ประชุมสภา: จับตากฎหมายค้างท่อ อย่างน้อย 40 ฉบับ

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 4 ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2565 นั้น เป็นอีกหนึ่งสมัยการประชุมที่น่าจับตามอง เพราะยังมีร่างกฎหมายอีกจำนวนที่ยังรอให้ผู้แทนราษฎรพิจารณา และยังมีร่างกฎหมายถึง 10 ฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช้เทคนิคถ่วงเวลา ขอนำร่างกฎหมายไปศึกษาก่อน 60 วัน เช่น #สมรสเท่าเทียม #สุราก้าวหน้า ซึ่งร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับนั้นยังต้องรอให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่าจะ “รับหลักการ” หรือไม่ นอกจากนี้ ในสมัยประชุมนี้ สภาผู้แทนราษฎรยังมีนัดพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญที่อาจส่งผลต่อสถานะของรัฐบาล คือ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งตั้งวงเงินงบประมาณไว้ที่ 3.18 ล้านล้านบาท

ด้านฝั่งวุฒิสภายังมีกฎหมายที่ยังค้างพิจารณาอยู่อย่างน้อย 7 ฉบับ โดยมีกฎหมายที่ต้องจับตา อย่างเช่น  ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญในการยกระดับการป้องกันการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของ ส.ว. และหากมีการปรับเปลี่ยนแก้ไข ก็จะต้องส่งให้สภาผู้แทนฯ พิจารณาใหม่อีกครั้ง หากเห็นไม่ตรงกัน ก็ให้ยับยั้งร่างนั้นไว้ก่อน แล้วสภาผู้แทนฯ ถึงสามารถหยิบมาพิจารณาใหม่ได้ และกลายเป็นความล่าช้าในการออกกฎหมาย

ในขณะเดียวกัน ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ยังต้องประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณากฎหมายสำคัญอย่าง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ….) พ.ศ. …. และ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ….) พ.ศ. …. ซึ่งจะเป็นกุญแจดอกสุดท้ายก่อนจะเปิดทางไปสู่การเลือกตั้งครั้งหน้าภายใต้กติกาใหม่ที่มีบัตรเลือกตั้งสองใบไว้ใช้เลือกคนกับพรรคแยกจากกัน เช่นเดียวกับระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 แต่ก็ยังมีรายละเอียดในหลายส่วนที่ต่างออกไป เช่น การกำหนดหมายเลขผู้สมัคร หรือ การคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ

ร่างกฎหมายที่กมธ.พิจารณาแล้ว จ่อคิวลงมติวาระสอง-สาม เก้าฉบับ

สภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดนัดพิจารณาร่างกฎหมายทุกวันพุธของแต่ละสัปดาห์ ซึ่งวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่กรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จ วาระสอง (ลงมติรายมาตรา) และวาระสาม (ลงมติร่างกฎหมายทั้งฉบับ) รวมทั้งสิ้นเก้าฉบับ ดังนี้

  • ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งเสนอโดยครม. และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการวาระหนึ่งไปแล้วเมื่อ 7 กรกฎาคม 2564 ร่างกฎหมายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วน-บริษัท ประเด็นที่น่าสนใจคือการแก้ไขจำนวนผู้เริ่มก่อการและตั้งบริษัท จากเดิมที่ต้องใช้บุคคลสามคน ก็แก้ไขให้ลดลงเหลือสองคน ทั้งนี้ มีกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อยบางส่วนที่เสนอให้แก้ไขให้บุคคลคนเดียวก็สามารถตั้งบริษัทได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วกฎหมายนี้จะออกมามีหน้าตาอย่างไร ต้องลุ้นผลการลงมติรายมาตราในการพิจารณาวาระสองของสภาผู้แทนราษฎร
     
  • ร่างพ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เสนอโดยครม. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 เพื่อให้การกำหนดความผิด และบทกำหนดโทษสอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการวาระหนึ่งไปแล้วเมื่อ 7 กรกฎาคม 2564
     
