เปิดคำฟ้อง ประชาชนทวงเสรีภาพ ขอเพิกถอนข้อห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

Civil Court Submission
Civil Court Submission
5 ตุลาคม 2564 ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ชุมาพร แต่งเกลี้ยง กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก และ ครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์ กลุ่มราษฎรโขง ชี มูล จำเลยที่ 1-3 ตามลำดับร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกับพวกรวม 6 คน ได้แก่
  • จำเลยที่ 1 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
  • จำเลยที่ 2 พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
  • จำเลยที่ 3 สำนักนายกรัฐมนตรี
  • จำเลยที่ 4 กองบัญชาการกองทัพไทย
  • จำเลยที่ 5 กระทรวงการคลัง
  • จำเลยที่ 6 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
โดยโจทก์ทั้งสามคนขอให้พิจารณามีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 (ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 15)  เรื่อง ห้ามการรวมตัวที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ) ฉบับที่ 3, 5 และ 11 เนื่องจากเป็นข้อกำหนดและประกาศที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินความจำเป็นและเกินสมควรแก่เหตุ พร้อมทั้งขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับโจทก์ทั้งสาม คนละ 1,500,000 บาท (รวมเป็น 4,500,000 บาท)

ข้อกำหนด/ประกาศตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯละเมิดเสรีภาพการชุมนุม

สืบเนื่องจากต้นปี 2563 เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด 19 วันที่ 25 มีนาคม 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ทั่วประเทศ อ้างเหตุผลการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเพื่อความปลอดภัยของประชาชนจึงมีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และขยายระยะเวลาต่อเนื่องเรื่อยมา
ระหว่างนี้พลเอกประยุทธ์ออกข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีหลายฉบับ โจทก์ทั้ง 3 คนถูกกล่าวหา ตามข้อกำหนดฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ข้อ 3 เขียนโดยสรุปว่า ห้ามไม่ให้ชุมนุมในสถานที่แออัดหรือกระทำการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในเขตพื้นที่ที่พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคง จำเลยที่ 2 ประกาศกำหนดไว้
จนถึงปัจจุบันพลเอกประยุทธ์ออกข้อกำหนดทั้งสิ้น 34 ฉบับ ขณะที่พลเอกเฉลิมพลออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯแล้ว 11 ฉบับ โดยยังมีอีก 1 ฉบับที่พลเอกพรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนก่อนหน้าเป็นผู้ออก
ที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ออกข้อกำหนดหลายฉบับโดยไม่ได้ยกเลิกและ/หรือเพิกถอนฉบับก่อนหน้าที่ออกมาเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควร ก่อให้ประชาชนเกิดความสับสน
การออกข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวถือเป็นการจงใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อสกัดกั้นไม่ให้โจทก์ได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ การกระทำของพลเอกประยุทธ์และพลเอกเฉลิมชัยถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพต่างๆของโจทก์และประชาชนและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเข้มข้นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

ใช้กฎหมายปกติก็คุมโรคได้และการชุมนุมไม่ใช่ต้นตอการระบาด

มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2560 รับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพนี้จะต้องวางอยู่ในกรอบกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ บนหลักของการคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุมเป็นหลัก การจำกัดเสรีภาพเป็นข้อเพียงข้อยกเว้นและไม่อาจออกข้อกำหนดและประกาศในสถานการณ์ที่ยังสามารถใช้กฎหมายระดับปกติแก้ไขได้อย่างเช่นพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558
ตามมาตรา 35 ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมีอำนาจเช่น สั่งปิดสถานที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค การแบ่งอำนาจตัดสินใจในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อตามท้องที่ที่มีการแพร่ระบาดนั้นได้สัดส่วนตามความจำเป็นในการป้องกันโรคแล้ว การที่พลเอกประยุทธ์และพลเอกเฉลิมพลออกข้อกำหนดและประกาศที่มีเนื้อหาในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นมาตรการเกินความจำเป็นและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้ในการชุมนุมที่โจทก์ร่วมปราศรัยจัดขึ้นที่แยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง ไม่แออัด รอบบริเวณมีจุดบริการทางการแพทย์และบริการตามมาตรการสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 เนื้อหาของการปราศรัยเป็นการเรียกร้องและวิจารณ์การบริหารงานของพลเอกประยุทธ์ ไม่ได้ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและยุติการชุมนุมโดยไม่มีเหตุความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งยังไม่มีรายงานจากหน่วยงานสาธาณสุขว่า พบการแพร่ระบาดของโควิด 19 จากการชุมนุมดังกล่าว
อย่างไรก็ตามโจทก์ทั้ง 3 คนได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 6 ในคดีนี้ ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาว่า ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9  เนื่องจาก “ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่อาจเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคโควิด 19 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย อันเป็นการร่วมกันฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้หน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับความมั่นคง”

ร้องชดเชยความเสียหายให้โจทก์รายละ 1,500,000 บาท

ด้วยเหตุดังกล่าวโจทก์จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 (ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 15)  เรื่อง ห้ามการรวมตัวที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ) ฉบับที่ 3, 5 และ 11 และให้จำเลยชดเชยความเสียหายดังนี้
  1. สำนักนายกรัฐมนตรีและกองบัญชาการกองทัพไทยในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของพลเอกประยุทธ์และพลเอกเฉลิมพล ผู้ออกข้อกำหนดและประกาศ ชดใช้แก่โจทก์ทั้ง 3 คน เป็นเงินคนละ 500,000 บาท
  2. เมื่อการกระทำของโจทก์ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแล้ว การที่พนักงานสอบสวนสน.ลุมพินี นำข้อกำหนดและประกาศมาดำเนินคดีต่อโจทก์เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบและเพื่อขัดขวางการใช้สิทธิและเสรีภาพของโจทก์ ให้สำนักนายกรัฐมตรี, กองบัญชาการกองทัพไทย, กระทรวงการคลังและสำนักงานตำรวจแห่งชาติแก่โจทก์ทั้ง 3 คน เป็นเงินคนละ 500,000 บาท
  3. เมื่อการกระทำของโจทก์ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแล้ว ให้สำนักนายกรัฐมตรี, กองบัญชาการกองทัพไทย, กระทรวงการคลังและสำนักงานตำรวจแห่งชาติแก่โจทก์ทั้ง 3 คน เป็นเงินคนละ 500,000 บาท ถือเป็นค่าความเสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติยศของโจทก์