เปิดนิยาม-แยกองค์ประกอบ “ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จ” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

Offences under section 14, Computer act
Offences under section 14, Computer act
จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ทะลุหลักหมื่นมาตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 จำนวนผู้เสียชีวิตที่ขณะนี้มากกว่า 3,700 คน (อัพเดทล่าสุดเมื่อ 24 กรกฎาคม 2564) และจากปัญหาผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อีกมากมายหลายชีวิต ย่อมบ่งบอกได้ถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลจะถูกคนในโลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการของรัฐบาลอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะกลุ่ม ศิลปิน ดารา นักแสดง ที่ต่างก็พร้อมใจกันออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองเพื่อกดดันรัฐบาล หรือที่นิยมเรียกกันว่า “Call out” กันอย่างต่อเนื่อง 
ทั้งนี้ แม้การออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในช่วงวิกฤติจะถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ประชาชนพึงมีตามรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่รัฐบาลก็มีความพยายามในการตีความเอาผิดการแสดงออกดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในกฎหมายที่ถูกนำมากล่าวอ้างเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็คือ “พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์” หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ที่ถูกเรียกว่าความผิดฐาน “นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ”
อย่างไรก็ดี ถ้านำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 มาแยกองค์ประกอบความผิด จะพบว่า มาตราดังกล่าวไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาท และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เป็นความจริงยังไม่ถือเป็นความผิด จนกว่าการแผยแพร่ข้อมูลข่าวสารนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ หรือ เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นต้น

เปิดองค์ประกอบความผิด แค่เผยแพร่ข้อมูลเท็จ ยังไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560  มาตรา 14 ระบุว่า ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
ผู้โพสต์ข้อความที่จะมีความผิดตามมาตรา 14 (1) ต่อเมื่อสิ่งที่นำเสนอนั้นเป็น ‘ความเท็จ’ โดยมีเจตนา ‘ทุจริตหรือหลวงลวง’ ซึ่งข้อมูลนั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน
หมายความว่า ผู้โพสต์ข้อความจะต้องรู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่ตัวเองโพสต์นั้นเป็นความเท็จ ไม่ใช่ความจริง นอกจากนี้ คำว่า “โดยทุจริต” มีคำนิยามอยู่ในมาตรา 2 ของประมวลกฎหมายอาญา หมายถึง “เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น”   ดังนั้นหากข้อความที่โพสต์เป็นความจริง ก็ไม่ถือว่ามีความผิด หรือต่อให้ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ แต่ถ้าผู้โพสต์ข้อความหรือแสดงความคิดเห็นไม่ได้มีเจตนาทุจริตแต่แรก ก็ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 14(1) ได้เลย เนื่องจากขาดองค์ประกอบความผิดเรื่องเจตนา อีกทั้ง กฎหมายยังตีกรอบไม่ให้ใช้ในลักษณะเดียวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทอีกด้วย
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
ผู้โพสต์ข้อความที่จะมีความผิดตามมาตรา 14(2) นั้นจะต้องเป็นกรณีที่ข้อความหรือข้อมูลนั้นเป็น ‘ความเท็จ’ และข้อมูลนั้นจะต้องก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ทั้งในทางสาธารณะ เศรษฐกิจ หรือจะต้องก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน หากการแสดงความคิดเห็นหรือนำเสนอข้อมูลไม่ได้ก่อให้เกิดผลที่ว่า แม้เป็นความเท็จก็ไม่อาจเป็นความผิดได้ เนื่องจากขาดองค์ประกอบความผิด
สรุปคือการโพสต์หรือแชร์ “ข้อมูลอันเป็นเท็จ” ที่จะทำให้บุคคลมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 14 (1)(2) นั้น คนที่โพสต์จะต้องมีเจตนา รู้อยู่แล้วว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นเท็จ แต่ก็ยังโพสต์ไปเช่นนั้น  ถ้าหากข้อมูลที่โพสต์ไปนั้นเป็นความจริง เช่น คลิปวีดีโอที่ถ่ายจากเหตุการณ์จริง หรือเป็นความคิดเห็น เช่น การติชมรัฐบาล การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ก็ไม่เข้าองค์ประกอบ “ข้อมูลอันเป็นเท็จ” และไม่อาจเอาผิดตามมาตรา 14 (1) (2) ได้
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
ผู้โพสต์ข้อความจะมีความผิดตามมาตรา 14(3) ต่อเมื่อข้อความดังกล่าวเป็นความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร มาตรา 107-135 หรือเป็นความผิดที่เกี่ยวกับการก่อการร้าย มาตรา 135/1-135/4 ตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
ผู้โพสต์ข้อความที่จะมีความผิดตามมาตรา 14(3) ต่อเมื่อข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาลามก อนาจาร และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่ว่านั้นได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
ประการสุดท้าย บุคคลที่จะมีความผิดตามมาตรา 14(5) จะต้องกระทำความผิดครบองค์ประกอบสองอย่าง คือ หนึ่ง เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ และสอง ‘โดยรู้อยู่แล้ว’ ว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4) หมายความว่าในการดำเนินการเอาผิดคนที่โพสต์หรือแชร์ข้อความตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่าเป็นข้อมูลที่ว่าเป็นความผิดตามมาตรา 14 (1) (2) (3) หรือ (4) เสียก่อน และต้องพิสูจน์”เจตนา” ของผู้กระทำความผิดให้ได้ คือ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า รู้อยู่แล้วว่าเป็นความผิดแต่ก็ยังแชร์ เนื่องจากบางครั้งการแชร์โพสต์จากแฟนเพจต่างๆ ผู้แชร์อาจจะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าสิ่งที่แชร์ไม่ใช่ข้อมูลเท็จที่เป็นความผิดตามองค์ประกอบอื่นๆ ของมาตรา 14 (1) (2) (3) และ (4) และหากพิสูจน์ได้ว่าไม่รู้จริงๆ ก็อาจจะไม่มีความผิดตามมาตรานี้ เนื่องจากขาดเจตนา

แท้จริงแล้ว พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ควรมุ่งเอาผิดการกระทำต่อ ‘ระบบ’ ไม่ใช่ ‘เนื้อหา’

ถ้าย้อนดูเจตนารมณ์และที่มาของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะพบว่า กฎหมายดังกล่าวมีรากฐานมาจากอนุสัญญาว่าด้วยอาชญากรรมบนอินเตอร์เน็ต (Convention on Cybercrime) ที่ต้องการป้องกันการก่ออาชญกรรมโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ด้วยการตราบทบัญญัติที่ขาดความชัดเจนและถูกต้อง จึงทำให้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทั้งในปี 2550 และ 2560 ถูกตีความมาใช้ฟ้องร้องดำเนินคดีเอาผิดกับ “เนื้อหา” บนโลกออนไลน์ 
โดยสิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือความหมายของคำว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” โดยแท้จริงแล้วหมายถึง “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ถูกปลอมแปลงขึ้นมา” เช่นเดียวกับการปลอมแปลงเอกสาร กล่าวคือ การพิจารณาว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ให้พิจารณาในฐานะ “วัตถุ” ว่ามันถูกปลอมแปลงขึ้นหรือไม่ เช่นการปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น แต่เมื่อกฎหมายเลือกใช้คำว่าข้อมูลอันเป็นเท็จ แทนคำว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ถูกทำปลอมขึ้น” จึงทำให้กฎหมายถูกนำมาใช้จับผิดการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ว่าเป็นเรื่องเท็จหรือเป็นเรื่องจริง
ทั้งนี้ หากย้อนดูข้อเสนอของภาคประชาชนในนามกลุ่ม ‘เครือข่ายพลเมืองเน็ต’ จะพบว่า ที่ผ่านมา ประชาชนเคยเสนอให้แก้ไขมาตรา 14 โดยมุ่งหมายให้ใช้เฉพาะความผิดในเชิงระบบ เพื่อป้องกันการใช้เพื่อดำเนินคดีปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ โดยมีข้อเสนอให้แก้ไของค์ประกอบความผิดใหม่ให้มีลักษณะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยให้ยกเลิกมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปี 2560 ทั้งมาตรา และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน
“ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ทำปลอมขึ้นทั้งหมดหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด ถ้าได้กระทำไปเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่แท้จริง เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือเพื่อให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมข้อมูลคอมพิวเตอร์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
จากบทบัญญัติข้างต้น มีการยกเลิกข้อความที่เป็นปัญหาที่เปิดช่องให้ตีความได้กว้างขวาง อย่าง “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” และให้ใช้คำว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ทำปลอมขึ้น” เพื่อให้ตรงกับความหมายคำว่าของ “forgery” หรือ “การปลอม” ในอนุสัญญาว่าด้วยอาชญากรรมบนอินเตอร์เน็ต  
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มข้อความว่า “เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม” และ ” เพื่อให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ” เข้าไปเป็นองค์ประกอบความผิด แทนข้อความว่า “น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” หรือ “น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ” ทำให้การกระทำความผิดตามมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำกัดอยู่ที่การปลอมแปลงข้อมูลเพื่อให้ได้ทรัพย์สินหรือสิทธิของบุคคลอื่น ไม่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์
อย่างไรก็ดี ต่อให้มีการแก้ไขมาตรา 14 ให้เอาผิดเฉพาะการปลอมแปลงข้อมูล แต่ก็ไม่ใช่ว่า ผู้คนจะโพสต์ข้อความที่เป็นการละเมิดต่อบุคคลอื่นอย่างไรก็ได้โดยไม่มีกฎหมายมาจำกัดกรอบ ผู้เสียหายยังคงสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ โดยอาศัยกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามมาตรา 328 หรือฟ้องร้องเอาผิดทางแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ ซึ่งการแสดงความคิดเห็นภายใต้กฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่งจะได้รับการคุ้มครองถ้าเป็นการแสดงความคิดเห็นในลักษณะติชมด้วยความสุจริต เป็นความจริง และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