แกะเบื้องหลังแฮชแท็ก #ม็อบต้องการคนตาย “ยืมแรง” ผู้ใช้ทวิตเตอร์ปั่นติดเทรนด์

การชุมนุมของกลุ่นคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มาพร้อมกับกระแสบนโลกทวิตเตอร์ ผู้ที่ไปอยู่ในสถานที่จริงก็เล่าเรื่องผ่าน #แฮชแท็ก เดียวกัน ขณะที่ผู้ติดตามสถานการณ์อยู่ทางบ้านก็มีส่วนร่วมกับการชุมนุมได้ โดยในการชุมนุมที่มีคนติดตามให้ความสนใจมาก แม้หน้างานอาจมีเข้าร่วมหลักพัน แต่บนโลกออนไลน์แฮกแทกมีเป็นหลักล้าน 
การชุมนุมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ผู้สนับสนุนการชุมนุมใช้ #ม็อบ7สิงหา เป็นหลัก ซึ่งมีจำนวนทวิตทั้งหมด (รวมรีทวิต) มากกว่า 8 ล้านครั้ง และขึ้นเป็นเทรนด์อันดับหนึ่งประจำวัน ในอีกด้านหนึ่งก็ปรากฏแฮชแท็กของผู้ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมด้วยเช่นกัน แม้จะมีจำนวนไม่มากเท่ากับแฮชแท็กของผู้ชุมนุม แต่ #ม็อบต้องการคนตาย ก็มีจำนวนทวิตมากกว่า 3 แสนครั้ง โดยในจำนวนนี้ประกอบไปด้วยทั้งทวิตจากกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมและกลุ่มผู้สนับสนุนการชุมนุมที่เข้าไปติดแฮชแท็กด้วยปะปนกันไป
ก่อนหน้านี้ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเคยออกมาเปิดเผยปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือไอโอ (Information Operation) ของกองทัพไทยที่ใช้โจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ชื่นชมรัฐบาลหรือกองทัพ และคอยแก้ตัวหรือเบี่ยงประเด็นความสนใจจากความผิดพลาดของรัฐ เช่น ในกรณีของการ #กราดยิงโคราช งานวิจัยสรุปว่าไอโอนั้นเป็น “การนำเชียร์แบบไร้กองเชียร์” เนื่องจากมียอดเข้าถึงต่ำและมักจะมาจากการติดตามกันเอง นอกจากนี้ ลักษณะการทวิตยัง “ไม่เนียน” จากการเมนชั่นถึงแต่บัญชีผู้ใช้เดิมๆ และใช้คำซ้ำกัน 
ไอลอว์ลองดึงข้อมูลทุกทวิตที่มีการใช้ #ม็อบต้องการคนตาย ตั้งแต่วันที่ 2 ถึง 8 สิงหาคมเวลา 11.00 น. ผ่าน API ของทวิตเตอร์ พบว่ามีแฮชแท็กนี้ทั้งหมด 5,134 ทวิต ซึ่งหากรวมรีทวิตแล้วก็จะมีมากถึง 371,395 ทวิต จากการวิเคราะห์ข้อมูลชุดนี้แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของทั้งกองทัพ “ไอโอ” และกองเชียร์รัฐบาลในโลกทวิตเตอร์ได้อย่างน้อยสองประการ ข้อแรก มีการเลือกเฟ้นแฮชแท็กตอบโต้โดยฉวยโอกาสจากปัญหาระหว่างผู้สนับสนุนการชุมนุมด้วยกันเอง ข้อที่สอง มีการปั่นยอดทวิตขึ้นมาให้ติดเทรนด์อย่างมีแบบแผน โดย “ยืมแรง” ฝั่งที่สนับสนุนการชุมนุมให้เข้ามาใช้แฮชแท็กต่อ

จับกระแสตอบโต้ผู้ชุมนุมด้วยแฮชแท็ก

#ม็อบต้องการคนตาย นั้นต่างจากแฮชแท็กหลายอันที่กองเชียร์ฝ่ายรัฐบาลเคยใช้ก่อนหน้านี้ เช่น #อนุชนรักชาติศาสน์กษัตริย์ #ทีมประเทศไทย ตรงที่มีความหมายเป็นการเฉพาะเจาะจง ไม่ได้เป็นการแสดงความรักสถาบันหรือสนับสนุนรัฐบาลโดยทั่วไป แท้จริงแล้ว #ม็อบต้องการคนตาย นั้นเป็นปฏิกิริยาจากกระแสปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้สนับสนุนการชุมนุมด้วยกันเองที่เริ่มสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์การนัดหมายชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก และอาศัยโอกาสนี้ในการนำข้อสงสัยต่างๆ มาขยายต่อเพื่อฉายภาพการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่ไม่น่าไว้ใจ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ภายใต้ชื่อว่า “ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด” ได้ทวิตเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างไสยศาสตร์และราชวงศ์จักรี ในขณะที่เรื่องราวของ “ฟ้าฝน” นี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในอีกด้านหนึ่งก็เริ่มมีผู้ใช้งานทวิตเตอร์นำประเด็นเรื่องการนัดชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่สนามหลวงซึ่งถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างมากมาพูดถึงในฐานะที่เป็นชัยภูมิที่ไม่ดี หลังจากนั้นบทสทนาในช่วงเย็นของวันที่ 4 สิงหาคมก็เปลี่ยนไปในทางสงสัยถึงความตั้งใจของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งพูดถึงโอกาสที่จะมีการใช้กระสุนจริงซึ่งนำมาสู่ความสูญเสีย และมีคนเข้ามารีทวิตไปกว่า 4 พันครั้ง 
ในวันถัดมา 5 สิงหาคม เวลาประมาณ 5 โมงเย็น ก็ได้ปรากฏผู้เริ่มใช้แฮชแท็ก #ม็อบต้องการคนตาย เป็นครั้งแรกในทวิตเตอร์ โดยบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่เชียร์รัฐบาล สังเกตได้ว่า การเลือกใช้แฮชแท็กนี้เป็นการเลือกประเด็นที่ทันต่อเหตุการณ์ โดยนำข้อกังขาที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้สนับสนุนการชุมนุมมาขยายต่อให้เป็นกระแสต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การเลือกแฮชแท็กตามกระแสเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอให้ได้รับความสนใจท่ามกลางแฮชแท็กกับประเด็นร้อนที่หลากหลายในแต่ละวัน แต่ต้องมีวิธีการทำให้แฮชแท็กนั้นมีจำนวนทวิตมากพอจนสามารถติดเทรนด์บนทวิตเตอร์ได้ เพื่อให้การขยายต่อนั้นสามารถกระจายออกไปเป็นวงกว้าง หากเรามองไปที่พฤติกรรมการใช้ #ม็อบต้องการคนตาย ก็จะเห็นวิธีการที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลใช้ปั่นให้แฮชแท็กขึ้นไปติดเทรนด์ได้อย่างเป็นระบบ แม้จะมีจำนวนบัญชีในทวิตเตอร์น้อยกว่าฝั่งสนับสนุนการชุมนุม

จำนวนไม่มาก แต่ก็ “ยืมแรง” ปั่นให้ติดเทรนด์ได้

วิธีการปั่นเทรนด์แฮชแท็กของฝั่งผู้สนับสนุนรัฐบาลสามารถสรุปได้อย่างคร่าวๆ ว่า เริ่มจากการทวิตติดแฮชแท็กเดียวกันในเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้นก็ “ยืมแรง” ผู้สนับสนุนการชุมนุมที่เจอแฮชแท็กแล้วนำไปทวิตต่อเพื่อให้แฮชแท็กนั้นขึ้นมาติดเทรนด์ โดยวิธีนี้ทำให้จำนวนที่น้อยกว่าของฝั่งผู้สนับสนุนรัฐบาลไม่เป็นปัญหาในการทำให้แฮชแท็กได้รับความสนใจและสามารถกระจายออกไปได้ในวงกว้าง
สำหรับ #ม็อบต้องการคนตาย ปรากฏขึ้นในทวิตเตอร์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ตั้งแต่ช่วง 5 ถึง 6 โมงเย็นมีการทวิตติดแฮชแท็กนี้ทั้งหมด 10 ข้อความโดยบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ฝั่งสนับสนุนรัฐบาล โดยทุกทวิตมีลักษณะคล้ายกัน กล่าวคือ มีการแนบรูปประกอบ และใช้รูปซ้ำๆ กัน 3 รูปซึ่งมีข้อความดังเช่นว่า “เต้น-ณัฐวุฒิ … เท ม็อบสามกีบ บุกทุบวัง 7 สิงหาฯ” และ “ไปทำไมพระบรมมหาราชวัง กล้าดียังไง?” โดยอ้างอิงคำพูดของบุคคลอย่างนันทิวัฒน์ สามารถ และนริศโรจน์ เฟื่องระบิล ความพยายามปั่นกระแสระยะแรกนี้เกิดขึ้นภายในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง โดยอาศัยการรีทวิตกันเองรวมถึงจากบัญชีผู้ใช้ที่สนับสนุนรัฐบาลอื่นๆ
(ตัวอย่างทวิตช่วง 5 ถึง 6 ของวันที่ 5 สิงหาคม ซึ่งมีการใช้แฮชแท็กเดียวกัน และใช้รูปคล้ายกัน)
ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคมจนถึงวันนัดหมายชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกในอีก 2 วันถัดมา มีการใช้ #ม็อบต้องการคนตาย เป็นระยะๆ โดยทุกครั้งนั้นก็เกิดจากการทวิตของบัญชีผู้ใช้เดิมๆ ที่เป็นผู้เริ่มใช้แฮชแท็กก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่าในระยะแรกนี้ทวิตที่ติดแฮชแท็กนี้เกือบทั้งหมดล้วนแล้วแต่มาจากบัญชีผู้ใช้ที่สนับสนุนรัฐบาลทั้งสิ้น ส่งผลให้จำนวนทวิตรวมมีไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาประมาณ 11 โมงของวันที่ 7 สิงหาคม จำนวนการใช้ #ม็อบต้องการคนตาย ก็เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นนี้มาจากการที่กลุ่มที่สนับสนุนผู้ชุมนุมเริ่มเข้าไปใช้แฮชแท็กบ้าง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าไปใช้เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในแฮกแท็กนี้ และผู้ที่ติดแฮชแท็กนี้เข้าไปในทวิตที่สนับสนุนผู้ชุมนุมของตนเอง ตัวเลขการทวิตยังเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุดที่ 919 ทวิตต่อชั่วโมงในเวลา 6 โมงเย็น โดยส่วนใหญ่ก็เป็นทวิตที่มีเนื้อหาไปในทางสนับสนุนผู้ชุมนุม ในขณะที่ทวิตที่สนับสนุนรัฐบาลนั้นก็กลายเป็นส่วนน้อยไป
การปั่นเทรนด์ของผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่สนับสนุนรัฐบาลนั้นเกิดจากการใช้บัญชีจำนวนไม่มาก แต่ทวิตซ้ำๆ เป็นหลายครั้ง เมื่อดูอันดับบัญชีที่ใช้ #ม็อบต้องการคนตาย มากที่สุด 9 ใน 10 อันดับแรกนั้นเป็นบัญชีผู้ใช้ที่สนับสนุนรัฐบาลทั้งหมด โดยทวิตรวมกันถึง 379 ทวิต และมีการรีทวิตรวมกัน 7,395 ทวิต ในทางกลับกัน การปั่นให้แฮชแท็กติดเทรนด์นั้นกลับมาจากผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่สนับสนุนผู้ชุมนุม 10 อันดับทวิตที่ได้รับการรีทวิตสูงสุดซึ่งรวมกันได้มากกว่า 145,978 ครั้ง ล้วนเป็นทวิตของฝั่งสนับสนุนผู้ชุมนุมทั้งสิ้น
ข้อความทวิต
 
favorite (ครั้ง)
 
retweet (ครั้ง)
⚠️รีไปค่ะ อย่าให้คลิปนี้หาย⚠️
⚠️รีไปค่ะ อย่าให้คลิปนี้หาย⚠️
⚠️รีไปค่ะ อย่าให้คลิปนี้หาย⚠️
⚠️รีไปค่ะ อย่าให้คลิปนี้หาย⚠️
⚠️รีไปค่ะ อย่าให้คลิปนี้หาย⚠️
⚠️รีไปค่ะ อย่าให้คลิปนี้หาย⚠️
#ม็อบ7สิงหาคม #ม็อบต้องการคนตาย #ม็อบ7สิงหา
7,497
41,594
โอเค ประชาชนคือศัตรู ทหารยิงไม่ถือว่าเป็นความผิด 
4,482
17,606
แทนที่กุจะได้ฟังข่าวว่า…วัคซีนใหม่ แต่ดันเป็น อาวุธใหม่ 
#ม็อบต้องการคนตาย #ม็อบ7สิงหา 
3,911
16,430

(ตัวอย่างทวิต #ม็อบต้องการคนตาย ที่มีการรีทวิตสูงสุด 3 อันดับแรก สังเกตว่าเป็นฝั่งผู้ชุมนุมทั้งหมด)

อาจจะพอเห็นได้ว่า แม้กองเชียร์ฝั่งรัฐบาลและปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารต่างๆ จะมีจำนวนน้อยกว่าประชาชนทั่วไปที่สนับสนุนผู้ชุมนุมในทวิตเตอร์มาก แต่ความพยายามปั่นกระแสให้แฮชแท็กของฝั่งตนเองสามารถขึ้นมาติดเทรนด์ได้นั้นก็ถือได้ว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จผ่านการ “ยืมแรง” อีกฝั่ง และยิ่งการเลือกใช้แฮชแท็กที่กำลังอยู่ในความสนใจของกลุ่มผู้สนับสนุนอย่าง #ม็อบต้องการคนตาย ก็จะยิ่งทำให้เป็นกระแสได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ล่าสุดในการปะทะเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ก็ปรากฏแฮชแท็ก #สามกีบม็อบขยะสังคม ซึ่งมีผู้สนับสนุนการชุมนุมเข้าไปใช้แฮชแท็กมากมายจนติดเทรนด์อีกครั้งด้วย
ข้อสรุปของงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่บอกว่าผู้สนับสนุนรัฐบาลในทวิตเตอร์นั้นมีลักษณะ “ไร้กองเชียร์” อาจจะถูกต้องบางส่วนหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่ง ผู้สนับสนุนรัฐบาลอาจจะไม่ได้ต้องการกองเชียร์จำนวนมากนักเพื่อการปั่นให้เกิดกระแสให้ติดเทรนด์ ซึ่งก็เพียงพอที่จะทำให้สามารถอ้างได้ว่าฝ่ายรัฐบาลยังพอมีผู้สนับสนุนอยู่ เมื่อช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ก็เคยปรากฏแฮชแท็ก #ในหลวงสู้สู้ ขึ้นในทวิตเตอร์ท่ามกลางกระแส #กล้ามากเก่งมากขอบใจ ทำให้มีนักการเมืองฝั่งรัฐบาลออกมาอ้างได้ว่าเป็นการแสดงออกของคนไทยที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ดังนั้น สำหรับกองเชียร์รัฐบาล การติดเทรนด์เพียงอย่างเดียวก็อาจจะถือว่าประสบความสำเร็จแล้วก็เป็นได้