สรุปเสวนา #ปล่อยนักโทษการเมือง: เมื่อสิทธิประกันตัวกลายเป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อ

19 พฤษภาคม 2565 กลุ่มคณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112) จัดเสวนาในชื่อ #ปล่อยนักโทษการเมือง ส่งเสียงถึงศาล-ส่งสารถึงเพื่อน โดยมีการพูดคุยถึงสถานการณ์การคุมขังประชาชนที่ออกมาแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการไม่ให้ประกันตัวคนที่ออกมาเคลื่อนไหวหรือแสดงออกทางการเมืองว่า มีผู้ถูกคุมขังอยู่ระหว่างชั้นสอบสวนของตำรวจ อย่างน้อย 9 คน และมีผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก อย่างน้อย 2 คน

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า กระบวนการยุติธรรมกำลังล่มสลาย การให้เหตุผลของศาลในการไม่ให้ประกันตัวเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ตามกฎหมาย เสมือนว่าเป็นกลไก “จงใจคุมขัง” คนที่เห็นต่างทางการเมือง และทำให้สิทธิในการประกันตัวตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญเป็นเพียง “โฆษณาชวนเชื่อ” ของรัฐ ด้าน รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แลกเปลี่ยนประสบการณ์อดอาหารประท้วง พร้อมชี้ อาการ “ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์” น่าเป็นห่วง หลังทำการอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวมาเกือบครบหนึ่งเดือนแล้ว

คดีการเมืองยุคชุมนุมราษฎร ไม่เน้นคุมขัง แต่จำกัดสิทธิซับซ้อนขึ้น

อานนท์ ชวาลาวัลย์ หัวหน้าฝ่ายศูนย์ข้อมูลคดีเสรีภาพ (iLaw) กล่าวในวงเสวนาว่า สถานการณ์การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในยุคการชุมนุมของกลุ่มราษฎร (ตั้งแต่ปี 2563-2564) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 โดยจากการเก็บรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหา ม.112 ไปแล้ว อย่างน้อย 194 ราย อีกทั้งยังพบด้วยว่า ผู้ต้องหาในยุคหลังจำนวนหนึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่ไม่เคยพบมาก่อน

อานนท์ ชวาลาวัลย์ ตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการยุติธรรมในยุคการชุมนุมของกลุ่มราษฎร มีแนวโน้มที่จะได้รับการประกันตัวมากกว่าแต่ก่อนในยุคหลังการรัฐประหาร ปี 2557 ที่เป็นการดำเนินคดีและจับกุมพร้อมคุมขังอย่างเคร่งครัดเบ็ดเสร็จ ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการกดดันของนานาชาติ ที่ชี้ว่า ผู้ต้องหาในคดีการเมือง หรือ ในคดี 112 ผู้ต้องหาจะไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว แต่กระนั้น ศาลก็มีกลวิธีในการควบคุมการแสดงออกในรูปแบบใหม่ คือ การตั้งเงื่อนไขในการประกันตัว อาทิ ห้ามกระทำการที่ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย ไม่กระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา ไม่กระทำการในลักษณะก่อให้เกิดความวุ่นวาย นอกจากนี้ ยังมีความพยายามควบคุมการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ หรือ ห้ามกระทำการในลักษณะให้ศาลเสื่อมเสียอีกด้วย

หัวหน้าฝ่ายศูนย์ข้อมูลคดีเสรีภาพจากไอลอว์ ให้ข้อมูลสถานการณ์ผู้คนในเรือนจำด้วยว่า ตอนนี้มีผู้ถูกคุมขังอยู่ระหว่างชั้นสอบสวนของตำรวจ อย่างน้อย 9 คน โดยแบ่งเป็นผู้ต้องหาในคดี 112 อย่างน้อย 5 คน ได้แก่ เวหา ตะวัน-ทานตะวัน เก็ต-โสภณ ใบปอ-ณัฐนิช ผักบุ้ง-เนติพร และคดีอื่นๆ จากการแสดงออกทางการเมือง อีก 4 คน ได้แก่ คงเพชร คฑาธร ปฏิมา พรพจน์ และมีผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก อย่างน้อย 2 คน ได้แก่ สมบัติ ทองย้อย จากคดี 112 และ เอกชัย หงษ์กังวาน จากคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

