#สมรสเท่าเทียม : ย้อนดูการต่อสู้และชัยชนะของต่างประเทศ

17 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือและลงมติกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางส่งคำโต้แย้งของผู้ร้องในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ยชพ 1056/2563 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4, 5, 25-27 หรือไม่ คดีดังกล่าวเป็นหนึ่งในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในการแต่งงานของคู่ชีวิตต่างเพศและเพศเดียวกัน ก่อนหน้านี้นักกิจกรรมได้รณรงค์ในเรื่องดังกล่าวมาต่อเนื่อง
ขณะที่ปี 2563 ส.ส.เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ เพื่อแก้ไขการสมรสจากที่ชาย-หญิงเท่านั้นที่จดทะเบียนสมรสได้ เป็น “บุคคล” สองฝ่าย สามารถสมรสกันได้ ซึ่งหมายความว่าหากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา กฎหมายไทยก็จะยอมรับการจดทะเบียนสมรสของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะเป็นหนึ่งในชัยชนะที่ปูทางไปสู่การแก้กฎหมายเพื่อสมรสเท่าเทียมในอนาคต
ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวอย่างเท่าเทียมกัน แต่อีกหลายประเทศทั่วโลกล้วนผ่านขั้นตอนการต่อสู้มาแล้ว บ้างไปถึงปลายทางของสมรสเท่าเทียม บ้างยังคงเก็บชัยชนะระหว่างทางอยู่ 
ญี่ปุ่น : ห้ามเพศเดียวกันแต่งงานขัดรัฐธรรมนูญ ลุ้นแก้กฎหมาย
เดือนมีนาคม 2564 ศาลซับโปโรของญี่ปุ่นตัดสินว่า การปฏิเสธการแต่งงานของผู้ที่มีเพศกำเนิดเดียวกันไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตอนหนึ่งระบุว่า เพศวิถี เชื้อชาติและเพศสภาพไม่ได้เป็นเรื่องของความชอบส่วนบุคคลและการห้ามคู่ชีวิตเพศเดียวกันรับประโยชน์ที่คู่ชีวิตต่างเพศได้รับเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรม แม้ว่า ศาลซับโปโรจะตัดสินว่า การไม่ให้ผู้มีเพศกำเนิดเดียวกันแต่งงานได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังคงปฏิเสธการจ่ายสินไหมชดเชยจำนวนหนึ่งล้านเยนตามที่ผู้ฟ้องเรียกไป
ตามรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นระบุว่า การแต่งงานจะต้องได้รับการยินยอมร่วมกันของทั้งสองเพศเท่านั้น นำไปสู่การตีความของรัฐเสมอมาว่า คนที่มีเพศกำเนิดเดียวกันไม่สามารถแต่งงานตามกฎหมายได้ ด้านทนายความที่ยื่นฟ้องตีความว่า มาตราดังกล่าวมุ่งหมายเพื่อป้องกันการแต่งงานโดยปราศจากความยินยอมและไม่มีอะไรที่ชัดเจนว่า มาตรานี้มุ่งหมายที่จะห้ามการแต่งงานของผู้มีเพศกำเนิดเดียวกัน
คดีนี้เป็นหนึ่งในหลายคดีที่ถูกกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยื่นฟ้องต่อศาลของญี่ปุ่น ย้อนกลับไปในวันวาเลนไทน์ของปี 2562 คู่ชีวิตซึ่งมีเพศกำเนิดเดียวกัน 13 คู่ยื่นฟ้องต่อศาลญี่ปุ่นในหลายแห่งเพื่อเรียกร้องสิทธิในการแต่งงานตามกฎหมาย ก่อนหน้าคำตัดสิน มีบางเมืองออกใบรับรองการแต่งงานให้กับคู่แต่งงานที่มีเพศเดียวกันแต่ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามแม้ตอนนี้ศาลจะพิพากษาว่า การแต่งงานของผู้มีเพศกำเนิดเดียวกันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่รับรองถึงกระบวนการออกกฎหมายรับรองสถานะคู่ชีวิตเพศกำเนิดเดียวกัน เนื่องจากเกี่ยวพันกับแนวโน้มทางการเมืองด้วย
ไต้หวัน : คู่ชีวิตเพศเดียวกันได้สิทธิเกือบเทียบเท่าคู่ต่างเพศ ยังต้องสู้ต่อ
เดือนพฤษภาคม 2560 ศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันตัดสินว่า กฎหมายห้ามการแต่งงานของคู่ชีวิตที่มีเพศกำเนิดเดียวกันแต่งงาน ละเมิดหลักความเสมอภาคและไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ  โดยรัฐสภาจะต้องแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับคำตัดสินภายในสองปี หลังศาลมีคำพิพากษากลุ่ม LGBT คาดหวังว่า การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้คู่แต่งงานที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกันเช่นเดียวกับคู่แต่งงานชายหญิง แต่พวกเขาก็กังวลว่า รัฐสภาจะแก้กฎหมายที่ประกันสิทธิบางส่วน ซึ่งจะทำให้ไปไม่ไม่ถึงความคาดหวังแรกเริ่มคือ มนุษย์ทุกคนที่มีคู่ชีวิต ไม่ว่าคู่ชีวิตจะต่างเพศหรือมีความหลากหลายทางเพศจะได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน
ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) มีความคิดเชิงบวกต่อเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ แต่ยังมีเสียงคัดค้านจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม นำไปสู่การทำประชามติในปีถัดมา ผู้ออกเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับคำถามประชามติของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ว่า คุณเห็นด้วยหรือไม่ที่กฎหมายแพ่งควรจำกัดการแต่งงานไว้ระหว่างชายและหญิง และออกเสียงไม่เห็นด้วยกับคำถามของฝ่ายนักกิจกรรม LGBT ซึ่งเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานว่า ควรประกันสิทธิของคู่รักเพศเดียวกันในการแต่งงาน
ผลประชามติสะท้อนให้เห็นแรงต้านต่อการสมรสเท่าเทียมในสังคมไต้หวัน แต่รัฐบาลที่นำโดยไช่ อิงเหวินยังคงเดินหน้าแก้ไขกฎหมายตามคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมาในปี 2562 รัฐสภาผ่านกฎหมายประกอบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 748 ทำให้ไต้หวันเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ผ่านกฎหมายให้คู่ชีวิตเพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้ตามกฎหมาย กฎหมายดังกล่าวให้สิทธิเกือบเทียบเท่าคู่ชีวิตชายหญิง แต่ยังคงขาดสิทธิบางประการ เช่น การสมรสของชาวต่างชาติในไต้หวัน อนุญาตเฉพาะคู่รักชาวต่างชาติที่มีสัญชาติของประเทศที่มีกฎหมายรับรองการสมรสเพศเดียวกันแล้วเท่านั้น และอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันรับบุตรบุญธรรมร่วมกันโดยบุตรบุญธรรมต้องมีสายเลือดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ออสเตรีย : ทุกคู่ชีวิตล้วนเท่าเทียม เสมอภาคตามกฎหมาย
เดือนธันวาคม 2560 ศาลรัฐธรรมนูญของออสเตรียเพิกถอนวลี “ต่างเพศ” ในประมวลกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรสและกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนคู่ชีวิต (The Registered Partnership Act) โดยจะมีผลหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไปหรือวันที่ 1 มกราคม 2562 ทำให้หลังจากนี้คู่ชีวิตเพศเดียวกันสามารถทำการแต่งงานได้ตามกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งออสเตรีย ที่เดิมกำหนดเรื่องการสมรสกับเพศตรงข้าม ก็ได้รับการแก้ไขโดยใช้คำว่า “บุคคล” แทน
ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2553 ออสเตรียมีการบังคับใช้การจดทะเบียนคู่ชีวิต ซึ่งให้สิทธิแก่คู่ชีวิตเพศเดียวกันเกือบเทียบเท่าคู่สมรสต่างเพศ ในตอนนั้นผู้แทนออกกฎหมายนี้มีเป้าหมายเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อคู่ชีวิตเพศเดียวกัน อย่างไรก็ตามกลับกลายเป็นการบังคับใช้กฎหมายสองฉบับที่ประกันสิทธิแตกต่างกัน
ตอนหนึ่งของคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญระบุทำนองว่า ความแตกต่างของกฎหมายสองฉบับระหว่างคู่ชีวิตต่างเพศและเพศเดียวกันละเมิดหลักการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งห้ามให้มีการเลือกปฏิบัติต่อปัจเจกบนฐานของลักษณะบุคคลเช่น รสนิยมทางเพศ
ตามคำพิพากษานี้ไม่ได้มีการเพิกถอนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนคู่ชีวิตที่จำกัดการแต่งงานของคู่ชีวิตที่มีเพศกำเนิดเดียวกัน ศาลมองว่า การยกเลิกเฉพาะบางส่วนนั้นเพียงพอแล้วที่จะทำให้คู่ชีวิตต่างเพศและเพศเดียวกันเข้าถึงการแต่งงาน ส่วนกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนคู่ชีวิตที่จำกัดการแต่งงานของคู่ชีวิตที่มีเพศกำเนิดเดียวกันยังคงไว้และมีผลบังคับใช้ต่อไป ส่วนคู่ชีวิตเพศเดียวกันที่เคยจดทะเบียนตามความในกฎหมายดังกล่าวก็สามารถแต่งงานตามกฎหมายว่าด้วยการสมรสได้ในอนาคต หรือหากพอใจในสิทธิที่ได้ตามการจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้วจะคงสถานะไว้เช่นเดิมก็ได้
ฝรั่งเศส : 14 ปี แห่งการต่อสู้ จากกฎหมายคู่ชีวิต สู่การปลดล็อกกฎหมาย สร้าง #สมรสเท่าเทียม 
ในสมัยของประธานาธิบดีฌัค ชีรัก (Jacques Chirac)  การต่อสู้ของกลุ่มเพศหลากหลายในฝรั่งเศสประสบความสำเร็จไปหนึ่งขั้น เมื่อรัฐสภาฝรั่งเศสได้ผ่านกฎหมายบันทึกทะเบียนคู่ชีวิต (Pacte civil de solidarité : PACs)  ซึ่งเป็นกฎหมายสัญญาทางแพ่งเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันของสังคม โดยกฎหมายฉบับใช้บังคับตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน 2542 รับรองสิทธิในการจดทะเบียนคู่ชีวิต (Civil Partnership) ทั้งในคนต่างเพศและคนเพศเดียวกัน ในระดับที่ “ใกล้เคียง” กับคู่สมรสสามีภริยา อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีความหมายเท่าเทียมกับการแต่งงาน ผู้ที่ทำสัญญาจึงมีสถานภาพเป็นผู้ทำสัญญา (Pacsé) ไม่ใช่คู่สมรส (Marié)  
ผู้ที่จดทะเบียนคู่ชีวิต (PACs) ได้นั้น จะต้องบรรลุนิติภาวะแล้ว คือ มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ (ตามกฎหมายของฝรั่งเศส) ทั้งสองฝ่ายจะเป็นบุคคลเพศกำหนดเดียวกันหรือต่างเพศก็ได้ ซึ่งหมายความว่าหากคู่รักเพศชาย-หญิง ไม่ต้องการจดทะเบียนสมรส ก็สามารถจดทะเบียนคู๋ชีวิตได้เช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ที่จะมาจดทะเบียนคู่ชีวิตต้องไม่มีทะเบียนสมรสหรือทะเบียนคู่ชีวิตอยู่แล้ว เพื่อป้องกันการจดทะเบียนซ้อนนั่นเอง ทั้งนี้ ผู้ที่จะจดทะเบียนคู่ชีวิตนั้นไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติฝรั่งเศสทั้งสองฝ่าย แต่อย่างน้อยต้องมีฝ่ายหนึ่งที่มีสัญชาติฝรั่งเศส
ผู้ที่จดทะเบียนคู่ชีวิต ก็จะมีความสัมพันธ์คล้ายๆ คู่สมรสสามีภริยา ต้องอุปการะช่วยเหลือกัน รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแก่กัน ต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการบ้านและสิ่งของจำเป็นในครัวเรือน ส่วนการจัดการทรัพย์สิน ปรากฏในรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วม ทรัพย์สินที่ได้มาหลังอยู่ร่วมกันต้องแบ่งคนละครึ่ง เว้นเสียแต่ว่าจะตกลงไว้เป็นอย่างอื่น ส่วนเรื่องการรับมรดก คู่ชีวิตจะไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมเหมือนกรณีคู่สมรสชาย-หญิง แต่ถ้าคู่ชีวิตฝ่ายที่เสียไปเขียนพินัยกรรมไว้ และไม่มีปัญหาในการแบ่งมรดกกับทายาทโดยธรรมของผู้เสียชีวิต ตัวคู่ชีวิตก็รับทรัพย์สินตามพินัยกรรมได้ ส่วนประเด็นการรับบุตรบุญธรรมนั้น คู่ชีวิตไม่มีสิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน และไม่สามารถใช้วิธีผสมเทียมให้มีบุตรได้
อีกเจ็ดปี พ.ศ. 2549 มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มสิทธิให้ชีวิตสองเรื่อง คือสิทธิในการรับมรดก และเรื่องการจัดการทรัพย์สินที่ได้มาหลังอยู่ร่วมกัน ใครได้มาก็ตกเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของฝ่ายนั้น แต่จะไปทำข้อตกลงเป็นระบบทรัพย์สินร่วมหรือระบบสินสมรสก็ได้
ต่อมา Noël Mamère นายกเทศมนตรีของ Bègles และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคกรีน ได้ท้าทายแนวคิดสมรสในเพศเดียวกันในฝรั่งเศสครั้งแรกในวันที่ 5 มิถุนายน 2547 โดยการอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย จัดพิธีแต่งงานให้กับ Bertrand Charpentier และ Stéphan Chapin Mamère ตีความว่า ในประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 144 ไม่ได้กำหนดว่าจะทำการสมรสไม่ได้หากคู่สมรสเป็นชายและชาย หรือหญิงและหญิง เพียงแต่กำหนดอายุของชายและหญิงที่จะทำการสมรสกันได้ ต่อมาศาลก็ตัดสินให้การสมรสในครั้งดังกล่าวตกเป็นโมฆะ
ต่อมาในสมัยของประธานาธิบดีฝรั่งเศสฟร็องซัว ออล็องต์ (François Hollande) ซึ่งมีนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งว่าให้เดินหน้าให้สิทธิเพศหลากหลายจดทะเบียนสมรสได้ ก็เริ่มปลดล็อกข้อจำกัดของกฎหมาย เพื่อแก้ประมวลกฎหมายแพ่งอันมีบทบัญญัติที่กำหนดเรื่องการสมรส โดยรัฐสภาผ่านร่างกฎหมาย ประธานาธิบดีลงนามและประกาศใช้ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2556 กฎหมายรับรองสิทธิให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ตามกฎหมาย และมีสิทธิในการรับอุปการะบุตรบุญธรรมเหมือนคู๋สมรสชายหญิง ฝรั่งเศสจึงเป็นประเทศลำดับที่เก้าของยุโรปและลำดับที่สิบสี่ของโลกที่มีการอนุญาตให้มีการแต่งงานของเพศเดียวกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 
หลังจากผ่านกฎหมายให้คนรักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้แล้ว ข้อความในประมวลกฎหมายแพ่งเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกฎหมายครอบครัวซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำและเพิ่มเติมบางมาตราขึ้น เช่น ในมาตรา 144 ได้ตัดคำบ่งบอกเพศในประเด็นอายุของชายและหญิงออก ให้ความหมายของการสมรสว่าเป็นสัญญาที่เกิดจากคนสองคนไม่ว่าจะเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศกัน เกิดสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน เป็นต้น
แคนาดา : บุคคลไม่ว่าเพศใดก็จดทะเบียนสมรสกับคู่รักได้ ภายใต้กฎหมายเดียวกัน
ปี 2528 แคนาดาได้รับรองและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแคนาดา (The Charter of Rights and Freedoms) ซึ่งได้ตีความขยายขอบเขตในมาตรา 15 ว่าด้วยความเสมอภาคว่า ห้ามการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุผลจากรสนิยมทางเพศที่แตกต่างกัน 
ศาลสูงแห่งประเทศแคนาดาได้ตัดสินในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2542 ว่าการให้คำจำกัดความของคำว่า “คู่สมรส” ให้เป็นความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดของเพศตรงข้ามเท่านั้น ถือเป็นการไม่ยุติธรรมต่อคู่รักเพศเดียวกัน คำพิพากษานี้สืบเนื่องมาจากเหตุระหว่างคู่หญิงรักหญิงที่อีกฝ่ายต้องสิ้นเนื้อประดาตัวเมื่อตัดสินใจแยกทางกัน ศาลจึงแย้งคำจำกัดความว่า การที่ไม่รวมคู่รักเพศเดียวกันไปในคู่สมรสในกฎหมายครอบครัวนั้น จะเป็นการสร้างความเข้าใจผิดว่าความสัมพันธ์ของบุคคลรักเพศเดียวกันไม่ได้รับการยอมรับหรือมีคุณค่าน้อยกว่าของบุคคลรักต่างเพศ 
ส่วนการอนุญาตให้สามารถแต่งงานในบุคคลเพศเดียวกันในแคนาดา เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2546 ในรัฐออนแทริโอและรัฐบริติชโคลัมเบีย ปี 2547 ในรัฐควิเบก รัฐแมนิโทบา รัฐแคตเชวัน รัฐนิวฟันด์แลนด์ และรัฐยูคอน เมืองโนวา สโคเทีย ปี 2548 ในรัฐนิวบรันสวิก นอกจากนั้นก็ยังคงมีการออกกฎหมายลักษณะเดียวกันอย่างต่อเนื่องในระดับรัฐเพื่อสร้างความเข้าใจที่ว่า การสมรสสามารถกระทำได้ทั้งบุคคลเพศเดียวกัน และบุคคลต่างเพศกัน
ต่อมาในปี 2548 แคนาดาได้ผ่านกฎหมายสมรส (Civil Marriage Act) รับรองสิทธิให้การสมรสกระทำได้ทั้งในบุคคลต่างเพศและบุคคลเพศเดียวกัน กฎหมายนี้เป็นกฎหมายระดับประเทศที่ใช้ร่วมกัน ในการประกอบพิธีสมรสคู่สมรสสามารถเลือกประกอบพิธีได้ทั้งทางศาสนาและทางราชการ โดยมีบาทหลวงและผู้พิพากษาเป็นผู้มีอำนาจในการประกอบพิธี ทั้งนี้ บาทหลวงจะยังคงสามารถปฏิเสธการดำเนินพิธีให้แก่คู่สมรสได้หากเห็นว่าเป็นการขัดต่อหลักศาสนาของตน นอกจากนี้ ผลของการจดทะเบียนสมรสยังส่งผลให้คู่สมรสเพศเดียวกันมีสิทธิและหน้าที่เท่ากันกับคู่สมรสต่างเพศ และสามารถหย่าขาดจากกันได้