ผลอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565: “3 ป.เสียงแตก” “พปชร.ร้าว” ปชป.รั้งบ๊วย” “ภูมิใจไทยเลี้ยงูเห่า”

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาครั้งสุดท้ายโดยของสภาผู้แทนฯ ชุดที่ 25 ได้สิ้นสุดลงเมื่อมีการลงมติเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ผลการลงมติเป็นไปตามคาดการณ์คือรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 11 คน รอดพ้นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเสียงไม่ไว้วางใจที่แต่รัฐมนตรีแต่ละคนได้ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ คือ 240 เสียง จาก 477 เสียง 

อย่างไรก็ตามการอภิปรายครั้งนี้ก็ได้เปิดรอยแผลใหม่ให้กับรัฐมนตรีหลายคน รวมทั้งยังได้ย้ำรอยแผลที่แสดงให้เห็นถึงการบริหารประเทศที่ไร้ประสิทธิภาพและความโปร่งใส ที่สำคัญผลของการอภิปรายยังทำให้เห็นความขัดแย้งไม่เป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งความแตกแยกภายในของแต่ละพรรคการเมือง ดังจะเห็นได้จากผลการลงมติที่แตกต่างกันอย่างสิ้นของรัฐมนตรีแต่ละคน ดังนี้

กลุ่ม 3 ป. คะแนนเสียงแตก พล.อ.ประวิตร ที่หนึ่ง-พล.อ.อนุพงษ์ ที่โหล่

ในการลงมติหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผลปรากฏว่า “กลุ่ม 3 ป.” ที่ประกอบไปด้วย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับคะแนนเสียงที่แตกต่างกันสุดขั้ว โดย พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจมากเป็นอันดับหนึ่ง ในขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ ได้รับคะแนนเสียงไม่ไว้วางเป็นอันดันที่หนึ่ง

โดยผลการลงมติของบุคคลทั้งสามคนมีรายละเอียดดังนี้

ชื่อ ไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจ งดออกเสียง
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
268 193 11
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
256
206 9
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
245
212
13

จากการตรวจสอบใบประมวลผลการลงมติของกลุ่ม 3 ป. พบรายละเอียดที่น่าสนใจว่า การที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจมากเป็นอันดับหนึ่ง เป็นผลมาจากพรรคที่ประกาศตัวเป็นพรรคฝ่ายค้านแต่ไปลงมติสนับสนุน ได้แก่ ส.ส. พรรคเศรษฐกิจไทย จำนวน 15 คน ส.ส. พรรคก้าวไกล จำนวน 4 คน และ ส.ส.พรรคประชาชาติ 1 คน ด้วยเหตุนี้ พลเอกประวิตร จึงเป็นผู้ที่ได้รับเสียง “ไว้วางใจมาก” ที่สุด และเป็นผู้ที่ได้คะแนนเสียงไว้วางใจมากกว่าจำนวน ส.ส. ที่เป็นฝ่ายรัฐบาล 

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนเสียง “ไม่ไว้วางใจ” มากที่สุด ก็เป็นผลมาจากการตกเป็นเป้าการลงมติไม่ไว้วางใจของพรรคเศรษฐกิจไทยที่นำโดย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรค ซึ่งลงมติไม่ไว้วางใจ พลเอกอนุพงษ์ ถึง 13 เสียง อีกทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ ยังถูก ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาลลงมติไม่ไว้วางใจด้วยถึง 8 เสียง แบ่งเป็น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 6 เสียง จาก “กลุ่มปากน้ำ” (ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ) ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 เสียง และ ส.ส.ประชาธิปัตย์ 1 เสียง ได้แก่ อันวาร์ สาและ 

ส่วนคนสุดท้ายในกลุ่ม 3 ป. อย่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ซึ่งเป็นเป้าหลักในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ และเป็นผู้ที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุด แต่ผลการลงมติกลับสวนทาง เพราะ พลเอกประยุทธ์ ยังคงได้รับความไว้วางใจจากสภามากกว่ากึ่งหนึ่ง และยังเป็นผู้ได้รับคะแนนเสียงไว้วางเป็นอันดับที่สี่ จากทั้งหมด 11 คน โดยรอบนี้ พลเอกประยุทธ์ ก็ตกเป็นเป้าของพรรคเศรษฐกิจไทยเช่นเดียวกับ พลเอกอนุพงษ์ แต่ พลเอกประยุทธ์ ยังรักษาเสียงของฝ่ายรัฐบาล และ ส.ส.งูเห่าจากฝ่ายค้านเอาไว้ได้ มีเพียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จำนวน 3 คน ที่ลงมติไม่ไว้วางใจ ได้แก่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ จำนวน 2 คน คือ พนิต วิกิตเศรษฐ์ และ อันวาร์ สาและ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่อีก 1 เสียง

รมต. จากพปชร. รอดครบ สุชาติ ไว้วางใจติด “รองบ๊วย” ชัยวุฒิ พรรคร่วมรัฐบาลเทโหวต “ไว้วางใจ” เสียงไม่แตก

สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ นอกจากพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แล้ว ยังมีรัฐมนตรีอีกสามคน คือ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ ชัยวุฒิ ธนาคมนุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

โดยผลการลงมติของบุคคลทั้งสามคนมีรายละเอียดดังนี้

ชื่อ ไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจ งดออกเสียง
สุชาติ ชมกลิ่น
243
208 20
ชัยวุฒิ ธนาคมนุสรณ์
249 205 18
สันติ พร้อมพัฒน์
249 204 18

สำหรับสุชาติ ชมกลิ่น แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วสุชาติจะรอด เพราะเสียงไม่ไว้วางใจไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส. ทั้งหมดที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ แต่หากเทียบเสียงที่สุชาติได้รับกับรัฐมนตรีอีก 10 คน คะแนนเสียง “ไว้วางใจ” ที่สุชาติได้รับ จัดได้ว่าเป็น “รองบ๊วย” ในบรรดา 11 รัฐมนตรี โดยสุชาติได้รับเสียงไว้วางใจมากกว่าจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้ที่ได้คะแนนเสียงน้อยสุดแค่ สองเสียงเท่านั้น

อย่างไรก็ดี หากดูคะแนน “ไม่ไว้วางใจ” ที่สุชาติได้รับ 208 เสียง ก็ทำให้สุชาติติด “ท็อปสาม” ของรัฐมนตรีที่ได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจมากที่สุด โดยเป็นรองพลเอกอนุพงษ์ ที่ได้รับเสียงไม่ไว้วางใจ 212 เสียง และจุติ ที่ได้รับเสียงไม่ไว้วางใจ 209 เสียง กล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะมองในมุมจากการลงมติ “ไว้วางใจ” หรือจากมติ “ไม่ไว้วางใจ” สุชาติก็ติดอันดับรั้งท้ายในบรรดา 11 รัฐมนตรี

โดยเสียงไม่ไว้วางใจสุชาติส่วนใหญ่แล้ว มาจากคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของส.ส. พรรคฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ รวมไปถึงพรรคฝ่ายค้านขั้วใหม่อย่างพรรคเศรษฐกิจไทยที่เทเสียงโหวตไม่ไว้วางใจสุชาติถึง 12 เสียง อย่างไรก็ดี ในขั้วพรรคฝ่ายค้านก็มี ส.ส. ที่โหวต “ไว้วางใจ” สุชาติ เช่นกัน อาทิ อนุมัติ ซูสารอ จากพรรคประชาชาติ นิยม ช่างพินิจ จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีสถานภาพเป็นหนึ่งในก๊วน “งูเห่า” ของพรรค หลังจากโหวตสวนมติพรรคในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

ขณะที่ ส.ส. ฝ่ายค้านบางส่วน ก็โหวต “งดออกเสียง” สุชาติ อาทิ ส.ส.งูเห่าของพรรคเพื่อไทย 6 คน ส.ส.งูเห่าจากพรรคก้าวไกล 5 คน ส.ส.จากพรรคเศรษฐกิจไทย 3 คน ได้แก่ ณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ และธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ  และ ส.ส.จากพรรคเพื่อชาติ 3 คน ได้แก่ ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ลินดา เชิดชัย และศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ

แม้ในภาพรวม สุชาติจะได้รับเสียงไว้วางใจจากบรรดา ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะจากพรรคภูมิใจไทยที่เทเสียง “ไว้วางใจ” ยกพรรค เสียงไม่แตก แต่ก็มี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลบางส่วน โดยเฉพาะ ส.ส.กลุ่มปากน้ำจากพรรคพลังประชารัฐ ที่โหวต “ไม่ไว้วางใจ” สุชาติ ถึง หกเสียง ได้แก่ กรุงศรีวิไล สุทินเผือก ฐาปกรณ์ กุลเจริญ ต่อศักดิ์ อัศวเหม ภริม พลูเจริญ ยงยุทธ สุวรรณบุตร และอัครวัฒน์ อัศวเหม

ด้าน สันติ พร้อมพัฒน์ และชัยวุฒิ ธนาคมนุสรณ์ ถือว่าอยู่ในกลุ่ม “กลางๆ” ไม่ได้ติดท็อปมากสุด และได้เกาะกลุ่มบ๊วย ฟากของคะแนนเสียง “ไม่ไว้วางใจ” ถือว่าไม่แย่ โดยได้คะแนนเสียงไม่ไว้วางใจน้อยรองจากพลเอกประวิตร ที่ได้ 193 เสียง โดยสันติ ได้ 204 เสียง และชัยวุฒิ ได้ 205 เสียง ทั้งนี้คะแนนไม่ไว้วางใจของชัยวุฒิ ถือว่าเกาะกลุ่มกลางๆ เช่นกัน โดยได้คะแนนเท่ากันกับอนุทิน และศักดิ์สยาม

ถึงแม้ว่าชัยวุฒิจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในเรื่องที่เป็นลุกลามทั่วประเทศอย่างประเด็นแก๊งคอล เซ็นเตอร์ รวมไปถึงประเด็นที่ทำให้ผู้คนในสังคมถกเถียงกันว่าเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องสาธารณะ อย่างประเด็น “ชู้สาว” แต่ชัยวุฒิก็รอดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของสภาชุดนี้ไปได้

โดยเสียง ส.ส.ที่เทโหวต “ไม่ไว้วางใจ” สันติ และชัยวุฒิ มาจากเสียงส่วนใหญ่ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมถึงพรรคเศรษฐกิจไทย ส่วนเสียง “ไว้วางใจ” มาจากพรรคร่วมรัฐบาลโดยในกลุ่มพรรคใหญ่อย่างพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนาเทโหวต “ไว้วางใจ” เสียงไม่แตก โดยในกลุ่มพรรคพลังประชารัฐ มีงดออกเสียงเพียง 1 เสียงก็คือเสียงจากตัวชัยวุฒิเอง

สำหรับชัยวุฒิถึงแม้จะถูกอภิปรายในปมชู้สาว แต่ก็ไม่มีเสียงโหวต “ไม่ไว้วางใจ” หรือ “งดออกเสียง” จากบรรดา ส.ส.คนอื่นในพรรคพลังประชารัฐ แม้แต่กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ อดีตคู่สมรสของชัยวุฒิ ซึ่งเป็นส.ส.ในพรรคเดียวกัน ก็โหวต “ไว้วางใจ” โดยหลังการลงมติ กานต์กนิษฐ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กมีใจความว่า “ไม่ปรารถนาให้ใครเอาเรื่องภายในครอบครัว มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในสภา”

อย่างไรก็ดี มี ส.ส.บางส่วนที่เทโหวตงดออกเสียง คือ ส.ส.งูเห่าจากพรรคเพื่อไทย 7 คน ส.ส.งูเห่าจากพรรคก้าวไกล 5 คน ส.ส.จากพรรคเศรษฐกิจไทย 3 คน และหนึ่งเสียงงดออกเสียงจากพรรคเพื่อชาติ คือ ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ

รมต. จากประชาธิปัตย์ ได้รับเสียงไว้วางใจน้อยที่สุด-งดออกเสียงมากที่สุด

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายมีรัฐมนตรีที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจจำนวน 3 คน ได้แก่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถัดมาคือ จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคนสุดท้าย คือ นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยจากผลการลงมติ พบว่า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจน้อยที่สุด และเป็นผู้ที่มี ส.ส.งดออกเสียงมากที่สุด เช่นเดียวกับอีกสองรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้รับคะเเนนเสียงไว้วางใจในลำดับท้ายและมี ส.ส.งดออกเสียงมากเป็นลำดับต้นๆ

โดยผลการลงมติของบุคคลทั้งสามคนมีรายละเอียดดังนี้

ชื่อ ไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจ งดออกเสียง
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
241 207 23
จุติ ไกรฤกษ์
244 209 17
นิพนธ์ บุญญามณี
246 206 20

จากการตรวจสอบใบประมวลผลการลงมติ พบว่า สาเหตุที่ทำให้ จุรินทร์ ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจน้อยที่สุด เป็นผลจากพรรคร่วมรัฐบาลต่างลงมติงดออกเสียง ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา ที่งดออกเสียง 3 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทยงดออกเสียง 1 เสียง อีกทั้ง จุรินทร์ ยังถูก ส.ส.พรรคเดียวกัน ลงมติไม่ไว้วางใจ 1 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง รวมถึงถูกพรรคจิ๋วลงมติไม่ไว้วางใจด้วยอีก 1 เสียง

เช่นเดียวกันกับ จุติ และ นิพนธ์ ที่ถูกพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันลงมติงดออกเสียง แม้แต่ ส.ส.ของพรรคยังมีมติไม่ไว้วางใจและงดออกเสียง อาทิ อันวาร์ สาเละ ส.ส.ปัตตานี และ ไชยยศ จิรเมธากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ประกาศขอใช้เอกสิทธิ์ในการลงมติ ปรากฏว่าวันนี้เขาได้โหวตงดออกเสียงให้จุติ ซึ่งสะท้อนถึงความขัดแย้งภายในพรรคที่เกิดขึ้นมาก่อนการลงมตินับสัปดาห์

แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจ คือ จุดยืนของพรรคเล็กที่มีการรวมกลุ่มกันในชื่อ “กลุ่ม 16” ซึ่งก่อนหน้านี้มีการประกาศว่าจะลงมติไม่ไว้วางใจ “สันติ พร้อมพัฒน์” กับ “จุติ ไกรฤกษ์” แต่ในท้ายที่สุด หลังการเข้าพบ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็มีการกลับมติดังกล่าว ก่อนจะตามมาด้วยการแฉของ ธรรมนัส พรหมเผ่า เรื่องการรับเงินที่มูลนิธิป่ารอยต่อ

พรรคภูมิใจไทย 2 รมต. คะแนนไว้วางใจมากกว่านายกฯ เลี้ยงงูเห่ามากกว่า 10 ตัวที่พรรคฝ่ายค้าน

พรรคภูมิใจไทยมีรัฐมนตรีที่ถูกพรรคร่วมฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจสองคน คือ “อนุทิน ชาญวีรกุล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

โดยผลของการลงมติ คือ ทั้งคู่ผ่านการไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ด้วยคะแนน ดังนี้

ชื่อ ไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจ งดออกเสียง
อนุทิน ชาญวีรกุล
264 205 3
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
262 205 5

หากเปรียบเทียบกับรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายทั้งหมด 11 คน จะพบว่าสองรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยได้คะแนนเสียงไว้วางใจเป็นลำดับต้น ๆ กล่าวคือเป็นรองเพียงพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่สำคัญคือได้คะแนนมากกว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วย

ทั้งนี้คะแนนไว้วางใจของรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยที่ได้มากกว่ารัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลคนอื่นๆ มาจาก ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านที่ปันตัวปันใจให้กับพรรคภูมิใจไทย อย่างน้อย 14 คน โดยอยู่ที่พรรคเพื่อไทยเจ็ดคน พรรคก้าวไกลห้าคน และพรรคประชาชาติกับพรรคเพื่อชาติอย่างละหนึ่งคน ทั้งนี้มีรายชื่อที่น่าสนใจคือ ศรัณวุฒิ ศรัญเกตุ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ และ ส.ส.อุตรดิตถ์ ที่ลงคะแนนงดออกเสียงให้กับสองรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย

ขณะเดียวกันก็มี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล อย่างน้อยสองคนที่ลงคะแนนไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย คือ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเศรษฐกิจใหม่อย่างละหนึ่งคน โดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ส่วนคือ อันวาร์ สาและ ส่วนพรรคเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจมีเพียงสามคนเท่านั้นที่ไว้วางใจ

ที่มา : ผลการลงมติญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล