“รื้อมรดก คสช.” ยกเลิกประกาศ/คำสั่ง ตกยุคที่ละเมิดสิทธิ ข้อเสนอประชาชนเข้าสภา 1 ธ.ค. 64

25 พฤศจิกายน 2564 ไอลอว์ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า ร่างพ.ร.บ.ที่เคยเข้าชื่อเสนอโดยประชาชน 13,409 คน เพื่อเสนอให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. รวม 35 ฉบับ ที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ถึงคิวการพิจารณาและจะได้รับการบรรจุในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 จึงขอให้ผู้เสนอกฎหมายเตรียมตัวเพื่อไปนำเสนอในวันดังกล่าวด้วย
ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีชื่อเต็มว่า ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. …. หรือเรียกเป็นชื่อเล่นว่า ร่าง #ปลดอาวุธคสช ที่เสนอให้ยกเลิกประกาศและคำสั่ง ซึ่งออกมาโดยการอ้างอำนาจการเป็นรัฏฐาธิปัตย์เมื่อเข้าทำรัฐประหาร และอำนาจพิเศษจาก “มาตรา 44” ซึ่งต่อมาแม้ คสช. จะหมดสถานะไปแล้วแต่ประกาศคำสั่งทั้งหลายยังได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ให้มีผลบังคับใช้ตลอดไปจนกว่าจะถูกยกเลิก และช่องทางการยกเลิกในระบบประชาธิปไตยก็คือ การเสนอให้รัฐสภาออกพระราชบัญญัติมายกเลิก
ตัวอย่างของประกาศและคำสั่งที่เสนอให้ยกเลิก เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558, 5/2558 และ 13/2559 ที่ให้อำนาจทหารเอาคนไปกักขังเป็นเวลาเจ็ดวัน, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 ให้ตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเพื่อสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล, คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 47/2560 ที่ให้ยกเว้นการใช้ผังเมืองในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี), ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ที่ให้ควบคุมเนื้อหาในสื่อมวลชน, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่ให้เอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 40/2557 ที่ให้การไม่มารายงานตัวกับ คสช. เป็นความผิด ฯลฯ
ร่างปลดอาวุธ คสช. เริ่มต้นรวบรวมรายชื่อประชาชนที่เห็นด้วยตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 และสามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนได้ 13,409 รายชื่อ จึงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญนำรายชื่อทั้งหมดและร่างฉบับนี้เสนอต่อสภา เมื่อวันที่ 24 มิถุนาน 2562 เป็นร่างพ.ร.บ.ฉบับแรกที่เข้าชื่อเสนอโดยประชาชนที่ได้เสนอต่อรัฐสภาชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง แต่ระหว่างระยะเวลากว่า 2 ปี 5 เดือนที่ร่างฉบับนี้รอคิวการพิจารณา ประกาศและคำสั่งของ คสช. บางฉบับก็ถูกยกเลิกไปก่อน ทั้งการยกเลิกโดย คสช. เอง และศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยกเลิก ยังเหลืออีก 17 ฉบับที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่เรื่อยมา
ในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 สภาผู้แทนราษฎรจะนำร่างปลดอาวุธ คสช. เข้าพิจารณาในวาระแรก โดยตัวแทนของประชาชนที่เสนอกฎหมายจะได้โอกาสนำเสนอร่างในการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะประกอบด้วยตัวแทนจากไอลอว์และองค์กรภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากประกาศและคำสั่งในแต่ละประเด็น จากนั้น ส.ส. ที่เข้าร่วมการประชุมก็จะร่วมกันอภิปราย แสดงความคิดเห็น และซักถาม ผู้นำเสนอก็จะมีโอกาสได้ชี้แจงอธิบายเหตุว่า หากยังให้ประกาศและคำสั่งเหล่านี้คงอยู่ต่อไปจะส่งผลเสียต่อสังคมและสิทธิมนุษยชนอย่างไร หลังการอภิปรายก็จะเป็นการลงมติว่าสภาผู้แทนราษฎร จะรับหลักการร่างฉบับนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ ต้องอาศัยเสียงครึ่งหนึ่ง ของ ส.ส. คือ 362 จาก 723 คน ร่างก็จะได้เข้าสู่วาระสองเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาในรายละเอียด โดย ส.ว. ยังไม่ได้ร่วมลงมติในชั้นนี้ด้วย
ร่างฉบับนี้ เป็นความพยายามครั้งแรกที่จะ “รื้อมรดก คสช.” อย่างเป็นทางการ หรือการลบล้างผลพวงที่คณะรัฐประหารทิ้งเอาไว้ในระบบกฎหมาย จากที่ในยุครัฐบาลทหาร คสช. ออกกฎหมายมในรูปแบบประกาศและคำสั่งต่างๆ ได้ตามใจรวมถึง 556 ฉบับ ครอบคลุมสารพัดเรื่องโดยขาดการมีส่วนร่วมและไร้การตรวจสอบถ่วงดุล เช่น เรื่องการทำประมง, เรื่องปฏิรูปการศึกษา, เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น, รวมทั้งเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ฯลฯ แม้บางฉบับจะถูกยกเลิกเพราะ คสช. เปลี่ยนใจจึงยกเลิกเองและใช้ฉบับใหม่แทน หรือ การยกเลิกโดยปริยายเพราะหมดเวลาการใช้งาน หรือที่คสช. ให้ยกเลิกไปก่อนหมดอำนาจ 78 ฉบับ แต่ก็ยังมีอีกหลายร้อยฉบับที่ยังไม่ถูกยกเลิกไป และยังไม่เคยถูกสะสางว่า เมื่อบังคับใช้แล้วมีผลดีผลเสีย หรือกระทบต่อประชาชนอย่างไรบ้าง