ไอติม-ปิยบุตร นำเสนอสภาเดี่ยวรื้อ “ระบอบประยุทธ์”

constitutional amendment process 3
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 มีกำหนดการประชุมรัฐสภา ที่จะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน เข้าสู่การพิจารณา ร่างฉบับนี้มีชื่อเล่นว่าร่าง “รื้อระบอบประยุทธ์” โดยข้อเสนอหลักคือ การให้ “ยกเลิกวุฒิสภา” เปลี่ยนมาใช้เป็นระบบ “สภาเดี่ยว” ที่เหลือแต่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. การยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศของ คสช. การ “รื้อ” ที่มาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด รวมทั้งออกแบบกลไกใหม่ที่หวังจะป้องกันไม่ให้การรัฐประหารเกิดขึ้นได้อีก
ในขั้นตอนของการชี้แจง ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ และปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นตัวแทนผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหาดังนี้

ไอติม-พริษฐ์ แนะฉีดวัคซีนรักษาไวรัส “ระบอบประยุทธ์”

เรียนท่านประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภาที่เคารพทุกท่าน
กระผม พริษฐ์ วัชรสินธุ ในฐานะตัวแทนของประชาชน 135,247 คน ที่ลงชื่อสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะถูกพิจารณาในวันนี้ และในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง ที่อยากเห็นประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ปกติ และระบบการเมืองที่เป็นธรรมกับทุกความฝันของทุกคน
ในเมื่อ “รัฐธรรมนูญ” เป็นกฎกติกาสูงสุดของประเทศ การอธิบายถึงหลักการและเหตุผลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็ต้องเริ่มจากการอธิบายให้เห็นถึงปัญหาในภาพรวมของประเทศ และให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นอุปสรรคอย่างไรต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน
ผมเลยอยากเริ่มต้นวันนี้ ด้วยการเล่าถึงผู้ป่วยคนหนึ่งที่ชื่อว่า “ประเทศไทย” 
ผู้ป่วยคนนี้ เป็นผู้ป่วยที่ผมเชื่อว่าทุกท่านในที่นี้รัก เป็นห่วง และอยากช่วยรักษาให้เขาหายดี
ปัจจุบัน ถึงแม้ผู้ป่วยคนนี้กําลังเริ่มฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 แต่เขายังต้องประสบกับอีก 3 โรคร้ายในร่างกาย ที่เขาติดมาตั้งแต่ก่อนโควิด ที่โควิดเข้ามาซ้ำเติมให้อาการเขาทรุดหนักลง และที่จะยังอยู่กับเขาไปเรื่อยๆ หลังโควิด หากเราไม่รีบรักษา
โรคที่ 1 คือ โรค “เศรษฐกิจอ่อนแอ” ที่ทําให้เราเติบโตช้ากว่าเพื่อนบ้านเรามาหลายปี
โรคที่ 2 คือ โรค “เหลื่อมล้ำเรื้อรัง” ที่ทําให้โอกาสในชีวิตของคนคนหนึ่งขึ้นอยู่กับ “โชคชะตา” มากกว่าความสามารถ
โรคที่ 3 ที่ประเทศไทยกําลังเผชิญ คือโรค “ประชาธิปไตยหลอกลวง” ที่ทําให้ปัจจุบันเราเป็น “ประชาธิปไตย” เพียงแค่ในนาม แต่ไม่ใช่ในการปฏิบัติจริง
คําถามที่สําคัญที่สุดสําหรับพี่น้องประชาชนตอนนี้ ก็คือว่าเราจะร่วมรักษาผู้ป่วยคนนี้กันอย่างไร
ที่ผ่านมา หลายฝ่ายก็พยายามมาโดยตลอด ในการเสนอ “ยา” นานาชนิด เพื่อพยายามบรรเทาอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “ยา” ที่ชื่อการปฏิรูประบบราชการ “ยา” ที่ชื่อว่ารัฐสวัสดิการ หรือ “ยา” ที่ชื่อว่าการกระจายอํานาจสู่ท้องถิ่น
แต่พอเสนอไปที่ไร “ยา” เหล่านี้ก็กลับถูกปฏิเสธ เพราะร่างกายได้ถูกครอบงําโดยไวรัสตัวหนึ่งอย่างเบ็ดเสร็จไปเรียบร้อย
พอเริ่มหันมาสังเกตว่าอาการที่ผู้ป่วยกําลังเผชิญนี้ ได้กําเริบมากขึ้นในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา หลายคนก็วินิจฉัยได้ว่าไวรัสนี้มีชื่อ ว่า “พล.อ. ประยุทธ์” เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทําการยึดอํานาจประชาชนผ่านรัฐประหารเมื่อ 7 ปีที่แล้ว
การวินิจฉัยเช่นนี้ ทําให้หลายคนเกิดข้อสรุปว่า หากเรากําจัดไวรัสนี้ได้ หรือทําให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออก หรือพ้นจากตําแหน่ง ผู้ป่วยของเราก็จะหายจากทุกโรคและกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม
แต่ผมไม่คิดว่ามันจะจบแค่นั้น เพราะสิ่งที่อันตรายกว่า “พล.อ. ประยุทธ์” คือ “ระบอบประยุทธ์
“ระบอบประยุทธ์” ที่ผมพูดถึงนี้ ไม่ได้หมายถึงตัว พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะตัวบุคคล แต่หมายถึงโครงสร้างและกลไก ที่ พล.อ. ประยุทธ์และเครือข่าย ได้สร้างขึ้นมาและควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อร่วมมือกันรักษาผลประโยชน์และอํานาจของกันและกัน
แน่นอนว่าเกราะกายสิทธิ์ชิ้นสําคัญที่ค้ำจุนระบอบประยุทธ์ให้ยังคงอยู่ในอํานาจได้ ไม่ว่าจะบริหารประเทศจนป่วยแค่ไหน ก็คือ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เราต้องการเสนอให้มีการแก้ไขในวันนี้
หากรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยคือ “รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”
รัฐธรรมนูญ 2560 ก็คือ “รัฐธรรมนูญของระบอบประยุทธ์ โดยระบอบประยุทธ์ เพื่อระบอบประยุทธ์”
หากวิเคราะห์ตั้งแต่ ที่มา กระบวนการ และเนื้อหา เราจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เดียวเท่านั้น คือการ สืบทอดอํานาจ ของระบอบประยุทธ์
ในส่วนของ “ที่มา” รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เพียงแต่ถูกเขียนโดยคนของ คสช. ไม่กี่คน โดยไม่ได้เปิดรับความคิดเห็นของ ประชาชนในวงกว้าง แต่แม้กระทั่ง รมว. กระทรวงยุติธรรมก็เคยป่าวประกาศก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”
ในส่วนของ “กระบวนการ” ถึงรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการรับรองโดยประชามติเมื่อปี 2559 แต่การจัดประชามติในครั้งนั้นมี ลักษณะที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรมเพราะไม่เปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านรณรงค์ได้อย่างเท่าเทียมกัน
ฝ่ายที่สนับสนุนแทบไม่ต้องทําอะไรเพราะมีการส่งเอกสารสรุปข้อดีของรัฐธรรมนูญไปถึงที่บ้านในขณะที่ฝ่ายคัดค้านแทบจะทําอะไรไม่ได้ เพราะแค่การออกมารณรงค์ให้โหวตโนก็กลับทําให้ 100 กว่าคนต้องถูกจับกุมและดําเนินคดี
แม้กระทั่งคําถามพ่วงที่นํามาสู่อํานาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ก็ถูกเขียนให้ซับซ้อนและชี้นํา ถ้าใครในที่นี้ยังคิดจะหยิบยกตัวเลข 16 ล้านที่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญในวันนั้นมาสกัดกั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้
ท่านอย่าลืมนะครับ ว่า 16 ล้านคนในวันนั้น ก็ไม่ได้เห็นชอบการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปตลอดกาล แต่เห็นชอบกับการให้มี กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ได้
ท่านอย่าลืมนะครับ ว่าท่านเองก็ไม่ได้ขัดขวางอะไรตอนที่มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่อง ระบบเลือกตั้งเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
และท่านอย่าลืมนะครับว่ารัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอในประชามติวันนั้น ก็ไม่ใช่ร่างเดียวกับ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกประกาศใช้
และในส่วนของ “เนื้อหา” รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ได้ขยายอํานาจของสถาบันทางการเมืองต่างๆ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ระบอบประยุทธ์สามารถควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ หรือแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
การเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ไม่เพียงแต่เป็นการพยายามย้อนเข็มนาฬิกาของประชาธิปไตย แต่ยังเป็นการสกัดการ แข่งขันและผูกขาดอํานาจไว้กับฝ่ายการเมืองฝ่ายเดียว ที่ทําให้ไม่ว่าจะบริหารประเทศได้ถูกใจคนน้อยแค่ไหน ก็สามารถรักษาอํานาจไว้ได้
“เหมือนนักมวยที่ต่อยพลาดแค่ไหน กรรมการก็ให้ชนะในทุกยก” 
ด้วยเหตุทั้งหมดนี้ อาการของผู้ป่วยที่ชื่อ “ประเทศไทย” จึงหนักกว่าแค่ที่ “ยา” ทั่วๆ ไปจะรักษาได้
เพราะแม้เราจําหน่าย “ยา” ที่กําจัดไวรัสที่ชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ ออกไปได้ แต่อีกไม่นาน เขาอาจต้องล้มป่วยอีกครั้งเพราะไม่ แข็งแรงเพียงพอหรือมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์เดียวกันในอนาคตที่อาจจะมาในชื่ออื่น แต่ผ่านกลไกเดียวกัน ด้วยแรงหนุน เดียวกันและเพื่อเครือข่ายผลประโยชน์เดียวกัน ที่ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ
สิ่งที่เราต้องการตอนนี้ จึงไม่ใช่แค่การทําให้ประเทศ “หายป่วย” ผ่านการจ่าย “ยา” ที่ช่วยบรรเทาบางอาการ หรือกําจัดไวรัสบางตัว
แต่สิ่งที่เราต้องการตอนนี้ คือการทําให้ประเทศ “แข็งแรง” ผ่านการ “แก้รัฐธรรมนูญ”ที่เปรียบเสมือนการ “ฉีดวัคซีน” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อ “แหล่งกําเนิดไวรัส” ที่มีชื่อว่ารัฐธรรมนูญ 2560
แต่เช่นเดียวกับวัคซีนแก้โควิดวัคซีนแก้รัฐธรรมนูญ จําเป็นต้องฉีด 2 เข็ม
เข็มที่ 2 ที่จะนํามาสู่ภูมิคุ้มกันเต็มรูปแบบต้องเป็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนเจ้าของประเทศ ผ่าน สสร. ที่มา จากการเลือกตั้งทั้งหมดและมีอํานาจพิจารณาทุกหมวด ทุกมาตรา
แต่กว่าวัคซีนเข็มที่ 2 จะถูกฉีด ก็ต้องใช้เวลา เพราะต้องอาศัยการที่ประชาชนเข้าคูหาถึง 3 ครั้ง – 1 ครั้งเพื่อโหวตเห็นชอบกับ การตั้ง สสร. 1 ครั้งเพื่อเลือกตั้ง สสร. อีก 1 ครั้งเพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไม่ให้ทําลายประเทศไปมากกว่านี้ เราจึงจําเป็นต้องรีบฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ซึ่งก็คือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ทางเรามานําเสนอในวันนี้
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงไม่ได้มุ่งเป้าในการแก้ทุกปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 แต่มุ่งเป้าในการแก้ปัญหาที่เร่งด่วนที่สุด
ในเมื่อปัญหาหลักของรัฐธรรมนูญ 2560 คือการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอํานาจ เนื้อหาสําคัญของร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงแบ่งออกเป็นข้อเสนอ 4 ประการ เพื่อปลดอาวุธ 4 อย่าง ที่ระบอบประยุทธ์ใช้เพื่อสืบทอดอํานาจ โดยผม จะเป็นผู้ชี้แจง 2 ข้อเสนอ และ อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล จะเป็นผู้ชี้แจงอีก 2 ข้อเสนอ
ข้อเสนอที่ 1 คือ การยกเลิกวุฒิสภา เพื่อปรับระบบรัฐสภา มาเป็นระบบสภาเดี่ยวที่มีแต่สภาผู้แทนราษฎร
การผลักดันข้อเสนอนี้ ต้องอาศัยการเห็นพ้องกันใน 2 ประเด็น ซึ่งผมเปรียบเป็นบันได 2 ขั้น ที่ผมอยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมเดินกันในวันนี้
บันไดขั้นที่ 1 คือการยอมรับร่วมกัน ว่าโครงสร้างอํานาจและที่มาของวุฒิสภาที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ขาดความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย
หากเรายังต้องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สมการที่เราต้องยึดเป็นหลักในการออกแบบวุฒิสภา คือ อํานาจต้องเท่ากับที่มา
ถ้าหากวุฒิสภามีอํานาจสูง ที่มาของสมาชิกก็จําเป็นต้องมีความยึดโยงกับประชาชนสูง
แต่ถ้าหากวุฒิสภามีที่มาที่ไม่ยึดโยงโดยตรงกับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง วุฒิสภานั้นจะมีอํานาจที่สูงไม่ได้
หากเราหันไปมองประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกที่มีวุฒิสภา เราจะเห็นว่าอํานาจและที่มาของวุฒิสภาของเขามีความสอดคล้องกัน
ถ้าเราหันไปมองที่สหราชอาณาจักร เราจะเห็นว่าถึงแม้วุฒิสภาของเขาจะมาจากการแต่งตั้ง แต่วุฒิสภาก็มีอํานาจน้อย ทํา ได้มากที่สุดคือแค่กลั่นกรองกฎหมาย หรือชะลอร่างกฎหมายไว้ 1 ปี
ถ้าเราหันไปมองที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จะเห็นว่าวุฒิสภาของเขามีอํานาจเยอะถึงขั้นถอดถอนประธานาธิบดีได้ แต่ที่เขามีอํานาจเยอะได้ก็เพราะเขามาจากการเลือกตั้ง
แต่พอเรามองย้อนกลับมาดูที่วุฒิสภาของไทยปัจจุบัน จะเห็นว่าโครงสร้างอํานาจและที่มาของวุฒิสภาเราไม่สอดคล้องกัน เพราะในขณะที่วุฒิสภาของเรามีอํานาจล้นฟ้า แต่กลับมีที่มาที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนเลย
ถ้าเราเริ่มจากอํานาจ เราจะเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อํานาจวุฒิสภาเยอะกว่าที่เคยเป็นมาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
อํานาจของ ส.ว. 250 คน ในการ่วมเลือกนายกฯ ส.ส. 500 คน ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเกือบ 40 ล้านคน เป็นสิ่งที่ ขัดอย่างชัดเจนมากกับหลัก 1 สิทธิ 1 เสียง ของระบอบประชาธิปไตย พอคํานวนตัวเลขออกมาแล้ว เราจะเห็นว่าระบบแบบนี้ จะทําให้ ส.ว. 1 คน มีอํานาจเท่ากับประชาชน 70,000 คน และ ทําให้ใครที่คุม ส.ว. ได้ 250 คน มีอํานาจเท่ากับประชาชนถึง 19 ล้านคน
แต่นอกจากอํานาจเลือกนายกฯ ส.ว. 250 คน ยังมีอํานาจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอํานาจในการร่วมโหวตกฎหมายปฏิรูปประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอํานาจในการรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระทุกคน หรือแม้กระทั่ง อํานาจในการปัดตกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าการแก้ไขนั้นจะได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนทั่วประเทศ หรือ ส.ส. ทั้งสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม
แต่ในขณะที่อํานาจเยอะขนาดนี้ วุฒิสภาชุดปัจจุบันกลับมีที่มาที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน
หลายท่านที่ดํารงตําแหน่งสมาชิกวุฒิสภาอยู่ในขณะนี้ อาจจะเป็นที่ยอมรับในวงการที่ท่านอยู่ แต่ไม่ว่าท่านจะเก่งแค่ไหนก็ ปฏิเสธข้อเท็จจริงไม่ได้ว่าที่มาของท่านไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน และเต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน
244 ท่านในที่นี้ มาจากการจิ้มเลือกโดย คสช. ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพื่อให้ในที่สุด กลับมาเลือกหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ อีก 6 ท่านในที่นี้ ได้มาอยู่ตรงนี้เพียงเพราะเป็น ผบ. เหล่าทัพ ซึ่งก็นํามาสู่คําถามสารพัดถึงความเหมาะสมของ การที่ข้าราชการประจํา มาควบตําแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติ
ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับถึงกรณีที่ 3 ใน 10 ของคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ตัดสินใจคัดเลือกพี่หรือน้องตัวเองมาเป็น ส.ว.
และใครที่อาจจะยังรู้สึกดีว่าอย่างน้อยคณะกรรมการอีก 7 คน ยังมีจิตสํานึกที่ดีในการไม่แต่งตั้งพี่น้องตนเอง อย่าเพิ่งดี ใจไปครับ เพราะจาก 7 คนนั้น มีอีก 6 คนที่ถึงแม้จะไม่ได้คัดเลือกพี่น้องตัวเองมาเป็น ส.ว. แต่คัดเลือกตัวเองมาเป็น ส.ว. เลย
ด้วยอํานาจที่ล้นฟ้าและที่มาที่มีข้อกังขาขนาดนี้ ผมจึงอยากเชิญชวนให้เรายอมรับร่วมกันก่อนเป็นขั้นแรก ว่าวุฒิสภาที่มี โครงสร้างอํานาจและที่มาที่เป็นอยู่นี้ ไม่ควรมีที่ยืนในประเทศที่อ้างว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
พอยอมรับตรงนี้แล้ว เราจึงไปสู่ประเด็นที่ 2 หรือบันไดขั้นที่ 2 ซึ่งก็คือการมาเห็นตรงกันว่า “รัฐสภาที่ดีที่สุด คือรัฐสภาที่ไม่ต้อง มีวุฒิสภา”
ในการอภิปรายเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ผมเห็นความพยายามของหลายฝ่ายที่ยื่นข้อเสนอต่างๆเพื่อพยายามปรับ ให้วุฒิสภามีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
บางฝ่ายเสนอให้มีการลดอํานาจ แต่คงไว้ซึ่งการเป็นวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง
บางฝ่ายเสนอให้คงอํานาจหลายส่วนไว้ แต่ให้กําหนดว่า ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง
จะเสนอทางไหน ผมก็เห็นวุฒิสภาท่านก็ปฏิเสธหมดทุกทาง
วันนี้ผมจึงอยากมาเสนออีกแนวทางหนึ่ง ที่ไม่ได้เสนอบนพื้นฐานของอคติที่มีต่อวุฒิสภาชุดนี้เป็นการส่วนตัว แต่เป็นการเสนอ ด้วยหลักการที่จะออกแบบโครงสร้างการเมืองใหม่ให้กระชับ ก้าวหน้า และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
แนวทางที่ว่านี้ก็คือการหันมาใช้ระบบสภาเดี่ยวไม่ต้องมีวุฒิสภาเลย และการที่มีแต่เพียงสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง
ผมคิดว่าแนวทางนี้ มีข้อดีอยู่หลักๆ 3 ข้อ คือ “ถูกกว่า เรียบง่ายกว่า และทันสมัยกว่า”
ข้อดีประการที่หนึ่ง คือแนวทางสภาเดี่ยว จะช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศ หากเราคํานวณเพียงแค่เงินเดือนของ ส.ว. 250 คน และ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชํานาญการ และผู้ช่วย ของแต่ละคน เราจะเห็นว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาทต่อปี หากรวม ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารจัดเลี้ยง ค่าประชุมกรรมาธิการ รวมถึงค่าเดินทาง ต่างๆ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่น้อย กว่า 1,000 ล้านบาทต่อปีแน่นอน
ผมไม่ทราบนะครับ ว่าประชาชนที่รับฟังอยู่ทางบ้าน รู้สึกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี คุ้มกับการมีวุฒิสภาหรือไม่ แต่ผมก็รู้สึกตื่นเต้น ที่ได้มีโอกาสจะรอฟังสมาชิกวุฒิสภาทุกท่าน อภิปรายกับประชาชนทุกคนทั่วประเทศวันนี้ ว่าทําไมเขา ควรจ่ายเงินปีละ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้เรายังมีวุฒิสภาอยู่
ข้อดีประการที่สอง คือแนวทางสภาเดี่ยว จะเป็นทางออกที่เรียบง่ายและปกติที่สุด ในการทําให้รัฐสภามีความยึดโยงกับ ประชาชนและอยู่ในกรอบประชาธิปไตย
ต้องยอมรับว่าการจะออกแบบให้อํานาจและที่มาของวุฒิสภาสอดคล้องกันเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ไม่ว่าจะในต่างประเทศหรือในไทย
ประเทศนิวซีแลนด์เคยเลือกมีวุฒิสภาแต่งตั้งที่มีอํานาจน้อย แต่ก็ต้องพบกับความยากลําบากที่จะหากระบวนการ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นกลางทางการเมืองจริง ๆ ส่งผลให้มีการเสนอยกเลิกวุฒิสภาในปี 1951
ประเทศสวีเดนก็เคยเลือกมีวุฒิสภาเลือกตั้งที่มีอํานาจเยอะ แต่ก็พบว่าพอมีทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรที่มา จากการเลือกตั้งทั้งคู่ ทั้ง 2 สภาก็เริ่มมีลักษณะทางการเมืองที่คล้ายคลึงกัน ส่งผลให้มีการยกเลิกวุฒิสภาในปี 1970
ในไทยเองการออกแบบวุฒิสภาอํานาจและที่มาสอดคล้องกัน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งตาม รัฐธรรมนูญ 2540 ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดในการหาสมดุลนี้ แต่วุฒิสภาชุดนั้นก็หนีไม่พ้นข้อกล่าวหา ว่า เป็นตัวแทนที่มาจากกลุ่มการเมืองกลุ่มเดียวกันกับที่นั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถึงตรงนี้อาจไม่ได้ทําให้วุฒิสภานั้น ขาดความชอบธรรมในเชิงประชาธิปไตย แต่ก็ทําให้ชวนคิดว่าเราจะมี 2 สภาที่หน้าตาเหมือนกันไว้ทั้งคู่ทําไม
การใช้ระบบสภาเดี่ยว จึงเป็นทางเลือกที่เรียบง่าย และทําให้เราไม่จําเป็นต้องเสียเวลาไปกับการหาสมดุลกับสิ่งที่พยายามหากันมาหลายสิบปี แต่ก็ยังไม่พบเจอ 
ข้อดีประการที่สาม คือแนวทางสภาเดี่ยว จะเป็นการออกแบบกระบวนการนิติบัญญัติ ที่ทันสมัย และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกมากกว่า
การคงไว้ซึ่งกระบวนการนิติบัญญัติที่ต้องผ่านทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา อาจทําให้กฎหมายของประเทศไทยไม่มีความคล่องตัวพอในการปรับเปลี่ยนให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วขึ้น และเทคโนโลยีที่ถูกคิดค้น เผยแพร่ และทําลายล้างกันอยู่ตลอดเวลา
ผมเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาหลายท่าน ก็ยอมรับถึงประโยชน์ของการพิจารณากฎหมายให้รวดเร็ว แม้กระทั่ง รัฐธรรมนูญ ปัจจุบันเองก็กําหนดให้กฎหมายสําคัญๆ อย่างการปฏิรูปประเทศหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้ ถูก พิจารณาโดยทั้งรัฐสภาในรวดเดียว แทนที่จะต้องผ่านสภาสองชั้น
ความผิดปกติของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้อยู่ที่การเพิ่มความรวดเร็วในการพิจารณากฎหมายสําคัญๆ แต่มันอยู่ที่การที่เรามี 250 คน ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มาร่วมโหวตด้วยต่างหาก
แต่นอกจากข้อดี 3 ข้อดีนี้แล้ว ผมก็ได้มีโอกาสรับฟังถึงข้องกังวลอื่นๆ ที่บางท่านอาจจะมีหากเราจะไม่มีวุฒิสภา ผมเลยอยากใช้เวลาอีกสักนิดเพื่อคลายข้อกังวลของท่าน
เพราะสําหรับสิ่งที่ท่านกังวลว่าเราจะสูญเสียไปหากไม่มีวุฒิสภา ผมมองว่ามีกลไกอื่นที่มาทดแทนได้และอาจมีประสิทธิภาพกว่า
หากท่านกังวลว่าวุฒิสภาควรมีอยู่เพื่อมีพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่าง ๆ ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นใน ประเด็นทางกฎหมาย ผมก็เสนอว่ากลไกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่ก็สามารถถูกปรับเปลี่ยน ให้เพิ่มพื้นที่ตรงนี้ได้ แถมอาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากกว่า เนื่องจากเป็นการให้พื้นที่ทํางานแก่ผู้เชี่ยวชาญ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการพิจารณาร่างกฎหมาย แทนที่จะไปห้อยอยู่ขั้นตอนท้ายสุดในการกลั่นกรองกฎหมาย
หากท่านกังวลว่าวุฒิสภาควรมีอยู่เพื่อเป็นตัวแทนของจังหวัดที่อาจจะมีจํานวนประชากรและจํานวน ส.ส. ในสภาน้อย ผมก็ขอเสนอว่าสิ่งที่คนในทุกพื้นที่ในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศต้องการมากกว่าการมี ส.ว. จากจังหวัดเขามานั่ง อยู่ในอาคารรัฐสภานี้ คือการที่เรากระจายอํานาจจากส่วนกลางให้เขาได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของเขาเอง และ ให้จังหวัดของเขามีอํานาจบริหารจัดการตนเองได้มากขึ้น
และหากท่านกังวลว่าวุฒิสภาควรมีอยู่เพื่อถ่วงดุลอํานาจฝ่ายรัฐบาล ทางเราจึงเสนอให้เพิ่มอํานาจ ส.ส. ฝ่ายค้าน ให้ สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างเข้มข้นขึ้น ผ่านการกําหนดให้ตําแหน่งรองประธานรัฐสภา 1 ตําแหน่ง และตําแหน่งประธานกรรมาธิการที่สําคัญต่อการตรวจสอบ เช่น กรรมาธิการงบประมาณ ตกเป็นของฝ่ายค้าน
ยิ่งไปกว่านั้น ในโลกที่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างแพร่หลายขึ้น กลไกการถ่วงดุลอํานาจรัฐบาลที่
มีประสิทธิภาพมากที่สุด อาจไม่ใช่การหวังพึ่งบุคคลสองร้อยกว่าคนในสภาฯ แต่เป็นการติดอาวุธให้ประชาชนได้ตรวจสอบรัฐบาลโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการทําให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการดําเนินงานของรัฐได้มากขึ้น หรือ ออกกฎหมายคุ้มครองคนที่กล้าออกมาเปิดโปงการทุจริตและความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล
ท่านสังเกตไหมครับว่าในแต่ละครั้งที่รัฐบาลชุดปัจจุบันยอมถอยเรื่องร่างกฎหมายหรือการกระทําบางอย่าง
ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน อย่างเช่น กรณีของการชะลอการซื้อเรือดําน้ำ ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้มาจากการ ทักท้วงของสมาชิกวุฒิสภาในรัฐสภาแห่งนี้ แต่มาจากเสียงเรียกร้องของประชาชนนอกสภาในโลกออนไลน์ หรือบนท้องถนน ที่ก้องหูจนรัฐบาลเพิกเฉยไม่ได้
ข้อกังวลเหล่านี้เป็นข้อกังวลที่ผมและทีมมีคําตอบและยินดีที่จะตอบ แต่หากสมาชิกท่านใดที่เคยปกป้องวุฒิสภาชุดนี้มา และหยิบยกข้อกังวลเหล่านี้ ผมต้องขออนุญาตตั้งคําถามถึงความจริงใจของท่าน
เพราะหากท่านอ้างว่าประเทศเราต้องมี ส.ว. เพื่อมีพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละสาขาอาชีพ ผมก็ต้องถามกลับไปว่า ท่านรับได้อย่างไร กับวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ที่เกือบครึ่งประกอบไปด้วยคนที่เคยทําเพียงแค่ 2 อาชีพ คือ ทหารและตํารวจ 
เพราะหากท่าน อ้างว่าประเทศเราต้องมี ส.ว. เพื่อให้เป็นตัวแทนของจังหวัดที่ประชากรน้อย ผมก็ต้องถามกลับไปว่าท่านรับได้อย่างไรกับวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ที่ออกโรงสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ไม่พูดถึงคําว่า “กระจายอํานาจ” สักคําเดียว 
เพราะหากท่าน อ้างว่าประเทศเราต้องมี ส.ว. เพื่อถ่วงดุลรัฐบาล ผมก็ต้องถามกลับไปว่า ท่านรับได้อย่างไร กับ วุฒิสภาชุดปัจจุบัน ที่ให้ท้ายและรับรองแทบจะทุกการกระทําหรือทุกมติของรัฐบาลครั้งเดียวที่ผมเห็นท่านลุกฮือ ออกมาคัดค้าน ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ก็คือตอนที่พวกเขาเสนอให้ตัดอํานาจของท่านในการเลือกนายกฯ
โดยสรุปแล้ว แม้ข้อเสนอเรื่องการยกเลิกวุฒิสภาและใช้ระบบสภาเดี๋ยวอาจฟังดูแปลกใหม่ในไทย แต่หากดูบริบทโลก เราจะเห็นว่าการใช้ระบบสภาเดี่ยวเป็นสิ่งที่ปกติมาก และมีข้อดีที่ถูกพิสูจน์มาแล้วในประเทศอื่นๆ
ถ้าเราสํารวจแค่เฉพาะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลก ที่เป็นรัฐเดี่ยว ไม่ใช่สหพันธรัฐ และที่ใช้ระบบรัฐสภา ไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี เราจะเห็นว่า 2 ใน 3 ของประเทศเหล่านั้น เลือกใช้ระบบสภาเดียว
สภาเดี่ยวจึงเป็นทางเลือกหลัก สภาคู่ต่างหากที่เป็นทางเลือกรอง
เพราะฉะนั้น คําถามที่เราต้องพิสูจน์ในวันนี้ อาจไม่ใช่คําถามที่ฝั่งผมต้องเป็นฝ่ายตอบว่า “ทําไมต้องยกเลิก ส.ว.”
แต่เป็นคําถามว่าที่สมาชิกรัฐสภาที่ต้องการคงวุฒิสภาไว้ต่างหาก ที่ต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์กับประชาชนให้ได้ว่า “ทําไมต้องมีส.ว.”
ข้อเสนอที่ 2 ของร่าง คือ การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ
การเสนอให้ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ แผนปฏิรูปประเทศ ไม่ได้หมายความว่าทางเราไม่เห็นถึงประโยชน์ของการดําเนินนโยบายที่มีความต่อเนื่อง หรือ การบริหารประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ แต่หากคําพูดของนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่ง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นยุทธศาสตร์ที่ “ทําตามก็พัง ไม่ทําตามก็ผิด”
การที่เราบอกว่าการเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะทําให้ประเทศพัง ไม่ได้เป็นการดูถูกดูแคลนผู้เชี่ยวชาญที่เขียนแผนนี้ขึ้นมา
จริงอยู่ครับ ว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. ก็มีส่วนที่สมควรจะถูกวิจารณ์ คณะกรรมการ 35 คน มีทหารถึง 11 คน และภาคธุรกิจถึง 9 คน โดยไม่มีตัวแทนจากภาควิชาการหรือภาคประชาชนเลยสักคน
จริงอยู่ครับ ว่ากระบวนการรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนก็ถูกรวบรัด ถึงขั้นที่กฎหมาย พ.ร.บ. ยุทธศาสตร์ชาติที่ออกมาใน ปี 2560 เขียนเอาไว้ในมาตรา 28 ว่าให้ถือว่าการรับฟังความเห็นนั้น “เสร็จสิ้นไปแล้ว” โดยอ้างอิงกระบวนการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 2 ปีก่อนกฎหมายจะออก
และจริงอยู่ครับ ว่าเนื้อหาของแผนหลายส่วนก็ดูเหมือนเป็นแผนที่ขาดการจัดลําดับความสําคัญของสิ่งที่ต้องทําก่อนหลัง และ ขาดความกล้าหาญที่จะตั้งเป้าหมายในหลายส่วนที่ไปไกลกว่าที่เราเคยทําได้มาแล้วในอดีต
แต่ถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการจะเก่งกาจแค่ไหน กระบวนการรับฟังความเห็นจะกว้างขวางแค่ไหน หรือเนื้อหาของแผน จะดีเลิศแค่ไหน การพยายามกําหนดเส้นทางของประเทศไว้ล่วงหน้าถึง 20 ปี ในโลกที่มีแต่ความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
อย่าว่าแต่ 20 ปีเลยครับ แค่ 2 ปีก็แทบจะเป็นไปไม่ได้
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ใครจะคาดคิดว่าโลกเราจะเผชิญวิกฤตโควิดที่มาสร้างความสูญเสียให้กับประเทศและชีวิตประชาชนได้ขนาดนี้
เมื่อคํานึงถึงทรัพยากรประเทศที่ต้องใช้ไปมหาศาล ทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดทํา ค่าใช้จ่ายธุรการ หรือเวลาของข้าราชการจํานวนมากที่ต้องเสียไปกับภารกิจที่งอกมาจากการมีแผนนี้ ผมจึงเกรงว่าการมียุทธศาสตร์ 20 ปี อยู่จะเป็นสิ่งที่ได้ไม่คุ้มเสีย”
แต่ถึงใครจะมองต่างกับผม และคิดว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นยุทธศาสตร์ที่ “ทําตาม แล้วไม่พัง” สิ่งที่น่ากังวลกว่าของ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็การเป็นยุทธศาสตร์ที่ “ไม่ทําตาม แล้วผิด”
เพราะถ้ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นสิ่งที่มีอยู่เฉยๆ และไร้ประโยชน์ อย่างมากที่สุดที่เราเสียก็คือเวลาและเงิน แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือการที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ตามมา เปิดช่องให้ลงโทษรัฐบาลที่ไม่กระทําตามยุทธศาสตร์ได้ถึงขั้นขับรัฐมนตรีจากตําแหน่ง
โดยถ้ามองลึกเข้าไปอีก เราจะเห็นว่าองคาพยพที่ถือดาบในการยื่นฟ้องร้องและพิพากษาว่ารัฐบาลทําตามยุทธศาสตร์ชาติ หรือไม่ ก็ล้วนเป็นสถาบันทางการเมืองคนที่ปัจจุบันระบอบประยุทธ์ควบคุมได้หมดไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็น ส.ว. ศาล รัฐธรรมนูญ หรือ ป.ป.ช.
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ดู “เปล่าประโยชน์” จะดู “มีประโยชน์” ทันที ไม่ใช่ในฐานะเครื่องมือออกแบบนโยบายให้ก้าวทันโลก แต่เป็นเครื่องมือของระบอบประยุทธ์ในการสืบทอดอํานาจผ่านการเล่นงานคู่แข่งทางการเมือง
การมีอยู่ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงเปรียบเสมือนโซ่ตรวน ที่ล็อกคอประเทศ
การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะไม่ได้ทําให้ประเทศเกิดโกลาหลและไร้ทิศทาง แต่จะทําให้รัฐบาลมีความยืดหยุ่นในการ ออกแบบและปรับนโยบายให้สอดรับกับสถานการณ์หรือวิกฤตในแต่ละช่วงเวลา และทําให้อํานาจการตัดสินคุณภาพของ นโยบายอยู่ในมือประชาชนผ่านสนามเลือกตั้ง
ในส่วนของข้อเสนออีก 2 ข้อ คือข้อที่ 3 เรื่องศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และข้อที่ 4 เรื่องมาตรการป้องกันรัฐประหาร ผมขออนุญาตให้ผู้ชี้แจงท่านอื่นลงรายละเอียด แต่ผมเพียงอยากย้ำว่าข้อเสนอทั้งหมดนี้ ไม่ได้เป็นข้อเสนอที่สุดโต่ง แต่เป็น ข้อเสนอที่ “ปกติ” มากในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย
ท่านประธานและสมาชิกรัฐสภาทุกท่านครับ ทางเราต้องย้ำอีกครั้งว่า 4 ข้อเสนอนี้ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดของ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้ แต่เป็นวัคซีนเข็มที่ 1 ที่พยายามแก้ประเด็นที่เร่งด่วนที่สุด ที่ปัจจุบันทําให้รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกใช้ เป็นเครื่องมือสืบทอดอํานาจของระบอบประยุทธ์
สมาชิกรัฐสภาบางท่าน คงพยายามจะทําให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของเราดูน่ากลัว สุดโต่ง หรือเป็นการพยายามเอาชนะทางการเมือง แต่ผมอยากให้ทุกท่านลองเปิดใจและสังเกตดูดีๆ
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของเราไม่ได้ต้องการโจมตีใครในฐานะตัวบุคคล แต่เพียงต้องการซื้อระบบที่ไม่เป็นธรรมต่อสังคม
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของเราไม่ได้ต้องการทําให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ แต่เพียงต้องการสร้างการเมืองที่ไม่มีประชาชนคนไหนถูกเอาเปรียบ
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของเราไม่ได้ต้องการตอบสนองฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา แต่ต้องการสร้างระบบการเมืองที่เป็นกลางกับทุกความฝัน
ระบบที่เป็นกลางที่ทุกคนไม่ว่าจะเกิดมาเป็นใคร มี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่าเทียมกันในการกําหนดทิศทางและอนาคตของประเทศ 
ระบบที่เป็นกลางที่ทุกพรรคการเมืองไม่ว่าจะฝักใฝ่อุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน มีโอกาสเท่าเทียมกันในการแข่งขันเพื่อเข้ามาบริหารประเทศ 
ระบบที่เป็นกลางที่ทุกคน ไม่ว่าจะมีอํานาจมากน้อยแค่ไหน ถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นโดยศาลและองค์กรอิสระที่ เป็นกลางจริง ระบบที่เป็นกลาง ที่ทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นใครในประเทศนี้ อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกฎหมายทุกฉบับตั้งแต่ รัฐธรรมนูญยันพระราชบัญญัติ ด้วยมาตรฐานเดียวกัน
การกระทําของรัฐภายใต้ระบอบประยุทธ์ ที่พยายามจะทําลายระบบที่เป็นกลางแบบนี้ ล้วนเป็นส่วนสําคัญในการบั่นทอน ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสถาบันทางการเมือง
ข้อเสนอของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้จึงไม่ได้เป็นการทําลายล้างสถาบันทางการเมืองต่างๆ ที่ท่านหวงแหน แต่กลับจะเป็น การคืนศักดิ์ศรีให้กับสถาบันเหล่านั้น
การปรับสู่ระบบสภาเดี่ยว ไม่ได้จะทําลายกลไกตรวจสอบถ่วงดุลของรัฐสภา แต่จะทําให้รัฐสภากลับมาเป็นความหวังของประชาชนในการก้าวทันและนําพาการเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศ
การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้จะทําลายความเป็นอิสระของระบบตุลาการ แต่จะทําให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่นในความเป็นกลางของคําวินิจฉัยศาล
การปฏิรูปองค์กรอิสระ ไม่ได้จะทําให้ กกต. หรือ ปปช. ไร้น้ำยา แต่จะทําให้องค์กรอิสระมีความกล้าหาญในการ ตรวจสอบรัฐบาลจากทุกฝ่ายมากขึ้น
การยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไม่ได้จะทําให้ข้าราชการขาดทิศทางในการทํางาน แต่จะทําให้ข้าราชการมีเวลา และความยืดหยุ่นมากขึ้นในการรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า
การตั้งผู้ตรวจการกองทัพ ไม่ได้จะทําให้กองทัพขาดเกียรติยศ แต่จะทําให้กองทัพได้พิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าสามารถ ดําเนินการได้อย่างมืออาชีพ โดยไม่ถูกแทรกแซงการเมือง
และถ้าพูดให้ถึงที่สุด การรื้อระบอบประยุทธ์ ก็ไม่ได้จะทําให้ พล.อ.ประยุทธ์ หมดอนาคต แต่จะทําให้เขากลับมาเป็น นายกฯ ได้อย่างสง่าผ่าเผยมากขึ้น หากเขาสามารถชนะในการเลือกตั้งที่เป็นธรรมได้จริง
ความจริงแล้วการรักษาศรัทธาในสถาบันทางการเมืองใดๆ ก็ตาม ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการหยุดอยู่กับที่ แต่จะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อสถาบันฯนั้นก้าวเดินไปพร้อมกับเข็มนาฬิกาที่หมุนไปตามความต้องการของประชาชน
แต่นอกจากจะคืนศักดิ์ศรีให้กับสถาบันทางการเมือง หัวใจสําคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังต้องการสร้างระบบการเมืองที่ “ไว้วางใจประชาชน”
ระบบที่ไว้วางใจประชาชน ให้เขามีสิทธิเลือกผู้นําของตนเอง โดยไม่ต้องมี ส.ว. 250 คนมาร่วมเลือกด้วย
ระบบที่ไว้วางใจประชาชนให้เขาเลือกนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองมานําเสนอกับเขาได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องกังวลว่าเลือกไปแล้วก็ทําให้เป็นจริงไม่ได้ เพราะมียุทธศาสตร์ชาติที่ล็อกไว้แล้วล่วงหน้า 20 ปี
ระบบที่ไว้วางใจประชาชน ให้เขาแก้ทุกวิกฤตทางการเมืองกันเองผ่านกลไกรัฐสภา โดยไม่ต้องให้ทหารเข้ามายึ อํานาจและอ้างว่าเพื่อจะมาแก้ปัญหาให้พวกเขา
ผมเลยอยากเชิญชวนสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน ไม่ว่าท่านจะไว้วางใจผมหรือผู้สนับสนุนร่างท่านอื่นหรือไม่ ไม่ใช่สาระสําคัญ
สิ่งที่สําคัญ คือการที่ท่านไว้วางใจประชาชน และโหวตรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อสร้างระบบ การเมืองที่ไว้วางใจประชาชน
และถึงแม้ท่านจะยังไม่เห็นด้วยกับผม ว่าเราควรมีระบบการเมืองที่ถูกสร้างบนพื้นฐานของการไว้วางใจประชาชน ผมขอเถอะครับ ให้ท่านเลือกไว้วางใจประชาชนแค่ครั้งเดียว ในการตัดสินใจเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ด้วยเสียงของเขาเอง
เพราะในเมื่อมาตรา 256 ได้กําหนดไว้อยู่แล้ว ว่าหากร่างนี้ผ่านการพิจารณา 3 วาระของรัฐสภา จะต้องมีการจัดทําประชามติกับคนไทยทั่วประเทศว่าเห็นชอบกับร่างแก้ไขนี้หรือไม่
ถ้าท่านคิดว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเนื้อหาแย่ขนาดนั้นจริง ท่านก็ไว้วางใจประชาชนเถอะครับ ว่าพวกเขาก็จะคว่ำร่างนี้ด้วยเสียงของพวกเขาเอง
ตลอดการอภิปรายของที่ผ่านมา ผมไม่เคยสักครั้ง ที่จะหยิบยกตัวเลข 135,247 ชื่อเมื่อ 5 เดือนที่แล้ว มาอ้างว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ
ตลอดการอภิปรายหลังจากนี้ ท่านก็ควนจะหยุดการหยิบยกตัวเลข 16 ล้านเสียง จากประชามติเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มาอ้างว่าเป็นความเห็นส่วนใหญ่ของประเทศในทุกวันนี้
ถ้าอยากวัดกันจริงๆ ว่าเสียงส่วนใหญ่ของประเทศคิดเห็นอย่างไร ทางเดียวที่จะวัดได้ ก็คือการรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ และไปดูผลการลงประชามติที่จะต้องเกิดขึ้น
หากท่านฟังเช่นนี้แล้วท่านยังเลือกที่จะตัดหน้าประชาชนและโหวตไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แทนที่จะไปวัดกันที่ประชามติ
การอภิปรายของท่านในวันนี้ จะถูกจดจําไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ใช่ในฐานะส่วนหนึ่ง ของการอภิปรายคัดค้านร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่ม Re-Solution
แต่การอภิปรายของท่านในวันนี้ จะถูกจดจําไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในฐานะส่วนหนึ่งของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประชาชน ผู้มีอํานาจสูงสุดในประเทศ

ปิยบุตรยันศาล-องค์กรอิสระ ต้องถูกตรวจสอบ

ในลำดับต่อมา ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ “รื้อระบอบประยุทธ์” ขึ้นชี้แจงเนื้อหา โดยทำหน้าที่อธิบายในประเด็นการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และการลบล้างผลพวงรัฐประหารและการป้องกันรัฐประหาร และกล่าวเพิ่มเติมจากประเด็นของพริษฐ์ เรื่องการเพิ่มเติมบทบาทของฝ่ายค้านและบทบาทของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีเนื้อหา ดังนี้

เมื่อข้อเสนอในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ ยืนยันให้ประเทศไทยใช้ระบบสภาเดี่ยว ยกเลิกวุฒิสภาเหลือแต่สภาผู้แทนราษฎร จึงจำเป็นต้องมีระบบตรวจสอบเข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม เพิ่มเติมบทบาทของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและเพิ่มเติมบทบาทในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ตัวอย่างเช่น 

ข้อที่หนึ่ง กำหนดไว้ว่ารองประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อย 1 ท่านจะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากฝ่านค้าน

ข้อที่สอง กำหนดไว้ว่า ประธานกรรมาธิการสามัญในคณะสำคัญที่มีบทบาทในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินอย่างน้อย 5 คณะจะต้องยกตำแหน่งนี้ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากฝ่านค้าน

ข้อที่สาม การแบ่งสรรปันส่วนประธานกรรมาธิการวิสามัญ จำต้องแบ่งสัดส่วนให้ส.ส.พรรคฝ่ายค้านด้วยเช่นกัน ทั้งยังเสนอให้ยกเลิกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเงิน เมื่อไรก็ตามที่ ส.ส.เสนอร่างพรบ.ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเงิน จะต้องได้ลายมือชื่อนายกฯ รับรอง หากไม่มี ร่างกฎหมายนั้นจะไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภา เรื่องนี้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ หากแต่เหตุผลในยุคนี้ใช้การไม่ได้แล้ว เหตุผลในอดีตคือเรามองว่านายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ย่อมรู้ดีว่าเงินในกระเป๋ารัฐบาลเหลือเท่าไร เมื่อส.ส. เสนอกฎหมายอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายควรต้องถามนายกรัฐมนตรีสักคำหนึ่ง แต่ใช้ไปใช้มากลับเปิดช่องทางให้นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว สามารถคว่ำร่าง พ.ร.บ. ที่ส.ส. เสนอขึ้นมา ถ้าหากปล่อยร่างนี้เข้าสู่สภาไปแล้วฝ่ายบริหารไม่เห็นด้วยก็ยังมีเสียงส.ส.ข้างมากโหวตคว่ำได้อยู่ดี ดังนั้นเราจึงเห็นควรยกเลิก พ.ร.บ. เกี่ยวเนื่องกับการเงิน และเปิดโอกาสให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณากันเอง

ประเด็นต่อไป คือ บังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส. ระบบรัฐสภาทั่วโลกไม่ได้กำหนดไว้ แต่โดยปฏิบัติส.ส.จะโหวตเลือก ส.ส. กันเองขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี หากไม่เขียนบังคับอย่างนี้ ประสบการณ์แสดงให้เห็นว่าจะได้ทหารมาเป็นนายกรัฐมนตรีทุกครั้งไป จึงต้องกำหนดให้ชัดเจน และยังต้องเพิ่มบทบาทประชาชน ส่งเสริมประชาธิปไตยทางตรงแบบมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ทั้งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และร่างพ.ร.บ. ทุกหมวดไม่เฉพาะหมวด 3 สิทธิเสรีภาพ และหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ต่อไปนี้ประชาชน 20,000 คนขึ้นไปเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญได้ ประชาชนหนึ่ง 10,000 คนขึ้นไปเสนอร่าง พ.ร.บ.ได้ทั้งหมดไม่จำกัดว่าหมวดใด

เสนอให้ตั้งคณะผู้ตรวจการกองทัพ มาจากการแบ่งสัดส่วนส.ส.อย่างเป็นธรรม ฝ่ายรัฐบาล 5 คน ฝ่านค้าน 5 คน โดยมาจากหลักการรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ ซึ่งเป็นหลักทั่วไปในประเทศเสรีประชาธิปไตยทั่วโลก กองทัพเป็นข้าราชการขึ้นกับรัฐบาลพลเรือน ขึ้นกับสภาผู้แทนราษฎร คณะผู้ตรวจการกองทัพนี้จะทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายของกองทัพ การจัดซื้อจัดจ้าง การหารายได้ของกองทัพ และที่สำคัญเป็นหลักประกันให้ทหารชั้นผู้น้อย ทหารเกณฑ์ยศลดหลั่นลงไปได้มีโอกาสร้องเรียนเรื่องวินัยต่อผู้ตรวจการกองทัพ หากเป็นไปตามระเบียบปัจจุบันเป็นการร้องเรียนภายในองค์กร ทหารชั้นผู้น้อยไม่อาจร้องเรียนเรื่องวินัยตนเองสำเร็จได้ เพราะผู้พิจารณาเป็นนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาของตนเอง ส.ส.จึงควรเข้ามามีบทบาทเรื่องนี้ ผู้ตรวจการกองทัพนี้ ควรแบ่งสัดส่วนฝ่ายรัฐบาล 1 คน ฝ่ายค้าน 1 คน เข้าไปนั่งในสภากลาโหม เพื่อเป็นหูเป็นตาว่าพิจารณาอะไรกัน

ในส่วนประเด็นการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ปิยบุตร ชี้แจงว่า ก่อนปี 2540 เราไม่รู้จักศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 เริ่มต้นจากการปฏิรูปการเมือง ความคิดหลักของรัฐธรรมนูญฉบับธงเขียว เป็นดอกผลของการต่อสู้เรื่องการปฏิรูปการเมืองมาตั้งแต่ 2530 นำมาซึ่งการออกแบบรัฐธรรมนูญ 40 เจตนารมณ์สำคัญมีสามข้อคือ 1.ต้องการให้การเมืองรัฐบาลมีเสถียรภาพ 2.มีระบบตรวจสอบอำนาจรัฐของรัฐบาล 3. มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน

เหล่านี้เป็นที่มาของการออกแบบองค์กรตรวจสอบต่างๆ หลายเรื่องนำเข้าจากรูปแบบของต่างประเทศ ปรับปรุงให้เป็นแบบของเรา จากการศึกษางานวิชาการ  แต่เมื่อใช้ไปเกิดปัญหาขึ้น ตอนออกแบบศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระนั้นอยากให้ที่มาหลุดออกจากส.ส. ให้ส.ส.มีส่วนเฉพาะกรรมการสรรหาเท่านั้น โดยเสนอชื่อให้วุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งให้ความเห็นชอบได้จำนวนตามที่กำหนด

สภาผู้แทนราษฎรจึงมีบทบาทเฉพาะประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้านเท่านั้นที่เข้าไปมีส่วนในการสรรหา แต่คนเคาะสุดท้ายคือวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ความฝันตอนนั้นหากเราได้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง จะสามารถทำให้การเมืองไทยพัฒนาไปได้ จะมีรัฐบาลที่เข้มแข็งพร้อมๆ กับระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งเช่นเดียวกัน

แต่ต่อมามีข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลครอบงำวุฒิสภา เพื่อครอบงำที่มาของศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นองค์กรอิสระอีกทีหนึ่ง จนถูกใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารในปี 2549 จึงต้องทำรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อปรับปรุงที่มาเสียใหม่ คล้ายแบบเดิมแต่สำคัญที่ว่าวุฒิสภา ให้มาจากการเลือกครึ่งหนึ่งแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง ทั้งยังเพิ่มบทบาทตุลาการศาลปกครอง ผู้พิพากษาศาลฎีกาเข้ามามีส่วนในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมากยิ่งขึ้น

สุดท้ายเกิดรัฐประหารในปี 2557 ขึ้น จนเกิดรัฐธรรมนูญ 2560 ขึ้น วุฒิสภาที่เป็นคนเคาะสุดท้ายว่าใครได้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ใครได้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ปัจจุบันกลายเป็นวุฒิสภา 250 คนที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะหัวหน้าคสช. แต่งตั้ง และยังมีผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระอีกหลายท่านที่มาจากความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในสมัยคสช.

ต่อให้เขียนไว้ว่าเป็นกลางและอิสระ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่าที่มามันเชื่อมโยงสภานิติบัญญัติแห่งชาติกับพล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคสช. ผลงานที่ผ่านของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ผ่านมามีปัญหา มีคำตัดสินชี้ขาดหลายเรื่องที่ประชาชนมีคำถามว่าสุดท้ายแล้วศาลรัฐธรรมนูญมีไว้เพื่อตรวจสอบหรือกลายเป็นเครื่องมือเพื่อให้ฝักใฝ่ทางการเมืองใช้ช่วงชิงผลประโยชน์กัน

หลายประเทศก็ประสบปัญหาคล้ายกันนี้ เป็นการเพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากจนสามารถชี้ชะตาทางการเมือง จนฝ่ายการเมืองต้องการช่วงชิงอำนาจองค์กรนี้ เพราะให้คุณให้โทษทางการเมืองได้อย่างมหาศาล ในเมื่อฝ่ายการเมืองต้องการเข้ามามีส่วนร่วมครอบงำ

ในประเด็นสุดท้าย ส่วนที่เกี่ยวกับการลบล้างผลพวงรัฐประหารที่ในหมวดสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ 2560 ปิยบุตร นำเสนอว่า  ข้อเสนอประการแรก คือ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองให้บรรดาประกาศ คำสั่ง คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 การเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ สร้างหลุมดำให้รัฐธรรมนูญ เป็นจุดด่างพร้อยของหลักความสูงสุดของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ทำให้คนกลุ่มหนึ่งใช้อำนาจอย่างไม่อาจโต้แย้งได้เลยว่าขัดรัฐธรรมนูญ 2560 คือการใช้อำนาจของคสช. ซึ่งข้อยกเว้นนั้นควรได้รับยกเว้นเฉพาะสมัยรัฐธรรมนูญชั่วคราว เฉพาะสมัยยังอยู่ระบบรัฐประหาร แต่เมื่อวันนี้กลับมาอยู่ในระบบรัฐธรรมนูญปกติจะเขียนคุ้มครองแบบนี้ไม่ได้ เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าเรายอมให้มีกฎหมายสองระบบ ไม่ใช่เขียนสิ่งที่เกี่ยวเนื่องในอนาคต เขียนทั้งอดีตและอนาคตให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย  อะไรที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มันย่อมชอบด้วยตัวมันเอง ยิ่งไปเขียนกำกับให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญยิ่งแสดงว่าไม่ชอบ

ประการต่อมา ในการทำรัฐประหาร ถ้าทำสำเร็จก็กลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แต่แพ้เป็นกบฏ ถูกดำเนินคดีอาญามาตรา 113 เมื่อไรก็ตามที่กระทำสำเร็จ ยึดอำนาจตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ นิรโทษกรรมตัวเองบอกว่าตัวเองไม่ผิด ไม่มีวันถูกดำเนินคดี หากการประกาศนิรโทษกรรมปี 2557 เป็นโมฆะ ทำให้รัฐประหารปี 2557 เป็นกบฏถูกดำเนินคดีต่อ ป้องกันนายทหารรุ่นหลังทำรัฐประหารอีก หากทหารคนหนึ่งถูกลงโทษ รุ่นต่อๆ ไปจะไม่กล้าทำรัฐประหารอีกแล้ว

ข้อถัดไปเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย เขียนไว้ด้วยว่าปวงชนชาวไทยมีสิทธิหน้าที่ในการต่อต้านรัฐประหารในทุกวิธีการ ทั้งบรรดาทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือนมีหน้าที่ไม่ทำตามคำสั่งของคนทำรัฐประหาร ยังเขียนอีกด้วยว่า ห้ามมิให้ศาลพิพากษาในลักษณะที่เป็นการยอมรับรัฐประหาร

ปิยบุตรแจงแก้ไขเพื่อปฏิรูป ต้องป้องกันรัฐประหาร

ปิยบุตร แสงกนกกุลในฐานะผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ “รื้อระบอบประยุทธ์” ลุกขึ้นชี้แจงเพื่อตอบคำถามสมาชิกรัฐสภาที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ มีใจความสำคัญ ดังนี้ 

ประเด็นที่ คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาตั้งข้อสังเกตว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้เป็นการปฏิวัติ ปิยบุตรชี้แจงว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ปฏิวัติ แบบที่ท่านตั้งข้อสังเกตไว้ เพราะปฏิวัติหมายถึงต้องล้มรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้วเขียนใหม่ ในลักษณะที่ไม่มีเค้าร่างแบบเดิมเลย  แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการปฏิรูป เราไม่ได้ทำลายรัฐธรรมนูญทิ้งทั้งฉบับ เราแก้ไขรายมาตรา ในประเด็นที่เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 และยังคงเหลือเค้ารางแบบเดิมทั้งหมด ประเทศไทยยังเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบเดิมทั้งหมด 

ส่วนกรณีที่มีสมาชิกตั้งข้อสังเกตว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเนื้อหาบั่นทอนความเป็นอิสระของศาล ปิยบุตรชี้แจงว่า กรณีที่เขียนว่าห้ามศาลรับรองการรัฐประหาร ทั้งนี้เพื่อให้ศาลมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ใช้อ้างในการวินิจฉัยพิพากษาคดีว่าต่อไปนี้ถ้ารัฐประหารสำเร็จ ศาลจะไม่รับรองรัฐประหารอีกแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาจากการพูดคุยกับผู้พิพากษา ตุลาการ ท่านก็บอกว่าจะให้ทำอย่างไร เมื่อกฎหมายมันเขียนแบบนี้ แนวคำพิพากษาศาลฎีกา วางมาแบบนี้ตั้งแต่ 2490 ว่าหากรัฐประหารสำเร็จกลายเป็นรัฐาธิปัตย์ ย่อมมีอำนาจเขียนรัฐธรรมนูญได้เอง ในเมื่อนิรโทษกรรมตัวเองแล้วก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ตุลาการหลายท่านอยากตัดสินใจจะขาดแต่ไม่มีตัวบทใดอ้างอิง ถ้าเราเขียนลงไปในรัฐธรรมนูญแบบนี้ ต่อไปตุลาการก็จะสามารถนำมาใช้ได้และไม่ยอมรับรัฐประหารได้ ตรงนี้ไม่ใช่การละเมิดความเป็นอิสระของตุลาการ ตรงกันข้าม จะทำให้ศาลสูงเด่นขึ้นไปอีกในฐานะองค์กรปกป้องประชาธิปไตยในการต่อต้านรัฐประหาร 

ประเด็นถัดไป ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เขียนว่าห้ามศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปิยบุตรระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นอำนาจทุกอย่างของศาลรัฐธรรมนูญมาจากรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจแก้รัฐธรรมนูญนั้นใหญ่กว่าอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ เราเรียกว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ที่มีสองลำดับ คือ 1. อำนาจต้นกำเนิดคือเขียนใหม่ทั้งฉบับ และ 2. อำนาจแก้ไข ดังนั้นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญย่อมใหญ่กว่าอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่เราดันเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตรวจสอบการแก้รัฐธรรมนูญได้ จึงเป็นเรื่องการขัดกันของอำนาจ 

ในส่วนประเด็นอำนาจการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ จะกระทบความเป็นอิสระของศาลและองค์อิสระนั้น ปิยบุตรกล่าวว่า ประเด็นนี้คิดมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เสนอเนื่องจากว่าในรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกถอดไป กลไกต่างๆ ไม่ได้ต่างกันเลย ต่างกันเพียงว่าคนที่จะถอดถอนเปลี่ยนจาก ส.ว. มาเป็นส.ส. เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญของเราจะไม่มี ส.ว.อีก 

ประเด็นถัดไป เรื่องการเข้าไปควบคุมที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ปิยบุตรกล่าวว่า นี่คือหลักถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน เพื่อยืนยันว่าจะไม่มีเสียงข้างมากฝั่งไหนยึดศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้อีกต่อไป แต่มาจากการแบ่งสรรปันส่วนที่ยุติธรรมที่สุด นั่นคือมาจากรัฐบาล สาม ฝ่ายค้านสาม และผู้พิพากษาตุลาการอีกสาม ท่านอาจคลางแคลงใจว่ามันคือ หกต่อสาม แบบนี้ทำไมให้ผู้พิพากษาน้อยกว่าส.ส. คำตอบคือ เวลาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีท่านกำลังสู้กับอำนาจนิติบัญญัติว่าสภาตรากฎหมายมาแล้วไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ท่านกำลังเข้าไปลบพ.ร.บ.ที่ออกมาใช่ไหม ท่านจึงต้องหาความชอบธรรมที่พอฟัดพอเหวี่ยงกัน นี่เป็นหลักการสากล ผมขอท้าให้ไปสำรวจศาลรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ทั่วโลกว่ามีที่ไหนบ้างที่ไม่ให้ส.ส.มีอำนาจในการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทุกที่มีหมด คือให้ส.ส.แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอนี้จะทำให้เกิดดุลยภาพ ไม่มีใครยึดศาลและองค์กรอิสระได้ และยังเชื่อมโยงกับสภาผู้แทนราษฎรด้วย

ปิยบุตรกล่าวว่า ผมฟังแล้วเพื่อนสมาชิกทำราวกับว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านจะไม่มีระบบตรวจสอบนักการเมือง ผมกลับเห็นตรงข้าม รัฐธรรมนูญไทยเป็นรัฐธรรมนูญที่ตรวจสอบนักการเมืองอันดับต้นๆของโลก เป็นรัฐธรรมนูญล้อมคอกนักการเมืองจนแทบกระดิกไม่ได้ ถ้าร่างฯนี้ผ่านจริง กกต.ก็ยังจัดการเลือกตั้ง มีอำนาจออกใบเหลือง ใบแดงเช่นเดิม ปปช. ยังมีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สิน ความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นเดิม ศาลรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจเช่นเดิม ที่เพื่อนสมาชิกถามว่าถ้าผ่านแล้วใครจะตรวจสอบส.ส.ล่ะ ผมขอตอบว่า ส.ส.โดนตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่แล้ว ผมไม่ได้ยกเลิกการตรวจสอบเพียงแต่สร้างระบบดุลยอำนาจให้มาเกาะเกี่ยวกับสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น มิฉะนั้น เราจะกลับไปประเด็นปัญหาที่ผมตั้งไว้แต่แรกว่า เราให้องค์กรเหล่านี้มาตรวจสอบ แล้วใครจะเป็นคนตรวจสอบคนที่ตรวจสอบเราอีกที เรารู้ได้อย่างไรว่าเขาจะใช้อำนาจโดยชอบเสมอ 

ณัชปกร นามเมือง จาก iLaw ตอบข้อชี้แจง #ประชุมสภา เรื่องการเสนอให้ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศออกจากรัฐธรรมนูญ 2560 ตามข้อเสนอ #รื้อระบอบประยุทธ์ เพราะแผนเหล่านี้ไม่ชอบธรรมทั้งในแง่ที่มา การนำไปปฏิบัติ และแนวทางที่จะบังคับใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง

ท่านมีความกังวลว่า ถ้ายกเลิกแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปจะทำให้ประเทศไม่มีทิศทางหรือเปล่า ประเทศอื่นๆ ก็มีแผนยุทธศาสตร์ ผมเห็นด้วย และเห็นว่าประเทศควรจะมียุทธศาสตร์ แต่สิ่งที่ไม่ควรจะมี คือ ยุทธศาสตร์ของ คสช. และแผนปฏิรูปประเทศของ คสช. นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมต้องเสนอให้ยกเลิก ประเทศต้องมียุทธศาสตร์ แต่ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ของคสช.

ขอยกตัวอย่างประเทศอื่น ที่มีการทำแผนยุทธศาสตร์ คือ เอสโตเนีย และไอร์แลนด์ ที่เรียกว่า Project Ireland 2040 องค์ประกอบสำคัญของการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของสองประเทศนี้ คือ จัดทำขึ้นโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และการจัดทำเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เอสโตเนียมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมากถึง 17,000 คน รวมถึงมีช่องทางรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ แผนเหล่านี้เป็น “วิสัยทัศน์” ไม่มีสภาพบังคับ แต่ใช้กลไกในระบอบประชาธิปไตยกำกับรัฐบาลให้เดินการตามแผนเหล่านี้

เมื่อเปรียบเทียบกับแผนยุทธศาสตร์ของไทย แตกต่างกันทั้งสามประเด็น

1. ประเด็นที่มาของแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ขาดความชอบธรรมและที่มาไม่ยึดโยงกับประชาชน ตั้งแต่ที่มาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ของ คสช. ผู้ที่ร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาล คสช. ทั้งชุด คณะกรรมการชุดแรกมีวาระการดำรงตำแหน่งนานถึง 5 ปี ถึงปี พ.ศ. 2565 แปลว่าแม้ ครม. สมัย คสช. จะสิ้นสุดลงแล้วหลังการเลือกตั้งปี 2562 คณะกรรมการที่มาจากอำนาจเผด็จการชุดนี้ก็จะยังคงมีอำนาจหลังการเลือกตั้งไปอีกสามปี 

อีกทั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติชุดแรก จำนวน 35 คน มีทหารมากถึง 11 คน ในจำนวนนี้ 10 คน เป็นสมาชิก คสช. ด้วย รองลงมา 9 คน มาจากภาคธุรกิจ (โดยล็อกที่นั่ง 5 ตำแหน่ง ให้กับ1) ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ 2) ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 3) ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 4) ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ 5) ประธานสมาคมธนาคารไทย และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3 คน มาจากภาคธุรกิจ รวมกับ ‘พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา’ ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีภูมิหลังทางธุรกิจ รวมเป็น 9 คน) โครงสร้างนี้เท่ากับว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ “เกินครึ่ง” (20 จาก 35 คน หรือ 57%) มาจากสองภาคส่วนในสังคมเท่านั้น คือ “ทหาร” กับ “กลุ่มทุน” ทั้งที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ย่อมครอบคลุมด้านต่างๆ มากกว่าความมั่นคงและการเติบโตของภาคเอกชน

2. ประเด็นเรื่องการรับฟังความคิดเห็น ยังมีความพยายามอ้างเพื่อปิดจุดอ่อนว่า “มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน” แต่มีการ “แอบ” ร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นพิมพ์เขียวมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว อยากจะชี้ให้ดูใน พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ก็ระบุใน มาตรา 28 เป็นการ “ลักไก่” ว่า การรับฟังความคิดเห็นที่ได้ทำไปแล้วก่อนหน้าที่จะมีกฎหมายฉบับนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ให้ถือเป็นการรับฟังที่ “ทำเสร็จไปแล้ว” ซึ่งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติมีสิทธิที่จะเลือกว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกหรือไม่ก็ได้ จึงไม่ได้เป็นการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมได้จริง

ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการมีที่มาที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน และกระบวนการจัดทำแผนก็ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชน ทำให้ต้องเสนอยกเลิกแผนเหล่านี้

3. ในแง่เนื้อหาที่สมาชิกบางท่ามถามว่า ได้ดูเนื้อหาของแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ เมื่อดูแล้วพบว่า แผนยุทธศาสตร์เป็นการเขียนแผนแบบกว้างๆ ที่ “ทำทุกเรื่อง” ขาดความชัดเจน ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญก่อน-หลังใดๆ รวมถึงแผนต่างๆ ก็ขาดการกำหนดตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง มีการกำหนดเป้าหมายว่า ปัญหาความมั่นคงที่มีอยู่ ในปัจจุบัน เช่น ปัญหา ยาเสพติด ความมั่นคงทางไซเบอร์ การค้ มนุษย์ ฯลฯ ได้รับการแก้ไขจนไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารและพัฒนาประเทศ แต่ตัวชี้วัดกลับไม่มีความชัดเจน โดยระบุว่า ให้ดูระดับความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาว่าดีขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 50 คำถามคือ ดีขึ้นเทียบจากอะไร?แล้วดีขึ้นจากอดีต แปลว่าเพียงพอหรือไม่? ดีขึ้นจริงหรือไม่? ไม่สามารถชี้วัดได้

หรือ อย่างแผนแม่บทในประเด็นการต่างประเทศ มีการกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีเกียรติภูมิ อำนาจต่อรอง และได้รับการยอมรับในสากลมากขึ้น โดยกำหนดตัวชี้วัดให้ดูจากระดับความสำเร็จของไทยในการสร้างความเข้าใจ การยอมรับ ภาพลักษณ์ และความนิยมไทยในสากลด้วยอำนาจ “แบบนุ่มนวล” ของไทย คำถามก็คือ แล้วระดับความสำเร็จคืออะไร วัดอย่างไร ไม่มีคำตอบในส่วนนี้

จากข้อมูลของคุณสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน ชี้ให้เห็นว่า เป้าหมายและตัวชี้วัดของแผ่นแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ มีตัวชี้วัดที่วัดไม่ได้จริง 72.2% ตัวชี้วัดที่วัดไม่ได้จริง 21% และ ตัวชี้วัดที่สภาพัฒน์รายงานว่ายังไม่ได้จัดทำอีก 6.8%

4. จากที่มีสมาชิกหลายคนบอกว่า แผนยุทธศาสตร์ที่เขียนมานั้นแก้ไขได้ ตามขั้นตอนแล้ว แผนยุทธศาสตร์ชาติ แก้ไขยากพอๆ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าจะแก้ไขได้ก็ต้องได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. และมีคุณประยุทธ์ เป็นประธาน ถ้าหากอยากแก้ไขแล้วคณะกรรมาการชุดนี้ไม่เห็นด้วย ด่านแรกก็ไม่ผ่าน และถ้าหากผ่านคณะกรรมการได้ก็ต้องเอามาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งมีองค์ประกอบเป็น ส.ว. แต่งตั้งโดย คสช. ดังนั้น การจะแก้ไขแผนยุทธศาสตร์ชาติได้ ต้องได้รับความยินยอมจาก คสช. และตัวอย่างของสิ่งที่แก้ไขได้ เราลองมาดูวิกฤติโควิด ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ทำให้หลายประเทศต้องปรับแผนยุทธศาสตร์ของตัวเอง วิกฤตินี้สร้างความเดือดร้อนเสียหายมากมายทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคม ซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น และจะส่งผลพวงสืบเนื่องไปอีกนานหลายปี แต่เราไม่มีการปฏิรูปแผนยุทธศาสตร์เลย มีเพียงการเขียนแผนแม่บทเฉพาะกิจขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง  และดำเนินการคู่ขนานไป แปลว่า มีวิกฤติจริง สถานการณ์ในประเทศเปลี่ยนไป แผนยุทธศาสตร์ชาติต้องปรับ แต่ท่านแก้เพียงเล็กน้อย จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมแผนยุทธศาสตร์นี้จึงไม่ประสบความสำเร็จ 

สำหรับแผนการปฏิรูปประเทศก็ไม่แตกต่างกันกับแผนยุทธศาสตร์ คสช. คือ คณะกรรมการก็มีที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล คสช. บางคนก็เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปต่างๆ และทำงานใกล้ชิดกับ คสช. จากข้อมูล เราพบว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศร้อยละ 33 มาจากกลุ่มข้าราชการ ทำให้แผนปฏิรูปไม่ได้ต่างจากแผนงานของราชการทั่วไป

ในรายงานความคืบหน้าการปฏิรูปที่เสนอต่อที่ประชุมของรัฐสภา ปี 2563 ระบุว่า ให้ กสทช. ไปทำหนังสั้นหนึ่งเรื่องชื่อว่า “ฝุ่นหรือหยดน้ำ” เป็นหนึ่งในแผนงานปฏิรูปประเทศ หรือให้ กกต. ไปทำแอพพลิเคชั่น “ฉลาดเลือก” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หน่วยงานต้องทำอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือการปฏิรูปเลย

ในแผนการปฏิรูปประเทศ ระบุเป้าหมายว่า ประเทศไทยต้องมีดัชนีความเป็นประชาธิปไตย หรือ Democracy Index ที่ 6.75 ซึ่งตัวเลขนี้ ถือเป็น “ประชาธิปไตยแบบบกพร่อง” แผนปฏิรูปประเทศตั้งเป้าหมายที่ต่ำมากจะไปสู่ประชาธิปไตยแบบบกพร่อง ทั้งที่ในปี 2554 ประเทศไทยมีดัชนีอยู่ที่ 6.55 แล้ว จนมีรัฐประหารทำให้คะแนนตกลง (ตอนนี้อยู่ที่ 6.04) ถ้าเรายึดตามแผนนี้และเป้าหมายนี้ แปลว่าหากมีการรัฐประหารแปลว่า ส.ว. ที่มีหน้าที่ปฏิรูปจะต้องออกมาร่วมกันต่อต้านรัฐประหาร เพราะรัฐประหารจะทำให้การปฏิรูปไม่สำเร็จ 

ถ้าหากวันนี้เราไม่มีนายกฯ ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การเสนอปฏิรูปกองทัพ และปฏิรูปการเกณฑ์ทหารอาจจะสำเร็จก็ได้ เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตัวเองในฐานะนายกฯ ปัดตกข้อเสนอแก้ไขกฎหมายเรื่องนี้ไปแล้ว ทั้งที่มีพรรคการเมืองอย่างน้อยสามพรรคเสนอแก้ไขเรื่องนี้ คือ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอนาคตใหม่ ถ้าหากรวมเสียง ส.ส. แล้วก็น่าจะผ่านข้อเสนอเรื่องนี้ได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้อยู่ในแผนการปฏิรูปประเทศเลย 

โดยสรุป แผนยุทธศาสตร์ และแผนปฏิรูปประเทศของ คสช. นอกจากไม่มีความชอบธรรม ทำไปปฏิบัติไม่ได้ และยังจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ถ้าหากใครไม่ทำตามแผนนี้ก็อาจถูกตัดสินว่าผิด และถูกตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิตได้ เป็นการใช้แผนยุทธศาสตร์ของ คสช. รอ “ประหัตประหาร” นักการเมือง

สุดท้าย มีสมาชิกรัฐสภาพูดว่า ข้อเสนอนี้ร่างอยู่บน “ความกลัว” ซึ่งก็เป็นความหวาดกลัวจริงๆ ว่าจะเอางบประมาณภาษีของประชาชนมา “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” แล้วเรายังเอางบประมาณมาทำเครื่องมือเพื่อประหัตประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงต้องเสนอล้างกลไกยุทธศาสตร์ และแผนปฏิรูปของ คสช. 

ชลธิชา แจ้งเร็ว หนึ่งในผู้ชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ “รื้อระบอบประยุทธ์” ได้อธิบายถึงสองประเด็นหลักคือ การล้มล้างผลพวงรัฐประหาร และความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ 2560 มีใจความสำคัญดังนี้ 

การล้มล้างผลพวงรัฐประหาร เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการจัดการปัญหาการเมืองไทยที่มีอยู่ขณะนี้ เพราะนับแต่คณะรัฐประหารนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจเข้ามาปกครองประเทศ สิ่งที่คณะรัฐประหารมักกระทำราวกับอยู่ในกมลสันดาน คือการหาทางให้ตัวเองใช้อำนาจตามใจและกันตัวเองออกจากความรับผิดชอบจากการใช้อำนาจนั้น เช่นการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 44 ที่กำหนดให้หัวหน้าคสช.มีอำนาจสั่งการ ระงับ ยับยั้งหรือกระทำการใดๆก็ได้ โดยถือว่าคำสั่งและการกระทำดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและถือว่าเป็นที่สุด มีมาตรา 47 ที่รับรองบรรดาคำสั่ง ประกาศของคสช.และมาตรา 44 ที่นิรโทษกรรมให้ตัวเอง 

หลังจากนั้น เมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยังมีมาตรา 279 ที่เนื้อหาสาระไม่ต่างกันมาก คือกำหนดให้บรรดาประกาศ คำสั่ง การกระทำใดๆของคสช.ในอดีตและอนาคตชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผลของการให้อำนาจกับพลเอกประยุทธ์ ในการใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยไม่คิดถึงความรับผิดชอบทำให้คณะรัฐประหารใช้อำนาจด้วยความมักง่าย ไม่แยแสและสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น และที่สำคัญที่เป็นปัญหา คือการตัดโอกาสของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในการอุทธรณ์ร้องขอความเป็นธรรมจากประกาศ คำสั่งต่างๆของคสช. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีบันทึกสถิติการละเมิดสิทธิและเสรีภาพตลอด 5 ปี 2 เดือนของคสช. โดยระบุว่ามีผู้ถูกเรียกรายงานตัว ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร 930 คน มีผู้ถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างน้อย 592 คน มีกิจกรรมสาธารณะที่ถูกปิดกั้น แทรกแซง อย่างน้อย 361 กิจกรรม มีผู้ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 18 คน มีผู้ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปอย่างน้อย 592 คน มีผู้ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของคสช.อย่างน้อย 31 คน และสุดท้ายมีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารอย่างน้อย 2,408 คน 

ยกตัวอย่างกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง คสช.บางฉบับ เช่น คำสั่งที่ 3/58 เรื่องการห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปและให้อำนาจทหารเข้าควบคุมตัวได้ 7 วัน ประกาศที่ 37/57 ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารได้ ถึงแม้ว่าต่อมาจะมีการออกกฎหมายเพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังเหลือกฎหมายอีกอย่างน้อย 20 ฉบับ ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน นอกจากนี้ยังมีประกาศที่ 26/57 ที่ให้ตั้งคณะทำงานสั่งบล็อคเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของสิทธิเสรีภาพเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่มีปัญหาไม่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น คำสั่งที่ 4/59 ยกเว้นการใช้ผังเมืองในการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ คำสั่งที่ 9/2559 ที่ลัดขั้นตอนไปหาผู้รับเหมาก่อนผ่าน EIA อีกคำสั่งที่สำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ คำสั่งที่ 72/2559 ที่ระงับการอนุญาตการทำเหมืองทองด้วยมาตรา 44 แทนที่จะใช้กระบวนการปกติ จนทำให้เกิดการฟ้องร้องกรณีเหมืองทองอัครา ที่หากรัฐบาลไทยแพ้ในคดีดังกล่าว จะต้องเสียค่าเสียหายหลักหมื่นล้านบาทซึ่งงบประมาณดังกล่าวมาจากภาษีของเรา 

ประเด็นต่อมา คือกฎหมายที่ออกมาในยุคคสช.ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือผลพวงของรัฐประหาร นี่คือมรดกของคสช.ที่ควรจะถูกทบทวน เยียวยา ทวงคืนความเป็นธรรมให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในยุคของคสช.มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสนช. ขึ้นมาเพื่อร่างกฎหมาย เราพบว่ามีกฎหมายจำนวน 444 ฉบับที่ผ่านโดยสนช. ซึ่งสนช.ทั้งหมดนี้มาจากการแต่งตั้งของพลเอกประยุทธ์ หัวหน้าคณะรัฐประหาร จึงเป็นปัญหาในเรื่องของความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ขาดความยึดโยงกับประชาชน ซึ่งในบรรดากฎหมายดังกล่าว จำนวนหนึ่งพบว่ามีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน ได้แก่ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับที่สอง พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ร.บ ไซเบอร์ กฎหมายต่างๆเหล่านี้ เป็นกฎหมายที่ประชาชนได้รับผลกระทบ และเป็นกฎหมายที่เจ้าหน้าที่บังคับใช้ในช่วงรัฐประหาร นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายอีกจำนวนหนึ่งที่กระทบสิ่งแวดล้อม เช่น พ.ร.บ.แร่และพ.ร.บ.โรงงาน เป็นต้น อีกประเด็นคือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางการเมือง เช่น พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาประชาชนในนามราษฎรออกมาต่อสู้ โดยเอาตัวเข้าเสี่ยง ทั้งทนายอานนท์ ไผ่ จตุภัทร์ เพนกวิน พริษฐ์ ไมค์ ภาณุพงศ์ เบนจา อะปัญ และรุ้ง ปนัสยา 

จึงขอย้ำว่า การลบล้างผลพวงรัฐประหารไม่ได้สำคัญแค่เป็นเพียงการยกเลิกประกาศ คำสั่งของคสช.เท่านั้นแต่เป็นการกลับไปทบทวนบรรดากฎหมายที่ออกโดยสนช.และการกระทำต่างๆที่เกิดขึ้นในยุค คสช. ซึ่งเรื่องต่างๆเหล่านี้จะดำเนินการต่อไม่ได้เลยถ้าไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้เรื่องต่างๆในระบอบคสช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นี่จึงเป็นเหตุที่ต้องลบล้างบรรดาคำสั่ง กฎหมาย การกระทำดังกล่าว 

ประเด็นที่สอง เรื่องความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ 2560 หลายคนอ้างว่ารัฐธรรมนูญ 2550  ผ่านการเห็นชอบโดยประชามติกว่า 16 ล้านคน แต่ขอย้อนกลับไปในช่วงที่มีการทำประชามติ ซึ่งเป็นไปโดยไม่เสรีและไม่เป็นธรรม นี่ไม่ใช่คำกล่าวอ้าง เนื่องจากมีหลายองค์กรสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศตั้งข้อสังเกตถึงการทำประชามติในครั้งนั้น จึงไม่อาจนำมาอ้างความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ ยกตัวอย่าง จากข้อมูลของศูนย์ทนายความฯ ระบุว่ามีผู้ที่ถูกตั้งข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติฉบับ 2559 อย่างน้อย 50 คน กรณีเด่นๆคือ คดีจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่จังหวัดเชียงใหม่ และคดีขบวนประชาธิปไตยใหม่  NDM ที่ถูกจับที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งในคร้งนั้นมีนักกิจกรรม นักศึกษาถูกจับกุมคุมขังในเรือนจำ นอกจากนั้น พบว่าในช่วงการทำประชามติดังกล่าวมีเพียงผู้รณรงค์ VOTE NO ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดีด้วยพ.ร.บ.ประชามติดังกล่าว ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ หนึ่งในกลไกสำคัญคือกลท. ชุดของมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้รับการยกเว้นโทษตามพ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 10 โดยให้สามารถดำเนินการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ถือว่าเป็นการชักจูงประชาชนให้ไปรับร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังกำหนดว่า หน่วยงานรัฐมีหน้าที่ต้องสนับสนุนตามที่ กลท.ร้องขอมา อันนี้เห็นได้เลยถึงความไม่แฟร์ที่เกิดขึ้น หรือในแง่งบประมาณ ทรัพยากร มีรายงานข่าวจากกต.ระบุว่า ค่าวิทยากรในการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทางของกลท. ใช้งบประมาณถึง 458 ล้านบาทและงบประมาณจ้างพิมพ์สรุปย่อสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญจำนวนกว่า 20 ล้านเล่ม เป็นเงิน 113 ล้านบาท หากลองมองว่างบประมาณที่ใช้สำหรับค่าอุปกรณ์ในการลงประชามติ เช่น หีบ สายรัด คูหา รวมกันแค่เพียง 37.3 ล้านบาทเท่านั้น

อีกประเด็น คือ เอกสารคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 10 เรื่องน่ารู้เล่มที่สอง มีตอนหนึ่งในนั้น โฆษณาเรื่องระบบเลือกตั้งว่า ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ปล่อยให้คะแนนเสียงสูญเปล่า โดยจะใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม จะเห็นได้ชัดว่าข้อความดังกล่าวมีข้อความจูงใจให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ระบบเลือกตั้งที่โฆษณาไว้กำลังจะถูกยกเลิกเนื่องจากการแก้รัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดที่เอาระบบเลือกตั้งแบบอดีตกลับมาใช้แทนโดยผู้ที่โหวตให้ผ่าน ก็คือฝ่ายรัฐบาลและส.ว.ที่ครั้งหนึ่งเคยยกมือไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน อีกประเด็นที่สำคัญคือ หลายคนพยายามปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 โดยอ้างว่าผ่านประชามติมา แต่ทราบหรือไม่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่เราใช้กันอยู่นี้ไม่ใช่ฉบับเดียวกับฉบับที่ผ่านประชามติมา เพราะระหว่างทางของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว หลังจากประชาชน 16 ล้านเสียงเห็นชอบด้วยแล้ว ได้ถูกแก้ไขบางส่วนอีกรอบหนึ่งโดยการริเริ่มหลังจากมีพระราชกระแสรับสั่งจากในหลวงผ่านลงมายังองคมนตรี มายังพลเอกประยุทธ์ ในช่วงมกราคม 2560 โดยในช่วงดังกล่าวมีสื่อหลายสำนักที่นำเสนอการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ โดยมีเนื้อหาสำคัญๆ คือ การแก้ไขมาตรา 5 ตัดรายละเอียดกระบวนการวินิจฉัยประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการแก้มาตรา 16 มาตรา 17 เรื่องการเปลี่ยนกฎเกณฑ์การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จากเดิมต้องแต่งตั้งเสมอเมื่อมีเหตุที่พระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือในกรณีที่ทรงบริหารพระราชกรณียกิจไม่ได้ โดยเปลี่ยนเป็น จะแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งแทนก็ได้ ในเวลานั้นรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจเพียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่ารัฐธรรมนูญที่ทูลเกล้าขึ้นไปเท่านั้น แต่ไม่ให้อำนาจในการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาด้วย เมื่อมีพระราชกระแสรับสั่งลงมา สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ทำคือการสั่งแก้รัฐธรรมนูญ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า พลเอกประยุทธ์และคสช.ไม่ได้ยึดถือความสำคัญของการทำประชามติอย่างแท้จริง หากแต่เห็นว่าเป็นเพียงช่องทางในการนำประชาชนมาเป็นตราประทับให้กับการผ่านรัฐธรรมนูญของตัวเองเท่านั้น โดยไม่ได้ให้ความสำคัญว่าหลังจากนั้นมีการแก้เนื้อหาดังกล่าวอย่างไรบ้าง ดิฉันขอกล่าวอีกครั้งว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ควรถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมจากคะแนนเสียงในช่วงการทำประชามติที่ไม่ฟรีและไม่แฟร์ ที่ถูกแก้ไขเนื้อหาสำคัญในหมวดสถาบันพระกษัตริย์ และในวันนี้ที่ร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนถูกเสนอขึ้นมา ดิฉันคิดว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และส.ว. จะไม่รับฟังเสียงของประชาชนกว่าหนึ่งแสนกว่าคนที่ลงชื่อร่วมกันเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญนี้

ไอติมแจง 5 ข้อกังวลสภาเดี่ยว ส.ว. แต่งตั้ง คือตัวอย่างเผด็จการในรัฐสภา

พริษฐ์ วัชรสินธุ ในฐานะผู้เสนอร่าง #แก้รัฐธรรมนูญ ฉบับ #รื้อระบอบประยุทธ์ ลุกขึ้นชี้แจงเพื่อตอบข้อกังวลของสมาชิกรัฐสภา โดยมีใจความสำคัญ ดังนี้ 

ผมขอเริ่มต้นชี้แจงห้าประเด็นเกี่ยวกับข้อเสนอยกเลิกวุฒิสภามาใช้สภาเดี่ยว

ข้อกังวลที่หนึ่ง ถ้าหากเราไม่มีวุฒิสภาแล้วเราจะไม่มีรัฐสภาที่มีความหลากหลายในสาขาวิชาชีพ ถ้าเรามาดูสัดส่วนของสมาชิกวุฒิสภาปัจจุบันตามแต่ละสาขาอาชีพมาเปรียบเทียบกับสภาผู้แทนราษฎร เราจะเห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีความหลากหลายทางวิชาชีพมากกว่า

จากบรรดาสมาชิกวุฒิสภา 250 ท่าน มี 104 ท่าน ที่ประกอบเพียงสองอาชีพ คือ ทหารและตำรวจ และถ้าท่านต้องการทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีความหลากหลายอาชีพมากขึ้น ก็มีนวัตกรรมหนึ่งที่เรียกว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ท่านสามารถผลักดันได้

ข้อกังวลที่สอง ถ้าหากไม่มีวุฒิสภากลไกตรวจสอบถ่วงดุลจะน้อยลง แต่เมื่อมาดูผลงานของสมาชิกวุฒิสภาปัจจุบันในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร 

ผมหยิบกฎหมาย 11 ฉบับ ที่วุฒิสภาพิจารณาในสองปีแรก เราจะเห็นว่าเสียงคัดค้านแทบจะไม่มีเลย ใน 8 ร่างกฎหมายจาก 11 ร่างกฎหมาย มีสมาชิกวุฒิสภาลงคะแนนไม่เห็นชอบ 0 คน อีก 2 ร่างกฎหมายมีวุฒิสภาลงคะแนนไม่เห็นชอบด้วย 1 คน และมีเพียงร่างเดียวที่มีวุฒิสภาลงคะแนนไม่เห็นชอบด้วย 7 คน ซึ่งพอดูเนื้อหาแล้วข้อค้ดค้านหลักก็เป็นเรื่องเทคนิคมากกว่าสาระสำคัญของร่างกฎหมาย

ในโลกที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น สิ่งที่ควรทำคือการติดอาวุธให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรัฐบาลได้โดยตรง แต่ทำไมสมาชิกแต่ละท่านที่กังวลเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล ผมไม่เห็นท่านกังวลอะไรเลยตอนที่มีการเสนอ ร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งออกมา ลดสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ ทำไมผมไม่เห็นท่านแสดงความกระตือรือร้นในการเร่งออกกฎหมายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสทุจริต

ข้อกังวลที่สาม ถ้าเราไม่มีวุฒิสภาแล้ว รัฐสภาที่เหลือแค่สภาผู้แทนราษฎรนั้นจะเต็มไปด้วยนักการเมือง ผมคิดว่าข้อกังวลนี้ เราต้องยอมรับความจริงก่อนว่าการเมืองมันมีอยู่ทุกที่ สิ่งที่สำคัญคือว่าเราจะหาดุลยภาพอย่างไร ที่ทำให้เรารับมือความเห็นที่แตกต่างจากแต่ละซีกการเมืองได้

พอเราไปออกแบบวุฒิสภาให้มาจากการเลือกตั้ง สมาชิกรัฐสภาก็แสดงความกังวลว่า อาจจะทำให้วุฒิสภามีหน้าตาคล้ายกับสภาผู้แทนราษฎรเพราะอาจจะถูกควบคุมโดยอำนาจทางการเมืองที่มีความคล้ายคลึงกัน ก็ชวนตั้งคำถามว่าถ้าอย่างนั้นทำไมเราต้องมีถึงสองสภาแทนที่จะเหลือสภาเดียว

แต่ท่านอย่าคิดนะครับว่า ถ้าเปลี่ยนจากวุฒิสภาเลือกตั้งเป็นแต่งตั้งการเมืองจะหายไป เพราะถ้ามาดูองค์ประกอบของวุฒิสภาชุดปัจจุบัน มีทั้งหมด 120 คน ที่มาจากแม่น้ำห้าสายของ คสช. สมาชิกวุฒิสภากว่าครึ่งหนึ่งมากจาก คสช. จะปฏิเสธได้หรือว่าไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซงวุฒิสภาแต่งตั้งในรูปแบบนี้

ผมเห็นหลายท่านแสดงความกังวลเกี่ยวกับเผด็จการรัฐสภา สำหรับผม ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของเผด็จการที่เอามาอยู่ในรัฐสภา

ข้อกังวลที่สี่ คือ การยกตัวอย่างวุฒิสภาต่างประเทศเพื่อพยายามจะมาหักล้างเหตุผลว่าทำไมเราถึงจะไม่มีสภาเดี่ยว แต่เวลาเรายกตัวอย่างต่างประเทศเราต้องระมัดระวัง ว่าต้องยกตัวอย่างที่คล้ายคลึงกับการปกครองของไทย ผมย้ำชัดครับว่า เวลาเปรียบเทียบประเทศ ผมเอาประเทศที่ปกครองด้วยระบบรัฐสภาไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี และก็เป็นประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวไม่ใช่สหพันธรัฐ เราก็จะเห็นว่า 2 ใน 3 ของประเทศเหล่านั้นหันมาใช้สภาเดี่ยว 

แต่ถ้าอย่างกำหนดขอบเขตให้แคบลงไปอีก เอาประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวที่ใช้ระบบรัฐสภาและมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งในบรรดาประเทศเหล่านั้นมี 5 ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยสูงที่สุด โดย 4 ใน 5 ประเทศก็หันใช้ระบบสภาเดี่ยวแล้ว ไม่ว่าจะเป็น นอร์เวย์ สวีเดน นิวซีแลนด์ และเดนมาร์ก

มีสมาชิกรัฐสภาท่านหนึ่ง ยกตัวอย่างของประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย เพื่อพยายามบอกประเทศเหล่านี้ก็มีวุฒิสภาเช่นเดียวกัน ผมต้องถามย้อนกลับในเมื่อสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียเป็นสหพันธรัฐ อันนี้เป็นสิ่งที่ท่านประสงค์หรือที่จะเอาประเทศเราไปเปรียบเทียบกับประเทศที่ไม่ใช่รัฐเดี่ยว

ข้อกังวลสุดท้าย คือ เราต้องแยกแยะระหว่าง ส.ว.ชุดบทเฉพาะกาล กับ ส.ว.ชุดบทถาวร หลายท่านบอกรอก่อนได้ไหมอีกไม่นานบทเฉพาะกาลก็จะหมดไปแล้ว แล้วค่อยมาคิดออกแบบโครงสร้างและที่มาของวุฒิสภาหลังจากที่บทเฉพาะกาลไปได้ไหม

ผมต้องตอบว่าไม่ได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนี้ เปรียบเสมือนวัคซีนเข็มที่หนึ่งที่เราต้องรีบฉีดให้กับประเทศ หรือว่าถ้าท่านกังวลว่า เกิดลองสภาเดี่ยวไปแล้วจะสร้างความโกลาหลให้กับประเทศ ท่านไม่ต้องกังวลเพราะมันเป็นเข็มที่หนึ่ง เพราะเข็มที่สอง คือการตั้ง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าสองปีระหว่างทางสภาเดี่ยว ไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนก็สามารถออกแบบวุฒิสภารูปใหม่

ปิยบุตร วอนสภารับร่าง สร้างพื้นที่ปลอดภัย เปิดประตูแห่งการแสวงหาฉันทามติ

ปิยบุตร แสงกนกกุล ในฐานะผู้เสนอร่าง #แก้รัฐธรรมนูญ ฉบับ #รื้อระบอบประยุทธ์ ลุกขึ้นชี้แจงสรุปการอภิปราย โดยมีใจความสำคัญ ดังนี้

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยกร่างขึ้นมาจากสมมุติฐานที่ว่าระบบรัฐธรรมนูญไทยและระบบการเมืองการปกครองของประเทศไทยผิดเพี้ยนไปจากระบบปกติ เฉไฉออกจากลู่ทางประชาธิปไตยมากขึ้นๆ นับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 24 พฤษภาคม 2557 ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีความต้องการเพียงแต่จะปรับปรุงให้เข้าสู่จุดสมดุลมากยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง 

ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องสุดโต่งประการใด แต่เป็นเพียงประการที่หนึ่ง การทำให้กติกากลับมาเป็นกลาง กติกาที่มันเอียงทำให้ฝักฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์มากกว่าอีกฝักฝ่ายหนึ่งจะกลับมาเป็นกลางมากขึ้นและแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรมภายใต้กติกานี้ร่วมกัน ประการที่สอง คืนความปกติ เราอยู่กับรัฐธรรมนูญที่ผิดปกติ เราอยู่กับระบบการเมืองที่ผิดเพี้ยนมานานเกือบสองทศวรรษแล้ว ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการคืนวามปกติให้กับสังคมการเมืองไทย 

ตลอดการประชุมวันนี้ เราได้ยินสมาชิกหลายท่านพูดว่า ข้อเสนอต่างๆ จะต้องประนีประนอม จะต้องคุยกันจะต้องเอามาพูดคุยกัน ร่างนี่ครับคือความพยายามของการประนีประนอมครับ ร่างนี้คือความพยายามที่จะนำสิ่งที่อยู่ข้างนอกสภาเสียงเรียกร้องที่อยู่ข้างนอกสภาเข้ามาพูดกันในสภาตามกลไกของสภา แต่เมื่อเอาเข้ามาเราก็ได้รับคำถามประชาชนกี่คนไปถามประชาชนจังหวัดนั้นจังหวัดนี้แล้วหรือยังเรา ก็ได้รับคำถามสุจริตหรือไม่ ล้มล้างการปกครองหรือเปล่า สุดโต่งมากไปไหม 

วันนี้ตลอดการประชุมเราได้ยินได้ฟังความคิดเห็นเรื่องที่กังวลใจกันว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านจะกระทบกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ อำนาจจะรวมศูนย์อยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร แต่เราไม่กังวลใจสภาพการรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่วุฒิสภา อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่องค์กรอิสระ หรือในอดีตที่ผ่านมาอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่หัวหน้า คสช. ภายใต้มาตรา 44

สุดท้าย เรามีความกังวลใจกันหลายเรื่อง การออกแบบรัฐธรรมนูญแบบนี้สะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจองค์กรอื่น ไม่ไว้วางใจวุฒิสภา เช่นเดียวกันแล้วถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถ้าผ่าน ท่านก็จะต้องไม่ตั้งคำถามเหมือนกันว่า ทำไมต้องมาระแวงสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง 

สุดท้ายขอความสนับสนุนจากเพื่อนสมาชิกทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทุกท่าน มาร่วมกันลงมติรับหลักการในวาระที่หนึ่งครับ มาร่วมกันเปิดประตูแห่งความหวัง เปิดประตูแห่งการปฏิรูป เปิดประตูแห่งการสร้างพื้นที่ปลอดภัยตามระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน เปิดประตูแห่งการแสวงหาฉันทามติ