2 ปีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประเทศไทยอยู่ใต้เคอร์ฟิวไป 234 วัน

หลายครั้งเมื่อรัฐบาลประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็จะตามมาด้วยการออกมาตรการเพื่อ “ควบคุม” ประชาชน และมาตรการหนึ่งที่กฎหมายพิเศษนี้ให้อำนาจทำได้ คือ การประกาศ “เคอร์ฟิว” หรือการสั่งห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือช่วงหลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อำนาจในการประกาศเคอร์ฟิวปรากฏอยู่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(1) บัญญัติว่า 

“ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

(๑) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น”

การประกาศเคอร์ฟิว ส่วนใหญ่จะกำหนดเวลาในช่วงกลางคืน โดยกำหนดเวลาอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น ระหว่างเวลา 21.00 – 05.00 และคนที่ออกนอกบ้านในเวลาที่ต้องห้ามจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท

เมื่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาลได้มีการประกาศใช้เคอร์ฟิว 2 ช่วงเวลา ได้แก่ 

ในช่วงการระบาดระลอกที่หนึ่ง ซึ่งประกาศใช้ควบคุมทั่วประเทศ เริ่มต้นจากข้อกำหนด ฉบับที่ 2 ในวันที่ 2 เมษายน 2563 และยกเลิกตามข้อกำหนดฉบับที่ 10 ในวันที่ 11 มิถุนายน 2563 รวม 71 วัน  

ในช่วงการระบาดระลอกที่สาม เริ่มต้นจากข้อกำหนด ฉบับที่ 27 ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา และเพิ่มเติมอีก 3 จังหวัด ได้แก่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยาตามข้อกำหนด ฉบับที่ 28 ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 แล้วยกเลิกตามข้อกำหนด ฉบับที่ 39 ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564

เคอร์ฟิวในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิดระลอก 3 จึงแบ่งเป็นจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสุงสุดและเข้มงวดรวม 163 วัน และส่วนที่เพิ่มมา 3 จังหวัดได้แก่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา) 156 วัน โดยสามารถสรุประยะเวลาที่แต่ละจังหวัดตกอยู่ภายใต้มาตรการเคอร์ฟิวได้ตามตาราง ดังนี้

การผ่อนคลายทีละส่วน ขยับเวลาทีละนิด

ในช่วงการระบาดระลอกที่หนึ่ง หลังประกาศเคอร์ฟิวเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 มีข้อยกเว้นสั้นๆ เพียงสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์การขนส่งสินค้า การทำงานกะกลางคืน หลังจากนั้นไม่นานวันที่ 8 เมษายน 2563 ก็มีข้อกำหนดฉบับที่ 3 มาเพื่อขยายขอยกเว้นให้กว้างขึ้น และให้กิจการที่จำเป็นยังคงเดินหน้าไปได้ ยกเว้นเพิ่มให้การทำงานของตำรวจ ทหาร การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ผู้ส่งสินค้า ผู้บริการซ่อมไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ เก็บขยะ ประกันภัย กู้ภัย ผู้ประกอบอาชีพรปภ. ประมง กรีดยาง ฯลฯ โดยต้องแสดงเอกสารรับรองความจำเป็นด้วย 

ต่อมาวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 มีการผ่อนคลายระยะเวลาก่อน โดยขยับเวลาห้ามออกจากบ้าน จาก 22.00 – 04.00 น. เป็น 23.00 – 04.00 น. ตามข้อกำหนดฉบับที่ 7 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 แต่มีการขยับเวลาอีกครั้งเป็น 23.00 – 03.00 ตามข้อกำหนดฉบับที่ 9 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ก่อนที่จะยกเลิกไปทั้งหมด

ในช่วงการระบาดระลอกสาม หลังประกาศเคอร์ฟิวเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 21.00 – 04.00 น. และใช้บังคับต่อเนื่องมาจนมีข้อกำหนดอีกหลายฉบับที่ออกตามมาหลังจากนั้นก็ยังคงข้อห้ามตามกำหนดเวลาเดิมไว้ จนกระทั่งวันที่ 29 กันยายน 2564 ข้อกำหนดฉบับที่ 34 จึงขยับเวลามาเป็น 22.00 – 04.00 น. และข้อกำหนดฉบับที่ 35 ก็ขยับเวลามาเป็น 23.00 – 03.00 น. จนกระทั่งมายกเลิกทั้งหมดในข้อกำหนดฉบับที่ 39 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564