ส.ว. ไม่เห็นชอบ ศ.อารยะ นั่งเก้าอี้ป.ป.ช. แทนตำแหน่งที่ว่างมากว่า 8 เดือน

1 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) มีวาระการประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แทนตำแหน่งที่ว่างเว้นมากว่าแปดเดือน สืบเนื่องจาก พลตำรวจเอก สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. ครบวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้วเก้าปีตามกฎหมายไปแล้ว เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการสรรหาป.ป.ช. จึงต้องสรรหาผู้ที่สมควรมาเป็นกรรมการรายใหม่ และเสนอชื่อเพื่อให้ส.ว. พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยคณะกรรมการสรรหาฯ ได้เสนอชื่อศาสตราจารย์อารยะ ปรีชาเมตตา ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้ส.ว. พิจารณาให้ความเห็นชอบว่าเป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการป.ป.ช.หรือไม่

มติที่ประชุมวุฒิสภา “ไม่เห็นชอบ” ให้ศาสตราจารย์อารยะ ปรีชาเมตตา ดำรงตำแหน่งกรรมการป.ป.ช. ด้วยคะแนนเสียงไม่ให้ความเห็นชอบ 146 เสียง ให้ความเห็นชอบ 38 เสียง ไม่ออกเสียง 14 เสียง เนื่องจากเสียงให้ความเห็นชอบ มีจำนวนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนส.ว. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (250 คน) ซึ่งควรจะต้องได้คะแนนเสียง 125 เสียงขึ้นไป จึงถือว่าส.ว.ไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่งป.ป.ช.

ทั้งนี้ การลงมติบุคลลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ โดยส.ว. เป็นการลงคะแนนโดยลับบนบัตรลงคะแนน ที่จะถูกนำไปทำลายต่อไป แม้ประชาชนจะรู้ผลรวมชองจำนวนเสียง แต่ประชาชนจะไม่ทราบว่าส.ว. แต่ละคนโหวตให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสรรหาป.ป.ช. ได้เสนอชื่อ จาตุรงค์ สรนุวัตร ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการป.ป.ช. แต่ปรากฏว่าจาตุรงค์ขอถอนตัวฯ คณะกรรมการสรรหาฯ จึงสรรหาบุคคลใหม่จากผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ซึ่งปรากฏว่า ศาสตราจารย์อารยะ ปรีชาเมตตา เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป.ป.ช.

เมื่อวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบให้ศาสตราจารย์อารยะ ปรีชาเมตตา ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป.ป.ช. คณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งประกอบไปด้วย 1) ประธานศาลฎีกา 2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร 3) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 4) ประธานศาลปกครองสูงสุด 5) บุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก ศาลรัฐธรรมนูญ-คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.)-ผู้ตรวจการแผ่นดิน-คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)-คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) องค์กรละหนึ่งคน จะต้องดำเนินการสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการป.ป.ช. แทนตำแหน่งที่ว่างอีกครั้ง และเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการป.ป.ช.เพื่อให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบอีก