รวมความเรียง โควิด19 กับวัยเยาว์ที่สาบสูญ ระดับมหาวิทยาลัย

วามเรียง โควิด19 กับวัยเยาว์ที่สาบสูญ (ระดับอุดมศึกษา) โดย ดุสิต

 
ฉันนั่งพิมพ์เรื่องนี้ในหอกึ่งในกึ่งนอกที่เพื่อนร่วมห้องบอกว่าจะไม่กลับมาอีกนาน ใต้หอพักมีร้านอาหารมากมายที่ครั้งหนึ่งเคยคึกคักและเต็มไปด้วยผู้คน แต่ตอนที่ฉันใส่หน้ากากอนามัยลงไปรับอาหารจากพี่ไรเดอร์ฉันเห็นร้านโปรดของฉันกำลังถูกถอดป้ายร้านออก โต๊ะเก้าอี้กองไว้หน้าร้านเตรียมขนออก ชีวิตฉันในตอนนี้ไม่ตรงกับที่ฉันเคยคิดเลยสักนิด
วันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ฉันตื่นประมาณ 8 โมงกว่า ๆ หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูเป็นสิ่งแรกตามกิจวัตรประจำวัน เห็นแจ้งเตือนหลายสิบรายการจากเพื่อนให้รีบเข้ากลุ่มไลน์เพื่อโทรคุยกัน ใช่แล้ว วันนั้นเป็นวันประกาศผล TCAS รอบ 3 ฉันจึงรีบลุกจากที่นอนไปที่โต๊ะคอมพิวเตอร์ เสียงจากโทรศัพท์กรี๊ดกร๊าดจนแสบแก้วหู เพื่อนคนหนึ่งของฉันสอบติดคณะและมหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝันไว้แล้ว ปากของฉันเอ่ยคำแสดงความยินดีกับเพื่อน แต่มือฉันสั่นเมื่อกดเข้าดูผลสอบ ฉันเอาหนังสือปิดหน้าจอไว้แล้วตะโกนเรียกพ่อให้มาลุ้นพร้อมกัน

เพื่อนทุกคนเงียบเพื่อหยุดฟังว่าฉันสอบติดหรือไม่ ฉันค่อย ๆ เลื่อนหนังสือลงอย่างช้า ๆ จากนั้นฉันก็เห็นชื่อมหาวิทยาลัยที่ฉันอยากเข้าเป็นตัวสีเขียว อ่านข้อความนั้นออกเสียงออกมา ฉันกรี๊ดเสียงดังที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต พ่อยิ้มน้ำตาคลอ เสียงเพื่อนดังออกมาจากโทรศัพท์พร้อม ๆ กันจนจับใจความไม่ได้ เราออกไปฉลองกันในตัวเมือง กลับบ้านมาอีกทีคนทั้งตำบลก็รู้ว่าฉันสอบติดมหาวิทยาลัยชื่อดังแล้ว พ่อฉันเป็นครูหรือกรมประชาสัมพันธ์กันแน่เนี่ย นี่คือผลของความพยายามตั้งใจเรียนตลอดชีวิตที่ผ่านมาสินะ

ก่อนกลับบ้านฉันไม่ลืมที่จะแวะซื้อพวงมาลัยในตลาดพวงใหญ่กลิ่นหอมฟุ้งเอามาวางไว้หน้ารูปแม่ ฉันไม่ได้จุดธูปเพราะฉันกลัวไฟแช็ก แต่ฉันคิดว่าแม่น่าจะรับรู้ได้ ฉันบอกแม่ว่าฉันสอบติดมหาวิทยาลัยที่ฉันฝันแล้วนะ รูปแม่ยิ้มอยู่อย่างนั้นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ตอนนั้นฉันกลับคิดว่าแม่คงยิ้มอยู่ที่ไหนสักที่จริง ๆ ถ้าได้ยินข่าวดีข่าวนี้
ตลอดทั้งสัปดาห์ฉันดูซีรีส์ที่เกี่ยวกับชีวิตในมหาวิทยาลัยทั้งวันทั้งคืน กิจกรรมรับน้อง งานบายเนียร์ ไปเรียนนอกคณะแล้วตกหลุมรักกับเด็กนอกคณะ ทริปเที่ยวต่างจังหวัด ปาร์ตี้สนุกสนาน ฉันตื่นเต้นมากเพราะตั้งแต่เกิดก็ไม่เคยอยู่ที่ไหนนานเกินสามวันโดยไม่กลับบ้าน ใจหนึ่งก็กังวลว่าสังคมใหม่จะเป็นอย่างไร อีกใจหนึ่งก็ตื่นเต้น รอไม่ไหวที่จะได้เป็นเฟรชชี่แล้ว ฉันต้องรีบทำตัวเองให้ดูดีก่อนเข้ามหาวิทยาลัยสิ ฉันควรจะคิดชื่อเล่นใหม่ไหมนะ
ช่วงเวลาหลังจากนั้นเป็นช่วงที่ฉันไม่เคยลืม งานรับน้องคณะ บ้านรับน้อง เฟรชชี่เกม คอนเสิร์ตเฟรชชี่ไนต์ เรียนรวมในห้องใหญ่กับเพื่อนอีกสองสามร้อยคน นั่งรถโดยสารของมหาวิทยาลัยไปสยาม เครียดกับการสอบบ้างแต่ก็ย้อมใจด้วยการไปหาอะไรอร่อย ๆ กินกับเพื่อน เป็นอย่างนั้นจนจบเทอมแรกของชีวิตมหาวิทยาลัย

เราฉลองกันยกใหญ่เพราะเพิ่งปรับตัวกับการเรียนในมหาวิทยาลัยได้ ในใจฉันคิดว่าชีวิตมหาวิทยาลัยมันช่างสดใส เป็นอิสระ เบ่งบาน เพื่อน ๆ ก็ดี อาจารย์ก็ดี ชีวิตใหม่ของฉันเริ่มต้นที่นี่ตั้งแต่ตอนนี้แล้วล่ะ พอฉลองกันเสร็จแต่ละคนก็แยกย้ายกับภูมิลำเนาของตัวเอง แต่ในปลายปีนั้นเองก็มีข่าวไวรัสสายพันธุ์ใหม่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน มีข่าวว่าในไทยก็มีคนจากเมืองนั้นมาเที่ยวหลายหมื่นคน ไม่นานก็พบว่ามีคนติดเชื้อแล้ว ตอนนั้นฉันแทบไม่คิดอะไรเลยเพราะคนติดเชื้อไม่ถึงหลักสิบคน แค่ซื้อหน้ากากอนามัยมาใส่เหมือนเดิมเพราะก่อนหน้านั้นก็เจอ PM 2.5 อยู่แล้ว แต่นั่นกลับเป็นหายนะที่ฉันและคนทั้งโลกกำลังจะเจอ

เปิดเทอมใหม่ข่าวการแพร่ระบาดของโรคนี้ก็เริ่มเป็นกระแสขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังอยู่ในขั้นที่พอรับไหว เรายังไปเรียนที่คณะกันอยู่ในครึ่งเทอมแรก ตอนนั้นเริ่มมีเพื่อนเรียกร้องให้อาจารย์สอนออนไลน์เพราะการเดินทางมาเรียนเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อาจารย์บางท่านก็ยอม อาจารย์บางท่านก็หัวชนฝา แต่ในที่สุดมหาวิทยาลัยก็ประกาศให้เรียนออนไลน์ทั้งหมด
เริ่มแรกฉันรู้สึกสบายดีที่ไม่ต้องตื่นเช้า อาบน้ำแต่งตัวไปมหาวิทยาลัย กลับไปอยู่บ้านกับครอบครัว อยากนอนเรียนก็ไม่ต้องกลัว
อาจารย์ดุ คิดถึงเพื่อนที่มหาวิทยาลัยนิดหน่อย พอถึงเวลาก็ตื่นนอน เปิดคอมพิวเตอร์ ทำข้อสอบ อ่านหนังสือคนเดียว มีเสียงคนในครอบครัวเจี๊ยวจ๊าวบ้างก็พยายามทนไป จนจบเทอมสองของปีแรกในมหาวิทยาลัยที่ห้องนอนของตัวเองคนเดียว ฉันนึกถึงภาพตัวเองกับเพื่อน ๆ เมื่อเทอมที่แล้ว ตอนนี้เราควรได้อยู่ด้วยกันสิ หาร้านปิ้งย่างสักร้าน กินเสร็จแล้วก็ไปนั่งใต้หอคุยเล่นกันจนกว่าจะง่วง ตอนนี้เราก็ทำแบบนั้นนะ แต่เปลี่ยนเป็นการโทรระบายความหงุดหงิดใจในการเรียนรูปแบบใหม่แทน หงุดหงิดที่ไม่ได้เล่นสงกรานต์ปีแรกในชีวิตมหาวิทยาลัยกับเพื่อน ๆ หงุดหงิดที่ไม่ได้กินเลี้ยงจบปีหนึ่งด้วยกัน เห็นหน้ากันผ่านจอแก้ว ปลอบใจกันด้วยเสียงจากลำโพง เราจบปีแรกในชีวิตมหาวิทยาลัยกันแบบนั้นจริง ๆ
เปิดเทอมปีสองการระบาดเริ่มสงบลง แต่ก็ยังไม่สงบจนกลับไปเป็นเหมือนก่อนหน้านี้ได้ อย่างคำในข่าวที่เขาชอบพูดว่า New Normal ต้องเว้นระยะห่างกัน สแกนแอปนั้นแอปนี้ ลงทะเบียนชิงโชคเงินสวัสดิการ หลายคนเริ่มทนไม่ไหวกับการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลในสภาวะวิกฤต ช่วงนั้นจึงเกิดการชุมนุมน้อยใหญ่ในแทบทุกจังหวัด ฉันอดกลั้นความคับข้องใจที่มีต่อรัฐบาลนี้ตั้งแต่ ม.ต้น ไม่ไหวแล้ว จึงตัดสินใจขึ้นปราศรัยในการชุมนุมจังหวัดบ้านเกิด
ประเทศเราเป็นประชาธิปไตย การแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ อาจารย์วิชาหน้าที่พลเมืองสอนมาแบบนั้น แต่วันนั้นที่ฉันกำลังถือโทรโข่งพูดเชิญชวนให้คนร่วมชุมนุม มีตำรวจหลายสิบนายคอยจ้องมองอยู่ ทีมงานฉีก สก็อตเทปให้น้อง ๆ นักเรียนมัธยมแปะทับชื่อตัวเองเพื่อไม่ให้ถูกอาจารย์ลงโทษ หลังปราศรัยมีพี่ ๆ ทนายให้ช่องทางการติดต่อฉันเผื่อถูกจับ หึ นี่มันประเทศประชาธิปไตยแบบไหนกัน แบบ New Normal หรือยังไง
ปลายปี 2563 เราวางแผนจัดงานรับน้องไว้เสร็จสรรพ เตรียมออกค่ายต่างจังหวัด หวังว่าจะได้ผ่อนคลายความตึงเครียดเรื่องการเมืองลงบ้าง แต่ไม่นานหลังจากจบปีสองเทอมแรกก็มีคลัสเตอร์คนงานที่สมุทรปราการ มหาวิทยาลัยพับเก็บโครงการของพวกเราโดยทันที ความหวังที่จะได้เสพสุขเพียงชั่วครู่หายวับไปต่อหน้าต่อตา
ต้นปี 2564 มหาวิทยาลัยออกมาตรการเรียนออนไลน์ 100% ด้วยความคิดถึงเพื่อนเราจึงนัดกันมาเรียนที่หอสมุดกลางของมหาวิทยาลัย ถึงจะได้เจอหน้าค่าตากันแต่บางวันเราก็เหนื่อยล้าจากการเรียนออนไลน์ผ่าน
หน้าจอคอม หน้าจอแท็บเล็ตหลายชั่วโมงติดต่อกันหลายวัน ฉันพกยาพาราเซตามอลติดตัวทุกวันเพราะบางครั้งเรียนอยู่ดี ๆ ก็รู้สึกปวดหัว ปวดตา เพื่อนบางคนต้องทำเรื่องขอสอบใหม่เพราะอินเตอร์เน็ตขัดข้องระหว่างการสอบ
เริ่มแรกมีผู้ติดเชื้อวันละพันต้น ๆ รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง เพื่อน ๆ รีบกลับภูมิลำเนาตามคำขอของพ่อแม่ ฉันและเพื่อนที่เหลือยังกัดฟันอยู่ที่นี่ต่อ เพราะอย่างน้อยที่สุดเรายังอยู่ด้วยกัน วันเกิดของฉันเราพากันไปกินชาบูในร้านที่มีกลุ่มเราแค่กลุ่มเดียว พนักงานทั้งร้านมองมาที่โต๊ะเราเพราะไม่มีลูกค้าโต๊ะอื่นให้บริการ เป็นวันเกิดปีที่ 20 ที่เหงา เศร้า และหดหู่ใจ หลังจากนั้นเราก็กลับไปเรียนหน้าจอคอมกันต่อ ปวดหัวปวดตาก็กินยา เราทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ และเราก็จบปีสองหน้าจอคอมกันอีกเช่นเคย เดือนต่อมาเรานั่งกินข้าวที่ร้านอาหารไม่ได้ มหาวิทยาลัยปิดทำการชั่วคราว นิสิตทยอยกลับภูมิลำเนาของตัวเองจนเหลือไม่ถึงหลักร้อย ร้านรอบมหาวิทยาลัยเริ่มปิดกิจการถาวร ผู้ติดเชื้อจากหลักวันละพันเป็นวันละหมื่น รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว เพื่อนร่วมห้องของฉันบอกว่าอาจจะไม่กลับห้องมาอีกนาน ฉันนั่งพิมพ์เรื่องนี้ในห้องของตัวเองในขณะที่กำลังขึ้นปีสามแบบออนไลน์ วัคซีนที่รอคอยยังจับต้องไม่ได้ ชีวิตมหาวิทยาลัยอันสดใสก็เช่นเดียวกัน
