เปิดสถิติ “สภาอับปาง” ล่ม 15 ครั้งภายใน 3 ปี ยิ่งรัฐบาลขัดแย้ง ยิ่งล่มบ่อย

สภาที่มาจากการเลือกตั้งชุดแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ประสบปัญหา “สภาล่ม” อยู่บ่อยครั้ง นับตั้งแต่การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 จนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมรัฐสภา “ล่ม” ไปแล้วรวมกันถึง 15 ครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ เหตุการณ์ที่องค์ประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่งก็เริ่มถี่ขึ้นเรื่อยๆ โดยฝ่ายรัฐบาลในฐานะเสียงข้างมากไม่สามารถรักษาองค์ประชุมไว้ได้ ในขณะที่ฝ่ายค้านเมื่อเห็นฝ่ายรัฐบาลไม่เข้าประชุม ก็ใช้เกมไม่เสียบบัตรแสดงตนเพื่อกดดันรัฐบาล

ในจำนวน 15 ครั้งที่การประชุมสภาต้องจบลงก่อนเวลาที่ควรจะเป็นนั้น เกิดจากการนับองค์ประชุมแล้วไม่ถึงกึ่งหนึ่งทั้งหมด 7 ครั้ง ประธานสภาสั่งปิดการประชุมเองเนื่องจากเห็นจำนวนผู้แทนในสภาบางตา 5 ครั้ง และมีอีก 3 ครั้งที่ฝ่ายค้านตัดสินใจวอล์กเอาท์ออกจากห้องประชุมเนื่องจากไม่พอใจฝ่ายรัฐบาล เช่น ฝ่ายรัฐบาลลงมติแพ้เนื่องจากมีคนแสดงตนน้อย แต่กลับขอให้ลงมติใหม่

3 ปี 15 ครั้ง หลากเหตุผลสภาล่ม

เหตุการณ์สภาล่มเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 หรือเพียง 3 เดือนหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป ระหว่างพิจารณารับทราบผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยเป็นเหตุมาจากการที่ ส.ส. ฝ่ายค้านทักท้วงเรื่ององค์ประชุม ทำให้สุชาติ ตันเจริญ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร สั่งปิดประชุมสภาหลังจากที่ประชุมไปเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น

หลังจากนั้น ก็เกิดเหตุการณ์สภาล่มสองครั้งในเวลาสองวันติดต่อกัน ในวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2562 ในระหว่างการพิจารณาตั้ง กรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบประกาศคำสั่ง คสช. โดยฝ่ายค้านสามารถโหวตเอาชนะฝ่ายรัฐบาลที่มาแสดงตนน้อยกว่าได้ และที่ประชุมมีมติให้ตั้ง กมธ. ตามที่ญัตติเสนอ แต่ทว่า ฝ่ายรัฐบาลกลับเสนอขอให้มีการลงมติใหม่ ทำให้ฝ่ายค้านตัดสินใจวอล์กเอาท์ออกจากที่ประชุมเพื่อเป็นการประท้วงสองวันติดต่อกัน

ตลอดปีแรกของการทำหน้าที่สภาที่มาจากการเลือกตั้ง เกิดเหตุการณ์สภาล่มทั้งหมด 3 ครั้ง ในขณะที่ปี 2563 สภาล่มจากการวอล์กเอาท์ประท้วงของฝ่ายค้านอีกหนึ่งครั้ง

ปี 2564 เกิดเหตุการณ์สภาล่มบ่อยมากขึ้น จนสภาแห่งนี้ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า “สภาอับปาง” มีมากถึง 8 ครั้งที่สภาไม่สามารถทำงานจนจบการประชุมได้ ในจำนวนนี้มีการล่ม 2 ครั้งที่เกิดขึ้นในการประชุมร่วมของรัฐสภาระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. พร้อมกันในช่วงเดือนกันยายนในระหว่างการพิจารณาง ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้งานวิจัยและนวัตกรรม และ ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ และหลัง

จากนั้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาทั้งสุชาติ ตันเจริญ และศุภชัย โพธิ์สุ ก็สั่งปิดการประชุมเองเนื่องจากเห็น ส.ส. ในที่ประชุมน้อยติดต่อกันถึง 3 ครั้ง คือ วันที่ 3 และ 17 พฤศจิกายน และ 15 ธันวาคม ก่อนจะปิดปี 2564 ด้วยสภาล่มอีกครั้งในระหว่างการพิจารณารายงานแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ เนื่องจากนับองค์ประชุมแล้วไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

ตั้งแต่เปิดปี 2565 มา ปรากฏการณ์สภาล่มก็ไม่ได้มีแนวโน้มจะลดลง แต่กลับมีถี่ขึ้นในช่วงต้นปี ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือนเศษๆ สภาล่มไปแล้วถึง 3 ครั้ง ครั้งแรก ในวันที่ 19 มกราคม 2565 ในระหว่างการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษารวม 5 ฉบับ โดยนับองค์ประชุมแล้วไม่ถึงกึ่งหนึ่ง และยังเกิดขึ้นในวันเดียวกับที่มีกระแสข่าวว่าธรรมนัส พรหมเผ่าพร้อม ส.ส. ในกลุ่มจะออกจากพรรคพลังประชารัฐ อีกสองครั้งต่อมาเกิดขึ้นในวันที่ 2 และ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ในระหว่างที่กำลังลงมติว่าสภาจะอนุมัติให้คณะรัฐมนตรีนำร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ไปศึกษาก่อนรับหลักการหรือไม่ และในระหว่างการพิจารณารับรองรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยอย่างยั่งยืน โดยมีการนับองค์ประชุมแต่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

ทั้งนี้ ในเหตุการณ์สภาล่มครั้งที่ 12-15 หรือตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2564 ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ฝ่ายค้านได้ใช้กลยุทธ์ไม่แสดงตนในที่ประชุมแม้ว่าจะอยู่ในห้องประชุม เนื่องจากเห็นว่าฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลในฐานะเสียงข้างมากไม่เข้าร่วมประชุม ด้วยเหตุนี้ สภาจึงล่มอย่างต่อเนื่อง โดยที่สถานการณ์ของฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ดีขึ้น แต่กลับมี ส.ส. ของพรรคร่วมมาแสดงตนน้อยลงเรื่อย ๆ แม้จะมีแรงกดดันจากฝ่ายค้าน จากที่มี ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลแสดงตน 212 คนในการประชุมวันที่ 17 ธันวาคม 2564 แต่ก็เหลือเพียง 147 คนในเหตุการณ์สภาล่มวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565

ยิ่งพรรคร่วมขัดแย้ง สภายิ่งล่มบ่อย

ความเปลี่ยนแปลงภายในพรรคพลังประชารัฐในช่วงหลังมีความสัมพันธ์กับความถี่ของเหตุการณ์องค์ประชุมไม่ครบ พรรคพลังประชารัฐต้องเจอกับการสูญเสียครั้งสำคัญในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 เมื่อวิรัช รัตนเศรษฐ วิปรัฐบาล ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ทำให้ นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส. พลังประชารัฐจากจังหวัดนครสวรรค์ต้องขึ้นมาเป็นวิปรัฐบาลแทน ซึ่งนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนตัวผู้ประสานงาน สภาผู้แทนราษฎรล่มถึง 7 ครั้งภายในเวลาเพียงสามเดือน ด้านนิโรธซึ่งมีหน้าที่ต้องควบคุมเสียง ส.ส. ใช้วิธีออกมาขอความร่วมมือกับฝ่ายค้านให้ช่วยรัฐบาลแสดงตน

อีกหนึ่งปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ คือ การขับธรรมนัส พรหมเผ่า พร้อม ส.ส. อีก 20 คนออกจากพรรค ทำให้เสียงในสภาที่ฝ่ายรัฐบาลควรจะคุมได้ลดน้อยลงอีก นับตั้งแต่ที่มีการขับธรรมนัสออกจากพรรคในวันที่ 19 มกราคม จนถึงสภาล่มครั้งล่าสุดในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ สภาล่มไปแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง โดยเฉพาะในวันที่ 19 มกราคม ท่ามกลาง ส.ส. พรรคพลังประชารัฐบางตาในสภาเนื่องจากคาดหมายว่า ส.ส. จำนวนไม่น้อยไปรอการประชุมที่บ้านป่ารอยต่อที่จะตัดสินชะตาของธรรมนัส ผู้ที่เสนอให้นับองค์ประชุมก็คือพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม หนึ่งในพรรคเล็ก ที่อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของธรรมนัส แม้นิโรธ จะขอร้องให้ ส.ส. ฝ่ายตัวเองให้อยู่ในการประชุมสภาก่อน แต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้สภาล่มให้ที่สุด

ระหว่างการพิจารณา พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ในมาตรา 6 สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯคนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้กดออดเรียกสมาชิกเพื่อเข้ามาแสดงตนก่อนลงมติ โดยพยายามกดออดเรียกสมาชิกหลายครั้ง เพื่อให้เข้ามาในห้องประชุมและแสดงตน ใช้เวลานานเกือบ 5 นาที จนสุชาติ ได้กล่าวขึ้นว่า ทางประธานกรรมาธิการฯและสมาชิก เอาไว้ประชุมกันคราวต่อไป และได้สั่งปิดการประชุม เวลา 17.20 น.

สภาล่ม 15 ครั้ง (นับถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565)

ครั้งที่ 1 วันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ระหว่างพิจารณารับทราบผลการปฏิบัติงาน ป.ป.ส. (ประธานสั่งปิด)
สุชาติ ตันเจริญ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ปิดประชุมสภา หลังพรรคฝ่ายค้านทักท้วงเรื่องนับองค์ประชุม

ครั้งที่ 2 วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ระหว่างการพิจารณาตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบประกาศคำสั่ง คสช. (ฝ่ายค้านวอล์กเอาท์)
พรรคฝ่ายค้านวอล์กเอาท์ หลังพรรครัฐบาลขอให้ลงคะแนนใหม่ หลังเสียงข้างมากเห็นชอบให้ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบประกาศคำสั่ง คสช.

ผลการนับองค์ประชุม

มีสมาชิกทั้งหมด 499
เสียงกึ่งหนึ่ง เท่ากับ 250
นับองค์ประชุมได้ 92

ครั้งที่ 3 วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ระหว่างการพิจารณาตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบประกาศคำสั่ง คสช. (ฝ่ายค้านวอล์กเอาท์)
พรรคฝ่ายค้านวอล์กเอ้าท์ หลังพรรครัฐบาลขอให้ลงคะแนนใหม่ หลังเสียงข้างมากเห็นชอบให้ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบประกาศคำสั่ง คสช.

ผลการนับองค์ประชุม

มีสมาชิกทั้งหมด 499
เสียงกึ่งหนึ่ง เท่ากับ 250
นับองค์ประชุมได้ 240 

ครั้งที่ 4 วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ระหว่างการพิจารณารายงานความคืบหน้าแผนปฏิรูปประเทศ (ฝ่ายค้านวอล์กเอาท์)
ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายตั้งข้อสังเกตว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รายงานสภาทุก 3 เดือน แต่กลับไม่มีการดำเนินการ อีกทั้งยังไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรมตามตัวชี้วัด ตามกฎหมาย หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การรับรองรายงานฉบับนี้อาจขัดต่อมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ จึงเห็นควรให้ถอนวาระออกไปก่อน ขณะที่ ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พท. ระบุว่า หากตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมถอนร่างรายงานฉบับนี้ ก็ขอให้สั่งนับองค์ประชุม ซึ่งขณะนั้น ส.ส. รัฐบาลส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ขณะที่ฝ่ายค้านก็เดินออกจากห้องประชุม (วอล์กเอาท์) หรืออยู่ในห้องประชุม แต่ไม่ยอมเสียบบัตรแสดงตนเพื่อร่วมเป็นองค์ประชุม

ผลการนับองค์ประชุม

มีสมาชิกทั้งหมด 487
เสียงกึ่งหนึ่ง เท่ากับ 244
นับองค์ประชุมได้ 231

ครั้งที่ 5 วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ระหว่างการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (องค์ประชุมไม่ครบ)
ที่ประชุมพิจารณาในมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติ แต่องค์ประชุมไม่ครบ ประธานสภาจึงได้สั่งปิดการประชุม

ต่อมา ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงถึงสาเหตุสภาล่มว่า เนื่องจากความเห็นต่างขัดแย้งของกรรมาธิการและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ว่าจะลงมติ หรือจะถอดร่างออกไปทบทวนปรับแก้ก่อน จึงไม่แสดงตน ด้วยเห็นว่าหากเดินหน้าลงมติจะเกิดปัญหา หรือหากถอนร่างออกก็ต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุม ไม่ครบองค์ประชุมจะถอนก็ไม่ได้ ซึ่งไม่ได้แก้ต่างแทน ส.ส. แต่เจตนาไม่ให้ลงมติในมาตรา 6 ที่เห็นต่าง

ผลการนับองค์ประชุม

มีสมาชิกทั้งหมด 483
เสียงกึ่งหนึ่ง เท่ากับ 242
นับองค์ประชุมได้ 206

ฝ่ายรัฐบาล 83
ฝ่ายค้าน 123

ครั้งที่ 6 วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ประธานสั่งปิด)
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ช่วงบ่าย วาระการพิจารณาเรื่องด่วน ซึ่งเป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จำนวน 6 ฉบับ ในวาระแรก โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา มีสมาชิกอยู่ในห้องประชุมไม่ค่อยมากเท่าไร เพราะ ส.ส.บางส่วนต้องไปประชุมคณะกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565

หลังจากถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต สุชาติ ตันเจริญ กดออดเรียกสมาชิกให้มาแสดงตนหลายครั้ง และมี ส.ส. พลังประชารัฐลุกขึ้นขอให้ประธานสภารอสมาชิกที่กำลังเดินทางมาในอีก 5 นาที แต่สุชาติรอไม่ถึงเวลาดังกล่าวและกล่าวปิดการประชุมทันที

ครั้งที่ 7 วันที่ 10 กันยายน 2564 ระหว่างการพิจารณาง ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้งานวิจัยและนวัตกรรม (องค์ประชุมไม่ครบ)
ระหว่างรัฐสภากำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ไปจนถึงมาตรา 8 แต่ทว่า เมื่อประธานรัฐสภาได้ดำเนินการตรวจสอบองค์ประชุมปรากฏว่ามีจำนวนสมาชิกฯ ไม่ครบองค์ประชุม ประธานรัฐสภาจึงได้สั่งปิดการประชุม

ผลการนับองค์ประชุม

มีสมาชิกทั้งหมด 730
เสียงกึ่งหนึ่ง เท่ากับ 365
นับองค์ประชุมได้ 355

ฝ่ายรัฐบาล 143
ฝ่ายค้าน 48
ส.ว. 164

ครั้งที่ 8 วันที่ 17 กันยายน 2564 ระหว่างการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (องค์ประชุมไม่ครบ)
หลัง ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ประธานรัฐสภา ได้ ‘กดออด’ สัญญาณเรียกสมาชิลงมติ ถึง 3 ครั้ง แต่สมาชิกในห้องประชุมบางตา ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ได้เสนอให้พักการประชุม 30 นาทีแล้วค่อยมาลงมติ แต่ ส.ส.ฝ่ายค้านท้วงติงว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นกฎหมายสำคัญเทียบเคียงกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเป็นร่างกฎหมายปฏิรูปสำคัญของรัฐบาล หากต้องเลื่อนออกไปอีก 2 เดือนถือว่ารัฐสภาไม่รับผิดชอบกับประชาชน ต่อมาเมื่อนับองค์ประชุม ปรากฏว่า สมาชิกรัฐสภาแสดงตนไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ ประธานรัฐสภาจึงไม่ได้ให้ลงมติ และปิดสมัยประชุมรัฐสภา

ผลการนับองค์ประชุม

มีสมาชิกทั้งหมด 730
เสียงกึ่งหนึ่ง เท่ากับ 365
นับองค์ประชุมได้ 365

ครั้งที่ 9 วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ระหว่างการพิจารณาง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ประธานสั่งปิด)
ระหว่างการพิจารณา พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ในมาตรา 6 สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯคนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้กดออดเรียกสมาชิกเพื่อเข้ามาแสดงตนก่อนลงมติ โดยพยายามกดออดเรียกสมาชิกหลายครั้ง เพื่อให้เข้ามาในห้องประชุมและแสดงตน ใช้เวลานานเกือบ 5 นาที จนสุชาติ ได้กล่าวขึ้นว่า ทางประธานกรรมาธิการฯและสมาชิก เอาไว้ประชุมกันคราวต่อไป และได้สั่งปิดการประชุม เวลา 17.20 น.

ครั้งที่ 10 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ระหว่างการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ประธานสั่งปิด)
ระหว่างการพิจารณาร่างพ.ร.บ.เครื่องสำอาง ฉบับที่ พ.ศ. … โดยมีผู้อภิปรายได้เพียง 4-5 คน และยังมีที่ลงชื่อขออภิปรายเหลืออยู่อีกจำนวนหนึ่ง แต่พบว่า มี ส.ส.อยู่ในห้องประชุมอย่างบางตา ต่อมา ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีสมาชิกให้ความสนใจอีกหลายท่าน และพวกเราทำงานอย่างเต็มที่มาตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ฉะนั้น จึงของเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไปพิจารณาต่อในการประชุมคราวต่อไป

ครั้งที่ 11 วันที่ 15 ธันวาคม 2564 ระหว่างการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคสช. (ประธานสั่งปิด)
อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาชี้แจง ได้กล่าวว่า ครม.ขอรับร่างฉบับนี้ไปพิจารณาเป็นเวลา 60 วันก่อนที่ ส.ส.จะลงมติในวาระรับหลักการ ต่อมา สุชาติ ตันเจริญ ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานสภาฯ ได้กดออดเรียกสมาชิกเข้าห้องประชุมเพื่อลงมติว่าจะอนุมัติให้ ครม. นำกลับไปพิจารณาหรือไม่ แต่ห้องประชุมยังมี ส.ส.บางตา จึงได้สั่งเลิกการประชุม โดยไม่ขานคะแนนการแสดงตน

ครั้งที่ 12 วันที่ 17 ธันวาคม 2564 ระหว่างการพิจารณา รายงานแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ (องค์ประชุมไม่ครบ)
ระหว่างรายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยก่อนที่ประชุมจะลงมติให้ความเห็นชอบกับรายงานดังกล่าว ศุภชัย โพธิ์ส ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภา ได้ดำเนินการตรวจสอบองค์ประชุม ผลปรากฏว่า ไม่ครบองค์ประชุม

ผลการนับองค์ประชุม

มีสมาชิกทั้งหมด 476
เสียงกึ่งหนึ่ง เท่ากับ 238
นับองค์ประชุมได้ 233

ฝ่ายรัฐบาล 219
ฝ่ายค้าน 14

ครั้งที่ 13 วันที่ 19 มกราคม 2565 ระหว่างการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษารวม 5 ฉบับ (องค์ประชุมไม่ครบ)
ระหว่างการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษารวม 5 ฉบับ หลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงหลักการและเหตุผล มีสมาชิกฯ เสนอขอนับองค์ประชุม ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานของที่ประชุมจึงได้สั่งให้นับองค์ประชุม ปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่งจึงได้สั่งปิดการประชุม

ผลการนับองค์ประชุม

มีสมาชิกทั้งหมด 473
เสียงกึ่งหนึ่ง เท่ากับ 237
นับองค์ประชุมได้ 226

ฝ่ายรัฐบาล 182
ฝ่ายค้าน 44

ครั้งที่ 14 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ระหว่างการพิจารณาอนุมัติให้คณะรัฐมนตรีนำร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ไปศึกษาก่อนรับหลักการ (องค์ประชุมไม่ครบ)
ในระหว่างการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (สุราก้าวหน้า) มีการลงมติเพื่อให้คณะรัฐมนตรีนำร่างไปพิจารณาก่อน 60 วัน แต่เมื่อตรวจสอบองค์ประชุมแล้วไม่ครบ ประธานจึงสั่งปิดการประชุม

ผลการนับองค์ประชุม

มีสมาชิกทั้งหมด 475
เสียงกึ่งหนึ่ง เท่ากับ 238
นับองค์ประชุมได้ 234

ฝ่ายรัฐบาล 175
ฝ่ายค้าน 59

ครั้งที่ 15 วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ระหว่างการพิจารณารับรองรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยอย่างยั่งยืน (องค์ประชุมไม่ครบ)

ในระหว่างการพิจารณารับรองรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยอย่างยั่งยืน ประธานได้กดออดเรียกให้สมาชิกมาแสดงตนเพื่อลงมติ แต่หลังจากรออยู่ร่วมชั่วโมง และการเถียงกันระหว่าง ส.ส. เพื่อไทย และภูมิใจไทย ว่าจะให้แสดงตนแบบเสียบบัตรหรือขานขื่อ ท้ายที่สุดแล้วให้มีการแสดงตนแบบเสียบบัตรแต่องค์ประชุมก็ไม่ครบ ประธานจึงสั่งปิดการประชุม

ผลการนับองค์ประชุม

เสียงกึ่งหนึ่ง เท่ากับ 237
นับองค์ประชุมได้ 195

ฝ่ายรัฐบาล 147
ฝ่ายค้าน 47