สื่อ-นักกฎหมาย-นักการเมือง ประสานเสียงค้าน “มาตรการคุมสื่อ” ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ลงนามประกาศใช้ข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ "ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ฉบับที่ 29 ซึ่งมีสาระสำคัญว่า ห้ามเสนอข่าวที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐฯ รวมถึงอนุญาตให้ กสทช.มีอำนาจระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ "ตัดเน็ต" หากพบว่า IP address ใดทำผิดข้อกำหนด
ทั้งนี้ หลังจากที่ข้อกำหนดดังกล่าวได้มีการเผยแพร่เพื่อบังคับใช้มันได้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอย่างกว้างขว้าง อีกทั้งยังมีปฏิกิริยาตอบโต้จากทั้งบรรดาสื่อมวลชน นักกฎหมาย รวมถึงกลุ่มการเมือง ที่มองว่า นี่คือการคุกคามสื่อและจงใจปิดหูปิดตามประชาชน โดยกลุ่มที่ออกมาตอบโต้คัดค้านการใช้อำนาจดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี ได้แก่
หนึ่ง นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน อย่างน้อย 396 คน (ทั่วประเทศ)
โดยแถลงการณ์ของกลุ่มดังกล่าวระบุได้เหตุผลในการขอคัดค้านและขอให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ดังนี้
1. เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่หลักของการสื่อสารในยุคดิจิทัล การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ใช้โดยไม่มีหลักการหรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจนย่อมเป็นภาพสะท้อนของการขาดธรรมาภิบาล (Governance) อันเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐ ข้อกำหนดฉบับนี้เห็นได้ชัดเจนว่าขาดหลักนิติธรรม เพราะนอกจากมีความคลุมเครือในบทบัญญัติแล้ว ยังให้อำนาจรัฐในการตีความว่าเนื้อหาใดเข้าข่ายบิดเบือน สร้างความหวาดกลัว หรือสร้างความเข้าใจผิด อาจส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามอำเภอใจ และกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ข้อกำหนดฉบับนี้ยังให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่มีโอกาสชี้แจง โต้แย้งและร้องเรียนประการใดๆ ได้ ขณะเดียวกันการสั่งการไปยังสํานักงาน กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์กรอิสระให้เป็นผู้สนองนโยบายย่อมเป็นการแทรกแซง และกระทบถึงความเป็นอิสระขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่าง กสทช. ส่งผลให้ขาดธรรมาภิบาลต่อผู้รับใบอนุญาตอย่างผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และประชาชนอีกทอดหนึ่งด้วย
อนึ่ง การอภิบาลอินเทอร์เน็ตเป็นแนวทางสำคัญในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในระดับสากล ซึ่งองค์การระหว่างประเทศ และองค์การระดับพหุภาคีระดับนานาชาติอย่างสหประชาชาติ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) องค์กรผู้ดูแลทรัพยากรโดเมนเนมอินเทอร์เน็ตสากล (ICANN) และเวทีอินเทอร์เน็ตภิบาลสากล (IGF) ได้สนับสนุนการสร้างการอภิบาลอินเทอร์เน็ตในด้านเสรีภาพในการแสดงออกและการคุ้มครองตัวกลางออนไลน์มาโดยตลอด หากข้อกำหนดนี้มีผลบังคับใช้จริงจะทำให้ประเทศไทยถูกมองว่ามีระบอบอันขาดธรรมาภิบาลและไม่เคารพสิทธิมนุษยชนในด้านการสื่อสาร
2. ภายใต้สถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรคโควิด และการล็อกดาวน์ในปัจจุบัน ซึ่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ผู้คนขาดโอกาสในการได้พบปะพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกันอย่างเห็นหน้าค่าตา ดังนั้นจึงต้องอาศัยพื้นที่ออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวไปโดยปริยาย ด้วยความเครียด ความกดดัน และความไม่แน่นอนของการดำรงชีวิตในภาวะโรคระบาด ย่อมทำให้มีการแสดงออกทางอารมณ์มากกว่าปกติ ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดในการจัดการกับการระบาดอย่างร้ายแรงของโรค ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยระบบอาสาสมัครในรูปแบบต่างๆ และการร่วมด้วยช่วยกันของปัจเจกบุคคลและองค์กรในการติดตามตรวจสอบความเป็นไป และให้ข้อเสนอแนะหรือข้อคิดเห็นต่อนโยบายหรือกิจกรรมต่างๆ ในการควบคุมโรค การสังเกตการณ์จากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดอาจไม่ได้ถูกต้องเที่ยงตรงทั้งหมด แต่ก็ไม่ควรถูกกล่าวหาและประเมินค่าว่าเป็นข่าวปลอมหรือข้อมูลเท็จเสมอไป เพราะอาสาสมัครหรือผู้ที่อยู่ในสถานการณ์จำนวนมากอาจไม่ได้มีเจตนาที่จะสร้างข่าวปลอมหรือข้อมูลเท็จแต่ประการใด  
เมื่อมีการออกข้อกำหนดที่คลุมเครือและมีโทษทางอาญากำกับอยู่ย่อมส่งผลในการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว และทำให้วัฒนธรรมอาสามัครและจิตวิญญาณในการร่วมด้วยช่วยกันต้องถูกสั่นคลอนไป นอกเหนือไปจากความรู้สึกไว้วางใจและศรัทธาของสาธารณะ (Public Trust) ต่อรัฐบาลในฐานะผู้ที่มีอำนาจตรงในการจัดการกับภาวะโรคระบาดแล้ว
