แก้รัฐธรรมนูญ: เพื่อไทยเสนอ “นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.”-เพิ่มกลไกคุ้มครองสิทธิหลายประเด็น

ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับ คสช. กลับให้เป็นปกติที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามมาตรฐานตามที่เคยเป็นมา และให้อำนาจการปกครองประเทศเป็นของประชาชน เดินหน้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 – 2565 โดยมีการยื่นข้อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภาพิจารณาแล้วสามภาค รวม 21 ฉบับ ซึ่งผ่านการพิจารณาได้เพียงประเด็นเดียวเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง ส.ส. ให้ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุด ยังไม่ยอมแพ้ใช้ช่องทางการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย ส.ส. ของพรรคจำนวน 1 ใน 5 ของรัฐสภา เข้าชื่อกันเสนอร่างอีกสามฉบับ โดยมีหนึ่งฉบับที่เป็นประเด็นใหม่เกี่ยวกับสิทธิชุมชน ส่วนอีกสองฉบับเป็นประเด็นคล้ายที่เคยนำเสนอก่อนหน้านี้แต่ตกไปเพราะ ส.ว. ไม่รับไว้พิจารณา พรรคเพื่อไทยก็นำมาแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนและนำเสนอใหม่อีกครั้ง และถูกบรรจุเข้าวาระการพิจารณาของรัฐสภาตั้งแต่วันที่ 9-10 มิถุนายน 2565 เฝ้ารอคิวให้มาถึง  

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับ ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย มีเนื้อหาพอสรุปได้ ดังนี้

ฉบับหนึ่ง รีเทิร์นองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ 

(อ่านร่างเต็มที่นี่)

รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนรับรอง “สิทธิชุมชน” ไว้ในมาตรา 43 ว่า บุคคลและชุมชนมีสิทธิที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จัดระบบสวัสดิการของชุมชน สิทธิเข้าชื่อกันเสนอต่อหน่วยงานของรัฐให้ต้องดำเนินการใดหรือไม่ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์ต่อชุมชน 

ทั้งนี้ แม้ว่ามาตรา 43 จะมีเนื้อหาที่กระชับกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550 แต่การรับรองสิทธิของชุมชนก็น้อยลงในหลายประเด็น อาทิเช่น สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วม “ในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่อย่างปกติ และต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของคน” ซึ่งมีในรัฐธรรมนูญสองฉบับก่อนหน้านี้ รวมถึงไม่มีการเขียนถึงสิทธิแสดงความคิดเห็นของบุคคลต่อการดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐ แต่เขียนเป็น “หน้าที่ของรัฐ” ที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และไม่เขียนให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพื่อให้ความเห็นก่อนการตัดสินใจดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐ

ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่หนึ่งของพรรคเพื่อไทย จึงเสนอแก้ไขมาตรา 43 โดยคงบทบัญญัติ (1)-(4) เดิมไว้แล้วเพิ่ม (5) วรรคสอง และวรรคสาม ดังนี้

             (5) ได้รับการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตนและชุมชน

             การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการตัดสินใจดำเนินการดังกล่าว

             สิทธิของบุคคลหรือชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง

ประเด็นสำคัญของการเสนอแก้ไขครั้งนี้ คือ การรับรองสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ตาม (5) และการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้มีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งเคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการจัดตั้งคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ขึ้นโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ภายหลังยุบเลิกไปหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ข้อเสนอครั้งนี้จึงเป็นความพยายามเอาองค์กรดังกล่าวกลับมา

ส่วนข้อบังคับเรื่องการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และการจัดรับฟังความคิดเห็นก่อนการดำเนินโครงการของรัฐที่เขียนไว้ในวรรคสอง รัฐธรรมนูญมาตรา 58 กำหนดขั้นตอนเหล่านี้ไว้อยู่แล้ว แต่กำหนดไว้ในหมวด “หน้าที่ของรัฐ” ไม่ได้กำหนดไว้ในหมวดที่เป็น “สิทธิของประชาชน”

ฉบับสอง คืนสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิสาธารณสุข เพิ่มสิทธิคนไร้บ้าน

(อ่านร่างเต็มที่นี่)

รัฐธรรมนูญ 2560 มีข้ออ่อนด้านการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายประเด็น ซึ่งเป็นการรับรองที่ลดลงจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 และ 2550 โดยเฉพาะการย้ายสิทธิของประชาชนหลายประเด็นไปเขียนเป็น “หน้าที่ของรัฐ” ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในทางกฎหมายและสร้างความสับสนว่าประชาชนจะได้รับความคุ้มครองน้อยลงหรือมากขึ้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ของพรรคเพื่อไทย จึงเสนอให้เขียนรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนใหม่หลายประเด็นให้ไม่น้อยกว่าที่เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้

ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยเคยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาคล้ายกันในการพิจารณายกที่สองแล้ว แต่เสียงเห็นชอบของ ส.ว. ไม่เพียงพอจึงตกไป พรรคเพื่อไทยได้แก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดบางประเด็นและเสนอกลับสู่การพิจารณาอีกครั้ง มีประเด็นดังนี้

1) เพิ่มเติมมาตรา 25 ซึ่งเป็นมาตราที่วางหลักการพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพของประชาชน เขียนเพิ่มวรรคห้า ว่า “สิทธิหรือเสรีภาพตามมาตรานี้ให้หมายความรวมถึงสิทธิหรือเสรีภาพตามพันธกรณีและกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย”

2) เพิ่มเติมมาตรา 29 เรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมคดีอาญา โดยเขียนวรรคห้าและวรรคหกใหม่ เน้นเรื่องสิทธิในการประกันตัวผู้ต้องหา การไม่ให้ประกันตัวต้องมีพฤติการณ์ว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือเหตุอื่น และคดีที่ศาลไม่ให้ประกันตัวจะคุมขังระหว่างการพิจารณาเกินหนึ่งปีไม่ได้

3) เพิ่มมาตรา 29/1 เอาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกลับมา ซึ่งเขียนคล้ายกับฉบับปี 2550 สิทธิเหล่านี้เคยเขียนไว้ชัดเจนในฉบับปี 2550 แต่ถูกตัดออกไปในฉบับปี 2560 เช่น สิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม หลักประกันการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริง การคัดค้านผู้พิพากษา การมีทนายความและได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากรัฐ

4) เพิ่มเติมมาตรา 34 เรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็นว่า การออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพจะจำกัดการติชมด้วยความเป็นธรรมไม่ได้

5) แก้ไขมาตรา 45 เรื่องสิทธิจัดตั้งพรรคการเมือง โดยผ่อนปรนเงื่อนไขให้ยืดหยุ่นขึ้น โดยเขียนด้วยว่า การจัดตั้งพรรคการเมืองจะต้องไม่มีขึ้นตอนและความยุ่งยากเกินควร การให้สมาชิกมีส่วนร่วมต้องไม่สร้างภาระแก่พรรคการเมืองเกินสมควร ส่วนการยุบพรรคการเมืองจะทำได้เฉพาะกรณีที่ปรากฏพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

6) แก้ไขมาตรา 47 เรื่องสิทธิทางสาธารณสุข ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐานและได้รับหลักประกันสุขภาพโดยถ้วนหน้า” เพิ่มคำว่า “สิทธิเสมอกัน” และยืนยันเรื่องหลักประกันสุขภาพแบบ “ถ้วนหน้า” แทนวิธีการเขียนที่ไม่ชัดเจนในฉบับปี 2560 

7) เพิ่มเติมมาตรา 48 เรื่องสวัสดิการของรัฐ โดยให้คงเรื่องสิทธิของมารดาก่อนและหลังคลอดเอาไว้ เขียนให้บุคคลที่อายุเกินหกสิบปีและไม่มีรายได้เพียงพอ และบุคคลยากไร้ ได้รับสวัสดิการ โดยเพิ่มคำว่า ให้ได้สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ “อย่างสมศักดิ์ศรี” เพิ่มสิทธิคนพิการหรือทุพลลภาพที่จะใช้ประโยชน์จากสวัสดิการของรัฐ สิทธิของบุคคลวิกลจริต และคนไร้ที่อยู่อาศัยที่จะได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งไม่เคยเขียนมาก่อนในรัฐธรรมนูญ

ฉบับสาม นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. และอยู่ในบัญชีพรรคการเมือง 

(อ่านร่างเต็มที่นี่)

ที่มานายกรัฐมนตรี เป็นข้อถกเถียงมานานหลายสมัย และรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ออกแบบนวัตกรรมใหม่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องเสนอชื่อบุคคลที่จะให้เป็นนายกรัฐมนตรีสามรายชื่อก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นช่องทางที่เปิดให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเอง ไม่ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และไม่ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นวัตกรรมนี้ก็ส่งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรียาวต่อเนื่องมากหลังการเลือกตั้งในปี 2562

ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยเคยเสนอให้แก้ไขมาตรา 159 มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่เสนอเพียงเพิ่มช่องทางให้นายกรัฐมนตรีจะมาจากบัญชีของพรรคการเมืองก็ได้ หรือจะมาจากใครคนใดคนหนึ่งที่เป็น ส.ส. ในสภาก็ได้ ข้อเสนอดังกล่าว ส.ว. ลงมติให้ตกไปไม่รับไว้พิจารณาในภาคสอง เมื่อมาถึงในภาคที่สี่พรรคเพื่อไทยยื่นข้อเสนอแก้ไขมาตรา 159 อีกครั้งให้กำหนดบังคับเลยว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นทั้ง ส.ส. ในสภาที่ได้รับการเลือกตั้ง และต้องเป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อไว้ก่อนเลือกตั้งด้วย ดังนี้

            มาตรา 159 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

ในข้อเสนอฉบับนี้ของพรรคเพื่อไทย ยังกำหนดด้วยว่า หากนายกรัฐมนตรีพ้นจากการเป็น ส.ส. ก็พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย แต่ถึงร่างฉบับนี้ผ่านการพิจารณาก็ไม่มีผลบังคับใช้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจะยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ เพราะมาตรา 159 ที่เสนอใหม่นี้จะเริ่มใช้หลังการเลือกตั้งครั้งถัดไปเท่านั้น