90 ปี อภิวัฒน์สยาม: ยิ่งลบยิ่งจำ – ทบทวนการอุ้มหายสัญลักษณ์คณะราษฎร การคุกคามคนติดตามของหาย และการคืนชีวิตให้คณะราษฎร

การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 เดินทางมาถึงขวบปีที่ 90 ในวันที่ 24 มิถุนายน 2565 การเปลี่ยนแปลงการปกครองน่าจะถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ ต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยเพราะมันได้พลิกโฉมของประเทศไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ทว่าในโอกาสพิเศษเช่นนี้กลับไม่มีความเคลื่อนไหวจากทางราชการว่าจะจัดงานรำลึกใดๆ ซึ่งอาจไม่ผิดคาดนักเพราะนับจากที่ในปี 2503 ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เปลี่ยนวันชาติจากวันที่ 24 มิถุนายน ไปเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าและยังคงเป็นวันชาติเรื่อยมา เรื่องราวของการอภิวัฒน์ 2475 ค่อยๆเลือนหายไป วันที่ 24 มิถุนายน กลายเป็นวันธรรมดาๆ ขณะที่งานรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เป็นงานรำลึกที่จัดในหมู่นักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ

ช่วงหลังการรัฐประหารของคสช. กิจกรรมรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ชาติที่จัดโดยนักกิจกรรมถูกคสช.มอนิเตอร์อย่างใกล้ชิดถึงขั้นตั้งแนวรั้วล้อมหมุดและถ่ายภาพบัตรประชาชนของผู้ร่วมกิจกรรม ต่อมาในปี 2560 มีรายงานว่าหมุดที่สัญลักษณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองถูกแทนที่ด้วยหมุดลักษณะเดียวกันที่มีคำจารึกเป็นคำบนเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ไปฝังแทน ซึ่งทางราชการก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าหมุดถูกเปลี่ยนไปเพราะเหตุใด ขณะเดียวกันผู้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับหมุดกลับถูกคุกคาม จากนั้นในปี 2561 อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่หลักสี่ก็ถูกย้ายโดยไม่มีคำชี้แจงจากภาครัฐขณะที่ผู้ไปติดตามทวงถามกลับถูกคุกคาม คล้ายกับเรื่องราวและอนุสรณ์ทีเกี่ยวข้องกับการอภิวัฒน์สยามเป็นเรื่องต้องห้าม ทว่าความพยายาม “ลบ” ยิ่งกระตุ้นความกระหายใคร่รู้ของผู้คนจนทำให้การเคลื่อนไหวในช่วงปี 2563 – 2564 สัญลักษณ์และเรื่องราวของคณะราษฎรได้ถูกนำมาคืนชีพอีกครั้ง

หมุดคณะราษฎร: ทวงถาม “ของหาย” ได้เข้าค่าย “ปรับทัศนคติ”

หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญหรือที่คนเรียกกันจนติดปากว่า “หมุดคณะราษฏร” เป็นหมุดกลมสีทองเหลืองจารึกข้อความ “24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” ถูกฝังบนพื้นถนนข้างฐานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยเชื่อกันว่าจุดที่หมุดถูกฝังคือจุดที่พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรสายทหารบก ยืนอ่าน ‘ประกาศคณะราษฎร’ ฉบับแรก โดยหนังสือ “ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ” ที่ตีพิมพ์ในปี 2482 ระบุในคำบรรยายภาพหมุดคณะราษฎรว่า มีพิธีฝังรากหมุดดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479 เวลา 14.30 น. (อ้างใน ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อ่านความหมาย “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ในสมัยคณะราษฎร: ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 43 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2565 สำนักพิมพ์มติชน กรุงเทพมหานคร หน้า74 ) 

ในอดีตการจัดกิจกรรมที่หมุดคณะราษฎรมักเป็นการจัดกิจกรรมในช่วงเวลาสั้นๆ มีผู้เข้าร่วมไม่มากนัก รูปแบบกิจกรรมก็มีเพียงการอ่านบทกวีและวางดอกไม้บริเวณหมุด วาด รวีหรือ รวี สิริอิสสระนันท์ นักเขียนและกวีผู้ล่วงลับจากกลุ่มกวีมันสูญ คือหนึ่งในขาประจำที่เข้าร่วมกิจกรรมรำลึกที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

กิจกรรมรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดในช่วงเวลาที่คสช.อยู่ในอำนาจ กิจกรรมรำลึกในวันที่ 24 มิถุนายน จัดขึ้นในช่วงที่มีการประกาศใช้กฎอัยการหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แม้กิจกรรมจะดำเนินไปได้แต่ก็ถูกมอนิเตอร์โดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอย่างใกล้ชิด ถึงขั้นนำรั้วเหล็กมากั้นพื้นที่บริเวณหมุดพร้อมทั้งตรวจบัตรประชาชนและจดชื่อของผู้เข้าร่วมกิจกรรมรำลึกทุกคนไว้  มาถึงปี 2559 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่มีการจัดกิจกรรมรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครองที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าก่อนที่หมุดจะหายไป มีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่พยายามควบคุมตัวสิรวิชญ์หรือนิว นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวต่อต้านคสช. ออกจากพื้นที่แต่ก็ถูกคนที่ร่วมทำกิจกรรมประท้วงจนท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ต้องยอมให้สิรวิชญ์ร่วมทำกิจกรรม

เดือนเมษายน 2560 ผศ.ศาสตรินทร์ ตันสุน จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มอบหมายงานให้นักศึกษาไปทำรายงานเรื่องหมุดคณะราษฎร นักศึกษากลุ่มแรกไปถ่ายภาพหมุดในช่วงประมาณวันที่ 1 หรือ 2 เมษายน โดยพบว่าหมุดยังเป็นหมุดเดิม ส่วนกลุ่มที่สองไปถ่ายภาพในวันที่ 8 เมษายน 2560 ซึ่งพบว่าหมุดถูกเปลี่ยนไปเป็นหมุดอันใหม่ ศาสตรินทร์จึงคาดว่าหมุดน่าจะถูกเปลี่ยนในช่วงระหว่างวันที่ 3 – 7 เมษายน หลังมีข่าวว่าหมุดหายมีประชาชนส่วนหนึ่งออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทว่าคำตอบที่ได้รับอาจไม่น่าพอใจนัก กทม.ชี้แจงในวันที่ 19 เมษายน 2560 ว่ากล้องวงจรปิดของกทม.บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าไม่สามารถใช้การได้เพราะถอดไปซ่อมบำรุงตั้งแต่ 31 มีนาคม 2560  ขณะที่กรมศิลปากรก็ระบุว่าหมุดคณะราษฎรไม่ใช่โบราณวัตถุและไม่ได้อยู่ในความดูแลของตัวเอง      

เมื่อคำตอบจากภาครัฐไม่เป็นที่นี่พอใจประชาชนกลุ่มหนึ่งจึงออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ด้วยตัวเอง เช่น ศรีสุวรรณ จรรยา ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ใช้อำนาจติดตามหมุดคณะราษฎรที่หายไป ปรากฎว่าเขาถูกควบคุมตัวไปปรับทัศนคติที่ค่ายทหาร โดยระหว่างถูกควบคุมตัวมีทหารคนหนึ่งมาขอให้เขายุติการเคลื่อนไหวเรื่องหมุดพร้อมกล่าวทำนองว่า เรื่องหมุดคณะราษฎรมันเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงมาก โดยศรีสุวรรณ ระบุด้วยว่าระหว่างที่เขาถูกนำตัวไปที่ค่าย เขาถูกปิดตาจากนั้นทหารจะขับรถวนไปเวียนมาคล้ายไม่อยากให้เขารู้ว่าจะพาไปที่ใด  

นอกจากกรณีของศรีสุวรรณก็มีกรณีของบุญสิน หยกทิพย์ ที่ถูกเชิญตัวไปปรับทัศนคติในค่ายทหารหลังเข้าร้องทุกข์ที่ สน.ดุสิตเพื่อขอให้ตำรวจทำการติดตามหมุดคณะราษฎร โดยบุญสินให้ข้อมูลกับนักข่าวด้วยว่าเขาคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าจะถูกเอาตัวไป เพราะหลังแจ้งความกับตำรวจเสร็จเขาตั้งใจจะเดินเท้าไปยังลานพระบรมรูปทรงม้าและใช้เครื่องขยายเสียงพูดไปตลอดทาง โดยตัวเขาเองตั้งใจให้เจ้าหน้าที่พาตัวไปปรับทัศนคติอยู่แล้ว เพราะเขาเองก็ตั้งใจอยากจะไป “ปรับทัศนคติ” เจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ  

และยังมีกรณีของเอกชัย หงส์กังวาน ที่ประกาศว่าในวันที่ 24 มิถุนายน 2560 เขาจะไปขุดหมุดหน้าใสออกแล้วเอาหมุดคณะราษฎรจำลองไปฝังแทน ปรากฎว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ดักควบคุมตัวที่บริเวณใกล้ลานพระบรมรูปทรงม้า เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวเขาพร้อมถังปูนและหมุดคณะราษฎรจำลองไปที่มทบ.11 เอกชัยได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งที่มีส่งเขาได้ทำการตรวจค้นบ้านเขาเพื่อหากล่องพัสดุที่ เอกชัยระบุว่ามีคนส่งหมุดคณะราษฎรจำลองมาให้เขาที่บ้านด้วย   

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ: อนุสาวรีย์ถูกย้ายคนถ่ายรูปถูกจับ   

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฎซึ่งเคยตั้งอยู่ที่วงเวียนหลักสี่ ใกล้มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครและวัดพระศรีมหาธาตุ (ชื่อเดิมวัดประชาธิปไตย) ก่อสร้างแล้วเสร็จและมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2479 เพื่อเป็นอนุสรณ์และที่บรรจุอัฐิทหารตำรวจรวม 17 นายที่เสียชีวิตในการต่อสู้กับทหารของคณะกู้บ้านกู้เมือง นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดชกฤดากรที่หวังยึดอำนาจจากรัฐบาลคณะราษฎรในปี 2476 รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาตั้งเมรุชั่วคราวประกอบพิธีฌาปนกิจทหารและตำรวจทั้ง 17 นายที่ท้องสนามหลวงซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการประกอบพิธีศพของสามัญชนที่นี่ โดยพลชัย เพชรปลอด ระบุว่า รัชกาลที่ 7 ทรงไม่โปรดการดำเนินการดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง สำหรับสถานะของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ สถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากรระบุว่าอนุสาวรีย์ถือเป็นโบราณสถานตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ แล้วเพียงแต่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน 

แม้จะเป็นอนุสาวรีย์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์แต่เท่าที่สืบค้นข้อมูลตั้งแต่ปี 2557 ไม่พบข่าวการประกอบรัฐพิธีที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ โดยข้อมูลจากสถาบันปรีดีฯ ระบุว่าในสมัยที่จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับอนุสาวรีย์แห่งนี้อย่างมาก โดยจัดพิธีวางพวงมาลาทุกปีแต่เมื่อฝ่ายนิยมเจ้ามีอำนาจเหนือคณะราษฎร อนุสาวรีย์แห่งนี้ก็ถูกลดความสำคัญลง  จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าตั้งแต่ช่วงหลังปี 2550 กลับกลายเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ใช้อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นที่ชุมนุมหรือสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหว ได้แก่ กลุ่มคนเสื้อแดงที่จัดงานครบรอบ 78 ปี อนุสาวรย์ปราบกบฎในวันที่ 14 ตุลาคม 2555  และการจัดกิจกรรม “ปัดฝุ่นประชาธิปไตย” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ของกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ โดยในกิจกรรมหลังเมื่อนักกิจกรรมที่มีจำนวนไม่ถึงสิบคนเดินเท้าจากวัดพระศรีมหาธาตุไปถึงวงเวียนหลักสี่ก็ถูกเจ้าหน้าที่อุ้มตัวขึ้นรถไปที่สน.บางเขน เพื่อตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนโดยที่พวกเขายังไม่มีโอกาสข้ามถนนไปที่ตัวอนุสาวรีย์  

ในปี 2558 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขออนุญาตกรมศิลปากรย้ายอนุสาวรีย์เพื่อทำการก่อสร้างรถไฟฟ้า ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2559 ศรัญญู เทพสงเคราะห์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งมีความสนใจประวัติศาสตร์การเมืองยุค 2475 ทราบว่าจะมีการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ จึงเดินทางไปสังเกตการณ์การเคลื่อนย้าย โดยในครั้งนั้นเขายังไม่ถูกคุกคามใดๆ ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายนซึ่งเขาจำไม่ได้ว่าปี 2558 หรือปี 2559 ระหว่างที่เขาแวะถ่ายรูปอนุสาวรีย์ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาล้อมรถ ขอถ่ายบัตรประชาชนของเขา พร้อมทั้งข่มขู่ว่าห้ามโพสต์ภาพที่เขาถ่ายไว้ 

ต่อมาในวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ศรัญญูทราบข่าวในช่วงบ่ายว่าจะมีการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ จึงไปสังเกตการณ์อีกครั้ง โดยไปถึงที่อนุสาวรีย์ในเวลาประมาณ 22.00 น. ปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจมาสั่งห้ามบันทึกภาพ ต่อมาเริ่มมีนักข่าวและประชาชนอีกจำนวนหนึ่งเข้ามาในพื้นที่ เจ้าหน้าที่พยายามคนที่มาห้ามถ่ายรูป ต่อมาศรัญญูถูกเชิญตัวไปที่ป้อมตำรวจและเจ้าหน้าที่ขอให้เขาเปิดโทรศัพท์ให้ดูว่าถ่ายภาพอะไรไปบ้าง “เจ้าหน้าที่ตำรวจขอถ่ายรูปบัตรประชาชนและสอบถามประวัติว่าเป็นใคร พร้อมทั้งขอเปิดดูมือถือ ในแอปพลิชั่นต่างๆ อย่างไลน์ เฟซบุ๊ก โดยอ้างว่าถ้าไม่ให้ดูจะไม่ปล่อยตัว” ศรัญญูระบุโดยเขาถูกควบคุมตัวจนถึงเวลาประมาณ 3.40 น. จึงได้รับการปล่อยตัว 

นอกจากศรัญญูแล้วในวันเดียวกันก็มีกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรมอีกคนหนึ่งที่ไปถ่ายทอดสดการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ในวันที่ 27 ธันวาคม 2561 โดยหลังจากเขาทำการถ่ายทอดสดได้ไม่เกินห้านาทีก็มีชายประมาณสิบคนเดินเข้ามาหาถามว่าถ่ายอะไร หนึ่งในกลุ่มคนที่เดินเข้ามาหาเขายังดึงโทรศัพท์ไปจากมือเขาด้วย กาณฑ์ได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 03.00 น. โดยที่โทรศัพท์ของเขายังถูกยึดไว้ เจ้าหน้าที่อ้างว่าจะยึดไว้ทำการตรวจสอบก่อนแล้วจะคืนให้ในช่วงเย็นวันที่ 28 ธันวาคม 2561

ทั้งนี้ภายหลังจากอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญซึ่งมีสถานะเป็นโบราณถูกย้ายออกไป สำนักข่าวประชาไทพยายามติดตามขอข้อมูลว่าบุคคลหรือหน่วยงานใดเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการย้ายอนุสาวรีย์และอนุสาวรีย์ถูกย้ายไปไว้ที่ใด แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ  

น่าสนใจว่าในขณะที่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ สัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฎคณะกู้บ้านกู้เมือง (กบฎบวรเดช) ถูกทำให้หายไป ชื่อของพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร หัวหน้าคณะกู้บ้านกู้เมืองและพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) นายทหารคนสำคัญของคณะกู้บ้านกู้เมืองที่เสียชีวิตในการปะทะกับทหารของรัฐบาลคณะราษฎรกลับถูกรื้อฟื้นโดยถูกนำไปตั้งเป็นชื่อห้องประชุม ที่มีการปรับปรุงใหม่ภายในกองบัญชาการกองทัพบก 

วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารระบุว่าที่กองทัพบกตั้งชื่อห้องประชุมศรีสิทธิสงคราม ไม่ได้หมายถึงเหตุการณ์กบฎบวรเดช แต่เพราะพระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นนายทหารที่มีความจงรักภักดีอย่างที่สุด  และไม่ได้ร่วมกับ คณะราษฎร ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475  เนื่องจากยึดมั่นในคำถวายสัตย์ฯ วาสนาระบุด้วยว่าแนวคิดการเปลี่ยนชื่อเป็นแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. และพล.อ.ประยุทธ์ ยังเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดใช้ห้องประชุมดังกล่าวในวันที่ 9 ตุลาคม 2562 ด้วย และต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ในขณะนั้นมอบหมายให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ.เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พล.อ.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และบำเพ็ญกุศลแก่ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของนายทหารที่มีความจงรักภักดี 

ตามรายงานของ The Standard แผนกแถลงข่าว กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพบกเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับพิธีบำเพ็ญตอนหนึ่งว่า 

“ครั้น พ.ศ. 2476 ได้เกิดการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช โดยมีพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นแม่ทัพ มีชื่อเป็นที่รู้จักกันว่า “กบฏบวรเดช” เนื่องจากพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปกครองของพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่มีลักษณะเป็นเผด็จการ

โดยเรียกร้องให้ รัฐบาลของพระยาพหลฯ ดำเนินตามแนวทางที่เสนอคือ ให้รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ และให้รัฐบาลมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยให้อำนาจฝ่ายรัฐสภาในการตรวจสอบมากขึ้นและจำกัดอำนาจของรัฐบาลมิให้คณะราษฎรกลายเป็นคณะเผด็จการ แต่ในที่สุดการก่อกบฏ ไม่เป็นผลฝ่ายรัฐบาลปราบปรามคณะกบฏลงได้

“วีรกรรมที่กล้าหาญและเสียสละของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงครามควรแก่การยกย่องในฐานะที่ทรงปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความจงรักภักดี และทรงมุ่งหวังให้ประเทศชาติดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

กำเนิดใหม่ คณะราษฎร

นอกจากหมุดคณะราษฎรและอนุสาวรีย์ปราบกบฎแล้วยังมีสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรอีกส่วนหนึ่งที่ทยอยหายสาปสูญหรือถูกเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลง โดยปรากฎการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 เดือนมกราคม 2563 มีการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ของพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรสายทหารบก ออกจากพื้นที่เดิมในศูนย์การทหารปืนใหญ่ หรือ ค่ายพหลโยธิน จังหวัดลพบุรี ซึ่งพระยาพหลเคยประจำการ  ก่อนที่ในเดือนมีนาคมปีเดียวกันจะมีการเปลี่ยนชื่อค่ายดังกล่าวเป็นชื่อค่ายภูมิพล ขณะที่กองพลทหารปืนใหญ่ที่อยู่ในจังหวัดลพบุรีเช่นกันก็ถูกเปลี่ยนชื่อจากค่ายพิบูลสงครามเป็นค่ายสิริกิติ์ นอกจากนี้ก็ยังมีการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ของจอมพล ป.ที่เดิมตั้งอยู่ในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ถนนวิภาวดีรังสิตในเดือนมกราคม 2563  และการถอดชื่อจอมพล ป. ออกจากบ้านพักเก่าของจอมพล ป.ในจังหวัดเชียงรายเหลือเพียงคำว่า “ศูนย์การเรียนรู้เชิงประวัติ” ในป้ายชื่ออันใหม่ 

อย่างไรก็ตามการลบประวัติศาสตร์คณะราษฎรดูจะไม่ได้ทำให้เรื่องราวของคณะราษฎรถูกลบเลือนไป และกลายเป็นว่าสัญลักษณ์แวดล้อมคณะราษฎรกลับยังถูกนำมาผลิตซ้ำหรือสร้างสรรค์ในลักษณะใหม่ๆ เป็นระยะ และที่สำคัญที่สุดคือการนำคำว่า “ราษฎร” ซึ่งเป็นคำเรียกสามัญชนในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาใช้เป็นชื่อขบวนการเคลื่อนไหวที่ก่อตัวขึ้นในปี 2563 

จากข้อมูลของ Mob Data Thailand ในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 มีการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างน้อยเก้าครั้งในห้าจังหวัด โดยมีไฮไลท์อยู่ที่การจัดกิจกรรมในช่วงย่ำยุ่งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยฉายโฮโลแกรมเหตุการณ์การอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ในปี 2475  จากนั้นในช่วงสายคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ยังจัดการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเกียกกายเพื่อทวงถามความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จาก คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยหนึ่งในไฮไลท์ของกิจกรรมดังกล่าวคือการนำหมุดคณะราษฎรจำลองขนาดใหญ่มาตั้งในพื้นที่และมีผู้นำนุมคนหนึ่งแต่งกายด้วยเครื่องแบบทหารสมัย 2475 มาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ประกอบเสียงอ่านแถลงการณ์คณะราษฎรด้วย 

แม้สัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรจะค่อยๆ ถูกทำลายในหลายพื้นที่ แต่มีความน่าสนใจว่าในปี 2563 พื้นที่ภาคอีสานยังมีสัญลักษณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเหลืออยู่ ทั้งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น และอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่มหาสารคามและสุรินทร์ ซึ่งมีการจัดกิจกรรมรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างคึกคัก

นอกจากการจัดกิจกรรมรำลึก 24 มิถุนาแล้ว การไล่ลบเรื่องราวเกี่ยวกับจอมพล ป.ยังส่งผลให้กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยจัดกิจกรรม “HAPPY BIRTHDAY แบบแปลกแปลก” ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 123 ปีชาตกาลของจอมพล ป.ด้วย  โดยไฮไลท์ของงานดังกล่าวคือการเป่าเทียนเค้กวันเกิดที่มีรูปหน้าจอมพล ป. 

สัญลักษณ์แวดล้อมคณะราษฎรยังถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวในช่วงปี 2563 อยู่หลายครั้งด้วย เช่น ภาษาที่ใช้ในประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1 ที่มีสาระสำคัญคือ 10 ข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นภาษาที่ล้อมาจากภาษาที่ปรากฎในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ต่อมาในการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งเป็นการชุมนุมค้างคืนที่ท้องสนามหลวงระหว่างวันที่ 19 – 20 กันยายน 2563 ก็มีไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การฝังหมุดคณะราษฎร 63 บนพื้นสนามหลวงในช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 20 กันยายน 2563

แม้หน้าตาของหมุดคณะราษฎร 63 จะมีการออกแบบในลักษณะที่ไม่เป็นทางการทว่าคำจารึกบนหมุดที่ว่า “ณ ที่นี้ผองราษฎรได้แสดงเจตนารมณ์ ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่สมบัติของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง” ก็เป็นถ้อยคำที่ล้อไปกับคำในประกาศคณะราษฎร์ฉบับที่ 1 นอกจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมยังได้เลือกใช้วิธี “ฝังหมุด” เช่นเดียวกับที่คณะราษฎรเคยทำเพียงแต่เปลี่ยนสถานที่จากลานพระบรมรุปทรงม้ามาเป็นท้องสนามหลวง และที่สำคัญในเดือนตุลาคม คำว่า “ราษฎร” ซึ่งเป็นคำเรียกประชาชนในยุค 2475 ยังได้ถูกนำมาใช้เรียกขบวนการเคลื่อนไหวที่ชูข้อเรียกร้องคือให้ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพลาออก 2.ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนมีส่วนร่วม และ 3.ให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย      

ขณะที่แวดวงวิชาการเองในช่วงหลังปี 2560 ก็มีการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับคณะราษฎรที่เป็นการศึกษาในมิติใหม่ๆ ออกมาหลายเล่ม เช่น หนังสือ “หลังบ้านคณะราษฎร” ของชานันท์ ยอดหงษ์ (2564) ที่ศึกษาบทบาทของภรรยาผู้ก่อการคณะราษฎรหลายคนๆ ให้ห้วงเวลาก่อนและหลังการปฏิวัติ หนังสือ “2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน” ของนริศ จรัสจรรยาวงศ์ (2564) ซึ่งเป็นการปรับปรุงบทความของเขาที่เคยเผยแพร่ในวารสารศิลปวัฒนธรรมมารวมเล่มกับงานเขียนชิ้นใหม่ โดยผลงานของนริศมีจุดเด่นที่การค้นคว้าเอกสารชั้นต้นและภาพประกอบร่วมสมัยคณะราษฎรที่หาจากที่อื่นได้ยากและมีการศึกษาคณะราษฎรในมิติที่อาจยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก อาทิ บทบาทของผู้ก่อการที่เป็นชาวมุสลิม และหนังสือ “ตามรอยอาทิตย์อุทัย” ของณัฐพลใจจริงที่ตีพิมพ์ออกมาในช่วงปี 2563 ศึกษานโยบายสร้างชาติของจอมพล ป.สงคราม ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยแรกซึ่งอยู่ในช่วงของสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่สองในเอเชีย) โดยหนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ในปีเดียวกับที่สัญลักษณ์แวดล้อมจอมพล ป. ที่กล่าวข้างต้นถูกทำให้หายไป  

นอกจากการถูกคืนชิวิตบนท้องถนนและในงานวิชาการแล้ว คณะราษฎรยังถูกคืนชีวิตในรูปแบบของการสร้างสรรค์งานศิลปะ สินค้าที่ระลึก รวมถึงอาหารด้วย เช่น ร้านโตเกียวฮอทได้ร่วมเฉลิมฉลองวันอภิวัฒน์สยาม 2475 ด้วยการทำขนมโตเกียวลายหมุดคณะราษฎรออกขายในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 โดยรายได้จากการขายเครปรูปหมุดในวันดังกล่าวจะถูกนำไปมอบให้มูลนิธิกระจก เพื่อเข้าในโครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะที่เนติวิทย์ก็เคยทำคุกกี้เป็นรูปหมุดคณะราษฎรออกขายด้วยเช่นกัน มูลนิธิป๋วยเคยทำปฏิทินภาพคณะราษฎรออกจำหน่ายอย่างน้อยสองครั้งได้แก่ปฏิทิน “ไทยใหม่” ปี 2563 ที่นำเสนอเรื่องราวงานวัฒนธรรมและสิ่งปลูกสร้างยุคคณะราษฎรเป็นภาพเขียน 12 ภาพในปฏิทิน และปฏิทินป๋วย ปี 2565 ที่นำเสนอภาพผู้ก่อการคณะราษฎร 12 คนด้วยลายเส้นคล้ายมาร์เวลคอมมิกส์ นอกจากนั้นยังมีการนำภาพหมุดคณะราษฎรและสมาชิกคณะราษฎรบางส่วนไปทำเป็นลวดลายบนเสื้อออกจำหน่ายด้วย ขณะที่ภาพของจอมพล ป. ยังถูกนำไปทำเป็นมีม “เชื่อกูแต่แรกก็จบแล้ว ไอ้สัส” ที่ถูกแชร์ในอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย