จุดจบพรรคทหารในการเมืองไทย

พรรคพลังประชารัฐถูกนิยามว่าตั้งขึ้นมาเพื่อการสืบทอดอำนาจให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังการเลือกตั้งในปี 2562 แม้ช่วงเริ่มต้นคณะรัฐประหารผู้อยู่เบื้องหลังการก่อตั้งพรรคจะพยายามหลีกเลี่ยงภาพลักษณ์ของการเป็น “พรรคทหาร” โดยการใช้พลเรือนออกหน้าเป็นผู้นำของพรรคเพื่อสลัดภาพเดิม แต่ผลของความระหองระแหงระหว่างขั้วการเมืองต่างๆ ที่ถูกดูดเข้ามาในพรรคทำให้ผู้มีอำนาจเบื้องหลังต้องทยอยออกมาอยู่เบื้องหน้าเอง 

ความขัดแย้งระลอกแรกทำให้ “กลุ่มสี่กุมาร” ที่นำโดย อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐชุดแรกต้องกระเด็นออกจากพรรคไป รวมทั้งตัวหลักอย่างสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จนต้องเทียบเชิญ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาจากหลังฉากขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ คู่กับ อนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรคคนใหม่ ตัวแทนจาก “กลุ่มสามมิตร” อย่างไรก็ตาม ด้วยบารมีที่เพิ่มขึ้นของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคอีกครั้ง 

ความขัดแย้งของพรรคพลังประชารัฐดูเหมือนจะร้าวหนักยิ่งขึ้นเมื่อมีความพยายามใช้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อล้ม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยร้อยเอกธรรมนัส แม้สุดท้ายการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะผ่านมาได้ แต่ตามมาด้วยรอยร้าวที่รอวันแตกเมื่อพลเอกประยุทธ์ ตัดสินใจปลดแขนขาสำคัญของหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คือ ร้อยเอกธรมนัส และนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี

ภาพความขัดแย้งภายในพรรคประชารัฐ สะท้อนถึงอำนาจที่ไม่ลงตัว รวมทั้งความไม่เป็นเนื้อเดียวกันของ ส.ส. แต่ละกลุ่มในพรรค สะท้อนถึงความเป็น “พรรคเฉพาะกิจ” ที่รวมตัวกันด้วยผลประโยชน์เฉพาะหน้าระหว่างทหารกับนักการเมือง ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของพรรคทหารที่เกิดขึ้นมาหลายรอบแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไปจึงอาจจะเร็วเกินไปที่จะฟันธงว่าพรรคพลังประชารัฐจะเป็นแค่พรรคเฉพาะกิจหรือสุดท้ายอาจจะปรับตัวกลายเป็นสถาบันการเมืองต่อไปได้ในอนาคต

สำหรับบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จะพบว่าคณะรัฐประหารของไทยพยายามสร้างพรรคทหารขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งเรื่อยมาหลายยุคสมัยแล้ว ตั้งแต่ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม กิตติขจร และพลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งพรรคทหารแต่ละยุคก็มีรูปแบบและให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน

พรรคเสรีมนังคศิลา ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม

หลังการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2494 จอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มอนุญาตให้มีพรรคการเมืองในปี 2498 โดยมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งมี “พรรคเสรีมนังคศิลา” เป็นพรรคการเมืองแรกที่จัดตั้งตามกฎหมายฉบับนี้ พรรคการเมืองนี้มีจอมพล ป. เป็นหัวหน้าพรรคเอง มีพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นเลขาธิการพรรค และมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นรองหัวหน้าพรรค จะเห็นได้ว่าแกนนำของพรรคเสรีมนังคศิลาคือตัวแทนของรัฐบาลจากการรัฐประหารภายใต้การสนับสนุนของกลไกรัฐโดยเฉพาะจากฝ่ายความมั่นคง

เมื่อประกาศใช้กฎหมายพรรคการเมืองได้สองปีจึงมีการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้เป็นไปตามคาด คือพรรคเสรีมนังคศิลาได้รับชนะเป็นพรรคลำดับที่หนึ่ง มีจำนวน ส.ส. จำนวน 85 คน จาก 160 คน โดยมีพรรคประชาธิปัตย์รองลงมามี ส.ส. 30 คน ส่วน ส.ส. อีก 44 คน กระจายไปกับอีกเจ็ดพรรคและ ส.ส.อิสระไม่สังกัดพรรคการเมือง ด้วยชัยชนะจากการเลือกตั้งทำให้พรรคของจอมพล ป. สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์หลังการเลือกตั้งไม่ได้เป็นอย่างที่จอมพล ป. คาดหวัง เมื่อเกิดการเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งครั้งนี้จากนิสิต นักศึกษา และประชาชน จนรัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเนื่องจากถูกครหาว่า จัด “การเลือกตั้งสกปรก” เพราะตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งจนถึงการนับคะแนนรัฐบาลใช้อำนาจและกลไกรัฐเพื่อสนับสนุนพรรคเสรีมนังคศิลาด้วยวิธีต่างๆ นานา เช่น การคุกคามผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายคนด้วยการดักตี ทำร้าย และลอบยิง และเมื่อถึงวันเลือกตั้งก็พบว่า มีการโกงเลือกตั้งด้วยการใช้บัตรปลอม โกงการนับคะแนน และดับไฟระหว่างการนับคะแนน เป็นต้น

แม้จะเป็นรัฐบาลได้แต่จอมพล ป. ก็ต้องเผชิญปัญหารุมเร้าทางการเมืองจากหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาความแตกแยกภายในพรรคเสรีมนังคิลาที่มี ส.ส. นับสิบคนของพรรคลาออกเนื่องจากไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี และมีการตั้งพรรคใหม่ที่มีชื่อว่า “พรรคสหภูมิ ภายใต้การสนับสนุนของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รองหัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลา รัฐบาลของพรรคเสรีมนังคศิลาภายใต้นายกรัฐมนตรีชื่อจอมพล ป. บริหารประเทศได้ไม่ถึงปี วันที่ 16 กันยายน 2500 ก็ถูกจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหาร

พรรคสหภูมิ และพรรคชาติสังคม ยุคจอมพลสฤษดิ์

ความแตกแยกภายในพรรคเสรีมนังคศิลา ทำให้จอมพลสฤษดิ์มอบหมายให้ สุกิจ นิมมานเหมินท์ จัดตั้ง “พรรคสหภูมิ” ขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2500 โดยดึง ส.ส. จากพรรคเสรีมนังคศิลา และพรรคอื่นๆ เข้ามาในพรรคจำนวน 20 คน จนทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลจอมพล ป. ไม่มีความมั่นคง 

ต่อมาหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2500 จึงแต่งตั้งให้ พจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่ ในวันที่ 15 ธันวาคม 2500 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคสหภูมิ ได้ ส.ส. จำนวน 44 คน จาก 160 คน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ 29 คน และพรรคเสรีมนังคศิลาได้เพียง 4 คน 

จากผลการเลือกตั้งทำให้พรรคสหภูมิที่จอมพลสฤษดิ์อยู่เบื้องหลังเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ด้วยเสียงที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งในสภาทำเกิดปัญหาในการบริหารประเทศ จอมพลสฤษดิ์ จึงตัดสินใจยุบพรรคสหภูมิ และนำ ส.ส.จากพรรคสหภูมิและพรรคอื่นๆ เข้ามาอยู่ในพรรคใหม่ คือ “พรรคชาติสังคม” ซึ่งตั้งขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าพรรค มีรองหัวหน้าพรรคสองคน คือ พลโทถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้น) และสุกิจ นิมมานเหมินท์ และเลขาธิการพรรคชื่อ พลโทประภาส จารุเสถียร

เมื่อจัดตั้งพรรคชาติสังคมเรียบร้อย จอมพลสฤษดิ์ จึงดำเนินการตั้งรัฐบาลใหม่โดยเลือกพลโทถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จแต่จอมพลถนอมต้องเผชิญกับปัญหาภายในพรรคชาติสังคมที่มีการต่อรองผลประโยชน์จนเกิดความขัดแย้งขึ้นภายในพรรค จนรัฐบาลจอมพลถนอมไม่สามารถควบคุม ส.ส. ในสภาได้ และในที่สุดจอมพลสฤษดิ์จึงได้ตัดสินใจทำรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 พร้อมกับออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 8 ยกเลิก พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ. 2498 ส่งผลให้พรรคการเมืองทั้งหมดต้องสิ้นสุดลง 

พรรคสหประชาไทย ยุคจอมพลถนอม

การรัฐประหารในปี 2501 ทำให้การเมืองไทยตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารนับสิบปีตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ถึงจอมพลถนอม   จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ 2511 ประกาศใช้ และมีการออก พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ. 2511 จึงเท่ากับเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งให้กับระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง โดยวันที่ 24 ตุลาคม 2511 มีการจัดตั้ง “พรรคสหประชาไทย” โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าพรรค มีรองหัวหน้าพรรคสามคน คือ พลเอกประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้บัญชาการทหารบก พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ และพจน์ สารสิน อดีตนายกรัฐมนตรี และมีพลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค แน่นอนว่าพรรคสหประชาไทย คือ พรรคทหารที่ต้องการสืบทอดอำนาจให้กับจอมพลถนอม

การเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากอยู่ใต้ระบบทหารมากว่าทศวรรษเกิดขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 ผลเป็นไปตามคาดเมื่อพรรคสหประชาไทย ได้ ส.ส. จำนวน 75 คน จาก 219 คน โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ 57 คน และมี ส.ส. อิสระไม่สังกัดพรรคมากถึง 71 คน แม้พรรคสหประชาไทยจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ด้วยเสียงที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภา จึงทำให้ต้องหาเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส. อิสระที่ไม่สังกัดพรรค เพื่อให้ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

รัฐบาลผสมของจอมพลถนอมไม่สามารถควบคุมสภาผู้แทนราษฎรได้ ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ที่ ส.ส. สังกัดพรรครัฐบาลใช้อิทธิพลเรียกร้องผลประโยชน์ทางธุรกิจ รวมทั้งถ่วงการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณฯ ให้บังคับใช้ล่าช้า เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์จากรัฐบาล การต่อรองผลประโยชน์ของ ส.ส. ทั้งในพรรคสหประชาไทย และพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้เกิดความขัดแย้งกันจนทำให้จอมพลถนอมต้องแก้ปัญหาด้วยทำการรัฐประหารตัวเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 

พรรคสามัคคีธรรม ยุคพลเอกสุจินดา

การรัฐประหารในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 เกิดขึ้นโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งมีพลเอกสุจินดา คราประยูร ร่วมอยู่ด้วยได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยอ้างเหตุว่ารัฐบาลมีการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งนี้พลเอกสุจินดาได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากรัฐประหารได้ประมาณหนึ่งปีก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2534 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2535 

แน่นอนว่าคณะรัฐประหารมีความคิดที่จะสืบทอดอำนาจต่อผ่านการเลือกตั้ง โดยการจัดตั้ง “พรรคสามัคคีธรรม” ในเดือนมกราคม 2535 มีณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และนาวาอากาศตรีฐิติ นาครทรรพ เป็นเลขาธิการพรรค หลังจากจัดตั้งพรรคสำเร็จ พรรคสามัคคีธรรมได้ดึงอดีต ส.ส. และนักการเมืองที่มีชื่อเสียงทยอยสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคจำนวนมาก

ผลการเลือกตั้งวันที่ 22 มีนาคม 2535 พรรคสามัคคีธรรม ได้ ส.ส. จำนวน 79 คน จาก 360 คน เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลกับอีกห้าพรรค คือพรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร โดยสภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้นำคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรี จนเกิดกระแสคัดค้านนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จากทั้งนิสิต นักศึกษา และประชาชน การชุมนุมประท้วงลุกลามจนกองทัพต้องออกมาปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรงทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม หลังจากพลเอกสุจินดาได้เข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่เก้าพร้อมกับแกนนำผู้ชุมนุม คือ พลตรีจำลอง ศรีเมือง พลเอกสุจินดาจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เท่ากับเป็นการสิ้นสุดรัฐบาลพรรคสามัคคีธรรม

ชื่อพรรคสามัคคีธรรมมีอายุเพียงไม่ถึงหนึ่งปี จนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2535 เนื่องจากมีการขอเปลี่ยนชื่อพรรคใหม่เป็นชื่อ “พรรคเทิดไทย” โดยที่คณะกรรมการบริหารพรรคชุดเดิมได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเกือบทั้งหมด ซึ่งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อมาในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 พรรคเทิดไทไม่ได้ส่งผู้สมัคร ส.ส. จึงเป็นเหตุให้ถูกศาลฎีกาประกาศยุบพรรคในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 

จะเห็นว่า การทำรัฐประหารในประวัติศาสตร์ไทยล้วนมีสูตรสำเร็จที่ผู้นำรัฐประหารไม่ได้หวังเพียงครองอำนาจสั้นๆ แต่มุ่งหวังสืบทอดอำนาจและสร้างพรรคการเมืองเพื่อหวังปูทางให้ตัวเองกลับมามีอำนาจอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง “พรรคทหาร” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำซ้ำๆ กันมาตลอด โดยมีปัจจัยคล้ายกัน ทั้งการดูดนักการเมืองเข้าพรรค การจัดการเลือกตั้งภายใต้อำนาจเผด็จการทหาร และการเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่ขาดเสถียรภาพ

ในอดีตที่ผ่านมาพรรคทหารในการเมืองไทยมีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว แต่ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นไปในแบบ “เฉพาะกิจ” เสียมาก เพราะเมื่อกาลเวลาผ่านไป ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พรรคเหล่านี้ได้สูญหายตายจากสารบบการเมืองไทย อย่างไรก็ตามต้องจับดูว่า พรรคพลังประชารัฐ และพรรคใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์จะเป็นพรรคทหารที่ก้าวข้ามเป็นพรรคเฉพาะกิจได้หรือไม่

อ้างอิง

https://www.matichon.co.th/politics/politics-in-depth/news_1159217

https://www.bbc.com/thai/features-45781649

https://thestandard.co/thai-military-politics/

https://www.the101.world/military-party/

http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47149

http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/39358