เปิด “ร่าง พ.ร.ฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ” บังคับบริษัทแพลตฟอร์มต้องมีตัวแทนในไทย ต้องแจ้งการทำธุรกิจ

น้อยคนนักในปัจจุบันที่จะไม่ใช้ชีวิตและใช้บริการติดต่อกับแพลตฟอร์มต่างๆ ในโลกออนไลน์ และยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่การดำเนินชีวิตต้องรักษาระยะห่าง กิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราต่างก็ถูกย้ายไปอยู่บนโลกเสมือนจริง บทบาทของโลกออนไลน์ทวีตความสำคัญมากขึ้นอย่างทวีคูณ เช่น การซื้อของ สั่งอาหาร หรือทำธุรกรรมทางการเงิน จึงนำไปสู่ความพยายามของภาครัฐที่จะเข้ามาจัดระเบียบและควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นในพรมแดนใหม่นี้
อย่างไรก็ดี การออกกฎหมายเพื่อควบคุมแพลตฟอร์มดิจิทัลนี้จะต้อง “หาจุดสมดุล” ระหว่างความปลอดภัยของผู้ใช้งานกับความสะดวกในการดำเนินธุรกิจและสิทธิเสรีภาพ ข้อมูลส่วนบุคคล เพราะข้อบังคับที่เข้มงวดอาจจะเป็นการสร้างภาระที่มากเกินความจำเป็นให้กับผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล และส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทต่างชาติหรือแม้กระทั่งศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทไทยเอง รวมถึงอาจเป็นการเปิดช่องให้ใช้กฎหมายปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
วันที่ 25 ตุลาคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. … หรือ พ.ร.ฎ.แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ โดยมีสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. หรือ ETDA) สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง
พ.ร.ฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ นี้ออกตามอำนาจของ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 32 และมาตรา 33  ซึ่งให้อำนาจในการตรา พ.ร.ฎ. กำหนดให้การทำธุรกิจออนไลน์เป็นธุรกิจที่ต้องแจ้งให้ทราบ หรือต้องขึ้นทะเบียน หรือต้องมีใบอนุญาต ในกรณีที่มีความจำเป็นด้านการรักษาความมั่นคงทางการเงิน เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ หรือเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ มีดังนี้

เขียนนิยามกว้างขวาง รวมเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เน็ทฟลิกซ์

พ.ร.ฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ ให้นิยามของ “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ที่อยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายฉบับนี้ว่าหมายถึง การให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในลักษณะที่เป็นสื่อกลางที่มีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและผู้บริโภคเชื่อมต่อกัน โดยการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์
นิยามข้างต้นนี้มีลักษณะที่เปิดให้มีการตีความได้กว้างขวาง หากแพลตฟอร์มทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางที่ผู้ประกอบการและผู้บริโภค หรือคนซื้อกับคนขายมาเจอกัน แม้ว่าจะไม่มีกาจ่ายเงินหรือการทำธุรกรรมใดๆ เกิดขึ้น ก็ยังเข้าข่ายการเป็น “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ได้ และไม่จำกัดขนาดของกิจการว่า จะต้องมีเงินลงทุนเท่าใด มีผู้ใช้บริการเท่าใด มีรายได้มากน้อยเท่าใด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์สามารถเข้าข่ายนิยามของพ.ร.ฎ.นี้ได้หมด
ในเวทีเปิดรับแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.ฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ ตัวแทนของ สพธอ. กล่าวยกตัวอย่างแพลตฟอร์มที่เข้าข่ายอยู่ในบังคับของกฎหมายฉบับนี้ไว้ เช่น แพลตฟอร์มขายของออนไลน์ (Amazon, Alibaba) บริการค้นหาข้อมูลหรือเว็บไซต์ (Google) โซเชียลมีเดีย (Facebook, Twitter, Instagram, YouTube) รวมไปถึงบริการมัลติมีเดีย จองสถานที่พัก หรือบริการขนส่ง (Netfilx, Agoda, Grab)

บังคับแพลตฟอร์มต้องแจ้ง สพธอ. ต้องมีตัวแทนในไทย “ไม่มีข้อจำกัดความรับผิด”

หัวใจหลักของ พ.ร.ฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ ก็คือการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลต้อง “แจ้ง” ให้ สพธอ. ทราบก่อนการดำเนินธุรกิจในไทยผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมาตรา 9 ระบุว่าบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลใดก็ตามที่ “มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภคในราชอาณาจักรไทย” ไม่ว่าผู้ประกอบธุรกิจนั้นจะอยู่ในไทยหรือไม่ ก็ต้องดำเนินการแจ้งการดำเนินธุรกิจของตนเอง
สำหรับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย พ.ร.ฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ ก็ยังต้องการที่จะครอบคลุมให้ถึงด้วย โดยกำหนดไว้ใน มาตรา 9 วรรคสอง ให้แพลตฟอร์มที่เข้าข่ายมีวัตถุประสงค์ดำเนินงานในไทย รวมถึงแพลตฟอร์มที่ประกอบกิจกรรมโดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
  1.  มีการแสดงผลทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นภาษาไทย
  2. มีการจดทะเบียนโดเมน “.th” หรือ “.ไทย” หรือชื่ออื่นที่หมายถึงประเทศไทยหรือใช้ชื่อโดเมนภาษาไทย
  3. มีการกำหนดให้ชำระเงินหรือสามารถเลือกชำระเงินเป็นสกุลไทย
  4. มีการตกลงให้ใช้กฎหมายไทยเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับธุรกรรมซื้อขายสินค้าหรือบริการที่ได้ทำบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
  5. มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริการสืบค้นแหล่งที่ตั้งของข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคในราชอาณาจักรไทยเข้าถึงบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นการเฉพาะ
  6. มีการจัดตั้งสำนักงาน หน่วยงาน หรือมีบุคลากรเพื่อให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในราชอาณาจักรไทย
  7. มีลักษณะอื่นใดที่คณะกรรมการกำหนด
มากไปกว่านั้น มาตรา 10 ยังกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในไทย “ต้อง” แต่งตั้งตัวแทนของตนเองในประเทศ โดยตัวแทนนี้จะต้องได้รับมอบอำนาจโดย “ไม่มีข้อจำกัดความรับผิดใดๆ ที่เกี่ยวกับการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลตามพระราชกฤษฎีกานี้” หมายความว่า หากมีปัญหาในทางกฎหมายเกิดขึ้น ตัวแทนของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่อยู่ในไทยก็จะต้องเป็นผู้รับผิดแทนผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในประเทศ 
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การต้องมีตัวแทนในประเทศนั้นมีลักษณะเดียวกับ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรา 37 (5) ซึ่งกำหนดให้ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องมีตัวแทนในไทยและไม่มีการจำกัดความรับผิดเช่นเดียวกัน
การกำหนดหลักเกณฑ์เช่นนี้ทำให้บางแพลตฟอร์มตัดสินใจหยุดให้การสนับสนุนการดำเนินงานในไทย ตัวอย่างเช่น กรณีของ Binance ผู้ให้บริการเป็นสื่อกลางในการซื้อขายคริปโตเคอเรนซี ออกแถลงการณ์ว่าทางบริษัทจะหยุดให้การสนับสนุนภาษาไทยในเว็บไซต์ของตนเอง ซึ่งจะทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ต้องแจ้งดำเนินธุรกิจในไทยกับ สพธอ. นั่นเอง
ทั้งนี้ มาตรา 8 ก็ได้ให้ข้อยกเว้นสำหรับแพลตฟอร์มที่ไม่ต้อง “แจ้ง” การประกอบธุรกิจให้ สพธอ. ทราบ ได้แก่ แพลตฟอร์มที่มีหน่วยงานอื่นดูแลอยู่แล้ว และแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่กำหนดยกเว้นให้โดยคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
เมื่อผู้ประกอบธุรกิจแจ้งให้กับ สพธอ. ทราบแล้ว หน่วยงานรัฐก็จะมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลให้กับคนทั่วไปสามารถตรวจสอบรายชื่อของแพลตฟอร์มดิจิทัลได้ ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจก็จะได้รับเครื่องหมายหรือข้อความสำหรับเผยแพร่เพื่อรับรองว่า แพลตฟอร์มนั้นได้แจ้งอย่างถูกต้อง
สำหรับกรอบเวลาในการแจ้งนั้น มาตรา 30 ระบุให้แพลตฟอร์มที่ดำเนินการอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนมี พ.ร.ฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ นี้ มีเวลา 30 วันในการแจ้งให้ สพธอ. ทราบ เมื่อรวมกับมาตรา 2 ซึ่งกำหนดให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้หลังจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา 180 วัน ผู้ประกอบธุรกิจจะมีเวลาทั้งหมด 210 วันในการเตรียมตัวเพื่อแจ้งขึ้นทะเบียนแพลตฟอร์มดิจิทัลนับตั้งแต่ พ.ร.ฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หากกิจการใดมีความประสงค์จะเลิกกิจการ มาตรา 20 กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องแจ้งให้กับ สพธอ. ทราบทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนวันเลิกกิจการ โดย สพธอ. จะมีอำนาจในการสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้เพื่อป้องกันความเสียหายจากการเลิกกิจการที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการ

สพธอ. กำหนดข้อมูลที่ต้องแจ้งแก่ผู้ใช้งาน รวมทั้งการเซ็นเซอร์เนื้อหาผิดกฎหมาย

อีกเป้าหมายสำคัญของ พ.ร.ฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ ก็คือความพยายามที่จะเข้ามาควบคุมแพลตฟอร์มต่างๆ ในโลกออนไลน์ โดยผู้ประกอบธุรกิจจะต้องแจ้งขนาดของธุรกิจของตนเองให้ทราบทุกปีภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี หลังจากทราบขนาดของธุรกิจแล้ว มาตรา 18 ก็ได้ให้อำนาจกับ สพธอ. กำหนดประเภทหรือลักษณะของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลให้กับผู้ใช้บริการทราบ ซึ่งมีตั้งแต่เงื่อนไขการใช้บริการ ค่าใช้จ่าย หลักเกณฑ์การจัดอันดับการแนะนำสินค้า การนำข้อมูลของผู้บริการไปใช้ การร้องเรียนข้อพิพาท ไปจนถึงการดำเนินการกับเนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหา
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับร่าง พ.ร.ฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ ฉบับเปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ก็ถือว่ามีการลดหลักเกณฑ์ที่แพลตฟอร์มต้องปฏิบัติตามลงไปบางส่วน เช่น ข้อบังคับที่ให้แพลตฟอร์มต้องพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้บริการที่อาจจะสร้างภาระให้กับผู้ประกอบธุรกิจและเปิดช่องให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้เสรีภาพในทางแสดงออกในโลกออนไลน์ รวมถึงมาตรการจัดการกับผู้ใช้บริการที่นำเข้าข้อมูลผิดกฎหมาย 
นอกจากนี้ พ.ร.ฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ ยังให้อำนาจ สพธอ. กำหนดให้บางแพลตฟอร์มเป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่หรือมีลักษณะพิเศษ ซึ่ง สพธอ. สามารถกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมให้แพลตฟอร์มเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามได้ หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้ตนเองมีขนาดใหญ่หรือมีลักษณะพิเศษ หรือหลักเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมานั้นสร้างภาระที่มากเกินไป ก็สามารถเสนอให้ สพธอ. ยกเลิกการกำหนดนั้นได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

สั่งหยุดให้บริการได้หากไม่ทำตามหลักเกณฑ์ สั่งแพลตฟอร์มต้องให้ความร่วมมือทางกฎหมาย

หากผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลไม่ทำตาม พ.ร.ฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ เช่น ไม่แจ้งข้อมูลให้กับผู้ใช้งานทราบตามหลักเกณฑ์ที่ สพธอ. กำหนด มาตรา 24 ระบุว่าผู้อำนวยการ สพธอ. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสามารถสั่งห้ามมิให้แพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นประกอบธุรกิจต่อไปได้ จนกว่าจะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ให้ถูกต้อง โดยหากผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามภายใน 90 วันนับตั้งแต่มีการสั่งห้าม แพลตฟอร์มนั้นก็จะถูกถอดถอนออกจากทะเบียนรับแจ้ง
ถ้าผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลไม่ทำตามคำสั่งห้ามมิให้ทำธุรกิจ หรือไม่แจ้งการทำธุรกิจของตนเองกับ สพธอ. ก็อาจจะต้องเจอกับโทษทางกฎหมายอีกด้วย มาตรา 44 ของ พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ วางโทษไว้ที่จำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ มาตรา 27 ยังระบุอีกว่าผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องให้ความร่วมมือเมื่อได้รับคำสั่งตามกฎหมายหรือคำสั่งศาล โดยไม่ได้จำกัดเพียงแค่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ฎ.แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึง “กฎหมายอื่น” อีกด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่มีต้นทางมาจากกฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งที่ผ่านมาถูกใช้เป็นเครื่องมือหลักหนึ่งที่รัฐใช้ในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกในโลกออนไลน์

สพธอ. ต้องสร้างช่องทางร้องเรียน ดูแลความโปร่งใส

นอกจากหน้าที่ในการกำกับดูแลแล้ว สพธอ. ยังมีหน้าที่ตามมาตรา 25 ในการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจมีกลไกในการดูแลตนเองหรือมีแนวปฏิบัติที่ดี ซึ่งอาจจะรวมถึงการพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรม และ สพธอ. ยังมีหน้าต้องจัดทำช่องทางการร้องเรียนกลางด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ร้องเรียนปัญหาที่เกิดจากการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลด้วย
หากเกิดกรณีผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลมีพฤติกรรมที่ขัดขวางความโปร่งใสและเป็นธรรม หรือฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า ก็จะเป็นอำนาจของ สพธอ. และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าในการร่วมมือกันเพื่อจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น