3. การกำกับดูแลตนเองทั้งในระดับผู้ใช้และผู้ให้บริการเนื้อหาออนไลน์เป็นแนวทางการกำกับดูแลเนื้อหา ซึ่งเป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับพลวัตของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด แทนที่รัฐบาลจะเสียทรัพยากรในการดำเนินคดีกับผู้ใช้สื่อออนไลน์ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 65 ของประชากรทั้งหมด ควรจะเปลี่ยนไปใช้แนวทางการให้ความรู้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-Checking) หรือการสร้างวัฒนธรรมความรู้เท่าทันสื่อและข่าวสารดิจิทัล (Digital Media and Information Literacy) มากกว่า เพราะจะสามารถติดอาวุธและเสริมพลังให้ผู้ใช้ได้ในระยะยาว นอกจากนี้ยังอาจใช้วิธีการรณรงค์ไม่ให้มีผู้ลงโฆษณาสนับสนุนทางการเงินเพื่อตัดเส้นทางรายได้ของสื่อหรือผู้ให้บริการเนื้อหาออนไลน์ที่ขาดจริยธรรมและนำเสนอเนื้อหาปลอม เป็นเท็จ และบิดเบือนมากกว่าการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีอาญาแก่ประชาชน
สอง องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จำนวน 6 องค์กร
ในจดหมายเปิดผนึกขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่า ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 ข้อที่ 11 และ ฉบับที่ 29 สุ่มเสี่ยงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. ข้อกำหนดดังกล่าว ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเอาผิดแม้เพียงแค่“ข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” โดยปราศจากหลักเกณฑ์หรือขอบเขตของการใช้อำนาจที่ชัดเจน ดังนั้น แม้ประชาชนและสื่อมวลชนที่เผยแพร่ข้อเท็จจริงหรือความจริงก็อาจถูกดำเนินคดีหรือคุกคามจากหน่วยงานของรัฐได้ เพียงเพราะใช้วิจารณญานว่าเป็นการทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว
2. ข้อกำหนดทั้ง 2 ฉบับนี้ มีเนื้อหาแตกต่างจากข้อกำหนดในลักษณะเดียวกันที่เคยมีการประกาศก่อนหน้านี้ในข้อกําหนดฉบับที่ 1 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ข้อ 6 ซึ่งระบุไว้ความชัดเจนว่า จะห้ามเสนอข่าวฯ ได้ ต้องเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และต้องเป็นการเสนอข่าวหรือทำให้เผยแพร่ข้อความอันไม่เป็นความจริง รวมทั้งระบุให้เจ้าหน้าที่ต้องเตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าวเสียก่อน
3. ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลพร้อมทั้งขอให้รัฐบาลทบทวนการออกข้อกำหนดข้างต้น หรือจัดทำแนวปฏิบัติจากข้อกำหนด และแถลงถึงเจตนารมณ์ในการบังคับใช้ให้เกิดความชัดเจน เพื่อมิให้มีการนำข้อกำหนดดังกล่าว ไปเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการทำหน้าที่เสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชน จนกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน แต่กลับถูกเพิกเฉย
อีกทั้งได้มีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ซ้ำอีกครั้ง โดยมีการขยายขอบเขตการใช้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพการแสดงความเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนให้กว้างขวางออกไปอีก
ด้วยเหตุผลที่ระบุมาข้างต้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร จึงขอเรียกร้องให้มีการยกเลิกข้อความในข้อที่ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) รวมทั้งข้อกำหนดฉบับที่ 29 (ทั้งฉบับ) โดยทันที  เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เลวร้ายลงไปอีก
ทั้งนี้ หาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรียังคงเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องตามจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กรจะเพิ่มมาตรการในการกดดันให้รัฐบาลต้องพิจารณายกเลิกข้อกำหนดดังกล่าว ทั้งมาตรการทางด้านกฎหมายและมาตรการทางสังคมต่อไปจนถึงที่สุด
สาม กลุ่มอาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในแถลงการณ์ของกลุ่มดังกล่าวระบุว่า ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 ข้อที่ 11 และ ฉบับที่ 29 มีใจความสำคัญไม่ให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้แสดงความคิดเห็นที่อยู่บนฐานของข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน ดังนั้น เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการสื่อสารอันเป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย คณาจารย์จึงขอแถลงดังนี้
ประการที่หนึ่ง ข้อกำหนดดังกล่าวปรากฏเจตนาชัดว่ารัฐบาลต้องการควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและการทำงานของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ผ่านการกำหนดโทษสำหรับการส่งต่อ ‘ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว’ ซึ่งการกำหนดให้การกระทำเหล่านี้มีความผิด เป็นการตีความถ้อยคำอย่างกว้าง กำกวม ไม่ชัดเจน และเปิดโอกาสให้การพิจารณานั้นอาศัยเพียงดุลพินิจของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐมากเกินสมควร จนอาจกล่าวได้ว่าเมื่อไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าการกระทำใดบ้างที่เข้าข่ายการกระทำผิดตามข้อกำหนด รัฐบาลก็สามารถชี้ว่าการเผยแพร่ข้อมูลใดเป็นการสร้างความหวาดกลัว และใช้อำนาจในการลงโทษผู้เผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นโดยทันที
ประการที่สอง การออกข้อกำหนดเช่นนี้ย่อมขัดต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขัดต่อหลักสากลอันว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้านเสรีภาพในการแสดงออก และขัดต่อหลักการทำงานโดยอิสระของสื่อมวลชนอย่างชัดแจ้ง อีกทั้งเป็นการใช้กฎหมายและบทลงโทษมาลิดรอน บีบบังคับ รวมถึงจำกัดการทำงานของสื่อมวลชนมากเกินสมควร โดยไม่ได้มุ่งคุ้มครองสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด
ประการที่สาม ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง การตรวจสอบ แสวงหาข้อเท็จจริง และเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผู้เจ็บป่วย ผู้เสียชีวิต ปัญหาการบริหารจัดการ หรือปัญหาด้านการรักษาพยาบาล ถือเป็นภารกิจที่จำเป็นอย่างยิ่งของสื่อมวลชน แม้ข้อเท็จจริงเหล่านั้นอาจทำให้เกิดความหวาดกลัวในสังคม แต่ก็เป็นไปเพื่อให้สังคมได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน อันจะนำไปสู่การร่วมกันหาทางออกในภาวะวิกฤต และขับเคลื่อนสังคมบนฐานของข้อมูลข่าวสารจริงที่ได้รับการคัดกรองแล้ว
ประการที่สี่ หากรัฐบาลมีข้อกังวลเรื่องการส่งต่อข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ (Fake News) ในช่วงวิกฤตนี้ ขอเรียกร้องให้มีการบังคับใช้ข้อกฎหมายเท่าที่มีอยู่ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ในส่วนของการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท ฯลฯ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมว่ารัฐบาลศรัทธาในความเที่ยงธรรมของระบบตุลาการโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาข้อกำหนดเพิ่มเติมแต่อย่างใด
ประการที่ห้า นอกจากความจำเป็นของรัฐบาลในการสร้างหลักประกันการทำงานโดยอิสระ ปราศจากอำนาจบีบบังคับสื่อมวลชนแล้ว ในภาวะเช่นนี้ นับเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อให้แก่ประชาชน ผ่านการมอบอำนาจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อมูลและออกแถลงข้อเท็จจริงเพื่อตอบโต้ข้อมูลเท็จ รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับฟังข่าวสารเพื่อยกระดับการรู้เท่าทันสื่อ
ในระบอบประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพในการสื่อสาร ข้อเท็จจริงย่อมทนทานต่อการตรวจสอบขัดเกลาเสมอ ทว่าความพยายามของรัฐบาลในการปิดกั้นข้อมูลด้วยการข่มขู่ผ่านกฎหมายและบทลงโทษมีค่าเท่ากับขัดขวางสาธารณะในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ดังนั้น ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 27 (ข้อ 11) และฉบับที่ 29 โดยทันที
สี คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ อย่างน้อย 72 คน (ทั่วประเทศ)
ในแถลงการณ์ของกลุ่มดังกล่าวระบุว่า ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ระบุว่า ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้รัฐสามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ แต่ก็ไม่สามารถระงับการใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างสิ้นเชิง การจำกัดสิทธิฯ ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ภายใต้หลักความได้สัดส่วนพอสมควรแก่เหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่มีสภาพบังคับเป็นโทษทางอาญา และเห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างแจ้งชัด ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. การห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มี “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 มาตรา 35 และมาตรา 29 ประกอบมาตรา 26 เนื่องจาก
1.1 ความดังกล่าวมีลักษณะ “คลุมเครือ ไม่ชัดเจน” วิญญูชนหรือบุคคลทั่วไปไม่อาจคาดหมายได้ว่า ข้อความใด “อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว”
ในช่วงวิกฤตนี้ ความหวาดกลัวย่อมเป็นปฏิกิริยาปกติของประชาชนทั่วไปต่อข่าวสารในทางลบ การเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความจริง เพื่อให้ภาครัฐหรืออาสาสมัครเข้าช่วยเหลือผู้ป่วย หรือเพื่อเตือนบุคคลอื่นให้หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรค และการรายงานข่าวตามความเป็นจริงเพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง หากเป็นข่าวสารในแง่ลบ ก็อาจถูกตีความได้ว่าเป็น “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” และเป็นความผิดตามกฎหมายได้
การออกข้อกำหนดที่มีเนื้อหาเช่นนี้ เท่ากับเป็นการห้ามประชาชนมิให้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก และห้ามสื่อมวลชนมิให้ใช้เสรีภาพในการนำเสนอข่าว  เพราะบุคคลดังกล่าวย่อมไม่แน่ใจว่า คำพูด การแสดงออก หรือการนำเสนอข่าวสาร จะผิดกฎหมายหรือไม่ ส่งผลให้ประชาชนและสื่อมวลชนส่วนหนึ่งอาจเลือกที่จะไม่แสดงออกหรือไม่นำเสนอข่าวเลย (chilling effect) ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ด้วยเกรงผลทางกฎหมายที่จะตามมา ดังนั้น ข้อกำหนดนี้จึงมิใช่มาตรการที่เหมาะสมแต่อย่างใด
1.2 การฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พรก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินสองปี จึงเป็นกรณีการกำหนดความผิดและโทษทางอาญา โดยบทบัญญัติที่ “คลุมเครือ” (vagueness) และ “มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง” (indefinite / non specificity) ถึงขนาดที่วิญญูชนไม่อาจรู้และเข้าใจได้ว่า ข้อความใดสามารถเผยแพร่ได้ ข้อความใดไม่อาจเผยแพร่ได้ ขัดต่อหลัก “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ”  (No crime nor punishment without law)
แม้คำว่า “หวาดกลัว” เคยปรากฏในกฎหมายไทย แต่กฎหมายดังกล่าวก็บัญญัติองค์ประกอบความผิดข้ออื่นไว้อย่างชัดเจน และมีบทยกเว้นความผิดด้วย อาทิ
– ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 ต้องมีการกระทำที่เป็นความผิด เช่น ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อความเสียหายแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยมีความมุ่งหมาย…เพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน จึงจะเป็นความผิดฐานก่อการร้าย ที่สำคัญกว่านั้น กฎหมายยังบัญญัติชัดว่า “การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิด”
– ปว. ฉบับที่ 17 พ.ศ. 2501 หรือ ปร. ฉบับที่ 42 พ.ศ. 2519 ก็ห้ามเผยแพร่เฉพาะ “ข้อความซึ่งเป็นเท็จในลักษณะที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตกใจหรือวิตกกังวลหรือเกิดความหวาดกลัว”
การลงโทษทางอาญานั้น ดูที่เจตนาเป็นหลัก ผู้กระทำความผิด ต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล ให้การส่งข้อความของตน ส่งผลเสียหายต่อบุคคลหรือสังคมส่วนรวม การกำหนดโทษที่ตัวข้อความ โดยมิได้พิเคราะห์ถึงเจตนาของผู้ส่งสาร ย่อมขัดต่อหลักดังกล่าว และเป็นการกำหนดความผิดอาญาที่เกินความจำเป็น (overcriminalization)
1.3 เมื่อพิเคราะห์ถึงความเหมาะสม ความจำเป็น และประโยชน์ที่ได้จากการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าว เปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดจากการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน และประโยชน์สาธารณะที่จะได้จากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ตลอดจนความเสี่ยงที่รัฐบาลอาจใช้มาตรการนี้ ปิดกั้นการแสดงออกซึ่งความเห็นต่าง หรือปกปิดข้อความจริงที่เป็นผลลบต่อรัฐบาล กรณีจึงเห็นได้ชัดว่า ข้อกำหนดดังกล่าวขัดต่อหลักความได้สัดส่วนพอสมควรแก่เหตุ
1.4 แม้ข้อกำหนดนี้ คัดลอกถ้อยคำมาจากมาตรา 9 (3) แห่ง พรก. ฉุกเฉิน 2548 ก็ตาม แต่ก็เห็นได้ชัดว่า บทบัญญัติมาตรา 9 (3) อันเป็นกฎหมายแม่บท ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง เช่นนี้ สมควรให้มีการเสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามช่องทางที่เหมาะสม ต่อไป
อนึ่ง แม้เคยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับพรก.ฉุกเฉิน 2548 แต่ก็เป็นข้อวินิจฉัยในมาตรา 9(2) มาตรา 11(1) และมาตรา 16 [คำวินิจฉัยที่ 9/2553 และคำวินิจฉัยที่ 10-11/2553] มิใช่มาตรา 9(3)
1.5 แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐบางท่าน ยืนยันว่า การเสนอข่าวตามความจริง ไม่เป็นความผิด แต่นั่นก็เป็นความเห็นของท่านเพียงลำพัง มิได้ผูกพันเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตำรวจ อัยการ และศาล ข้อกำหนดที่ “คลุมเครือ ไม่ชัดเจน” เช่นนี้ ยังคงสุ่มเสี่ยงต่อการตีความและบังคับใช้กฎหมายตามอำเภอใจได้  
   
2. การกำหนดให้ สำนักงาน กสทช. แจ้งผู้รับใบอนุญาตให้บริการอินเตอร์เน็ตตรวจสอบ IP address และให้แจ้ง สนง. กสทช. ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ IP address ที่เผยแพร่ข่าวสารซึ่งมีลักษณะต้องห้าม ในทันที เป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 มาตรา 36 ประกอบมาตรา 26 เนื่องจาก
2.1 เจ้าหน้าที่ของรัฐจะจำกัดเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ อันได้แก่ เสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกัน และเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นมุมกลับของเสรีภาพในการแสดงออก ได้นั้นต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือเทียบเท่า ให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้ง
การสั่งระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ IP address ใด ย่อมกระทบต่อเสรีภาพสองประการดังกล่าว ดังนั้น หากนายกรัฐมนตรี และ สนง. กสทช. ต้องการระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ต ท่านก็ต้องมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจท่านไว้ด้วย
2.2 เมื่อพิจารณาความในมาตรา 9 แห่ง พรก. ฉุกเฉิน 2548 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่นายกรัฐมนตรีใช้ในการออกข้อกำหนดดังกล่าว กลับไม่พบข้อความใด ๆ ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดหรือประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่ “สั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสาร” หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การสั่งระงับการให้บริหารอินเตอร์เน็ต ได้เลย
อำนาจดังกล่าว ปรากฏอยู่ในมาตรา 11 (5) แห่งพรก. ฉุกเฉิน 2548
อย่างไรก็ดี การใช้อำนาจตามมาตรา 11 (5) นี้ นายกรัฐมนตรีจะใช้ได้ ก็ต่อเมื่อมี “การประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็น “สถานการณ์ที่มีความร้ายแรง” ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่งแล้ว เท่านั้น
นับแต่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน (ประกาศฉบับที่ 29 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2564) แม้นายกรัฐมนตรีเคยประกาศยกระดับสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็น “สถานการณ์ที่มีความร้ายแรง” ช่วงสั้น ๆ ในเดือนตุลาคม 2563 แต่ก็ได้ยกเลิกไปแล้ว
2.3 เมื่อมาตรา 9 มิได้บัญญัติให้อำนาจในการสั่งระงับการติดต่อสื่อสารไว้ และยังมิได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามมาตรา 11
– นายกรัฐมนตรี ย่อมไม่อาจออกข้อกำหนดให้ ผู้รับใบอนุญาต “ให้ระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ IP address” ที่เผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารที่ต้องห้ามได้  
– สนง. กสทช. ย่อมไม่อาจอาศัยอำนาจตามความในข้อกำหนดนี้ สั่งการให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ IP address ใด ๆ ได้
– ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่ระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ IP address ใด ตามข้อกำหนดหรือตามคำสั่งของ สนง. กสทช. ย่อมเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายด้วย เช่นกัน
2.4 เมื่อพิจารณากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ  มาตรา 31 และมาตรา 44/5 แห่ง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 หรือมาตรา 43 แห่ง พรบ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 ย่อมเห็นได้ว่า กรณีตามข้อกำหนดนี้ ไม่เข้าเงื่อนไขในการใช้อำนาจออกคำสั่งของสำนักงาน กสทช. ต่อผู้รับใบอนุญาต
2.5 ปัจจุบัน การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยที่ห้า จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การระงับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยปราศจากเหตุผลที่แน่ชัด จึงเท่ากับเป็นการลงโทษที่เกินสัดส่วน เป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร
ด้วยเหตุนี้ ข้อกำหนดดังกล่าวทั้งสองข้อ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกหรือแก้ไขข้อกำหนดดังกล่าวเสียใหม่
พร้อมโปรดสังวรด้วยว่า มาตรา 17 แห่ง พรก. ฉุกเฉิน 2548 ยกเว้นความรับผิดทางกฎหมายให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ เฉพาะแต่กรณีที่กระทำโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น เท่านั้น
ห้า พรรคเพื่อไทย
โดยแถลงการณ์ระบุว่า ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเสนอข้อมูล ข่าวสาร และเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างร้ายแรง กล่าวคือ
1.การออกข้อกำหนดดังกล่าวต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงโดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้นเท่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 วรรคแรก แต่การจำกัดการเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน และการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจะทำให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยุติลงโดยเร็วหรือไม่ให้โรคระบาดรุนแรงขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้น การออกข้อกำหนดดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
2.ข้อความที่ว่าห้ามเสนอข่าวที่มีข้อความอันทำให้ประชาชนเกิดความกลัวนั้น มีความหมายไม่ชัดเจน ไม่มีมาตรวัดใดที่จะใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานได้ ข้อความข้างต้นจึงขาดความชัดเจนแน่นอน ปล่อยให้เกิดการใช้ดุลยพินิจและการเลือกปฏิบัติได้ ข้อกำหนดดังกล่าวจึงขัดต่อหลักการตรากฎหมายและยังเป็นการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนและเสรีภาพของประชาชนเกินสมควรแก่เหตุอันขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย
3.ข้อกำหนดที่ให้อำนาจแก่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตรวจสอบและวินิจฉัยว่า การเสนอข้อมูลข่าวสารของบุคคลใดเป็นการต้องห้ามตามข้อกำหนดหรือไม่ และให้อำนาจในการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตของผู้นั้น เป็นการมอบอำนาจให้องค์กรเอกชนซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้วินิจฉัยว่าบุคคลใดกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดหรือไม่ ผิดหลักการของกฎหมายมหาชน และการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างร้ายแรง เพราะอำนาจการวินิจฉัยว่าผู้ใดกระทำความผิดและต้องระงับการใช้อินเทอร์เน็ตควรเป็นอำนาจของศาลหรือ กสทช.ตามกรอบที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น
4.เหตุผลของการออกข้อกำหนดระบุไว้ชัดเจนว่า “โดยที่มีการเผยแพร่โดยทั่วไปซึ่งข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้ประชาชนเกิดความกลัว หรือข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน…” ดังนั้น หากจะออกข้อกำหนดดังกล่าวจะต้องจำกัดการเสนอข่าวว่าต้องเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จเท่านั้น การเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงไม่ควรถูกห้ามไปด้วย การออกข้อกำหนดเพื่อเอาผิดกับผู้ที่พูดความจริงจึงมีเจตนาเพื่อปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน
5.เมื่อพิจารณาเหตุผลเบื้องหลังของการออกข้อกำหนดนี้จะเห็นได้ว่า รัฐบาล และ ศบค. บริหารงานล้มเหลวในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทุกภาคส่วน จนกระทบต่อสถานะการดำรงอยู่ของรัฐบาล โดยเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ส่วนสื่อมวลชนก็ไม่ปรากฏว่ามีสื่อสำนักใดเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับโรคโควิด-19 จึงเห็นได้ว่า เหตุผลที่แท้จริงในการออกข้อกำหนดนี้มิได้เกี่ยวกับความจำเป็นที่จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยุติลงโดยเร็ว หรือ เพื่อป้องกันมิให้การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวรุนแรงขึ้นตามเงื่อนไขของกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นการดำเนินการโดยมีเหตุผลทางการเมืองแอบแฝงโดยมิได้คำนึงว่าการกระทำเช่นนี้จะไปจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนอย่างไร
6.การแก้ไขปัญหาและต่อสู้กับโรคระบาดร้ายแรงเช่นนี้มีความจำเป็นที่ต้องเข้าใจสถานการณ์และรับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดอย่างรอบด้าน เพื่อให้ทั้งภาครัฐและประชาชนเข้าใจในความจริงที่เกิดขึ้น เพื่อจะสามารถเห็นถึงปัญหาและประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้องตรงกับสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้น การระงับ ยับยั้ง หรือปิดกั้นการรับรู้ข้อเท็จจริงด้วยการออกข้อกำหนดดังกล่าว นอกจากจะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อการระดมความร่วมมือของประชาชนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาด้วย
พรรคเพื่อไทย จึงเห็นว่า ไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีจะต้องออกข้อกำหนดนี้ และการออกข้อกำหนดก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ พรรคจึงขอเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกำหนดฉบับนี้เสีย
หก พรรคก้าวไกล
โดยแถลงการณ์ระบุว่า พรรคมีความเห็นต่อ ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ดังนี้
1. การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน อยู่ในสถานการณ์วิกฤติรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น เป็นเพราะการบริหารที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเจตนาที่จะแทงม้าตัวเดียวเรื่องวัคซีน และความบกพร่องในการยกระดับระบบสาธารณะให้เตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุด มิได้เกิดจากการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เมื่อสถานการณ์การระบาดเข้าขั้นวิกฤติในขณะนี้ แทนที่รัฐบาลจะใช้อำนาจที่มีเร่งแก้ไขความบกพร่องผิดพลาดของตนเองในอดีต และสื่อสารกับประชาชนด้วยข้อมูลที่รอบด้านและชัดเจนไม่สับสน รัฐบาลกลับมองสื่อมวลชนและประชาชนเป็นภัยความมั่นคง แล้วใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินจำกัดการเสนอข่าวสารอย่างรอบด้านของสื่อมวลชน และปิดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดจากการออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 เมื่อวานนี้
2. การกำหนดข้อห้ามในลักษณะเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ในข้อกำหนดฉบับที่ 27 ที่ออกเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 และแม้จะมีเสียงคัดค้านเป็นวงกว้างจากทั้งประชาชน นักวิชาการ รวมถึง 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่เห็นว่าเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลก็หาได้รับฟังไม่ ยังคงเนื้อหาข้อห้ามไว้เช่นเดิมในข้อบังคับฉบับล่าสุดคือฉบับที่ 29 ซึ่งการมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. สามารถระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้นั้นถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 36 ที่รับรองเสรีภาพของบุคคลในการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าในทางใดๆ เนื่องจากการระงับให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ผู้ใช้บริการรายใดๆ นั้นหมายความว่าผู้ใช้บริการนั้นมิอาจเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยสมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานประการใดก็ตาม
3. พรรคก้าวไกล เคยเตือน พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลไว้ตั้งแต่ก่อนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในแถลงการณ์ของพรรคเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ว่า หัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาการระบาดของโรค COVID-19 มิใช่อำนาจพิเศษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากแต่เป็นการมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนอย่างรอบคอบ เตรียมความพร้อมและประเมินผลกระทบมาอย่างรอบด้านแล้ว รวมถึงการสื่อสารที่ชัดเจนหนักแน่นและการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังได้กำชับรัฐบาลต้องไม่ฉวยโอกาสใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินตามอำเภอใจ แต่ต้องใช้อย่างจำกัดและระมัดระวังเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ของการแก้ปัญหา COVID-19 เท่านั้น รวมถึงต้องไม่ฉวยโอกาสลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชนและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และละเมิดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน เนื่องจากข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านมีความสำคัญในช่วงเวลาวิกฤติ เพื่อให้ประชาชนเท่าทันกับสถานการณ์ที่เป็นจริงและสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้
ทว่าตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี 4 เดือนที่ผ่านมา ตลอดการประกาศและต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้วทั้งสิ้น 14 ครั้ง เรากลับเห็นรัฐบาลเน้นใช้อำนาจพิเศษไปกับการปราบปรามการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ในขณะที่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือประชาชนทั้งประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤติ ทั้งการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคมาฉีดโดยเร็วที่สุด ทั้งการอนุมัติยา เครื่องมือตรวจโรค และอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ ทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค ทั้งหมดนี้ควรได้รับประโยชน์จากการรวมศูนย์บริหารจัดการและลดขั้นตอนดำเนินงานโดยผลของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่กลับกลายเป็นว่าในทางปฏิบัติก็ยังคงต้องมาติดหล่มของระเบียบวิธีราชการเหมือนที่เคยเป็นมา เกิดปัญหาความซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ และขาดหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจน ทุกอย่างสับสนวุ่นวายท่ามกลางสถานการณ์ที่ประชาชนต้องเสียชีวิตไปวันละนับร้อยคน
4. ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว พรรคก้าวไกลจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ยกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ทันที และจากนั้นควรยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แล้วกลับไปสู่การรับมือและแก้ไขสถานการณ์ COVID-19 อย่างจริงจังภายใต้ระบบกฎหมายปรกติ โดยรัฐบาลที่สามารถแก้ไขวิกฤติได้ ไม่ใช่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกต่อไปแล้ว เพราะในวันนี้พิสูจน์แล้วว่า รัฐบาลชุดนี้เป็นภาระอันหนักอึ้งเหลือเกินสำหรับประเทศนี้
เจ็ด คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
โดยแถลงการณ์ของกลุ่มระบุว่า ขอสนับสนุนจุดยืนของ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในการยืนยันหลักการ “เสรีภาพสื่อ เสรีภาพประชาชน” ว่าการคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชน ย่อมถือเป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนด้วย
ครป. เห็นว่า การที่รัฐบาลออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) เรื่อง มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่ระบุว่า “การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักร” นั้นเป็นการคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชน และคุกคามประชาชน ปิดกั้นมิให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤต ถือเป็นการฉวยโอกาสในภาวะวิกฤต เพื่อปิดหู ปิดตา และปิดปากประชาชนอย่างแยบยล
ครป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน การออกคำสั่งใดๆ ในรูปข้อกำหนด ระเบียบ ข้อบังคับอื่นใด หรือยกเลิกการออกข้อกำหนดข้างต้น เพื่อมิให้มีการใช้ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นภารกิจการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน และการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชน จนกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยได้เคยถูกท้วงติงมาแล้วหลายครั้งจากองค์การระหว่างประเทศ ในเรื่องการออกคําสั่งและประกาศซึ่งห้าม “การชุมนุมทางการเมืองทุกประเภท” และจํากัดการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและข้อมูลในบริบทที่คลุมเครือ เช่น “ความมั่นคงของรัฐ” “การวิจารณ์การปฏิบัติงาน คสช.” ข้อมูลซึ่ง “ก่อให้เกิดความสับสน ยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความ แตกแยกในราชอาณาจักร” หรือ “ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก หวาดกลัวแก่ประชาชน” ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ภายใต้พันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก (ตามบทที่ 19 ของ ICCPR)  ซึ่งสิทธิดังกล่าวได้รับการรับรองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 เช่นกัน ในมาตรา 34 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น” มาตรา 35 ได้รับรองว่า “บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดง ความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ” และ “การให้นําข่าวสารหรือข้อความใดๆ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพ สื่อมวลชนจัดทําขึ้นไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนําไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อใดๆ จะกระทํามิได้ เว้นแต่จะกระทําในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม” และมาตรา 36 ได้รับรองว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการ ติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าในทางใดๆ” อีกด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมสหประชาชาติได้ตั้งข้อสังเกตเชิงสรุปหลังจากได้มีการทบทวนรายงานตามรอบที่ 2 (Concluding Observation at the Universal Periodic Review) ของประเทศไทย เมื่อเดือนเมษายน 2560 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับ “การดําเนินคดีทางอาญาต่อ…นักหนังสือพิมพ์” นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยมีข้อเสนอให้ประเทศไทย “ใช้มาตรการที่จําเป็นเพื่อประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ อันสอดคล้องกับข้อบทที่ 19 ของ ICCPR” และนอกจากนี้ยังระบุว่า “ข้อจํากัดนั้นจักต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขอันเคร่งครัด ที่ถูกบัญญัติไว้ในข้อ บทที่ 19(3) ของ ICCPR" ซึ่งต่อมาถูกอธิบายเพิ่มเติมโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติใน ข้อสังเกตที่ 34 เรื่องของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออก และรวมถึงจักต้องอยู่ภายใต้หลัก "ความจําเป็นและความได้สัดส่วนอย่างเคร่งครัด”  หาไม่แล้วก็จะเป็นการขัดต่อพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศของประเทศไทยอย่างชัดแจ้ง
ดังนั้น ครป. จึงเห็นพ้องว่า ข้อกำหนดภายใต้ พรก.ฉุกเฉินฯ รวมถึงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งผู้บังคับใช้กฎหมาย  ข้าราชการการเมือง และข้าราชการประจำ ภายใต้การกำกับของรัฐที่มีการแสดงท่าทีข่มขู่คุกคาม ฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ วิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ย่อมเป็นการสะท้อนให้เห็นเจตนาที่ต้องการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน อันเป็นการกระทำที่มิอาจยอมรับได้
การที่นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ระบุว่า “ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่ายหรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน" … อีกทั้งการเผยแพร่ข้อความหรือข้อมูลข่าวสารในอินเตอร์เน็ตอีกด้วยนั้น เพื่อมิให้รัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างในการจำกัดเสรีภาพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน อันจะกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนด้วย ดังนั้น องค์กรวิชาชีพสื่อ จึงจำเป็นต้องยืดหยัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เที่ยงตรงตามความจริง ด้วยความกล้าหาญสอดคล้องกับจรรยาแห่งวิชาชีพ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชน หยุดคุกคามเสรีภาพของประชาชน
ครป. ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 27-29 ภายใต้ พรก.ฉุกเฉินฯ ที่ไร้ประโยชน์ ละเมิดสิทธิเสรีภาพและขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ การนิยามเรื่องข่าวสารที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวตามเอกสารข้อกำหนดนั้นก็มีขอบเขตที่กว้างเกินไป อันจะทำให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือเอาผิดเพื่อการกลั่นแกล้ง คุกคามเสรีภาพของสื่อสารมวลชนและประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลได้ ซึ่งมาตรา 17 แห่ง พรก.ฉุกเฉินฯ ที่ละเว้นโทษทางปกครอง ก็ไม่ได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่กระทำการที่เกินสมควรกว่าเหตุ เลือกปฏิบัติ หรือกระทำการไม่สุจริตและเกินความจำเป็นแต่อย่างใด
นอกจากนี้ การที่ข้อกำหนดตามฉบับที่ 29 ข้อ 2 ได้กำหนดให้  สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต ทำการสืบค้นหาเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ของประชาชนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่ถูกระบุว่ากระทำการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ทำการระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ต และส่งข้อมูลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินคดีนั้น ครป. เห็นว่า สำนักงาน กสทช. มีสถานะเป็น “องค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่” ที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560  มาตรา 60 จึงเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลจะออกข้อกำหนดใดเพื่อให้สำนักงาน กสทช. ต้องมาปฏิบัติตามที่รัฐบาลต้องการ และในทางหลักการแล้ว ที่อยู่ไอพี (IP address) เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่แม้แต่สำนักงาน กสทช. หรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตต้องระมัดระวังการเข้าไปละเมิดสิทธิและก้าวล่วง และรัฐบาลไม่อาจละเมิดสิทธิส่วนบุคคลดังกล่าวได้ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคทั้งระบบที่ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดร่วมในระบบอินเทอร์เน็ตที่มีการใช้ร่วมกัน เนื่องจากในทางปฏิบัติ ประชาชนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง และส่งต่อข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) จำนวนมากนั้น ที่อยู่ไอพี(IP address) ที่ปรากฏเป็นที่อยู่ไอพีของผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ใช่ของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตโดยตรง กรณีดังกล่าวจึงอาจเกิดความสับสนในการปฏิบัติและการตีความขอบเขตอำนาจที่มิชอบของรัฐบาลที่ไม่สามารถกระทำได้ จากการขาดวิสัยทัศน์และความรู้ในโลกดิจิตอลอย่างแท้จริง
ครป.จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 27-29 ตามมาตรา 9 ภายใต้ พรก.ฉุกเฉินฯ ที่ขัดหลักนิติธรรมนี้โดยทันที ยุติการคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อ เสรีภาพการแสดงออกและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน อันเป็นสิทธิมนุษยชนสากลขั้นพื้นฐานของมนุษยชนและประชาคมโลก การออกคำสั่งที่ขัดรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบจนชาติบ้านเมืองวิกฤตและล้มเหลว โดยการลาออกจากตำแหน่งโดยเร็วที่สุด ก่อนที่ประเทศไทยจะเสียหายร้ายแรงมากไปกว่าปัจจุบัน
เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก คือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน