เสียงเพื่อ #สมรสเท่าเทียม : เตย-แคลร์ มากกว่าสิทธิ คือการสร้างความตระหนักรู้และพื้นที่ปลอดภัย

ตลอดหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา การผลักดันกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย กลายมาเป็นหนึ่งในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจและรอคอยติดตาม ไม่ว่าจะเป็น ความพยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต (ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต) ออกมาเป็นกฎหมายแยกเพื่อรับรองสิทธิตามกฎหมายของคู่รักเพศเดียวกันเป็นการเฉพาะ หรือการเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ #สมรสเท่าเทียม เพื่อแก้ไขข้อจำกัดในการจดทะเบียนสมรส จาก “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคล-บุคคล” ร่างกฎหมายดังกล่าว ส.ส. พรรคฝ่ายค้านเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 แต่ก็ยังคงค้างอยู่ในระเบียบวาระการประชุมมาเป็นปี ประเทศไทยจึงยังไม่มีกฎหมายที่จะรับรองสิทธิของคนหลากหลายทางเพศไทยอย่างชัดเจน
ท่ามกลางบรรยากาศการเฝ้ารอมติจากศาลรัฐธรรมนูญที่ในวันพุธที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในฐานะอีกหนึ่ง “ช่องทางแห่งความหวัง” ว่าความเท่าเทียมทางเพศของประเทศไทยจะก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เชิญชวนรับฟังเสียงจาก “เตย-แคลร์” คู่รักเพศเดียวกันต่างสัญญาติที่มาบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์และความกังวลต่างๆ ที่ทั้งคู่ต้องพบเจอภายใต้สังคมที่ยังไม่มีกฎหมาย  มารับรองสถานะ และปัญหาจากการไม่ได้รับสิทธิ สวัสดิการต่างๆ เฉกเช่นเดียวกันกับคู่รักชาย-หญิงทั่วไปในประเทศไทย

 

พื้นที่แห่งความสบายใจของคู่รักเพศเดียวกัน

 

 

ทิพย์ตะวัน อุชัย หรือ เตย กับ Claire Stanley (แคลร์) เป็นคู่รักที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แคลร์เป็นคนอังกฤษที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยและได้รู้จักกับเตยผ่านการทำงานด้านละครเวทีในเครือข่ายเดียวกัน ทั้งคู่พบกันที่กรุงเทพฯ เมื่อประมาณสามปีก่อนในฐานะเพื่อน ก่อนจะพัฒนาความสัมพันธ์เปลี่ยนมาเป็น "คนรัก" ได้เกือบสองปีแล้ว
เมื่อเปรียบเทียบกับอดีต ทั้งคู่เห็นตรงกันว่าบรรยากาศโดยรวมในการเปิดรับความหลากหลายทางเพศทั้งในประเทศไทยและอังกฤษจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ‘ความเข้าใจ’ ของผู้คนในสังคมก็ยังคงสร้างข้อกังวลเล็กๆ น้อยๆ ในความสัมพันธ์ของทั้งสองอยู่เรื่อยมา
ในฐานะที่ใช้ชีวิตทั้งในไทยและอังกฤษ แคลร์เล่าถึงมุมมองความแตกต่างระหว่างบรรยากาศของสองประเทศให้ฟังว่า “ประเทศไทยมีความเปิดกว้างและมีขอบเขตของการยอมรับมากพอที่จะไม่มีใครเข้ามาพูดคุยอะไรกับเรา หรือแสดงความคิดเห็นอะไรกับความสัมพันธ์ของเราถ้าไม่ใช่คนใกล้ชิด ส่วนที่อังกฤษก็ยังมีกลุ่ม Homophobia (อาการเกลียดหรือกลัวคนรักเพศเดียวกัน) อยู่บ้าง เพียงแต่ว่าด้วยวัฒนธรรมของคนที่นั่นจะกล้าแสดงความคิดเห็นมากกว่า ขณะที่ประเทศไทยก็อาจจะมี แต่คนไทยส่วนใหญ่ ด้วยวัฒนธรรมแล้วก็จะไม่ค่อยเดินเข้าไปเพื่อแสดงความคิดให้เรารับรู้”
เมื่อถามถึงมุมมองของเตยในฐานะคนไทยว่าสภาพแวดล้อมทางสังคมและกฎหมายทำให้รู้สึกปลอดภัยที่จะเป็นตัวของตัวเองไหม เตยตอบเพียงว่ารู้สึกโชคดีที่คนรอบตัวพร้อมจะทำความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม เธอมองว่าสังคมไทยนั้นสามารถพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคู่รักเพศเดียวกันได้มากกว่านี้ “เรารู้สึกปลอดภัยเพราะเราทำให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัยเอง แต่เราก็อยากจะมีทางเลือกที่เราไม่ต้องกังวลหรือไม่ต้องตระเตรียมวางแผนว่าตัวเองจะไม่ปลอดภัยไหม อย่างเวลาจะไปเที่ยวแล้วจะจับมือกัน เราก็ต้องคิดว่าควรจะเลือกไปที่ที่แน่ใจว่าจะมีความหลากหลายในพื้นที่นั้น มันจะทำให้รู้สึกสบายใจมากขึ้น หรืออย่างแค่จะพาไปกินข้าวกับครอบครัว ถึงแม้ว่าครอบครัววงเล็กจะเข้าใจ แต่ว่ากับครอบครัวใหญ่ก็ต้องคิดหลายตลบ ต้องมีการวางแผนเฉพาะ ก็รู้สึกว่ามันไม่ควรเป็นแบบนี้ในยุคนี้ ทุกอย่างในโลกมันเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะแล้ว มันกว้างได้กว่านี้ มันสบายใจกันได้มากกว่านี้”

กฎหมายสร้าง #สมรสเท่าเทียม ขยายพื้นที่ปลอดภัย รับรองสิทธิเพศหลากหลาย

 

แคลร์เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายรับรอง #สมรสเท่าเทียม ในอังกฤษว่า ในปี 2547  (ค.ศ. 2004) รัฐบาลอังกฤษผลักดันให้มีกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิต (civil partnerships bill) ในอีก 10 ปีต่อมา ปี 2557 (ค.ศ. 2014) จึงมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม (same-sex marriage) พ่วงด้วยกฎหมายคุ้มครองคู่รักเพศเดียวกันเพื่อปกป้องการถูกเหยียดหรือทำร้ายด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ การมีกฎหมายไม่เพียงส่งผลในเรื่องของสิทธิ แต่ยังช่วยเสริมสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยให้กับสังคมอีกด้วย
แคลร์แสดงความเห็นว่า “กฎหมายเหล่านี้เหมือนเป็นการยืนยันให้คนในสังคมที่รู้ตัวว่าจะได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ กล้าที่จะแสดงออกมากขึ้น ภายหลังการมีกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกันออกมา อีกซักพักเขาก็ออกกฎหมายเพื่อป้องกันการโดนทำร้ายอีกทีหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสนับสนุนคนที่เป็นคู่รักเพศเดียวกันโดยที่ไม่สนใจว่าคนในสังคมจะมีความเข้าใจมากแค่ไหน นอกจากนี้ การออกกฎหมายปกป้องคุ้มครองก็ยังทำให้คนที่รักเพศเดียวกันหรือเหยื่อที่ถูกทำร้ายกล้าออกมาพูดมากขึ้นว่าเขาโดนอะไรมา หรือออกมาขอความช่วยเหลือ” ด้านเตยเสริมว่า “เราว่าอันนี้สำคัญที่สุด มันไม่ใช่แค่ว่าใครจะได้สิทธิอะไร อย่างไร มันไม่ใช่แค่เราต้องการอะไรที่มันมากเกินไป แต่มันคือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในฐานะคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้ต้องรู้สึกว่าได้รับการคุ้มครอง”
ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งยังไม่มีกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิสมรสของเพศหลากหลาย สภาวะไร้กฎหมายก็สร้างความกังวลในประเด็นเรื่องสถานะ สิทธิ และสวัสดิการต่างๆ ให้กับคู่รักหลายคู่ เช่น สิทธิในการตัดสินใจแทนคู่สมรสในการรักษาพยาบาล เตยยกตัวอย่างปัญหาจากคนใกล้ว่า “เรามีเพื่อนที่เป็นเกย์แต่งงานที่อเมริกาแล้วเขาก็ได้นามสกุลของสามี เขากำลังจะกลับมาเมืองไทย แล้วในใบที่ฉีดวัคซีนมันเป็นชื่อเขากับนามสกุลสามี แต่พาสปอร์ตของไทยยังเป็นนามสกุลเดิม เพราะประเทศไทยยังไม่รองรับการแต่งงานเพศเดียวกัน ฉะนั้นสิ่งที่เขาต้องทำ คือ ต้องเดินทางด้วยใบจดทะเบียนสมรสเพื่อยืนยันว่านี่คือบัตรวัคซีนของเขาจริงๆ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราไม่เคยคิดมาก่อน พอเพื่อนมาเล่าให้ฟังถึงทำให้เราเตรียมใจไว้ได้ว่ามันยุ่งยากเหมือนกัน แม้ว่าเราจะได้แต่งงานแล้ว แต่การที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศที่เขายังไม่ยอมรับ เราไม่รู้เลยว่าจะยังมีอะไรที่เราจะไม่ได้สิทธินั้นอีก”

 

 

แรงหนุนจากสถาบันทางการเมือง ช่วยสร้างการตระหนักรู้ทางสังคม

 

 

การผลักดันกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นอื่นๆ หรือแม้กระทั่งประเด็น #สมรสเท่าเทียม หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอาศัยกลไกทางนิติบัญญัติ ทั้งวุฒิสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ในฐานะที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ เตยแสดงความเห็นว่า นโยบายผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียม เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เธอเลือกพรรคการเมืองนั้น “พรรคไหนที่นำมาด้วยเรื่องนี้ ถ้าเราอ่านในรายละเอียดนโยบายแล้วเห็นว่าเขาทำเพื่อสิทธิของคนที่เป็นคู่รักเพศเดียวกันจริงๆ เราก็จะสนใจอยู่แล้ว แต่เรามองไปมากกว่าแค่เรื่องแต่งงานด้วย อย่างเรื่องการหางาน เงินเดือน หรือว่าเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เราสนับสนุนทั้งเรื่องความเท่าเทียมในผู้รักเพศเดียวกัน แล้วก็สิทธิสตรีด้วย”
เตยแสดงความเห็นว่า “ถ้าทุกพรรคมองเห็นประเด็นนี้ มันจะยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันในด้านนโยบาย เรื่องการเรียกร้องหรือ การรับรู้ของคนในสังคมเกี่ยวกับประเด็นนี้ก็จะพัฒนาไปด้วย เมื่อนั้น บทสนทนาของเราจะง่ายขึ้นไปอีก”
“พอมันมีการพูดถึงหรือมีกฎหมายที่เป็นทางการออกมา คนในสังคมก็จะต้องรับรู้เรื่องนั้นไปให้ได้ บางคนที่ใจยังไม่เปิดหรืออาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็จะทำให้เขาต้องหันมาเข้าใจหรือพยายามทำความเข้าใจและเรียนรู้ว่ามันคืออะไร มันเป็นยังไง ใครเป็นคนใกล้ตัวเขาบ้างที่จะได้รับผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นเรารู้สึกว่า (การผ่านกฎหมาย) ยิ่งเร็วยิ่งดี มันไม่ใช่แค่เรื่องว่าจะได้ประโยชน์หรือได้สิทธิ แต่มันคือการสร้างการตระหนักรู้ สร้างการรับรู้ให้คนในสังคม” เตยกล่าว

 

เสียงของความหวังที่อยากส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ

 

เมื่อถามถึง "ความคาดหวัง" ในการลงมติของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ให้สมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะลงมติในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 เตยและแคลร์แสดงความคาดหวังที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า พวกเขาคาดหวังที่จะให้ศาลเข้าใจและรับฟังเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมต่อไปในอนาคต
แคลร์กล่าวจากมุมมองของคนภายนอกว่า “มาทำให้มันเกิดขึ้นจริงกันเถอะ ตามโลกให้ทันได้แล้ว มันง่ายแค่นี้เอง มันเป็นสิ่งที่ควรทำ”
ขณะที่เตยเสริมต่อว่า “มันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคนแค่กลุ่มเล็กๆ อย่างกลุ่มคนที่ทำเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่มันส่งผลกระทบทั้งประเทศ มันเป็นการสร้างฐานให้มั่นคง คนที่ใช้ชีวิตในประเทศก็จะรู้สึกขอบคุณ แล้วก็รู้สึกว่า มันช่างดีจังเลยที่จะได้มีชีวิตอยู่ในประเทศนี้”
“เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากฝากให้ศาลคือ อย่าคิดแค่ว่าคนที่เข้ามาเรียกร้อง เขามาเพื่อต่อสู้หรือเข้ามาเพื่องัดกับศาลเพื่อให้ได้ผลประโยชน์แค่คนกลุ่มหนึ่ง แต่มันคือหน้าตาของประเทศไทยที่จะปรากฏไปสู่สายตาชาวโลกว่าหากเราทำเรื่องนี้ได้ มันคือการยกระดับความน่าเชื่อถือของประเทศให้สูงขึ้น แล้วเรื่องอื่นๆมันจะตามมาเอง ทั้งเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ธุรกิจ หรือภาคส่วนอื่นๆ อย่างแรกต้องสร้างฐานเรื่องความเข้าใจและการมองว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร เพศไหน ก็มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ในประเทศไทยอย่างปลอดภัย และมีสวัสดิการสมควรจะได้รับ” เตยกล่าวทิ้งท้าย