ร่างแก้ไขพ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ ฉบับประชาชน ยกระดับท้องถิ่นบรรเทาปัญหาสาธารณภัย

สาธารณภัย เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของมนุษยชาติ สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้คนในสังคม ทั้งในเชิงชีวิต เนื้อตัวร่างกาย ทรัพย์สิน สุขภาพกายสุขภาพจิต ซ้ำร้ายบางกรณี สาธารณภัยบางประเภทยังเกิดขึ้นโดยที่มนุษย์ไม่อาจคาดหมายล่วงหน้าได้ ตัวอย่างเช่นกรณีเหตุการณ์ #ไฟไหม้กิ่งแก้ว ที่โรงงานหมิงตี้เคมีคอล ซอยกิ่งแก้ว 21 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย มีผู้บาดเจ็บ เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนย่านนั้น ยิ่งกว่านั้น เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล ยังทำให้สารตั้งต้นสำหรับผลิตเม็ดพลาสติก ปะปนไปกับอากาศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ได้ในระยะยาว

เมื่อมีสาธารณภัยเกิดขึ้นแล้ว แม้มนุษย์จะไม่สามารถหยุดยั้งหรือควบคุมปัญหาดังกล่าวได้จากต้นตอ แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้คือการป้องกัน รวมไปถึงการบรรเทาความรุนแรงของสาธารณภัยที่เกิดขึ้น โดยในประเทศไทยเอง ก็มีพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 (พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ) ซึ่งกำหนดกลไกการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยทั้งในระดับประเทศ ระดับจังหวัด รวมไปถึงระดับท้องถิ่น อย่างไรก็ดี กฎหมายดังกล่าวก็ประกาศใช้เกือบ 15 ปีแล้ว ขณะที่ปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดสาธารณภัยอาจมีความเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม ทางมูลนิธิชุมชนไทย จึงริเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนให้เกิน 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ฉบับที่ ..) …. (ร่างแก้ไขพ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ) ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยเนื้อหาของร่างแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ ฉบับภาคประชาชนนั้น ไม่ได้เสนอเพื่อโละเนื้อหา พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ เพียงแต่เสนอแก้ไขในเชิงรายละเอียดบางประเด็นเท่านั้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ยกระดับท้องถิ่น อนุมัติงบประมาณท้องถิ่นจัดการสาธารณภัยได้ไม่เกินครั้งละหนึ่งล้าน

ใน พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ ที่ยังใช้บังคับอยู่ กำหนดโครงสร้างองค์กรในการแก้ไขสาธารณภัยไว้สามระดับ 

1) ระดับประเทศ มีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) ซึ่งประกอบไปด้วยนายกฯ รัฐมนตรีจากหลายกระทรวง ข้าราชการประจำระดับสูง และผู้ทรงคุณวุฒิด้านผังเมืองและการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการ

2) ระดับภูมิภาค มีผู้ว่าราชการจังหวัด รับผิดชอบการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยในเขตจังหวัด และสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อจัดทำแผนป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้

3) ระดับท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของพื้นที่นั้นเป็นผู้รับผิดชอบป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตท้องถิ่น มีอำนาจสั่งการ ควบคุม กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานและอาสาสมัครเพื่อให้เป็นไปตามกลไกป้องกันบรรเทาสาธารณภัยตามที่กฎหมายกำหนด

ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ เสนอแก้ไขกลไกจัดการสาธารณภัยของท้องถิ่นให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยในมาตรา 20 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ 

(1) จัดทำแผนจัดการภัยพิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตท้องถิ่นของตน

(2) ประกาศเขตภัยพิบัติในเขตท้องถิ่นของตน

(3) จัดให้มีอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

(4) ฝึกอบรม เตรียมความพร้อมเจ้าพนักงาน อาสาสมัครและประชาชนในเขตท้องถิ่นเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

(5) ส่งเสริมชุมชนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

(6) ช่วยเหลือผู้อำนวยการจังหวัดและผู้อำนวยการอำเภอตามที่ได้รับมอบหมาย

(7) ปฏิบัติการอื่นใด ตามที่ผู้อำนวยการจังหวัดหรือผู้อำนวยการอำเภอมอบหมาย

ทั้งนี้ การกำหนดอำนาจหน้าที่ดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นการกำหนดให้คล้ายคลึงกับอำนาจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ ยังกำหนดไว้ในมาตรา 21 (6) ให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถอนุมัติงบประมาณส่วนท้องที่ของตนเพื่อดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นได้ หากมีสาธารณภัยเกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น โดยงบประมาณที่อนุมัติได้นั้นต้องไม่เกินครั้งละหนึ่งล้านบาท

เพิ่มการกัดเซาะชายฝั่งเป็นสาธารณภัย จังหวัด/ท้องถิ่นแก้ไขป้องกันได้ ไม่ต้องรอลุกลาม

ใน พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ ได้กำหนดนิยาม “สาธารณภัย” ไว้ว่า อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาดในมนุษย์ โรคระบาดสัตว์ โรคระบาดสัตว์น้ำ การระบาดของศัตรูพืช ภัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ มีผู้ทำให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุ รวมถึงภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรมด้วย ซึ่งในร่างแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ ได้เพิ่มให้การกัดเซาะชายฝั่ง เป็นสาธารณภัยประเภทหนึ่ง โดยไมตรี จงไกรจักร  ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท แสดงความเห็นว่า ถึงแม้การกัดเซาะชายฝั่งจะเป็นเหตุที่เกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ อีกทั้งการกัดเซาะชายฝั่ง ยังเป็นไปตามฤดูกาล  หากเป็นสาธารณภัยท้องถิ่น จังหวัดก็สามารถแก้ไขป้องกันได้ทัน  โดยไม่ต้องรอให้ลุกลาม จนต้องของบสร้างกำแพง สร้างเขื่อน แก้ปัญหา ที่นับเป็นการส่งผลกระทบแบบระยะยาวไม่มีที่สิ้นสุด

การเสนอเพิ่มเติมการกัดเซาะชายฝั่งเป็นสาธารณภัยประเภทหนึ่ง ส่งผลให้เวลาที่เกิดเหตุการณ์ลมมรสุมพัดหรือพายุ จะพัดพาให้เกิดคลื่นเข้าปะทะชายฝั่งจนเกิดการกัดเซาะเป็นวงกว้าง กลไกป้องกันบรรเทาสาธารณภัยตามกฎหมาย ก็จะสามารถใช้กับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ กรณีที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งหรือในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้อำนวยการจังหวัด ก็อาจสั่งการเจ้าหน้าที่รวมถึงอาสาสมัคร และบุคคลใดๆ ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัย ให้กระทำการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยตามความจำเป็น  สั่งห้ามเข้าหรือให้ออกจากพื้นที่ และจัดให้มีการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยโดยทั่วถึงและรวดเร็ว ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็จะเป็นผู้ประสบภัยตามกฎหมายที่จะต้องได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ

เปิดทางให้ผู้ประสบภัยที่ไม่มีสัญชาติไทย-ไม่มีสถานะทางทะเบียน เข้าถึงการเยียวยาจากรัฐอย่างเท่าเทียม

ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ กำหนดเพิ่มเติมนิยามคำว่า “ผู้ประสบภัย” เข้ามา ซึ่งเดิมใน พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ ไม่ได้กำหนดนิยามคำนี้ไว้เป็นการเฉพาะ ส่งผลให้ผู้ประสบภัยที่ไม่มีสัญชาติไทย เช่น ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย หรือผู้ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เช่น ชาวเล ชาวเขา คนไทยพลัดถิ่น ไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือของรัฐได้แม้จะเป็นผู้ประสบภัยจากสาธารณภัยก็ตาม แต่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ ได้กำหนดนิยามคำดังกล่าวว่า ผู้ประสบภัย หมายถึง ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากสาธารณภัย ซึ่งรวมถึงผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยหรือไม่มีสถานะทางทะเบียนด้วย 

สำหรับผู้ที่สนใจร่วมเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ สามารถเข้าไปดาวน์โหลดแบบฟอร์มเข้าชื่อและกรอกข้อมูลที่จำเป็นให้ครบถ้วน โดยสามารถอ่านวิธีการกรอกแบบฟอร์มได้ในเว็บไซต์ หลังจากกรอกแบบฟอร์มเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถอัพโหลดไฟล์เอกสารการเข้าชื่อที่กรอกครบถ้วนและลงลายมือชื่อแล้วทางกูเกิ้ลฟอร์มโดยกรอกชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ และแนบไฟล์แบบฟอร์ม ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