ถอดเสวนา “รวมพลังประชาชน-รื้อมรดกคสช.”

30 พฤศจิกายน 2564 ไอลอว์และเครือข่ายภาคประชาชนร่วมกันจัดกิจกรรม "รวมพลังประชาชน-รื้อมรดก คสช." ที่สนามหน้ารัฐสภา เพื่อนำเสนอปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการบังคับใช้ประกาศและคำสั่ง คสช. รวมทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. ในโอกาสที่ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ…. (ฉบับประชาชน) จะถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 8 ธันวาคม 2564 โดยในการประชุมดังกล่าวสภาผู้แทนราษฎรจะลงมติด้วยว่าจะรับหลักการของร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่
สำหรับกิจกรรมในวันนี้มีวงเสวนาของผู้ที่เคยได้รับผลกระทบหรือทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องจากประกาศคำสั่งต่างๆ ได้แก่ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีที่เคยถูก คสช.เรียกรายงานตัวในค่ายทหารและถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส. จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่เคยถูกทหารจับกุมตัวและดำเนินคดีในศาลทหารช่วงการออกเสียงประชามติปี 2559 อรนุช ผลภิญโญ กรรมการบริหารเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. และ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งติดตามผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 4/2559 ที่ยกเว้นผังเมืองให้กับกิจการบางประเภทในพื้นที่ภาคตะวันออกและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
จาตุรนต์ ฉายแสง: ยัดคดีความมั่นคงเพราะต้องการให้ขึ้นศาลทหาร
"ตั้งแต่เขายึดอำนาจ วันแรกๆ เขาให้คนที่มีชื่อต่อไปนี้ไปรายงานตัว ในชุดแรกก็มีชื่อของผมอยู่ ผมก็ไม่ได้ไปจนหมดเวลาไปแล้ว ผมก็ไม่ได้ไป เพราะมีความรู้สึกว่าไม่คุ้น ไม่เคยไปรายงานตัวมาก่อน และเรารู้สึกติดใจอยู่ว่า การยึดอำนาจเป็นสิ่งที่ไม่ถูก มันยังไม่สำเร็จสมบูรณ์ เพราะอย่างน้อยก็มีรัฐมนตรีบางคนไม่เห็นด้วย ก็ตัดสินใจไม่ไปรายงานตัว"
"วันต่อมาเขาก็ออกประกาศออกมาอีกฉบับหนึ่ง กำหนดว่า บุคคลที่ไม่ไปรายงานตัวตามรายชื่อนั้นจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี คราวนี้ มันก็เจอปัญหาแล้วว่า ถ้าผมหลบไปเรื่อยๆ มันก็ต้องลงใต้ดิน ผมเคยลงมาแล้วและไม่ต้องการจะลงอีก จะไปต่างประเทศก็ไม่รู้จะไปทำอะไรเหมือนกัน ก็คงไปให้เขาจับที่ไหนสักอย่าง ที่ไม่ใช่การรายงานตัว เพราะเราต้้งใจไม่ไปรายงานตัว"
"ระหว่างนั้น เขาก็ออกคำสั่งคสช. ระงับธุรกรรมการเงินผม พร้อมกับคุณจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ ห้ามเบิกถอนเงินธนาคาร ห้ามซื้อประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ อะไรทุกอย่างที่เกี่ยวกับธนาคารและสถาบันการเงินก็ห้าม ซึ่งก็มีผลต่อผมอีกเป็นเวลา 5 ปี ทำให้ผมลืมวิธีใช้บัตรเอทีเอ็มไปแล้ว บางทีก็ใช้สลับกับบัตรบีทีเอส แล้วก็ประกันสุขภาพก็ยังทำไม่ได้มาจนถึงวันนี้ พออายุเยอะขึ้นมันก็ทำยาก"
"ผมคิดว่าหลบอยู่เรื่อยไปก็คงไม่ได้ จะไปรายงานตัวก็ไม่ได้ ก็ต้องหาทางให้เขามาจับ วิธีการที่ให้เขามาจับก็คิดได้ว่า เราเคยไปที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เจอทูต เจอนักข่าวเยอะแยะ ก็ลองดู ก็ลองประสานไป ปรากฎว่า (ทหาร)เขาก็สวนทางไปค้นบ้านผมที่ฉะเชิงเทรา แต่ผมมาปรากฎตัวอยู่ที่กรุงเทพ ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ผมก็บอกกับคนจัดงานว่า ผมพูดเสร็จไม่ต้องกลัว ไม่ต้องแตกตื่นอะไร เขาคงมาจับผมแน่ ผมจะให้เขาจับ และเขาก็มาจับจริงๆ"
"พอทหารมาจับแล้วเขาก็พาตัวไปโรงพัก เขาก็ไปซื้อยาสีฟัน แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัวไว้ให้เสร็จ บอกว่าคืนนี้ให้นอนที่นี้ พรุ่งนี้จะไปส่ง ตั้งข้อหาดำเนินคดี แต่ปรากฎว่า นายทหารของคสช. มาร่วมอยู่ด้วย เขาก็เอาเอกสารเกี่ยวกับกฎหมายมาให้ดู บอกว่า คดีของท่าน ไม่มารายงานตัว เรื่องมันเกิดก่อนประกาศขึ้นศาลทหาร เพราะฉะนั้นท่านก็ขึ้นศาลทหารไม่ได้ แต่ผู้บังคับบัญชาต้องการให้ท่านขึ้นศาลทหาร ไม่ใช่ขึ้นศาลยุติธรรมปกติ เพราะฉะนั้นต้องตั้งข้อหาเพิ่ม ซึ่งก็คือ 116 เพราะฉะนั้นคืนนี้ไม่ต้องนอนโรงพัก เอาตัวไปค่ายทหารก่อน แล้ววันรุ่งขึ้นค่อยตั้งข้อหาเพิ่ม เพื่อจะได้ส่งไปศาลทหาร"
"เขาเอาตัวผมไปค่ายทหารที่ไหนไม่รู้ ปิดตา คลุมหัวไป วันรุ่งขึ้นก็เอามาที่กองปราบฯ ตั้งข้อหาเพิ่ม มาตรา 116 แล้วก็เอาตัวผมไปศาลทหาร เราขอประกันตัวก็ไม่ให้ คัดค้านการฝากขังก็ไม่ฟัง ก็ส่งเข้าเรือนจำคืนนั้น อีกสองสามวันต่อมาก็เข้าไปแจ้งข้อหาเพิ่มเติม คือ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมกันเป็น 3 ข้อหา"
"วันที่ศาลทหารสั่งขังและไม่ให้ประกันตัวผม เป็นวันที่ศาลทหารไม่มีอำนาจสั่งขังผมเลย แต่มันก็เกิดขึ้น เพราะทนายเราคิดแต่จะไปประกันตัว ก็ไม่ได้ดูกฎหมายให้ชัดเจน คือเรื่องนี้ทำให้เห็นว่า น้องๆ ที่ต้องสู้คดีอยู่กันเยอะแยะ เป็นพันคดี คดีความมั่นคง เวลาไม่มีทนายลำบาก เขาลำบากกันมาก"
"จริงๆ แล้วคำสั่งให้คดีขึ้นศาลทหารที่ใช้กับผม มันมีข้อความตอนท้ายว่า ยกเว้น พื้นที่ที่ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่ประกาศใช้ก่อนหน้านี้ เจตนาคือ ไม่ต้องการใช้กฎอัยการศึกและศาลทหารกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แต่บังเอิญ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไว้ ยังไม่ยกเลิก เพราะฉะนั้น พื้นที่กรุงเทพฯ จึงเป็นพื้นที่ที่ยกเว้นคำสั่งที่ให้ขึ้นศาลทหาร"
"ผมก็สู้ในศาลทหารไป 5 ปีกว่า เขาก็โอนมาศาลลยุติธรรมก่อนการเลือกตั้ง และก่อนการเลือกตั้งถึงยกเลิกการระงับธุรกรรมทางการเงินของผม ส่วนคดีของผมที่อยู่ในศาล เป็นศาลเดียว ถ้าแพ้ก็ติดคุกเลย ไม่มีอุทธรณ์ ฎีกา เป็นความเลวร้ายของคสช. ที่ให้คดีไปขึ้นศาลทหาร นอกจากนั้น ก็มีที่ผมจะไปต่างประเทศ พอวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ ที เราจะไปขึ้นเครื่องอยู่แล้ว เขาก็จะแจ้งมาว่า ไม่อนุญาต หรือเราจะไปต่างประเทศ รัฐบาลต่างประเทศเชิญมา ผมเกิดวิจารณ์รัฐธรรมนูญ จะไปขึ้นเครื่องอีกเหมือนกัน เขาก็โทรศัพท์มาว่า คสช. ไม่อนุญาตให้ไป คือ เขาจะไม่บอกก่อน จนเราซื้อตั๋ว จองที่พักอะไรเสร็จหมดแล้ว เขาค่อยมาบอกว่าไม่อนุญาตให้ไป"
"พอโดนแบบนี้มาสองครั้ง ผมก็ยังวิจารณ์ต่อ วิจารณ์รัฐธรรมนูญต่อ เขาก็เลยใช้อำนาจนายกฯ สั่งตำรวจและกระทรวงต่างประเทศเพื่อยกเลิกหนังสือเดินทาง ผมก็เลยโดนยกเลิกหนังสือเดินทางไปต่างประเทศ 3 ปี ไปต่างได้ครั้งเดียวคือเวียงจันทน์ที่ใช้บัตรผ่านทาง ไม่ได้ใช้หนังสือเดินทาง แต่นั้นเป็นการใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี อำนาจฝ่ายบริหาร ผมก็เลยไปฟ้องศาลปกครอง และผมก็ชนะ ทำให้ได้พาสปอร์ตกลับคืนมา จากการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ที่เขาออกคำสั่งด้วยอำนาจคสช. ที่เขากระทำกับประชาชน ทำกับใครไปทั่วประเทศ มันไปฟ้องไม่ได้ ศาลไม่รับฟ้อง เพราะถือว่า คสช. มีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยทั้งหลายทั้งปวงรวมถึงศาล คสช. จะสั่งปลดประธานศาลฎีกาเล่นๆ ก็ได้ ตามระบบของเผด็จการ
ทัศนีย์ บูรณูปกรณ์: แสดงความเห็นต่างกับรัฐธรรมนูญของคสช. ก็กลายเป็นคดี
"ตอนแรกเราไม่คิดว่าจะเจอกับตัว เพราะได้เห็นท่านจาตุรนต์อยู่ช่วงปี 57 ก็เห็นว่าศาลทหารเขาทำอย่างไร เราก็เห็นท่านเป็นตัวอย่างว่า ถ้าเราพูดออกไป เราอาจจะเจอ เราเลยใช้วิธีอื่นก็ได้ พอมาทำเรื่องประชามติ หลังเขาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 59 แล้วเขาก็บอกว่าเราต้องทำประชามติก่อน เราก็อ่านรัฐธรรมนูญตัวนี้ เราก็เห็นว่าประชาชนจะเสียสิทธิอะไรบ้าง ก็แสดงความคิดเห็นไป เราก็มานั่งคิดว่าจะใช้วิธีไหนดีนะ ถ้าคุยกับประชาชนเกิน 5 คน ก็จะเป็นความผิดได้ ถ้าแสดงความคิดเห็นแบบที่ท่านจาตุรนต์แสดง เราก็ไม่รู้กฎหมายชัด อาจจะผิดๆ ถูกๆ เอาอย่างงี้แล้วกัน คิดในใจ เราทำตามเขาแล้วกัน กกต. ทำยังไง เราทำอย่างนั้น ก็เห็นว่า กกต. ก็ส่งจดหมายไปตามบ้าน"
"เราก็เห็นว่า ข้อคิดเห็นของ กกต. มันมีแต่ข้อดีของรัฐธรรมนูญ แต่มันไม่ได้พูดถึงเรื่องอื่นๆ ว่า ประชาชนจะต้องเสียสิทธิอะไรบ้าง ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน สิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน คือ เรื่องของ ส.ว. เพราะทราบกันอยู่แล้วว่า ที่มาของ ส.ว. มันไม่ปกติ มันมาจากผู้มีอำนาจคัดสรรมาหมด แต่มันแปลกที่ว่า ให้ ส.ว. มาเลือกนายกฯ ได้อีก และ ส.ว. มีวาระ 5 ปี เราก็คิดว่า ประชาชนอาจจะสับสนกับคำถามพ่วง เราก็เลยวิจารณ์ไปว่า ถ้า ส.ว. อยู่ในวาระ 5 ปี สมาชิกสภาผู้แทนฯ มีแค่ 4 ปี ก็เท่ากับว่า ส.ว. จะเลือกนายกฯ ได้ถึงสองครั้ง ก็เท่ากับเป็นการต่อยอดอำนาจไปได้ถึงสองสมัย"
"เราก็แสดงความคิดเห็นไป เราก็คิดว่าผ่านจดหมาย ก็ไม่น่าจะมีความผิดอะไร และจดหมายนี้ก็ให้นักกฎหมายหลายท่านดู ก็เห็นว่า มันเป็นการแสดงความคิดเห็น ไม่คิดว่ามันจะเกิดความผิดอะไรเลย จากนั้น ก็เลยส่งจดหมาย แต่เราคิดว่าส่งจดหมายทั้งประเทศคงไม่ไหว เราเอาเฉพาะประชาชนในเขตเลือกตั้งเราดีกว่า เพราะเราเคยเป็นผู้แทนในเขตเลือกตั้งนี้ ความรับผิดชอบในพื้นที่ของเราต้องมี พอคิดแบบนั้น เราก็เลยส่งจดหมายไปหาประชาชนในเขตเลือกตั้ง แล้วเราไม่ได้ใส่ชื่อด้วยนะ เพราะเดี๋ยวประชาชนในเขตเลือกตั้งเขาจะคิดว่า เราไปโน้มน้าวเขาอีก และถ้าใครได้เห็นเนื้อหาในกฎหมายก็จะเห็นว่า ไม่ได้ใช้คำว่ารับหรือไม่รับ แต่แสดงความคิดเห็นต่อไปเท่านั้นเองว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชาชนจะเสียสิทธิอะไรบ้าง อะไรทำนองนี้ สามสี่ความคิดเห็น"
"หลังจากส่งจดหมายไปไม่ถึงอาทิตย์ก็เกิดข่าวใหญ่ขึ้น ว่ามีการจับจดหมายบิดเบือนรัฐธรรมนูญ เราก็ตกใจเพราะเราไม่ได้บิดเบือนตรงไหนเลย เราก็เลยสงสัยว่ามันน่าจะเป็นเรื่องขึ้นมาแล้ว หลังจากนั้น เขาก็ตีข่าวตามจับคนทำจดหมายบิดเบือนรัฐธรรมนูญ เราก็คิดว่าแบบนี้ไม่ดีแน่ๆ แล้วทางเจ้าหน้าที่ก็ประสานไปที่บ้าน เราก็เอากล้องวงจรปิดมาดู ที่นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ส่งข่าวทั่วทั้งเชียงใหม่ รู้สึกเหมือนตำรวจจะไม่ทำอะไรเลย ก็มาระดมดูกล้องวงจรปิดทั้งเชียงใหม่ ทิ้งคดีทุกคดี ตำรวจทั้งภาคห้ามาทำเรื่องนี้เรื่องเดียว แล้วมันก็มีภาพที่เราให้คนไปส่งจดหมาย มีทะเบียนรถ"
"เราก็รู้แล้วว่า มันต้องเป็นเรื่อง หลังจากนั้น เราก็ได้ทราบข่าวจากที่บ้าน ทำไมอยู่ดีๆ ทหาร ตำรวจ ไปอยู่ซอยหน้าบ้านเต็มไปหมด แล้วเขาก็โทรไปแจ้งว่า เขาจะมาจับน้องสาว น้องสาวที่เป็นทันตแพทย์ เขาก็เอาตำรวจ 30-40 คน ไปล้อมจับที่หน้าปากซอย เขาบอกยังไม่หกโมงเย็น เขายังไม่ล้อมจับ เผอิญน้องขับรถออกมา เขาก็ล้อมรถน้องไว้ น้องก็เลยโทรหาทนาย ทนายก็บอกให้น้องกลับเข้าบ้าน เพราะไม่สามารถคุมตัวในยามวิกาลได้"
"พอทราบเรื่อง เราก็เลยประสานไปยังท่านจักรทิพย์ ผบ.ตร. ว่า เราจะไปให้การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าเรายอมรับว่าเป็นคนส่งจดหมายฉบับนี้ และเราไม่ได้บอกว่าเราจะไปมอบตัวนะ เราจะไปให้การเพื่อจะได้คุยรายละเอียด เพราะเขาบอกตามหาตัวอยู่ แต่ก่อนที่เราจะไปหาท่านจักรทิพย์ เราก็โดนคนไปค้นบ้าน ที่สำนักงาน ให้คนไปค้นเหมือนกับเราเป็นอาชญากรสงคราม แพร่ภาพข่าวไปทั่ว ใช้ตำรวจ ทหาร กว่า 30 คน ค้นบ้านเราหมดเลย แล้วที่เอาไปก็คือซองจดหมาย กับซองชาวธรรมดา กับซองทำบุญ แล้วเขาก็แถลงว่าผมหลักฐานเป็นซองขาวกับซองทำบุญธรรมดา"
"จากที่เราเดินทางไปพบท่านจักรทิพย์ (ผบ.ตร.) แต่ก็ไม่ได้เจอท่านหลังจากที่นัดไว้ แล้วก็มาเจอนายทหารบอกว่า ให้ไปเอาตัวเข้าค่ายทหาร โดยไม่แจ้งอะไรสักอย่าง ว่าจะเอาเราไปไหน หรือ ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ก็เอาตัวกุ้งไป ใส่รถฮัมวี่ไป เอาไปอยู่ในค่าย มทบ.11 เจ็ดวัน"
"วันที่เราไปวันแรก เขาก็นั่งสอบเลย สอบวนไปวนมา คำถามเดียวว่า เรื่องการสั่งการ เรื่องส่งจดหมาย เราก็บอกว่า เราแค่แสดงความคิดเห็น การที่เราส่งจดหมายก็เพราะหน่วยงานรัฐก็ส่ง แล้วตอนนั้นสิทธิในการแสดงออกขั้นพื้นฐานเราก็มีสิทธิไม่ใช่หรอ มันก็วนอยู่สองสามคำถามเนี้ย เขาก็ใช้ให้เราอยู่ในนั้นเจ็ดวัน"
"วันแรกที่ถูกพาตัวไป เราก็เจอเหมือนท่านจาตุรนต์ เราก็ถูกผ้าปิดตา มัดมือเรา ไปนั่งในรถ ตอนนั้นเราก็จำได้ว่า เรานั่งอยู่ชั่วโมงกว่า เราก็กลัวที่มืดอยู่แล้ว กลัวที่แคบอยู่แล้ว ได้แต่ถามเขาว่าไปไหนๆ คิดในใจว่า เขาจะเอาฉันไปฆ่าหรือเปล่า แล้วก็เอาไปอยู่ในบ้านเก่าๆ หลังหนึ่ง เสร็จแล้วเขาก็เอาร่างรัฐธรรมนูญที่เขาทำมาให้ ให้เราสรุปข้อดี แต่เราก็ไม่ได้เปิดอ่าน เพราะเขาสรุปข้อดีออกมา เราก็ไม่ได้ทำอะไร เพราะคงหาไม่เจอ"
"เขาก็พาเราไปกองตำรวจที่ใดที่หนึ่ง เราก็จำไม่ได้ว่าเขาเรียกว่าอะไรก่อนจะกลับเชียงใหม่ เขาก็เอาเราไปตั้งคดีว่า จะตั้งคดีอะไรเราบ้าง วันนั้นเขาก็ใช้อำนาจมาตรา 44 สรุปว่า ทางเชียงใหม่ก็ให้คดีมาว่าอั้งยี่ ตำรวจเชียงใหม่เป็นคนตั้ง แต่ตำรวจก็หาข้อหาให้ไม่ได้ ก็ให้อั้งยี่ซ่องโจรมา แล้วก็ให้ข้อหาประชามติมา แต่เขาคงอยากให้เราขึ้นศาลทหาร เขาก็เลยให้ข้อหา 116 มาให้อีกด้วย ก่อนจะส่งตัวเรากลับเชียงใหม่"
"หลังจากสอบสวนเรา เขาก็ส่งตัวเราไปศาลทหารเชียงใหม่ในค่ายกาวิละ ศาลก็บอกว่าไม่ให้ประกันตัว กลัวไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ก็เอาเราเข้าไปในเรือนจำหญิง ผู้ชายก็แยกไปเรือนจำผู้ชาย พอเราเข้าไปในเรือนจำ ก็เข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการในศาลทหาร แล้วพยานของเขามีร้อยกว่าปากใช้เวลาสืบพยานห้าปี แต่พอย้ายมาศาลยุติธรรมประมาณห้าเดือน ศาลก็ยกฟ้องทุกข้อหา"
อรนุช ผลภิญโญ: ทหารต้องการอำนาจไปควบคุมทรัพยากร
อรนุช ผลภิญโญ กรรมการบริหารเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวถึงผลกระทบของคำสั่ง คสช. เกี่ยวกับด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ ในเสวนา “รวมพลังประชาชนรื้อมรดก คสช.” ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ว่า
เราอาจจะคิดว่าพอมีการรัฐประหารแต่ละครั้ง ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอาจจะเป็นนักการเมือง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง ในความเป็นจริงพี่น้องเกษตรกรที่เป็นชาวไร่ชาวนาก็ได้รับผลกระทบหนักมากขึ้น