  • ร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งเสนอโดยครม. และมีร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายอีกเจ็ดฉบับที่พิจารณาควบคู่ไปกับฉบับที่เสนอโดยครม. ได้แก่ ฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคเพื่อไทยสามฉบับ, ฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคภูมิใจไทย, ฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคประชาธิปไตยใหม่, ฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา และอีกหนึ่งฉบับเสนอโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันเข้าชื่อ สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อ 16 ธันวาคม 2563 อยู่ในการพิจารณาของกมธ. หนึ่งปีกว่าถึงเข้าสู่การพิจารณาลงมติรายมาตราวาระสอง
     
  • ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2560 พ.ศ. …. ซึ่งเสนอโดยส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และมีร่างกฎหมายทำนองเดียวกันอีกหกฉบับที่พิจารณาควบคู่กันไป ได้แก่ ร่างฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคภูมิใจไทย, ร่างฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์, ร่างฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา, ร่างฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคเพื่อไทย และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. …. ซึ่งเสนอโดยครม. ร่างกฎหมายทั้งเจ็ดฉบับผ่านการพิจารณารับหลักการโดยสภาผู้แทนราษฎรแล้วเมื่อ 15 กันยายน 2564 และเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระสองเมื่อ 15 ธันวาคม 2564 แต่กมธ. ได้ขอถอนร่างกฎหมายดังกล่าวนำกลับมาพิจารณาทบทวนใหม่ ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระสองอีกครั้งในวันที่ 25 พฤษภาคม 2565
     
  • ร่างพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดยครม. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 เพิ่มส่วน (ฆ/3) ว่าด้วยการทิ้งขยะในทะเล ในหมวดที่ 6 ข้อบังคับเบ็ดเตล็ด ของภาค 1 ข้อบังคับทั่วไป และกำหนดบทบัญญัติให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ค.ศ. 1973 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 โดยสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อ 8 ธันวาคม 2564
     
  • ร่างพ.ร.บ.เครื่องสำอาง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดยครม. เพื่อแก้ไขพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.เครื่องสำอางเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2564
     
  • ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เสนอโดยครม. เพื่อแก้ไขพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยแก้ไขเพิ่มเติมการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน กำหนดการคุ้มครองสิทธิผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินให้เป็นไปอย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยแก้ไขคำว่า “ผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน” ในมาตรา 50 วรรคสอง เป็น “ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สิน” และแก้ไขกำหนดกระบวนการดำเนินการบังคับคดีกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่ง ถูกรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น ร่างกฎหมายนี้ ผ่านการพิจารณาวาระหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2564
     
  • ร่างพ.ร.บ.สถาปนิก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งเสนอโดยครม. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.สถาปนิก พ.ศ.2543 ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาวาระหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 8 ธันวาคม 2564
     
  • ร่างพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่งเสนอโดยครม. และอีกฉบับที่พิจารณาประกบกันเสนอโดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระหนึ่งเมื่อ 22 ธันวาคม 2564

ร่างกฎหมายสามฉบับส.ว.เคยแก้ไขจนต้องตั้งกมธ.ร่วมกัน และส่งกลับมาลงมติ

ตามกลไกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎรมีบทบาทหลักในการพิจารณาร่างกฎหมาย ขณะที่วุฒิสภามีหน้าที่พิจารณาทบทวนร่างกฎหมาย หากมีร่างกฎหมายใดที่ถูกแก้ไขในชั้นวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 กำหนดให้ส่งร่างกฎหมายกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นหรือไม่ ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยก็จะเข้าสู่กระบวนการนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป แต่ถ้าหากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขโดยวุฒิสภา กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายก็จะยิ่งทอดยาวขึ้นไปอีก เพราะจะต้องตั้งกมธ.ร่วมกันของทั้งสองสภา เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายนั้น หลังจากกมธ.ร่วมกันพิจารณาร่างกฎหมายแล้วเสร็จจึงค่อยส่งให้แต่ละสภาลงมติให้ความเห็นชอบ

ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 นี้ มีร่างกฎหมายถึงสามฉบับที่ใช้เวลาพิจารณายาวนาน เพราะผ่านการแก้ไขในชั้นวุฒิสภาจนต้องตั้งกมธ.ร่วมกัน และต้องให้ทั้งสองสภาลงมติ ได้แก่

  • ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งเสนอโดยครม. เพื่อแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการไปเมื่อ 7 กรกฎาคม 2564 และผ่านการพิจารณาในวาระสองและวาระสามเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2564 จากนั้นจึงเข้าสู่การพิจารณาชั้นวุฒิสภา ในวาระหนึ่งเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564 และพิจารณาวาระสองและสาม เมื่อ 10 มกราคม 2565 เนื่องจากวุฒิสภาแก้ไขร่างกฎหมายนี้ จึงต้องส่งกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติม จึงต้องตั้งกมธ. ร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว หลังกมธ. ร่วมพิจารณาร่างกฎหมายแล้วเสร็จ ซึ่งในการประชุมวุฒิสภา วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 วุฒิสภามีมติเห็นชอบกับร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งก็เหลือกระบวนการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 25 นี้
     
  • ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. …. เสนอโดยครม. เป็นกฎหมายที่เสนอขึ้นมาใหม่เพื่อให้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพการสัตวบาลเป็นการเฉพาะ โดยร่างกฎหมายนี้กำหนดให้มีสมควรให้มีการจัดตั้งสภาการสัตวบาลขึ้น เพื่อส่งเสริมการประกอบวิชาชีพการสัตวบาล ควบคุมและกำหนดมาตรฐานการประกอบวิชาชีพการสัตวบาล

    เส้นทางการพิจารณาร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวบาล ใช้เวลายาวนานเกินกว่าหนึ่งปี  เริ่มจากผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่ง เมื่อ 27 มกราคม 2564 และผ่านการพิจารณาในวาระสองและวาระสามเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2564จากนั้นจึงเข้าสู่การพิจารณาชั้นวุฒิสภา ในวาระหนึ่งเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2564 และพิจารณาวาระสองและสาม เมื่อ 28 ธันวาคม 2564 อย่างไรก็ดี เนื่องจากวุฒิสภาแก้ไขร่างกฎหมายนี้ จึงต้องส่งกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎร ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติม จึงต้องตั้งกมธ. ร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว หลังกมธ. ร่วมพิจารณาร่างกฎหมายแล้วเสร็จ ซึ่งในการประชุมวุฒิสภา วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 วุฒิสภาจะพิจารณาลงมติร่างกฎหมายนี้ จากนั้นก็จะเข้าสู่การลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 25

  • ร่างพ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. …. ซึ่งเสนอโดยครม. สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างกฎหมายนี้เมื่อ 7 กรกฎาคม 2564 และพิจารณาลงมติวาระสองและวาระสามเมื่อ 8 กันยายน 2564 ในชั้นวุฒิสภา มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจึงต้องตั้งกมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณา จากนั้นจึงจะส่งให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรลงมติ 

ร่างกฎหมาย “เรื่องด่วน 13 ฉบับ”

นอกจากร่างกฎหมายเก้าฉบับที่สภาผู้แทนราษฎรต้องพิจารณาในวาระสองและวาระสาม และอีกสามฉบับที่ต้องลงมติ ยังมีร่างกฎหมายอีก 13 ฉบับที่ถูกบรรจุอยู่ในวาระเป็น “เรื่องด่วน” ซึ่งต่อคิวรอพิจารณาในวาระหนึ่ง กล่าวคือ ถ้าหากสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างกฎหมายวาระสองและวาระสามทั้ง 12 ฉบับแล้วเสร็จ ก็สามารถพิจารณาร่างกฎหมายที่ถูกบรรจุอยู่ในเรื่องด่วนต่อได้เลย แต่ถ้าหากสภาผู้แทนราษฎรพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ ร่างกฎหมายที่ถูกบรรจุอยู่ในเรื่องด่วนก็จะถูกยกยอดไปรอพิจารณาในวันพุธของสัปดาห์ถัดๆ ไป

ในจำนวนร่างกฎหมาย 13 ฉบับที่ถูกบรรจุวาระเป็นเรื่องด่วน และรอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารับหลักการวาระหนึ่งนั้น มีร่างกฎหมายจำนวนถึง 10 ฉบับ ที่เป็นร่างกฎหมายที่เคยเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงมติรับหลักการเนื่องจากครม. ใช้เทคนิคยื้อเวลา ขอนำร่างกฎหมายไปศึกษาก่อน 60 วัน โดยร่างกฎหมายที่ถูกครม. อุ้มไปศึกษาก่อนและรอคิวการพิจารณาลงมติวาระหนึ่งทั้ง 10 ฉบับนั้น ได้แก่

  • ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  จำนวนสามฉบับ สองฉบับเสนอโดยส.ส.พรรคเพื่อไทย และอีกหนึ่งฉบับเสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล
  • ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  เสนอโดยส.ส.พรรคเพื่อไทย
  • ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  หรือเรียกสั้นๆ ว่าร่างพ.ร.บ.แก้ไขพ.ร.ก.เงินกู้หนึ่งล้านล้านบาท เสนอโดยส.ส.พรรคเพื่อไทย
  • ร่างพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดยส.ส.พรรคประชาชาติเสนอ
  • ร่างพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  เสนอโดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
  • ร่างพ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. …. หรือเรียกสั้นๆ ว่าร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นร่างกฎหมายที่ถูกเสนอขึ้นเพื่อใช้แทนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
  • ร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  #สุราก้าวหน้า เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล
  • ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. #สมรสเท่าเทียม เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้การสมรสสามารถทำได้โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะชายและหญิงตามเพศที่กำหนดในทะเบียนราษฎร

นอกจากร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับข้างต้น ยังมีร่างกฎหมายอีกสามฉบับ ที่ถูกบรรจุวาระเป็นเรื่องด่วน ได้แก่

  • ร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งสภาและผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสองฉบับ เสนอโดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอีกฉบับเสนอโดยส.ส.พรรคเพื่อไทย
  • ร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. เสนอโดยครม.

ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท พิจารณาต่อเนื่องสามวันรวด

นอกจากการพิจารณาร่างกฎหมายข้างต้น จากรายงานข่าว ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ถึง วันที่ 2 มิถุนายน 2565 สภาผู้แทนราษฎรยังมีนัดพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ คือ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งตั้งวงเงินงบประมาณไว้ที่ 3,185,000,000,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 ที่ 85,000 ล้านล้านบาท ข้อน่าสนใจของการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ คือ วุฒิสภาไม่มีอำนาจในการแก้ไขเนื้อหาร่างกฎหมายงบประมาณประจำปี มีอำนาจพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 143 วรรคสาม กำหนด

ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ เป็นร่างกฎหมายสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารประเทศ และเป็นเครื่องชี้วัดศักยภาพของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านการจัดสรรงบประมาณว่าจะนำเงินที่มีจากรายรับนั้น ไปใช้จ่ายในวัตถุประสงค์ใด เพื่ออะไร ซึ่งจากเอกสารงบประมาณปี 2566 งบประมาณกว่า 19.4% เป็น “งบบุคลากร” กล่าวคือ เป็นการจัดสรรงบประมาณบริหารงานบุคลากรภาครัฐ เช่น เงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว ค่าตอบแทนพนักงานราชการ ขณะที่งบลงทุน ถูกจัดสรรไว้ที่ 15.5%

ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณแต่ละรายการอาจเปลี่ยนแปลงได้ในชั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต้องรอติดตามต่อหลังการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในวาระหนึ่งที่จะมีต่อเนื่องสิ้นเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้

วุฒิสภามีกฎหมายค้างท่อต้องพิจารณาอย่างน้อย 7 ฉบับ

เมื่อมีการเปิดวาระสมัยประชุมสภาในวันที่ 22 พฤษภาคม ส.ว. ยังมีกฎหมายที่ยังค้างพิจารณาอยู่อย่างน้อย 7 ฉบับ ในการประชุม ส.ว. สัปดาห์แรกหลังเปิดสภา (23-24 พฤษภาคม 2565) ที่ประชุม ส.ว. ก็จะต้องลงมติวาระสอง-สามของร่างกฎหมาย 5 ฉบับ โดยแบ่งเป็นร่างกฎหมายที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว และ ส.ว.ไม่มีการแก้ไขจากร่างที่ผ่านชั้น ส.ส. มา ได้แก่

  • ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. ….
  • ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

และอีก 3 ฉบับที่ต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วมกันของ ส.ส. และ ส.ว. เนื่องจาก ส.ส. มีมติไม่เห็นด้วยกับร่างที่ ส.ว. แก้ไขมา ทำให้ต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วมกันของทั้งสองสภาอีกครั้ง ซึ่งในตอนนี้กรรมาธิการร่วมพิจารณาเสร็จแล้ว ได้แก่

  • ร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. ….
  • ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
  • ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. ….

ส่วนร่างกฎหมายที่ยังค้างอยู่ในการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญ ส.ว. นั้นมีอีก 2 ฉบับ ได้แก่

  • ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ที่มีสาระสำคัญคือ เพิ่มความผิดเจ้าหน้าที่รัฐกระทำที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ฯ ขยายสิทธิให้คู่รักเพศเดียวกัน-ต่างเพศที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ฟ้องคดีแทนได้ ยืดอายุความสูงสุด 40 ปี รวมถึงเพิ่มมาตรการเชิงรุก วางหลักเกณฑ์การควบคุมตัว ตรวจสอบการกระทำผิด
     
  • ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ที่มีสาระสำคัญคือ ใช้บังคับกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ-ชีวิตและร่างกาย-เสรีภาพ และกำหนดสี่มาตรการ มุ่งฟื้นฟู จับตา ยับยั้งปัญหาการกระทำความผิดซ้ำ เช่น มาตรการทางการแพทย์ มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ เป็นต้น

กฎหมายที่ยังอยู่ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญของ ส.ว. มีความน่าสนใจทั้งคู่ สำหรับร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ นั้นก็มีการผลักดันกันมาอย่างยาวนานเพื่อหยุดยั้งการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ในชั้นการพิจารณาของ ส.ส. มีการเสนอร่างมากถึง 4 ร่างจาก ครม. ภาคประชาชน และพรรคการเมือง โดยกรรมาธิการวิสามัญของ ส.ส. นั้นมีการปรับแก้นำเนื้อหาหลายประการจากร่างของประชาชนและพรรคการเมืองมาเพิ่มเติมในร่างของ ครม. เมื่อร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาสามวาระในชั้น ส.ส. มาถึงชั้น ส.ว. ได้ ก็มี ส.ว. บางส่วนอภิปรายตั้งคำถามว่าร่างที่มีการปรับแก้ไปมากจากร่างเดิมที่เสนอโดย ครม. นั้น ครม. เห็นด้วยหรือไม่ และหาก ส.ว. มีความประสงค์จะแก้ไขจะทำให้กฎหมายล่าช้าออกไปหรือไม่

ส่วน พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ ออกแบบมาเพื่ออุดช่องโหว่การกระทำความผิดซ้ำของผู้ที่เคยต้องโทษที่เกี่ยวกับเพศ ชีวิต และเสรีภาพ ซึ่งมาตรการที่อัยการสามารถร้องขอให้ศาลออกคำสั่งได้มีตั้งแต่ มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด เฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ คุมขังภายหลังพ้นโทษ และคุมขังฉุกเฉิน

ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจ่อคิวพิจารณากฎหมายลูก-ร่างรัฐธรรมนูญ

สำหรับการประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่ต้องมีทั้ง ส.ส. และ ส.ว. สำหรับการประชุมร่วมกันของรัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยังไม่ได้กำหนดวันประชุมและจะได้หารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยที่ประชุมรัฐสภาจะมีพิจารณากฎหมายอย่างน้อย 3 ประเภท ได้แก่ กฎหมายที่ออกตามหมวดการปฏิรูปประเทศ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่วมกันแล้ว มีอย่างน้อย 11 ฉบับ แบ่งเป็น

ร่างกฎหมายตามหมวดการปฏิรูปประเทศที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกำลังพิจารณา อย่างน้อย 8 ฉบับ ได้แก่

  • ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ….) พ.ศ. …. โดย ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ที่สภารับหลักการวาระหนึ่งไป คือ มีการนำเสนอที่แตกต่างกันในประเด็นหมายเลขผู้สมัคร ร่างของครม.และร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส. ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและเขต ไม่ต้องเหมือนกันก็ได้ ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล เสนอให้ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อและเขต ใช้หมายเลขเดียวกันทั่วทั้งประเทศ

    อีกส่วนสำคัญคือการคิดที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ที่ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะเปิดโอกาสให้พรรคขนาดเล็กเข้ามาในสภาในฐานะ ส.ส.ปัดเศษ ซึ่งแตกต่างจากร่างของพรรคพลังประชารัฐและพรรคก้าวไกล นอกจากนี้ในร่างของพรรคก้าวไกล ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ การเพิ่มอำนาจในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตั้งให้ชัดเจนขึ้น

  • ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ….) พ.ศ. …. ที่มีสาระสำคัญคือ การยกเลิกทุนประเดิมตั้งพรรคการเมือง 1,000,000 บาท การลดค่าทำเนียบบำรุงพรรครายปี และลดหรือยกเลิกค่าสมาชิกพรรคตลอดชีพที่สูงเกินไป รวมทั้งแก้ไขการตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่แก้ไขให้ใช้เขตจังหวัดแทนเขตเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังเสนอแก้ไขในประเด็นการครอบงำพรรคการเมืองจากคนนอก เพื่อลดเงื่อนไขทางกฎหมายในการยุบพรรคการเมือง
     
  • ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่มีสาระสำคัญคือ ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยตำรวจเกี่ยวกับการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจ และการพิจารณาบำเหน็จความชอบ มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน
     
  • ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่มีสาระสำคัญคือ การกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ อีกทั้งจัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งต้องมีการจัดท าแผนการศึกษาแห่งชาติ
     
  • ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. ที่มีสาระสำคัญคือ การกำหนดห้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษา โดยการสร้างโอกาสให้ผู้อยู่ในวัยเรียนให้เข้าถึงการเรียนรู้และแหล่งการเรียนรู้อย่างทั่วถึง
     
  • ร่างพระราชบัญญัติก้าหนดระยะเวลาด้าเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. ที่มีสาระสำคัญคือ ให้มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า สมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมขึ้น เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบได้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจะพิจารณาเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเสร็จสิ้นเมื่อใด รวมทั้งตรวจสอบความคืบหน้าได้
     
  • ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. ที่มีสาระสำคัญคือ ปรับปรุงกฎหมายในการกำหนดโทษอาญาให้เหมาะสมกับสภาพความผิดหรือมาตรการลงโทษให้เหมาะสมกับการกระทำความผิด และฐานะผู้กระทำความผิดเพื่อไม่ให้บุคคลต้องรับโทษหนักเกินไป หรือต้องรับภาระในการรับโทษที่แตกต่างกัน เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีสามารถชำระค่าปรับได้ แต่ผู้ที่มีฐานะยากจนต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ
     
  • ร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. ที่มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้การขออนุญาต อนุมัติ จดทะเบียน รับจดแจ้ง รวมถึงการแจ้งผล จ่ายเงิน และรับสวัสดิการจากหน่วยงานของรัฐเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่จะเว้นไม่ให้ใช้กับการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ ขอจดทะเบียน สมรส หย่า รับบุตรบุญธรรม ขอมีบัตรประชาชน หนังสือเดินทาง

ร่างรัฐธรรมนูญที่รอการพิจารณาวาระหนึ่ง อย่างน้อย 3 ฉบับ ได้แก่

  • ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย) เสนอโดย ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ
  • ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมสิทธิของบุคคลและชุมชน)
  •  เสนอโดย ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ
  • ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติและที่มาของนายกรัฐมนตรีและความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว) เสนอโดย ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