อนาคตคราฟท์เบียร์ไทย ภายใต้ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า

ชื่อของ “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. …” ที่เสนอโดย “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล อาจจะเป็นชื่อร่างกฎหมายที่คนทั่วไปไม่คุ้นนัก แต่ทว่า บางคนอาจจะรู้จักร่างกฎหมายดังกล่าวในฐานะ “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว พยายามจะเปิดทางให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถแข่งขันในตลาดได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคที่ต้องการต้มเบียร์กินเองสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว จึงเป็นดังความหวังและอนาคตของวงการสุราไทย โดยเฉพาะวงการคราฟท์เบียร์

ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรมติให้ส่งร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อน 60 วัน ก่อนจะส่งกลับมาให้สภาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วที่สุดจะเป็นสมัยประชุมหน้า (ประมาณเดือนพฤษภาคม 2565) ดังนั้น ก่อนที่จะสภาจะทำการลงมติอีกครั้ง ไอลอว์อยากชวนดูเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้เสียก่อน

Hello, homebrew! ต้มเบียร์กินเองได้ไม่ต้องขอใบอนุญาต

ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ได้มีการเสนอแก้ไขในมาตรา 153 โดยแก้ไขข้อความในวรรคหนึ่ง จากที่กำหนดว่า “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสําหรับผลิตสุราไว้ในครอบครอง ให้ยื่นคําขออนุญาต” เป็น “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราเพื่อการค้า ให้ยื่นคำขออนุญาต” ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวทำให้ผู้ที่ประสงค์จะผลิตสุราที่ไม่ใช่สำหรับการค้า เช่น การต้มสุราเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน  (homebrewing) หรือการทดลองต้มสุราเพื่อคิดต้นสูตรใหม่ สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต รวมถึงไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายที่กำหนดให้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 193 ตาม พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ. 2560

บอกลาขั้นต่ำทุนจดทะเบียน-กำลังการผลิต ปลดล็อกผู้ผลิตรายเล็ก

ภายใต้กฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ได้กำหนดให้เพียงบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายไทยเท่านั้นที่สามารถขอใบอนุญาตผลิตสุราได้ ยกเว้น สุราสามทับ สุราแช่ที่ไม่ใช่เบียร์ และสุราชุมชน 

แต่ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 3 ห้ามไม่ให้การออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้ากำหนดประเภทบุคคลผู้มีสิทธิขออนุญาต เปิดทางให้ผู้ประกอบการผลิตสุราที่มีเจ้าของเดียวหรือมีรูปแบบห้างหุ้นส่วนสามารถริเริ่มกิจการได้ ไม่ต้องวุ่นหาผู้ร่วมจดทะเบียนบริษัท ซึ่งต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่เจ็ดคนขึ้นไปในกรณีบริษัทจำกัด หรือตั้งแต่สิบห้าคนขึ้นไป

ในกรณีบริษัทมหาชนจำกัด ต้องมีการตั้งพนักงานตรวจสอบบัญชี ตามประมวลแพ่งและพาณิชย์และพ.ร.บ.บริษัทมหาชน พ.ศ. 2535 ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้เป็นการเพิ่มต้นทุนทางอ้อมแก่ผู้ประกอบการรายเล็ก ผู้ได้ประโยชน์จึงเป็นผู้ที่ต้องการประกอบกิจการสุราขนาดเล็กที่มีหุ้นส่วนไม่เกินหกคน

ทั้งนี้ผู้ประสงค์ผลิตสุราที่ไม่ใช่เบียร์ในปัจจุบันสามารถยื่นขอใบอนุญาตผลิตสุราได้ แต่ต้องยื่นในฐานะ สหกรณ์กลุ่มเกษตร วิสาหกิจชุมชน องค์กรเกษตรกร ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือบริษัทจำกัด ซึ่งเป็นการสร้างภาระการจดทะเบียนและหากลุ่มคนร่วมทุน อย่างไรก็ดีหากได้รับอนุมัติจะได้รับใบอนุญาตผลิตสุราในที่ชุมชน ซึ่งจะมีข้อกำหนดเรื่องกำลังแรงม้าเครื่องจักรและจำนวนพนักงานเพิ่มจากการผลิตในฐานะบริษัทตามมาด้วย

นอกจากนี้ ภายใต้กฎกระทรวง การอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 กำหนดให้ผู้ประสงค์ขอใบอนุญาตผลิตเบียร์ต้องเป็นบริษัทที่ “มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท” โดย “มีเงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท” ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากและบังคับใช้ต่อเบียร์เท่านั้น 

อีกทั้งยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องกำลังการผลิตไว้ในกฎกระทรวงด้วยว่า ผู้ผลิตสุราต้องมีศักยภาพผลิตขั้นต่ำที่สูง ดังนี้

  • โรงผลิตเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (brewpub) ต้องมีขนาดกำลังการผลิต 100,000 – 1,000,000 ลิตรต่อปี
  • โรงผลิตเบียร์ประเภทนอกเหนือจากข้างต้น ต้องมีขนาดกำลังการผลิตตั้งแต่ 10,000,000 ลิตรต่อปีขึ้นไป เช่นการผลิตเบียร์เพื่อบรรจุขวดส่งขายสถานที่อื่นๆ
  • โรงผลิตสุราพิเศษชนิดวิสกี้ บรั่นดี และยิน ต้องมีขนาดกำลังการผลิตคิดเทียบเป็นน้ำสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์ยี่สิบแปดดีกรีไม่น้อยกว่า 30,000 ลิตรต่อวัน 
  • โรงผลิตสุราชนิดอื่นๆ (ไม่นับเอทานอล) ต้องมีขนาดกำลังการผลิตคิดเทียบเป็นน้ำสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์ยี่สิบแปดดีกรีไม่น้อยกว่า 90,000 ลิตรต่อวัน สุราที่เข้าข่ายนี้มีอาทิเช่นสุราขาว สุราผสม

อย่างไรก็ดี ในร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 3 พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการกำจัดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้าที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอเกี่ยวกับขนาดกำลังการผลิต ทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการผลิตเบียร์เพื่อขาย ไม่ว่า ณ สถานที่ผลิตหรือไม่ สามารถเลือกขนาดกำลังการผลิตที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด ซึ่งจะเปิดทางให้มี microbrewery และ brewpub มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังจะมีผลช่วยลดเพดานขั้นต่ำในการผลิตสุราชนิดอื่นๆ ซึ่งด้วยข้อกำหนดในปัจจุบัน เป็นการยากที่ผู้ไม่มีต้นทุนสูงจะเข้ามาริเริ่มการผลิตเพราะต้องแบกรับความเสี่ยงในการลงทุนครั้งแรกที่สูงลิ่ว การลดเพดานขั้นต่ำจึงอาจมีผลช่วยให้มีการผลิตสุรารายย่อยเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มตัวเลือกให้ผู้บริโภคในตัว

สุราในชุมชน ผลิตได้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเครื่องจักรและแรงงาน

ตามกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้การผลิตสุราแช่ที่ไม่ใช่เบียร์ หรือสุรากลั่นชุมชนต้องใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมต่ำกว่าห้าแรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่าเจ็ดคน หรือถ้าใช้ทั้งคู่เครื่องจักรต้องมีกำลังรวมต่ำกว่าห้าแรงม้าและคนงานต้องน้อยกว่าเจ็ดคน ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจึงจะช่วยกำจัดข้อกำหนดในส่วนนี้ออกไป ช่วยเหลือวงการสุราพื้นบ้าน สุราชุมชนของไทย