เปลี่ยนขุนศึกกลางสงคราม : เหล่าผู้นำที่ลาออกเพราะบริหารจัดการโควิดล้มเหลว

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พรากชีวิตหรือความสุขของผู้คนทั่วโลกไป แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนภาพสะท้อนการทำงานของรัฐบาลของแต่ละประเทศอีกด้วย การทำงานของภาครัฐทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติของหลายๆ ประเทศสามารถจัดการกับวิกฤตนี้ได้ดี จนสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ประชาชนยังคงอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวภัยของโรคระบาด ความสิ้นหวังทางเศรษฐกิจสังคม โดยมองไม่เห็นปลายทาง
หลายประเทศที่จัดการกับวิกฤติไม่ได้ "ผู้นำ" ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของรัฐบาลของตนเอง และเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามาทำหน้าที่แทน ประเทศเหล่านั้น ได้แก่ สาธารณรัฐเช็ก มองโกเลีย อิตาลี ปารากวัย บราซิล สโลวาเกีย อินเดีย มาเลเซีย และตูนิเซีย
สาธารณรัฐเช็ก – อดัม วอยเดค (รัฐมนตรีสาธารณสุข)
สำนักข่าวไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 อดัม วอยเดค รัฐมนตรีสาธารณสุขแห่งสาธารณรัฐเช็ก ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังถูกวิจารณ์ถึงประสิทธิภาพในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในขณะนั้น มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 49,290 ราย และเสียชีวิต 503 คน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 10.7 ล้านคน 
โพลิติโครายงานว่า ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (มีนาคม – มิถุนายน) ของปี 2563 สาธารณรัฐเช็กสามารถจัดการกับโควิด-19 ระลอกแรกได้เป็นอย่างดี สาธารณรัฐเช็กเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ประกาศให้ลดมาตรการควบคุมที่เข้มงวดลง และมีการจัดงาน “มื้อค่ำอำลาโควิด” เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม เพื่อเฉลิมฉลองการสิ้นสุดการระบาดโดยมีชาวเช็กเข้าร่วมงานหลายพันคน ในตอนนั้นมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 12,000 รายและมีผู้เสียชีวิตเพียง 346 คน แต่กลับการระบาดกลับรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนกันยายน 2563 ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อโดยเฉลี่ยมากถึง 2,000 คนต่อวัน ซึ่งมากกว่าจำนวนของการระบาดในเดือนมีนาคมกว่า 6 เท่า 
แม้อดัม วอยเดคได้ลาออกจากตำแหน่งแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีอีก 3 ครั้ง เท่ากับว่า ในระยะเวลา 8 เดือน สาธารณรัฐเช็กได้เปลี่ยนรัฐมนตรีสาธารณสุขไปแล้วกว่า 4 คน โดยรัฐมนตรีสาธารณสุขคนที่สอง คือ โรมัน พรีมูลา นักระบาดวิทยา ซึ่งโดนไล่ออกภายในเวลาไม่ถึงเดือนของการทำงาน หลังจากมีภาพถ่ายของเขาที่ร้านอาหารในช่วงล็อคดาวน์ที่เข้มงวดของสาธารณรัฐเช็กเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563
หลังโรมัน พรีมูลาโดนไล่ออก ตำแหน่งเขาได้ถูกแทนที่โดย ยาน บลัตนี่ ซึ่งถูกไล่ออกหลังดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 5 เดือนจากการคลายมาตรการล็อคดาวน์หลายสัปดาห์ก่อนคริสมาสต์และจากการคัดค้านการนำเข้าวัคซีนสปุตนิก วี ที่ยังไม่ได้รับการรองรับจากสหภาพยุโรปส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
ปีเตอร์ อเรนเบอร์เกอร์ เข้ารับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขคนที่สี่ จากประธานาธิบดี มิลอช เซมัน แต่สุดท้ายเขาก็ลาออกหลังดำรงตำแหน่งประมาณ 1 เดือน เนื่องจากถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการคืนภาษีที่ผิดปกติและการให้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเช่าสินทรัพย์ของเขาก่อนเข้ารับตำแหน่ง
ทั้งนี้ เมื่อรัฐมนตรีสาธารณสุขคนที่สี่ลาออก สาธารณรัฐเช็กได้ประกาศการแต่งตั้งรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ ซึ่งอดัม วอยเดค ได้เข้ามารับตำแหน่งนี้อีกครั้ง โดยเขาจะดำรงตำแหน่งจนกว่าจะสิ้นสุดวาระของรัฐบาลนี้
อ้างอิง
https://www.euronews.com/2021/05/14/fourth-czech-health-minister-since-pandemic-began-sparks-controversy
https://www.politico.eu/article/czech-health-minister-resigns-amid-soaring-coronavirus-numbers/
https://tna.mcot.net/world-543729
https://www.washingtonpost.com/world/2021/05/25/czech-health-minister-vojtech/
มองโกเลีย – คูเรลซูค อุคนา (นายกรัฐมนตรี)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 คูเรลซูค อุคนา นายกรัฐมนตรีมองโกเลียและคณะรัฐบาลทั้งชุด ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาให้ลาออก หลังเกิดเหตุการณ์ประท้วงในกรุงอูลานบาตอร์ บริเวณอาคารรัฐสภา จากการรับมือกับการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าของรัฐบาลที่ล้มเหลว ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและโอกาสในการทำงาน 
ตัวแปรที่ทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นนั้น สืบเนื่องจากวิดีโอเกี่ยวกับผู้ป่วยโควิดที่สวมเพียงชุดนอนกับรองเท้าแตะและทารกของเธอในสภาพอากาศที่เย็นจัด ซึ่งกำลังถูกเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่กักตัวซึ่งดำเนินการโดยหนึ่งในองค์กรของรัฐบาลมองโกเลีย โดยผู้ชุมนุมมองว่าการกระทำเช่นนั้นไร้มนุษยธรรม คูเรลซูค อุคนา กล่าวในแถลงการณ์ลาออกว่า เขาควรรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวและควรยอมรับต่อความต้องการของประชาชน 
คูเรลซูค อุคนา ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศมองโกเลียตั้งแต่ 4 ตุลาคม 2560 จากการแต่งตั้งของรัฐสภา โดยมี ลุฟซานนัมซไร โอยุน-เออร์เดเน เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนหลังจากคูเรลซูคลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2564 เขาได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายจากการเลือกตั้งให้กลับมาดำรงตำแหน่งในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 6 ของประเทศมองโกเลีย
อ้างอิง
https://www.reuters.com/article/uk-health-coronavirus-mongolia-idUKKBN29R0NT
https://www.reuters.com/world/asia-pacific/former-mongolian-prime-minister-khurelsukh-wins-presidency-2021-06-09/
อิตาลี – จูเซปเป คอนเต (นายกรัฐมนตรี)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 จูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีอิตาลี ยื่นลาออกจากตำแหน่งต่อประธานาธิบดี แซร์จิโอ มัตตาเรลลา หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างสาหัสสากรรจ์ จากภาวะเศรษฐกิจถอดถอยของประเทศ และจากการรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 86,000 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดเป็นอันดับสองของยุโรปรองจากสหราชอาณาจักร และเป็นลำดับที่ 6 ของโลก
ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น จูเซปเป คอนเต ได้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจถึงสองครั้ง ถึงแม้ว่าเขาจะรอดจากการอภิปรายมาได้ แต่ก็ต้องสูญเสียพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรค ‘อิตาเลีย วีวา’ ของอดีตนายกรัฐมนตรี มัตเตโอ เรนซี ซึ่งให้เหตุผลในการถอนพรรคร่วมว่าเป็นเพราะไม่พอใจในการจัดการวิกฤตโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล
อ้างอิง
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2020616
https://www.reuters.com/article/us-italy-politics-idUSKBN29V0ZA
ปารากวัย – รัฐมนตรีสาธารณสุข
เทเลเซอร์เอชดี รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 ฮูลิโอ มัซโซเลนี รัฐมนตรีสาธารณสุขของปารากวัย ได้ยื่นใบลาออกต่อ มาริโอ้ อับโด เบนิเตช ประธานาธิบดีปารากวัย ท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นและการขาดแคลนยา เขากล่าวว่า การลาออกของเขาเป็นฉันทามติระหว่างเขาและประธานาธิบดี เป็นไปเพื่อบรรเทาความตึงเครียดทางการเมืองในการบริหารจัดการกับโรคระบาด 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564 อับโด เบนิเตซ ประธานาธิบดีปารากวัย ได้เรียกร้องให้ทั้งคณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเพื่อปรับคณะรัฐมนตรี เนื่องจากไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ได้ ส่งผลให้ในขณะนั้นปารากวัยมียอดผู้ติดเชื้ออยู่ในอันดับที่ 70 ของโลก ซึ่งมีผู้ติดเชื้อเกือบ 167,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตกว่า 3,300 ราย โดยสัดส่วนของจำนวนผู้ติดเชื้อ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ ทำให้ระบบสาธารณสุขเข้าขั้นวิกฤต หลายๆ โรงพยาบาลไม่มียาสำหรับรักษา จำนวนของผู้ที่ได้รับวัคซีนคิดเป็นเพียง 0.1 % จากประชากรทั้งหมด 7.1 ล้านคน 
ด้วยเหตุนี้ แพทย์และญาติผู้ติดเชื้อจึงออกมาชุมนุมตามท้องถนนที่กรุงอะซุนซิโอนและอีกหลายเมืองทั่วประเทศ เนื่องจากมองว่า รัฐบาลไม่ได้นำเงินกว่าหลายร้อยเหรียญสหรัฐมาเพื่อใช้รับมือกับสถานการณ์ระบาด จนทำให้เกิดเหตุการบานปลาย ทำให้ผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาและยิงกระสุนยางใส่
อ้างอิง
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2045795
https://www.telesurenglish.net/news/Paraguay-Health-Minister-Resigns-To-Avoid-Further-Scandal-20210305-0011.html
https://www.dailynews.co.th/foreign/829473/
บราซิล – เออร์เนสโต อารัวโฌ (รัฐมนตรีต่างประเทศ)
เดอะการ์เดียนรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 เออร์เนสโต อารัวโฌ ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาล ชาร์อี โบลโซนาโรแล้ว  เนื่องจากเขาถูกกล่าวหาจากนักการทูตและสภานิติบัญญัติว่า ทำลายชื่อเสียงระดับนานาชาติของบราซิล และทำให้ชีวิตของคนบราซิลต้องตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงจากการทำให้ความสัมพันธ์ของจีนและอเมริกาสั่นคลอนในช่วงวิกฤตโควิด-19 
เออร์เนสโต อารัวโฌ เป็นคนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมอย่างสุดขั้ว และยังเป็นที่รู้จักดีจากการโจมตี สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน และจากความจงรักภักดีที่มีต่อ โดนัล ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นี่อาจเป็นเหตุผลที่กระทบต่อการเจรจานำเข้าวัคซีนจากจีนซึ่งส่งผลให้บราซิลได้รับวัคซีนโควิด-19 จากประเทศจีนในจำนวนที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น 
ไม่กี่ชั่วโมงหลังการลาออกของ เออร์เนสโต อารัวโฌ รัฐมนตรีกลาโหม เฟอร์นันโด อะเซเวโด อี ซิลวา ก็ได้ประกาศการลาออกจากตำแหน่งเช่นเดียวกัน ซึ่งได้เพิ่มความวิกฤตให้แก่รัฐบาลของโบลโซนาโร ที่กำลังเผชิญกับความโกรธแค้นของประชาชนจากการรับมือต่อการแพร่ระบาด
บีบีซีไทยรายงาน เมื่อ 10 กรกฎาคม 2564 ว่า บราซิลกำลังเผชิญกับอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้วกว่า 5 แสนคน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงสุดเป็นอับดับสองของโลก ทั้งนี้ เมื่อโบลโซนาโรถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจากวุฒิสมาชิกฝ่ายค้าน จึงได้พบหลักฐานว่า รัฐบาลของเขาได้เพิกเฉย ไม่ตอบกลับอีเมลกว่า 100 ฉบับ จากบริษัทไฟเซอร์เรื่องการยื่นข้อเสนอขายวัคซีน แม้ว่าการไต่สวนนี้จะไม่ทำให้เขาพ้นตำแหน่ง แต่ศาลสูงสุดก็ได้อนุมัติให้มีการสอบสวนทางอาญาเกิดขึ้น ส่งผลให้ในขณะนี้ คะแนนความนิยมของเขาตกต่ำลงและยังมีการประท้วงเกิดขึ้นทั่วประเทศอีกหลายครั้ง 
อ้างอิง
https://www.thebangkokinsight.com/news/world-news/covid-19-world-news/607119/
https://www.theguardian.com/world/2021/mar/29/brazil-foreign-minister-ernesto-araujo-resigns
https://www.bbc.com/thai/international-57779037
สโลวาเกีย – อิกอร์ มาโตวิก (นายกรัฐมนตรี)
ยูโรนิวส์รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 อิกอร์ มาโตวิก นายกรัฐมนตรีแห่งสโลวาเกียและคณะรัฐบาล ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งต่อประธานาธิบดี ซูซานา ชาปูตอวา เพื่อเปิดทางให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังจากเกิดวิกฤตทางการเมืองนานนับเดือน หลังจากถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างถาโถม จากข่าวลือเรื่องการแอบจัดทำข้อตกลงลับในการซื้อวัคซีนสปุตนิก วี จากประเทศรัสเซีย จำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ได้รับการรองรับความปลอดภัยจากสหภาพยุโรป
อ้างอิง
https://thestandard.co/leadership-and-political-pressure/
https://www.reuters.com/article/us-slovakia-government-idUSKBN2BM23T
https://www.euronews.com/2021/03/28/slovakia-s-prime-minister-to-step-down-amid-sputnik-v-vaccine-scandal
อินเดีย – ฮาร์ช วาร์ธัน (รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการครอบครัว)
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ฮาร์ช วาร์ธัน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการครอบครัวของอินเดีย ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่ไม่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกสองได้ จนเป็นเหตุให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึงหลักแสน แต่ด้วยเตียงสำหรับรักษาและออกซิเจนมีไม่เพียงพอ จึงทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันก็ยังมีรัฐมนตรีอีกหลายคนที่ประกาศลาออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีคนแรกที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งคือ ราเมช โปคริยาล รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ตามมาด้วย สันทศ กังวาร์ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน จากนั้นจึงเป็น ฮาร์ช วาร์ธัน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการครอบครัว รวี แชงการ์ พราซาด รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และปรากาช จวาเดการ์ รัฐมนตรีสารสนเทศและการแพร่ภาพกระจายเสียง
การลาออกของฮาร์ช วาร์ธัน ส่งผลเป็นอย่างมากต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาล นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรี ซึ่งในขณะนั้นพรรคนิวเดลีกำลังโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความล้มเหลวในการควบคุมเชื้อไวรัสโควิด-19 เขาจึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี และนำคนรุ่นใหม่เข้ามาบริหาร
อ้างอิง
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2136262
https://www.hindustantimes.com/india-news/health-minister-harsh-vardhan-resigns-ahead-of-cabinet-reshuffle-101625650188177.html https://www.dw.com/en/india-12-ministers-resign-in-wake-of-covid-19-response/a-58191788
มาเลเซีย – มูห์ยิดดิน ยัสซิน (นายกรัฐมนตรี)
ประชาไทรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 มูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียและคณะรัฐมนตรี ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังเป็นนายกได้เพียง 17 เดือน ซึ่งถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในประวิติศาสตร์มาเลเซีย 
สืบเนื่องมาจากในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 เขาถูกอภิปรายโจมตีอย่างหนักจากการบริหารจัดการบ้านเมืองในช่วงวิกฤติโควิด-19 จนเป็นเหตุให้ส.ส. 15 คน จากพรรคร่วมรัฐบาล ‘พรรคสหมาเลย์แห่งชาติ หรืออัมโน’ ไม่สนับสนุนเขาอีกต่อไป และทำให้พรรครัฐบาลไม่สามารถกุมเสียงข้างมากในรัฐบาลผสมได้ 
การลาออกของเขาเกิดขึ้นท่ามกลางความโกรธของประชาชนที่มองว่ารัฐบาลของมูห์ยิดดินรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ไม่ดีพอ แม้จะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาเป็นเวลา 7 เดือนและมีการล็อคดาวน์ตั้งแต่เดือนมิถุนายน แต่ก็ยังไม่สารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ส่งผลให้มีผู้ป่วยรายวันมากกว่า 20,000 รายแล้วในเดือนกรกฎาคม โดยอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตต่อประชากรหนึ่งล้านคนของมาเลเซียนั้นสูงเป็นอับดับหนึ่งในภูมิภาคนี้
ทั้งนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลละฮ์ ชะฮ์ สุลต่านแห่งรัฐปะหัง ได้ยอมรับการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ มูห์ยิดดิน ยัสซินแล้ว และได้แถลงระบุไว้ว่า มูห์ยิดดิน ยัสซิน จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการจนกว่าจะมีการแต่งตั้งนายกคนใหม่แม้จะยังไม่มีการกำหนดระยะเวลาไว้
อ้างอิง
https://prachatai.com/journal/2021/08/94503
https://www.reuters.com/world/asia-pacific/malaysian-pm-expected-resign-after-months-political-turmoil-2021-08-16/
https://apnews.com/article/health-coronavirus-pandemic-malaysia-b8233dff8391764afc50e4dbb3d41018