สภาปัดตกสองร่างพ.ร.บ. #ปลดอาวุธคสช ไม่รับข้อเสนอรื้อมรดกจากคณะรัฐประหาร

15 ธันวาคม 2564 สภาผู้แทนราษฎรมีนัดลงมติรับหลักการร่างกฎหมายสองฉบับที่มีเนื้อหาเสนอยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ถึงสองฉบับ ได้แก่

1) ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. …. หรือเรียกสั้นๆ ว่า ร่างพ.ร.บ. #ปลดอาวุธคสช ที่ประชาชน 13,409 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอเพื่อให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. รวม 35 ฉบับ ที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย
2) ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เสนอโดยส.ส.พรรคอนาคตใหม่ (ในขณะนั้น)
การพิจารณาเพื่อลงมติร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ เป็นการพิจารณาต่อจากวันที่ 8 ธันวาคม 2564 สืบเนื่องจากร่างกฎหมายทั้งสองฉบับมีเนื้อหาเป็นไปในทำนองเดียวกัน จึงใช้วิธีพิจารณาควบคู่กันไป แต่จะลงมติแยกเป็นรายฉบับ เนื่องจากประกาศหรือคำสั่งคสช. ที่เสนอให้ยกเลิกนั้นมีความแตกต่างกันบางฉบับ ทั้งนี้ ในวันที่ 8 ธันวาคม 2564 สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถพิจารณาลงมติรับหลักการให้แล้วเสร็จได้วันเดียวได้ จึงต้องยกยอดมาพิจารณาลงมติในวันที่ 15 ธันวาคม 2564
โดยสภาผู้แทนราษฎร มีมติ “ไม่รับหลักการ” ร่างพ.ร.บ. #ปลดอาวุธคสช. จากภาคประชาชน ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 162 เสียง ไม่เห็นด้วย 234 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง และมีมติ “ไม่รับหลักการ” ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช. จากพรรคอนาคตใหม่ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 156 เสียง ไม่เห็นด้วย 229 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง กล่าวได้ว่าสภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอ #รื้อมรดกคสช จากภาคประชาชนและจากส.ส.
ทั้งนี้ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 8 ธันวาคม 2564 มีส.ส. จากพรรคร่วมรัฐบาลที่อภิปรายร่างกฎหมายทั้งสองฉบับเพียงหนึ่งราย คือ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย จากพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากสาทิตย์แล้ว ไม่มีส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลรายใดที่อภิปรายร่างกฎหมายสองฉบับดังกล่าว และจากทีท่าของสาทิตย์ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเขาจะรับหลักการร่างกฎหมายนี้หรือไม่ ขณะที่ส.ส.ผู้อภิปรายที่เหลือ 14 คน เป็นส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ซึ่งอภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายทั้งสองฉบับและแสดงความเห็นว่าควรรับหลักการ
จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า เมื่อถึงคราวที่ต้องพิจารณาร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลายกลับไม่อภิปรายแสดงเหตุและผลว่าทำไมถึงไม่ควรรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว แต่กลับเลือกที่จะโหวต “ปัดตก” ร่างกฎหมายที่ประชาชนที่ส่วนร่วมในการเสนอ ไม่นำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในลำดับถัดไปว่าบรรดาประกาศและคำสั่งคสช. ที่ออกโดยมีสถานะเป็น “กฎหมาย” นั้น ควรจะถูกทบทวนเพื่อยกเลิกโดยสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นผู้แทนปวงชนหรือไม่
ประชาชนที่ติดตาม #ประชุมสภา รวมไปถึงประชาชนที่มีส่วนร่วมในการลงชื่อเสนอร่างกฎหมาย #ปลดอาวุธคสช จึงไม่มีโอกาสให้ทำความเข้าใจถึงเหตุผลของผู้แทนประชาชนว่าเพราะเหตุใดสภาผู้แทนราษฎรถึงเลือกที่จะไม่ทบทวนเพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช.
การที่สภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจปัดตกข้อเสนอทั้งของประชาชนและจากส.ส. ทำให้ประกาศและคำสั่งคสช. ที่มีสถานะเป็นกฎหมายและยังไม่ถูกยกเลิก จะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปได้ภายใต้ระบบกฎหมายที่เป็นอยู่ เว้นเสียแต่ว่าในอนาคตจะมีการเสนอยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช. อีกครั้ง และสภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจรับหลักการเพื่อนำไปสู่การพิจารณา #รื้อมรดกคสช.
การที่สภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจปัดตกข้อเสนอทั้งของประชาชนและจากส.ส. ทำให้ประกาศและคำสั่งคสช. ที่มีสถานะเป็นกฎหมายและยังไม่ถูกยกเลิก จะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปได้ภายใต้ระบบกฎหมายที่เป็นอยู่ เว้นเสียแต่ว่าในอนาคตจะมีการเสนอยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช. อีกครั้ง และสภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจรับหลักการเพื่อนำไปสู่การพิจารณา #รื้อมรดกคสช