แจงปรากฏการณ์ใช้สรรพากร คุกคามภาคประชาชน-ขอตรวจภาษีแต่ล้วงลูกถึงเนื้อหา-การจ้างคน

11 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00 น. ตัวแทนองค์กรภาคประชาชนชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตรวจสอบภาษีในองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดนี้มาตลอด เป็นการตรวจสอบที่เรียกว่า ล้วงลูกทั้งที่เป็นอำนาจของสรรพากรและไม่ใช่อำนาจของสรรพากร

สรรพากรรับมี ‘ใบสั่ง’ เดินสายตรวจเอ็นจีโอประชาธิปไตย

จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพยายามที่จะเข้าไปควบคุมการแสดงออกที่คัดค้านรัฐบาล เรียกร้องระบอบประชาธิปไตยในทุกทาง รวมถึงในปัจจุบันรัฐบาลพยายามที่จะออกกฎหมายควบคุมองค์กรภาคประชาสังคมให้อยู่ในการควบคุมของรัฐบาล โดยกฎหมายจะจำกัดอิสรภาพขององค์กรภาคประชาชนในการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาสังคมโดยไม่แสวงหากำไร

ในระยะเวลาสองสามเดือนที่ผ่านมานี้กรมสรรพากรได้เรียกองค์กรที่ทำงานเหล่านี้มาตรวจสอบทางการเงิน เป็นการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างหกองค์กรและแหล่งทุน National Endowment for Democracy (NED) ซึ่งเป็นแหล่งทุนอิสระของสหรัฐอเมริกาที่รับทุนจากสภาครองเกรสเพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยในโลก

การตรวจสอบไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติหรือภารกิจปกติของกรมสรรพากรแต่มาจากใบสั่งของบุคคลในรัฐบาลแม้แต่เจ้าหน้าที่ของสรรพากรเองก็ยอมรับว่า มีใบสั่งถึงไปตรวจ เป็นอีกมาตรการของรัฐบาลที่สืบทอดจากคสช.ในการตรวจสอบองค์กรที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย

เราจึงขอเรียกร้องรัฐบาลว่า ให้เลิกแทรกแซงการทำงานของกรมสรรพากร ให้กรมฯดำเนินการปกติ อย่าใช้กรมฯเป็นเครื่องมือทางการเมือง ขอให้รัฐบาลเลิกคุกคามหรือพยายามควบคุมองค์กรภาคประชาสังคมที่ดำเนินกิจกรรมโดยถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่แสวงหาผลกำไร ขอให้เคารพในความเป็นอิสระขององค์กรภาคประชาสังคมตามระบอบประชาธิปไตย

ล้วงข้อมูลการเงิน แทรกแซงและละเมิดสิทธิในการรวมกลุ่มของประชาชน

สุภาวดี เพชรรัตน์ ตัวแทนมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กล่าวว่า มูลนิธิเปิดทำการมาเป็นเวลา 40 ปีไม่เคยมีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเข้ามาตรวจสอบ มูลนิธิมีการจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยจะต้องส่งรายงานให้สำนักงานเขตตลอด แต่วันที่ 29 ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรขอเข้ามาตรวจสอบอ้างว่า แนะนำการเสียภาษีตลอด 40 ปีที่ผ่านมามูลนิธิได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศและช่วงหกปีหลังได้รับเงินสนับสนุนจาก สสส. เพื่อนำมาทำงานกับคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาพัฒนาสังคมและสร้างเสริมความเข้าใจประเด็นสิทธิมนุษยชน 

ในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ให้ความสนใจกับแหล่งทุน NED มากและถามในรายละเอียดว่า มูลนิธิได้นำเงินไปจ้างบุคคลไหม มีการเจาะจงรายละเอียดยิบย่อยเรื่องการจ้างงานทำโปสเตอร์ เมื่อถามว่า ตรวจทุกที่ไหม เจ้าหน้าที่ตอบว่าไม่ได้ตรวจทุกที่ไปเฉพาะที่ที่ได้รับคำสั่ง ก่อนกลับเจ้าหน้าที่ยังขอเอกสารการโอนเงินจาก NED เราขอยืนยันว่า การกระทำครั้งนี้เป็นการกระทำที่แทรกแซงและละเมิดสิทธิในการรวมกลุ่มของประชาชน 

เธอตั้งข้อสังเกตว่า การตรวจสอบครั้งนี้เกี่ยวพันกับพ.ร.บ.เอ็นจีโอ ที่ตอนนี้ยังไม่บังคับใช้ รัฐบาลยังใช้หน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบเช่นนี้ และหากมีการออกพ.ร.บ.เอ็นจีโอจะส่งผลกระทบอย่างมโหฬาร ทำลายกระบวนการของภาคประชาชน ซึ่งควรจะเป็นเสาหลักในการตรวจสอบและกำหนดอนาคตของประเทศ  ซึ่งไม่ได้กระทบกับองค์กรภาคประชาสงคมหกองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่คือท้ังองคาพยพ

ออกตรวจช่วงผลักพ.ร.บ.เอ็นจีโอ ใช้สรรพากรเป็นสายสืบ

จีรนุช เปรมชัยพร จากมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน (ประชาไท) กล่าวว่า มูลนิธิจดทะเบียนจัดตั้งและดำเนินการในการส่งงบดุล, งบการเงินและรายงานการเงินทุกปีให้แก่สำนักเขต เป็นภาระความรับผิดชอบตามปกติ เป็นเรื่องที่เปิดเผยโปร่งใสต่อสาธารณะ การตรวจสอบเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐกำลังผลักดัน พ.ร.บ.เอ็นจีโอ ขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆไม่ได้ถูกไล่บี้เช่นนี้ เราคิดว่า การกระทำแบบนี้เป็นการคุกคามโดยเปิดเผย เป็นการคุกคามโดยใช้เครื่องมืออย่างกรมสรรพากร ซึ่งตามปกติแล้วควรจะอยู่ห่างจากการเมืองมากที่สุด

เราขอยืนยันว่า การกระทำครั้งนี้เป็นการกระทำที่แทรกแซงและละเมิดสิทธิในการรวมกลุ่มของประชาชนกรณีของมูลนิธิสื่อฯ กรมสรรพากรทำหนังสือเรียกไปพบและไม่ได้บอกว่า ใช้อำนาจใด และมีคำขู่ในท้ายจดหมายว่า หากไม่ไปพบจะดำเนินการตามที่รู้เห็นว่า ถูกต้องต่อไป ย้ำว่า เราไม่เคยหลีกเลี่ยงและไม่คิดว่า เราเป็นองค์กรเหนือกฎหมาย เราจดทะเบียนถูกต้อง พนักงานทุกคนจ่ายภาษีถูกต้องและมีการดำเนินการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมถูกต้อง  เราต้องยืนยันว่า เราไม่ยอมรับการคุกคามเช่นนี้ เราไม่ขอเรียกร้องเพราะสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้คือ การใช้อำนาจเกินกว่าที่มีอำนาจตามกฎหมายรองรับ เธอแสดงความเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า รัฐกำลงใช้กรมสรรพากรเป็นสายสืบ สอดส่องการทำงานภาคประชาสังคม

ตรวจศูนย์ทนายสิทธิฯ ขอให้เสียภาษีเงินบริจาคจากประชาชน

มนทนา ดวงประภา จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนหรือมูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม กล่าวว่า เดือนพฤศจิกายน 2564 เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรกรุงเทพมหานคร เขตเจ็ดเข้ามาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า วันดังกล่าวตรงกับวันที่ทูตต่างประเทศเข้าเยี่ยมศูนย์พอดี รถยนต์ของเจ้าหน้าที่สรรพากรตามท้ายขบวนรถของทูตมาด้วย ต่อมาจึงแสดงเอกสารการตรวจสอบตามมาตรา 88/3 ของประมวลรัษฎากร (ซึ่งเป็นการตรวจสอบการภาษีสำหรับองค์กรที่ทำการค้าขายแสวงหากำไร) จากนั้น เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้สอบถามโครงสร้างมูลนิธิ ลักษณะการดำเนินการที่มีอยู่บนเว็บไซต์อย่างเปิดเผย พร้อมทั้งถามจำนวนเจ้าหน้าที่และการเช่าพื้นที่ของมูลนิธิ ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงและกลับออกไป 

ต่อมามีการขอเอกสารทางการเงินตั้งแต่ปี 2562-2564, เอกสารภาษีและรายงานเงินฝากตั้งแต่ปี 2562-2564 เอกสารงบดุลปี 2563 เราเคยทำส่งไปแล้ว เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรก็ขอซ้ำไปอีก ส่วนปี 2564 กำลังอยู่ในการดำเนินการ ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิทนุษยชนเข้าพูดคุย มีการขออย่างไม่เป็นทางการว่า ขอเก็บภาษีร้อยละสองจากเงินบริจาคและเงินทุนจากต่างประเทศได้หรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ทั้งหมดคือ เงินบริจาค ซึ่งได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย 

ใช้สรรพากรคุกคาม ไม่ใช่บรรยากาศของประเทศประชาธิปไตย

คอรีเยาะห์ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) กล่าวว่า พฤติการณ์การตรวจผิดปกติ เหตุเกิดในช่วงรัฐบาลสืบทอดอำนาจคสช.และเวลาเดียวกันกับที่กำลังผลักดันพ.ร.บ.เอ็นจีโอ สมาคมจดทะเบียนที่ได้รับการรับรองจากกรมการปกครอง ไม่มีคุณลักษณะต้องห้าม กรมสรรพากรไม่มีอำนาจและก้าวล่วง ล้ำเกินในการสอดส่องการทำกิจกรรม การรับเงินจากแหล่งทุน แม้เงินบริจาคจะได้รับการยกเว้นในการเสียภาษี แต่การจ้างงาน เจ้าหน้าที่ได้ทำการเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สมาคมมีการรายงานทางการเงินทุกปีอย่างโปร่งใส 

การขอเอกสารอยู่บ่อยครั้งเสมือนเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญ นี่ไม่ใช่บรรยากาศของประเทศประชาธิปไตยแน่นอน เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มของประชาชนอย่างชัดเจน 

อัมรินทร์ สายจันทร์ จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) กล่าวว่า ดำเนินการมา 20 ปีแล้ว โดยในปี 2556 ได้จดทะเบียนมูลนิธิอย่างเป็นทางการและจดทำรายงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาตลอด EnLaw น่าจะเป็นองค์กรแรกๆที่ได้รับจดหมายในการเข้าตรวจสอบ โดยได้รับในเดือนพฤศจิกายน 2564 อ้างว่า จะให้คำแนะนำเรื่องภาษี ตอนแรกเราเข้าใจว่า เป็นการสุ่มตรวจตามปกติ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ถูกตรววจสอบในรอบ 20 ปีที่ดำเนินการมา  ในตอนที่เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบมีการถามเรื่องที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบหรือให้คำแนะนำเรื่องภาษีเช่น เจ้าหน้าที่คนใดรับเงินจากแหล่งทุนใดบ้างและถามเนื้อหาของกิจกรรม

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาองค์กรภาคประชาสังคมมีการเสียภาษีอย่างโปร่งใสตลอด ในส่วนของ iLaw ได้รับหนังสือท้ายสุดและมีการตรวจสอบไปเมื่อวันที่8 กุมภาพันธ์ 2565 ทราบจากเพื่อนๆว่า การตรวจสอบของกรมสรรพากรต้องการข้อมูลที่นอกเหนือจากอำนาจการตรวจสอบเช่น ถามเรื่องการจ้างงาน และกรณีของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่มาสอบถามและบันทึกข้อมูลโดยไม่ให้สำเนา ทำให้ iLaw จัดเตรียมเอกสารและขอบันทึกข้อมูลเป็นภาพวิดีโอทั้งหมด แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า ถ้าจะอัดวิดีโอจะไม่ตรวจภาษี เขามองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องแปลกที่เมื่อต้องการบันทึกรายละเอียดการสนทนากลับไม่ตรวจสอบ เขายืนยันว่า ถ้าต้องการจะตรวจสอบสามารถมาได้ตลอด