อภิปรายไม่ไว้วางใจ 65 ประมวล “บาดแผล” รัฐบาลก่อนสภาลงมติ

นับตั้งแต่วันที่ 19-22 กรกฎาคม 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีการ #อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวมกว่า 11 คน โดยในวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 สภาจะมีการลงมติ หากว่านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนใด ได้รับเสียงไม่ไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ในสภา (ประมาณ 240 เสียง) นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นก็จะต้องพ้นจากตำแหน่ง และหากนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งก็จะเป็นพ้นให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่ง และต้องมีการดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ตลอดการอภิปรายจำนวนสามวัน พรรคฝ่ายค้านมีการแบ่งการอภิปรายสองวันแรกเป็นการอภิปรายพรรคร่วมรัฐบาลที่ถูกมองว่า “นั่งร้าน” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และในสองวันสุดท้าย เป็นการล็อกเป้าไปที่กลุ่ม 3 ป. โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเนื้อหาสาระของการอภิปรายไม่ไว้วางในในครั้งนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้

[กลุ่ม 3 ป.]

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 4 เรื่อง ได้แก่

 + ใช้สปายแวร์ #เพกาซัส สอดแนมผู้ที่เห็นต่างกับรัฐบาล +

ส.ส.พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ จากพรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเรื่องของการประกาศสงครามไซเบอร์กับประชาชนว่า มีการทุ่มทุนถึงการตามเข้าไปอยู่ถึงในบ้าน ติดตาม 24 ชม. โดยใช้เทคโนโลยีสปายแวร์ ‘เพกาซัส’ เป็นอาวุธสงครามทางไซเบอร์ ที่ทรงอานุภาพ และร้ายกาจที่สุด ซึ่งทั้งหมดเป็นเงินภาษีของประชาชน โดยจากรายงาน ‘ปรสิตติดโทรศัพท์’ โดยไอลอว์ นั้นพบว่า มีการเปิดเผยหลักฐานใช้เพกาซัสของรัฐบาลไทยโจมตีสอดแนมอย่างน้อย 30 คน คือ นักวิชาการ นักกิจกรรมทางการเมือง เจ้าหน้าที่ NGO ทั้งนี้ การทำงานของมันคือ เมื่อเพกาซัสฝังตัวแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ สามารถดูได้ทุกยอ่าง โดยที่มือถือยังอยู่กับเรา แล้วเราไม่รู้ตัว และสามารถดักฟังโทรศัพท์มือถือแบบเรียลไทม์ รวมถึงการส่งข้อความ การโทรด้วยไลน์ สามารถสอดแนมผ่านผู้ช่วย ผ่านผู้ร่วมประชุม และสอดแรมก่อนเริ่มประชุม หากเข้าโหมดตัดสัญญาณมือถือ หรือ Airplane Mode ก็ไม่รอด 

+ ใช้อำนาจโดยมิชอบปิดเหมืองทองจนเกิดความเสียหาย +

ส.ส.จิราพร สินธุไพร จากพรรคเพื่อไทย อภิปรายเรื่องการใช้ “มาตรา 44” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งยึดอำนาจและเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารในการสั่งปิดบริษัทเหมืองทองอัครา อันเป็นผลให้ประเทศไทยอาจจะต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวนเกือบ 30,000 ล้านบาท ทั้งที่มีเอกสารคำเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ควรใช้อำนาจพิเศษอย่างมาตรา 44 อีกทั้ง ยังมีข้อมูลด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำลังจะอนุมัติสัปทานเพิ่มเติมให้กับบริษัทเหมืองทองเพื่อทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของตัวเอง

+ แทรกแซงกลไกสภา-ทำลายระบอบประชาธิปไตย +

ส.ส.ธีรารัตน์ สำเร็จวาณิชย์ จากพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตลอด 8 ปีของพลเอกประยุทธ์ ทำให้ประชาธิปไตยของไทยถอยหลังและตกต่ำลง ผ่านการทำลายประชาธิปไตยด้วยการทำลายกติกาด้วยการรัฐประหารและออกแบบรัฐธรรมนูญ 60 ที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยถอยหลังลงคลอง อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ยังทำลายประชาธิปไตยผ่านการครอบงำรัฐสภา ทั้งการแทรกแซงการทำงานของรัฐสภาเพื่อสืบทอดอำนาจในกรณีกลับกลอกกฎหมายเลือกตั้ง ใช้กล้วยเพื่อล่อซื้อให้ ส.ส. จำนวนหนึ่งย้ายพรรค จนยอมทรยศเจตนารมณ์ของพี่น้องประชาชน และที่สำคัญพล.อ.ประยุทธ์ ยังทำลายประชาธิปไตยผ่านการลิดรอนและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะประยุทธ์มองประชาชนที่เห็นต่างจากเป็นศัตรู จัดการความขัดแย้งทางความคิดด้วยวิธีการอำนาจนิยม ใช้ความรุนแรงและกฎหมายในการปิดปากผู้เห็นต่าง โดยอ้างความสงบเรียบร้อย ความมั่นคง ความสามัคคี ละเมิดสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน โดยไร้ยางอาย 

+ คุกคามประชาชน-ใช้กฎหมายปิดปากคนเห็นต่าง +

ส.ส.เบญจา แสงจันทร์ จากพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ในกรณีที่รัฐบาลสืบทอดอำนาจของประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจใช้กฎหมายอย่างบิดผันในฐานะ “คดีนโยบาย” เพื่อดำเนินคดีต่อฝ่ายต่อต้านรัฐบาล รวมทั้งการใช้ ม. 112 หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อย่างกว้างขวางแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดย ส.ส.เบญจา ระบุว่า คดีการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ก็คือคดีนโยบายของท่านผู้นำ และกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่นั้น ก็เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ตอบสนองต่อนโยบายของท่านผู้นำเท่านั้น    เพราะแม้จะเป็นพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาในทำนองเดียวกัน แต่ก็จะถูกดำเนินคดีต่างกัน   ได้รับการปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมต่างกัน ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของ “ท่านผู้นำ”  ที่สั่งลงมาในแต่ละช่วง”

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 2 เรื่อง ได้แก่

+ รู้เห็นกับการทุจริตจัดซื้ออุปกรณ์ GT-200 +

+ มีอิทธิพลเหนือองค์กรอิสระ-กีดกันการตรวจสอบ +

ส.ส.ธีรัจชัย พันธุมาศ จากพรรคก้าวไกล อภิปราย โดยนำหลักฐานใหม่ที่ได้รับอนุญาตจาก กมธ. ป.ป.ช. ของสภามาอภิปราย เขาอ้างว่าเป็นหลักฐานจากการตรวจสอบของ กมธ.ที่รับเรื่องเอาไว้ หลังจากมีประชาชนได้ร้องเข้ามาที่ กมธ. ให้ฟื้นกรณีการยิมนาฬิกาหรูของเพื่อน 20 เรือนของ พล.อ. ประวิตร ขึ้นมาใหม่ เนื่องจากคำแถลงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังขาดความชัดเจน เช่น หลักฐานการยืมนาฬิกาหรูของ ปัฐวาทสุขศรีวงศ์ เพื่อนของ พล.อ.ประวิตร ที่เสียชีวิตไปแล้ว รวมถึง การที่ ป.ป.ช. ชุดที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ล้วนมาจากการเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ พล.อ.ประวิตร เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการสรรหา จึงเป็นที่ครหาว่าพล.อ.ประวิตร มีอิทธิพลเหนือองค์กรอิสระที่เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบข้อครหาดังกล่าว

[ภูมิใจไทย]

อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 2 เรื่อง ได้แก่

+ ปลดล็อคกัญชาเสรีแบบไม่รับผิดชอบต่อสังคม +

ส.ส.สุทิน คลังแสง จากพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.วาโย อัศวรุ่งเรือง มีการอภิปรายว่า นโยบายนี้มีปัญหาขัดต่อกติการะหว่างประเทศ และพรรคภูมิใจไทยปล่อยปละละเลยให้มีการปลดล็อคกัญชาในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายมารองรับเพื่อคุ้มครองประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะปราง เช่น ผู้ที่แพ้กัญชา หรือ กลุ่มเด็กและเยาวชน

+ บริหารจัดการวัคซีนโควิดผิดพลาด-ล้มเหลว +

ส.ส. นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ จากพรรคเพื่อไทย อภิปรายเรื่องการบริหารโควิดที่ล่าช้าและผิดพลาด โดยระบุว่า ตอนนี้แม้วัคซีนโควิดไม่ขาดแคลน แต่พบว่าอาจจะมีการสูญเสียงบประมาณจำนวนมากจากการที่วัคซีนกำลังจะหมดอายุอีกทั้ง ยังพบว่าสาธารณสุขมีการสั่งยาที่ไม่ได้มีผลในการรักษาที่ชัดเจน และยกเลิกการซื้อยาที่มีผลต่อการรักษา อาทิโมลนูพิราเวียร์

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

+ ครอบครองที่ดินเขากระโดงโดยมิชอบ +

+ ตั้งนอมินีเพื่อโอนหุ้น-ซุกหุ้น +

+ จัดงบเอื้อประโยชน์เฉพาะพื้นที่ตัวเอง +

ส.ส.ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล จากพรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่า ศักดิ์สยาม นั้นได้นำชื่อใครสักคนมาถือครองหุ้นส่วนกิจการแทนตัวเอง ทำทีว่าได้ขาดจากกิจการ เพื่อให้ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งเข้าประมูลงานกับกระทรวงที่ได้ดูแลโดยตรง ซึ่งขัดต่อคำปฏิญาณที่ให้ไว้ในการเข้ารับตำแหน่ง 

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาติ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ศักดิ์สยามว่า ปัจจุบันท่านพักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 30/2 หมู่ 15 ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ บนโฉนดที่ดินชื่อบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่ง ป.ป.ช.มีคำสั่งให้ผู้ว่าการรถไฟฯ ดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ และศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่าจำนวนที่ดิน 5,083 ไร่เศษ เป็นที่ดินของการรถไฟฯ และมีเครือญาติของท่านอยู่ในที่ดินดังกล่าว ซึ่งถือว่าไม่ชอบด้วยกฏหมาย มีคำพิพากษาศาลฎีกาไว้แล้ว

ทวี ยังได้เปิดเผยว่า ก่อนมาเป็นรัฐมนตรี ศักดิ์สยาม เคยประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชัน ก่อตั้งเมื่อปี 2539 และโรงโม่หิน บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี 2534 เข้ามาจดทะเบียนไม่นานก็เข้าสู่เส้นทางการเมือง และหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจไม่นาน ในปี 2558 ท่านก็กลับเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัท และมีการโอนหุ้นทั้งหมด 119 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นนิติกรรมอำพรางหุ้นของรัฐมนตรี และยังคงไว้ซึ่งหุ้นของรัฐมนตรี เพราะไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีหลักฐานการเงินมาแสดง ไม่พบการชำระเงิน หรือพบว่ามีหนี้สิน อีกทั้งผู้ที่โอนหุ้นก็เคยเป็นลูกจ้างของ บจก.ศิลาชัยฯ

นอกจากนี้ ส.ส.พัฒนา สัพโส จากพรรคเพื่อไทย อภิปรายด้วยว่า ศักดิ์สยาม กำลังคิดจะทำอะไรในอนาคต เมื่อดูจากงบประมาณรายจ่ายปี 2566 จะเห็นได้ว่า จ.บุรีรัมย์ มีการจัดสรรงบประมาณกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) รวมกันประมาณ 5.4 แสนล้านบาท มากกว่าจังหวัดอื่นหลายเท่า