ฉันจัดงานบายเนียร์ออนไลน์ให้รุ่นพี่ พวกเขาดูไม่สนุกสนานเท่าที่ควรสำหรับการจบปริญญาตรี ฉันแทบไม่รู้จักรุ่นน้องเลย รุ่นน้องก็แทบไม่รู้จักกันเองเหมือนกัน มีร้านใต้หอร้านหนึ่งที่เพื่อนเคยชวนไปกินแต่ตอนนี้ปิดไปแล้ว ฉันคิดถึงโมงยามเหล่านั้นที่เคยได้ออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน ๆ คุยสารทุกข์สุขดิบกัน กินข้าวที่โรงอาหารคณะ เสียงกลองสันทนาการที่ดังมาจากคณะไหนสักคณะ เดินลงมาหาของกินตอนสี่ทุ่มแล้วยังมีคนต่อคิวเข้าร้านอาหารใต้หอ นี่ไม่ใช่ความสงบ มันคือความเศร้า ความโดดเดี่ยว ในช่วงชีวิตที่ฉันควรจะสดใสเบ่งบานมากที่สุด
รัฐบาลต้องรีบนำเข้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้เร็วที่สุด ออกมาตรการเยียวยาที่จะไปถึงคนที่เดือดร้อนได้จริง ๆ ทุ่มงบประมาณกับการสาธารณสุขของคนในชาติ ยุบ ศบค. และยกเลิก พรก. ฉุกเฉินเพื่อกระจายอำนาจให้กับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ แต่ถ้าจะให้ดีรัฐบาลและกลุ่มอำนาจต้องปล่อยมือจากการเมืองได้แล้ว ไม่อย่างนั้นมันจะเลวร้ายลงไปกว่านี้
ฉันนึกถึงตัวเองตอนปีหนึ่งขณะกินเลี้ยงกับเพื่อน ๆ ฉลองการจบเทอมแรกของชีวิตในมหาวิทยาลัย ที่ตอนนั้นฉันคิดว่าการกินเลี้ยงครั้งนั้นคือการเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ตอนนี้ฉันกลับมองว่า การกินเลี้ยงครั้งนั้นคือการบอกลาชีวิตอันสดใส อีกไม่นานฉันก็จะจบมหาวิทยาลัยแล้ว นี่น่ะหรือชีวิตมหาวิทยาลัย หมดกันที่เคยฝันไว้
———-
ความเรียง โควิด19 กับวัยเยาว์ที่สาบสูญ (ระดับอุดมศึกษา) โดย ดาดฟ้าฝากฝัน
วัย “เยาว์” เมื่ออิงตามความหมายต้นฉบับดั้งเดิมจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นคำวิเศษณ์ ความหมายได้กล่าวไว้ว่า “อ่อนวัย” หรือ “รุ่นหนุ่มสาว” หากพูดถึงวัยรุ่นหนุ่มสาวนั้นสิ่งที่จะนึกได้เป็นอันดับต้นๆก็คงไม่พ้น ความฝัน การเรียนรู้ และช่วงชีวิตที่ยากจะลืมเลือน เป็นช่วงปีที่คนรุ่นนี้จะเปลี่ยนไปเป็นคนที่เขาจะเป็นไปตลอดชีวิต ขึ้นอยู่กับอุปสรรคเรื่องราวและสภาพแวดล้อมที่พวกเขาต้องเผชิญ แต่ก็ได้มีโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ว่าด้วย สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่นอกจากจะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลและทำให้เศรษฐกิจการทำงานต่างๆต้องหยุดชะงักแล้วยังส่งผลต่อรูปแบบการศึกษาโดยตรง ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเยาวชนภายในประเทศอีกด้วย
สำหรับตัวของผมเอง นักศึกษามหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 ที่ได้มีชีวิตท่ามกลางมรสุมของระบบการศึกษาออนไลน์อยู่ในขณะนี้และอาจจะมีต่อไปเรื่อยๆ ถ้าจะให้กล่าวถึงพายุที่ก่อเกิดอยู่ในจิตใจ ความรู้สึกหนักอก เรื่องตลกปนเศร้าเคล้าน้ำตา ก็คงจะไม่พ้นที่จะพูดถึงความทรงจำการเรียนออนไลน์ที่ผ่านมาในรั้วมหาลัยตลอดปีที่ผ่านมา
“ไฟแห่งความฝัน” หากลองเทียบตามคำกล่าวนี้ “ความฝัน” ก็เปรียบเสมือนประกายไฟที่เราสั่งสมกันมาตั้งแต่ยุคริเริ่มของการลิขิตในสิ่งที่เราอยากจะเป็น เวลาที่ผ่านไปแต่ไฟไม่เคยดับมอด ตลอดช่วงเวลาตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงเจริญวัยที่ได้หล่อเลี้ยงรักษาดวงไฟนี้ไว้ ทำให้มีแต่จะใหญ่ขึ้นไปในทุกวัน จนแข็งแกร่งขึ้นรอวันที่จะได้นำเอาไปใช้ เคยมีคนกล่าวไว้ว่าเมื่อเติบใหญ่ดวงไฟนี้จะค่อยๆดับสูญสวนทางกับความเป็นจริงของชีวิตที่เห็นชัดมากขึ้น แต่เมื่อได้เรียนออนไลน์ ปัญหาที่ตีเข้ามากันมากขึ้นในทุกๆวัน ความเหนื่อยล้าทางใจ ไฟแห่งความฝันที่ยังไม่ทันจะสุมได้เต็มดวง กลับโดนความเป็นจริงอันโหดร้ายที่อยู่ตรงหน้ามาปิดทับซะจนทำให้รู้ว่าช่วงชีวิตท่ามกลางความฝันของเหล่าวัยรุ่นเปลี่ยนผ่านไปสู่ก้าวชีวิตของผู้ใหญ่ไปเร็วเหลือเกิน ทั้งๆที่ในแต่ละวันร่างกายคนเราค่อยๆสูงขึ้นไปทีละนิดด้วยซ้ำ เวลาไม่ได้เดินเร็วขึ้นแต่ทำไมช่วงเวลาแห่งความฝันถึงสั้นลง เพราะโอกาสความเป็นไปได้ในอนาคตที่ถูกจำกัดจากสถานการณ์ตอนนี้หรือเปล่า?
“ความคิดสร้างสรรค์ที่สรรค์สร้างออกมาไม่ได้” ต้องยอมรับว่าตัวของผมเองนั้นได้เลือกที่จะตามความฝันในเส้นทางของศิลปิน ต้องการสื่อสารกับทุกคนบนโลกผ่านงานศิลปะในรูปแบบของตนเอง การศึกษาภาคปฏิบัติจึงเป็นสิ่งที่ผมค่อนข้างให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ได้สนุกกับการลองผิดลองถูก แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนที่ได้เจอกันครั้งแรก ประสบความสำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง ใช้พื้นที่การแสดงความคิดได้อย่างเต็มที่โดยไม่รู้จบ แต่เนื่องด้วยการมาถึงของการเรียนในรูปแบบออนไลน์นับว่าเป็นความท้าทายรูปแบบใหม่ที่สร้างความท้าทายและความยากลำบากต่อเหล่าผู้แสวงหาความรู้จำนวนมาก
นอกเหนือจากปัญหาความเหลื่อมล้ำของอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ไม่เพียงพอสำหรับทุกคนแล้ว หากมองเข้าไปถึงเบื้องลึกอย่างแท้จริง ภายในจิตใจของวัยรุ่นที่เคยเบ่งบานก็ได้เหี่ยวเฉาไปอย่างช้าๆ แต่ละวันที่ต้องมาอาบแสงสีฟ้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ความกล้าที่จะนำเสนอตัวตนของตนออกมาค่อยๆหดหายไปเหมือนกับไมค์ที่ไม่เคยถูกเปิดเลยระหว่างการเรียนการสอน ชิ้นงานที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นกลุ่มความคิดก้อนไอเดียที่รอโอกาสให้ได้ต่อยอด กลับถูกบรรจุใส่กล่องของการกักตัวและถูกขังลืมปราศจากการถูกสร้างจนเป็นชิ้นเป็นอัน บางทีทุกวันนี้ในความฝันคงเป็นสถานที่ที่เดียวที่ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่จับต้องได้หรือเปล่า?
หากจะมีข้อเสนอที่อยากให้เกิดขึ้นโดยด่วนนั้น คำว่า “ด่วน” ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นแสดงถึงความเร่งรีบ
อาการของความร้อนอกร้อนใจต่อปัญหา ที่ต้องจัดการในทันทีทันใด ดังนั้นถ้านี่เป็นพรเพียงไม่กี่ขอที่ผมสามารถยื่นขอต่อรองได้ในชีวิต ผมจะไม่กล่าวถึงการจัดการระยะยาวแต่เป็นการจัดการปัญหาที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งถ้าหากสายเกินที่จะแก้ ระยะยาวที่ว่าก็ไม่ได้ยาวอย่างที่ความหมายได้ว่าไว้เลยแม้แต่น้อย ผมขอเป็นอีกเสียงหนึ่งที่ต้องการให้มีการจัดหาทรัพยากรการศึกษาให้ได้ทั่วถึงมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และส่งเสริมทุนการศึกษาในทุกด้านของสายการเรียน การดูแลความเป็นอยู่ของเหล่านักศึกษาอย่างเอาใจใส่ทั้งสภาพความเป็นอยู่และจิตใจ พัฒนา เปิดรับ และปลูกฝังจิตวิญญาณของการเรียนรู้ได้อย่างถูกต้องและมีคุณภาพ เพื่อที่ต้นกล้าแห่งปัญญาเหล่านี้จะเติบใหญ่และมีรากที่มั่นคงแข็งแรงพร้อมที่จะออกผลผลิตแห่งอนาคตออกมาได้
ทั้งนี้อยากจะบอกกล่าวถึงท่านผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจทุกท่านว่า “ถึงแม้ช่วงเวลาจะทำให้เติบใหญ่แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความเยาว์ในหัวใจของท่านสูญหายไป” ครั้งหนึ่งท่านเคยสัมผัสความเยาว์ด้วยตนเองมาแล้วหนนึงและเข้าใจมันเป็นอย่างดี สำหรับหนุ่มสาวรุ่นนี้ แด่จิตวิญญาณความเยาว์ที่กำลังจะแตกสลายและดับสูญ ช่วยกรุณารักษาให้คงอยู่ต่อไป หวังว่าเสียงของความฝันดวงเล็กๆเหล่านี้จะส่งไปถึงให้เกิดความเคลื่อนไหวบ้างไม่มากก็น้อย
———-
ความเรียง โควิด19 กับวัยเยาว์ที่สาบสูญ (ระดับอุดมศึกษา) โดย พริกป่น

เราจะต้องเจ็บปวดอีกเท่าไหร่กับระบบการปกครองนี้” เป็นคำถามที่เราเชื่อว่าเกิดขึ้นในหัวของใครหลายๆคน รวมถึงตัวเรา ระบบการศึกษาไม่ได้เพิ่งเริ่มทำร้ายเรา จากสถานการณ์ COVID-19 แต่มันทำร้ายเรามาโดยตลอด 20 ปี หรือทั้งชีวิตของการเป็นเยาวชนคนไทยคนหนึ่ง ระบบการศึกษาที่ถูกควบคุมและออกแบบโดยคสช. ปลูกฝัง ทำลายความฝัน และฆ่าเราทุกคนอย่างช้าๆ
ขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ เรากำลังพ้นสภาพนักศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของประเทศชาติ ระบบการศึกษาก็กำลังหยิบยื่นความสิ้นหวังแก่นักศึกษา เราไม่ได้ต้องการเพียงเอาชีวิตวัยรุ่นเราคืนมา แต่เราต้องการให้คุณเอาเผด็จการของคุณคืนไป
เราเข้ารับการศึกษาคณะจิตรกรรมฯครั้งแรกตอนปี 2562 และถูกให้ลาออกช่วงกำลังจะจบปี 1 ว่าด้วยเรื่องของการตรวจสอบที่ผิดพลาดของมหาวิทยาลัย ที่ปล่อยให้นักศึกษาเรียนและจ่ายค่าเทอม ทางมหาวิทยาลัยก็เชิญเราให้เขียนใบลาออก และมาสอบเข้าใหม่ เราเข้ารับการศึกษาคณะจิตรกรรมฯอีกครั้งในปี 2563 และถูกพ้นสภาพนักศึกษาอีกครั้ง ในปี 2564 การถูกให้ออกครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยให้เหตุผลกับเราว่า เรามีผลการศึกษาไม่ผ่านระเบียบที่กำหนดไว้ เราจึงต้องหลุดจากระบบการศึกษา และการหลุดจากระบบการศึกษาครั้งนี้ มันอาจจะหมายถึง การที่เราจะต้องบอกลาระบบการศึกษาตลอดไป
