91.6% เห็นควรยกเลิก 112 เหตุผล “เป็นเครื่องมือทางการเมือง” นำอันดับหนึ่ง

ตั้งแต่วันที่ 20-22 ตุลาคม 2564 ไอลอว์เปิดแบบสอบถามออนไลน์ให้ประชาชนร่วมแสดงทัศนคติต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ “กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน โดยมีผู้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างมากมายเกินคาด
ตลอดระยะเวลา 3 วัน มีผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 8,133 คน ซึ่งมาจากหลายหลายภูมิหลังและช่วงอายุ ผู้ตอบแบบสอบถามเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าตนเองอยู่ในวัย 20-40 ปี ในขณะที่ 13 เปอร์เซ็นต์อยู่ในช่วงอายุ 40-50 ปี และ 9 เปอร์เซ็นต์อายุ 50-60 ปี อาชีพของผู้แบบสอบถามมีตั้งแต่ทำงานเอกชน เป็นนิสิตนักศึกษา และรับราชการลดหลั่นกันไป
กว่า 69 เปอร์เซ็นต์จาก 8,133 คนตอบว่าตนเองเคยเข้าร่วมกิจกรรมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และอีก 52 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าตนเองเคยไปเข้าร่วมการชุมนุม โดยที่ส่วนใหญ่บอกว่าเคยเข้าร่วมไม่เกิน 5 ครั้งเท่านั้น ในขณะที่มีอีกเพียง 19 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเลย
คำถามสำคัญที่เราอยากรู้ก็คือผู้ตอบแบบสอบถามคิดอย่างไรกับข้อเสนอยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 โดยผลที่ออกมาคือกว่า 91.6 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยกับการ “ยกเลิก” มากกว่า ในขณะที่อีก 7.8 เปอร์เซ็นต์คิดว่าควร “แก้ไข” เท่านั้น และมีอีก 0.6 เปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่า “ไม่ควรแก้ไข” คำตอบนี้สอดคล้องกับที่ 91 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าไม่เห็นด้วยกับการที่กษัตริย์จะมีกฎหมายคุ้มครองพิเศษที่แตกต่างจากบุคคลธรรมดา
เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราจึงถามความเห็นคนที่เลือกตอบแตกต่างกันว่าเพราะอะไรพวกเขาจึงคิดเช่นนั้น 7,446 คนที่เห็นควรให้ยกเลิกมาตรา 112 ให้เหตุผลปัญหาของมาตรา 112 ทั้งในเชิงเนื้อหา การบังคับใช้ และการเป็นสัญลักษณ์ของความไม่เท่าเทียม ปัญหาอันดับหนึ่งที่พวกเขาเห็นจากการมีอยู่ของมาตรา 112 คือเป็นกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ “เป็นเครื่องมือทางการเมือง ปิดปากคนเห็นต่าง” (96.5 เปอร์เซ็นต์) ตามมาด้วยมาตรา 112 แสดงให้เห็นว่า “คนไม่เท่ากัน” (85.8 เปอร์เซ็นต์) และเป็นกฎหมายที่มี “โทษที่สูงและศาลลงโทษสูงเกินไป” (76.2 เปอร์เซ็นต์)
เมื่อถูกถามว่าคนรอบตัวเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกมาตรา 112 หรือไม่ 55 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าคนที่รู้จักส่วนใหญ่เห็นด้วย และอีก 15.8 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่ามีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในขณะที่อีก 5.1 เปอร์เซ็นต์บอกว่าคนรอบตัวไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 112 นอกจากนี้ ส่วนใหญ่กว่า 98 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าถ้ามีการชักชวนให้เข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกมาตรา 112 ก็พร้อมจะเข้าร่วม โดยครึ่งหนึ่งยังบอกอีกว่าพร้อมที่ชักชวนคนอื่นให้เข้าร่วมอีกด้วย
ประเด็นหนึ่งที่ตามมาถ้ามีการยกเลิกมาตรา 112 ก็คือจะต้องทำอย่างไรกับมาตรา 133 และ 134 ที่ให้การคุ้มครองประมุขและตัวแทนทางการทูตของรัฐอื่น 58.6 เปอร์เซ็นต์ให้เห็นว่าควรจะยกเลิกทั้งสองมาตรานี้ตามไปด้วย ในขณะที่ 28.8 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าตนเองยังไม่แน่ใจ และอีก 8.1 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าให้คงสองมาตรานี้ไว้อย่างเดิม
สำหรับผู้ที่เห็นว่าควรแก้ไขมาตรา 112 มากกว่า จำนวน 638 คน เห็นตรงกับผู้ที่เห็นควรให้ยกเลิกว่ามาตรา 112 นั้นมีปัญหาจากการ “เป็นเครื่องมือทางการเมือง ปิดปากคนเห็นต่าง” (94 เปอร์เซ็นต์) และมี “โทษสูงเกินไป” (77.3 เปอร์เซ็นต์) ส่วนเหตุผลที่ตอบว่าแก้ไขแทนที่จะยกเลิกนั้น ครึ่งหนึ่งตอบว่าเห็นด้วยให้มีกฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์ที่สูงกว่าการคุ้มครองประชาชน แต่ก็ยังสนับสนุนให้แก้กฎหมายปัจจุบันที่มีปัญหา ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนั้นเห็นด้วยกับการยกเลิก แต่เกรงว่าการผลักดันแก้ไขกฎหมายจะไม่ประสบความสำเร็จ
เมื่อถูกถามว่าควรกำหนดโทษหมิ่นประมาทกษัตริย์อย่างไร 45 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าควรยกเลิกโทษจำคุกแล้วให้เหลือแต่โทษปรับ พร้อมทั้งให้แก้ไขลดโทษการหมิ่นประมาทธรรมดาลงมาด้วย ในขณะที่อีก 18.8 เปอร์เซ็นต์เสนอให้ใช้โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ และ 13.8 เปอร์เซ็นต์ให้ลดโทษเหลือจำคุกเพียง 1 ปี และลดโทษหมิ่นประมาทธรรมดาลง โดยกว่า 93 เปอร์เซ็นต์ของทั้ง 638 คนที่ตอบว่าอยากให้แก้ไขมาตรา 112 ก็ตอบว่าพร้อมที่จะเข้าชื่อหากมีการเข้าชื่อเพื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากเป็นข้อเสนอให้ยกเลิกนั้น 14 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าจะไม่สนับสนุนเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก
นอกจากนี้ ยังมีอีก 49 คนที่ตอบว่าตนเองไม่สนับสนุนการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 โดยเหตุผลอันดับหนึ่งก็คือไม่เห็นว่ากฎหมายมาตรานี้มีปัญหา ตามมาด้วยเห็นว่าพระมหากษัตริย์จำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษคุ้มครอง และไม่สนับสนุนข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
เมื่อถามว่าคนรอบตัวเห็นด้วยกับข้อเสนอแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 หรือไม่ 53.1 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าไม่เห็นด้วย ในขณะที่ 18.4 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าคนรู้จักนั้นเห็นด้วยแม้ว่าตนเองจะไม่เห็นด้วยก็ตาม นอกจากนี้ ในคำถามที่ว่าถ้าเกิดมีการรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้จะทำอย่างไร 53 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าตนเองไม่สนับสนุนการรณรงค์ แต่ก็จะไม่ออกไปคัดค้าน ในขณะที่ 22 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าจะออกไปคัดค้านด้วย
นอกเหนือจากการถามแล้ว เรายังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามแสดงความคิดเห็นอีกด้วย 
ผู้ที่ตอบว่าเห็นด้วยการกับการยกเลิกบางส่วนกล่าวว่า
“อยากให้ยกเลิกเนื่องจากมีกลุ่มคนนำกฎหมายนี้มาแอบอ้างเพื่อประโยชน์ส่วนตนมากกว่าการปกป้องสถาบัน”
“การใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองมายาวนาน จำกัดสิทธิเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก 112 อาจจะเป็นเครื่องมือปกป้องกษัตริย์ แต่ไม่สามารถปกป้องสถาบันกษัตริย์ได้”
“ต้องการให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่เปิดกว้างโดยอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ไม่ใช่จากความเกลียดชัง”
ผู้ที่เห็นควรให้แก้ไขบางส่วนกล่าวว่า
“สมควรแก้ไขมาตรา112 เพื่อให้มีการตีความไม่กว้างขวางจนเกินไปและเพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และสมควรปรับเปลี่ยนกฎหมายให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ”
“อยากแก้ไขให้เท่าเทียมกับทั่วโลก รับฟังเสียงประชาชนบ้าง ถ้ามียัง 112 ที่เป็นกฎหมายแรงเกินไป การปรับตัวเข้าหากันไม่เกิดขึ้น ความเท่าเทียมไม่เกิดขึ้นในประเทศ”
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหรือยกเลิกบางส่วนกล่าวว่า
“อยากให้ลองมีการแก้ไขหรือปรับปรุงส่วนอื่นที่ทำได้ทั้งหมดเสียก่อนเช่นการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมและยุติธรรมจริง ๆ รวมถึงการแต่งตั้งศาล ลองนึกภาพพรรคการเมืองที่ไม่ได้มาจากการแอบอ้างกษัตริย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาล และไม่ใช้กฎหมายนี้อย่างพร่ำเพรื่อคิดว่าตัวมันเองก็เหมาะสมอยู่ในระดับนึงครับ”
“เป็นกฎหมายที่คุ้มครอง ป้องกันพระประมุขของประเทศ จึงไม่เห็นควรยกเลิก”