อานนท์ ชวาลาวัลย์ กล่าวว่า จากการติดตามคดี 112 พบว่า กระบวนการยุติธรรมมีความผิดแปลกอย่างมาก อาทิ การดำเนินคดี 112 กับพฤติการณ์ที่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิด ยกตัวอย่างคดีป้ายผ้าที่ลำปาง ที่เขียนข้อความเปรียบเทียบงบสถาบันกษัตริย์กับงบวัคซีนโควิด ที่ไม่ได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายบุคคลใดที่ได้รับการคุ้มครองตาม ม.112 หรือ การปราศรัยของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อาทิ มุก-พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ หรือ ปลา-ณัฏฐธิดา มีวังปลา ที่ไม่มีข้อความหรือคำกล่าวใดที่เข้าองค์ประกอบความผิด ม.112

นอกจากนี้ ยังปรากฎกรณีที่ศาลไม่ให้สิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มทีกับจำเลย เช่น ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ทนายจำเลยขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสาร เช่น ข้อมูลการเดินทางเข้าออกประเทศของในหลวงรัชกาลที่สิบเพื่อพิสูจน์ว่า เนื้อหาที่จำเลยปราศรัยถึงการอยู่ต่างประเทศของรัชการที่สิบนั้นเป็นเท็จหรือไม่ แต่ศาลไม่ออกหมายเรียกดังกล่าว นอกจากนี้ ยังพบว่า กระบวนการพิจารณาพิพากษายังเป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่น ในคดีแปะสติ๊กเกอร์ กูkult ศาลใช้เวลาทำคำพิพากษาหลังการสืบพยานภายใน 3 วัน

ระบบยุติธรรมล่มสลาย-สิทธิประกันตัวเป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อ

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึง กรณีการไม่ให้ประกัน “ตะวัน” นักกิจกรรมทางการเมือง อายุ 20 ปี ว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นความล่มสลายของระบบยุติธรรมอย่างน่าเหลือเชื่อ เพราะตามกฎหมาย ผู้ต้องหาในคดีอาญาจะถูกปฏิบัติเสมือนเป็นผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดไม่ได้ ซึ่งหลักการนี้ถูกบัญญัติไว้ทั้งในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และรัฐธรรมนูญ แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ขึ้นชื่อว่าห่วยที่สุดอย่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ก็รับรองหลักการนี้ไว้ แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง จนเหมือนว่า ระบบยุติธรรมกำลังจงใจขังคนเห็นต่างทางการเมืองไว้ และทำให้สิทธิในการประกันตัวเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อในกฎหมาย

กฤษฎางค์ นุตจรัส กล่าวว่า ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดไว้ชัดเจนว่า การจะไม่ปล่อยตัวชั่วคราว หรือ ประกันตัว จะต้องเป็นเหตุ มีความเป็นไปได้ที่จะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือ ไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หรือ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการสอบสวน แต่กรณีของ ‘ตะวัน’ ไม่ได้เข้าข่ายดังกล่าว และกรณีของตะวันก็ยังมีสถานะเป็นเพียงผู้ต้องหา อัยการยังไม่ได้มีความเห็นให้สั่งฟ้องเสียด้วยซ้ำ แต่กลับถูกถอนประกัน และไม่ให้ประกันตัว โดยอ้างว่าผิดเงื่อนไขการประกัน

กฤษฎางค์ นุตจรัส กล่าวว่า การถอนประกัน ‘ตะวัน’ ก็สะท้อนถึงความผิดปกติของกระบวนการยุติธรรม เพราะตะวันไม่ได้ไปกระทำความผิดอะไร เขาเพียงแต่ไปแสดงออกทางการเมือง แต่ผู้พิพากษากลับมาว่า ตะวันมีเจตนาที่ไม่ดีในการออกไปเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยยกเรื่องการ “ใส่ชุดดำ” ไปในพื้นที่มีขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นการให้เหตุผลที่เขาในฐานะทนายความไม่สามารถทำใจรับได้ เป็นเพียงการหาเหตุผลอื่นมากลบเหตุผลที่ไม่อยากให้ประกัน

ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าถึงกรณีการยื่นประกันตัว ‘ตะวัน’ ด้วยว่า เขาและ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้ายื่นประกันตัว แต่ศาลไม่ให้ประกันตัวโดยระบุเหตุผลว่า ไม่มีหลักฐานแสดงอัตราเงินเดือนของนายประกัน ซึ่งความจริงมีหนังสือรับรองตำแหน่งและที่ออกโดยสำนักงานสภาผู้แทนราษฎรอยู่ แต่ศาลก็ยกมาเป็นเหตุผล นอกจากนี้ ยังระบุว่า ไม่มี “เหตุพิเศษ” ที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ทั้งที่แม้แต่ตำรวจที่ขอฝากขังก็ระบุว่า การให้ประกันไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ของตำรวจ

กฤษฎางค์ นุตจรัส กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคดีของตะวันและคดีที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองอื่นๆ มาจาก “คนในระบบยุติธรรม” ที่ห่วย เป็นคนทุจริต และฝักใฝ่ในอำนาจ รวมไปถึงขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม จึงทำให้เกิดการคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม และเหตุผลที่แท้จริงของการคุมขังก็เพื่อไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ดังที่ปรากฎในคำร้องว่า ในเดือนพฤษภาคมมีงานพระราชพิธีจำนวนมาก หากปล่อยตัวผู้ต้องหาออกไปก็จะไปก่อความวุ่นวานในงานดังกล่าว

กฤษฎางค์ นุตจรัส กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (20 พฤษภาคม 2565) ทางทนายความยื่นประกันตัวตะวันอีกครั้ง และตนเชื่อว่า ปัจจัยที่จะทำให้ตะวันได้ประกันตัวไม่ใช่การทำหน้าที่ของทนายความ แต่เป็นการออกมาเคลื่อนไหวของพี่น้องประชาชน

สิทธิเสรีภาพย่ำอยู่กับที่ ประชาชนไม่มีเสรีภาพจะพูด 

สุพิชฌาย์ ชัยลอม จากกลุ่มทะลุวัง กล่าวว่า สถานการณ์การคุกคามกลุ่มทะลุวังยังไม่ปรากฎเด่นชัดในช่วงนี้ หลังสมาชิกกลุ่มถูกคุมขังเพราะถูกถอนประกันไป ในขณะที่สมาชิกคนอื่นๆ ยังอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว ว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐบุกมาค้นห้องหรือจับกุมอีกหรือไม่ หรือจะมีคนเห็นต่างมาลอบทำร้ายหรือไม่ แต่ในช่วงนี้ก็ทำให้ได้ทบทวนการเคลื่อนไหว และวางแผนเรื่องความปลอดภัยให้มากขึ้น มีการจับคู่ดูแลความปลอดภัยกันและกัน

ส่วนสถานการณ์ของเพื่อนที่อยู่ในเรือนจำ มีภาวะเครียด มีความรู้สึกว่าต้องต่อสู้อยู่ตลอดเวลา รวมถึงรู้สึกโดดเดี่ยว แม้คนข้างในจะสื่อสารผ่านทนายออกมาว่ายังสู้ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีสภาวะเครียด ไม่ได้พักผ่อน รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ข้างในมันแย่ และบางครั้งก็มีข้อความในเชิงน้อยใจว่า ทำไมถึงไม่มีการเคลื่อนไหวจากด้านนอก และด้วยการสื่อสารผ่านข้อความที่เป็นไปได้อย่างยากลำบาก ก็ทำให้เขาขาดกำลังใจ จึงวิงวอนให้ทุกคนช่วยกันส่งจดหมายไปให้เหล่านักสู้ที่ยังอยู่ในเรือนจำ

สุพิชฌาย์ ชัยลอม กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับสมาชิกทะลุวังเหมือนเป็นกระบวนการ “ขังลืม” ไม่ต้องการให้พวกเขาออกมาเคลื่อนไหว และทำให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมมีธง ส่งเข้าไปในเรือนจำเพื่อจะได้ไม่ต้องพูด ไม่ต้องแสดงออก ทั้งที่การแสดงออกของกลุ่มทะลุวังไม่มีอะไรผิดเลยตามหลักสากล ในขณะที่กระบวนการยุติธรรมต่างหากที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล

สุพิชฌาย์ ชัยลอม กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวังหรือใครก็ตาม ที่ออกมาชูป้ายกระดาษ มันไม่เป็นความผิด มันเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชนในการมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น มีสิทธิในการตั้งคำถาม แต่ศาลกลับมาบอกว่า สิ่งที่เราทำมันเป็นการก่อความวุ่นวาย ซึ่งแปลว่า เขาตัดสินไปแล้วว่า การแสดงออกแบบนี้มันผิด และเรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นความ “ย่ำอยู่กับที่” ของบ้านเมือง เพราะหลังการออกมาเคลื่อนไหวของตัวเองเมื่อสองปีก่อน ก็ยังต้องออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องเดิม คือ เสรีภาพในการพูด

สถานการณ์ “ตะวัน” น่าเป็นห่วง อาจจะวิกฤติกว่าทุกคน

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่า สถานการณ์ของ “ตะวัน” น่าเป็นห่วง และเขาตัดสินใจเริ่มอดอาหารตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปในเรือนจำ ที่ผ่านมา ตนพยายามคิดว่า ทำไมเขาถึงรีบอดอาหาร แต่พอนั่งคิดไปคิดมา ก็เข้าใจว่า คงเป็นเช่นเดียวกับตอนที่ตนเข้าไปในเรือนจำ และคงเป็นเช่นเดียวกันกับตอนที่คนอื่นเข้าไปในเรือนจำ คือ ใช้ร่างกายของตัวเองเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ เพราะเมื่อไม่มีกระแสมวลชนจากข้างนอก คนข้างในก็สิ้นหวัง และเมื่อไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนจะได้รับอิสรภาพ ร่างกายจึงเป็นเพียงสิ่งเดียวที่พอจะใช้ต่อสู้ได้

