เลือกตั้งอบต. : คุยกับเวียงรัฐ เนติโพธิ์ “การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นความหวังที่เราต้องผลักดันให้เกิดขึ้น”

การเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่จะถึงในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 นับว่าเป็นอีกหนึ่งหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของอนาคตการเมืองท้องถิ่นไทย กว่าเจ็ดปีขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศถูก “แช่แข็ง” ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้พัฒนาการประชาธิปไตยฐานรากต้องหยุดชะงัก หรือแม้กระทั่งเดินถอยหลังในหลายพื้นที่ การ “รีสตาร์ท” การเลือกตั้งท้องถิ่นอีกครั้ง ตั้งแต่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเมื่อปลายปีที่แล้ว เทศบาลในช่วงต้นปีนี้ ไปจนถึง อบต. ที่กำลังจะเกิดขึ้น นำไปสู่ความสนใจจากหลากหลายส่วน โดยสำหรับการเลือกตั้ง อบต. มีผู้ลงสมัครเลือกตั้งรวมกันทั้งประเทศกว่า 130,000 คน นับว่ามีตัวเลือกมากมายให้ประชาชนพิจารณาว่าใครจะเป็นผู้เข้ามาบริหารทรัพยากรเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
ก่อนการเลือกตั้งอบต. ที่กำลังจะมาถึง ชวนคุยกับรองศาสตราจารย์เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงประเด็นสำคัญที่น่าจับตาในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้น การเลือกตั้ง อบต. ที่จะถึงนี้มีความสำคัญอย่างไร อะไรคือปัญหาของการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านมาของไทย และประชาชนจะร่วมกันพัฒนาการปกครองท้องถิ่นให้ดีขึ้นได้อย่างไร
“โรงเรียนการเมือง” สำหรับประชาธิปไตย
เวียงรัฐเริ่มต้นว่า ในแง่ของหลักการแล้ว ประชาธิปไตยจะพัฒนาได้ด้วยสถาบันทางการเมืองที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง การเลือกตั้ง หรือรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญเป็นอย่างมากสำหรับประชาชนก็คือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพราะเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เราอาจจะเคยท่องกันมาว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเสมือน “โรงเรียนการเมือง” ขณะที่บางทีการเลือกผู้แทนไปนั่งในรัฐสภาในการเมืองระดับชาติอาจจะเหมือนกับ “รัฐโรงละคร” มากกว่า เพราะเราเห็นการพูดหรือเถียงกันในสภาที่อาจจะเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องการเชือดเฉือนกัน ดังนั้น สภาจึงกลายเป็นเป็นพื้นที่ของการพูดถึงปัญหา มากกว่าการแก้ปัญหา การเมืองท้องถิ่นจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเข้าใจและตระหนักถึงสิทธิของตนเองได้ดีที่สุด รวมถึงสามารถเชื่อมโยงการเมืองจากประสบการณ์ของตนเองในท่องถิ่นไปที่การเมืองระดับชาติได้
“ในบริบทไทยเราท่องกันมานานแล้วว่าประชาธิปไตยเกิดขึ้นเมื่อปี 2475 แต่ก็มีการดูถูกการเลือกตั้งว่ากาแค่สองวินาทีแล้วก็จบ เปิดทีวีก็เจอนายกรัฐมนตรี นักการเมืองพูดในสภา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้คนรู้สึกเชื่อมโยงเลย แต่การเรื่องตั้งท้องถิ่นนั้นเห็นผลโดยตรงกับชีวิตประจำวัน เพราะเกี่ยวข้องกับถนนหน้าบ้าน ตลาด น้ำสะอาด เครื่องออกกำลังกาย วัดความดัน ป้องกันโรคระบาด เงินสวัสดิการต่าง ๆ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือประชาธิปไตยกินได้”
ท้องถิ่นแข็งแกร่ง ทลายรัฐไทยรวมศูนย์
