สองปี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หยุดอ้างโรคระบาด รักษาอำนาจให้ประยุทธ์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 โดยอ้างสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อก็ขึ้นๆ ลงๆ หลายระลอก รัฐบาลมีโอกาสออกกฎหมายใหม่ที่เหมาะสำหรับใช้ในสถานการณ์โรคระบาดแต่ก็ไม่ทำ ยังคงใช้กฎหมายที่ออกมาเพื่อการทหารปกครองประเทศต่อเนื่องมากำลังจะเข้าสองปีเต็ม

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นอกจากจะ “รวบอำนาจ” ให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำสูงสุดในการตัดสินใจแก้ปัญหาโควิดแล้ว ยังให้อำนาจออกข้อกำหนดอะไรก็ได้ทั้งการห้ามชุมนุม การคุมสื่อ การจำกัดพฤติกรรมประชาชน และด้วยความพิเศษของรัฐบาลชุดนี้ เมื่อมีอำนาจของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ในมือก็ออกข้อกำหนดสั่งห้ามการชุมนุม และใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายสำคัญที่จำกัดเสรีภาพการแสดงออกของกลุ่มคนที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนี้ จนมีผู้ถูกดำเนินคดีแล้ว อย่างน้อย 1,445 คน ใน 623 คดี

ดูสถานการณ์การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับการชุมนุม ได้คลิกที่นี่

ไล่เรียงข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ​ ที่สั่งห้ามชุมนุมทั้ง 12 ฉบับ

ไล่เรียงประกาศ ของผบ.สส. ที่สั่งห้ามชุมนุมทั้ง 15 ฉบับ

นอกจากนี้การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างต่อเนื่องยาวนาน ยังมีผลเป็นการสร้าง “สภาวะยกเว้น” ในทางกฎหมายขึ้น เพราะพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตัดช่องทางการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยศาลปกครอง และยกเว้นความรับผิดให้กับเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การสร้างสภาวะยกเว้นที่ต่อเนื่องยาวนานจนกลายเป็นความเคยชิน ย่อมส่งผลเสียต่อระบบกฎหมาย ระบบการใช้อำนาจรัฐในระยะยาว

ตลอดเวลาเกือบสองปีของการอ้างสถานการณ์โรคระบาด ใช้กฎหมายพิเศษ และรวบอำนาจไว้ในมือของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เห็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีเอาไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาอำนาจทางการเมือง มากกว่าเพื่อการควบคุมโรค 

ทำความเข้าใจ อำนาจพิเศษที่เพิ่มขึ้นตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คลิกที่นี่ 

ทำความเข้าใจการยกเว้นความรับผิดภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คลิกที่นี่

ทำความเข้าใจเทคนิคของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ใช้เพื่อต่อลมหายใจให้รัฐบาลนี้ คลิกที่นี่

มาตรการต่างๆ ที่รัฐนำมาใช้เพื่อควบคุมโรค เช่น การสั่งปิดสถานที่ การสั่งห้ามกิจกรรมบางประเภท ที่จริงแล้วเป็นอำนาจที่อยู่ในกฎหมายในระบบปกติอยู่แล้ว ฉบับที่สำคัญ คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ แท้จริงแล้วจึงไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับความจำเป็นเพื่อควบคุมโรค หากยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว อำนาจของรัฐที่จะควบคุมโรคระบาดก็ยังคงอยู่

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีก็เคยหยิบยกประเด็นการออกกฎหมายมาแทนการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เคยมีการเสนอแก้ไขพ.ร.บ.โรคติดต่อ เคยมีการเสนอให้ออก พ.ร.ก. ฉบับใหม่ขึ้นมาใช้แทน รวมทั้งข้อเสนอจากพรรคฝ่ายค้านเพื่อให้ออกพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ขึ้นมาใช้แทนก็เข้าสู่สภาแล้ว แต่กลับถูกคณะรัฐมนตรีเบรกเพื่อขอเอาไปศึกษาก่อน แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ทราบอยู่แล้วว่า สถานการณ์ฉุกเฉินได้หมดลงจึงต้องหากฎหมายอื่นมาแทน แต่ยังลังเลที่จะออกแบบระบบใหม่ที่ตัวเองยังคงพอใจ

ทำความเข้าใจ กฎหมายปกติที่ใช้ควบคุมโรคระบาดได้ คลิกที่นี่

ทำความเข้าใจ ร่างพ.ร.บ. ใหม่ที่คณะรัฐมนตรีขอไปศึกษาก่อนได้ คลิกที่นี่

“หยุดอ้างโควิด ปิดปากประชาชน”
“หยุดอ้างโรคระบาด รักษาอำนาจให้ประยุทธ์”