เปิดเทคนิคใหม่รัฐบาล เตะถ่วงร่างกฎหมาย ขอศึกษาก่อน 60 วัน

9 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างกฎหมายหกฉบับ (สภาผู้แทนราษฎรมีประชุมสภา เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายทุกๆ วันพุธ) ไม่รับหลักการสองฉบับ ขณะที่ร่างกฎหมายอีกสี่ฉบับ รัฐบาลกลับใช้เทคนิค “เตะถ่วง” ขอให้สภาอนุมัติให้ ครม. นำร่างกฎหมายไปพิจารณาก่อนรับหลักการ โดยสามในสี่ฉบับนั้น เป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดย ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน (พรรคก้าวไกล)
เทคนิครัฐบาลที่ใช้ “เตะถ่วง” ร่างกฎหมาย ไม่ใช่เทคนิคใหม่ที่รัฐบาลเพิ่งเคยใช้ รัฐบาลเคยใช้เทคนิคนี้แล้ว และเป็นเทคนิคที่สามารถทำได้โดยอาศัยข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ในวันดังกล่าว รัฐบาลใช้เทคนิคนี้ “ติดต่อกัน” กับร่างกฎหมายถึงสี่ฉบับ สามในสี่ฉบับนั้นเป็นร่างกฎหมายจากส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ชวนให้ตั้งคำถามว่า พรรครัฐบาลกำลังเล่นเกมส์ “เตะถ่วง” ร่างกฎหมายของพรรคฝ่ายค้านหรือไม่ หรือเลือกใช้วิธีนี้กับร่างกฎหมายทั้งสามฉบับ เพื่อ “ลดแรงปะทะ” หรือไม่
ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 118 มีใจความสำคัญว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาร่างกฎหมายในวาระหนึ่ง ว่าจะ “รับหลักการ” ร่างกฎหมายนั้นๆ หรือไม่ หากร่างกฎหมายนั้นเป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือเสนอโดยประชาชน คณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถขอรับร่างพระราชบัญญัตินั้นไปพิจารณาก่อนสภาจะลงมติได้
ซึ่ง ครม. จะนำร่างกฎหมายนั้นไปพิจารณาก่อนได้นั้น ต้องอาศัยเสียง “อนุมัติ” จากสภาผู้แทนราษฎร หากสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติ สภาก็จะรอการพิจารณาร่างกฎหมายนั้นไว้ แต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่สภามีมติ เท่ากับว่าระหว่าง 60 วันนี้ ครม. สามารถนำร่างกฎหมายดังกล่าวไปศึกษา ไปให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นทางกฎหมายได้
หากสภาผู้แทนราษฎร “ไม่อนุมัติ” ให้ ครม. นำร่างกฎหมายนั้นไปพิจารณาก่อน กระบวนการสภาก็จะดำเนินการไปตามปกติ กล่าวคือ สภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติว่ารับหรือไม่รับหลักการร่างกฎหมายนั้นไป แต่ในทางปฏิบัติ มติ “ไม่อนุมัติ” จากสภาผู้แทนราษฎรน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากเสียงข้างมากสภาก็เป็นของพรรคร่วมรัฐบาล
ถ้าสภาผู้แทนอนุมัติให้ ครม. นำร่างกฎหมายไปพิจารณาศึกษาก่อน 60 วันแล้ว สภาจะยังพิจารณาลงมติร่างกฎหมายนั้นต่อในวาระหนึ่งไม่ได้ ในทางปฏิบัติสภาก็จะพิจารณาร่างกฎหมายอื่นๆ ที่อยู่ในลำดับถัดไป
เมื่อครบ 60 วัน ครม. ต้องนำร่างพระราชบัญญัติคืนประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่กรณีที่พ้นเวลา 60 วันไปแล้วประธานสภายังไม่ได้รับร่างกฎหมายคืน ครม. จะลักไก่ “ยืดเวลา” หรือ “ปัดตก” ร่างกฎหมายนั้นไม่ได้ เพราะว่าข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร กำหนดว่าเมื่อพ้นกำหนดเวลา 60 วันแล้ว ให้ประธานสภาบรรจุร่างกฎหมายนั้นเป็นเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน ซึ่งจะอยู่ลำดับต้นๆ และได้พิจารณาก่อนร่างกฎหมายอื่นๆ เท่ากับว่าท้ายที่สุดแล้ว เมื่อพ้นเวลา 60 วัน ร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรก็จะพิจารณา อภิปรายร่างกฎหมาย และลงมติในวาระหนึ่ง ว่าจะรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่
เพื่อให้เห็นภาพกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายที่ถูก “เตะถ่วง” จะชวนย้อนกลับดูการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายหกฉบับ โดยสองฉบับนั้น ครม.เคยใช้เทคนิค “เตะถ่วง” มาก่อนแล้ว คือ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และร่างพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ซึ่งเสนอโดยวิรัช  พันธุมะผล ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ สภาอนุมัติให้ ครม. นำไปศึกษาก่อนรับหลักการ 60 วัน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 และกลับสู่การพิจารณาของสภาในวันดังกล่าว
ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายทั้งสองฉบับในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 มีเจ้าหน้าที่รัฐจากหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้ามาชี้แจงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายในสภา ซึ่งนี่เองก็เป็นอีกหนึ่งข้อสังเกตว่า นอกจาก ครม. จะใช้เทคนิคดังกล่าวเพื่อเตะถ่วงเวลาได้แล้ว การให้หน่วยงานรัฐให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายนั้นๆ ยังทำให้ ครม. สามารถใช้เจ้าหน้าที่รัฐ ใช้หน่วยงานรัฐ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายนั้นๆ เข้ามาชี้แจงในสภา เพื่อช่วยลดแรงปะทะโดยตรงระหว่าง ครม. กับ ส.ส. ด้วย
ภายหลังจากสภาพิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และร่างพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ที่เสนอโดยส.ส.พรรคภูมิใจไทย ก็จะเข้าสู่ช่วงสำคัญคือการลงมติว่าจะรับหลักการร่างกฎหมายหรือไม่ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรก็มีมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ จุดนี้เองที่สะท้อนให้เห็นว่า การที่ ครม. นำร่างกฎหมายดังกล่าวไปพิจารณาก่อน ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่ากฎหมายดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเสมอไป แม้ร่างกฎหมายนั้นจะเสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลก็ตาม ในทางตรงกันข้าม ครม. จะมีโอกาสได้ปรึกษาหน่วยงานรัฐ ให้หน่วยงานรัฐที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้ความเห็น ซึ่งจะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับส.ส. ที่โหวต “ไม่รับหลักการ” ร่างกฎหมาย
ขณะเดียวกัน หากเป็นร่างกฎหมายที่ประชาชนให้ความสนใจมาก เช่น #สุราก้าวหน้า #สมรสเท่าเทียม การมีความเห็นในทางกฎหมายจากเจ้าหน้าที่รัฐว่าทำไมร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่สอดคล้องต่อหลักการระหว่างประเทศ ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายอื่นๆ ไม่สอดคล้องกับสถานะการเงินการคลังของประเทศ ฯลฯ ก็จะช่วยให้ ครม. ไม่ต้องเผชิญหน้ากับประชาชนโดยตรง ลดแรงเสียดทาน ทำให้ ครม. ไม่ต้องปะทะกับประชาชน หรือสูญเสียคะแนนนิยมเพราะไม่ผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว