จับตา! ประชุมสภา โหวตกฎหมายลูกเลือกตั้ง-เคาะกรรมการป.ป.ช.

ตั้งแต่วันที่ 1-4 สิงหาคม 2565 มีการประชุมสภาหลายนัด ทั้งจากฟากวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส. + ส.ว.) มีทั้งกำหนดนัดพิจารณากฎหมายลูกที่กำหนดรายละเอียดการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส.) ซึ่งใช้เวลาพิจารณารายมาตราในวาระสองค่อนข้างยาวนาน สืบเนื่องจากปมการพลิกโหวตเคาะสูตรหารที่นั่งส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเป็นสูตรหาร 500 จึงทำให้ในการประชุมร่วมรัฐสภาสัปดาห์ที่แล้วเมื่อ 26 กรกฎาคม 2565 กรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ขอถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปพิจารณาและจะเข้าสู่การพิจารณาต่อจากเดิมในสัปดาห์นี้ 

นอกจากนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติยังมีนัดประชุมสภา พิจารณาร่างกฎหมายอื่นๆ ที่น่าสนใจเช่นกัน รายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

ประชุมวุฒิสภา

(วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม 2565)

๐ พิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่งกรรมการป.ป.ช. 

สืบเนื่องจาก พลตำรวจเอก สถาพร หลาวทอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ครบวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้วเก้าปี เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2564 ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสรรหาป.ป.ช. ได้เสนอชื่อ จาตุรงค์ สรนุวัตร ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการป.ป.ช. แต่ปรากฏว่าจาตุรงค์ขอถอนตัวฯ คณะกรรมการสรรหาฯ จึงสรรหาบุคคลใหม่จากผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ซึ่งปรากฏว่า ศาสตราจารย์อารยะ ปรีชาเมตตา ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป.ป.ช. ต้องจับตาดูว่าวุฒิสภาจะให้ความเห็นชอบบุคคลดังกล่าวมาดำรงตำแหน่งกรรมการป.ป.ช.แทนตำแหน่งที่ว่างเว้นไปกว่าแปดเดือนหรือไม่

ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

(วันอังคารและพุธที่ 2-3 สิงหาคม 2565)

มีร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญหมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภาต้องพิจารณาลงมติรายมาตราในวาระสอง และลงมติทั้งฉบับในวาระสาม รวมสามฉบับ ดังนี้ 

๐ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย  เป็นร่างกฎหมายกำหนดมาตรการที่สร้างขึ้นใหม่ เรียกว่า “ปรับเป็นพินัย” เพื่อใช้แทนโทษทางอาญา โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ใช้ดุลยพินิจกำหนดค่าปรับที่ต้องชำระ ให้เหมาะสมกับความร้ายแรงของการกระทำประกอบกับฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิด กรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่มีเงินชำระค่าปรับ อาจขอทำงานบริการสังคมหรืองานสาธารณประโยชน์แทนชำระค่าปรับได้ แม้ปลายทางแล้วผู้กระทำความผิดยังคงต้องจ่ายเงินชำระค่าปรับ แต่เมื่อไม่ใช่โทษทางอาญา การจำคุกหรือกักขังแทนค่าปรับก็จะไม่ถูกนำมาใช้ อีกทั้งไม่มีการบันทึกลงในประวัติอาชญากรรมที่จะทำให้ประชาชนเสื่อมเสียประวัติโดยใช่เหตุ ทั้งนี้ การปรับเป็นพินัยจะใช้กับความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว ตามบรรดากฎหมายที่อยู่ในบัญชีท้ายร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยเท่านั้น

๐ ร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม เป็นร่างกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ของกรอบเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม โดยหลักแล้วใช้กับกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กกต. ป.ป.ช. ศาล องค์กรอัยการ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาซึ่งจะออกภายหลังจากร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้ว

๐ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ร่างกฎหมายที่กำหนดกติกาการเลือกตั้งส.ส. โดยแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ.2561 เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้ง ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อ 26 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ลงมติให้กมธ.ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวกลับไปทบทวนใหม่ เพื่อให้มาตราอื่นๆ สอดคล้องกับร่างมาตรา 23 (แก้ไขมาตรา 128) ที่เสียงข้างมากเทโหวตสูตรหารที่นั่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหาร 500 จากเดิมที่กำหนดสูตรหาร 100 เมื่อกมธ.พิจารณาแล้วเสร็จ จึงส่งกลับมายังรัฐสภาเพื่อให้พิจารณาต่อไป โดยการลงมติวาระสองจะพิจารณาต่อจากเดิม เริ่มที่ร่างมาตรา 24/4 จนถึงร่างมาตรา 32

ทั้งนี้ รัฐสภามีกรอบเวลาในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 180 วันนับแต่วันที่ประธานรัฐสภาบรรจุร่างในระเบียบวาระการประชุม ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 15 สิงหาคม 2565 หากเกิดกรณีว่า รัฐสภาพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 101 กำหนดว่า ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างพ.ร.ป.ที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาวาระสอง ซึ่งในร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. เวอร์ชั่นที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาวาระสอง ก็กำหนดสูตรคำนวณที่นั่งส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ “หาร 100” ดังนั้น ถ้ารัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด ก็ยังมีแววที่ร่างกฎหมายลูกกำหนดรายละเอียดกติกาการเลือกตั้งครั้งหน้า จะพลิกกลับมาตามแนวทางเดิมคือสูตรหาร 100

ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

(วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม 2565)

สภาผู้แทนราษฎรมีวาระประชุมพิจารณาร่างกฎหมายหลายฉบับ อาทิ

๐ ร่างพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นการพิจารณาลงมติรายมาตราวาระสองและเห็นชอบวาระสาม เพื่อส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาต่อไป

๐ ร่างพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย เสนอโดยส.ส.ประชาธิปัตย์ เป็นการพิจารณาในวาระหนึ่งว่าจะรับหลักการหรือไม่ ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าว กลับมาเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง หลังครม.รับร่างกฎหมายไปศึกษาก่อนรับหลักการ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2565

๐ ร่างพ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ) เสนอโดยส.ส.ก้าวไกล เป็นร่างกฎหมายที่ถูกเสนอขึ้นมาเพื่อใช้แทนที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 หากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจนสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมาย จะมีผลยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งข้อกำหนด ประกาศต่างๆ ที่ออกตามอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด และให้มีมาตรการใหม่สำหรับการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เช่น  นายกฯ ยังคงมีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ไม่เกิน 30 วัน โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรภายในเจ็ดวัน การขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ได้อีกไม่เกินครั้งละ 30 วัน ซึ่งลดลงจากเดิมที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศได้มีระยะเวลาสามเดือน และขยายเวลาได้ครั้งละสามเดือน