เตรียมจับตา! ร่าง พ.ร.บ. #สมรสเท่าเทียม – #คู่ชีวิต ผ่านวาระแรก แต่ยังเหลืออีกหลายด่าน

15 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการ #สมรสเท่าเทียม และ #คู่ชีวิต จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่พรรคก้าวไกลเสนอ, ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ, ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และสุดท้าย ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และคณะ เป็นผู้เสนอ 

แม้ว่ากฎหมายทั้งสี่ฉบับจะถูกมองว่าเป็นร่างกฎหมายที่มีหลักการและเนื้อหาในทำนองเดียวกัน เนื่องจากให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถแต่งงานกันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และได้รับสิทธิต่างๆ เหมือนคู่แต่งงานอื่นๆ เช่น การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน การรับมรดจากคู่รัก และอื่นๆ แต่ส่วนที่ต่างคือ สถานะทางกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ให้สถานะคู่รักที่แต่งงานและจดทะเบียนสมรสกันเป็น “คู่สมรส” เหมือนกับคู่สมรสอื่นๆ แต่ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะให้สถานะทางกฎหมายเป็น “คู่ชีวิต” และด้วยเหตุนี้ ทำให้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมใช้วิธีเขียนกฎหมายด้วยการแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้ใช้วิธีเขียนกฎหมายใหม่ขึ้นมาแบบ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต

อ่านเปรียบเทียบร่างพ.ร.บ.แก้ประมวลกฎหมายแพ่ง สมรสเท่าเทียม และ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/6169

หลังจากที่สภาผู้แทนฯ มีมติรับหลักการกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสเท่าเทียมหรือคู่ชีวิตแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การพิจารณากฎหมายในวาระที่สองและสาม โดยจะมีคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พ.ร.บ. จำนวน 25 คน ทำหน้าที่ปรับแก้กฎหมายก่อนส่งให้สภาพิจารณา ซึ่งรายนามของคณะกรรมาธิการ ประกอบไปด้วยตัวแทนของคณะรัฐมนตรีและตัวแทนของพรรคการเมือง ดังนี้

คณะรัฐมนตรี 

  • ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์
  • เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร
  • ณัฐนันทน์ อัศวเลิศศักดิ์
  • นิโรธ สุนทรเลขา
  • แทนคุณ จิตต์อิสระ

เพื่อไทย

  • มุกดา พงษ์สมบัติ
  • วิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์
  • กิตติ์ธัญญา วาจาดี
  • ชนก จันทาทอง
  • สุรชาติ เทียนทอง
  • ชานันท์ ยอดหงษ์

พลังประชารัฐ

  • พรชัย ตระกูลวรานนท์
  • สุรพร ดนัยตั้งตระกูล
  • กษิดิ์เดช ชุติมันต์
  • ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์

ภูมิใจไทย

  • วิรัช พันธุมะผล
  • สมบัติ เดียวอิศเรศ
  • สายสุพล พันธุมโน

ประชาธิปัตย์

  • อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ
  • รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท

ก้าวไกล

  • ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์
  • ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์

เศรษฐกิจไทย

  • ปีเตอร์ หลุยส์ ไมอ๊อกชิ

ชาติไทยพัฒนา

  • สรชัด สุจิตต์

เสรีรวมไทย

  • เกศศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ 

หลังจากที่ กมธ.วิสามัญฯ ทำการแปรญัตติร่างกฎหมายหรือปรับแก้ร่างกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย สภาผู้แทนฯ จะต้องพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายแบบรายมาตรา ว่าเห็นชอบด้วยกับการปรับแก้ของ กมธ.วิสามัญฯ หรือไม่ หรือ ให้คนไว้ตามร่างเดิม หรือจะปรับเปลี่ยนใหม่ตามที่มีผู้อื่นเสนอแก้ และเมื่อลงมติให้ความเห็นชอบรายมาตราเป็นที่เรียกร้อย จึงมาพิจารณากันต่อในวาระที่สามว่า สภาผู้แทนฯ จะให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายทั้งฉบับหรือไม่ หากให้ความเห็นชอบ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังวุฒิสภา เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พิจารณากันต่ออีกสามวาระ

หาก ส.ว. ให้ความเห็นชอบโดยไม่มีการแก้ไข ก็ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งในระหว่างนี้ ให้นายกฯ ส.ส. หรือ ส.ว. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ได้อีกด้วย นอกจากนี้ หาก ส.ว.ไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะถูกยับยั้งไว้ก่อน เพื่อรอ ส.ส. มาพิจารณาใหม่อีกครั้ง หรือ หาก ส.ว.ทำการแก้ไขกฎหมาย ก็จะต้องส่งกลับมาให้ ส.ส. พิจารณาอีกครั้งว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากเห็นต่างกันก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อปรับแก้กฎหมายใหม่อีกครั้งเพื่อเสนอให้ทั้งสองสภาลงมติใหม่ ทั้งนี้ หากมีสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นด้วย ให้ยับนยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อน แล้ว ส.ส. ถึงหยิบขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งได้

กล่าวโดยสรุปคือ การพิจารณารับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง และหนทางในการผลักดันให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสมรสกันได้ ยังต้องลุ้นและจับตากันต่อไป

ดูขั้นตอนการออกกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5343