[ประชาธิปัตย์]

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์  ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1 เรื่อง ได้แก่

+ รู้เห็นกับการทุจริตจัดซื้อถุงมือยาง +

ส.ส.ประเสริฐ จัทรรวงทอง จากพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ มีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับการทุจริตการจัดซื้อถุงมือยาง โดยผู้ทุจริตเป็นบุคคลใกล้ชิดกับจุรินทร์ และมีการปล่อยปละละเลยการสอบสวนและจัดการอย่างทันท่วงทีจนนำไปสู่ความเสียหาย

จุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 2 เรื่อง ได้แก่

+ เร่งรัดโครงการบ้านที่อยู่อาศัยอย่างไม่คุ้มค่า +

+ โยกย้ายทรัพย์สินหลวงใช้เอื้อพวกพ้อง +

ส.ส.ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ จากพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า จุติ ไกรฤกษ์ มีการวางแผน ‘กินเหนือเมฆ’ เปิดมหกรรมสร้างเพื่อโกง เริ่มมหากาพย์การผลาญภาษีพี่น้องประชาชน ตั้งแต่กินคำเล็กผ่าน ‘โครงการเคหะสุขประชา’ ที่อ้างว่าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกให้ประชาชนได้เช่า ทั้งยังบอกว่าโครงการนี้เพื่อ ‘ถวายเป็นพระราชกุศล’ แต่ในความจริงแล้วกลับไม่ได้ดำเนินการใดให้คืบหน้าไป นอกจากการถมดินกินหัวคิว ยิ่งไปกว่านั้นยังซ่อนเป้าหมายกินคำใหญ่ ด้วยการรวมหัวกับนักปั่นหุ้นคนสนิท ใช้โครงการเคหะสุขประชาตกแต่งตัวเลขให้สวย เปิด ‘บริษัทผีปอบ’ เป็นประตูสู่ตลาดหลักทรัพย์ไว้สูบกินผลประโยชน์ระยะยาว 

[พลังประชารัฐ]

สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน

+ ใช้เงินกองทุนประกันสังคมเอื้อพวกพ้อง +

ส.ส.นิคม บุญวิเศษ จากพรรคพลังปวงชนไทย อภิปรายนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานว่า ขาดความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการแรงงาน ปล่อยให้แรงงานลักลอบเข้าเมือง ในช่วงโควิดระบาด เรื่องแรงงาน มีผลประโยชน์ มีขุมทรัพย์มากมาย เป็นการทำนาบนหลังคน แรงงานที่เข้ามาในประเทศไทยหลายแสนคน เท่าที่รู้ ไปสอบถาม มีการไปเก็บส่วย จ่ายให้นายหน้า ซึ่งแรงงานนอกจากจะเสียจากเมียนมา 2 หมื่นบาทแล้ว พอมาประเทศไทยยังต้องเสียอีก1.5 หมื่นบาท ทั้งที่ครม.ไม่มีมติให้แรงงานเข้ามา แต่ก็ยังปล่อยให้มีการนำเข้ามา เมื่อแรงงานเข้ามาแล้ว ก็ไม่ได้มีการกักกัน ตรวจโรค พอนำเข้ามา ไปส่งให้บริษัทพรรคพวกของพวกท่าน โดยหนึ่งในบริษัทก็เป็นพรรคพวกของท่านอยู่ใน จ.ชลบุรี

นอกจากนี้ ส.ส.นิคม ยังอภิปรายว่า สุชาติ ชมกลิ่น ได้อนุมัติเงินประกันสังคมไปให้ บริษัทพวกพ้องของท่านที่ชื่อ‘สอภอ’ ซึ่งในแวดวงรู้กันดีว่า นายคนนี้ เป็นนักปั่นหุ้นและฟอกเงิน นาย สอภอ มีบริษัทลูกอีก3-4 บริษัท จากนั้นได้ทำการปั่นหุ้น สร้างความร่ำรวยขึ้นมา

ชัยวุฒิ ธนาคมนุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

+ ไร้ความสามารถในการแก้ปัญหาแกงค์ Call Cente-โกงของออนไลน์ +

ส.ส.ศรัณย์ ทิมสุวรรณ จากพรรคเพื่อไทย อภิปรายถึง ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ว่า ไม่มีความใส่ใจแก้ปัญหาให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ ขาดความรู้ความสามารถปล่อยปละละเลยไม่แก้ไขปัญหาเรื่องอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ปล่อยให้ประชาชนเสี่ยงภัย เสี่ยงสูญเสียทรัพย์สินทำลายระบบเศรษฐกิจ มุ่งแต่ใช้อำนาจรักษาความมั่นคงของรัฐบาล

ทั้งนี้ ปัญหามีทั้งการดักข้อมูลคือเอสเอ็มเอสในการชวนลงทุน เล่นพนันหรือหลอกข้อมูลประชาชนที่ต้องการลงทะเบียนปลูกกัญชา และข้อมูลที่ถูกขโมยไป ก่อให้เกิดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไทยกลายเป็นประเทศที่ดึงดูดสแกมเมอร์ นักหลอกลวงที่เห็นช่องว่างเข้ามาในประเทศเรา แต่เราไม่เห็นความพยายามหรือหลักฐานจัดการของรัฐบาลเลย ส่วนเว็บพนันออนไลน์หลายเว็บเปิดมานานมาก และอาจมีความเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ ทำไมรัฐไม่ปิดเว็บ ต่อให้มันเปิดเว็บใหม่ก็ต้องปิด

+ เอื้อประโยชน์พวกพ้อง-ล็อคสเปกโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน +

ส.ส.วันนิวัติ สมบูรณ์ จากพรรคเพื่อไทย อภิปราย ถึงชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ว่าใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนเองบริวาร และพวกพ้อง กรณีกฎหมาย PDPA ซึ่งตนมองว่าเป็นกฎหมายที่ดีและควรนำมาใช้ แต่ ชัยวุฒิ กลับนำมาใช้เมื่อยังไม่มีความพร้อม ซึ่งส่อเอื้อประโยชน์พวกพ้อง เนื่องจาก ชัยวุฒิ แต่งตั้งที่ปรึกษาจำนวน 7 ราย หนึ่งในนั้นคือเพื่อนสนิทที่เรียนมาด้วยกันตั้งแต่ ม.1 และเป็นผู้บริหารในบริษัทไอที ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ผิดที่ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาท่านนี้เป็นคณะกรรมการกำกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่มีอำนาจดูแลงบประมาณด้วย

อีกกรณีคือการล็อกสเปกศูนย์ดิจิทัลชุมชน อันเป็นโครงการตั้งแต่ปี 2553 เซ็นสัญญาทั้งหมด 250 ศูนย์ ทั่วประเทศอย่างไรก็ตาม ใน จ.ขอนแก่น มีศูนย์ฯ ที่เสร็จสมบูรณ์เพียง 2 แห่ง และในปี 2564 มีการตั้งงบอีก 500 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งศูนย์ฯ อีก 500 แห่ง 

แต่ใน TOR มีข้อพิรุธ คือ ระเบียบพัสดุที่ไม่ระบุว่า วัสดุที่ใช้ต้องเป็นของใหม่ แต่ระยะเวลาให้ผู้รับเหมาดำเนินการกลับกระชั้นชิด เป็นเหตุให้มีแต่วัสดุเก่า ส่งผลให้จำนวนศูนย์ที่ใช้การได้น้อยกว่างบประมาณอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงยังมีข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงต้องตั้งงบประมาณมาสร้างอีก 500 ศูนย์ใหม่ มาทับ 250 ศูนย์เดิม ซ้ำกับ TOR แรก อาจเป็นเหตุให้ประชาชนต้องเสียประโยชน์