เลือกตั้งท้องถิ่น : รู้จักกรุงเทพมหานคร และเตรียมตัวก่อนไปเลือกตั้ง 22 พฤษภาคม

ท่ามกลางการส่งสัญญาณความพร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้งของผู้ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหลากหน้าหลายตา ในท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรีก็มีมติปลดล็อกให้ผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษกลับมามีที่มาจากประชาชนอีกครั้ง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กำหนดให้วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นวันเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งนับว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ลำดับสุดท้ายที่จะได้จัดการเลือกตั้ง หลังจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้มีการเลือกตั้งไปก่อนหน้านี้แล้วตามลำดับ การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่คณะรัฐประหาร “แช่แข็ง” อปท. ตั้งแต่ปี 2557 

สำหรับกรุงเทพมหานครเป็นเวลาแปดปีเต็มแล้วที่ประชาชนไม่ได้เดินเข้าคูหาไปเลือกตั้งผู้ว่าฯ การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี 2556 ซึ่งได้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์มาดำรงตำแหน่ง “พ่อเมือง” กรุงเทพมหานครคนที่ 15 ก่อนจะถูกปลดจากตำแหน่งโดยการใช้มาตรา 44 ของรัฐบาลทหารในปี 2559 หลังจากมีข่าวคราวการทุจริตหลายกรณี ทำให้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้ว่าฯ ก็เป็นคนหน้าเดิมที่มาจากการแต่งตั้ง คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง 

การเลือกตั้งที่จะถึงนี้จึงมีความสำคัญกับคนกรุงเทพฯ ที่จะได้โอกาสในการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารที่จะมาแก้ไขปัญหามากมายที่พอกพูนอยู่ในเมืองดุจเทพสร้าง ตั้งแต่ทางเท้า น้ำท่วมขัง ไปจนถึงปัญหาในชีวิตประจำวันอื่น ๆ เพื่อสร้าง “ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” ขึ้นอย่างแท้จริง ชวนมาทำความรู้จักกับกรุงเทพฯ และเตรียมตัวก่อนไปเลือกตั้งครั้งสำคัญ

เส้นทางการปกครองตัวเองของเมืองดุจเทพสร้าง

กรุงเทพมหานครถูกจัดให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบพิเศษ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ดำเนินงานตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และมีหน้าที่จัดบริการสาธารณะในลักษณะครอบคลุมพื้นที่ทั้งกรุงเทพมหานคร โดยแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 50 เขต จำนวนประชากรจากข้อมูลล่าสุดในเดือนมกราคมปี 2565 อยู่ที่ 5,525,255 คน และจำนวนประชากรแฝงอีกมากด้วยเหตุที่ความเจริญด้านอิทธิพลทางสังคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาศักยภาพความเป็นเมืองในหลาย ๆ ด้านเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครเป็นหลัก

ต้นกำเนิดของกรุงเทพมหานครในฐานะ อปท. รูปแบบพิเศษต้องย้อนกลับไปสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรครองอำนาจในปี 2515 ได้ออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ปรับปรุงรูปแบบการปกครองและการบริหารให้แตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทย โดยการรวมเทศบาล “นครหลวง”และ “กรุงเทพธนบุรี” ให้เป็นองค์กรบริหารใหม่เรียกว่า “กรุงเทพมหานคร” และให้สามารถบริหารจัดการภายในพื้นที่จังหวัดได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามในตอนนั้นก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น “รูปแบบพิเศษ” อย่างสมบูรณ์เพราะแม้ว่าจะเป็นการรวมการปกครองทั้งหมดให้เหลือการปกครองท้องถิ่นแบบชั้นเดียว (Single-tier System) ไม่มี อบจ.หรือเทศบาลแบบจังหวัดอื่นที่เรียกว่าเป็นการปกครองท้องถิ่นแบบสองชั้น (Two-tier system) แต่ในตอนนั้นเองทั้งผู้ว่าฯ และสมาชิกกรุงเทพมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

การเลือกตั้งกรุงเทพมหานครโดยตรงจากประชาชนครั้งแรกเกิดขึ้นในยุครัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ที่ออกเมื่อปี 2518 ซึ่งโดยผลของกฎหมายฉบับใหม่นี้ทำให้มีการเลือกตั้งและได้ “ธรรมนูญ เทียนเงิน” จากพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ว่าราชการคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งพร้อมกับสมาชิกสภากรุงเทพซึ่งมาจากการเลือกตั้งอีกจำนวน 41 คน ทำให้กรุงเทพมหานครเป็นท้องถิ่นรูปแบบที่พิเศษกว่าท้องที่อื่นที่ไม่สามารถเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยตรงได้

หลังจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ได้มีการออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงผู้บริหารกรุงเทพมหานครครั้งใหญ่ โดยเริ่มต้นจากการให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทั้งหมดมาจากการสรรหาแทนการเลือกตั้งในเดือนกันยายน 2557 ส่งผลให้จำนวน ส.ก. ลดลงจาก 61 คน เหลือเพียง 30 คนซึ่งส่วนใหญ่ก็เคยเป็นข้าราชการมาก่อนทั้งสิ้น ต่อมาในเดือนตุลาคมปี 2559 คสช. ก็ได้ออกคำสั่งปลดผู้ว่าฯ ในขณะนั้น คือ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้ง “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นประการอื่น  เป็นอันปิดฉากตำแหน่งสุดท้ายที่มาจากการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร

โครงสร้างการบริหารกรุงเทพมหานครปัจจุบัน 

แม้ว่าจะมีชื่อเรียกที่ต่างกัน แต่กรุงเทพมหานคร ก็มีโครงสร้างการบริหารที่ประกอบไปด้วยฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเช่นเดียวกับ อปท. รูปแบบอื่น ๆ คือมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นฝ่ายบริหาร และสภากรุงเทพมหานครเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ นอกจากนี้ เมืองหลวงของไทยยังมีอีกหนึ่งแขนงที่ต่างกับที่อื่น คือ “สำนัก” ซึ่งเป็นเหมือนส่วนราชการของกรุงเทพมหานครทำหน้าที่คล้ายกับกระทรวงต่างๆ คอยวางแผนและนำนโยบายไปปรับใช้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

โครงสร้างการบริหารของกรุงเทพมหานครมีดังนี้

  • ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร – ผู้บริหารสูงสุดของกรุงเทพมหานครทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี แต่ต้องไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน หน้าที่ของผู้ว่าราชการมีตั้งแต่การกำหนดนโยบาย วางแผน ดำเนินการแก้ไขพัฒนาระบบราชการภายใน กทม. จัดการบริหารงานหน่วยงานภายในสังกัด ไปจนถึงการนำนโยบายจากรัฐบาลกลางมาปฏิบัติอีกด้วย
  • สภากรุงเทพมหานคร – เป็นฝ่ายองค์กรนิติบัญญัติของกรุงเทพมหานคร โดยสภากรุงเทพ ฯ ประกอบด้วยสมาชิกสภากรุงเทพ (ส.ก.) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพฯ เช่นเดียวกันกับผู้ว่าฯ โดยแบ่งเป็น 50 เขตเลือกตั้ง เขตละ 1 คน และมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี หน้าที่ของ ส.ก. จะเปรียบเสมือนการออกกฎหมายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งควบคุม ดูแลและตรวจสอบการบริหารงานของผู้ว่าฯ กล่าวคือ
    2.1) สามารถเสนอและพิจารณาให้ความเห็นชอบในการตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
    2.2) พิจารณาและให้ความเห็นชอบในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ผู้ว่าราชการฯ ฝ่ายบริหารตั้งมาว่ามีเหตุผลเหมาะสมอย่างไร และจะเพิ่มหรือลดให้เป็นไปตามกระบวนการของการออกข้อบัญญัติ
    2.3) ควบคุมการบริหารงานของฝ่ายบริหารด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ตั้งกระทู้ถาม เสนอญัตติให้ กทม. ทำสิ่งต่าง ๆ หรือการเปิดอภิปรายทั่วไปให้ข้อเสนอแนะต่อการทำงานของผู้ว่าราชการฯ และ กทม. ได้
  • สำนัก และสำนักงานเขต 
    3.1) สำนัก มีลักษณะเป็นหน่วยงานส่วนกลาง ทำหน้าที่ดูแลระดับยุทธศาสตร์เรื่องใหญ่ ๆ เช่น เรื่องการศึกษา การโยธา การผังเมือง เป็นต้น โดยแบ่งการบริหารงานกรุงเทพมหานครตามหน้าที่ความรับผิดชอบออกเป็น 21 สำนัก
    3.2) สำนักงานเขต เป็นการแบ่งการบริหารงานตามพื้นที่ และมีบทบาทความรับผิดชอบจากส่วนกลางไปปฏิบัติอีกทอดหนึ่ง และดำเนินการจัดบริการสาธารณะให้ประชาชนโดยตรง ผู้บังคับบัญชาหรือผู้บริหารของสำนักงานเขต คือ ผู้อำนวยการเขต ซึ่งเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานคร

ความพิเศษที่ไม่พิเศษของกรุงเทพฯ

อำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ถูกกำหนดไว้ใน มาตรา 89 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 โดยมีหน้าที่จะต้องทำถึง 27 ประการ ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ ตั้งแต่การควบคุมความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดูแลขนส่ง จราจร ผังเมือง การสาธารณสุข ไปตลอดการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพฯ และมีเพิ่มขึ้นอีกตามกฎหมายกระจายอำนาจซึ่งทำให้กรุงเทพฯ มีอำนาจหน้าที่ของทั้ง อบจ. และอบต. รวมกัน รวมถึงมีอำนาจเพิ่มเติม เช่น สามารถจัดให้มีการขนส่งมวลชน

ความเหมือนและความต่างของ กทม. และ อปท.อื่น ๆ

ถึงแม้ว่ากรุงเทพมหานครจะมีความพิเศษแต่ก็คงความเป็นองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลจัดบริหารสาธารณะให้ประชาชนในพื้นที่เหมือนกับ อปท.ในทุก ๆ จังหวัด แต่ทว่ายังมีอีกหลากประการที่กรุงเทพมหานครนั้นมีอำนาจพิเศษแตกต่างจาก อปท. อื่น ๆ โดยจำแนกออกได้ ดังนี้

จะเห็นได้ว่ากรุงเทพมหานครมีความแตกต่างที่พิเศษกว่าท้องถิ่นอื่น ๆ แต่ก็ด้วยเหตุผลนี้ที่เมื่อเรามองลึกลงไปในโครงสร้างท้องถิ่นแบบ “พิเศษ”ของกรุงเทพมหานครจะพบว่าผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นเป็นผู้บริหารสูงสุด นั้นกลับอยู่ภายใต้การควบคุมจากส่วนกลางอีกทีโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีบทบาทในการกำกับดูแลและมีบทบาทสำคัญในหลาย ๆ เรื่อง เช่น การอนุมัติให้ความเห็นชอบและการสั่งการกรุงเทพมหานครในการตัดสินใจดำเนินการต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการสอบสวนผู้ว่าฯ หากสงสัยว่าขาดคุณสมบัติหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับภาคเอกชน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสามารถวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งได้เอง

นอกจากนี้ ถึงแม้จะกล่าวไว้ข้างต้นว่ากรุงเทพมหานคร มีอำนาจจัดการได้สารพัดเรื่อง แต่ความเป็นจริงแล้วกรุงเทพมหานครยังขาดอิสระในการจัดการบริหารเมืองด้วยตนเองและผูกขาดอยู่กับราชการส่วนกลางอยู่มาก ยกตัวอย่างเช่น ระบบขนส่งสาธารณะมีแค่รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) และรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) เท่านั้นที่กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยกำกับดูแล แต่ขนส่งสาธารณะอื่น ๆ อีกยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ฯลฯ ซึ่งเป็นราชการส่วนกลาง รวมไปถึงโรงพยาบาลหรือการสาธารณสุขก็มีหลายหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานอื่น ทำให้การจัดการในช่วงวิกฤติโควิดมีปัญหาสับสนในขอบเขตการรับผิดชอบและไม่มีอำนาจตัดสินใจในมาตรการต่าง ๆ ได้เอง เช่น การจัดซื้อวัคซีนโดยตรงแต่ต้องคอยรับคำสั่งจากส่วนกลางก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้จะมีอำนาจความรับผิดชอบมากกว่า อปท. แบบอื่น ๆ กรุงเทพมหานครก็ยังไม่ได้มีความเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีอำนาจอย่างแท้จริง เพราะยังขาดมิติความเป็นอิสระในการปกครองด้วยตนเองที่ยังต้องได้รับคำสั่งจากส่วนกลางก่อน

ตามหา “สภาเขต” ตัวแทนประชาชนที่ถูก คสช. ปล้นไป

ความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลทหารไม่เพียงจะหยุดอยู่ที่การแต่งตั้งผู้บริหารกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการ “ยุบ” สภาเขตกรุงเทพมหานคร (ส.ข.) อีกด้วย เดิมที ส.ข. จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางสื่อสารความต้องการประชาชนในพื้นที่ และให้ข้อคิดเห็นและข้อสังเกตในการพัฒนาพื้นที่แก่ผู้อำนวยการเขตและและสมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) เพื่อเป็นช่องทางในการทำงานให้ใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น พ.ร.บ.กรุงเทพฯ ฉบับเดิม มาตรา 71 กำหนดไว้ว่า ให้มี ส.ข. จำนวนเขตละ 7 คน มีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ในการเลือกตั้ง ส.ข. ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2553 กรุงเทพมี ส.ข. ทั้งหมด 256 คน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเสนอแก้ไขกฎหมายเดิมในปี 2559 คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ก็ได้เสนอให้ยกเลิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร เนื่องจากคณะกรรมาธิการฯ มองไม่เห็นความสำคัญของการมี ส.ข. และเห็นว่า ส.ข. เป็นผู้ที่ยึดโยงกับนักการเมืองเพราะสังกัดพรรคการเมือง มีผลประโยชน์ทับซ้อน การดูแลประชาชนก็อาจจะไม่ทั่วถึงทั้งหมด และที่ผ่านมาก็มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยเพราะไม่เห็นความสำคัญ

ท้ายที่สุด ในการแก้กฎหมายซึ่งผลผลิตสุดท้ายออกมาเป็น พ.ร.บ.บริหารกรุงเทพฯ ฉบับแก้ไขปี 2562 แม้ว่าจะยังคงหลักเกณฑ์และระบบการเลือกตั้ง ส.ข. เอาไว้อยู่ ในแต่ทางปฏิบัติก็เท่ากับเป็นการยุบ ส.ข. อย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากมาตรา 24 กำหนดว่า ยังไม่ให้มี ส.ข. จนกว่าจะมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ โดยไม่มีการกำหนดกรอบเวลา ทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอันใกล้นี้อาจจะไม่มีการเลือกตั้ง ส.ข. เกิดขึ้น

กฎหมายที่ให้อำนาจการจัดการเลือกตั้ง

ระบบการเลือกตั้ง

เบื้องต้นหากยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายก็จำเป็นที่จะต้องใช้กฎหมายฉบับเดิมในการดำเนินการซึ่งเป็นกฎหมายเดียวกับการเลือกตั้ง นายกฯ และสมาชิก อบจ. ทั่วประเทศที่ผ่านมา ดังนั้นการเลือกตั้งจะเป็นบัตรสองใบคือเลือก ผู้ว่าฯ กทม. 1 ใบ และ ส.ก. 1 ใบ โดยการแบ่งเขตเลือกตั้งยังคงใช้เขตเลือกตั้งเดิม ในจำนวน 50 เขตเลือกตั้งของกรุงเทพฯ แม้ว่าจำนวนประชากรจะเปลี่ยนแปลงแต่ก็ไม่ส่งผลให้มีการเปลี่ยนจำนวนเขตเลือกตั้ง

ใครเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

เดิมที การเลือกตั้งผู้บริหารกรุงเทพมหานครถูกกำหนดโดย พ.ร.บ.บริหารกรุงเทพฯ แต่เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายโดย สนช. ในปี 2562 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้การเลือกตั้งใช้กฎเกณฑ์ตาม พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 เฉกเช่นเดียวกับการเลือกตั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น  โดยมาตรา 38 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ว่า 

  • มีสัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี 
  • อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง 
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
  • คุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

ข้อควรระวังก็คือประชาชนจะต้องตรวจสอบว่าตนเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานครมาอย่างน้อย 1 ปีก่อนวันเลือกตั้งหรือไม่ หากเพิ่งย้ายเข้ามาในกรุงเทพมหานครยังไม่ถึงปีเต็มก็จะไม่มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ หลักเกณฑ์การให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านถือว่าเป็นสิ่งใหม่ใน พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ โดยกฎหมายก่อนหน้านี้รวมถึงกฎหมายที่ใช้กับการเลือกตั้ง ส.ส. นั้นกำหนดไว้เพียง 90 วันเท่านั้น ที่ผ่านมา หลักเกณฑ์นี้ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากถูกตัดสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้ง อบจ. เทศบาล และ อบต. จนมีการร้องกับผู้ตรวจการแผ่นดินว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ส่วนกรณีของ “ผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง” มาตรา 39 นั้นได้กำหนดว่า ได้แก่ บุคคลวิกลจริต เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวชหรือถูกคุมขังโดยหมายของศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย บุคคลที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ หรือบุคคลที่มีลักษณะอื่นตามกฎหมายการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดด้วย

การเตรียมความพร้อมก่อนมีการเลือกตั้ง

  • ตรวจสอบรายชื่อตนเอง ก่อนวันเลือกตั้งสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ก่อนวันเลือกตั้ง 25 วันโดยสามารถดูชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ที่เว็บไซต์ สำนักงานเขต เขตชุมชนหรือที่เลือกตั้ง หรือหากเป็นก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน ก็สามารถตรวจสอบรายชื่อได้จากเอกสารที่ส่งมาให้ตรวจสอบชื่อ-นามสกุลและที่เลือกตั้ง ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถตรวจสอบทางออนไลน์ได้ ที่นี่
  • การเพิ่มชื่อ ถอนชื่อ หากภายใน 10 วันก่อนเลือกตั้ง ตรวจสอบแล้วไม่พบชื่อ-นามสกุลตนอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยไม่ได้อาศัยอยู่จริงสามารถยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ พร้อมนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นที่ทางราชการออกให้ไปแสดงด้วย

ไปเลือกตั้งต้องเอาอะไรไปบ้าง

  • บัตรประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
  • บัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้มีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)

ไปถึงหน่วยเลือกตั้งแล้วต้องทำอะไร

วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 สามารถเดินทางไปใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งของตนเองได้ตั้งแต่เวลา 8.00 – 17.00 น. 

ขั้นตอนการเลือกตั้งมีทั้งหมดห้าขั้นตอน 

  1. ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง
  2. ยื่นหลักฐานที่ใช้แสดงตนในการเลือกตั้ง คือ บัตรประชาชน (หมดอายุก็ได้) หรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่น ใบขับขี่ หรือ พาสปอร์ต
  3. รับบัตรเลือกตั้ง โดยลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบ ใบหนึ่งสำหรับเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอีกใบหนึ่งสำหรับเลือกสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
  4. เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมาย
  5. นำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้ว หย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง

ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ต้องทำอย่างไร

ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นฯ พ.ศ. 2562 ที่ใช้กับการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ไม่ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า หรือการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเหมือนกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นหากปรากฎว่าไม่สะดวกที่จะไปเลือกตั้งในวันที่กำหนด ก็สามารถแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิของตนเอง ต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง โดยสามารถทำได้ด้วยด้วยตนเอง หรือ มอบหมายผู้อื่น หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ทั้งนี้การแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิต้องเป็นเหตุตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้ ดังนี้

  • มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
  • เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
  • มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
  • ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
  • มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด

กรณีที่ได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้งเหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้

อย่างไรก็ตามหากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่ได้แจ้งหรือไม่มีเหตุอันควร จะทำให้เสียสิทธิสำคัญทางการเมือง โดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 กำหนดระยะเวลาการจำกัดสิทธิไว้ที่ครั้งละสองปี โดยสิทธิที่ถูกตัดไปมีดังนี้

  • สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
  • สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
  • เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  • ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและ ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  • ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
  • ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และ เลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น