ส.ส. ฝ่ายค้านประสานเสียง หนุนร่างพ.ร.บ. #ปลดอาวุธคสช

8 ธันวาคม 2564 สภาผู้แทนราษฎรมีนัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย หรือเรียกสั้นๆ ว่า ร่างพ.ร.บ. #ปลดอาวุธคสช ซึ่งเสนอโดยประชาชนเข้าชื่อกัน 13,409 คน เพื่อให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. รวม 35 ฉบับ ที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่เสนอโดยส.ส.อนาคตใหม่ (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่มีหลักการทำนองเดียวกัน โดยพิจารณาพร้อมกัน แต่จะลงมติรับหลักการแยกฉบับกัน โดยลงมติในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งหน้า (วันพุธที่ 15 ธันวาคม 2564)
โดยส.ส. ส่วนใหญ่ที่อภิปรายร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ เป็นส.ส. จากพรรคฝ่ายค้าน ได้แก่ ส.ส. จากพรรคก้าวไกล 14 คน พรรคเพื่อไทยหกคน พรรคเสรีรวมไทยหนึ่งคน และพรรคประชาชาติสองคน โดยมีส.ส. จากพรรคร่วมรัฐบาลเพียงหนึ่งคนเท่านั้นที่อภิปรายร่างกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว คือ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย จากพรรคประชาธิปัตย์
โดยสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. ประชาธิปัตย์ ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลเพียงหนึ่งเดียวที่อภิปรายร่างพ.ร.บ. #ปลดอาวุธคสช ระบุว่า ก่อนหน้านี้ส.ส. เคยเสนอญัตติเพื่อตั้งกมธ.ศึกษาประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหาร ซึ่งส.ส. แต่ละคนก็มีความเห็นแตกต่างกัน แต่ก็ไม่ควรเหมารวมความคิดเห็นของบุุคคล ในความเห็นของสาทิตย์ เขามองว่าประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหาร ที่ไม่เกี่ยวกับการควบคุมสถานการณ์ หรือเรื่องที่ผ่านไปนานแล้ว ก็ควรจะถูกยกเลิกไป
ด้านส.ส. จากพรรคฝ่ายค้านนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า คำสั่งคสช. 4/2559 และ 9/2559 ที่ยกเว้นผังเมืองให้กับโรงไฟฟ้าขยะ เป็นเหมือนประตูวิเศษที่ให้เดินหน้าสร้างโรงงานขยะก่อนทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ได้ สิ่งแวดล้อมไทยถึงได้เละจนถึงทุกวันนี้ 
ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ต้องใช้ขยะถึง 2,000 ตันในการทำไฟฟ้า ไม่ใช่ว่าจะเอาขยะที่ไหนมาก็ได้ เต่เป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพ ทว่าขยะในไทยที่ไม่มีการแยกนั้นไม่มีคุณภาพมากพอในการนำมาเผาได้ แล้วโรงไฟฟ้าใน EEC จะตอบโจทย์เรื่องการจัดการขยะได้อย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่ตามมาก็คือการนำเข้าขยะมาเผา โดยใช้ข้ออ้างว่าภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องนำเข้าขยะเป็นข้ออ้าง จะเห็นได้ว่าคำสั่งของคสช. นั้นสร้างผลกระทบไปถึงสิ่งแวดล้อมจนถึงปัจจุบัน
ผู้ว่าจ้างทำ EIA เป็นเจ้านายของผู้รับจ้างทำ EIA เช่นนี้แล้วบริษัทที่รับทำจะทำรายงานบอกว่าเจ้าของโรงงานไม่ผ่าน EIA คำสั่งคสช. นี้ก็ยิ่งมาตอกย้ำการทำ EIA ที่แย่นี้เข้าไปอีก เพราะฉะนั้นร่างกฎหมายสองฉบับ ที่สภาพิจารณาในวันนี้เป็นการทวงคืนสิ่งแวดล้อมอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน
ด้านสมคิด เชื้อคง ส.ส. เพื่อไทย อภิปรายว่า ไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะปฏิเสธกฎหมายสองฉบับนี้ ผู้ที่รับผลกระทบจากคำสั่งนั้นเยอะเหลือเกิน สมคิดระบุว่า ตนเองก็ได้รับการเชิญไปค่ายทหาร 3 ครั้ง พูดเรื่องการขายข้าวก็โดนเรียกเข้าค่ายทหาร แต่สิ่งที่กระทบมากเหลือเกินคือพี่น้องประชาชนชาวไร่ชาวนา สมคิดเล่าว่า ช่วงนั้นรัฐบาลดำเนินโครงการจำนำข้าว ไม่ว่าจะถูกหรือผิด สิ่งที่ผิดเลยคือโครงการนี้ถูกยกเลิกโดยคสช. 
คำสั่งที่เห็นแล้วช้ำใจจนถึงทุกวันนี้คือคำสั่งให้ DSI และทหารไปล้อมวัดพระธรรมกาย ใช้กำลังสี่ห้าพันคนแล้วก็ไม่ได้อะไร ขอวิงวอนไปเพื่อนสมาชิกสภาว่ามาล้างมรดกและมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ บางท่านก็ได้รับผลกระทบโดยตรง ถูกเอาถุงดำครอบและปิดตาย ขอร้องว่าให้รับหลักการร่างกฎหมายนี้
ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า มรดกอำนาจของคสช. ยังคงอยู่ต่อไป รัฐธรรมนูญ มาตรา 279 กำหนดให้ประกาศของคสช. คงอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการออกพระราชบัญญัติมายกเลิก 
คสช. เคยบอกว่ามีการยกเลิกคำสั่งไปบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ได้บอกชัดเจนว่าคำสั่งไหนยกเลิกและคำสั่งไหนยังอยู่ แต่คำสั่งที่ยังอยู่ในปัจจุบันนั้นมีสองลักษณะ อย่างแรกเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพ การทำลายกระบวนการยุติธรรม ทำลายหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน อย่างที่สองเกี่ยวกับโครงสร้างในการบริหารประเทศและการแก้ไขปัญหา 29/2557 ให้คนมารายงานตัวต่อคสช. และคำสั่ง 41/2557 ที่ให้การฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวเป็นความผิด ยกตัวอย่างเช่นกรณีของจาตุรนต์ ฉายแสง ถูกจับคุมตัวไปค่ายทหารและถูกส่งไปเรือนจำต่อ จากนั้นก็ถูกดำเนินคดี ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ รวมถึงถูกริบหนังสือเดินทาง
ทัศนีย์กล่าวว่า ตนเองก็ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของคสช. ด้วย เพียงแค่แสดงความคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถูกนำไปเข้าค่ายทหาร 7 วัน มีการปิดตามัดมือเพื่อข่มขู่ให้เกิดความกลัว หลังจากนั้นก็ตั้งข้อหาอีก 4 ข้อหาและต้องไปอยู่ในเรือนจำอีก 21 วันถึงจะได้ประกันตัว ข้อหานั้นก็รุนแรง ไม่ว่าจะ มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ. ประชามติ แต่สิ่งที่รับไม่ได้เลยคือข้อหาอั้งยี่และซ่องโจร ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่อาจจะเจอรุนแรงกว่าตน มีการเอาประชาชนพลเรือนไปขึ้นศาลทหาร บางคนต้องเสียอนาคตหน้าที่การงานไป บางคดีก็ยังไม่จบจนถึงทุกวันนี้ ดิฉันขอให้เรามาร่วมกันยกเลิกคำสั่งของคสช. ไม่ให้อยู่กับเราและลูกหลานเราต่อไป วิงวอนให้ส.ส. มาร่วมลงมติรับหลักการร่างกฎหมาย เพื่อคืนความปกติให้กับพี่น้องประชาชน ขอคืนความเป็นคนให้กับประชาชนเท่านั้น ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนช่วยกันจับตาดูว่าส.ส. ของตนเองเห็นด้วยหรือไม่ ให้เป็นส.ส. ของประชาชน ไม่ใช่เป็นฐานอำนาจให้กับใครบางคนเท่านั้น
ซูการ์โน มะทา ส.ส. พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ในชีวิตทางการเมืองเจอรัฐประหารสองครั้ง ปี 2557 ก็ชนะการเลือกตั้งแต่ไม่ได้เป็นผู้แทนเพราะมีรัฐประหารเสียก่อน รัฐประหารเป็นศัตรูของประชาธิปไตยและวันนี้ยังมีมรดกหลงเหลืออยู่ เหตุผลที่สนับสนุนญัตตินี้เพราะคำสั่งคสช. ทำให้การกระจายอำนาจต้องหยุดชะงัก อำนาจการตัดสินใจเลือกผู้บริหารท้องถิ่นบางที่ต้องหยุดถึง 8-10 ปี ยังมีองค์กรรูปแบบพิเศษกรุงเทพและพัทยาที่ยังไม่ได้เลือกตั้งเพราะคำสั่งของหัวหน้าคสช. แต่งตั้งบุคคลภายนอกที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเป็นผู้ว่ากทม. ปลดสมาชิกสภากทม. ออกจากตำแหน่ง ตั้งข้าราชการเป็นตัวแทนของรัฐบาลเข้าไปในกทม.
สิ่งที่เกิดขึ้นจากหลายคำสั่งนั้นก็หวังผลทางการเมือง ก่อนการเลือกตั้งปี 62 มีการออกคำสั่งให้ผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นต้องออกจากตำแหน่ง และมีการต่อรองให้เข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาลแล้วจะได้กลับมาอยู่ในตำแหน่ง ผมหวังว่าเพื่อนสมาชิกจะเห็นด้วยกับญัตตินี้เพื่อยกเลิกคำสั่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
เบนจา แสงจันทร์ ส.ส. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การรัฐประหารเป็นการทำลายการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ทำลายการเมืองภาคประชาชน ทำลายประชาธิปไตยทางตรง ด้วยการออกคำสั่งที่มีสถานะเป็นกฎหมายกดขี่พี่น้องประชาชน คนตัวเล็กตัวน้อยของสังคมนี้
ภายหลังจากการรัฐประหาร คสช. อ้างตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 44 ออกประกาศและคำสั่งคสช. กว่า 500 ฉบับภายในช่วงห้าปี แม้คสช. จะหมดอำนาจไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 279 ก็ยังรับรองให้ประกาศ/คำสั่งคสช. ยังคงอยู่ต่อไป
ถึงแม้จะมีการยกเลิกหรือแก้ไขประกาศและคำสั่งคสช. บางฉบับ แต่ก็เป็นการยกเลิกในทางเทคนิค เพราะเนื้อหาและอำนาจต่างๆ ถูกแปรรูปเป็นกฎหมายและนโยบาย ซึ่งยังกระทบกับประชาชนถึงปัจจุบัน
หลังรัฐประหาร คสช. พยายามผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และโครงการเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศ นับเป็นเวลาห้าปีแห่งความเจ็บปวดของคนภาคตะวันออก ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ยกเว้นกฎหมายผังเมืองที่ปล่อยให้กลุ่มทุนบางกลุ่มไล่บีบ ไล่ยึด และกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านราคาถูก นำไปขายให้นายทุน กอบโกยผลประโยชน์บนคราบน้ำตาของประชาชน 
เบญจากล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีคำสั่งคสช. ที่ให้ยึดที่ดินชาวบ้าน เวนคืนที่ดิน ทวงคืนผืนป่าให้กองทัพใช้ประโยชน์ ให้อำนาจรัฐจับมือกับนายทุนและยึดครองที่ดินอย่างเป็นระบบ ทำให้เห็นนายทุนแค่ไม่มีกลุ่มที่ถือครองที่ดินในเขต EEC กลุ่มนายทุนเหล่านั้นได้สิทธิพิเศษจากคำสั่งคสช.
เบญจาระบุว่า นี่คือผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ในสมัยคสช. และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ที่ทำให้กลุ่มทุนเสียงดังกว่าพี่น้องประชาชนหลายสิบล้านคนในประเทศ อีกทั้งนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ ที่เป็นผลมาจากรัฐบาลคสช. ซึ่งมีซากเดนจากประกาศ/คำสั่งคสช. ยังส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำของสังคมขยายขึ้น รวยกระจุกจนกระจาย นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลไม่ได้กระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงต่อพี่น้องประชาชนเลย อยากฝากเพื่อนส.ส. อย่านิ่งดูดายและตรวจสอบและ #รื้อมรดกคสช