สุขภาพ หรือ เสรีภาพ : โควิดไม่ใช่เหตุสลายการชุมนุมเกินสัดส่วน

 

เสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักประชาธิปไตย ซึ่งได้รับการบัญญัติคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี แต่เมื่อมีไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ทำให้รัฐบาลแต่ละแห่งต้องสร้างข้อจำกัดในการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด รวมไปถึงการออกกฎหมายใหม่หรือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง ซึ่งข้อจำกัดจากเหตุโรคระบาดนี้ก็กระทบต่อเสรีภาพในการรวมตัวเพื่อส่งเสียงนำเสนอข้อเรียกร้องด้วย
ในประเทศไทยภายใต้การประกาศใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นายกรัฐมตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ใช้อำนาจออกข้อกำหนดจำกัดการรวมตัว การชุมนุม ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และถูกนำมาใช้เป็นเหตุในการดำเนินคดีต่อการจัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง นับถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีแล้วมากกว่า 1,000 คน 
ปี 2563 เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดครั้งนี้ แต่ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่มีการประท้วงเกิดขึ้นมากทั่วโลก เหตุของการประท้วงส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ประชาชนไม่พอใจการแก้ปัญหาโควิดของรัฐบาล จึงเกิดเป็นประเด็นที่ต้องช่างน้ำหนักระหว่างการควบคุมโรค กับเสรีภาพในการชุมนุมที่ยังคงมีความสำคัญ
เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 เคลมอนต์ วูเล่ ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยเสรีภาพการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสงบจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้เน้นย้ำถึงข้อบังคับในการรับมือกับสถานการณ์ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนไว้บนเว็บไซต์ของ OHCHR
"ไม่มีประเทศไหน หรือรัฐบาลไหน สามารถแก้ปัญหาวิกฤติครั้งนี้ได้โดยลำพัง; องค์กรภาคประชาสังคมควรถูกยอมรับว่าเป็นหุ้นส่วนในทางยุทธศาสตร์ที่จะต่อสู้กับโรคระบาด ดังนั้นจึงมีความกังวลจากข้อมูลที่ได้รับมาจากกระบวนการปรึกษาหารือทางออนไลน์กับภาคประชาสังคมทั่วโลกซึ่งให้ข้อห่วงกังวลถึงแนวโน้มที่จะเกิดข้อจำกัด รวมทั้งความสามารถของภาคประชาสังคมที่จะสนับสนุนปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพ"
“No country or government can solve the crisis alone; civil society organizations should be seen as strategic partners in the fight against the pandemic. I am thus concerned due to the information I have received from online consultations with civil society around the world, suggesting several worrying trends and limitations, including on civil society’s ability to support an effective response.”
๐ สภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขจะต้องไม่ถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการลิดรอนสิทธิ 
"เป็นเรื่องจำเป็นมากที่วิกฤตนี้จะไม่ถูกนำใช้ในการกดขี่สิทธิโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและในการสมาคม เนื่องจากวิกฤตการณ์นี้ไม่ใช่เหตุผลในการใช้กำลังเกินกว่าเหตุเพื่อสลายการชุมนุม รวมถึงเพื่อกำหนดบทลงโทษอย่างไม่ได้สัดส่วน ทั้งนี้ หากวิกฤตการณ์นี้สิ้นสุดแล้ว รัฐจะต้องยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ที่เคยประกาศไว้ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและในการสมาคมอย่างเต็มที่" 
๐ รับประกันเสรีภาพในการสมาคมและการชุมนุมออนไลน์
"สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและในการสมาคมออนไลน์มีผลบังคับใช้เช่นเดียวกับออฟไลน์ ในช่วงเวลาเมื่อการรวมตัวทางกายภาพถูกจำกัด จึงยิ่งจำเป็นมากขึ้นที่สิทธิการเข้าถึงและการใช้งานอินเทอร์เน็ตจะต้องได้รับการรับรอง ดังนั้น สิทธิส่วนบุคคลในด้านความเป็นส่วนตัวจะได้รับการเคารพและปกป้องอย่างเต็มที่ในทุกกรณี รัฐควรจะต้องรับรองว่า ประชาชนสามารถลงทะเบียนได้ทุกขั้นตอนทางออนไลน์และควรจะสร้างโอกาสให้การมีส่วนร่วมในการสร้างนโยบายผ่านทางพื้นที่ออนไลน์" 
สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) เผยแพร่บทความเสรีภาพของการชุมอย่างสันติและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยกล่าวถึงข้อมูลจากการวิจัยของ CIVICUS MONITOR ว่า  การประท้วงที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดเกิดขึ้นอย่างน้อย 86 ประเทศ นับตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2563 ถึงมกราคม 2564 การต่อต้านข้อห้ามต่างๆ เป็นสาเหตุของการชุมนุมประท้วง ซึ่งมีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 100 ประเทศถูกคุมขังฐานไม่ปฏิบัติตามมาตรการโควิด-19 หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยสงบ แม้ว่าข้อจำกัดในการชุมนุมอาจมีได้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ การตอบสนองเจ้าหน้าที่และกองกำลังรักษาความปลอดภัยโดยการใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุม รวมไปถึงการใช้กำลังถึงชีวิตซึ่งนำไปสู่การสังหารผู้ชุมนุมอย่างน้อย 28 ประเทศ 
มาเรียนน่า เบลลาบา บาเรโต้ หัวหน้าคณะวิจัย CIVICUS MONITOR กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า “วิกฤตการณ์โควิด-19 ไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการกดขี่สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ การใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐนั้นขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ แม้แต่ในสภาวะฉุกเฉินก็ตาม”
ในงานเสวนาวิชาการเรื่อง “การชุมนุมช่วงโควิด-19: ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย?” จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิจัยและอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นถึงกรณีนี้ว่า เรื่องนี้เป็นบททดสอบใหม่ของสังคมไทยว่าเข้าใจเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพอย่างไร เราอาจจะสับสนอย่างมากในปัจจุบันว่า เรากำลังโต้แย้งสิทธิในการชุมนุมของผู้ชุมนุมเพราะห่วงว่าจะเกิดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 หรือว่าเรากำลังไม่ชอบเนื้อหาที่ผู้ชุมนุมพูด หรือเราไม่ชอบท่าทีของผู้ชุมนุม เ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม เราต้องเข้าใจว่ากระบวนการที่ผู้ชุมนุมทำอยู่เป็นส่วนหนึ่งของการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งในทางกฎหมายก็มีข้อจำกัด 
แม้จะยังไม่พบบทสรุปว่า แท้จริงแล้ว การชุมในช่วงการระบาดของโควิด-19 นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ประเด็นที่อาจเห็นได้ชัดคือ หากเกิดภาวะเปราะบางทางการเมืองขึ้นก็อาจจะไม่มีพื้นที่ให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้ออกมาชุมนุมเพื่อปกป้องหรือเรียกร้องสิทธิได้เลย เนื่องจากการเข้าร่วมชุมนุมนั้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่การจำกัดเสรีภาพทางการชุมนุมเนื่องด้วยสถานการณ์ในตอนนี้กำลังวิกฤต จะมีพื้นที่เหลือในแก่เสรีภาพทางการชุมนุมด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ควรมีการสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพและเสรีภาพ 
อ.ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อใช้กฎหมายก็ต้องพิจารณาจากเจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบ กล่าวคือ เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเสรีภาพประเภทสัมพันธ์ จึงต้องชั่งน้ำหนักหาสมดุลกับเสรีภาพเรื่องอื่นๆ  หากไม่มีการทำให้เสรีภาพในการชุมนุมมีความสมดุล (balance) กับเสรีภาพเรื่องอื่นๆ  ก็ย่อมหมายความว่าเสรีภาพในการชุมนุมไม่มีอยู่จริง ฉะนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่การใช้เสรีภาพในการชุมนุมจะไม่กระทบกับเสรีภาพของผู้อื่น ดังนั้น รัฐจึงมีหน้าที่ในการหาสมดุลระหว่างเสรีภาพเหล่านี้ การจัดสรรเสรีภาพในการชุมนุมจะปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่กำหนดโทษหลักๆ ไว้คือโทษปรับ จึงมีลักษณะที่กำหนดให้ใช้เสรีภาพได้ แต่หากกระทำผิดก็ไปเสียค่าปรับ