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว บางท่านอาจจะมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นไปตามระเบียบ เป็นเรื่องที่สมควรแล้ว แต่มันยุติธรรมกับเยาวชนคนหนึ่งจริงๆแล้วเหรอ ที่เราจะไม่มีสิทธิเข้าถึงการศึกษาเพียงเพราะว่าเราไม่ได้มาตรฐานตามระเบียบการศึกษาที่รัฐบาลคชส.กำหนดไว้ แล้วมันสมควรจริงๆแล้วใช่หรือไม่ ที่มหาวิทยาลัยจะมีสิทธิกำหนดชีวิตเรา ขูดรีดทุกอย่างจากนักศึกษาเพื่อมหาวิทยาลัย และทอดทิ้งคนที่ไม่ได้มาตรฐานไว้ข้างหลัง คนที่ถูกทอดทิ้งก็มีความฝัน แต่เราไม่ใช่หุ่นยนต์ เราคือคน คนเหมือนกันกับทุกคนที่ประสบความสำเร็จ มีความหวัง และถูกทำลายโดยระบบการศึกษา
ในช่วงปี 2563 ที่เราได้กลับเข้ามาเรียนคณะจิตรกรรมฯ ขณะนั้นสถานการณ์ทางการเมืองเข้มข้นมากขึ้นทุกวัน เราก็เป็นคนหนึ่งที่เริ่มสนใจเรื่องระบบอำนาจ หรือคนที่คณะจะเรียกว่า อินการเมือง หรือไม่ก็ พวกเผาบ้าน ในช่วงแรกๆของการซิ่วมาเรียน ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้นทุกวัน ภายในคณะก็เริ่มมีการทำศิลปะต่อต้านเผด็จการ ขบถต่อความคิดเก่าๆของคณะจิตรกรรมฯ ซึ่งเราก็เป็นคนหนึ่งที่ร่วมแสดงจุดยืนของเราชัดเจนภายในคณะมาโดยตลอด ซึ่งมันก็อาจจะส่งผลให้ อาจจะไปเป็นที่ไม่ชอบใจของใครหลายๆคนภายในคณะ รวมถึงการตัดสินงานศิลปะ ที่ล้าหลัง วิจารณ์มากไปกว่างานตรงหน้า แต่แอบแฝงไปด้วยอุดมการณ์ส่วนตัว
ช่วงปลายปี 2563 เราเข้าร่วมการชุมนุม และได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ จากความรุนแรงของฝั่งรัฐบาล เราเข้ารับรักษาในปี 2564 ซึ่งในระหว่างนั้น เราต้องเรียนศิลปะแบบออนไลน์ ตามมาตรการที่รัฐแจกจ่ายมาให้มหาวิทยาลัย ทุกอย่างเป็นไปด้วยความหดหู่และยากลำบาก นักศึกษาหลายๆคนไม่มีสิทธิเข้าถึงการเรียนออนไลน์ ด้วยหลายสาเหตุ ทั้งในเรื่องของอุปกรณ์ และการเปลี่ยนแปลงที่ทางมหาลัยวิทยาลัยก็ไม่เคยรับมือมาก่อน อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจที่เราทุกคนล้วนได้รับผลกระทบจากการบริหารที่เห็นแก่คนกลุ่มหนึ่งของรัฐบาล คสช. การเรียนออนไลน์จึงเป็นการเรียนที่ไม่อาจมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัย อีกทั้งผลกระทบในเรื่องสภาพจิตใจ ที่ได้รับมาจากความเป็นอยู่ของชีวิตที่สิ้นหวังมากขึ้นทุกวัน เราไม่สามารถผลิตงานได้ท่ามกลางความล้าหลังของคณะจิตรกรรม ความล้าหลังของการศึกษา ซ้ำยังหวาดระแวงต่อเหตุการณ์คุกคามประชาชน สุดท้ายมันก็ไปจบตรงที่ ภาคเรียนที่ผ่านมา จะเป็นภาคเรียนสุดท้ายที่เราจะได้เรียน เพราะเราไม่สามารถทำได้ตามมาตรฐานที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ จึงต้องพ้นสภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร
เราเคยเป็นเด็กคนหนึ่งที่เติบโตมาตามขนบของประเทศนี้ พยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จจอมปลอม หรือไม่ก็พยายามเพื่อระบบอุปถัมภ์ แล้ววันหนึ่งเราก็พังทลายซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับระบบการศึกษาภายใต้การปกครองของรัฐบาลคสช. โดนหลอกลวงมากมายจากการศึกษา เติบโตมาในประเทศที่จำกัดและละเมิดสิทธิผ่านทางกฎหมาย สร้างกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมและกำจัดคนที่แตกต่าง อีกคำถามที่เรามักจะถามตัวเอง หรือไม่ก็พูดกับเพื่อนๆตลอด ถ้ารัฐประหารไม่เกิดขึ้น หรือประเทศเราไม่ได้ปกครองด้วยระบอบนี้ เราจะทำอะไรอยู่ เราก็อาจจะเป็นเด็กคนหนึ่งที่เติบโตอย่างเป็นตัวของตัวเอง ได้รับการศึกษา ได้เรียนฟรี มีสวัสดิการรองรับ ได้ใช้ชีวิตตามประสาวัยรุ่นคนหนึ่ง มีความรัก มีความฝัน ไม่ต้องกังวลต่อความมอยุติธรรมในประเทศ ไม่ต้องกลัวถูกคุมคาม มีชีวิตเยี่ยงมนุษย์คนหนึ่ง รับรู้ถึงความเป็นมนุษย์ เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ไม่มีใครมีสิทธิเหนือหัว
สิ่งที่ประเทศนี้พรากไปจากเยาวชน คือทั้งชีวิตของพวกเรา รัฐบาลไม่อาจเติมเต็มความหวังของประชาชนได้ พวกเราทุกคนเพียงปรารถนาที่จะมีชีวิตเยี่ยงมนุษย์คนหนึ่ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่ถูกละเมิดสิทธิ แต่สิ่งที่ประเทศนี้มอบให้แก่เยาวชนที่เติบโตมาในยุคของการรัฐประหาร คือการพรากความเป็นมนุษย์คนหนึ่งไปจากเรา คุณให้เราใช้ชีวิตตามหลักหน้าที่พลเมือง เพื่อที่จะได้ควบคุมเราประหนึ่งว่าเราเป็นหุ่นยนต์ เป็นทาส เป็นเครื่องมือของรัฐบาล และเมื่อเรามาทวงอำนาจของเราคืน รัฐบาลก็ปฏิบัติต่อเราราวกับว่าเราเป็นอาชญากร ทั้งที่รัฐบาลคสช.มากกว่าที่คืออาชญากร ปล้นอำนาจ ไม่เคยนำมาซึ่งความสงบสุข แต่นำมาซึ่งความฉิบหาย มีแต่ขูดรีดประชาชน ที่ความฝันเราไม่อาจเป็นจริง เพราะพวกเขาขโมยมันไปตั้งแต่เข้ามารัฐประหาร
ชีวิตวัยรุ่นของเรามันไม่ได้เพิ่งมาถูกพรากไป แต่พวกเขาขโมยทุกอย่างไปจากประชาชน ในวันหนี่งเราอาจจะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่มันไม่อาจยั่งยืน ถ้าเผด็จการยังไม่หมดไป เราจึงไม่ได้ต้องการเพียงแค่เราชีวิตวัยรุ่นเราคืนมา แต่ต้องการให้คุณเอาเผด็จการของคุณคืนไป
———-
ความเรียง โควิด19 กับวัยเยาว์ที่สาบสูญ (ระดับอุดมศึกษา) โดย คิมลีอาย
ถ้าจะถามถึงช่วงชีวิตนักศึกษาปี 1 แบบเราในยุคโควิด เราก็จะตอบว่ายอดแย่มาก ตัวเราเองผ่านประสบการณ์เรียนออนไลน์มา 1 ครั้งตอนที่อยู่ม.6 พยายามเรียนและอ่านหนังสือเข้ามหาลัยไปเพื่ออนาคตของตัวเอง คิดว่าเดี๋ยวมันก็ดีขึ้น คิดว่าเดี๋ยวก็มีวิธีจัดการที่ดี เป็นไงผ่านมา 2 ปีเป็น 2 ปีที่ห่วยแตกมากๆจริง รู้สึกหมดหวังมากกับชีวิตแทบจะไม่หวังแล้วว่ามันจะดีขึ้นขอแค่รอดตายจากสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ก็พอ
เล่าถึงชีวิตเด็ก ม.6 อย่างเราที่โควิดมาแรกๆดีกว่า ตัวเราเองได้สมัครค่ายครูไปเพื่อจะไปลองเรียนรู้อะไรใหม่ๆว่าอยากเรียนครูจริงรึเปล่า เตรียมการสมัครตั้งใจมากที่จะไปค่ายเพื่อไปเรียนรู้จริงๆ เป็นไงโควิดมาค่ายเลื่อนจากตอนแรกที่เลื่อนกลายเป็นค่ายล่ม หายไปเลยประสบการณ์ชีวิตที่จะได้เรียนรู้ก่อนเข้ามหาลัย เป็นเพราะตอนนั้นโควิดมาแรกๆประเทศเราปิดประเทศช้ายังให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ รัฐบาลไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์มันดีเลย ถึงตอนนั้นประเทศไทยเป็นประเทศที่คนติดเชื้อน้อยแต่เราคิดว่าเป็นเพราะประชาชนร่วมมือกันป้องกันและรับมือ แถมอีกอย่างค่าตรวจโควิดแพงคนไม่มีเงินก็ไม่ได้ไปตรวจ ไม่ตรวจเท่ากับไม่ติดสบายใจจัง
รัฐบาลไม่ตรวจเชิงรุกและถ้าให้ประชาชนตรวจทุกคน ประเทศไทยคงยอดผู้ติดเชื้อพุ่งในความคิดเรา คราวนี้พอไม่ได้ไปค่าย โรงเรียนเลื่อนเปิดเทอมมานั่งเรียนออนไลน์โง่ๆไม่ได้อะไรเลยไม่ใช่เราไม่อยากตั้งใจนะแต่สภาพแวดล้อมมันไม่ใช่ ขนาดครูยังบ่นไม่อยากสอนออนไลน์เลย การเรียนที่ดีควรไปเจอหน้ากันเพราะมันจะโฟกัสมากกว่า รอบนี้ยังถือว่าเป็นของเบา
มาถึงตอนมหาลัยขึ้นปี 1 กันดีกว่า ขึ้นปี 1 ในความคิดของเราก่อนสมัยไม่มีโควิดคือว้าวกิจกรรมมาเลย เจอเพื่อนใหม่มาเลย งานหนักเท่าไรมาเลย อยู่หอหรอพร้อมมาก พอมีโควิดมาระลอกที่ 3 รอบล่าสุดร้ายแรงที่สุดยอดผู้ติดเชื้อขึ้นทุกวัน ความฝันเด็กปี 1 แตกสลาย นอนอยู่บ้านถึงจะจ่ายค่าหอและค่าเทอมไปแล้วตู้มเดียวแถมยังแสนแพงในเศรษฐกิจแบบนี้ค่าเทอมลด 10% ไม่มีอะไรเยียวยา วัคซีนก็ยังไม่ได้ฉีดแถมยังไม่ได้เลือกในสิ่งที่จะเหมาะสมกับร่างกายของตัวเอง โอ้โห้ประเทศดีๆกับชีวิตดีๆที่ลงตัว
พูดถึงการเรียนออนไลน์กันบ้าง เครียดยิ่งกว่าชีวิตมัธยมอีกค่ะคุณ งานกลุ่มเยอะต้องคุยกับคนไม่รู้จักแล้วคุยเรื่องงานแบบจริงจังพอเราพิมพ์ไลน์ไปไม่มีใครตอบถามว่างานเดินไหมก็ไม่ค่ะ ไม่มีใครกล้าพูดกันเพราะไม่เคยรู้จักกัน งานกลุ่มออนไลน์นี้คือแย่สุด มาถึงเรียน 1 วิชา 3 ชั่วโมง อะเมซิ่งไทยแลนด์ปวดตาปวดหลังไปหมดเสียสุขภาพมาก ความรู้เข้าหัวแค่ชั่วโมงแรกเท่านั้นหลังจากนั้นคือบาย แถมเจอข้างบ้านตัดหญ้าระหว่างเรียนไหนจะที่บ้านเรียกใช้งาน น้องมากวน สารพัดเหตุการณ์ ถึงอาจารย์จะสอนสนุกขนาดไหนแต่การจ้องจอนานๆไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย เหนื่อยยิ่งกว่าไปเรียนที่โรงเรียนทุกวันอีกเรียนออนไลน์มันแย่มาก
สิ่งที่อยากให้รัฐบาลทำให้ได้คือเลิกเอาเงินมาแจกเอาใจชาวบ้านเอาใจคนแก่ เอาเงินมาให้ตรวจโควิดฟรี เอาเงินมาซื้อวัคซีนที่ดีและประชาชนมีสิทิ์ที่จะได้เลือกฟรีดีกว่าค่ะ ประชาชนอยากได้สิ่งนี้มากกว่า ดูประเทศอื่นที่เขาทำแบบนี้เปิดประเทศมีนักท่องเที่ยวเงินไหลเข้าประเทศแล้วค่ะ ถ้าประเทศไทยเราทำแบบนี้หรือดูตัวอย่างประเทศอื่นบ้างเปิดหูเปิดตารับสิ่งที่ดี ประชาชนในประเทศจะมีความสุขและตัวเลขผู้ป่วยผู้ติดเชื้อจะไม่เพิ่มขึ้นเยอะขนาดนี้ สถาบันการศึกษาจะได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพทั้งครู อาจารย์ นักเรียน
ถามว่าในตอนนี้รัฐบาลต้องทำไงบ้าง เงินเยียวยามันคือสิ่งที่ประชาชนควรจะได้รับถูกแล้วแต่ว่าในเมื่อสถานการณ์มันแย่เงินในคลังไม่พอ การกู้ควรเอาไปซื้อวัคซีนให้ประชาชนได้รับอย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและมีคุณภาพ แล้วผลที่ออกมาก็คือเศรษฐกิจฟื้นฟูเปิดประเทศ แต่อันนี้อะไรเทียบกับประเทศอเมริกา ประชาชนเขาได้รับวัคซีนดีๆแถมกลับมาในสถานการณ์ปกติแล้ว ได้สวัสดิการจากรัฐที่ดี ขนาดคนไร้บ้านยังได้รับวัคซีนแล้วเลย รัฐบาลไทยมั่วแต่ทำอะไรอยู่ ที่ประชาชนสามารถรอดทุกวันนี้ได้เป็นเพราะบุคลากรทางการแพทย์ถ้าพวกเขาต้องมาติดเตรียมรับมือกับความล่มสลายของไทยได้เลย
สุดท้ายนี้เราอยากได้วัคซีนที่ดีมีคุณภาพที่เราจะได้ไม่ต้องไปเสี่ยงชีวิตหรือหวาดกลัวในการได้รับวัคซีน ร่างกายเราควรมีสิทธิ์ได้รับวัคซีนดีๆและในเมื่อรัฐบาลเป็นตัวกลางในการจัดหาให้ประชาชนก็ควรทำให้เต็มที่และรวดเร็วไม่ปล่อยยืดเยื้อค่ะ อย่าฆ่าประชาชนทางอ้อมเลย เราชนะใครชนะบ้างตอนนี้ประเทศไทยมีแต่แพ้ในตอนนี้
———-
ความเรียง โควิด19 กับวัยเยาว์ที่สาบสูญ (ระดับอุดมศึกษา) โดย ทาเนย
สวัสดีคะ ใครที่กำลังอ่านข้อความนี้อยู่ คุณคงจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันใช่ไหมคะหรืออาจจะไม่ก็ได้ หวังว่าคุณอ่านเรื่องของฉันแล้วจะได้อะไรกลับไปนะคะ ฉันกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ตอนนี้อยู่ปี 4 แล้วค่ะ พูดถึงปี 4 มันควรจะเป็นปีที่เราได้เก็บเกี่ยวความทรงจำดีๆมากที่สุดโดยเฉพาะกับเพื่อนหรือคนรักแต่สำหรับฉันคงกับเพื่อนมากกว่า พอจบปี 4 แล้ว ทุกคนก็ต้องแยกย้ายกันไปทำตามความฝันของแต่ละคน มีเวลามาเจอกันน้อยลงกว่าเมื่อก่อน ฉันตั้งใจว่าจะเก็บเกี่ยวความทรงจำเหล่านี้ให้ได้มากที่สุดแต่มันกลับไม่เป็นอยากที่คิด
หลังจากการระบาดระลอกที่ 2 ผ่านไปในช่วงเวลานั้นฉันหมดเวลาเทอม 1 ของปี 3 ไปกับการนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เรียนออนไลน์ที่แทบจะไม่ได้ความรู้อะไรเลยแต่ได้อาการปวดหลัง ปวดคอมาแทน อย่างน้อยมันก็ช่วงเวลาสั้นๆเพราะเทอม 2 ฉันได้กลับไปเรียนตามปกติ ถึงแม้จะต้องใส่หน้ากากปกปิดความสวยของฉันก็ตามทีแต่อย่างน้อยการได้ออกไปเรียนที่มหาลัยก็ดีกว่าต้องมานั่งอุดอู้อยู่ในห้องแทบจะทั้งวัน การได้กลับไปเรียนมันเหมือนเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับชีวิตวัยรุ่นที่มันแสนจะน่าเบื่ออีกครั้ง แต่แล้วด้วยการทำงานของรัฐบาลที่คุณเองก็น่าจะรู้ดี ทำให้ชีวิตของเด็กปี 4 อย่างฉันต้องกลับไปอยู่จุดเดิมและมันก็แย่กว่าเดิมหลายสิบเท่า
ถ้าคุณเคยผ่านการเป็นเด็กปี 4 มาก่อน คุณน่าจะรู้ดีว่ามันกดดันและเครียดมากขนาดไหน สิ่งที่ฉันรู้สึกมันก็ไม่ต่างจากเด็กปี 4 คนอื่นๆ ที่เครียดและกดดัน ไหนจะเรื่องปริญญานิพนธ์ เรื่องฝึกงาน หลักๆคงเป็นเรื่องงานที่อาจารย์แต่ละคนสั่ง แต่ฉันยังคงมีความหวังว่าจะได้กลับไปเรียนแบบปกติ แต่แล้วไม่นานมานี้ทางมหาวิทยาลัยได้มีการประกาศให้เรียนออนไลน์100% เอาจริงๆมันก็ไม่ได้เป็นประกาศแบบทางการสักเท่าไร แต่จากสถานการณ์ตอนนี้ก็เดาได้ไม่ยาก พอรู้ข่าวฉันโทรไปร้องไห้กับเพื่อนๆตอนนั้นฉันรู้แค่ว่าฉันต้องโทรหาพวกเขาเพราะอารมณ์ของฉันดิ่งมากๆและฉันคิดว่าถ้าฉันยังจมอยู่ความเครียดต่างๆที่ถาโถมเข้ามาอยู่คนเดียว ฉันคงไม่มีชีวิตอยู่มาเขียนเรื่องราวให้ทุกคนได้อ่าน
ฉันพูดตรงๆเลยว่าตั้งแต่ขึ้นปี 4 มาได้เดือนครึ่งฉันเหนื่อยมากๆเหนื่อยจนอยากจะหายไปจากโลกนี้ให้รู้แล้วรู้รอด ความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายมันวนเวียนอยู่ในหัวของฉัน จนฉันก็กลัวว่าสักวันหนึ่งตัวฉันเองจะทนกับการใช้ชีวิตแบบนี้ไม่ไหว แล้วเลือกจะจบชีวิตของตัวเอง ฉันรู้สึกท้อแท้มากกับการที่ต้องใช้ชีวิตทุกวันในประเทศที่แม้แต่วัคซีนดีๆก็ไม่มีให้ ฉันหมดหวังมาก ฉันมองไม่เห็นอนาคตข้างหน้าของตัวเองเลย
ฉันเสียเวลาวัยรุ่นของฉันไปกับการนั่งเรียนออนไลน์ ทำงานส่งให้อาจารย์ นอนโง่ๆอยู่บนเตียงในห้องสี่เหลี่ยมวนไปแบบนี้ในทุกๆวัน ฉันเสียชีวิตช่วงวัยรุ่นไปโดยที่ฉันเองไม่ใช่คนเลือกที่จะปล่อยมันไปและฉันก็ไม่สามารถที่จะย้อนเอาช่วงเวลาเหล่านั้นกลับคืนมาได้ มันทำให้ฉันรู้สึกเศร้ามากๆ การเรียนออนไลน์เหมือนนรกในห้องสี่เหลี่ยมของฉันในทุกวัน งานที่อาจารย์แต่ละคนสั่งมันก็เหมือนกับการลงโทษจากผู้คุมที่ไม่มีวันหมดสิ้น
การเรียนออนไลน์ได้พรากหลายอย่างไปจากฉัน ทั้งโอกาสที่จะใช้เวลากับเพื่อน โอกาสที่จะได้ออกไปลองทำอะไรใหม่ๆ ความฝันของฉัน อนาคตของฉันและนั่นก็คงไม่ใช่ฉันเพียงคนเดียวที่รู้สึกแบบนั้นยังมีนักเรียน นักศึกษาที่เผชิญปัญหาเดียวกันกับฉัน บางทีอาจจะหนักกว่าจนพวกเขาเลือกที่จะฆ่าตัวตายและถ้ารัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้สักที ก็ต้องมีนักเรียนนักศึกษาเลือกที่จะจบชีวิตลงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการเรียนออนไลน์ที่บ้านนั้นมันไม่ตอบโจทย์สำหรับทุกคน
บ้านไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะกับการเรียน และบางวิชาก็ไม่ได้เหมาะกับการเรียนออนไลน์ ว่ากันตามจริงก็ไม่มีวิชาไหนที่เหมาะกับการเรียนออนไลน์ทั้งนั้น อีกทั้งอาจารย์ส่วนใหญ่ไม่มีการปรับเนื้อหาให้เข้ากับสถานการณ์ยังมีการสั่งงานหรือการบ้านเยอะๆเพียงเพราะคิดว่านักเรียนหรือนักศึกษาอยู่บ้านมีเวลาทำเยอะแยะ รวมถึงมีการสั่งงานกลุ่มทั้งที่ในสถานการณ์แบบนี้ยากที่จะรวมตัวกัน หรือที่เราเห็นกันบ่อยๆในช่วงนี้คือคลิปที่อาจารย์ใช้อารมณ์กับนักเรียนนักศึกษา นี่เป็นเพียงปัญหาส่วนเล็กๆที่นักเรียนนักศึกษาต้องเจอ
ในส่วนของข้อเสนอที่ฉันอยากให้เกิดขึ้นโดยด่วนคือ การให้นักเรียนนักศึกษาดรอปเรียนไปจนกว่ารัฐบาลจะจัดการปัญหาโควิด- 19ได้เสร็จเรียบร้อยเพราะอย่างที่ฉันบอกไปการเรียนออนไลน์ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับนักเรียนนักศึกษา บางหลักสูตรก็ไม่เหมาะสมที่จะเรียนออนไลน์ ซึ่งในขณะที่ดรอปเรียนอยู่ทางรัฐบาลต้องเยียวยาทั้งนักเรียนนักศึกษา คุณครูผู้สอน รวมทั้งสถานศึกษาด้วย แต่ข้อเสนอนี้ทำได้ค่อนข้างยากเพราะทุกคนไม่ได้พร้อมที่จะเสียเวลาไปเปล่าๆ
จึงมีอีกข้อเสนอคือการให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ลดค่าเทอม 50% หรือมากกว่านั้นเพราะนักเรียนนักศึกษาไม่ได้ไปโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ไม่ได้ใช้น้ำ ใช้ไฟ ไม่ได้ใช้อุปกรณ์ของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเลยแม้แต่น้อยแต่กลับต้องมารับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเรียนออนไลน์อยู่บ้าน
สุดท้ายนี้ฉันอยากจะฝากคำถามไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือรัฐบาลว่าจะต้องมีนักเรียนนักศึกษาอีกกี่คนที่ต้องฆ่าตัวตายเพราะเครียดจากการเรียนออนไลน์ จากงานที่เยอะเกินไป หรือต้องเสียโอกาสช่วงวัยรุ่นที่มีเพียงครั้งเดียวในชีวิต เสียอนาคตของเขาไป อยากรู้ว่าต้องมีอีกกี่คนพวกคุณถึงจะตระหนักกันได้และพวกคุณจะชดใช้ให้กับสิ่งที่พวกเขาเสียไปยังไง
และฝากถึงนักเรียนนักศึกษาทุกคน พวกคุณเก่งมากๆ ขอบคุณที่อดทนและเข้มแข็งมาตลอดเลยนะคะไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร มาก้าวผ่านมันไปด้วยกันนะ
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอย่าลืมยิ้มให้กับตัวเองเยอะๆนะคะ เพราะรอยยิ้มเหมาะกับคุณที่สุดแล้ว
———-
ความเรียง โควิด19 กับวัยเยาว์ที่สาบสูญ (ระดับอุดมศึกษา) โดย famfamilys
จริงๆประสบการณ์ที่เจอในการเรียนออนไลน์คือความไม่พร้อมทางด้านระบบอุปกรณ์ สิ่งแวดล้อม และสมาธิ คือสิ่งหลักๆที่ได้สัมผัสมาในช่วงการเรียนออนไลน์ตลอดเกือบ 2 ปี ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณอินเตอร์เน็ตขัดข้องระหว่างฟังครูสอน เสียเชื่อมเหล็กของข้างบ้านที่คอยกล่อมประสาทจนไม่สามารถที่จะเรียนต่อได้ หรือเสียงพ่อแม่พูดคุยกัน ความไม่เป็นส่วนตัวในการเรียนออนไลน์ เช่น พ่อแม่เดินเปิดประตูเข้ามาโดยที่กำลังเรียนอยู่ เป็นต้น แม้กระทั่งสภาพร่างกายในการเรียนออนไลน์ การมองหน้าจอคอมตลอดเวลาเกือบ 8 ชั่วโมง ซึ่งส่งผลกระทบกับสายตาอย่างมาก ที่เจอกับตัวเองเลยคือจ้องหน้าคอมแล้วมีอาการน้ำตาไหลตลอดเวลา เป็นต้น
แม้กระทั่ง ค่าใช้จ่ายในการเรียนออนไลน์ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ บางคนต้องซื้อคอมใหม่ โทรศัพท์ใหม่เพื่อมาใช้ในการเรียน ที่สำคัญคือการเร่งรัดเนื้อหาการเรียนการสอนให้รีบจบไปจากเดิม ซึ่งไม่ทำให้ตัวผู้เรียนได้รับความรู้มากเท่าที่ควร การเร่งการสอบให้ขยับและกระชั้นชิดไปจากเดิม การมอบหมาย Project ยากๆที่ไม่สามารถทำเป็นงานเดี่ยวได้ แต่ก็ต้องสั่งเพราะในรูปแบบการสอนของอาจารย์ลิสต์ออกมาเป็นแบบนี้ บางวิชาจำเป็นต้องฝึกใช้เครื่องมือในการเรียนก็ไม่ได้ใช้ แต่กลายเป็นต้องมาเรียนรู้การใช้งานจาก Youtube ซึ่งมันดูไม่ Make sense กับวิชาคณะที่ต้องเรียน เนื้อหาการสอนบางวิชาก็แทบไม่มีอะไร แค่เข้ามาเช็คชื่อ พูดคุยนิดหน่อยก็จบคลาส มันดูแปลกๆไปเลย
ปัญหาสุขภาพจิตที่เด็ก วัยรุ่น เยาวชน ซึ่งเป็นวัยที่ต้องพบเจอเพื่อน เข้าสังคม สิ่งเหล่านี้เมื่อเจอวิกฤตกลับกลายเป็นถูกหยุดไปโดยปริยาย กลายเป็นสุขภาพจิตเสื่อม ต้องรับแรงกดดันจากครอบครัว ถูกกล่าวหา ถูกด่าว่าทำไมไม่เรียน ทั้งที่ตัวเองเปิดคอมจะเข้าซูม มันทำให้เด็กต้องมาเจอแรงกดดัยจากทุกทิศทาง ทำให้ปัญหาการเรียนออนไลน์แบบนี้ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาโดยด่วน
และนี่คือมาตรการและข้อเสนอที่อยากให้เกิดขึ้นโดยด่วนเพื่อเยียวยานักเรียน นักศึกษา ในช่วงวิกฤตโควิดตอนนี้
1. ออกคำสั่งลดค่าเทอมให้ไม่ต่ำกว่า 70% ทั้งโรงเรียนรัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย รัฐเอกชน และลดค่าธรรมเนียมของสถานศึกษาให้ยกเลิกการเก็บไป จนกว่าสถานการณ์คลี่คลาย รวมถึงหน่วยงานสถานศึกษาบูรณาการกับกระทรวงศึกษาเจรจากับทางหอพัก ผ่อนผันค่าน้ำ ค่าไฟ (ในกรณี นักเรียน นักศึกษา อยู่หอ) ให้ลดไม่ต่ำกว่า 70% จนกว่านักเรียนนักศึกษา จะกลับเข้าไปเรียนและเข้าใช้หอในสถานการณ์ปกติ
2. โรงเรียน มหาวิทยาลัยต้องมีการติดตามเยียวยาสุขภาพจิตอย่างใกล้ชิด โดยสถานศึกษาต้องมีการดีลกับแพทย์เพื่อเยียวยาสภาพจิตใจทั้งตัวผู้เรียนและตัวผู้สอนเอง ในสถานการณ์แบบนี้ ควรจะต้องตัด เนื้อหาการเรียน รวมถึงโปรเจกต์ บางวิชาที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน เพื่อเป็นการไม่ให้เด็กต้องแบกรับความกดดัน การสั่งงาน หลายๆวิชา แล้วค่อยๆเสริมเข้าไป เมื่อสถานการณ์กับสู่สภาวะปกติ
3. มหาวิทยาลัยจะต้องหามาตรการเยียวยานักศึกษา ที่ไม่ได้ออกไปฝึกงาน หรือฝึกสอน โดยให้เชิญบริษัทต่างๆได้ทำการแนะแนวเพื่อให้นักศึกษาได้ใช้ช่วงเวลาที่อยู่ที่บ้านนี้ได้ลองสอบถามข้อมูลถึงบริษัทนั้นๆว่าการองค์กรเป็นอย่างไร ตำแหน่งงานไหนเปิดรับ เป็นต้น
4. วิชาที่มีการปฏิบัติ เข้าแลป ต้องมีการเลื่อนออกไปก่อน แล้วค่อยมีมาตรการกลับเข้าไปเรียนวิชาภาคปฏิบัติ เข้าแลปอีกครั้ง เมื่อสถานการณ์ปกติ
5. ลดการสอบลง เนื่องจากการเรียนออนไลน์คือการจ้องหน้าคอมเป็นเวลานานๆ ทำให้สมาธิการสอบ การเรียน อาจไม่มีเลย แต่ให้เปลี่ยนการสอบเป็นการทวนเนื้อหาแล้วเก็บคะแนนแทนการสอบไปก่อน
6. สถานศึกษารัฐ เอกชน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ต้องมีการระดมฉีดวัคซีนให้เหล่านักเรียน นักศึกษาแบบปูพรม ต้องไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น และต้องเป็นวัคซีนแบบ mRNA เท่านั้น
7. ชี้แจงมาตรการของปีการศึกษานี้ให้ชัดเจนที่สุด ว่าจะมีโอกาสที่จะกลับเข้าไปเรียนแบบ on-site ได้เมื่อไร และจะต้องมีแพลนอะไรที่จะเกิดขึ้นบ้าง เพื่อให้พวกเราได้เตียมตัวที่จะกลับเข้าไปเรียน ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นแพลนนั้นเลย
8. สนับสนุนเงิน หรือค่าใช้จ่ายในการเรียนออนไลน์ ในกรณีที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรืออุปกรณ์การเรียนออนไลน์ในช่วงนี้ โดยสถานศึกษาต้องมีการรับผิดชอบในส่วนตรงนี้
———-
ความเรียง โควิด19 กับวัยเยาว์ที่สาบสูญ (ระดับอุดมศึกษา) โดย วงกลมไม่สมบูรณ์
ปลายเดือนเมษายน ฝนตกโครมลงมาห่าใหญ่ในตอนที่ไม่มีเสียงใดนอกจากเสียงจากลำโพงโน้ตบุ๊ก อาจารย์กำลังเรียกชื่อนิสิตคนเดิมแล้วถามย้ำซ้ำ ๆ อย่างไม่ลดละ แม้เด็กจะตอบว่าไม่รู้ก็ตาม อาจารย์เป็นแบบนี้เสมอ ดังนั้นฝนที่ซัดสาดลงบนหน้าต่างข้างหลังฉันจึงคล้ายเป็นการจู่โจมรุนแรงจากความทึมทึบอึมครึมของทั้งช่วงเดือนที่ผ่านมา
ฉันกดปิดกล้อง กดปิดไมโครโฟน แล้วกอดเข่าร้องไห้บนเก้าอี้ไม้หนาหนัก— ร้องไห้ลั่นห้องกว้างที่ยามกลางวันไม่เคยมีใครอยู่ ร้องไห้ลั่นบ้าน— บ้าน ซึ่งกลายเป็นสถานที่เก็บสะสมความเครียดและเมื่อยล้าแทนที่จะเป็นความอบอุ่น บ้าน ซึ่งกลายเป็นความรวดร้าวชนิดหนึ่งแทนที่จะเป็นความสุขสม
น้ำตาทะลักไหลบ่า ฉันแอบหวังให้มันท่วมบ้านหลังนี้ ท่วมตัวฉันจนมิด ท่วมจนไม่มีสิทธิ์ได้โผล่หน้าขึ้นมาหายใจ
ความหวาดกลัวเข้าเกาะกุมทุกส่วนของร่างกาย เมื่อเสียงต่อว่าของอาจารย์ดังขึ้นอีกครั้ง ทั้งร่างก็สะดุ้งโหยง ราวกับกระต่ายตัวน้อยนิดที่จะชักเสียชีวิตเมื่อตกใจ ฉันปาดน้ำตาออก สูดลมหายใจเข้าลึก รู้สึกว่าตัวเองทั้งเปราะบางและอ่อนแอ ไร้เรี่ยวแรงแม้แต่จะลากเมาส์ไปเปิดกล้องและเปิดไมโครโฟน
การไร้เพื่อนนั่งเรียนอยู่ข้าง ๆ ช่างอ้างว้าง วังเวง และโดดเดี่ยว เมฆดำบนฟ้ากลับล้อมรอบคลุมครอบหัวใจเปล่าเปลือย อาการของโรคซึมเศร้าเข้าทิ่มแทงซ้ำโดยไร้ความปรานี ฉันทำได้เพียงส่งข้อความหาเพื่อนว่าไม่ไหวแล้ว คำปลอบประโลมที่ส่งกลับมาเป็นตัวอักษรนั้นดูอ่อนโยนแต่กลับห่างไกลเกินจะเอื้อมคว้า อะไรทำให้ช่องว่างระหว่างพวกเราถ่างกว้างเช่นนี้กัน? ฉันแค่อยากรีบกินบะหมี่ในโรงอาหารกับเพื่อน ๆ ตอนพักเที่ยงซึ่งมีเวลาแค่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงดี แค่อยากซื้อขนมถุงมาแบ่งเวียนกินกับทุก ๆ คนในห้องเรียน แค่อยากเดินไปสยามหลังเลิกเรียนแล้วหาซื้อชานมหรือเข้าร้านของหวานกับพวกเขา แค่นั้นเอง… เพียงเท่านั้นเอง…
แต่เพียงเท่านี้ก็ไม่อาจได้มา ไม่อาจมีชีวิตปกติ ไม่อาจย้อนกลับไปยังช่วงเวลาก่อนเป็นโรคซึมเศร้า ไม่อาจมีมหาวิทยาลัยที่สนใจเรื่องนิสิตเรียกร้องลดค่าเทอม ไม่อาจมีรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบจัดการปัญหาโรคระบาดได้ดีพอ ไม่อาจมีผู้บริหารประเทศที่เห็นประชาชนเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน
ฉันเคยหวังว่าปิดเทอมนี้ทุกอย่างจะดีขึ้น แต่สถานการณ์กลับเลวร้ายลงกว่าเดิม ศพซึ่งเป็นคนในครอบครัวของใครหลายคนปรายโปรยโรยรายราวใบไม้ร่วง มีคนนอนรอความตายอีกนับร้อยพัน ในขณะที่รัฐบาลโยนขี้ให้ประชาชน ตนเองกลับไม่อาจจับผู้มีอำนาจที่เป็นต้นกำเนิดคลัสเตอร์ใหญ่ได้เลยสักครั้ง โยนความรับผิดชอบให้ชาวชายขอบ โยนความรับผิดชอบให้ชาวบ้านผู้ไม่มีอันจะกินจากการ เกือบจะ ล็อกดาวน์เพราะไม่คิดจะจ่ายเงินเยียวยา
เดือนกรกฎาคม มหาวิทยาลัยประกาศว่าภาคการศึกษาหน้าจะเป็นการเรียนการสอนออนไลน์ทั้งหมด นิสิตและอาจารย์ไม่อาจใช้พื้นที่มหาวิทยาลัย ต้องเหนื่อยตาล้าใจกับการจ้องจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน แต่เขากลับลดค่าเทอมลงให้เพียงสิบเปอร์เซ็นต์ นิสิตต่างส่งเสียงเรียกร้องในโซเชียลมีเดีย ผู้บริหารไม่ขยับเคลื่อนกาย แต่กลับอ่อนไหวกับภาพพจน์หน้าตาสถาบันจนออกแถลงการณ์ต่อว่าองค์กรนิสิตเรื่องอื่นได้ภายในวันเดียว
ตั้งแต่เมื่อใดกันที่เสียงของพวกเราไร้ค่าไร้ความหมายถึงเพียงนี้? ตั้งแต่เมื่อใดกันที่ปัญหาหนักหนาของพวกเรากลายเป็นเพียงตัวหมากถูกทิ้งในเกมแห่งอำนาจและทุนนิยม? ตั้งแต่เมื่อใดกันที่นิสิตต้องก้มหัวให้มหาวิทยาลัย? ตั้งแต่เมื่อใดกันที่พวกเราใช้ได้เพียงตัวอักษรและมือเปล่าต่อสู้กับแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง? ตั้งแต่เมื่อใดกันที่สื่อบิดเบือนความเท็จให้เป็นความจริงได้อย่างไม่ยี่หระ?
ประสบการณ์ไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศ การเรียนในห้องเรียน การได้ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ การได้แอบชอบ แล้วมองใครสักคนอยู่ห่าง ๆ การนั่งกินข้าวในร้านอาหารกับเพื่อน ๆ การได้เข้าห้องสมุดไปหาหนังสือมาอ้างอิงเปเปอร์ ฯลฯ
ที่ทั้งหมดนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้นั้นเป็นเพราะพวกเราเช่นนั้นหรือ?
ชีวิตปกติทั้งหมดนี้ถูกใครขโมยไป?
ทั้งหมดนี้เป็นความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจ หากพวกเขาปฏิเสธแม้แต่การแสดงความรับผิดชอบ
จะรับผิดอย่างไรกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น กี่ร่างกี่ศพที่ไม่ใช่พ่อแม่พี่น้องของคนเหล่านี้ กี่ชีวิตที่ทนทรมานกับความยากไร้ กี่เยาวชนที่ทนทุกข์กับจอสีฟ้าและบ้านที่ไม่ได้สร้างมาไว้ให้เรียน
“รับฟังเสียงของเราบ้าง เราตะโกนกู่ก้องจนสุดปอดแล้ว และเรารู้ว่าคุณได้ยิน”
จะไม่พูดว่า ‘ได้โปรด’ เพราะนี่ไม่ใช่ประโยคขอร้อง แต่คือประโยคคำสั่งจากพวกเราทุกคนที่จะไม่ยอมทนอีกต่อไป
———-
ความเรียง โควิด19 กับวัยเยาว์ที่สาบสูญ (ระดับอุดมศึกษา) โดย ชนฐิวัทน์ อุดมศิริพัชร
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยและทุกประเทศทั่วโลกต่างประสบพบเจอกับวิกฤติโรคระบาดร้ายแรงอย่างโรคโควิด – 19 ซึ่งรัฐบาลของแต่ละประเทศก็จำต้องหามาตรการหรือนโยบายจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาโรคโควิด – 19 นี้โดยเฉพาะ เมื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทยแล้ว ถึงคราวที่ประชาชนทุกคนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการทำงาน การศึกษา การเดินทางสัญจรไปมาต้องหยุดชะงักลง เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคดังกล่าว
สำหรับผู้เขียน ผู้เขียนเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในกาลปัจจุบันนี้ ผู้เขียนได้สัมผัสชีวิตการเรียนมหาวิทยาลัยในเทอมสุดท้ายด้วยการเรียนออนไลน์ ผู้เขียนเลือกที่จะอาศัยในหอพักของมหาวิทยาลัยเพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการเจอเชื้อโรค แต่ทว่าการเรียนออนไลน์ครั้งนี้ นอกจากปัญหาเบื้องต้นที่นักศึกษาต้องพบเจอแล้ว เช่น อุปกรณ์การเรียนไม่พร้อม บรรยากาศการเรียนออนไลน์ไม่มีความสะดวก หรือปัญหาต้นทุนชีวิตของแต่ละบุคคล ซึ่งวิเคราะห์ดูแล้วเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเหลือเกิน จากปัญหาข้างต้นที่ได้ยกตัวอย่างไปนั้น ผู้เขียนไม่ขอนำมาอภิปรายในบทความนี้ ปัญหาที่ผู้เขียนจะนำมาอภิปรายคือ ความเงียบงันที่เสียงดัง ที่จะอภิปรายถึงบรรยากาศของนักศึกษาที่ไม่ได้รับการใช้ชีวิตตามแบบนักศึกษาที่ควรจะเป็น และบรรยากาศในมหาวิทยาลัยที่เงียบสงัดและค่อย ๆ กัดกร่อนจิตใจผู้เขียนนี้ให้แหลกสลายได้ในกาลปัจจุบัน
1. ความเงียบงันที่เสียงดัง : เราสำเร็จในเรื่องการศึกษา แต่เราไม่สำเร็จในเรื่องการใช้ชีวิต
ภายใต้บรรยากาศการเรียนออนไลน์ตลอดภาคการศึกษา 2/2563 ที่ผ่านมา นักศึกษาทุกคนต่างนั่งเรียนอย่างเงียบ ๆ เพียงผู้เดียวพร้อมกับอุปกรณ์การเรียนส่วนตัวของตน ผู้เขียนเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ต้องทำแบบนั้นเช่นกัน ตลอดระยะเวลาที่เรียนออนไลน์ ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนและรุ่นน้องบางคน เพื่อถามไถ่ถึงปัญหาการเรียนออนไลน์ที่เรากำลังพบเจอในตอนนี้ ปัญหาส่วนหนึ่งคือปัญหาเรื่องการเรียนไม่เข้าใจ เรียนไม่รู้เรื่อง ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานที่นักศึกษาทุกคนต้องพบเจอ แต่ปัญหาที่สำคัญคือมหาวิทยาลัยและรัฐบาลก็มิอาจแก้ไขและทดแทนให้เราได้คือเรื่อง “การใช้ชีวิต”
ในชีวิตการเรียนมหาวิทยาลัยนั้นเป็นช่วงชีวิตที่ใครหลายคนต่างได้เดินหน้าลองใช้ชีวิตในหลาย ๆ รูปแบบ ชีวิตนักศึกษาต่างได้ลิ้มรสการลองถูก/ผิด การทำกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อยกระดับตนเองรวมถึงการพัฒนาความสามารถของตนเอง แต่ในเมื่อนักศึกษาต้องได้รับผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ ทำให้มหาวิทยาลัยปิด ทุกกิจกรรมในคณะก็ถูกระงับหรืองดจัดกิจกรรมเพื่อทำตามนโยบายป้องกันโรคระบาดของมหาวิทยาลัย
สิ่งที่นักศึกษาได้รับผลกระทบอย่างเต็มรูปแบบคือ การขาดประสบการณ์การใช้ชีวิต เมื่อนักศึกษาไม่ได้ลองทำกิจกรรม ไม่ได้ลองสัมผัสชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างที่ควรจะเป็น ปัญหาส่วนนี้ผู้เขียนพอจะทราบได้ว่านักศึกษาในคณะต่างก็บ่นเป็นเรื่องเดียวกัน อาทิ การอยากเจอเพื่อน การอยากไปค่ายอาสาพัฒนาชนบท การอยากเข้าร่วมกิจกรรมฟุตบอลประเพณีสักครั้ง หรือกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งความคิดเห็นหรือเสียงเหล่านี้ดังชัดเหลือเกินภายใต้ความเงียบของมหาวิทยาลัย แต่น่าสลดใจที่เสียงเหล่านี้ไม่อาจส่งถึงรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพในขณะนี้ รัฐบาลไม่อาจรับฟังความดังภายใต้ความเงียบนี้ รัฐบาลไม่อาจมีนโยบายมารองรับความสูญเสียด้านความเป็นมนุษย์แบบนี้ได้
แน่นอนว่าหลังจากที่ประกาศผลสอบครบทุกวิชา ผู้เขียนและนักศึกษาคนอื่นต่างยินดีที่เรา “สอบผ่าน” ในเรื่องของการเรียน แต่ผู้เขียนยินดีได้ไม่นานเมื่อตระหนักได้ว่าเรา “สอบตก” ในเรื่องการใช้ชีวิต เราไม่มีโอกาสได้สอบในส่วนนี้ด้วยซ้ำไป เราทุกคนต่างสอบตกทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ฝีมือของเราเอง แต่เป็นผีมือของรัฐบาลที่ทำให้นักศึกษาทุกคนสอบตกในเรื่องการใช้ชีวิตไปอย่างน่าสลดหดหู่ใจอย่างยิ่ง
2. ความเงียบงันที่เสียงดัง : บรรยากาศอันเงียบสงัดที่กัดกร่อนจิตใจ
ตลอดระยะเวลาของการเรียนออนไลน์ มีเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องเศร้าสำหรับผู้เขียนโดยเฉพาะ คือเรื่องปัญหาปากท้องของพ่อค้าแม่ค้าร้านอาหารในมหาวิทยาลัย ไม่รู้ว่าผู้เขียนอ่อนแอเกินไปหรือไม่ในประเด็นนี้ แต่ผู้เขียนอยากจะแบ่งปันความเศร้าของการเรียนออนไลน์ที่กระทบต่อตัวผู้เขียนเองโดยมีผู้อื่นเป็นปัจจัย
ปัญหาการค้าขายของผู้ประกอบการร้านอาหารในมหาวิทยาลัยนั้นเป็นปัญหาที่หลาย ๆ คนอาจยังไม่รับรู้ ด้วยพิษเศรษฐกิจและโรคระบาดทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยค่อย ๆ เลิกกิจการ บ้างก็ขายได้น้อยลง บ้างก็ต้องกล้ำกลืนฝืนทนขายเพื่อประทังชีพต่อไป ตลอดระยะเวลาที่ผู้เขียนเรียนออนไลน์ เวลาที่ผู้เขียนมารับประทานอาหาร ผู้เขียนมักจะรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการเหล่านี้เป็นประจำ เช่น “วันนี้นักศึกษาเยอะหรือไม่” “วันนี้ร้านป้าเปิดนะลูก ฝากบอกเพื่อนด้วยนะ” “วันนี้เงียบมาก ขายได้ไม่ถึงร้อยเลย” ผู้เขียนได้ยินประโยคเหล่านี้ทุกวันตลอดทั้งการเรียนตลอดทั้งภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผู้เขียนได้แค่รับฟังพวกเขา ผู้เขียนไม่สามารถแก้ปัญหาได้แม้แต่นิดเดียว ผู้เขียนรู้สึกสงสารพ่อค้าแม้ขายเหล่านี้จับใจ พลางคิดในใจว่าพวกเขาจะเอาอะไรกิน พวกเขาจะเอาเงินมาจากไหน พวกเขาขายได้วันละเท่าไหร่กัน ด้วยเหตุนี้ ความคิดดังกล่าวค่อย ๆ กัดกร่อนจิตใจผู้เขียนลงที่ละช้า ๆ ผู้เขียนจะตอบคำถามผู้ประกอบการอย่างไรให้เขามีกำลังใจต่อไป ผู้เขียนได้แต่เพียงคิดคำตอบวันต่อวันเพื่อสร้างพลังบวกให้แก่พวกเขาให้ได้มากที่สุด
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนไม่แน่ใจตัวเองว่าเป็นคนขี้สงสารตามนิสัยคนไทยหรือไม่ ผู้เขียนไม่อาจทิ้งประชาชนผู้ทุกข์ยากไปได้ ผู้เขียนยังต้องรับฟังพวกเขา แม้มันจะกัดกร่อนจิตใจผู้เขียนมากเพียงใด แต่ผู้เขียนก็จะอยากให้เสียงกัดกร่อนนี้มันดังถึงรัฐบาลทั้งหลายว่าดูแลประชาชนผู้ทุกข์ยากด้วย ดูแลผู้ประกอบการรายย่อยด้วย อย่าให้พวกเขาต้องแหลกสลายตามนโยบายอันเลวร้ายของพวกท่านเลย
ความจำเป็นจะต้องมีข้อเสนอที่อยากให้เกิดขึ้นโดยด่วน
1. รัฐบาลและคณะต้องยุบสภาและลาออก เลือกตั้งใหม่ หาคนที่เก่งกว่าเข้ามาบริหารโดยเร็วที่สุด
2. เร่งจัดหาวัคซีนประเภท mRNA ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์อย่างด่วนที่สุด และเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกคน โดยวัคซีนนั้นต้องเป็นวัคซีนที่ดีและพัฒนาต่อการอยู่ร่วมกับโรคโควิด – 19 ผู้เขียนมีความเห็นว่าสังคมไทยไม่สามารถใช้วลี “รอโควิดหมด”ได้แล้ว สิ่งที่เราต้องทำคืออยู่ร่วมกับโรคโควิด – 19 นี้ให้ได้
———-
ความเรียง โควิด19 กับวัยเยาว์ที่สาบสูญ (ระดับอุดมศึกษา) โดย นลัทพร
เรียนออนไลน์เป็นยังไงบ้าง? … สบายเลยสิ นอนเรียนยังได้ หนึ่งในประโยคที่มักได้ยินหรือถูกถามบ่อยๆของบทสนทนาการถามสารทุกข์สุขดิบเกี่ยวกับการเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ออกมาจากมุมมองของคนที่ไม่ได้ประสบพบเจอกับการเรียนออนไลน์ แต่ก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะอิสระหลังกล้องที่ไม่ได้เปิดใช้งาน ทำให้ไม่รู้เลยว่าผู้เรียนกำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งนั่นแหละคือปัญหา …
นับตั้งแต่ที่ต้องย้ายห้องเรียนไปอยู่บนโลกออนไลน์ มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่ทำให้น้ำตาตกเพราะโศกเศร้าเสียใจ ดีใจ รวมไปถึงเรื่องตลกขบขันโปกฮา และการตระหนักถึงความจริงว่าการเรียนออนไลน์ที่จริงๆแล้วดูเหมือนจะง่ายขึ้น กลับสร้างภาระที่นอกเหนือไปจากนั้นให้กับผู้เรียนและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม
หากย้อนไปเมื่อรอบปีที่ผ่านมา การเรียนออนไลน์ของนลัทพรเริ่มต้นหลังกลางภาคปี 1 เทอม 2 นับว่าเป็นช่วงเวลาที่กำลังแปรเปลี่ยนจากนักเรียนสู่นักศึกษาได้เพียงไม่นาน ก็ต้องระหกระเหินหนีจากโรคระบาดกลับมาอยู่และเรียนที่บ้าน ซึ่งหากว่ากันตามจริงแล้วนั้นไม่ง่ายเลย ด้วยในบ้านที่มีสมาชิกถึง 7 คน เวลาแห่งเงียบสงบเหมาะการเรียนและอ่านหนังสือ จึงเป็นช่วงที่ทุกคนหลับใหล ซึ่งก็คือกลางคืนเพียงเท่านั้น แต่นั่นยังไม่ถือว่าสร้างปัญหามากเท่าไร เพราะสิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ ปัญหาไวไฟบ้านและคอมพิวเตอร์ ซึ่งในยุคโควิด19 เรียกได้ว่าเป็นอุปกรณ์การเรียนที่ทุกคนจำเป็นต้องมี
ครั้งหนึ่งเมื่อกำลังทำการนำเสนองาน power point ต่างเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทั้งไวไฟและคอมพิวเตอร์ติดขัดโดยมิได้นัดหมาย ทำให้การนำเสนอนั้นชะงักไปจนต้องเลื่อนไปคิวสุดท้าย และเป็นที่โชคดีที่อาจารย์ประจำวิชานั้นเข้าใจในเหตุขัดข้องที่ว่ามานี้จึงไม่ได้หักคะแนนใดๆ
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงปัญหายิบย่อยต่างๆ อันถือเป็นประสบการณ์การเรียนออนไลน์ เช่น ปัญหาการไม่มีวินัยและการจัดการตนเองสำหรับการเรียนออนไลน์จนส่งผลให้การเรียนตกต่ำลง การเรียนไม่ทันเป็นผลให้ไม่ทราบถึงประเด็นอภิปรายในคลาส หรือการหมด passionในการเรียน เป็นต้น
ดังนั้นไม่ว่าจะปัญหาไวไฟ คอมพิวเตอร์หรือปัญหายิบย่อยต่างๆที่ได้กล่าวไปข้างต้น สิ่งเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความไม่พร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ของเด็กคนหนึ่งท่ามกลางการจัดการดูแลสถานการณ์โรคระบาดของรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ และการไร้มาตรการเยียวยาช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัย
เมื่อว่ากันตามเนื้อผ้า ปัญหาบางอย่างพิจารณาดูเหมือนว่าแท้จริงแล้วนั้นเป็นปัญหาปัจเจกชน ซึ่งปัญหาบางประการในการเรียนออนไลน์เหล่านี้สามารถแตกต่างกันได้สำหรับรายบุคคล แต่ในขณะเดียวกัน ในผ้าผืนเดียวกันนั้น ยังมีปัญหาที่นอกเหนือการควบคุมที่เราจะสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง เพราะเมื่อการเรียนออนไลน์นั้น เป็นการผลักภาระให้แก่ผู้เรียนและบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง ครอบครัวจึงต้องรับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าถ่ายเอกสารแต่ละครั้ง สำหรับ 6 วิชาหรือบางคนที่มากกว่านั้น และค่าซื้ออุปกรณ์การเรียนเพิ่มเติม ที่กำลังเพิ่มอย่างต่อเนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ของรัฐบาล
แม้ ณ ปัจจุบันทั้งสำหรับตัวข้าพเจ้าเองหรือคนอื่นๆที่ยังพอมีกำลังที่จะอยู่ในระบบได้ แต่ในทางกลับกัน ยังมีผู้เรียนอีกจำนวนมากที่ไม่กำลังเพียงพอที่จะต่อสู้กับค่าใช้จ่ายที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้พวกเขาเหล่านั้นถูกต้อนให้ออกจากระบบการศึกษาโดยไม่สมัครใจ ผู้เรียนเหล่านั้นหาได้ออกจากระบบการศึกษาเอง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นเพราะสภาพปัญหาสังคมที่เกิดจากความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐต่างหากเป็นมือที่มองไม่เห็นผลักพวกเขาออกไป
จากสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศไทย ที่ปัจจุบันยังไม่มีท่าทีที่จะดีขึ้น ด้วยปริมาณจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการควบคุมของรัฐที่ไม่ดีพอและการจัดการฉีดวัคซีนอย่างไม่ทั่วถึง ทำให้ส่อแววว่าการเรียนออนไลน์จะยังเกิดขึ้นต่อไป
ในขณะเดียวกันแม้จะปรับเปลี่ยนการเรียนมาเป็นออนไลน์แล้ว แต่ค่าเทอมที่ผู้เรียนต้องชำระต่อมหาวิทยาลัยนั้นมิได้เปลี่ยนแปลง จำต้องชำระในจำนวนเท่าเดิมทั้งที่ไม่ได้มีการเข้าไปเรียนและการไม่ได้ใช้อุปกรณ์สถานที่ หรืออื่นๆ อาทิ ค่าอุปกรณ์การศึกษา ค่าดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ ของนักศึกษา ค่าบํารุงหอพักนักศึกษา เป็นต้นในมหาวิทยาลัยอย่างช่วงก่อนโควิด
ดังนั้นเพื่อเป็นการบรรเทา ทั้งยังช่วยเยียวยา จุนเจือภาระให้กับผู้เรียนและครอบครัวผู้เรียนเอง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ควรแก้ไขโดยการออกข้อกำหนดหรือข้อบังคับให้ทางแต่ละมหาวิทยาลัย ในการที่จะออกข้อมาตรการสนับสนุนนักศึกษาโดย
1) การลดค่าเทอมให้นักศึกษาและคืนค่าเทอมนักศึกษาที่จ่ายไปแล้ว เป็นสัดส่วนอย่างน้อย 30 – 50%
2) อำนวยการบริการให้ยืมแก่นักศึกษาที่ขาดแคลนหรือไม่พร้อมทางด้านอุปกรณ์การเรียน ซึ่งได้แก่ คอมพิวเตอร์แบบพกพา (Notebook) หรือไอแพด (Ipad) (ซึ่งปัจจุบันสังคมบางส่วนกำลังเกลาให้ไอแพดนั้นเป็นค่านิยมใหม่ที่ผู้เรียนจำเป็นต้องมีสำหรับการเรียนในยุคนี้)
3) การลดเงื่อนไขบางประการ สำหรับผู้เรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และมีความประสงค์จะกู้ยืมเงินกองทุนเงินเพื่อการศึกษาทั้งในกรณีของ กยศ. และ กรอ. ในคุณสมบัติอันเป็นข้อจำกัดในสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างการที่กำหนดให้ผู้กู้จำต้องบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดภาระขั้นตอนและเพิ่มความเป็นไปได้ในการกู้ยืมเงินในสถานการณ์เช่นนี้
การเรียกร้อง เป็นส่วนหนึ่งของความโกรธแค้นจากความอยุติธรรมเสมอ ข้อเสนอที่กล่าวข้างต้น เป็นเสียงบ่นทั้งตนเองและผู้เรียนอื่นๆ ผ่านการอ่าน ฟัง และเห็นจากแพลตฟอร์มบนโลกออนไลน์มากมาย การเรียนออนไลน์จึงไม่เพียงสร้างปัญหาระดับปัจเจกชน แต่แท้จริงแล้วยังสะท้อนและตอกย้ำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ และปัญหาที่เป็นลูกโซ่อีกมากมาย ซึ่งเป็นผลจากความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ทั้งนั้น การแก้ปัญหาการเรียนออนไลน์และอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนที่สุด คือ การที่ประชาชนทุกคนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพในการสร้างภูมิคุ้มกัน และต่อต้านกับโควิดได้เร็วที่สุดเพื่อที่สังคม เศรษฐกิจ จะได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก กลับเข้าสู่สภาวะปกติ
นอกจากนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คงจะเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดสำหรับประเทศในการจะคืนสิทธิ เสรีภาพ ให้แก่ประชาชนเช่นเดียวกัน
สุดท้ายแล้ว การเรียนออนไลน์ในยุคของรัฐบาลขึ้นชื่อได้ว่าล้มเหลวที่สุดในประวัติศาสตร์ไม่เพียงพรากวัยเยาว์ซึ่งสาบสูญไปปีกว่าๆ ที่มากไปกว่านั้นยังได้พรากความหวังของคนรุ่นใหม่ที่จะมีชีวิตที่ดีในประเทศนี้ตลอดไป
———-
 
ความเรียง โควิด19 วัยเยาว์ที่สาบสูญ (ระดับอุดมศึกษา) โดย เนตรารัตน์
น่าตลกนัก เป้าหมายแสวงหาตัวตนอันขาดวิ่นในแรมปีที่สองพันห้าร้อยหกสิบสองกลับล่มจมมิมีชิ้นดีเสียยิ่งกว่าซากปรักหักพัง เมื่อโรคระบาดโหมกระหน่ำจากจีนซัดเข้ามาแผ่นดินไทยดุจคลื่นสินามิ ผ่านครานั้นล่วงมาสองปีรัฐบาลยังล้าหลังรั้งท้ายในการบริหาร ตราบใดที่ความละโมบของชนชั้นอำนาจยังดำเนินต่อเนื่อง ประเทศคงได้ดำดิ่งสู่เหวลึกไร้จุดสิ้นสุดจนยากจะฉุดดึงขึ้นมาเป็นแน่ ภาพการล่มสลายของชาวไทยท่ามกลางกลิ่นควันเพลิงจากศพที่มอดไหม้เหลือเถ้าธุลี ขมุขมัวล่องลอยไร้ทิศทางบนอากาศคงไม่ใช่เรื่องเหนือจินตนาการอีกต่อไป
ฉันจบมัธยมปลายเดือนมีนาคมปี 2562 ในสภาพแตกร้าวดั่งเศษแก้วกระจัดกระจายไร้จุดยึดเหนี่ยว ตัวตนเกือบสองทศวรรษถูกสังคมสีเทากัดกร่อนจนเหลือเพียงเด็กสาวผู้อับจนต่อการกำหนดโชคชะตาในอนาคต ทว่าอย่างน้อยยังยึดเหนี่ยวความชื่นชอบโปรดปรานส่วนตนที่ไม่หันเหตามกระแสวาจาของผู้ใหญ่ ไว้เฉยชมพอคล่ำหาเส้นทางอันมืดสลัวตรงหน้าต่อไปได้ ขณะเหล่าเพื่อนฝูงถยอยข้ามรอยต่อระหว่างวัยมัธยมสู่วัยมหาวิทยาลัย ฉันซึ่งไม่พอใจกับสถานอุดมศึกษาและมืดบอดต่อการกำหนดเส้นทาง ตัดสินใจไม่ต่อมหาวิทยาลัยในปีการศึกษานี้ ท่ามกลางความปวดร้าวของพ่อกับแม่เมื่อสดับฟังการตัดสินใจจากลูกของตน ไม่นานเวลาโอกาสก้าวผ่านช่วงวัยก็จบลง ฉันปล่อยให้ความทรมานมันไหลไปเหมือนสายน้ำ เก็บความขลาดกลัวเพราะความไม่แน่นอนของเส้นทางไว้ในกล่อง จากนั้นเปิดหนังสือเนื้อหาเดิมอ่านอีกครั้ง ใต้แสงสีทองของโคมไฟ สิ่งยึดเหนี่ยวสิ่งเดียวที่จับต้องได้ในความมืด สำหรับสิ่งแปลกแยกในระบบการศึกษาไทยเช่นฉัน
สิ้นปี 2562 ข่าวไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากอู่ฮั่นเคลื่อนมาหยุดบนหน้าสื่อของประเทศไทยทุกสำนัก จากที่ดูไกลตัวเริ่มใกล้ตัวทุกขณะเมื่อเริ่มต้นปี 2563 ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อเข้าสอบระดับมหาวิทยาลัย ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลงไปทีละนิดราวกับไฟลามเลียท่อนไม้ในกองเพลิง รัฐบาลปล่อยให้มันลุกโชนขึ้นจนเปลวเป็นสีส้มแดงฉานกลางอากาศ มองมันมอดดับเหลือไฟกลุ่มเล็กที่อาจจะก่อเป็นกองเพลิงได้อีกในอนาคต โดยไม่ลงมือทำอะไร จะใช้น้ำมาดับก็ทำเพียงจุ่มมือและสะบัดเป็นหยาดเม็ดเท่านั้น
จนกระทั่งถึงเวลาสำหรับการเข้ามหาลัย ความฝันอยากพบเจอทำความรู้จักเพื่อนใหม่ได้ดับสลายลง เมื่อรู้ว่าต้องเรียนผ่านทางโทรศัพท์กว่าครึ่งเทอม ถึงกระนั้นจะหมดครึ่งเทอมดังกล่าวและกลับมาเรียนที่ห้อง คนเพิ่งเลิกลาฮิคิโคโมริแล้วเป็นอีกครั้งในหลายเดือนที่ผ่านมากลับบื้อใบ้ นั่งกลางเพื่อนใหม่เด็กกว่าหนึ่งปีทำความรู้จักกันข้ามหัวไปมาราวหุ่นปั้น ฉันก็ใหม่เขาก็ใหม่ เพิ่งเจอกันในห้องครั้งแรก เหตุใดมีฉันที่เปลี่ยวเหงาในสีสันของเสียงพูดคุยเหล่านั้น
ภายหลังสำนึกได้ว่า ไม่เพียงความล้มเหลวการศึกษาตัดรอนตัวตนตั้งแต่อ่านออกเขียนได้ แต่ยังเป็นเพราะโรคระบาด โรคระบาดซึ่งย่ำเหยียบบนความล้มเหลวของฉันซ้ำแล้วซ้ำอีก เคยคิดว่าทั้งหมดนี่เป็นความโง่เขลาของตนที่ขังตัวใต้ร่มเงาบ้าน ไม่ยอมตามครรลองเส้นทางของครอบครัวชี้นำ หรือยอมรับผลลัพธ์ในปีก่อน จนดวงซวยมาเข้ามหาวิทยาลัยยามบ้านเมืองระส่ำระส่าย แต่พอกลับทวนคิดซ้ำ…มันไม่ใช่ความผิดของฉันเสียทีเดียว
ฉันก้าวพ้นฮิคิโคโมริครั้งที่สองมาได้แล้ว ปรับลดนิสัยอินโทรเวิร์ทได้แล้ว ผ่านมาสักระยะฉันมีแฟนหนุ่มคนหนึ่ง ดวงตาสุกปลั่งสดใสยังมิถูกโลกอันโหดร้ายพรากไป ฉันมักหลงลืมไปหลายชั่วขณะว่าแต่ก่อนตัวเองหม่นหมองมากเพียงใดเมื่อได้อยู่กับเขา ฉันกลับมาเป็นปกติได้เพราะเขา ช่วงเวลาก่อนวัยยี่สิบเวียนกลับมาฉายซ้ำอีกครั้ง ทดแทนแรมปีกระหืดกระหอบอ่านหนังสือจนไม่มีเวลาหาสิ่งหล่อหลอมจิตใจ
แต่ความสุขเหล่านั้นกลับสั้นยิ่งกว่าการหายใจเข้าปอดแล้วพ่นออกมา เมื่อฉันต้องกลับบ้าน และในระหว่างกลับบ้านนั้นโรคร้ายชื่อดังก็ระบาดอีกครั้ง ตามคาดไว้ไม่ผิด กอไฟที่ริบหรี่ในกองเพลิงสุดท้ายมันก็กลับมาลุกโชนอีกครั้ง มันเป็นครั้งที่นักหนากว่าเดิมมากโขน คนตายหลักสิบจนถึงหลักร้อย ความล้มเหลวของรัฐบาลประกาศหน้าสื่อเท่าหยิบมือ เราสองคนห่างกันเกินสี่เดือน จึงตัดสินใจเลิกรากัน และฉันกลับไปเป็นแบบเดิมอีกครั้ง
ความทรงจำความรักครั้งแรกถูกพรากโดยระยะเวลา เหมือนละอองทรายที่ถูกจับโยนลงแม่น้ำเชี่ยวกราด กระจัดกระจายไร้ทิศทางยากจะกลับมาเป็นดังเดิม มันลางเลือนจนคว้าจับไม่ได้ ต่อมามันก็ถูกฉาบทับด้วยข่าวโรคระบาด ผู้คนกระเสือกกระสนต่อแถวรอวัคซีน และหลายชีวิตนอนตายน่าเวทนาในบ้านของตน ไร้ความช่วยเหลือที่ทันท่วงทีจากรัฐ
ไม่นานคำสั่งเรียนออนไลน์ก็ประกาศขึ้น…ประกาศให้เรียนในบ้าน ขณะนั่งเหยียบยืนบนแผ่นดินเดียวกับหลายคนกำลังหายใจรัวรินรอความตายนับพัน ท่ามกลางกองการบ้านมากมายที่มิรู้ว่าเมื่อไหร่จะสิ้นสุด และเด็กด้อยโอกาสทั้งหลายที่มีกำลังทรัพย์น้อยนิดในการเข้าถึงเทคโนโลยี พวกผู้ใหญ่คิดได้อย่างไรกัน
ฉันกลับมาทรมานกับห้องสี่เหลี่ยม ที่ซึ่งกำแพงกั้นทุกทิศ มีเพียงหน้าต่างเท่านั้นทำให้พอจะเห็นโลกภายนอกได้บ้าง…แต่ละวันจดจ้องเพียงจอสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ฟังคำบรรยายด้วยอาการเลื่อนลอย ไม่เข้าใจ…ไม่เข้าใจ ฉันไม่เข้าใจสิ่งที่อาจารย์สอนเลยสักนิด เดี๋ยวสักพักประตูก็เปิด แม่เรียกฉันให้ไปทำงานบ้าน สักพักประตูก็เปิดอีก พ่อเรียกฉันให้ไปช่วยงาน เป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต่อให้กลับไปทวนซ้ำก็ทำการบ้านไม่ทันอยู่ดี
ในแต่ละวันมีเรื่องให้เราหัวเราะน้อยลง มีเรื่องให้เรารู้สึกคับแน่นในทรวงอกจนหายใจไม่ออกอยู่บ่อยครั้ง ตอนซิ่วอยู่บ้านฉันยังพอมีเป้าหมายพอรั้งตัวเองให้กลับมาจดจ่อทำตามความฝัน แต่ตอนนี้ไม่มี ทางข้างหน้าช่างมืดหม่นนัก หรือมันจะเป็นบ้านเมืองที่ล่มสลาย หรือมันจะเป็นซากศพที่เผาไม่ทันวางตามพื้นถนน ฉันตอบไม่ได้…ฉันตอบไม่ได้เลย
ฉันอยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ในวัยที่ฉันสามารถแต่งแต้มความสดใสบนนัยน์ตาตัวเองได้ ฉันสวยงามและสดใสที่สุดยามมองตัวเองในกระจก แต่การเติบโตเริ่มพรากมันไปทีละนิด ทีละนิดจนลืมไปว่าเคยมี เคยดำรงอยู่ในตัวฉัน ทุกวันต้องตื่นขึ้นมาพบกับความสิ้นหวัง ตัวเลขคนติดเชื้อ ตัวเลขคนเสียชีวิต ผู้ป่วยที่หาเตียงรักษาไม่ได้ วัคซีนที่ดีๆที่ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ ยังไม่มีโอกาสแม้แต่ใช้ชีวิตก็ถูกผลักให้มาเป็นผู้ใหญ่เพียงไม่กี่เดือน เพื่อรองรับความหดหู่ ความสิ้นหวัง ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ และต้องคอยหอบหิ้วชีวิตให้รอดไปถึงฝั่งในประเทศแห่งนี้
คนที่ตายอาจเป็นเพื่อนใครสักคน ลูกใครสักคน พ่อกับแม่ใครสักคน หรือญาติใครสักคน และใครสักคนเหล่านั้นไม่ควรจะตายเพราะความล้มเหลวของรัฐ ควันสีเทาเข้มจากปล่องเมรุยังลอยไปไม่ถึงพวกเขาอีกหรือ ต้องกี่ศพกันพวกเขาถึงจะหันมามองเบื้องล่าง เสียงร้องไห้ของเด็กซึ่งถูกพรากวัยเยาว์อันสดใสเปี่ยมไปด้วยเส้นทางแห่งการแสวงหา กับเสียงร่ำร้องของเหล่าประชาชนทั้งหลาย มันต้องดังขนาดไหน มันต้องส่งเสียงดังขนาดไหน พวกเขาถึงจะได้ยิน
———-
ความเรียง โควิด19 วัยเยาว์ที่สาบสูญ (ระดับอุดมศึกษา) โดย ปัณณวิชญ์ บูรณารมณ์

หากนึกย้อนกลับไป ณ เวลานี้เมื่อสองปีที่แล้ว ช่วงเวลาที่บ้านเมืองเรายังไม่ถูกเชื้อโรคต่างถิ่นครอบครองพื้นที่ ผู้คนภายในประเทศ ต่างยังใช้ชีวิตกันแบบปกติ ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองไปอย่างปกติ เด็กๆได้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน ได้วิ่งเล่นกับเพื่อนๆ นักเรียนม.ปลายได้เรียนหนังสือและได้ใช้ชีวิตอย่างที่เด็กวัยรุ่นควรจะได้ใช้ นักศึกษามหาวิทยาลัยจบใหม่ได้ทำงานในบริษัทที่ตัวเองอยากเข้า และคงไม่มีใครคนไหนคาดคิดว่าอีกไม่กี่เดือนต่อมาจะมีเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่อาจทำให้ชีวิตของใครหลายคนเปลี่ยนไป
การเปลี่ยนแปลงที่พูดถึงไปไม่ได้หมายถึงเปลี่ยนไปแค่วันสองวัน แต่มันจะเปลี่ยนไปอีกนานแค่ไหนก็ไม่มีผู้ใดทราบได้ เช่นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปัญหาปากท้องของประชาชนภายในประเทศ เรื่องระบบสาธารณะสุข และที่สำคัญที่สุดเลยก็คือเรื่อง “การศึกษา” เพราะการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรเข้าถึงแต่พอมีโควิด-19 เข้ามามันส่งผลให้เด็กหลายๆคนหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นและที่น่าเป็นห่วงนั้นคือ โดยปกติแล้วระบบการศึกษาไทยซึ่งมีคุณภาพในการจัดตารางสอนให้เด็กนักเรียนได้ต่ำ ซึ่งทำให้เด็กเรียนจนแทบไม่มีเวลาค้นหาตัวเองอยู่แล้ว พอมาเจอกับมรสุมโควิด-19 บวกกับการเรียนแบบออนไลน์อีก จึงเปรียบเสมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดใส่เหล่าเด็กๆที่ต้องเป็นอนาคตของชาติจริงๆ
คำว่า “ เรียนออนไลน์ ” หากเป็นตัวผมเมื่อสมัยก่อนมาได้ยินคำนี้คงคิดประมาณว่า “หูย โคตรดีเลยว่ะได้เรียนผ่านหน้าจอคอมแบบไม่ต้องตื่นเช้าไปเข้าแถวที่โรงเรียน นี่มันโคตรรอเมซิ่งเลย ให้ตายสิโรบิน” แต่หลังจากผ่านการเรียนออนไลน์มาแล้วนั้นมันไม่ใช่เลยและผมกล้าพูดได้เต็มปากเลยว่า การได้เรียนแบบ Onsite นั้นคือสิ่งที่ดีที่สุดของการเรียนหนังสือแล้ว
ก่อนอื่นต้องขอเท้าความก่อนว่า ในปีการศึกษา 2564 นี้ผมกำลังจะเข้าศึกษาในชั้นปีที่ 1 ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเปิดเทอมในเดือนสิงหาคมที่กำลังจะมาถึง ถ้าหากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วคงรู้กันแล้วนะครับว่า ผมเป็นเด็กชั้น ม.6 ในปีการศึกษา 2563 หรือพูดง่ายๆก็คือผมเป็นเด็ก 64 นั่นเอง เป็นเด็กรุ่นที่เหมือนโดนสิ่งศักดิ์สิทธิ์สาปแช่งไว้ ซึ่งเรื่องที่ผมจะเขียนต่อไปนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆกับตัวผมสมัยยังเรียนอยู่ชั้น ม.6 ณ โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในภาคใต้
เริ่มจากเปิดปีการศึกษา 2563 ก็มีประกาศสายฟ้าแลบจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้สั่งให้ทุกโรงเรียนทั่วประเทศเลื่อนวันเปิดเรียนไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 แล้วพอเลื่อนไปแบบนี้ทุกโรงเรียนรวมถึงตัวคุณครูและนักเรียนเองก็เคว้งสิครับ ก็ในเมื่อปกติจะเปิดเรียนช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พอย้ายไปเดือนกรกฎาคมก็จะมีช่วงเวลาว่างอยู่ตั้งเดือนครึ่ง ในขณะนั้นภายในหัวของคุณครูภายในโรงเรียนผม คงมีทางเลือกผุดขึ้นมาให้ตัวเองเลือกนั่นก็คือ ข้อที่1) สอนออนไลน์ ใช่แล้วสอนออนไลน์ไปเลย เด็กจะได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ดีกว่าหยุดอยู่บ้านเฉยๆ ข้อที่2) สั่งการบ้านออนไลน์
อ่านไม่ผิดหรอกครับ ยุคนี้การสั่งการบ้านออนไลน์เป็นเรื่องปกติ แต่ที่ไม่ปกตินี่คือคุณพี่ไม่ได้สอนแล้วเล่นสั่งการบ้านเลยนี่แหละ น่าแปลกนะครับที่ครูทุกคนที่ได้สอนผมกดตัวเลือกข้อที่2 กันทุกคนเลย ทำให้การเรียนออนไลน์ครั้งแรกในชีวิตผมกลายเป็นการส่งการบ้านออนไลน์ผ่าน Google Classroom เสียเป็นส่วนใหญ่มาเรื่อยๆ… แต่แล้วในที่สุดเวลาก็ล่วงเลยมาถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 วันที่โรงเรียนสามารถเปิดเรียนภาคการศึกษาที่ 1 ได้ ผู้คนภายในโรงเรียนต่างได้มาเจอหน้ากัน และผมก็ได้เริ่มต้นชีวิตช่วง ม.6 อย่างเป็นทางการโดยที่ไม่รู้ว่าเลยว่าอีกไม่กี่เดือนต่อมาผมจะได้พบกับการเรียนออนไลน์แบบของจริงและนรกบนดินที่ผมต้องชดใช้
เปิดภาคการศึกษาที่ 2 ช่วงต้นเดือน ธ.ค. ชีวิตก็วนลูปเหมือนช่วงเทอมแรก ตื่นเช้ามาโรงเรียน เรียนเสร็จ กลับบ้าน ทำการบ้าน อ่านหนังสือเตรียมสอบ เป็นแบบนี้ตลอดช่วงเดือน ธ.ค. ซึ่งพอถึงเดือน ธ.ค.แล้ว ก็ต้องมีวันสิ้นปี และตามด้วยวันขึ้นปีใหม่พอถึงวันสิ้นปีผมก็ไม่ลืมที่จะไหว้พระอธิษฐานขอให้ปี 2564 ที่จะมาถึงมีแต่สิ่งดีๆ… แต่จนถึงตอนนี้ก็ไม่รู้นะครับว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้รับคำอธิษฐานผ่านโทรจิตที่ผมส่งไปเมื่อ 7 เดือนที่แล้วหรือยัง…
ขึ้นปีใหม่มาวันที่ 1 ปี2564 ก็เซอร์ไพรส์เราด้วยข่าวโควิดระลอกที่2 จากเมืองสมุทรสาครทันที ผลที่ตามมาจากข่าวนี้ก็คือการประกาศปิดเรียนทั่วประเทศเป็นเวลา 1 เดือนเต็มและให้จัดการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ 100% … มาแล้วครับการเรียนออนไลน์ คราวนี้เรียนผ่านทั้ง Zoom ทั้ง Google Meet แบบเปิดกล้องเรียนสนุกสนานกันเลยทีเดียว แต่พอได้มาเรียนออนไลน์จริงๆจังๆแล้วจะพบได้เลยว่ามีปัญหาในการเรียนเยอะมาก ผมจะยกตัวอย่างปัญหาที่สำคัญที่สุดให้ฟังคือ เรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทั้งผู้เรียนและผู้สอนบางครั้งถ้าวันไหนสัญญาณไม่ดีก็จะได้ยินเสียงคุณครูพูดแบบขาดๆหายๆอย่าง “ อ…อ..เอา.. นักเรียน ด… ได้ยินครูไหม ได้ยินแล้ว ต…ตอบด้วย ” แบบนี้ครับซึ่งไม่ใช่แค่นี้นะครับ บางวันทั้งภาพและเสียงร่วมใจกันไม่ชัดเจน ทำให้การเรียนออนไลน์ใน 1 เดือนนี้เป็นการเรียนที่ท้าทายสมรรถภาพของผู้เรียนแต่ละคนมากครับว่าจะผ่านไปได้ไหม
พูดถึงปัญหาในการเรียนออนไลน์แล้ว มาดูสิ่งที่ตามมาจากการเรียนออนไลน์บ้างดีกว่าครับ แน่นอนครับพอเรียนออนไลน์แล้ว กำหนดการสอบจะเลื่อนเข้ามาติดกันขึ้นช่วงปลายเดือนมี.ค. ถึงต้นเดือน เม.ย. จึงเหมือนนรกบนดินสำหรับเด็ก64 ผมจะขอไล่ไทม์ไลน์ให้ฟัง เริ่มจากช่วง 20-23 มี.ค. สอบ Gat/Pat ต่อมาช่วง 24-26 มี.ค. ผมสอบปลายภาค หลังจากนั้นช่วง 27-29 มี.ค. มีการสอบ O-net ที่เด็กม.6 ทุกคนต้องสอบและสนามสอบสุดท้าย สนามสอบ9วิชาสามัญ เห็นหรือยังครับภายในเวลาไม่กี่สิบวันมีการสอบถึง 4 สนามแค่อ่านตามยังเหนื่อยเลย ทั้งหมดนี่คือผลพวงทั้งหมดที่มาจากการเรียนออนไลน์เพียงไม่กี่เดือน แต่ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลกับอนาคตของเด็กคนหนึ่งที่อาจตัดสินจากคะแนนสอบของ 3-4 สนามสอบที่กล่าวมา และผมกล้าพูดได้เต็มปากเลยว่าตัวร้ายของเรื่องนี้ไม่ใช่แค่โควิด-19 เพียงอย่างเดียวแต่ยังรวมถึงรัฐบาลกับการบริหารงานที่ไม่ได้เรื่องด้วย
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ตอนนี้ผมสอบติดมหาวิทยาลัยแล้ว ขณะกำลังนั่งเขียนเรียงความเรื่องนี้ผมพึ่งจะผ่านการรับน้องแบบออนไลน์มา และขอพูดตรงๆเลยว่า ด้วยปัญหาโควิด-19 กับการบริหารของเหล่าผู้นำตอนนี้มันทำให้เด็กๆเสียโอกาสและประสบการณ์ไปเยอะมากอย่างเรื่องรับน้อง เรื่องการได้ไปรู้จักผู้คนใหม่ๆ ท่ามกลางสถานที่ใหม่ๆจากการเรียนต่อในมหาวิทยาลัย มันหายไปเลยและต่อให้พวกคุณชดใช้มันอย่างไรก็ไม่อาจคืนโอกาสและประสบการณ์ที่เด็กรุ่นพวกเราเสียไปได้
สุดท้ายนี้อยากฝากถึงผู้มีอำนาจทุกท่านนะครับ คือขอวัคซีน mRNA เพราะขณะนี้ประชาชนที่อายุมากกว่า 18 ปียังได้ฉีดวัคซีนโควิดกันไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด แถมวัคซีนที่นำมาฉีดยังเป็นวัคซีนที่ไม่มีคุณภาพอีกและที่สำคัญที่สุดเลยก็คือเหล่าเด็กๆและเยาวชนทั้งหลายที่กำลังเรียนอยู่ พวกเขายังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนด้วยซ้ำและดูเหมือนว่าเด็กๆเหล่านี้ก็จะยังไม่ได้ฉีดวัคซีนซึ่งจะทำให้ได้เรียนออนไลน์ไปอีกนานเท่าใดก็ไม่อาจทราบได้ แต่พวกคุณกลับเพิกเฉยกับการนำวัคซีนมีคุณภาพมาให้เด็กๆเหล่านี้ได้ฉีด แล้วไหนล่ะที่พวกคุณชอบพูดกันว่าเด็กคืออนาคตของชาติ ถ้าคุณยังเมินเฉยต่ออนาคตของชาติต่อไป พวกคุณก็เตรียมใจไว้ด้วยว่าอนาคตของชาติเหล่านี้อาจจะกลายเป็นขวากหนามที่คอยทิ่มแทงพวกท่านผู้มีอำนาจในอนาคตก็ได้