ภาคประชาชนเดินหน้า ดันจัดระบบหนังผู้ใหญ่-เซ็กส์ทอยถูกกฎหมาย

หนังผู้ใหญ่-เซ็กส์ทอย-OnlyFans เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอยู่เป็นระยะๆ ในสังคมไทย หากย้อนไปปลายปี 2563 ที่ศาลมีคำสั่งระงับการเผยแพร่เว็บไซต์ pornhub เนื่องจากเว็บไซต์ดังกล่าวได้เผยแพร่เนื้อหาที่มีลักษณะลามกอนาจารตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ปี 2564 “ไข่เน่า” ผู้ผลิตคอนเทนต์ทางเพศ (Sex Creator) เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ OnlyFans ก็ถูกตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีบุกจับกุมตอนดึกและถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดทั้งตามประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ล่าสุดในต้นปี 2565 “เดียร์ลอง” หรือ กวาง-อาริศา เสียงลือชา ซึ่งถูกดูดคลิปจากเว็บไซต์ OnlyFans ไปเผยแพร่ พลตำรวจตรีจิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ก็ออกมาแถลงว่ากำลังตรวจสอบว่าเข้าข่ายกระทำความผิดฐานใดบ้าง หากพบว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย จะเรียกตัวมาให้ปากคำและดำเนินคดี

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตและวิพากษ์วิจารณ์ถึงกฎหมายไทยที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันว่ายังมีความเหมาะสมกับบริบททางสังคมอยู่หรือไม่ กลุ่มประชาชนในนาม “คณะเจริญ porn” จึงเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา) ผลักดันให้แก้ไขกฎหมายปัจจุบัน เพื่อให้มีการจัดระเบียบสื่อทางเพศรวมไปถึงเซ็กส์ทอยที่ถูกกฎหมายในประเทศไทย โดยคณะเจริญ porn ได้ยื่นริเริ่มเสนอร่างกฎหมายต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2564 และตอนนี้กำลังเปิดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมเข้าชื่อ 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อสภา โดยสามารถลงชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านเว็บไซต์ www.update287.org

จากประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม รวมถึงการเสนอร่างกฎหมายเพื่อผลักดันสื่อทางเพศและเซ็กส์ทอยถูกกฎหมาย ชวนย้อนดูกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับสิ่งลามกอนาจารในปัจจุบัน รวมไปถึงเนื้อหาข้อเสนอของภาคประชาชนในร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา

เปิดกฎหมายปัจจุบัน เผยแพร่-ค้า-โฆษณาสิ่งลามกอนาจาร มีความผิดตามกฎหมาย

แม้ว่าประมวลกฎหมายอาญา จะกำหนดความผิดเกี่ยวกับสิ่งลามกอนาจารไว้สามมาตรา แต่ก็ไม่ได้กำหนดคำนิยามไว้ตรง ๆ ว่าสิ่งลามกอนาจารคืออะไร แต่มีคำพิพากษาศาลฎีกาอธิบายถึงความหมายของสิ่งลามกอนาจารไว้ว่า “สิ่งลามกอนาจารคือ ภาพ ข้อความ หรือวัตถุใด ๆ ที่แสดงให้รู้หรือเห็นถึงการกระทำทางเพศหรืออวัยวะเพศโดยแสดงในลักษณะน่าเกลียด น่าอับอายในทางเพศ ยั่วยุกามรมณ์ ไม่มีลักษณะของศิลปะอันแสดงถึงความงามหรือฝีมือของศิลปิน และแม้สิ่งนั้นจะมิได้ใช้ถ้อยคำหยาบคายก็จัดว่าเป็นสิ่งลามกอนาจารได้” หากพิจารณาจากการอธิบายโดยศาล จะพอยกตัวอย่างสิ่งที่เข้าข่ายจะเป็นสิ่งลามกอนาจารได้ เช่น รูปโป๊, หนังโป๊ หรือเซ็กส์ทอย เป็นต้น

โดยในประมวลกฎหมายอาญา กำหนดความผิดที่เกี่ยวกับสิ่งลามกอนาจารไว้ดังนี้

1) เผยแพร่สิ่งลามกอนาจาร มาตรา 287 (1) กำหนดว่าการผลิต การครอบครอง การนำเข้า การส่งออกสิ่งลามกอนาจาร รวมไปถึงการทำให้สิ่งลามกอนาจารแพร่หลาย โดยมีวัตถุประสงค์ทางการค้า หรือเพื่อแจกจ่าย หรือเพื่อแสดงแก่ประชาชน เป็นความผิด ดังนั้น กรณีที่บุคคลผลิตคอนเทนต์ทางเพศเผยแพร่ทางเว็บไซต์ OnlyFans หรือเว็บไซต์อื่นๆ ไม่ว่าจะเรียกเก็บเงินหรือไม่ก็ตาม จึงเข้าข่ายผิดตามมาตรานี้ อย่างไรก็ดี หากเป็นการครอบครองสิ่งลามกอนาจารเพื่อประโยชน์ทางเพศของตนเองหรือผู้อื่น (ที่ไม่ใช่สื่อลามกอนาจารเด็ก) ไม่มีความผิดตามกฎหมาย ตามหลัก “Adult and Alone”

2) ค้าสิ่งลามกอนาจาร มีส่วนค้า หรือให้เช่าสิ่งลามกอนาจาร เป็นความผิดตามมาตรา 287 (2)

3) โฆษณาแหล่งสิ่งลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าหรือเพื่อทำให้แหล่งที่มาของสิ่งลามกอนาจารนั้นแพร่หลาย เป็นความผิดตามมาตรา 287 (3)

4) ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก มาตรา 1 (17) กำหนดนิยาม สื่อลามกอนาจารเด็ก หมายความถึง วัตถุหรือสิ่งที่แสดงให้รู้หรือเห็นถึงการกระทำทางเพศของเด็กหรือการกระทำทางเพศกับเด็กซึ่งมีอายุไม่เกิน18 ปี โดยมีลักษณะสามารถสื่อไปในทางลามกอนาจาร เนื่องจากกฎหมายมีวัตถุประสงค์จะคุ้มครองเด็ก ในมาตรา 287/1 จึงกำหนดว่าการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก เพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางเพศสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเป็นความผิด เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรา 287 จะเห็นได้ว่าการครอบครองซึ่งสิ่งลามกอนาจารโดยทั่วไปนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด แต่หากเป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก เช่นการครอบครองหนังโป๊ที่มีผู้แสดงเป็นเด็ก แม้แค่ครอบครองไว้เฉยๆ ก็มีความผิดตามกฎหมาย และหากส่งต่อให้ผู้อื่น จะมีโทษหนักกว่าการครอบครอง

5) เผยแพร่ ค้า หรือโฆษณาแหล่งสื่อลามกอนาจารเด็ก มาตรา 287/2 กำหนดไว้ความผิดเหมือนมาตรา 287 แต่มีข้อแตกต่างคือ วัตถุที่กระทำ คือ สื่อลามกอนาจารเด็ก ทั้งนี้ กฎหมายยังกำหนดให้มาตรา 287/2 มีโทษที่หนักกว่ามาตรา 287

นอกจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) ยังกำหนดว่าการนำข้อมูลซึ่งมีลักษณะลามกอนาจารเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ เป็นความผิด

มีข้อสังเกตว่าการทำให้สิ่งลามกอนาจารแพร่หลายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 บัญญัติว่าเป็นความผิดนั้นครอบคลุมถึงการการนำข้อมูลซึ่งมีลักษณะลามกอนาจารเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้อยู่แล้ว ดังนั้นหากมีผู้ใดกระทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) ก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 ด้วย

ข้อเสนอภาคประชาชน จัดระเบียบหนังผู้ใหญ่-เซ็กส์ทอย เผยแพร่-จำหน่ายตามหลักเกณฑ์ ไม่มีความผิด

ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาที่ภาคประชาชนกำลังรวบรวมรายชื่อให้ได้เกิน 10,000 ชื่อ ผ่านเว็บไซต์ www.update287.org ประกอบด้วยสาระสำคัญดังต่อไปนี้

๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ออกกฎกระทรวงจัดระเบียบสื่อบันเทิงทางเพศ โดยในร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมนิยามคำว่า สื่อบันเทิงทางเพศ ซึ่งหมายความว่า วัตถุหรือสิ่งที่แสดงให้รู้หรือเห็นถึงการกระทำทางเพศ โดยรูป เรื่อง หรือลักษณะสามารถสื่อไปในทางโป๊ เปลือยร่างกาย ให้เห็นอวัยวะเพศทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออกสื่อบันเทิงทางเพศ รวมถึงมาตรการในการควบคุมการเข้าถึงสื่อบันเทิงทางเพศไม่ให้เข้าถึงได้โดยง่าย ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกำหนดเป็นกฎกระทรวง

๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกกฎกระทรวงจัดระเบียบเซ็กส์ทอย ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมนิยามคำว่า วัตถุบันเทิงทางเพศ หมายถึง สิ่งหรือวัตถุอื่นใดอันมุ่งหมายใช้กับอวัยวะเพศหรือทวารหนัก เพื่อสนองความใคร่ของบุคคลหรือเพื่อการรักษาพยาบาลด้านร่างกาย จิตใจ หรืออารมณ์ของบุคคลโดยแพทย์ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออกวัตถุบันเทิงทางเพศ

๐ ผ่อนคลายมาตรการ เผยแพร่หรือค้าสื่อบันเทิงทางเพศและเซ็กส์ทอยที่ได้รับอนุญาต ไม่มีความผิด ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ไม่ได้กำหนดให้การกระทำที่เกี่ยวกับสื่อบันเทิงทางเพศและวัตถุบันเทิงทางเพศสามารถกระทำได้โดยเสรีเสียทีเดียว โดยยังกำหนดว่าการผลิต การจำหน่าย การแจก การนำเข้า การส่งออก สื่อบันเทิงทางเพศหรือวัตถุบันเทิงทางเพศ เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้การทำให้สื่อบันเทิงทางเพศที่ไม่ได้มีระบบควบคุมป้องกันการเข้าถึงนั้นแพร่หลาย มีความผิดด้วย

ในทางตรงกันข้าม หากเป็นการผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออกสื่อบันเทิงทางเพศหรือวัตถุบันเทิงทางเพศ เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า โดยได้รับอนุญาต รวมถึงการทำให้สื่อบันเทิงทางเพศที่มีระบบควบคุมและมีการป้องกันไม่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายนั้นแพร่หลาย ไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย ดังนั้น หากเป็นกรณีที่บุคคลผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับเพศลงในเว็บไซต์ หรือบุคคลที่จำหน่ายเซ็กส์ทอย โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวงวัฒนธรรมหรือกฎกระทรวงสาธารณสุข ก็จะไม่มีความผิดตามกฎหมาย

๐ ครอบครอง เผยแพร่ ค้า หรือโฆษณาแหล่งสื่อลามกอนาจารเด็ก ยังมีความผิดตามกฎหมาย ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ไม่ได้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก ตามมาตรา 287/1 และมาตรา 287/2 เพื่อให้กฎหมายยังคงมุ่งคุ้มครองสิทธิของเด็กเป็นสำคัญและเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและกฎหมายระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการครอบครอง เผยแพร่ ค้า หรือโฆษณาแหล่งสื่อลามกอนาจารเด็ก ยังคงมีความผิดเหมือนเดิม

สำรวจกฎหมายต่างประเทศ ญี่ปุ่น สื่ออนาจารเด็กผิดกฎหมาย เยอรมนี-สหราชอาณาจักร ผู้ใหญ่เข้าถึงสื่อบันเทิงทางเพศได้

รายงานวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายประกอบการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ…. ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ https://www.update287.org/ ได้ระบุถึงการแก้ปัญหาเรื่องสื่อบันเทิงทางเพศในต่างประเทศ รวมไปถึงมาตรการทางกฎหมายของต่างประเทศ สามารถสรุปได้ ดังนี้

1. ญี่ปุ่น: ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 กำหนดให้การจำหน่ายสิ่งลามกอนาจารในที่สาธารณะ เป็นความผิด โดยการกระทำดังกล่าวให้รวมถึงการเผยแพร่สิ่งลามกอนาจารผ่านทางสัญญาณโทรคมนาคมด้วย ทั้งนี้เนื่องจากศาลของประเทศญี่ปุ่นได้อธิบายคำว่าลามกอนาจารว่าหมายถึงลักษณะที่เป็นการกระตุ้นความต้องการทางเพศ ทำลายสามัญสำนึกของความสุภาพเรียบร้อยหรือละอายใจ และละเมิดแนวความคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับศีลธรรมทางเพศ สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้ที่ต้องการจำหน่ายสิ่งลามกอนาจารในญี่ปุ่นจึงต้องทำให้สินค้าของตนไม่เข้านิยามคำว่าลามกอนาจารตามที่ศาลได้อธิบายไว้ข้างต้น วิธีการหนึ่งคือการเซ็นเซอร์ไม่ให้เห็นอวัยวะเพศนั่นเอง ส่วนสื่อลามกอนาจารเด็กนั้นกฎหมายญี่ปุ่นก็กำหนดมีความผิดตั้งแต่การครอบครองทำนองเดียวกับกฎหมายไทย

2. สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี: ประมวลกฎหมายอาญาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีไม่ได้บัญญัติให้การผลิต จำหน่าย มีไว้ ครอบครอง หรือรับชมสื่อหรือภาพลามกอนาจรที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายโดยบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว เป็นการกระทำที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ทั้งนี้สื่อหรือภาพลามกอนาจารดังกล่าวต้องไม่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับผู้เยาว์ สัตว์ หรือแสดงถึงความรุนแรงโหดร้ายด้วย

3. สหราชอาณาจักร: Criminal Justice and Immigration Act, 2008 อนุญาตให้มีการผลิตสื่อบันเทิงทางเพศหรือภาพลามกอนาจารออกมาจำหน่ายได้ โดยสื่อบันเทิงทางเพศหรือภาพลามกอนาจารที่ถูกกฎหมายต้องมีลักษณะที่แสดงถึงความสมยอมจากผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย, ไม่มีความรุนแรงที่มากเกินไป, ไม่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ทั้งนี้ผู้ที่จะเข้าถึงสื่อบันเทิงทางเพศหรือภาพลามกอนาจารได้ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปอีกด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถร่วมลงชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ได้ทางเว็บไซต์ https://www.update287.org/