จากฟอนต์ตัวอักษรถึงเป็ดยาง ฟังเรื่องเล่าจากวงการศิลปะในขบวนการประชาธิปไตย

19 มีนาคม 2565 เวลา 18.00 น. มีการจัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “อยากจะม็อบ ขาดพร็อพได้ไง” ที่ Kinjai Contemporary ภายในงานนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์สามัญชน (Museum of Popular History) โดยผู้ร่วมสนทนาประกอบไปด้วย Phar iLaw แอดมินเพจ PrachathipaType และเอเลียร์ ฟอฟิ จากกลุ่มศิลปะปลดแอก ดำเนินรายการโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน

คนในวงการศิลปะเข้าร่วมขบวนการประชาธิปไตย

Phar iLaw เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงความท้ายทายครั้งแรกที่ได้เข้ามาร่วมงานกับ NGO ว่าในอดีตเคยทำงานกราฟฟิกกับองค์กรเอกชน การทำงานจะมีลักษณะที่เราจะต้องทำงานให้ตรงกับความต้องการ ความสนใจของลูกค้าเป็นรายบุคคล ซึ่งจะมีความแตกต่างกับการทำงานกับ NGO ที่เป็นการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมเป็นงานที่ลูกค้าคือประชาชนที่สนใจในประเด็นสังคม จึงเป็นการทำงานกับเรื่องอุดมการณ์ของกลุ่มคนมากกว่าทำงานกับลูกค้าที่มีความแตกต่างเป็นปัจเจก

จากนั้นแอดมินเพจ PrachathipaType ก็พูดถึงที่มาแรงบันดาลใดที่เริ่มก่อตั้งเพจ PrachathipaType ว่าคำว่า “ประชาธิปType” เป็นการผสมคำกันของประชาธิปไตยกับ Typography ซึ่งหมายถึงศิลปะการใช้ตัวอักษร มาจากการที่ได้เห็นถึงความสอดคล้องระหว่างการเคลื่อนไหวของขบวนประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับตัวอักษร และได้เล่าถึงความภูมิใจในผลงานต่าง ๆ ที่ได้สร้างความรับรู้ให้กับผู้ที่ติดตามเพจและคนอื่น ๆ ที่ได้พบเห็นงานของเขาผ่านโซเชียลมีเดียหรือจากในงานชุมนุม

อีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทต่องานศิลปะใรการชุมนุมอย่างมากก็คือศิลปะปลดแอก เอเลียร์ ฟอฟิ เล่าถึงที่มาการก่อตั้งกลุ่มศิลปะปลดแอก ว่าเกิดจากเหตุการณ์ที่รัฐได้คุกคามศิลปินคนหนึ่งทำให้ตนเองรู้สึกไม่เห็นด้วยและต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแสดงจุดยืน ทั้งจากที่ได้เห็นการเคลื่อนไหวของนักศึกษามาโดยตลอด ศิลปินเองก็ควรเริ่มเดินทางไปด้วยจึงเป็นที่มาของการจัดงานแรก โดยเป็นการรวมกลุ่มของศิลปินทุกแขนงในวันที่ 12 กันยายน 2563 เพื่อแสดงจุดยืนเสรีภาพว่าศิลปะไม่ควรถูกปิดกั้นโดยรัฐ แม้จะเป็นแค่ส่วนประกอบเล็ก ๆ ในขบวนการเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตย แต่เขาคิดว่าการแสดงออกนี้เป็นการทำให้เห็นว่าเหล่าศิลปินไม่จำนนต่อรัฐ และชนชั้นนำ อีกทั้งยังเป็นการจุดประกายเชิญชวนให้ศิลปินอีกหลายคนอยากที่จะมาร่วมกันแสดงจุดยืนโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “ศิลปะ” ด้วย  โดยเอเลียร์ ได้กล่าวถึงงานของศิลปะปลดแอกว่าเป็นการนำศิลปะไปถึงผู้คน เพิ่มพื้นที่ให้ผู้คนได้ร่วมแสดงออกกับงานของศิลปะปลดแอก

ศิลปะกับนัยยะการแสดงออกทางการเมือง

บทบาทของศิลปินในการเมืองพบได้แทบจะตลอดเวลา Phar iLaw แบ่งปันผลงานเด่นแคมเปญ #ร่วมรื้อร่วมสร้างร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2563 ซึ่งในมุมมองของการออกแบบนอกจากจะต้องคำนึงถึงงานว่าต้องเป็นที่น่าจดจำในประเด็นแล้วนั้น ก็ต้องการที่จะให้งานมีการสื่อสารไปถึงประชาชนโดยไม่อยากสร้างความเข้าใจว่าแคมเปญนี้รณรงค์โดยใครคนใดคนหนึ่ง เลยสร้างมาสคอต (Mascot) เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออกและเป็นตัวแทนของทุกคนในการรณรงค์ครั้งนั้น

แอดมินเพจ PrachathipaType กล่าวถึงฟอนต์ที่คนอาจจะคิดว่าเป็นเพียงรูปแบบตัวอักษรแต่ “Font is Branding”การใช้ตัวอักษรไม่ได้มีแค่ในเชิงพาณิชย์เท่านั้น โดยได้ยกตัวอย่างนานาประเทศ เช่น จีน นาซีเยอรมัน ในอดีตที่ได้สร้างแบรนด์ (Brand) อำนาจเบ็ดเสร็จให้เป็นภาพจำผ่านตัวอักษรประกอบกับสื่อรูปแบบต่าง ๆ และได้เล่าถึงผลงานต่าง ๆ ตั้งแต่ที่ประดิษฐ์ฟอนต์ซึ่งการออกแบบฟอนต์นี้อยากให้เป็นการสร้างอัตลักษณ์ให้เพจของเขา รวมถึงอยากให้ลูกเพจและทุกคน ๆ ได้ใช้แบบฟรีสไตล์ 

เอเลียร์ ฟอฟิ ตั้งข้อสังเกตการพัฒนาการของศิลปะในการชุมนุมยุคก่อนต่างกันอย่างไรกับปัจจุบัน โดยเขาได้ให้คำตอบในมุมของความง่ายที่ศิลปินจะผลิตสื่อให้ผู้เสพเข้าถึงง่ายมากขึ้นกว่าในอดีต โดยเฉพาะในปัจจุบันอินเทอร์เน็ต แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เป็นพื้นที่เปิดที่ไม่จำกัด ทำให้ผู้ผลิตงานกับผู้เสพสามารถเจอกันได้โดยตรง การแสดงจุดยืนไม่จำเป็นต้องเผยตัวชัดเจน ซึ่งต่างกับในอดีตที่การเผยแพร่งานศิลป์มีต้นทุนสูง ต้องผ่านตัวกลาง และได้ยกตัวอย่างงานที่น่าสนใจ คืองานปล่อยว่าวใบหน้าแกนนำกลางสนามหลวง ของกลุ่มศิลปะปลดแอก ซึ่งเอเลียร์ ได้เล่าถึงจุดมุ่งหมายของกลุ่มศิลปะปลดแอกว่าต้องการเป็นตัวกลางในการสร้างสรรค์ผลงานให้สาธารณชนได้รับรู้ว่าเพื่อนของเรายังถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม และผลงานชิ้นนั้นก็ไม่ได้เกิดจากแค่คนในกลุ่ม แต่เป็นการทำร่วมกันของทุก ๆ คน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพลังที่มหาศาลทั้งจากการแสดงในงานและผ่านโลกออนไลน์ 

การออกแบบ “พร็อพ” ในม็อบ

เอเลียร์ ฟอฟิ เล่าถึงงานสกรีนเสื้อยกเลิก 112 กลุ่มศิลปะปลดแอกพยายามที่จะให้มวลชมได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ศิลปะไปด้วยกัน และเล่าถึงหลักคิดในการที่จะออกแบบบางอย่างว่าเราต้องการจะสื่อสารประเด็นหรือข้อความอะไรบางอย่างออกไปให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงเขาเชื่อว่าการผลิตซ้ำของงานศิลปะจำนวนมากก็ย่อมทำให้สาธารณชนเห็นได้มากขึ้นเท่านั้น

Phar iLaw เล่าถึงกล่องใส่รายชื่อในแคมเปญ #ร่วมรื้อร่วมสร้างร่วมร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีแนวคิดคือต้องการให้คนได้เห็นการแสดงพลังจากรายชื่อที่มีจำนวนมากแม้จะถูกสภาปัดร่างตกก็ตาม และการออกแบบใบปลิวต่าง ๆ ที่มีรูปแบบทั้งการให้ข้อมูล และดีไซน์รูปภาพที่สะท้อนประเด็นที่จะสื่อ ออกมาในเรื่องนั้น ๆ ก็สามารถใช้เป็นพร็อพชูในม็อบแสดงพลังไปได้พร้อม ๆ กันได้

ในขณะที่แอดมินเพจ PrachathipaType เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ที่กระแสการชุมนุมเริ่มจุดติด ความกังวลของบางกลุ่มที่เห็นว่าข้อความที่จะสื่อสารออกไปอาจจะรุนแรงมากไป ก็เลยได้แนวคิดที่จะออกแบบให้ประเด็นสามข้อเรียกร้องในตอนนั้นถูกดีไซน์ออกมาเป็นหลาย ๆ รูปแบบอัพโหลดลงออนไลน์และให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้โหลดนำไปใช้ตามแบบที่ตนเองชอบได้ อีกทั้งยังได้ทำโปสการ์ดแจกและขายเสื้อยืด ซึ่งผลงานที่แพร่ออกไปก็ทำให้เขารู้สึกว่าชิ้นงานได้มีการเดินทางสื่อสารในประเด็นไม่ได้จบอยู่แค่ตัวเขาที่อยู่ในฐานะผู้ผลิต

ชมเสวนาแบบเต็ม ๆ ได้ที่ https://www.facebook.com/commonmuze/videos/647905416501307

สำหรับผู้ที่สนใจนิทรรศการพิพิธภัณฑ์สามัญชน (Museum of Popular History) และนิทรรศการ THE NOTED NO.112 ของไอลอว์ สามารถเข้าชมได้ที่ Kinjai Comtemporary เวลา 11:00 – 19:00 น. (หยุดทุกวันจันทร์-อังคาร) ตั้งแต่วันนี้จนถึง 27 มีนาคม 2565