เสวนา 5 ปีรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพถดถอยใต้โครงสร้างรัฐรวมศูนย์

6 เมษายน 2565 คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) จัดงานเสวนาในหัวข้อ “5 ปี รัฐธรรมนูญ 60 : สิทธิเสรีภาพที่หายไป ภายใต้โครงสร้างรัฐใหม่ที่รวมศูนย์” โดยมีวิทยากรที่มาจากหลายองค์กร ร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อเสนอแนวทางการออกแบบรัฐธรรมนูญว่าพวกเขาอย่างให้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้น กำหนดหลักการใด อยากเห็นสิ่งใดบ้างที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และพูดคุยถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในมิติด้านสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่น สิทธิแรงงาน สิทธิในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข รวมไปถึงมิติของการออกแบบองคาพยพของรัฐ ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ส.ว. ที่มาจากกระบวนการแต่งตั้งกลับมีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างกฎหมายซึ่งมีผลใช้บังคับกับประชาชนหรือศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยคดีสำหรับที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ก็มาจากการแต่งตั้งโดยส.ว.

สิทธิแรงงานถดถอย ไร้การประกันสวัสดิการคนทำงานแบกรับความเสี่ยงของตนเอง

ธนพร วิจันทร์ จากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า ตั้งแต่คสช. รัฐประหาร สิ่งแรกที่กลุ่มผู้นำแรงงานโดนคือ ถูกเรียกไปรายงานตัวในค่ายทหาร นี่คือการคุกคามใช้อำนาจจัดการกับกลุ่มสหภาพแรงงานที่เป็นประชาธิปไตย

ธนพรมองว่า รัฐธรรมนูญ 60 ไม่ใช่รัฐธรรมนูญราษฎร แต่เป็นรัฐธรรมนูญศักดินา ให้ส.ว. มาเลือกนายกฯ ที่เราไม่ได้ต้องการ นอกจากนี้ ในเรื่องสิทธิแรงงาน รัฐธรรมนูญ 60 ก็มีปัญหา กล่าวคือ รัฐธรรมนูญ 60 กำหนดเรื่องค่าแรงและสวัสดิการต่างๆ ของผู้ใช้แรงงานโดยใช้ข้อความว่า ให้ได้รับค่าแรงที่ “เหมาะสมแก่การดำรงชีพ” แตกต่างรัฐธรรมนูญ 2540 ใช้ข้อความว่า ให้ได้รับค่าแรง “ให้เป็นธรรม” และรัฐธรรมนูญ 2550 ใช้ข้อความว่าให้ได้รับค่าแรงที่ “เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ” สิ่งเหล่านี้สะท้อนวิธีคิดของผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่ามองคนทำงานอย่างไร ธนพรเห็นว่าควรจะนิยามใหม่

ในประเด็นสิทธิการรวมตัวของกลุ่มแรงงาน เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 รัฐธรรมนูญ 60 ตัด ‘สหพันธ์’ ‘กลุ่มเกษตรกร’ ‘องค์การเอกชน’ และ ‘องค์การพัฒนาเอกชน’ ออกไปจากผู้มีสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ กลุ่มแรงงานพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลลงนามในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ซึ่งเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว และฉบับที่ 89 ซึ่งเกี่ยวกับเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง แต่รัฐบาลกลับไม่รับรองอนุสัญญาทั้งสองฉบับ

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องสิทธิในการมีส่วนร่วมสำหรับแรงงาน รัฐธรรมนูญ 50 กำหนดให้ต้องจัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน แรงงานจึงมีสิทธิเลือกคณะกรรมการไตรภาคีในกระทรวงแรงงาน เช่น คณะกรรมการประกันสังคม ทว่าตั้งแต่รัฐประหารปี 57  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่งตั้งคณะกรรมประกันสังคมเอง คณะกรรมการประกันสังคมชุดที่มาจากการแต่งตั้งยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ถึงปัจจุบัน ซ้ำในรัฐธรรมนูญ 60 ยังไม่ได้กำหนดสิทธิให้แรงงานสามารถเลือกผู้แทนของเขาไปทำงานในคณะกรรมการต่างๆ ได้

ธนพร วิจันทร์ ทิ้งท้ายว่า เห็นว่ารัฐธรรมนูญควรเขียนให้เชื่อมโยงคนทุกกลุ่มในสังคม แต่รัฐกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอันเป็นความมั่นคงอย่างหนึ่ง หากคนทำงานมีรายได้ก็จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินไปได้

กษิดิศ ปานสาหร่าย และมารุติ ภูริส จากสหภาพคนทำงาน แลกเปลี่ยนว่า ในช่วงเวลาหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ2560 รัฐไม่เคยส่งเสริมคนทำงานบางกลุ่ม เช่น ผู้ค้าบริการทางเพศ (Sex Worker) ค่าใช้จ่ายสำหรับขนส่งสาธารณะค่อนข้างสูงสำหรับคนทำงาน คนทำงานที่ประกอบอาชีพไรเดอร์ตามแพลตฟอร์มต่างๆ เมื่อเสียชีวิต เกิดอุบัติเหตุ รัฐไม่เข้ามาช่วยตรงนี้ และเสนอแนะว่า รัฐควรจัดสรรให้มีระบบรัฐสวัสดิการเพื่อคุ้มครองสวัสดิการคนทำงาน ทรัพยากรต่างๆ ที่รัฐมี ควรถูกนำกลับมาจัดสรรหรือใช้ประโยชน์เพื่อประชาชน

ไร้องค์กรอิสระตรวจสอบโครงการที่กระทบสิ่งแวดล้อม

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ จากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ เล่าว่า กฎหมายแร่ ถูกแก้ไขล่าสุดและประกาศใช้ในปี2560 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับการจัดทำและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อีกทั้งการแก้ไขกฎหมายแร่ยังต้องทำให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศและแผนยุทธศาสตร์ชาติ วิธีคิดในการแก้ไขกฎหมายแร่ จึงมุ่งเน้นไปที่การ“ปฏิรูป” การบริหารจัดการทรัพยากรแร่ใหม่ มีการตั้งหน่วยงานเพื่ออนุมัติหรืออนุญาตสัมปทานเหมืองแร่ โดยพยายามไม่ให้นักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง กล่าวคือ กำหนดให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่อนุมัติอนุญาต มาจากข้าราชการประจำ แต่ไม่ให้พื้นที่รัฐมนตรีเข้าไปมีอำนาจตรงนี้ ทั้งๆ ที่รัฐมนตรีนั้นมีความยึดโยงบางอย่างกับประชาชนในพื้นที่ที่อาจมีการตั้งเหมืองแร่ หากประชาชนในพื้นที่คัดค้านการอนุญาตหรืออนุมัติให้ตั้งเหมืองแร่ ถ้าเป็นรัฐมนตรีก็อาจกังวลต่อฐานเสียงและอาจตัดสินใจไม่อนุญาตหรือไม่อนุมัติ แต่พอผู้มีอำนาจอนุมัติหรืออนุญาตเป็นข้าราชการประจำ กระบวนการคัดค้านโดยประชาชนจึงต้องเรียกร้องจากข้าราชการประจำเป็นหลัก

สัมปทานกฎหมายแร่ มีสองขั้นตอน 1) ขอสัมปทานสำรวจแร่ก่อน (อาชญาบัตร) 2) ขอสัมปทานทำเหมืองแร่(ประทานบัตร) แต่แร่หิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ทำปูนซีเมนต์นั้น ไม่ต้องขอสัมปทานสำรวจแร่ก่อน เพราะว่ารัฐจัดทำประกาศแหล่งหินทั่วประเทศไทยไว้หมดแล้ว เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งเจ้าใหญ่สุดคือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (SCG) โดยการประกาศแหล่งหินเหล่านี้ ไม่มีกระบวนการปรึกษาหารือใดๆ

สิ่งที่เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่กำลังผลักดัน คือ กำลังผลักดันให้หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายปรากฏขึ้นจริงในระบบกฎหมาย และควรมีหน่วยงานอิสระในการพิจารณาการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(Environmental Impact Assessment : EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(Environmental and Health Impact Assessment: EHIA) ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 40 เคยมีความพยายามจะสร้างองค์กรอิสระดังกล่าว จนผลมาปรากฏเป็นรูปธรรมในรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 67 ที่กำหนดให้องค์กรอิสระให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ แต่ก็ถูกล้มไปจากการรัฐประหาร และในรัฐธรรมนูญ 60 ก็ไม่ได้กำหนดตั้งองค์กรดังกล่าวอีก

รัฐธรรมนูญยึดกรอบสองเพศ ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่มีส่วนผ่านกฎหมายที่ใช้กับประชาชน

นิศารัตน์ จงวิศาล จากกลุ่มทำทาง (Safe Abortion Thailand) เล่าถึงเหตุการณ์ที่นำมาสู่การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในความผิดฐานทำแท้งว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ศรีสมัย เชื้อชาติ ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ ถูกดำเนินคดีเนื่องจากมีการพบซากทารกจากการทำแท้ง ทั้งๆ ที่ศรีสมัยก็ปฏิบัติตามกฎหมาย ในเดือนพฤศจิกายน 2561 จึงยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลใช้เวลาหนึ่งปีสี่เดือน วินิจฉัยว่ากฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้เสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา แต่กลับไม่ให้องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องนี้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมาย

ปัญหาส่วนหนึ่งคือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ทำคำวินิจฉัย 4/2563 มาจากการแต่งตั้ง และกระบวนการพิจารณาแก้ไขกฎหมายอาญา ความผิดฐานทำแท้ง แม้ส่วนหนึ่งจะมาจากประชาชน สภาผู้แทนราษฎร แต่วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งก็มีส่วนพิจารณาร่างกฎหมายด้วย รัฐธรรมนูญ มาตรา 27 กำหนดให้ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน สะท้อนความเป็นทวิลักษณ์ ระบบสองเพศ (Binary) มองมนุษย์แยกสองแบบเป็นชาย-หญิง พอกำหนดแบบนี้มันจึงเกิดการตีตราทางเพศตามมา เช่น กฎหมายอาญาทำแท้ง ที่ตีตราคนที่ทำแท้ง หรือการกำหนดที่ให้ผู้มีอวัยวะเพศหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปีฝังยาคุมกำเนิด แต่การคุมกำเนิดกึ่งถาวรสำหรับเพศชายกลับไม่ถูกประชาสัมพันธ์มากเท่าที่ควร สิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่รัฐมองประชากรเป็นชาย-หญิง และหญิงจัดการง่ายกว่า

สำหรับกลุ่มทำทาง อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ไม่กำหนดเพศลงไป และไม่ควรนำความเชื่อทางศาสนามาออกแบบกฎหมายต่างๆ หรือถ้าจำเป็นต้องมีก็อยากให้มีตัวแทนจากหลายศาสนาเพื่อให้มีความเป็นกลางทางศาสนา

บริการสาธารณสุขสงเคราะห์คนยากไร้ ออกแบบระบบไม่สอดคล้องกับวิกฤติโรคระบาด

บุษบงก์ วิเศษพลชัย นักวิจัยอิสระด้านสาธารณสุข กล่าวถึงปัญหาระบบสาธารณสุขจากผลกระทบโรคระบาดโควิด-19 ว่า โรคระบาดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการรวมศูนย์ก่อให้เกิดปัญหา วัคซีนมาถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์2564 ซ้ำยังเป็นวัคซีน Sinovac หากระบบเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้มากขึ้น จะทำให้การจัดสรรวัคซีนโปร่งใสขึ้น

ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นเรื่องที่น่าตกใจสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เพราะสิทธิรักษาพยาบาล 30 บาทเป็นสิ่งที่ใช้กันมาเป็นสวัสดิการปกติอยู่แล้วและช่วยชีวิตคนป่วยจำนวนมาก พอกำหนดถึงผู้ยากไร้ สะท้อนถึงแนวคิดแบบสงเคราะห์ ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดสวัสดิการที่มองคนแบบเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ประเด็นสิทธิในการรับการป้องกันและการขจัดโรคติดต่อ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ยังตัดคำว่า “การได้รับบริการที่เหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์” ที่เคยมีในรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ออกไป

สถานการณ์โควิด ทำให้เห็นชัดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่รับรองต่อวิกฤติที่เกิดขึ้น ถ้าไม่สามารถออกแบบระบบที่สามารถรับมือเชิงโครงสร้างได้ หากในอนาคตมีโรคระบาดอีกจะได้รับผลกระทบอย่างมาก