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เล่าประสบการณ์ตอนอดอาหารว่า เนื่องจากตัวเองเป็นคนตัวใหญ่ มวลร่างกายเยอะ การอดอาหารจึงส่งผลกระทบต่อร่างกายไม่มาก กว่าจะรู้สึกไม่ไหวก็อดอาหารเข้าไปวันที่ 30 แล้ว แต่กรณีของตะวัน แค่อดอาหารไปอาทิตย์เดียวก็มีอาการหน้ามืดแล้ว เพราะเป็นคนผอมบาง ดังนั้น ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว ระหว่างตัวเองกับตะวันที่อดอาหารมา 30 วัน เชื่อว่า ตะวันต้องรู้สึกมากกว่าเป็นหลายเท่า

อีกทั้ง ในตอนที่ตนอดอาหาร ตนยังได้ออกศาลอยู่ ทำให้อยู่ในห้องกักตัวซึ่งทำให้ไม่ต้องเสียแรงมาก แต่กรณีของตะวันถูกส่งลงไปในแดนขัง  แปลว่า กิจกรรมทุกอย่างที่ผู้ต้องขังต้องทำ ตะวันก็ต้องทำทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ตื่นตีสีตีห้า สวดมนต์ หรือ รีบอาบน้ำเพราะถ้าไม่รีบก็ไม่ได้อาบ ตอนที่คนอื่นกินข้าว ก็อาจจะได้พักบ้าง แล้วตอนนี้หน้าฝนก็ไม่รู้ตะวันจะไม่สบายหรือเปล่า แล้วถ้าต้องเดินไปนู่นไปนี่ก็ไม่แน่ใจว่าร่างกายเป็นยังไง มีเพื่อนที่ไว้ใจได้ดูแลอยู่หรือเปล่า เพราะไม่มีบันทึกเยี่ยมออกมาด้วย มันทำให้จินตนาการความเป็นอยู่ไม่ค่อยออก

รุ้ง-ปนัสยา กล่าวว่า เท่าที่อ่านบันทึกเยี่ยมของตะวัน คิดว่า ร่างกายของตะวันเริ่มไม่ไหวแล้ว ถ้าดูจากอาการหน้ามืด หรือ ความดันที่ต่ำลง แล้วกรณีของตัวเองจะมีผู้คุมคอยจับตาตลอดเพื่อสื่อสารกับคนข้างนอกว่า ยังปลอดภัยดี แต่กรณีนี้ไม่มีเลย ไม่มีการสื่อสารจากราชทัณฑ์ และที่สำคัญ เราไม่สามารถคาดหวังกับกระบวนการยุติธรรมได้เลยว่า จะให้หรือไม่ให้ประกัน แต่ก็ยังคาดหวังว่า ตะวันจะได้ประกันออกมาเพื่อรักษาตัว และหากไม่ได้ประกันในวันพรุ่งนี้ (20 พฤษภาคม 2565) ตะวันจะกินแต่น้ำ ซึ่งจะทำให้อาการของตะวันหนักว่านี้ และถ้าไม่ได้ออกมาในเร็ววัน ก็ไม่รู้จะเป็นยังไง อาจจะคล้ายกับกรณีของเพนกวิ้นที่ถ่ายเป็นเลือก กระเพาะมีแผลได้

รุ้ง-ปนัสยา กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้ามีใครที่สามารถสื่อสารไปถึงบรรดาผู้มีอำนาจตัดสินใจได้ ก็อยากให้ช่วยสื่อสารไปว่า ไม่มีใครที่อยากทำอะไรเสี่ยงต่อกฎหมาย แต่การออกมาเคลื่อนไหว ออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะอยากเห็นประเทศนี้ดีขึ้น ไม่มีใครมีเจตนาร้ายต่อบ้านเมือง เราทุกคนอยากจะเห็นคนเก่ง คนดี มาบริหารประเทศ ไม่ใช่แบบที่เป็นอยู่ และการที่ตนออกมาพูดวันนี้ ก็เพราะเป็นห่วงคนที่กำลังอดอาหารประท้วง พวกเขาแค่ต้องการสิทธิในการประกันตัวเท่านั้นเอง