ศาลรัฐธรรมนูญ: คำวินิจฉัยคดีม็อบ 10 สิงหาฯ กับ อนาคตของข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยคดี "ล้มล้างการปกครองฯ" อันสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 ที่ ณฐพร โตประยูร ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลสั่ง "เลิกการกระทำ" เพราะเหตุที่มีการชุมนุมปราศรัยเรียกร้องในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยอ้างว่าคำปราศรัยในการชุมนุมช่วงปี 2563 ของนักกิจกรรมหลายคนเข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 ที่เขียนไว้ว่า
 "มาตรา ๔๙ บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้
       ผู้ใดทราบว่ามีการกระทําตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวได้
       ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคําสั่งไม่รับดําเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดําเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้
       การดําเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดําเนินคดีอาญาต่อผู้กระทําการตามวรรคหนึ่ง"
มาตรา 49 ในรัฐธรรมนูญมีไว้เพื่อใช้ปกป้อง "ระบอบการปกครอง" จากการกระทำที่มีอำนาจมากเพียงพอจะเปลี่ยนแปลงระบอบได้ เช่น การปฏิวัติ หรือการทำรัฐประหาร ซึ่งมุ่งหมายที่จะนำประเทศไปสู่การปกครองระบอบอื่น เช่น ระบอบสาธารณรัฐ หรือระบอบเผด็จการทหาร หรือระบอบคอมมิวนิสต์ กลไกของมาตรา 49 จึงเขียนไว้ให้อำนาจกับประชาชนทุกคนและศาลรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวางที่จะหยุดยั้งการล้มล้างระบอบการปกครองได้ในเวลาอันรวดเร็ว และกำหนดกระบวนการอย่าง "เร่งรัด" ที่ให้เวลาอัยการสูงสุดเพียง 15 วัน หากอัยการสูงสุดไม่ดำเนินการประชาชนก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้เลย
"ณฐพร โตประยูร" ที่เป็นผู้ยื่นคำร้องในคดีนี้ เป็นคนเดียวกับที่เคยยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้ "ยุบพรรคอนาคตใหม่"  ด้วยข้อกล่าวหาว่า ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่รู้จักในชื่อคดี "อิลลูมินาติ" เหตุเพราะสัญลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่ มีความเหมือนกับสมาคมอิลลูมินาติ ซึ่งเป็นสมาคมลับของเหล่าปัญญาชนในเยอรมนีช่วงศตวรรษที่ 18 และมีนโยบายและข้อบังคับเข้าช่ายล้มล้างการปกครองฯ ซึ่งผลของคดีนั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยกคำร้อง เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอ
เจตนาล้มล้างการปกครอง เหตุปราศรัยถึงสถาบันกษัตริย์
ในคำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญระบุถึงคำปราศรัยในการชุมนุมจำนวน 6 ครั้ง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อ้างเป็นเหตุของการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ ดังนี้
3 สิงหาคม 2563 – เวที "เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย" อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กทม. อ้างถึงคำปราศรัยของอานนท์ นำภา
9 สิงหาคม 2563 – เวที "เชียงใหม่จะไม่ทน" จ.เชียงใหม่ อ้างถึงคำปราศรัยของอานนท์ นำภา
10 สิงหาคม 2563 – เวที "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" มธ. ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี อ้างถึงคำปราศรัยของอานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
20 สิงหาคม 2563 – เวที "ขอนแก่นพอกันที่" จ.ขอนแก่น อ้างถึงคำปราศรัยของพริษฐ์ ชิวารักษ์
21 สิงหาคม 2563 – เวที "อยุธยาไม่สิ้นประชาธิปไตย" จ.พระนครศรีอยุธยา อ้างถึงคำปราศรัยของพริษฐ์ ชิวารักษ์
30 สิงหาคม 2563 – เวที "สมุทรปรากาธ์ดีดนิ้วไล่เผด็จการ" จ.สมุทรปราการ อ้างถึงคำปราศรัยของพริษฐ์ ชิวารักษ์, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, สิริพัชระ จึงธีรพานิช, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และอาทิตยา พรพรม
ในคำร้องระบุว่า การปราศรัยในการชุมนุมข้างต้น มีเนื้อหาจาบจ้วง บิดเบือน ล้อเลียน และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนที่ได้รับทราบหรือเห็นภาพการปราศรัยดังกล่าว ย่อมมีความรู้สึกห่วงใยและกังวลใจที่คนกลุ่มนี้มีเจตนาจาบจ้วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่มีเจตนาล้มล้างระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การปราศรัยดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้คณะบุคคลเลิกการกระทำดังกล่าว
โดยก่อนที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ณฐพรได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดไปก่อนหน้า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 เพื่อให้อัยการสูงสุดร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวแต่อัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการใดๆ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง จึงทำให้ณฐพรมายื่นฟ้องเองโดยตรง
ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 โดยรับไว้เฉพาะกรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่งานชุมนุม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" เท่านั้น
เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  ระบุว่า ทนายความของผู้ถูกร้องได้ยื่นคำร้องขอให้มีการไต่สวนพยานเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ครบถ้วน รวมถึงเพื่อให้โอกาสผู้ถูกร้องทั้งสามได้นำสืบพยานหลักฐานเพื่อหักล้างคำร้อง แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับพิจารณาจากแค่เอกสารคำร้อง คำคัดค้านคำร้อง และเอกสารที่ทางศาลเรียกจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเท่านั้น คือ อัยการสูงสุด สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานข่าวกรอง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนที่จะมีคำสั่งยุติการไต่สวน โดยระบุว่าพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ และให้นัดอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 นี้
"ล้มกระดานม็อบคณะราษฎร" ความฝันอันสูงสุดของฝ่ายอนุรักษ์นิยม
หลังการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ณฐพร โตประยูร ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีไทยว่า เป้าหมายของการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นฐานในการดำเนินคดีอาญาและเอาผิดทางวินัยกับ "ผู้ร่วมขบวนการ 10 สิงหา" หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการชุมนุมเมื่อ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ศาลก็จะสั่งให้เลิกการกระทำ นั่นเท่ากับว่ากลุ่ม "ผู้สมรู้ร่วมคิด" หรือ "ผู้สนับสนุน" จะเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายทันที
ด้าน ภาวิณี ชุมศรี ทนายความของผู้ชุมนุม เคยให้ความเห็นต่อคดีดังกล่าวว่า เป็นเรื่อง "น่าประหลาดใจ" ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา เพราะถ้าดูตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง จะพบว่า ขอบเขตคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คือ สั่งให้ผู้ที่กระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ในกรณีนี้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจบลงไปแล้ว เพราะยุติการชุมนุมแล้ว ศาลไม่ควรรับคำฟ้อง
อย่างไรก็ดี แม้ว่าวัตถุแห่งคดี คือ "คำปราศรัย" ของ รุ้ง-ปนัสยา, ไมค์-ภาณุพงศ์, อานนท์ นำภา แต่คำปราศรัยของ รุ้ง-ปนัสยา เป็นข้อเรียกร้องของการชุมนุม ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีผลต่ออนาคตของข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ว่าจะสามารถนำเสนอ เผยแพร่ หรือกระทำการใดๆ ต่อไปได้หรือไม่ โดยความเป็นไปได้ของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะมีอยู่สามแนวทางหลัก ดังนี้
หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการล้มล้างการปกครองฯ ให้เลิกการกระทำนั้น
หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การปราศรัยของ รุ้ง-ปนัสยา, ไมค์-ภาณุพงศ์, อานนท์ นำภา เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ ศาลต้องระบุว่า การกระทำใดหรือข้อความใดในคำปราศรัยของบุคคลทั้งสาม ที่เป็นการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ยกตัวอย่างเช่น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เนื้อหาหรือข้อความของ "10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์" เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ บุคคลทั้งสามก็อาจจะไม่สามารถปราศรัยในลักษณะดังกล่าวได้อีก หรือหากขอบเขตของการปราศรัยที่เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองเป็นอย่างไร ในคำวินิจฉัยของศาลก็อาจจะมีคำอธิบายที่เข้าใจได้มากขึ้น 
อีกทั้ง ถ้ามีบุคคลใดกระทำการในลักษณะเดียวกัน ก็อาจจะอยู่ในขอบเขตที่ถูกสั่งห้ามหรือสั่งให้เลิกการกระทำนั้นด้วย เพียงแต่ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคำสั่งเป็นรายกรณีไป รวมถึง หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการปราศรัยของบุคคลทั้งสามเป็นการล้มล้างการปกครองฯ คำวินิจฉัยดังกล่าวก็อาจจะถูกนำมาใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งในการดำเนินคดีอาญากับบุคคลทั้งสาม หรือ บุคคลอื่นๆ ต่อไป แต่การจะใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีอาญา ก็ไม่ได้ผูกพันศาลยุติธรรมว่าจะต้องตัดสินตามศาลรัฐธรรมนูญเสมอไป คดีทางอาญายังต้องเป็นไปตามองค์ประกอบของกฎหมาย และข้อเท็จจริงในคดีนั้นๆ ด้วยเช่นกัน
สอง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ เป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การปราศรัยของ รุ้ง-ปนัสยา, ไมค์-ภาณุพงศ์, อานนท์ นำภา ไม่เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ตาม 10 ข้อเสนอ ก็ยังคงกระทำต่อไปได้ แต่คำวินิจฉัยดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกผันต่อคดีทางอาญาที่บุคคลทั้งสามถูกดำเนินคดีอยู่ ดังนั้น คดีความต่างๆ ก็ยังคงดำเนินต่อไป
สาม ศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้อง โดยไม่วินิจฉัยในเนื้อหาของสิ่งที่พูด
หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นด้วยกับข้อต่อสู้ของฝ่ายผู้ชุมนุมว่า การกระทำที่ถูกร้องนั้นจบไปแล้ว จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเหตุต้องสั่งให้ "เลิกการกระทำ" ได้อีก และสั่งให้ยกคำร้อง โดยไม่ได้วินิจฉัยให้ชัดว่า เนื้อหาของสิ่งที่ผู้ชุมนุมปราศรัยนั้นเข้าข่ายการล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่ คดีนี้ก็จะจบไปด้วยข้อสรุปทางเทคนิคกฎหมาย โดยคำวินิจฉัยของศาลไม่มีผลไปในการพิจารณาคดีอาญา หรือไม่มีผลในการเคลื่อนไหวอื่นๆ 
นอกจากในประเด็นที่ว่า การกระทำที่ถูกร้องนั้นจบไปแล้ว ยังมีประเด็นทางเทคนิคกฎหมายอื่นๆ อีกที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจใช้อ้างอิงเพื่อยกคำร้องโดยไม่ต้องวินิจฉัยลงในเนื้อหาก็ได้ ซึ่งจะให้ผลทำนองเดียวกัน
จากทิศทางและความเป็นไปได้ของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จะพบว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นจุดชี้ขาดสำคัญที่จะส่งผลต่อขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน หรือ "ม็อบราษฎร" ที่ชูธงข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะหากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่า การกระทำของบุคคลทั้งสามเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ขบวนการเคลื่อนไหวจะต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคสำคัญ และถูกจำกัดเพดานในการเคลื่อนไหว ซึ่งนี่อาจจะเป็นเป้าประสงค์สำคัญของฝ่าย "อนุรักษ์นิยม" หรือ ฝ่ายกษัตริย์นิยม (Royalist) ที่ไม่ต้องการให้มีการแสดงความคิดเห็นในเชิงติชมต่อสถาบันกษัตริย์ โดยใช้ศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการสรรหาและคัดเลือกโดยระบอบคสช. เป็นเครื่องมือ
แต่อย่างไรก็ตาม หากดูจากคำปราศรัย อาทิ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จะพบว่า เป็นข้อเรียกร้องที่สามารถดำเนินการได้ตามระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มิได้เป็นการหักโค่นหรือล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด และคำปราศรัยยังระบุด้วยว่า นี่คือข้อเสนอเพื่อความสง่างามของสถาบันกษัตริย์ตามระบอบประชาธิปไตยสากล หาใช่การล้มล้างหรือทำให้ไม่มีอยู่ซึ่งสถาบันกษัตริย์และระบอบประชาธิปไตย
ไฟล์แนบ