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อว่าในแง่ของประเทศไทย ปัญหาสำคัญคือการที่รัฐไทยมีลักษณะรวมศูนย์ โดยผูกขาดทรัพยากรและอุดมการณ์ไว้กับรัฐส่วนกลางเท่านั้น รัฐมีการใช้กลไกของระบบราชการให้คนทั้งประเทศต้องเชื่อแบบเดียวกันผ่านการบังคับ ลักษณะของรัฐรวมศูนย์นี้จะอ่อนแอลงได้ก็ต่อเมื่อมีองค์กรในระดับกระจายอำนาจท้องถิ่นที่เข้มแข็งมากพอจะไปต่อรองและท้าทายกับรัฐส่วนกลาง
วิธีการกระจายอำนาจจริง ๆ แล้วมีหลากหลายรูปแบบ เราอาจจะคุ้นเคยกับการแบ่งแยกอำนาจในแนวราบ คือฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ แต่ในความเป็นจริงการแบ่งอำนาจในแนวดิ่งก็สำคัญเช่นกัน กล่าวคือ ในทุก ๆ ส่วนจะต้องมีการแบ่งแยกในแนวดิ่งด้วย ประชาชนที่สัมพันธ์กับอำนาจรัฐจะต้องมีทางเลือกในหลายระดับ เช่น ประชาชนคนหนึ่งอาจจะสัมพันธ์กับกระทรวงมหาดไทยและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น การมีที่มาของอำนาจหลายแหล่งจะทำให้การผูกขาดทำได้ยากขึ้น การป้องกันการรวบอำนาจของรัฐก็ตั้งอยู่บนฐานคิดนี้
“องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจะไม่ใช่คำตอบอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าเรามีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็งและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และถือครองอำนาจที่สำคัญที่สุดคืออำนาจของประชาชน ซึ่งมีความชอบธรรมมากกว่าระบบราชการ ในที่สุดก็จะสามารถต่อรองกับระบบราชการได้ อันนี้เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องการคือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถทำให้อำนาจจากส่วนกลางกระจายมากขึ้น”
“สังคมไทยมีความแตกแยกทางความคิด ทำให้การหาฉันทามติในสังคมเป็นเรื่องยากมาก และในที่สุดความขัดแย้งก็ไม่ได้นำพาไปสู่อะไรที่เป็นรูปธรรม แต่ในระดับท้องถิ่นเราสามารถหาสิ่งนี้ได้ไม่ยาก เพราะเป็นเรื่องของชุมชนเล็ก ๆ พอพูดถึงการเอาเงินมาใช้สาธารณสุข พัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ว่าชนชั้นไหนก็สามารถเห็นตรงกันได้ไม่ยาก ดังนั้นการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นความหวังที่เราต้องผลักดันให้เกิดขึ้น”
เจ็ดปีของคสช. ทำลายรากฐานการเมืองท้องถิ่น
เวียงรัฐเล่าย้อนไปว่าแม้ อปท. ที่รู้จักกันทุกวันนี้เป็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งก็นับได้ว่ายังไม่นานนัก แต่ก่อนที่คสช. จะรัฐประหาร การเมืองท้องถิ่นถือว่ากำลังอยู่ในช่วงเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีนักการเมืองหน้าใหม่เข้าแข่งขันในสนามนโยบายอย่างต่อเนื่อง และการแข่งขันนี้เองที่ทำให้การบริหารงานท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้นำท้องถิ่นจะต้องเรียนรู้ว่าต้องจัดการปัญหาต่าง ๆ ในชุมชนอย่างไร มีความพยายามใช้เครือข่ายในการทำงาน เช่น ในด้านสาธารณสุข เมื่อมีโรคระบาด เครือข่ายแม่บ้านชุมชนหรือผู้สูงอายุ ผู้นำท้องถิ่นก็รู้ว่าต้องประสานงานอย่างไรในการให้ความรู้ป้องกันโรคกับประชาชน
แต่การแช่แข็ง อปท. ในช่วงกว่าเจ็ดปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลคสช. ทำให้เครือข่ายอำนาจนิยมสามารถปฏิบัติการได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากทุกอย่างต้องถูกสั่งผ่านส่วนกลางและมีการใช้กลไกการปกครองส่วนภูมิภาคในการดำเนินการ เมื่อมีการแช่แข็งในยุค คสช. ก็เหมือนเป็นการไป “เซ็ตซีโร่” อำนาจที่เคยมีอยู่ในท้องถิ่น ยุคของคสช. จึงเป็นช่วงที่กระทรวงมหาดไทยดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางในหลากหลายรูปแบบ เช่น การขอความร่วมมือ ใช้งบอุดหนุนต่าง ๆ ผลที่ตามมาคือท้องถิ่นถูกลดอำนาจต่อรอง ส่วนผู้นำท้องถิ่นก็ต้องยอมทำตามโดยไม่มีปากเสียงอะไร
“เมื่อมีคู่แข่ง ก็ไม่ได้ง่ายเพียงแค่การใช้เงิน พรรคพวก หรือข่มขู่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น คุณก็ต้องเสนอนโยบายที่ดีกว่า มีองค์ความรู้ในการพัฒนา หรือแม้กระทั่งข้อมูลเชิงลึกในการไปเปิดโปงกลุ่มเก่าว่าคนเหล่านี้ไม่มีความสามารถอย่างไร ดังนั้น คุณภาพของการแข่งขันจึงเกิดมาจากการพัฒนาคุณภาพของพรรคการเมือง แต่การแช่แข็งกลับทำให้คุณภาพตรงนี้อ่อนแอ การเลือกตั้งครั้งนี้เลยเหมือนกับว่าต้องมาเริ่มพัฒนาใหม่อีกครั้ง”
เจ็ดปีที่ผ่านมาเห็นการคืบคลานเข้ามาของอำนาจรัฐส่วนกลางที่พยายามเข้าควบคุมการเมืองท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น เทศบาลแห่งหนึ่งต้องการทำโครงการจัดการการจราจร ต้องการให้มีรถเมล์วิ่ง ต้องการติดตั้งเครื่องจับความต้องการของคนขึ้นรถเมล์ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดกลับไม่ยินยอมเพราะเป็นการใช้เงินที่ไม่อยู่ในระเบียบ หรืออีกที่หนึ่งมีการตั้งเครื่องเตือนภัยน้ำท่วมนอกเขตเทศบาล แต่สุดท้ายก็โดนหน่วยงานส่วนกลางเข้ามาระงับโครงการโดยอ้างว่าไม่สามารถจัดซื้อแล้วไปตั้งอยู่นอกเขตได้
เมื่อถูกถามว่าเราควรจะปฏิรูป อปท. อย่างไรให้ดีขึ้น เวียงรัฐให้คำตอบโดยมุ่งเน้นไปที่ตัวระบบราชการไทย
“คนทั่วไปอาจจะเห็นปัญหาของ อปท. ในด้านการคอร์รัปชัน การใช้เส้นสายหรือพรรคพวก แต่สำหรับคนที่ทำงานจริงจะรู้ว่าปัญหาที่สำคัญที่สุดของตนเองคือการถูกครอบงำโดยระบบราชการจากการปกครองส่วนภูมิภาค ทั้งที่เป็นคนละสายบังคับบัญชา แต่ผู้ว่าก็จะสั่งหรือขอความร่วมมือ อปท. ตลอด ทำให้ต้องเอาเงินไปใช้ในสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับประชาชนมาก ดังนั้น การปฏิรูป อปท. ที่สำคัญคือต้องทำให้เป็นอิสระจากระบบราชการ”
เลือกตั้ง 28 พ.ย. เริ่มนับหนึ่งการพัฒนา อบต. ครั้งใหม่
สำหรับการเลือกตั้ง อบต. ที่จะถึงนี้ เวียงรัฐให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่าอย่าหวังว่าจะได้นายกอบต. หรือทีมบริหารที่ดีเลิศ เพราะความรู้ในการบริหารงานนั้นเสื่อมถอยลงไปจากการแช่แข็ง อปท. เมื่อต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ จึงต้องไปเอาความเชี่ยวชาญเฉพาะใหม่อีกครั้ง เมื่อนักการเมืองท้องถิ่นขาดความสามารถเชิงนโยบายที่จะใช้แข่งขันกันในสนามเลือกตั้ง เราจึงจะเห็นการกลับมาของใช้เงินจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งการข่มขู่ใช้ความรุนแรง เพราะเงินหรือความรุนแรงคือขีดความสามารถที่พื้นฐานที่สุดสำหรับนักการเมืองท้องถิ่นที่สูญเสียความเชี่ยวชาญในเชิงนโยบายไป
แต่ก็ใช่ว่าการเมืองท้องถิ่นไทยจะไม่มีหวังไปเสียทั้งหมด เวียงรัฐก็ยังเห็นว่าประชาชนควรจะออกไปเลือกตั้ง อบต. ในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ให้มากที่สุด เพราะทุกครั้งที่มีการนับหนึ่งใหม่ก็ถือว่าเป็นความหวัง การพัฒนาการเมืองท้องถิ่นจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในการเลือกตั้ง ความหวังอีกประการหนึ่งก็คือคนหนุ่มสาวไฟแรงที่ลงสมัครเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น คนเหล่านี้ประกาศตัวชัดเจนว่าถืออำนาจของประชาชนเป็นใหญ่ ถ้าคนหนุ่มสาวได้รับเลือกตั้ง ก็กลายเป็นส่วนสำคัญในการต่อรองอำนาจกับรัฐส่วนกลางได้
“เราต้องอดทนให้เกิดการเรียนรู้ เพราะการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ”