เสรีภาพสื่อที่หายไปในสนามการชุมนุม

เป็นเวลากว่าสามเดือน เมื่อตะวันใกล้ลับขอบฟ้าไปจนเกือบรุ่งสาง พื้นที่การชุมนุมบริเวณแยกดินแดงและใกล้เคียงจะเริ่มร้อนแรงจนเสมือนว่าเป็น 'สมรภูมิรบ' ระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมอิสระหรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่ม "ทะลุแก๊ส" กับกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนที่หลายครั้งมาพร้อมกับอาวุธครบมือไม่ว่าจะเป็นโล่ห์ กระบอง กระสุนยาง และแก๊สน้ำตา แต่ไม่ว่าสถานการณ์ในพื้นที่จะรุนแรงมากเพียงใด กลุ่มคนที่ให้ความสนใจหรือให้ความสำคัญของสถานการณ์ดังกล่าวกลับมีเพียงหยิบมือ 
ที่ผ่านมา หนึ่งในกลุ่มคนที่พยายามเข้าไปทำความเข้าใจสมรภูมิดินแดง คือ บรรดาสื่ออิสระ อาทิ สำนักข่าวราษฏร เพจกระเทยแม่ลูกอ่อน หรือเพจ Live Real ที่ออกมาทำหน้าที่รายงานข่าวแบบเกาะติด โดยหวังให้สาธารณชนได้รับรู้สถานการณ์บ้านเมือง แต่ทว่า การพยายามเข้าไปค้นหาและนำเสนอความจริงในพื้นที่ ก็ต้องแลกมากับความเสี่ยงนานับประการ ไม่ว่าจะเป็นการคุกคาม การใช้ความรุนแรง ไปจนถึงการดำเนินคดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็น "เสรีภาพสื่อที่หายไป" ในสนามการชุมนุม
สำนักข่าวราษฎร: สื่ออิสระที่อยากนำเสนอข่าวแบบไม่ติดเพดาน
ณัฐพงศ์ มาลี หรือ โอปอ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวราษฎร เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นการทำงานในฐานะ "สื่ออิสระ" ว่า  หลังเรียนที่เขาเรียนจบ เขาก็เริ่มหางานก่อนจะผันตัวมาเป็นสื่อมวลชนในนาม "สำนักข่าวราษฎร"
"เรามองเห็นว่า พื้นที่การชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันของประเทศ มันส่งผลให้สื่อมวลชนทุกภาคส่วนก็จับตา เราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสังเกตการณ์การชุมนุม เพื่อจะนำเสนอข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อให้สังคมได้รับทราบ และเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกัน และพื้นที่ปลอดภัยนั้นจะเป็นข้อดีให้สังคมได้ยอมรับและพูดคุยกันและถกเถียงกันมากขึ้น ปัญหาของความขัดแย้งก็จะได้เบาบางลง" ณัฐพงศ์ กล่าว
เมื่อถูกถามถึงที่มาของขื่อสำนักข่าวราษฎร เขาตอบว่า ชื่อของสำนักข่าวราษฎรมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2563 ที่เกิดกลุ่มที่เรียกว่า "ราษฎร" ขึ้นมา และเขารู้สึกว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้และการขับเคลื่อนข้อเรียกร้องทางการเมือง จึงตั้งชื่อสำนักข่าวของตัวเองว่าราษฎรเช่นเดียวกัน และเขายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า นี่คือสื่อเลือกข้างที่อยู่ข้างประชาชน อยู่ข้างกลุ่มราษฎร เพียงแต่การทำหน้าที่ของเขายังเป็นไปตามจรรยาบรรณสื่อ คือ รายงานข่าวตามข้อเท็จจริง
"เราก็ยังคงทำหน้าที่รายงานข่าวตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เช่น ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เราก็ไม่ได้ละเลย ข้อสำคัญของการรายงานข่าวคือข้อเท็จจริง อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ส่วนการลงความคิดเห็น ตัวผมก็ไม่ได้ใส่ความเห็นแต่จะทำหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปแทน" ณัฐพงศ์ กล่าว
เมื่อถูกถามว่า แล้วทำไมเขาถึงเลือกที่จะเป็นสื่ออิสระมากกว่าสื่อใหญ่หรือสื่อที่มีสังกัดชัดเจน ณัฐพงศ์ กล่าวว่า เป็นเพราะว่า เขาต้องการอิสระในการนำเสนอข่าวโดยไม่ต้องติดกับเพดานที่ต้นสังกัดเป็นผู้กำหนด เพราะถ้าเป็นสื่อสำนักใหญ่ๆ ก็อาจจะมีเพดานในการนำเสนอข่าวหรือนำเสนอข้อมูล แต่สำนักข่าวราษฎรเขามีเพดานสูงในระนาบเดียวกันกับกลุ่มผู้ชุมนุม
แม้การเป็นสื่ออิสระจะทำให้สำนักข่าวราษฎรมีเสรีภาพมากขึ้นในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร แต่ทว่า เพดานในการนำเสนอข่าวของสื่ออิสระก็หาได้สูงไม่ ณัฐพงศ์ ยังต้องเจอกับการคุกคามสื่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเมื่อเขาลงไปทำหน้าที่ถ่ายทอดสดสถานการณ์ในพื้นที่การชุมนุมบริเวณแยกดินแดง โดยเขาถูกดำเนินคดีจากการรายงานข่าวการชุมนุมในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวฯ 
"เราเป็นสื่ออิสระก็คงจะไม่มีใครที่จะมารับรอง หรือมาออกหน้าแทนเราได้ อย่างกรณีที่มีนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งถูกจับไป เขาก็จะถูกปล่อยตัวในชั้นสอบสวน แต่พอเป็นสำนักข่าวราษฎร หรือ นินจา (ผู้สื่อข่าวเพจ Live Real) กลับถูกจับกุมในห้องขังและถูกปล่อยตัวในชั้นศาล หรือหมายความว่า เราต้องถูกไปขังคุก 1 คืนก่อน นี่คือความแตกต่างระหว่างสื่อทั่วไปกับสืออิสระ" ณัฐพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ก่อตั้งสำนักข่าวราษฎรจะต้องเผชิญหน้ากับการคุกคาม แต่เขาก็ยังยืนยันว่า เขายังมีกำลังใจเต็มเปี่ยมในการทำหน้าที่นำเสนอข่าว แต่อยากให้สังคมไทยรวมถึงองค์กรต่างๆ โอบรับสื่อมวลชนอิสระ เพราะการทำหน้าที่สื่ออย่างปลอดภัย มันส่งผลให้ข้อเท็จจริงถูกส่งต่อไปถึงผู้ชมได้อย่างชัดเจน
กระเทยแม่ลูกอ่อน: ไม่มีอะไรต้องปิดกั้น เพราะการไลฟ์มันบิดเบือนไม่ได้ 
สถิตย์ คำเลิศ เจ้าของเพจกระเทยแม่ลูกอ่อน เล่าว่า โดยเริ่มแรก ตัวเขาและเพจไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชน เขาและทีมงานพยายามทำตัวเป็น 'โรงบุญประชาร่วมใจ' ที่คอยทำข้าวส่งน้ำแจกประชาชน แต่ท้ายที่สุดต้องผันตัวมาเป็นสื่ออิสระที่บอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่หลังเข้ามาแจกข้าวของให้ประชาชนในการชุมนุม
สถิตย์ เล่าว่า "ตอนแรกเรามาแจกข้าวแจกของในม็อบ เราก็มาแจกให้ทุกคนแบบไม่แยกชั้นวรรณะ ใครอยากมากินก็มากิน แต่ที่มาเป็นสื่อคือเวลาเราแจกของเสร็จแล้วเรากลับ เราเห็นคนแบบลุงดอน แกมาม็อบทุกวันแต่ไม่มีใครคุยกับแก เวลาคนกลับหมดแกก็จะมาเก็บถุงขยะ แล้วแกก็จะกลับเป็นคนสุดท้าย เราคิดว่า นี่เขามาม็อบทุกวันไม่มีใครเห็นค่าเขาใช่มั้ย หรืออย่างน้องจอย เขาก็เหมือนกระเทยผีบ้าคนหนึ่งที่อยู่ในม็อบ เราเลยมองว่า ถ้าเราเป็นผู้ให้ เราให้ข้าว เราลองให้โอกาสคนดูบ้างดีมั้ย เลยดึงคนกลุ่มนี้มาหัดให้ไลฟ์สด อย่างน้อยเขาอยู่ในพื้นที่มากกว่าเรา เขาสามารถเป็นหูเป็นตาแทนประชาชนได้มากกว่าเรา เข้าถึงพื้นที่ได้มากกว่าเรา และเราฝึกเขาได้ ให้เป็นปากเสียงของคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ใครจะดีจะเลว ภาพจะเล่าเรื่องได้ดีที่สุด จึงเป็นที่มาของสื่อกระเทยแม่ลูกอ่อน"
แม้ว่าเจ้าของเพจกระเทยแม่ลูกอ่อนจะมีประสบการณ์ในการถ่ายทอดสดบนโลกออนไลน์มาก่อน แต่เธอก็ยอมรับว่า การเป็นสื่ออิสระที่พยายามรายงานสถานการณ์การชุมนุมนั้นเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะการต้องรับมือกับ "ทัศนคติ" ของผู้คนที่มองว่า เพจกระเทยแม่ลูกอ่อนเป็นสื่อเลือกข้าง ซึ่งเขามองว่า ทัศนคตินี้มาจากว่า ใครได้ประโยชน์ เช่น ถ้าภาพที่เขาถ่ายทำเป็นประโยชน์กับใคร คนนั้นก็จะมองว่าเราเป็นสื่อที่ดี แต่ถ้านำเสนอแล้วเป็นผลลบ ก็จะมองว่าเป็นสื่อที่ไม่ดี เหมือนกับ การถ่ายภาพกลุ่ม คฝ. (ตำรวจควบคุมฝูงชน) ทำร้ายเด็กๆ อันนี้รัฐบาลเสีย เราก็เป็นสื่อไม่ดี แต่ถ้ามีภาพเด็กขว้างประทัด อันนี้เรากลายเป็นสื่อดี
อย่างไรก็ดี ในมุมมองของผู้ก่อตั้งสื่อกระเทยแม่ลูกอ่อน สิ่งที่เป็นอุปสรรคมากที่สุดในการนำเสนอข่าวในพื้นที่คือการคุกคามจากรัฐ โดยเธอเล่าว่า เจ้าหน้าที่ได้มาขอให้หยุดการถ่ายทอดสดสถานการณ์ในพื้นที่ 
สถิตย์ กล่าวว่า "การไลฟ์สด คุณจะดี คุณจะเลวมันเป็นเรื่องของคุณ เรามีหน้าที่ไลฟ์สด ถ้าคุณทำเลวคุณก็รับในสิ่งที่คุณทำไป ถ้าคุณทำดีคุณก็ได้ผลดีไป เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นจะต้องมาบังคับสื่อเลย สื่อมีหน้าที่สื่อออกไปว่าคุณเป็นคนดีหรือคนเลว ไม่ใช่มาปกปิดความดีหรือความชั่วของตัวเอง ถ้าปล่อยให้สื่อทำงานอย่างอิสระ คุณก็จะรู้เองว่าคุณเป็นคนดีหรือคนเลว" 
"ดิชั้นอยากจะขอพื้นที่ให้กับสื่อเหล่านี้ ไม่ว่าเขาจะเป็นใครมาจากไหน ขอให้เขาเป็นสื่อ สื่อก็คือคนที่ส่งผ่านข้อมูลแบบไม่บิดเบือน การไลฟ์สดมันไม่สามารถบิดพริ้วข้อมูลได้ อย่างมีภาพ คฝ. กำลังเตะ เราจะไปบอกว่า คฝ. เอามือลูบหัวก็ไม่ได้ แบบนี้คนที่เป็นสื่อด้วยกันก็จะหาว่าเราตอแหลแน่นอน คนที่ทำงานในเหตุการณ์จริง สถานการณ์มันบีบให้พูดข้อเท็จจริง คุณจะตอแหลต่อหน้าเพื่อนๆ สื่อด้วยกันไม่ได้"  ผู้ก่อตั้งสื่อกระเทยแม่ลูกอ่อนกล่าวทิ้งท้าย
Live Real: ผมจะเป็นที่พึ่งของผู้คนในการตีแผ่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
แอดมินนินจา จากเพจ Live Real เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็นผู้สื่อข่าวอิสระว่า เริ่มแรกไม่ได้ตั้งใจจะมาถ่ายไลฟ์หรือเป็นสื่อมวลชน เขาเริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพ เนื่องจากเกิดและเติบโตที่ดินแดง ก็เลยอยากจะบอกเล่าเรื่องราวของคนดินแดงผ่านการถ่ายภาพนิ่ง เลยนำไปสู่การเปิดเพจเพื่อบันทึกเรื่องราวและความทรงจำของพื้นที่ แต่เมื่อเหตุการณ์ในพื้นที่ดินแดงเปลี่ยนไป เขารู้สึกว่าแค่ภาพถ่ายมันไม่เพียงพอต่อการบอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่ได้ครบถ้วน เขาเลยเปลี่ยนมาไลฟ์หรือถ่ายทอดสดสถานการณ์ในพื้นที่
"การไลฟ์มันไม่สามารถปรุงแต่งใดๆ ได้ มันคือ Real-time ผมเลยต้องการเก็บมันไว้เพื่อเป็นปากเป็นเสียง เป็นช่องทางที่จะได้เรียกร้อง เป็นช่องทางที่ผู้คนจะได้มองเห็นปัญหาสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านของผม พี่น้องของผม" แอดมินนินจากล่าว
แอดมินนินจา เล่าให้ฟังว่า "ก่อนที่ผมจะมาไลฟ์ ผมเห็นพี่ๆ สื่อมวลชนอยู่กันเยอะ แต่ว่าสถานการณ์ในขณะนั้นมันดำเนินอยู่ตลอดเวลา บางครั้งมันดำเนินไปจนถึงตีสี่ แต่สื่อมวลชนที่เกาะติดสถานการณ์อยู่ในขณะนั้นไม่อยู่แล้ว แต่สถานการณ์ยังอยู่ แล้วมันเป็นสิ่งที่ผมพอจะทำได้ ผมก็ทำ โดยที่ผมไม่ได้คิดว่า ผมจะต้องเจออะไร ผมคิดแต่ว่า เขาคือพี่น้องของผม ที่ตรงนั้นคือบ้านของผม"
แอดมินนินจา เป็นหนึ่งในสื่ออิสระที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาคุกคามการทำหน้าที่ เช่น การตรวจบัตรนักข่าว หรือการตรวจสอบปลอกแขนสื่อ ซึ่งเขามองว่า ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการคัดกรองเพื่อหลีกเลี่ยงการนำเสนอสถานการณ์ในพื้นที่ รัฐไม่ต้องการให้ราษฎร หรือคนทั่วไปได้รับรู้รับทราบ เพราะพักหลังมา เจ้าหน้าที่รัฐมักจะใช้ความรุนแรง อย่างล่าสุดที่เขาถูกทำร้ายร่างกายและประชาชนทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องก็โดนด้วยเช่นกัน
"ล่าสุดที่ผมโดนควบคุมตัว มีน้องคนหนึ่งที่นอนข้างผมในห้องขัง ร้องไห้แล้วบอกว่า เขาออกมาซื้อข้าวเหนียวไก่ทอด บอกว่า ผมไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่ผมโดนตะครุบ แล้วผมโดนกระทีบ โดนกระบองตี จนหัวแตก หรือ ออกมาซื้อขนมปังและนมข้นร้านขายของชำ ก็โดนรุมกระทืบด้วยคอมแบท โดนกระบองตี มีคนหัวแตกทั้งหมดสี่คน แล้วมีคนหนึ่งน่าสงสารสุด นอนอยู่ข้างผม ทะเลาะกับแฟน เพิ่งเลิกกับแฟน ก็เดินร้องไห้ออกมาซื้อเบียร์กิน แต่โดน คฝ. เตะลงไปนอนที่ม้านั่ง แล้วก็โดนรุมกระทืบ" แอดมินนินจากล่าว
แอดมินนินจาเล่าต่อว่า "หลังจากนั้น เอาทุกคนใส่รถคุมขัง เอาไปที่ทางยกระดับหน้ากรมดุริยางค์ทหารบก แล้วจิกหัวเอาลงที่ละคนพร้อมรุมกระทืบทีละคน ผมถูกเข่ากระทุ้งลงไปที่น่องขาด้านซ้ายเพื่อให้นั่งลง แล้วก็มีเจ้าหน้าที่มากันเพราะบอกว่าผมเป็นสื่อ และโดยหลักฐานมันก็ชี้ชัดว่าผมเป็นสื่อจริงๆ ต่อให้ผมไม่มีบัตรใดก็ตาม แต่ผมมีปลอกแขนทำให้ผมรอดพ้นจากการกระทำของตำรวจ แต่น้องๆ ทั้งหมด พอโดนกระทืบทีละคนก็ถูกพาตัวมากระทืบซ้ำ ผมว่าสิ่งนี้มันเกินกว่าเหตุ"
เจ้าของเพจ Live Real เล่านาทีก่อนที่เขาจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมว่า "ตอนนั้นผมอยู่ที่อุโมงค์ลอดตรงสามแยกดินแดงและคุยกับพี่ช่างภาพกันอยู่สามคนว่า ถ้ามี คฝ. มา เราจะอยู่ตรงไหนดี เพื่อที่จะได้เก็บภาพได้ชัดเจน และขออยู่ในที่ที่วิ่งหนีได้สะดวก ก็คุยกันแบบเฮฮา สักพักก็มีเสียงปังมา ก็ทราบได้เลยว่าเจ้าหน้าที่มาแล้วจากตรงซอยมิตรไมตรี ผมก็เลยข้ามมาที่ซอยต้นโพธิ์เพื่อจะเริ่มไลฟ์ มีคุณโอปอ (สำนักข่าวราษฎร) ไลฟ์อยู่ แล้วสื่อมวลชนก็เริ่มถูกผลักดันออกมา"
"ตอนนั้น ผมเข้าไปบันทึกภาพ(ผู้ชุมนุม)ได้รายหนึ่ง กำลังถูกจับกุมและถูกทำร้ายร่างกาย แล้วผมก็ถูกผลักดันออกมาอีกจากตำรวจชุดควบคุมฝูงชน ส่วนสื่อมวลชนก็ถูกกันให้อยู่กลุ่มเดียวกันด้านนอก ผมมองว่า ถ้าผมยอมอยู่ตรงนั้นจะไม่มีใครได้เห็นอะไรเลย เพราะทุกๆ ช่องก็อยู่ในที่เดียวกัน แล้วแบบนั้นผมจะมาทำไม ผมก็เลยหยิบรถจักรยานยนต์เข้าไปในพื้นที่ พอเข้ามาในพื้นที่ก็ตามติดเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่ง โดยระหว่างนั้นก็มีการตรวจค้นให้ผมลงจากรถ แล้วก็ปล่อยผมไป ผมก็ตามติดสถานการณ์ต่อ"
"พอติดตามไปถึงจุดเกิดเหตุ หรือ ซอยที่เจ้าหน้าที่ถูกกระสุนยิง เจ้าหน้าที่ก็กันไม่ให้ผมเข้าไป ซึ่ง ณ ตรงนั้นมีแค่ผมที่เป็นสื่อมวลชนคนเดียวที่ได้เข้าไป ตอนนั้นก็เลยเฝ้าสังเกตการณ์ จนมีรถพยาบาลมารับผู้บาดเจ็บ แล้วก็มีนายตำรวจคนหนึ่งออกมาแล้วก็ไม่พอใจที่มีสื่อมวลชนอยู่ตรงนั้น ก็เรียกผมเข้าไป จริงๆ ตอนนั้น ผมจะหนีก็ได้ แต่ผมก็แสดงความบริสุทธิ์ใจ ไม่หลบหนี เพื่อให้ท่านผู้ชมได้เห็นว่าสถานการณ์นั้นบริบทมันเป็นอย่างไร"
หลังจากถูกควบคุมตัว แอดมินนินจาแห่งเพจ  Live Real เล่าว่า เขาถูกพาตัวไปฝากขังที่สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินสองคืน จากนั้นก็มีการนำตัวไปที่ศาล แล้วก็ถูกลงโทษเป็นการจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท
แอดมินนินจา กล่าวทิ้งท้ายว่า ผมยังคงจะทำหน้าที่สื่อต่อไป ถ้าคนในพื้นที่ยังเกรงกลัว ยังหลบเลี่ยง ก็คงไม่ต้องพึ่งใครมาช่วย ถ้าเจอความไม่เป็นธรรมแล้วเราหยุดมัน มันก็กลายเป็นเราคือแบบอย่างให้คนอื่นหยุดและยอมแพ้ไปด้วย เมื่อผมเป็นสื่อมวลชนผมก็จะเป็นปากเสียงให้ราษฎรทั่วไป และเป็นหนึ่งในผมจะเป็นที่พึ่งของผู้คนในการตีแผ่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชุมชมของผมเอง