู่ความรุนแรง

อ.ดร.พัชร นิยมศิลป์ กล่าวถึงการบังคับใช้มาตรา 112 ในทุกวันนี้ที่คล้ายกับโรคระบาด พอยิ่งใช้ก็ยิ่งเพลิน ยิ่งเพลินก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ความน่ากลัวในมุมมองของเขา คือการที่รัฐบาลมีเครื่องมือที่เป็นกลไกลทางกฎหมาย และสามารถจำกัดเสรีภาพทางการชุมนุมโดยดูจากเนื้อหาได้ เช่น การระบุว่าสามารถชุมนุมเรื่องนี้ได้ หรือแสดงออกเรื่องนี้ไม่ได้ 

อ.ดร.พัชรเสริมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้มาตรา 112 คือ การจำกัดการใช้เนื้อหาโดยดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ว่าอย่างไรถึงจะถูกใจเจ้าหน้าที่ หรือผู้มีอำนาจ เรื่องนี้เป็นอัตวิสัย ถ้าเกิดปรากฎการณ์ว่า การประท้วงที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้มีอำนาจ จึงสามารถชุมนุมได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจไม่ชอบ และไม่อยากฟังจะเกิดการห้าม เสรีภาพในการชุมนุมจะไม่เป็นเสรีภาพเลย จะกลายเป็นอภิสิทธิ์ของคนบางกลุ่มเพียงเท่านั้น 

ย้อนกลับไปสมัยสมบูรณายาสิทธิราชย์ มีการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านหนังสือพิมพ์ เกิดโต้ตอบระหว่างพระมหากษัตริย์กับนักข่าวก็ไม่มีการใช้กฎหมายมาตรา 112 เข้ามาขัดขวาง ปัจจุบันกฎหมายมาตรา 112 นั้นพระมหากษัตริย์ไม่สามารถใช้เองได้ถ้าไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งการมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเพื่อหาคนรับผิดชอบ เพราะพระมหากษัตริย์ไม่สามารถรับผิดได้ตามหลัก ‘The king can do no wrong’ ตัวอย่างการวิจารณ์การจัดสรรงบประมาณ คนที่ต้องออกมารับผิดชอบอาจจะเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้านายกฯ ไม่อยากรับฟังข้อประท้วงก็จะใช้มาตรา 112 ในการห้ามชุมนุม

“ในหม้อน้ำมันจะมี stop valve ถ้าน้ำมันเดือดมากๆ มันจะต้องปล่อยไอน้ำออกมาไม่งั้นหม้อมันจะระเบิด การชุมนุมสาธารณะมันเป็น stop valve เป็นจุดที่ทำให้รัฐบาลเข้ามาดูว่าประชาชนเขาไม่พอใจเรื่องอะไร และในปัญหานั้นๆ เขาต้องการให้แก้ไขอย่างไร ถ้ารัฐบาลมองการชุมนุมสาธารณะว่าเป็นเครื่องทำให้รัฐบาลรู้ว่าประชาชนต้องการอะไร เขาจะสามารถหยิบข้อเรียกร้องเหล่านี้มาทำเป็นนโยบาย มาแก้ไขปัญหา มายุติข้อวิพากษ์ในสังคม มาทำให้สังคมของเราไปได้ไกลขึ้น ” 

“การประท้วงที่ได้รับการแก้ไขไม่น่ากลัว แต่หากเกิดการประท้วงแล้วปัญหาไม่ถูกแก้ไขจนเรื้อรัง อาจพัฒนาไปสู่ความรุนแรงได้”

พัชรตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมว่า มาตราฐานที่ศาลไทยถืออยู่นั้นเป็นมาตรฐานเดียวกับโลก หรืออารยประเทศไหม ทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มาตรฐานขั้นต่ำในกระบวนยุติธรรมในต่างประเทศ คือ การมีสิทธิที่จะได้รับแจ้งถึงเหตุแห่งความผิด หรือการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งสิ่งที่เกิดในประเทศไทยกลับกลายเป็นว่า เมื่อถูกจับกลับไม่ถูกแจ้งข้อหา ไม่ทราบว่าตนทำอะไรผิด การนำหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมาเป็นหลักเป็นฐานในประเทศไทย จึงสำคัญมากต่อการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศ

ยิ่งศาลปฏิเสธความเป็นการเมือง เท่ากับให้ประโยชน์แก่ผู้มีอำนาจ

อ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง กล่าวถึงบรรยากาศการเมืองภายในของสถาบันศาลว่า ศาลแต่ละศาลนั้นมีการตีความตัวบทกฎหมายของมาตรา 112 ต่างกัน บางศาลพยายามขยายขอยเขตของ 112 บางศาลตีความตามเดิม ศาลที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางจะมีการตีความตรงกับกฎหมายมากกว่าศาลที่อยู่ใก้ลศูนย์กลางอย่าง ศาลอาญาที่ถนนรัชดา ซึ่งโดยความจริงแล้วถ้ากฎหมายมันเป็นกฎหมาย การขึ้นศาลไหน หรือขึ้นศาลในปีต่างกัน สถานการณ์ทางการเมืองต่างกัน ก็ควรจะได้รับการตัดสินที่เหมือนกัน แต่ในไทยแค่ผู้พิพากษาคนละคนการพิพากษาก็แตกต่างกัน 

