แก้รัฐธรรมนูญ ผ่านวาระสาม แล้วไงต่อ? ดูเส้นทางกว่าจะได้ใช้ระบบเลือกตั้งใหม่

วันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ประชุมรัฐสภาร่วมกันของทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พิจารณาลงมติวาระสามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ระบบเลือกตั้ง” ให้เป็นบัตรสองใบคล้ายคลึงกับระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 โดยหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ก็ไม่ได้หมายความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้น และได้ใช้ระบบเลือกตั้งใหม่กันในทันที แต่ยังมีหลายขั้นตอนกว่าระบบเลือกตั้งบัตรสองใบนี้จะถูกใช้อย่างเป็นทางการ
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 256 กำหนดเงื่อนไขให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่สามนั้นต้องใช้เสียงเห็นชอบมากกว่า “กึ่งหนึ่ง” ของทั้งสองสภา หมายความว่า การแก้ระบบเลือกตั้งครั้งที่จะเกิดขึ้นนี้จะต้องใช้เสียงอย่างน้อย 366 เสียงจากสมาชิกรัฐสภาที่ปัจจุบันมีอยู่ที่ 730 คน นอกจากนี้ ยังต้องมีพรรคฝ่ายค้านบวกกับพรรคเล็กๆ ที่ไม่มีรัฐมนตรี ลงคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยอีกอย่างน้อยร้อยละ 20 ของเสียงทั้งหมด รวมถึงยังต้องใช้เสียง ส.ว. อีกอย่างน้อยหนึ่งในสามหรือ 84 เสียง
หากมีเสียงเห็นชอบครบถ้วนตามเงื่อนไขข้างต้น ก็จะต้องรออีกอย่างน้อย 15 วันก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะสามารถนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าถวายพระมหากษัตริย์ให้ลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการได้
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่รอการถวายขึ้นทูลเกล้านั้น หากมีข้อสงสัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ หรือเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องทำประชามติก่อน ได้แก่ การแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ส.ส. หรือ ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของแต่ละสภาหรือของสภารวมกันแล้วแต่กรณี หรือทั้งหมด 73 คน ก็สามารถที่จะรวมตัวกันเสนอความเห็นต่อประธานสภา ให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันได้ โดยในระหว่างนี้ นายกรัฐมนตรีไม่สามารถนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทูลเกล้าถวายให้ลงพระปรมาภิไธยได้
หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีปัญหาและนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าถวายภายในกรอบเวลา ก็จะถึงขั้นตอนการลงพระปรมาภิไธย ซึ่งพระมหากษัตริย์ก็มีทางเลือกว่าจะทรงเห็นชอบหรือไม่ ทั้งนี้ ข้อสังเกตุหนึ่ง คือ มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่พระมหากษัตริย์ต้องลงพระปรมาภิไธยไว้ เช่นเดียวกับกรณีของกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่ มาตรา 146 ระบุกรอบเวลาว่าพระมหากษัตริย์ต้องลงพระปรมาภิไธยภายใน 90 วัน โดยหากทรงไม่เห็นชอบหรือเมื่อผ่านกรอบเวลาไปแล้วยังไม่ลงพระปรมาภิไธย รัฐสภาก็สามารถใช้เสียงสองในสามเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าอีกครั้งหนึ่ง หากเวลาผ่านไป 30 วันแล้วพระมหากษัตริย์ยังไม่ลงพระปรมาภิไธยอีก นายกรัฐมนตรีก็สามารถประกาศใช้ พ.ร.บ. นั้นเองได้
แต่ขั้นตอนการลงพระปรมาภิไธยในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับมีความพิเศษ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 256 ไม่ได้ระบุกรอบเวลาเอาไว้ ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เช่น ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 291 เขียนว่าให้นำมาตรา 151 ซึ่งระบุว่าการลงพระปรมาภิไธยมีกรอบเวลาภายใน 90 วันมาปรับใช้ ดังนั้น ความเป็นไปได้หนึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 คือ พระมหากษัตริย์อาจจะยังไม่ลงพระปรมาภิไธยทำให้ประกาศใช้ไม่ได้ โดยไม่มีกรอบเวลากำหนด และหากอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภา มาตรา 147 ก็ระบุไว้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พระมหากษัตริย์ไม่เห็นชอบหรือยังไม่พระราชทานคืนมาภายใน 90 วันก็จะต้องตกไป
แต่หากพระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบและลงพระปรมาภิไธยแล้ว ก็จะมีการประกาศใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในพระราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ระบบเลือกตั้งใหม่มีผลบังคับใช้ได้
แต่เนื่องจากกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ยังกำหนดรายละเอียดของระบบเลือกตั้งเป็นระบบเดิมอยู่ เพื่อให้สอดคล้องกับระบบเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญจึงต้องแก้ไขกฎหมายลูกเหล่านี้ให้เรียบร้อยด้วย สำหรับระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งอาจไม่ต้องใช้เวลามากนัก เพราะประธาน กกต. มีอำนาจลงนามประกาศใช้ได้เลย แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ต้องแก้ไขโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งต้องใช้เวลาสำหรับการยกร่าง บรรจุเข้าวาระ เรียกประชุม และถกเถียงกันในรายละเอียด หากผ่านการพิจารณาของรัฐสภาได้ก็ยังต้องเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้โดยให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย กระบวนการทั้งหมดอาจกินเวลาอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน