หมดพลัง ไร้ขุนพล: ชะตากรรมของกลุ่มก๊วนในพรรคพลังประชารัฐ

นับตั้งแต่การก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐเมื่อปลายปี 2561 จนถึงวันนี้ ตัวละครในพรรคพลังประชารัฐเปลี่ยนโฉมไปหลายครั้ง ตั้งแต่ผู้บริหารพรรคไปจนถึง ส.ส. ที่มีบทบาทสำคัญหลายครั้งในเวทีสภาก็ล้วนต้องตกเป็นเหยื่อของเกมการเมืองในพรรคของตนเองหรือต้องถูกถอดถอนโดยกระบวนการยุติธรรม การสมผลประโยชน์กันระหว่างนักการเมืองและทหารซึ่งเคยเป็นรากฐานสำคัญของพรรคพลังประชารัฐในช่วงแรกได้เปลี่ยนกลายเป็นความขัดแย้งในระยะหลัง และก็ดูเหมือนว่ายิ่งเวลาผ่านไปจะเป็นฝ่ายนักการเมืองมากกว่าที่ต้องถอยให้กับเหล่านายพล
พรรคพลังประชารัฐถูกก่อตั้งขึ้นโดยหลายกลุ่มก้อนทางการเมืองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยน “ท็อปบู๊ท” ให้เป็น “นักเลือกตั้ง” เพื่อให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร สามารถฟอกขาวตัวเองเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตยต่อไปได้ โดยมีกลยุทธ์หลักคือการบีบด้วยคดีความและผลประโยชน์เพื่อดึงเหล่านักการเมืองจากก๊วนต่าง ๆ ให้มาร่วมพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ สองพรรคใหญ่ก่อนเกิดรัฐประหาร จนถูกหลายคนเรียกขานว่าเป็น “พรรคพลังดูด”
ก๊กเหล่าที่มากมายของพลังประชารัฐส่งผลให้ศึกภายในพรรคสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย โดยกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะยืนอยู่กันคนละฝั่งของขั้วการเมืองกลับต้องมาจับมือกันผ่านผลประโยชน์บางอย่าง แต่การ “แบ่งเค้ก” ท่ามกลางความแตกต่างนี้ทำให้ทุกฝ่ายพอใจจนตลอดรอดฝั่งนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อนายกรัฐมนตรีอย่างประยุทธ์ซึ่งเกลียดชังนักการเมืองเป็นทุนเดิม เลือกที่จะ “ขาลอย” ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องในพรรคพลังประชารัฐ และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพี่ใหญ่ ประวิตร วงษ์สุวรรณ รับมือในการประสานผลประโยชน์ 
ความแตกต่างหลากที่มาของก๊วนต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐทำให้การเปิดศึกระหว่างก๊วนจึงเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ไม่ยากนัก ที่ผ่านมาพรรคการเมืองนี้ต้องผ่านความขัดแย้งมาหลายยก มีหลายคนต้องลาจากพรรคไปพร้อมกับความแค้นสุมอก บางคนต้องเสียตำแหน่งหน้าที่ผู้แทนของตนเอง และอีกหลายคนแม้จะยังอยู่ในพรรค แต่ความไม่พอใจก็สั่งสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนพร้อมจะระเบิดออกมาเป็นศึกระลอกใหม่ได้อีก
และนี่คือชะตากรรมของกลุ่มต่าง ๆ ในพรรคพลังประชารัฐในปัจจุบัน

กลุ่มสี่กุมาร-สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ถูกการเมืองภายในพรรคเล่นงานจนพร้อมใจกันลาออกจากครม. และพลังประชารัฐ

หัวเรือใหญ่ในการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐคือกลุ่ม “สี่กุมาร” หรือสี่รัฐมนตรีในรัฐบาลของประยุทธ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น “เด็กในคาถา” ของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และมือเศรษฐกิจคนสำคัญของรัฐบาลทหาร ในการประชุมใหญ่ของพรรคครั้งแรก สมาชิกของกลุ่มสี่กุมารก็สามารถยึดกุมตำแหน่งหลัก ๆ ของพรรคได้ทั้งหมด อุตตม สาวนายน ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค ในขณะที่ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นรองหัวหน้าพรรค และกอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นโฆษกพรรค
หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 พรรคพลังประชารัฐสามารถส่งประยุทธ์ถึงฝั่งฝันเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งได้สำเร็จ กลุ่มสี่กุมารก็ได้รับการตอบแทนด้วยเก้าอี้รัฐมนตรีถึงสามที่พร้อมด้วยตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
แต่ก็ใช่ว่าเมื่อมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ขนาดนี้แล้วกลุ่มสี่กุมารจะอยู่รอดปลอดภัย แต่กลับต้องกลายเป็นเครื่องสังเวยชิ้นแรก ๆ ให้กับการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ปัญหาของกลุ่มสี่กุมารคือการไม่มี ส.ส. อยู่ในมือเป็นของตนเอง ซึ่งทำให้อำนาจต่อรองน้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นในพรรค และยิ่งเมื่อเทียบกับจำนวนตำแหน่งรัฐมนตรีที่ได้รับแล้ว ย่อมทำให้ก๊กเหล่าต่าง ๆ อิจฉาตาร้อน รอวันที่จะจัดการกับกลุ่มสี่กุมาร
จุดจบของกลุ่มสี่กุมารพร้อมด้วยสมคิดเริ่มขึ้นจากความไม่พอใจของ “กลุ่มสามมิตร” ซึ่งเป็นอดีตสามรัฐมนตรีในรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ที่หันมาเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐพร้อม ส.ส. ในสังกัดหลายสิบคน หลังจากเป็นรัฐบาลได้เพียงปีเศษ กลุ่มสามมิตรก็วางแผนรัฐประหารภายในพรรค โดยให้กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ 18 จาก 34 คนลาออกพร้อมกัน เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกผู้บริหารพรรคใหม่ ผลการประชุมปรากฏว่ากลุ่มสี่กุมารหลุดออกจากตำแหน่งผู้บริหารพรรคทั้งหมด ในขณะที่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคตกเป็นของพลเอกประวิตร โดยอนุชา นาคาศัย หนึ่งในสมาชิกสามมิตรได้ตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐด้วย
แม้ว่าท่าทีของกลุ่มสี่กุมารในตอนแรกจะยังยึดเก้าอี้รัฐมนตรีของตนเองไว้แน่น แต่สุดท้ายทั้งสี่คนพร้อมสมคิดก็ต้องยอมลาออกจากตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีไปอย่างเจ็บแค้น และทำให้เก้าอี้รัฐมนตรีที่ว่างลงก็ตกถูกเปลี่ยนมือไปเป็นรางวัลแก่กลุ่มสามมิตร โดยที่ สิระ เจนจาคะ ส.ส. ในสังกัดของกลุ่มสามมิตรเรียกว่าเป็นการ “คืนสมบัติที่เป็นของพรรค” อย่างไรก็ดี เส้นทางการเมืองของกลุ่มสี่กุมารก็ยังไม่จบลง แม้จะเคยประกาศเว้นวรรคทางการเมือง แต่ในวันที่ 19 มกราคม 2565 สนธิรัตน์จับมือกับอุตตมเปิดตัวพรรค “สร้างอนาคตไทย” โดยมี ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐสองคนคือ สุพล ฟองงาม และสันติ กีระนันทน์ ยอมลาออกจาก ส.ส. เพื่อมาร่วมงานกับพรรคใหม่ด้วย

พุฒิพงษ์-ณัฏฐพล-สกลธี สามทหารเสือ กปปส.

ศาลสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ส.ส. และรัฐมนตรีก่อนจะลาออกเองในเวลาต่อมา

หากให้กล่าวถึงตัวละครตัวหนึ่งที่นำไปสู่การรัฐประหารของ คสช. ก็คงหนีไม่พ้นคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่จัดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนเกิดการยึดอำนาจในที่สุด ภายหลังการประกาศการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 อดีตแกนนำ กปปส. ก็แยกออกกันเป็นหลายทาง ในขณะที่บางคนเลือกกลับพรรคประชาธิปัตย์ หรือไปร่วมกับสุเทพ เทือกสุบรรณที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย แต่อีกส่วนหนึ่งก็ตบเท้ากันเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ พร้อมประกาศตัวสนับสนุนประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป
หลังจากที่พรรคพลังประชารัฐได้เป็นรัฐบาล อดีตแกนนำ กปปส. สองคนก็ได้รับเลือกให้เป็นส.ส. บัญชีรายชื่อและรัฐมนตรี โดยณัฏฐพล ทีปสุวรรณได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะที่พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บทบาทที่สำคัญของสองรัฐมนตรีจาก กปปส. คือการรับมือกับการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาที่ปะทุขึ้นเมื่อปลายปี 2562 พุทธิพงษ์เป็นผู้ก่อตั้ง Anti-Fake News Center Thailand เพื่อเป็นปฏิบัติการข่าวสารตอบโต้กับผู้ชุมนุม พร้อมทั้งไล่ฟ้องผู้เห็นต่างทางการเมืองที่แสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ ส่วนณัฏฐพลนั้นก็ต้องเผชิญโดยตรงกับการชุมนุมของนักเรียนมัธยม โดยเฉพาะกลุ่ม “นักเรียนเลว” ที่เรียกร้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ขณะที่ สกลธี ภัททิยกุล รับตำแหน่งเป็นรองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วทั้งพุฒิพงษ์และณัฏฐพลก็ต้องหลุดออกจากตำแหน่ง เมื่อศาลอาญามีคำพิพากษาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ให้จำคุกอดีตแกนนำ กปปส. จากกรณีการปิดศูนย์ราชการและขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อปี 2556 ทำให้ต้องสิ้นสภาพการเป็นรัฐมนตรี ตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แต่ไม่นานหลังจากคำพิพากษาทั้งคู่ก็ยื่นลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต่อมา สกลธี ก็ยื่นลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐตาม เท่ากับเป็นอันปิดฉากบทบาทของอดีตแกนนำกปปส. ในพรรคพลังประชารัฐอย่างสมบูรณ์

องครักษ์พิทักษ์ประยุทธ์ สิระ-ปารีณา

ศาลมีคำสั่งให้ปารีณาถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สิระพ้นสภาพการเป็น ส.ส.

ชื่อของปารีณา ไกรคุปต์ และสิระ เจนจาคะ อาจจะเป็นที่คุ้นหูตามหน้าข่าวเพราะบทบาทในสภา เพราะทั้งคู่เป็นหนึ่งใน “องครักษ์พิทักษ์ประยุทธ์” ที่พรรคพลังประชารัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อปกป้องนายกรัฐมนตรีจากการโจมตีของฝ่ายค้านในสภา โดยเฉพาะในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มักจะเห็น ส.ส. ทั้งสองคนลุกขึ้นประท้วงหรือขัดขวางการอภิปรายอยู่เสมอ ปารีณาและสิระจึงถือเป็น “ขุนพล” คนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐที่คอยเป็นหัวหอกในการรังสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อท้าทายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลอยู่เสมอ
ส.ส. เขตหลายสมัยจากจังหวัดราชบุรี เป็นลูกสาวของทวี ไกรคุปต์ อดีตรัฐมนตรีและเคยลงสมัครเป็นผู้แทนเขตมาแล้วกับหลายพรรค ตั้งแต่ไทยรักไทย ชาติไทยพัฒนา จนได้รับเลือกตั้งกับพลังประชารัฐในปี 2562 ปารีณาเป็นที่รู้จักจากการวิพากษ์วิจารณ์ผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง และการใช้วาจาเชือดเฉือนจนเป็นที่จดจำของสังคม เช่น ลีลาการประท้วงในสภา การกล่าวหาว่าเหตุการณ์ทำร้ายจ่านิว-สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และการยิงตัวเองของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ เป็นการจัดฉากเพื่อสร้างกระแสใส่ร้ายรัฐบาล รวมไปถึงการไปออกรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ เพื่อปกป้องประยุทธ์อย่างแข็งขัน ด้วยแนวทางที่ “เฉพาะตัวหาใครเหมือน” เช่นนี้ทำให้ปารีณาอยู่ในความสนใจของสังคมอย่างต่อเนื่อง
ในด้านของสิระ เจนจาคะก็มีชื่ออยู่ในหน้าข่าวด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างจากปารีณามากนัก ส.ส. สมัยแรกจากกรุงเทพฯ มีบทบาทในการโจมตีทั้งบุคคลภายในพรรคพลังประชารัฐเองและบุคคลนอกพรรค สิระตกเป็นข่าวครั้งแรก ๆ จากเหตุการณ์ที่ไปต่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดภูเก็ต ต่อมาก็มีการปะทะคารมอย่างต่อเนื่องกับเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย จนถึงขั้นที่สิระประกาศว่าจะ “ไม่เผาผี” กันอีก นอกจากจะสู้กับฝ่ายตรงข้ามนอกพรรคแล้ว สิระยังเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มก๊วนในพรรคพลังประชารัฐ โดยเมื่อกลุ่มสามมิตรมีปัญหาจะชิงเก้าอี้รัฐมนตรีจากสี่กุมาร สิระก็มักจะเป็นผู้ออกมาวิจารณ์สี่กุมารด้วย
ฉากสุดท้ายของบทบาทในฐานะ ส.ส. ขององครักษ์ทั้งสองคนต้องจบลงด้วยกระบวนการยุติธรรม โดยปารีณาเป็นคนแรกที่ถูกตัดสินให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ในเดือนมีนาคม 2564 จากกรณีการครองครองพื้นที่ป่าสงวนกว่า 711 ไร่ในจังหวัดราชบุรี ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยที่ก่อนหน้าคำพิพากษาไม่นาน ก็มีข่าวว่าปารีณาไม่พอใจธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ไม่ช่วยเหลือคดีความของตนเอง ทั้งที่ “เชื่อใจและปฏิบัติตาม” มาโดยตลอด ในขณะที่สิระถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ในเดือนธันวาคม 2564 เนื่องจากขาดคุณสมบัติจากการเคยถูกจำคุกด้วยคดีฉ้อโกง โดยผู้ที่ยื่นร้องเรียนเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจาก “คู่ปรับ” ของสิระอย่างเสรีพิศุทธ์

วิรัช รัตนเศรษฐ และเครือญาติ

ศาลมีคำสั่งให้ส.ส. ครอบครัวรัตนเศรษฐสามคนได้แก่ วิรัช ทัศนียา และทัศนาพร หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

ในฐานะประธานวิปรัฐบาล วิรัช รัตนเศรษฐ ถือว่าเป็นขุนพลข้างกายคนหนึ่งของประวิตร วงศ์สุวรรณ นายใหญ่แห่งบ้านป่ารอยต่อ ท่ามกลางพรรคร่วมรัฐบาลที่มีจำนวนเยอะเป็นประวัติศาสตร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อจากจังหวัดนครราชสีมาก็คอยทำหน้าประสานงานพรรคน้อยใหญ่ต่าง ๆ มากมายในรัฐบาลประยุทธ์ แถมยังมีความสนิทสนมกับธรรมนัส พรหมเผ่า อีกหนึ่งขั้วอำนาจสำคัญในพรรคพลังประชารัฐอีกด้วย
ตระกูลรัตนเศรษฐเป็นกลุ่มอำนาจสำคัญในโคราช โดยมีส.ส. ที่ส่วนใหญ่ก็คือคนในครอบครัวอยู่ในมือหลายคน ก่อนที่จะมาเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ วิรัชเคยพเนจรไปอยู่หลายพรรค และเคยได้รับเลือกเป็นส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยในปี 2554 ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 วิรัชพร้อมทั้งครอบครัวย้ายไปอยู่พรรคพลังประชารัฐและได้รับเลือกให้เป็นส.ส. อีกครั้ง โดยนอกจากตนเองจะได้ความไว้วางใจให้เป็นวิปรัฐบาลแล้ว วิรัชยังสามารถส่งลูกชายของตนเอง อธิรัฐ รัตนเศรษฐ ให้เป็นถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้สำเร็จ
วิรัชถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “แผนลับ” ที่มีธรรมนัสเป็นหัวหอกในการเอาประยุทธ์ออกจากเก้าอี้นายก แม้ว่าจะไม่ได้เป็นโต้โผในการนับหัวส.ส. ให้มาโหวตไม่ไว้วางใจประยุทธ์ แต่ในฐานะวิปรัฐบาลและคนสนิทของธรรมนัส วิรัชก็หนีไม่พ้นความรับผิดชอบไปได้
ท้ายที่สุด หลังจากการ “เชือด” ธรรมนัสออกจากครม. เพราะแผนล้มประยุทธ์ไม่ประสบความสำเร็จ วิรัชพร้อมด้วยสองส.ส. เขตโคราช ทัศนียา รัตนเศรษฐ ภรรยา และทัศนาพร เกษเมธีการุณ น้องสาวของทัศนียา ก็ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส. ในเดือนพฤศจิกายน 2564 จากกรณีการถูกกล่าวหาว่าทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างสร้างสนามฟุตซอลภายในจังหวัดนครราชสีมาในปี 2555 ในสมัยที่ยังอยู่กับพรรคเพื่อไทย

กลุ่มสามมิตร

อนาคตทางการเมืองในพลังประชารัฐยังไม่แน่นอน

กลุ่มสามมิตรเป็นอีกหนึ่งก๊กสำคัญในพรรคพลังประชารัฐ ประกอบไปด้วยอดีตสามแกนนำพรรคไทยรักไทย ได้แก่ สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ โดยมีจุดตั้งต้นมาจากกลุ่มวังน้ำยมซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการส่งให้พรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล
หลังจากการประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตั้งแต่การรัฐประหาร กลุ่มสามมิตรก็เดินสายติดต่ออดีต ส.ส. ในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เคยสังกัดพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน เรื่อยมาจนถึงพรรคไทยรักไทย ก่อนจะตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐพร้อมกับนักการเมืองในมืออีกหลายสิบคนที่จะกลายมาเป็นผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคในเวลาต่อมา
กลุ่มสามมิตรถือได้ว่าเป็นก๊กใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองมากในพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากมีสายสัมพันธ์อันดีกับ ส.ส. ในพื้นที่หลายคนที่กลุ่มสามารถไป “ดูด” มาได้ ดังนั้น เมื่อกลุ่มสามมิตรไม่พอใจกลุ่มสี่กุมารอันเนื่องมาจากการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีอย่างไม่เป็นไปตามสัดส่วนของ ส.ส. ในมือ โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่เป็นที่หมายปองของกลุ่มมานาน กลุ่มสามมิตรจึงเป็นหัวหอกในการยึดอำนาจพรรคจากสี่กุมาร รวมถึงถีบหัวส่งสมคิดที่เคยเป็นมิตรสหายร่วมรบกันมาออกจากพรรคไปได้สำเร็จ
หลังจากสามารถเผด็จศึกกลุ่มสี่กุมารได้สำเร็จ กลุ่มสามมิตรก็ต้องเจอกับศัตรูตัวใหม่ในคราบของอดีตมิตรสหายที่เคยร่วมมือกันเพื่อจัดการกับสี่กุมาร ภายหลังจากที่ตัวแทนจากสามมิตรอย่างอนุชา นาคาศัยได้รับรางวัลตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐต่อจากกลุ่มสี่มารได้เพียงปีเศษ กลุ่มสามมิตรก็ต้องเจอกับ “ดาบนั้นคืนสนอง” เมื่อธรรมนัสเดินเกมล้มอนุชา โดยเริ่มจากการที่ประวิตรลาออกจากหัวหน้าพรรคในการะประชุมใหญ่ของพรรคในเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อให้มีการเลือกกรรมการบริหารพรรคใหม่ แม้ประวิตรยังคงได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคเหมือนเดิม แต่ไฮไลท์อยู่ที่การชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรค โดยไพบูลย์ นิติตะวันได้เสนอชื่อธรรมนัสเป็นเลขาธิการคนใหม่แข่งกับอนุชา จนในที่สุดอนุชาก็ตัดสินใจถอนตัวทำให้ธรรมนัสได้ตำแหน่งไปครองพร้อมกับอำนาจที่มากขึ้นในพลังประชารัฐ
ความขัดแย้งระหว่างธรรมนัสและกลุ่มสามมิตรยังไม่จบลงเพียงแค่นั้น ธรรมนัสพยายามใช้อิทธิพลของตนเองในการรุกคืบเข้าหา ส.ส. ที่เคยอยู่ในมุ้งของกลุ่มสามมิตรให้ย้ายค่าย จนมีการคาดเดากันว่าจากที่สามมิตรเคยสามารถอ้างได้ว่ามี ส.ส. ในมืออย่างน้อย 35-40 คน เหลือเพียงไม่ถึง 20 คนเท่านั้น นอกจากนี้ มือขวาของประวิตรยังมีอิทธิพลอย่างมากในการทำ “โพล” เพื่ออ้างว่า ส.ส. บางส่วนไม่ได้รับความนิยมและต้องเปลี่ยนตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพลังประชารัฐ จากเดิมที่เคยเป็นคนของกลุ่มสามมิตรในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มาเป็นคนของตัวเองในการเลือกตั้งครั้งหน้า ทำให้กลุ่มสามมิตรต้องเปลี่ยนแท็คติกเป็นการนำคนของตัวเองไปลงสมัครในนามพรรคอื่นแทน
ความไม่พอใจเช่นนี้ทำให้กลุ่มสามมิตรเลือกที่จะยืนข้างประยุทธ์ จากเหตุการณ์ที่ธรรมนัสพยายามเอาหัวหน้ารัฐบาลออกจากตำแหน่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเริ่มจากการมีคำสั่งฟ้าฝ่าปลดธรรมนัสออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี หลังจากนั้นก็พยายามให้กรรมการบริหารพรรคลาออกเกินครึ่งเพื่อเลือกเลขาธิการพรรคใหม่ อย่างไรก็ตาม แผนการของกลุ่มสามมิตรกลับไม่ประสบความสำเร็จเหมือนครั้งที่ทำกับกลุ่มสี่กุมาร เมื่อประวิตรที่ยังอยากเก็บมือขวาของตนเองไว้ใช้งานออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยและขู่ที่จะ “ลาออก” ทำให้ความขัดแย้งในรอบนี้ก็จบลงเพียงเท่านั้น
ท่ามกลางพรรคพลังประชารัฐที่ดูเหมือนจะแตกออกเป็นสองขั้ว และความสัมพันธ์ของสาม ป. ร้าวฉาน กลุ่มสามมิตรก็ทำหน้าที่เป็นหัวคะแนนภายในพรรคให้กับ ประยุทธ์-อนุพงษ์ คอยหา ส.ส. เข้าก๊วนของตัวเองเพิ่มเพื่อต่อกรกับกลุ่มของธรรมนัสและประวิตร แถมยังมีข่าวลือว่ากลุ่มสามมิตรจะย้ายกลับไปซบพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า เป็นเหตุให้ทางกลุ่มต้องรีบออกมาปฏิเสธอย่างทันควัน
แต่หากสามมิตรเสียเปรียบธรรมนัสมากขึ้นเรื่อย ๆ อนาคตทางการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐก็อาจจะไม่แน่นอน

กลุ่มธรรมนัส

ธรรมนัส-นฤมล หลุดเก้าอี้รัฐมนตรี แต่ยังรักษาตำแหน่งในพรรคไว้ได้

ตามคำพูดของธรรมนัส พรหมเผ่า เขาคือ “เส้นเลือดใหญ่ เลี้ยงหัวใจรัฐบาล” หากสามารถล้มธรรมนัสได้ รัฐบาลก็จะล้มตามไปด้วย จากอดีตที่เคยร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ธรรมนัสย้ายข้ามฝั่งมาทำงานกับพรรคพลังประชารัฐก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 ส.ส. จากจังหวัดพะเยาเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างกว้างขวาง และได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างสูงจากประวิตรให้เป็นผู้ดูแลยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ
หลังการเลือกตั้ง ธรรมนัสได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจับมือกับอีกสามรัฐมนตรีอย่างนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน สันติ พร้อมพัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กลายเป็นกลุ่ม 4ช. เป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกับ “พี่ใหญ่” ประวิตรมากที่สุดในบรรดาก๊กเหล่าต่าง ๆ ในพรรคพลังประชารัฐ
ธรรมนัสมีบทบาทกับการเมืองในพรรคพลังประชารัฐอย่างสูง โดยเป็นส่วนสำคัญในการชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรคมาจากกลุ่มสามมิตร ช่วงชิงฐานทางการเมืองจากกลุ่มอื่น ๆ รวมถึงได้ความไว้วางใจให้เป็นแม่ทัพในการหาเสียงเลือกตั้งซ่อม ซึ่งพลังประชารัฐสามารถเอาชนะได้ในหลายสนาม ส่งผลต่อความเชื่อใจที่ประวิตรมีให้มือขวาของตนเองมากขึ้น
ความสำคัญของธรรมนัสในฐานะ “เส้นเลือดใหญ่” ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นของจริง มือขวาของประวิตรตกเป็นเป้าของการตรวจสอบอยู่หลายครั้ง ตั้งแต่มีการเปิดเผยว่าธรรมนัสเคยถูกปลดออกจากราชการ ตั้งคำถามถึงวุฒิการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงการถูกกล่าวหาว่าเคยค้ายาเสพติดและต้องติดคุกที่ประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นที่มาของวลีอันโด่งดัง “มันคือแป้ง” แต่ไม่ว่าจะมีเรื่องอื้อฉาวหรือการเปิดโปงกี่ครั้ง แต่ธรรมนัสก็ยังคงอยู่ยงคงกระพันเหนือเรื่องเหล่านั้นได้
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2564 ธรรมนัสได้สร้าง “แผ่นดินไหว” ทางการเมืองครั้งใหญ่ จากความพยายามรวบรวมเสียงจากทั้งในพรรคพลังประชารัฐและพรรคเล็กที่อยู่ในมือของตนเองในการล้มประยุทธ์คาสภา แต่แผนของ “ผู้กองธรรมนัส” กลับไม่ประสบความสำเร็จเมื่อสันติ พร้อมพัฒน์ หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม 4ช. ตัดสินใจแปรพักตร์ เลือกที่จะยืนเคียงข้างประยุทธ์แทน ควันหลงหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็คือการ “เช็คบิล” ธรรมนัสและพวกในฐานะผู้แพ้ ทันทีที่รู้ว่าประยุทธ์เซ็นคำสั่งปลดตัวเองและนฤมลจากเก้าอี้รัฐมนตรี ธรรมนัสก็ชิงประกาศลาออกเองก่อน พร้อมประกาศว่า “อยากกลับไปอยู่จุดเดิมของตน นั่นคือการเป็น ส.ส.เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน”
อย่างไรก็ตาม ธรรมนัสยังคงสามารถเกาะเลขาธิการพรรคไว้ได้ หลังจากที่ ส.ส. พะเยาพลาดพลั้งจากเกมการเมืองในสภา ศัตรูภายในพรรคก็รีบฉวยโอกาสเอาธรรมนัสออกจากเลขาธิการพรรค มีกระแสข่าวว่ากรรมการบริหารพรรคจะยื่นใบลาออกให้เกินครึ่งเพื่อให้มีการเลือกใหม่ แต่ศึกภายในครั้งนี้ก็ต้องจบลงด้วยบารมีของประวิตร เมื่อพี่ใหญ่แห่งป่ารอยต่อเรียกทุกฝ่ายเข้าร่วมประชุมเพื่อปรับความเข้าใจและขู่ว่าหากไม่คืนดีกันตนก็จะลาออก เหตุการณ์นี้เป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่าธรรมนัสคือ “เส้นเลือดใหญ่” ของจริง ถึงขนาดที่ประวิตรยอมหักกับประยุทธ์น้องรักเพื่อเก็บธรรมนัสไว้ใช้งานเลยทีเดียว

แต่ท้ายที่สุด ความขัดแย้งในพรรคก็บานปลายจนถึงจุดแตกหัก หลังจากที่พรรคพลังประชารัฐพ่ายแพ้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งซ่อมภาคใต้ ธรรมนัสซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่คุมการเลือกตั้งก็ถูกโจมตีทันที โดยมีไลน์หลุดปรากฏชื่อชองสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานผู้ประกาศตัวยืนข้างประยุทธ์ เสนอให้มีการทำโพลว่า “พรรค พปชร ตกต่ำเพราะว่าอะไร” และมีการเสริมว่าให้มีการชี้นำว่าต้นเหตุอยู่ที่ธรรมนัส เพื่อเป็นการตอบโต้ ในวันรุ่งขึ้น ส.ส. พรรคไทยรักธรรมภายใต้การดูแลของธรรมนัส ได้ยื่นขอให้นับองค์ประชุม ทำให้สภาล่ม หลังจากนั้นก็มีกระแสข่าวว่าธรรมนัสยื่นคำขาดกับพรรคพลังประชารัฐว่าขอให้มีการปรับครม. โดยขอตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มิเช่นนั้นจะนำส.ส. ในกลุ่มของตนเอง 20 คนออกจากพรรค

ข้อเสนอของธรรมนัสทำให้มีการเรียกประชุมพรรคด่วน โดยมีประวิตรนั่งหัวโต๊ะ ผลปรากฏว่าพรรคมีมติขับธรรมนัสพร้อมกับส.ส. อีก 20 คนพ้นพรรค ทำให้ก๊วนธรรมนัสมีเวลา 30 วันในการหาสังกัดใหม่แทนที่จะต้องเลือกตั้งใหม่ โดยมีการคาดเดากันว่าจะไปซบพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีพล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ เป็นหัวหน้าพรรค มีรายงานว่าในที่ประชุม ประวิตรกล่าวว่า “ยอมๆ ไปเถอะ ถ้าอยากออกก็ให้ออกไป จะได้สงบ พรรคจะได้เดินต่อ” ด้านไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งเป็นผู้แถลงข่าวในวันรุ่งขึ้นก็กล่าวถึงเหตุการณ์ขับธรรมนัสว่าเป็น “วิวัฒนาการ” ของพรรคพลังประชารัฐ