ครช. ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

27 มกราคม 2565 เวลา 10.00 น. คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) เข้ายื่นคำร้องกับศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากรัฐบาลได้อ้างสถานการณ์โรคระบาดเพื่อประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มากว่าสองปีแล้ว
การร้องศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นผลมาจากเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 ครช. เคยยื่นหนังสือร้องเรียนกับผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีความเห็นและส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินกลับมีคำวินิจฉัย “หยุดคำร้องเรียน” โดยให้เหตุผลว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่กำหนดให้รัฐสามารดำเนินการอย่างใด ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินได้อยู่แล้ว ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยของในประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ แล้ว
เพื่อเป็นการคัดค้านคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ครช. จึงเข้ายื่นคำร้องศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ในเอกสารคำร้องระบุเหตุผลว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายบริหารโดยไม่มีการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติหรือตุลาการจนนำไปสู่การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากเกินสมควร มาตรา 9 ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอของสื่อมวลชนซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการออกข้อกำหนดห้ามนำเสนอข่าวได้ มาตรา 11 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าจะกระทำการไม่สงบเรียบร้อย จึงมีเนื้อหาจำกัดสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมถึงไม่เป็นไปตามหลักการสันนิษฐานว่าผู้ต้องสงสัยเป็นบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีพิพากษา นอกจากนี้ มาตรา 16 ยังเป็นการตัดการตรวจสอบจากอำนาจฝ่ายตุลาการ เนื่องจากผู้เสียหายไม่สามารถร้องเรียนการละเมิดสิทธิกับศาลปกครองได้ ท้ายที่สุด มาตรา 5 ยังให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปไม่มีที่สิ้นสุด โดยที่ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้เลย
ในการให้สัมภาษณ์ก่อนเข้ายื่นหนังสือ ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีนี้ กล่าวว่าตนเองเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก ฉุกเฉินฯ คนหนึ่ง การชุมนุมสาธารณะต้องสามารถทำได้ เพราะเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญได้รับการรับรองไว้ วันนี้ตนทำหน้าที่เป็นตัวแทนในฐานะผู้ร้องว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอย่างไร ก่อนหน้านี้เราได้ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแต่ถูกวินิจฉัยให้ยุติการร้องเรียน แต่อย่างไรก็ตามคำร้องของเราได้แสดงความกังขาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา อยากให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญช่วยอ่านคำร้องอย่างละเอียดและจับประเด็นให้ได้
การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สองปีที่ผ่านมา โดยอ้างว่าป้องกันโควิด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงข้อกำหนดไม่เคยช่วยแก้ปัญหาโควิด มีประชาชนมากมายต้องเสียชีวิต ทำให้ประชาชนต้องออกมาประท้วง แต่ก็กลับถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกประเด็นหนึ่งคือปัญหาของพี่น้องชายแดนใต้ ที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกใช้มา 15 ปี แล้ว ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิและซ้อมทรมานเป็นจำนวนมาก กฎหมายดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหาภาคใต้
หลังจากนั้นตัวแทนได้เข้าไปยื่นหนังสือภายในอาคารศาลรัฐธรรมนูญ โดยตัวแทนแจ้งว่าจะใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่
ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะอ้างถึงเหตุผลในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ จากสถิติจากสมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนกลับพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจตามข้อกำหนดที่ออกโดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยรวมไปถึงการดำเนินคดีกับเยาวชนด้วย ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 ถึงสิ้นปี 2564 พบว่ามีคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกโดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มากถึง 603 คดี มีผู้ต้องหารวมทั้งหมด 1,415 คน ในบรรดาคดีการเมืองทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีสัดส่วนมากถึง 61.21 เปอร์เซ็นต์
ไฟล์แนบ