เข็มทองระบุว่า การที่ศาลปฎิเสธการรับทราบความเป็นการเมืองของมาตรา 112 นั้น ไม่ได้แปลว่าศาลเป็นกลาง ศาลมักจะย้ำว่าศาลไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร เพียงแต่เป็นผู้ใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ยิ่งศาลปฎิเสธการเมืองเท่ากับเป็นการเล่นการเมืองและให้เป็นประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจในการข่มเหงผู้บริสุทธิ์ 

เข็มทองยกตัวอย่างในกรณีการคุมขัง ‘บุ้งและใบปอ’ ว่า ที่จริงแล้วมันไม่ต้องใช้ความคิดในการดูว่า สภาพและสุขภาพของทั้งคู่เป็นอย่างไร นอกจากนั้นสภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่ไม่พร้อมดูแลผู้ป่วยที่กำลังวิกฤต เช่นวันก่อนโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังต้องขอหมอจากโรงพยาบาลตำรวจเพื่อมาดูแลทั้งสองคน แต่ศาลยังชี้ว่า สามารถดูแลได้

เข็มทองกล่าวว่า เมื่อเกิดอะไรขึ้นภายในศาล หน่วยงานภายนอกไม่สามารถตรวจสอบได้ อย่างกรณีผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ใช้ปืนยิงตัวเองจนเสียชีวิตในห้องพิจารณาคดี หน่วยงานภายนอกยังไม่สามารถเข้าตรวจสอบได้ ระบบเช่นนี้เป็นการปิดประตูตีแมว ที่คอยย้ำเตือนว่า ผู้พิพากษาเด็กๆอย่าหืออือกับผู้บริหารศาล เพราะไม่มีวันชนะ 

“ผมไม่ได้ขอให้ศาลลุกขึ้นมายกเลิก 112 กลางศาล ผมแค่ขอให้เขาใช้กฎหมายปัจจุบันให้เป็นกฎหมายจริงๆ ยิ่งในเรื่องการเมืองการที่คุณโอนอ่อนไปตามคำสั่งของผู้บริหารศาลแล้วยืนยันว่านั่นคือกฎหมาย ผมว่านั่นผิด สิ่งที่เราต้องการเห็นคือเรื่องสิทธิคุณก็ดูตามวิ.อาญา การตีความ 112 คุณก็ดูตามหลักกฎหมายอาญา นั่นคือการคืนความเป็นการเมืองของคดีพวกนี้ คืนให้ฝ่ายการเมือง คืนให้ตำรวจ เป็นการบอกว่าศาลจะไม่เป็นเครื่องมือคุณนะ เราจะตีความให้ถูกกฎหมาย เราจะมอบสิทธิให้ตามรัฐธรรมนูญ”

ศาลต้องทำให้คนเห็นว่านั่นคือความยุติธรรม

รศ.อร.สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวถึงบทบาทของอำนาจตุลาการในมุมมองทางปรัชญาสองแบบ แบบแรกยกมุมมองของนักปรัชญารุ่นเก่า ‘มอง เตสกีเออร์’ ว่าด้วยเรื่องกฎหมายที่ให้เสรีภาพทางการเมืองในส่วนที่สัมพันธ์กับพลเมือง ซึ่งระบุว่า ผู้พิพากษาควรจะเป็นปากที่เปร่งเสียงของกฎหมาย เมื่อกฎหมายเขียนอย่างไรผู้พิพากษาก็มีหน้าที่ตีความเช่นนั้น แม้กฎหมายจะดีหรือไม่ดีก็ตาม และปล่อยให้หน้าที่ของการแก้ไขกฎหมายก็ให้เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ 

ส่วนแบบที่สองมาจากหนังสืออาณาจักรของกฎหมาย ในหนังสือของ ‘โรนัลด์ ดอว์กิ้น’ นักปรัชญานิติศาสตร์ ชาวอเมริกัน ระบุว่าในเวลาที่ผู้พิพากษาตัดสิน ให้ใช้หลักการกฎหมายควบคู่กับบทบัญญัติของกฎหมาย ส่วนการตีความเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง เพราะเมื่อไรที่ใช้การตีความจะเป็นการขยายขอบเขตความสามารถของผู้พิพากษามากเกินไป จนไม่อาจไว้วางใจผู้พิพากษาได้

สมชายกล่าวต่อว่า การที่ตุลาการใช้กฎหมายไม่ตรงกับบทบัญญัติ สามารถเกิดได้ดังนี้ 1.เป็นเพราะความไม่รู้ การตีความหรือตัดสินเช่นนั้น ผู้ตัดสินอาจไม่รู้เจตนารมณ์ ไม่รู้กฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีสิ่งที่ยังไม่รู้อื่นๆ 2.ความกลัว กลัวการถูกเลื่อน ลด ปลด ย้าย จากการตัดสินไม่เป็นไปตามแนวทางเดียวกันในแวดวงตุลาการ 3.อุดมการณ์ของสถาบันตุลาการที่กระทบต่อการตัดสินใจ ในคดีชาวบ้านทั่วไปนั้น ศาลสามารถตัดสินตามวิชาปกติ แต่พอเป็นคดีความทางการเมือง กลับมีอำนาจนำบางอย่างในแวดวงตุลาการเข้ามาครอบ อาจเพราะอุดมการณ์ของตุลาการของไทยไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย และไม่เชื่อมโยงกับประชาชน

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุลกล่าวว่า ความเห็นต่างนั้นเป็นเรื่องธรรมดา มีแต่ศาลเท่านั้นที่เป็นอิสระและควบคุมฝ่ายบริหารของประเทศได้  หากฝ่ายบริหารทำอะไรแล้วไม่เคยผิด จะส่งผลให้เกิดการใช้อำนาจที่กระทบต่อสิทธิของประชาชน และเกิดผลประโยขน์ทับซ้อนตามมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในเมียนมาร์ แม้คำพิพากษาจะออกโดยศาล แต่สังคมโลกก็ไม่เชื่อว่านั่นคือคำสั่งที่เป็นอิสระ 

ปริญญาเสริมว่า หากศาลเป็นอิสระจริง การจับกุมส่งฟ้องนั้นควรเป็นแค่การกล่าวหา เป็นการกระทำของตำรวจซึ่งเป็นฝ่ายบริหารที่ศาลจะต้องกำกับตรวจสอบ ศาลจะต้องถือไว้ก่อนว่าคนเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ และเริ่มพิจารณาโดยใช้กฎหมายตามลำดับ ซึ่งเป็นหลักของ ‘presumption of innocence’ หรือการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าศาลให้คุมขังตามที่ตำรวจกล่าวหาทันทีแปลว่า ไม่มีใครตรวจสอบอำนาจของฝ่ายบริหารแล้ว

ปริญญากล่าวว่า เคยสงสัยว่าทำไมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาถึงเรียกการประกันตัวว่า ‘ปล่อยตัวชั่วคราว’ ซึ่งสื่อให้เห็นแนวคิดอีกอย่างหนึ่ง เมื่อไปค้นในหลักฐานในการร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว พบว่ามีการประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2477 แต่หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์นั้นมาภายหลัง คือ มีครั้งแรกในรัฐธรรมนูญพ.ศ.2492 โดยสรุปสิ่งที่เขียนไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาช่วงแรก คือ หลักการ ‘การสันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีความผิด’ นั่นเป็นสาเหตุที่ใช้คำว่าปล่อยตัวชั่วคราว เพราะการปล่อยตัวเป็นแค่เรื่องชั่วคราว 

ปริญญาอ่านตัวบทของรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรค 2 ที่บัญญัติไว้ว่า

“ในคดีอาญาจะต้องสันนิฐานไว้ก่อนผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฎิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้” 

ปริญญากล่าวว่า แต่ในพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 4 กลับเขียนไว้ชัดเจนว่า คนที่เป็นผู้บริสุทธิ์แต่ไม่ได้รับการประกันตัว หรือวงเงินประกันสูงจนประกันไม่ได้ จะนำไปฝากขังไว้รวมกับนักโทษในเรือนจำ นั่นจึงขัดต่อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรค 3 ยังบัญญัติไว้อีกว่า “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจําเลยให้กระทําได้เพียงเท่าที่จําเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” ฉะนั้นการที่ศาลไม่ให้ประกันตัวโดยที่ไม่เกี่ยวกับการหลบหนีนั้น แปลว่าท่านตัดสินล่วงหน้าไปแล้ว

“ความเห็นต่างในทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ หน้าที่ของศาลคือทำให้ทุกคนขัดแย้งกันภายใต้กติกา โดยศาลจะให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย หลักการทำงานศาลคือความยุติธรรมไม่เพียงแต่ทำให้เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ต้องทำให้คนเขาเห็นว่าที่ทำไปนั้นคือความยุติธรรม”

ปริญญากล่าวเสริมในเรื่องของมาตรา 112 ในมุมมองของฝ่ายความมั่นคงนั้นอาจจะมองว่า ขนาดโทษแรงยังกล้ากันขนาดนี้ หากไม่มีกฎหมายจะขนาดไหน แต่ตนขอเรียนให้ทราบว่ามาตรา 112 ในสมัยก่อนนั้นโทษเบากว่าปัจจุบัน เช่น ในสมัยที่ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2477 ความผิดนนี้มีโทษจำคุกแค่ไม่เกิน 7 ปี ไม่มีการกำหนดโทษขั้นต่ำ แต่พอหลังเหตุการณ์ความรุนแรงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ประกาศคณะปฎิวัติได้เพิ่มโทษให้เป็น 3-15 ปี ซึ่งไม่ได้เป็นกระบวนการนิติบัญญัติที่เห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

“ความขัดแย้งทั้งหลายในบ้านเมืองสามารถจะแก้ไขได้ ไม่ได้แปลว่าคนมาเห็นเหมือนกัน แต่คนเห็นต่างกันก็มีสันติภาพได้ ถ้าศาลเที่ยงธรรม”