ตามหา “อาสาสมัคร” บันทึกผล #เลือกตั้งผู้ว่ากทม วันที่ 22 พฤษภาคม 2565

เว็บไซต์ Vote62.com กลับมาอีกครั้ง ขอชวนทุกคนมามีส่วนร่วมกันมากกว่าแค่เข้าคูหากากบาทไม่ว่าจะเป็นคนกรุงเทพฯ หรือไม่ และไม่ว่าจะมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ ช่วยกันติดตามจับตาการเลือกตั้งที่คูหาเลือกตั้งใกล้บ้านของตัวเอง  ด้วยการร่วมรายงานผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) วันที่ 22 พฤษภาคม นี้ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป 

VOTE62.com คืออะไร? 

VOTE62.com คือระบบการรายงานผลการเลือกตั้งแบบคราวด์ซอร์ส (crowdsourcing) ที่ให้ทุกคนช่วยกันถ่ายรูปผลการนับคะแนนจากหน่วยเลือกตั้งต่างๆ แล้วอัปโหลดภาพเข้าไปในระบบ เพื่อให้ทุกคนที่เข้ามาที่เว็บไซต์ช่วยกันกรอกคะแนนจากภาพถ่าย ข้อมูลคะแนนเหล่านี้จะถูกนำไปตรวจสอบและเปรียบเทียบผลการนับคะแนนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

VOTE62 เปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไป นำโดย opendream บริษัทไอทีที่สนใจงานประมวลผลข้อมูลสาธารณะ ที่ผ่านมา ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 มีภาพถูกส่งเข้ามาจากทั่วประเทศทั้งสิ้น 10,288 ภาพ และมีการกรอกข้อมูลไป 18,840 ครั้ง

ภาณุเดช วศินวรรธนะ นักพัฒนาโปรแกรมจาก opendream กล่าวว่า นอกจากช่องทางที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยอย่างการเลือกตั้งในคูหาแล้ว เราอยากให้ VOTE62 เป็นพื้นที่ที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้มากขึ้น

“คนที่อาศัยในกรุงเทพฯ หลายล้านคนไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะไม่ได้มีทะเบียนบ้านอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ถึงจะไม่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็สามารถมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ผ่าน VOTE62” ภาณุเดช กล่าว

ที่ผ่านมา VOTE62 ได้ลองสนามทั้งการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562, การเลือกตั้งนายก อบจ. เมื่อปี 2563 และเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่ต่างๆ เช่น สมุทรปราการเขต 5  ลำปางเขต 4  กำแพงเพชรเขต 4  และขอนแก่นเขต 7

โดย opendream ได้นำการนับคะแนนเลือกตั้งแบบคู่ขนาน (parallel vote tabulation: PVT) มาใช้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม และแม่นยำ

การทำงานของ PVT มาจากการสุ่มตัวอย่าง (sampling) เช่น กรุงเทพฯ มี 6,817 หน่วยเลือกตั้ง ใช้ผลจาก 102 หน่วยก็น่าจะเพียงพอที่จะประเมินผลผู้ชนะได้ โดยจะมีค่าความผิดพลาด (margin of error) ที่ 0.5%  ทั้งนี้ มีปัจจัยหลัก ได้แก่ จำนวนหน่วย จำนวนประชากร

เป็นอาสาสมัคร ต้องทำอะไรบ้าง ⁉️

o ทุกคูหาเลือกตั้งจะปิดตอน 17.00 น. หลังจากนั้นกรรมการการเลือกตั้งจะนับบัตรเลือกตั้งที่เหลือ ตรวจสอบความถูกต้อง และเริ่มเปิดหีบนับคะแนนสดๆ ที่หน้าคูหาในช่วงเวลาประมาณ 17.20 – 19.00 แต่ละคูหาช้าเร็วไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเป็นสำคัญ

o กรรมการประจำหน่วยจะหยิบบัตรที่ออกเสียงขึ้นมาขานออกเสียงดังทีละใบ แล้วโชว์บัตรที่อ่านให้ดูทีละใบ ขณะที่กรรมการอีกคนก็จะขีดคะแนนตามบนกระดานแบบสดๆ เราสามารถยืนดูการนับคะแนนได้ ถ้าหากเห็นว่ามีการขานคะแนนผิดจากบัตรที่โชว์ให้ดู หรือขีดคะแนนบนกระดานไม่ตรงกับที่ขาน ก็สามารถช่วยกันทักท้วงให้นับคะแนนอย่างถูกต้องได้

o หลังการขานคะแนนเสร็จแล้ว กรรมการจะรวมคะแนน และนับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่เหลือให้ตรงกันและกรอกคะแนนรวมใส่ใบรายงานผลคะแนนขนาดกระดาษเอสี่ติดไว้ที่หน้าหน่วย เราสามารถถ่ายภาพผลคะแนนรวมบนกระดานคะแนนและใบรายงานผลคะแนนได้ เพื่อนำไปรวมกันและตรวจสอบกับผลคะแนนรวมทั้งประเทศ

เว็บไซต์ Vote62.com ขอทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางในการรวบรวมคะแนนโดยประชาชน พร้อมกับแจ้งผลสดๆ บนเว็บไซต์คู่ขนานกันไปกับผลของ กกต.

เราต้องการแรงสนับสนุนจากทุกคน ในการทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์การนับคะแนน และถ่ายภาพ 3 ภาพ จาก 1 หน่วยเลือกตั้ง 

  1.  ภาพป้ายไวนิล หน้าหน่วยเลือกตั้งที่บอกสถานที่และหน่วยชัดเจน
  2. ภาพกระดานนับคะแนนที่รวมคะแนนเสร็จแล้ว
  3. ภาพใบรายงานผลคะแนนที่แปะอยู่หน้าหน่วย

สามารถเข้าไปดูรายละเอียด ทำความเข้าใจวิธีการถ่ายภาพและรายงานข้อมูลกับเว็บไซต์ /https://vote62.com/ ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ 

เป็นอาสาสมัคร VOTE62 ต้องทำยังไง 

สำหรับคนที่พร้อมจะอาสามาช่วยกันเป็นผู้สังเกตการณ์ในวันจริง สามารถสมัครในเว็บไซต์ได้เลยโดยกรอกข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองและเลือกได้ว่าจะไปสังเกตการณ์ที่หน่วยเลือกตั้งไหน เพื่อจะได้ไม่ซ้ำกับคนอื่น

ทำไมถึงต้องมาเป็นอาสาสมัคร VOTE62

ผู้ที่สนใจสามารถมีส่วนร่วมกับ VOTE62 ได้โดยการร่วมจับตาการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ถ่ายภาพกระดานนับคะแนนที่นับเสร็จแล้วและอัปโหลดสู่เว็บไซต์ หรือร่วมกรอกคะแนนจากภาพถ่าย ยิ่งมีคนกรอกข้อมูลเข้ามามากเท่าใด ก็จะยิ่งช่วยยืนยันความถูกต้องของข้อมูลได้มากขึ้นเท่านั้น โดยสามารถเข้าไปลงทะเบียนเลือกหน่วยที่สนใจได้ที่ VOTE62.com เพื่อให้ทีมงานสามารถประเมินจำนวนอาสาสมัครให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ

สำหรับการรายงานผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง opendream และองค์กรภาคี ได้แก่ iLaw องค์กรที่จับตาด้านกฎหมายและนโยบายของไทย และ Rocket Media Lab องค์กรที่ทำงานด้านข้อมูลเพื่อสื่อสารมวลชน