ปี 2557 การรัฐประหารโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้เกษตรกรอย่างเราก็งง ๆ ว่าทำไมทหารต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ทำไมต้องทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นเรื่องของความมั่นคง
คสช. มีนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งประเทศ โดยเป็นพื้นที่อนุรักษ์ 25% และเป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจอีก 15% ในปี 2557 – 2558 เขาตั้งเป้าทวงคืนพื้นป่า ในปีแรกหกแสนไร่ โดยแบ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติสี่แสนไร่ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติอีกสองแสนไร่ ดังนั้นนโยบายนี้ก็เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว
นโยบายทวงคืนพื้นป่า เริ่มต้นด้วยการใช้คำสั่ง คสช. 64/2557 ในคำสั่งนี้มีแนวนโยบายป้องกันและปราบปราม รวมทั้งติดตามผลของคดีความที่คั่งค้างตั้งแต่อดีต โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลากหลาย โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ รวมทั้งกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ
พอมีคำสั่งทวงคืนผืนป่าก็มีกระแสคัดค้านจากภาคประชาชนหรือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนทักทวงขึ้นมา จนกระทั่ง คสช.มีการทบทวนภายในเวลาสามวัน ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ก็มีคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 ออกมา โดยเนื้อหาของคำสั่งพูดถึงการให้อำนาจกองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. เข้ามามีบทบาทในโครงการทวงคืนผืนป่า และเป็นการรวมศูนย์อำนาจโดยเบ็ดเสร็จ โดยใช้เงื่อนไขคำสั่ง คสช. ที่ 4/2558 ที่ให้อำนาจทหารสามารถจับกุมดำเนินคดีได้
อย่างไรก็ตาม คำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 เขาอ้างว่า เขาต้องการจับแค่นายทุนเท่านั้น โดยเกษตรกรหรือคนยากจนมีข้อยกเว้นอยู่ในข้อที่ 2.1 ของคำสั่งนี้ที่ระบุว่า การดำเนินการใดต้องไม่กระทบเกษตรที่ยากไร้ ไม่มีที่ดินทำกิน หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ตรงนั้นดั้งเดิม แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่เราเห็นคือ กองกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้สมทบกันเพื่อที่จะตัดยางพาราชาวบ้าน
หลังจากที่เขาเริ่มทวงคืนผืนป่า ภายใต้แผนแม่บทป่าไม้ วันที่ 1 มิถุนายน 2558 คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกลับไม่ใช้นายทุนแต่เป็นเกษตรกรทั่วประเทศ 62 จังหวัด
ในภาคอีสานมีหลายจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เช่น จังหวัดสกลนคร ทำให้พี่น้องพื้นที่บ้านจัดระเบียบ ได้รับการจับกุมและถูกดำเนินคดี 31 ราย 34 คดี ปัจจุบันนี้สภาพชีวิตพี่น้องก็ถูกยึดพื้นที่ และถูกจับกุม บางคนก็อยู่ในเรือนจำ ภาคเหนือที่จังหวัดน่าน มีชาวบ้าน 298 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ รวมทั้งพี่น้องภาคใต้ที่อยู่เทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง
ล่าสุดพี่น้องจังหวัดชัยภูมิที่อุทยานแห่งชาติทรายทอง พวกเขาได้รับผลกระทบตั้งแต่สมัย รสช. ที่มีพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ ไล่ชาวบ้านออกและประกาศเป็นพื้นที่อุทยาน จากนั้นชาวบ้านได้ทำการต่อสู้จนได้กลับคืนถิ่น แต่สุดท้ายก็ต้องมาเจอคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66 ในการเอาชาวบ้านออกไปอีก ตอนนี้ก็มีชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดี 14 ราย 18 คดี ซึ่งปัจจุบันพี่น้องบางส่วนก็อยู่เรือนจำ
อย่างไรก็ตามพอมีกระแสคัดค้านของชาวบ้าน ก็ทำให้มีการยกเลิกคำสั่ง คสช. บางฉบับ ถึงแม้ว่าจะการยกเลิกก็ตาม แต่บางฉบับถูกเอาไปใส่ไว้ใน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 อย่างไรก็ตามผลกระทบที่เกิดจากคำสั่ง คสช. ก็ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน เขาต้องการรวมศูนย์อำนาจการจัดสรรทรัพยากรไว้ที่ส่วนกลางทำให้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน
สุภาภรณ์ มาลัยลอย: หมุดหมายของคสช. คือ เอาทรัพยากรให้กลุ่มทุน
สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงผลกระทบของคำสั่ง คสช. จากการพัฒนาเศรษฐกิจจนนำไปสู่ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเสวนา “รวมพลังประชาชนรื้อมรดก คสช.” ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ว่า
คำสั่ง คสช. ในเรื่องการพัฒนาสะท้อนอะไรบ้าง เริ่มต้นเมื่อเขา (คสช.) เข้ามาเริ่มต้นจากการจัดการทรัพยากรเข้าสู่ศูนย์กลางโดยตั้งคณะกรรมการพัฒนานโยบายเขตเศรษฐกิจ โดยขีดวงพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนจำนวน 10 พื้นที่ ซึ่งมีหัวหน้า คสช. เป็นประธาน ในที่สุด 10 พื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจก็ไปไม่รอด จึงกลับมาสู่โครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ด้วยเช่นกัน
หมุดหมายแรกของการทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมของ คสช. คือการเอาที่ดินมาแจกกับกลุ่มทุน เขาใช้คำสั่ง คสช. จัดหาที่ดินทำเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งที่ดินเหล่านั้นมีทั้งป่าสงวน เขตป่าไม้ถาวร ที่ดินเขตหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกา เอามาทำนิคมอุตสาหกรรม แต่ประชาชนอยู่ในพื้นที่ป่าไม่ได้
เท่านั้นยังไม่พอ ที่ดิน สปก. ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อเกษตรกรรม คสช.ก็ไปแก้ไขว่าเอามาทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่เกษตรกรรมได้ คำสั่งในการเอาที่ดิน สปก. ยังอยู่เหนือคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ประชาชนเคยไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดินว่า การนำที่ดิน สปก.มาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นไม่ได้
โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเมื่อ 1 เมษายน 2560 ว่าระเบียบการนำที่ดิน สปก.มาใช้ไม่ถูกต้องให้เพิกถอนระเบียบ แต่ต่อมามีคำสั่ง คสช. เมื่อ 23 มิถุนายน 2560 ว่าให้เอามาใช้เพื่อประโยชน์อื่นได้ หมายความว่า ภาคประชาชนต่อสู้ฟ้องศาลปกครองใช้เวลานานมาก แต่คำสั่ง คสช. ออกมาไม่กี่วันคำพิพากษาศาลปกครองก็ถูกยกเลิก
เท่านั้นไม่พอ มาตรการในการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างกฎหมายผังเมือง ซึ่งมีไว้เพื่อจัดโซนว่า ตรงไหนคือพื้นที่ชุมชน ตรงไหนคือพื้นที่อุตสาหกรรม ตรงไหนคือพื้นที่เกษตร แต่ คสช. ต้องการทำอุตสาหกรรมเป็นหลัก ดังนั้นจึงออกคำสั่ง คสช. ที่ 3/2559 ให้ยกเลิกการใช้ผังเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ยังไม่พอ อยากได้โรงงานไฟฟ้าก็ออกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 ยกเว้นผังเมืองทั่วประเทศไทยเพื่อเอื้อต่ออุตสาหกรรมขยะและโรงไฟฟ้า กลุ่มธุรกิจไหนที่จะทำโรงงานไฟฟ้าและอุตสาหกรรมขยะหาพื้นที่ได้เลยเพราะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องผังเมือง
ดังนั้นเมื่อได้ที่ดินมาแล้ว อยากทำสาธารณูปโภค ถนนหนทาง อาคารบ้านเรือน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็ออกคำสั่ง คสช. ที่ 9/2559 เปิดประมูลโครงการต่างๆ ก่อนทำ EIA ได้เลย คือเดินหน้าทุกอย่างให้รวดเร็วเพื่อเอื้อต่ออุตสาหกรรม
สิ่งที่เกิดขึ้นคือเปลี่ยนพื้นที่เกษตรเป็นฐานอุตสาหกรรม เปลี่ยนพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ คำขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ณ ปี 2564 ที่เขียนว่า ผังเมืองสระบุรีห้ามไม่ให้ตั้งโรงงานไฟฟ้า แต่เพราะคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 จึงอนุญาตให้มีโรงงานไฟฟ้าขยะที่บ้านหนองไข่น้ำได้ นี่คือสิ่งที่ยังเกิดขึ้นและคำสั่งยังคงอยู่ และคำสั่งเหล่านี้ถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญ 2560
สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าเราต้องย้อนกลับไปรื้อฐานคิดในการใช้อำนาจปิดปากปิดเสียงประชาชน ฐานคิดที่มองว่าทรัพยากรเป็นของตนเองและจะจัดการอย่างไรก็ได้ ฐานคิดที่ไม่คำนึกสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชนทุกคนในประเทศ