หนึ่งปียังไม่ได้เยียวยา เดินหน้าฟ้องศาลปกครอง เหตุ “ม.33 เรารักกัน” กำหนดเงื่อนไขกีดกันแรงงานข้ามชาติ

27 พฤษภาคม 2565 เวลา 13.30 น. กลุ่มผู้ใช้แรงงานข้ามชาติ พร้อมด้วยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เดินทางมาที่ศาลปกครอง แจ้งวัฒนะ เพื่อยื่นฟ้ององค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเงื่อนไขของโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ได้แก่ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง คณะกรรมาธิการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ และคณะรัฐมนตรี พร้อมแนบเอกสารรายชื่อผู้สนับสนุนการฟ้องทั้งหมด 2,198 รายชื่อประกอบด้วย

ที่มาของปัญหาดังกล่าว สืบเนื่องจากโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ซึ่งเป็นโครงการจากภาครัฐที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การช่วยเหลือ เยียวยา แบ่งเบาภาระค่าครองชีพ และลดผลกระทบของผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 จากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 โดยมีการอนุมัติงบประมาณ 37,100 ล้านบาท และ 48,841 ล้านบาท ให้กับผู้ประกันตนในระบบกว่าแปดล้านคน และผู้ที่มีสิทธิตามเงื่อนไขจะได้รับเงินเยียวยาจำนวนทั้งสิ้น 4,000 บาทตลอดโครงการผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ครั้งละ 1,000 บาท ตั้งแต่ 21 กุมภาพันธ์ – 30 มิถุนายน 2564

ภายใต้เงื่อนไขการจ่ายเงินของโครงการที่กำหนดให้ “ผู้ประกันตนต้องมีสัญชาติไทย” ได้ส่งผลให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงสิทธิรับเงินเยียวยาจากโครงการนี้ได้ แม้ว่าจะอยู่ภายใต้ระบบประกันสังคมและจ่ายเงินเข้าระบบในอัตราเดียวกับคนไทย โดย มสพ. รายงานว่า ปัจจุบันมีแรงงานที่ไม่มีสัญชาติไทยอย่างน้อยหนึ่งล้านคน ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราเดียวกันกับผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทย ซึ่งคิดเป็นเงินสมทบรวมกันแล้วจำนวนกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี

ปสุตา ชื้นขจร ทนายความของ มสพ. กล่าวว่า “การมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองในครั้งนี้ นับเป็นการใช้สิทธิการเข้าถึงกลไกของฝ่ายตุลาการเป็นหน่วยงานสุดท้าย ขอเรียกร้องให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนการกระทำที่มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และกฎหมายสิทธิมนุษยชนมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคมให้มีการเคารพหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และสร้างรากฐานหลักการแบ่งแยกอำนาจที่มิยอมให้มีองค์กรหนึ่งองค์กรใดใช้อำนาจของรัฐ ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพียงองค์กรเดียว”

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ความพยายามดำเนินการครั้งแรกของ มสพ. เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากภาครัฐ โดยที่ผ่านมาทาง มสพ. ได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกลุ่มผู้ใช้แรงงานข้ามชาติผ่านการดำเนินเรื่องไปยังองค์กรต่างๆ ของภาครัฐตั้งแต่ปี 2564 เรียงลำดับเหตุการณ์ได้ดังนี้

  • 15 ก.พ. 64 คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการ “ม.33 เรารักกัน”
  • 10 มี.ค. 64 ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรัฐบาลไทย ขอให้ยกเลิกเงื่อนไขคุณสมบัติ “สัญชาติไทย” ของผู้ได้รับสิทธิใน “โครงการ ม.33 เรารักกัน” ตามที่กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมไดกำหนดไว้ในเว็บไซต์ลงทะเบียนโครงการ
  • 7 มิ.ย. 64 ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ร้องเรียนความไม่เป็นธรรมว่าโครงการ “ม.33 เรารักกัน” เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
  • 1 ก.ย. 64 ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่าโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 วรรคสาม บัญญัติห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไมเป็นธรรมต่อบุคคลเพราะความแตกต่างในเรื่อง “เชื้อชาติ” เท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึง “สัญชาติ” ดังนั้นการที่โครงการฯ กำหนดคุณสมบัติไวว่าต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น จึงมิได้มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไมเป็นธรรม
  • 9 ธ.ค. 64 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่าโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
  • 10 ม.ค. 65 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไว้พิจารณาโดยแจ้งว่า โครงการ “ม.33 เรารักกัน” เป็นโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอื่น
  • 1-25 พ.ค. 65 มสพ. เปิดให้ประชาชนลงชื่อสนับสนุนการฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ และเพิกถอนการกำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิว่าต้องเป็นผู้มี “สัญชาติไทย” เท่านั้น
  • 27 พ.ค. 65 ยื่นฟ้องหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ต่อศาลปกครอง