ชำแหละพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 16 ปีภาคใต้ ต่อด้วยโควิดระบาด “ใช้ยาไม่ตรงกับโรค”

วันที่ 17 กรกฎาคม 2548 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จนเวลาล่วงเลยไป 16 ปี มีการต่ออายุกฎหมายนี้มาทั้งหมด 62 ครั้ง ควบคู่กับกฎหมายพิเศษอื่น ๆ คือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เจ้าหน้าที่รัฐได้รับอำนาจเพิ่มขึ้นในการเข้าควบคุมตัวประชาชน ตรวจค้น ออกคำสั่งให้มารายงานตัว ในขณะที่ประชาชนเองไม่สามารถร้องเรียนหรือฟ้องร้องศาลปกครองที่เป็นช่องทางปกติได้ ยิ่งในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในปัจจุบัน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ถูกนำมาใช้ทั่วทั้งประเทศ ทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนน่ากังวลขยายวงกว้างมากขึ้น
ในวาระครบรอบ 16 ปีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights หรือ APHR) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurist หรือ ICJ) และ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน จัดเสวนาออนไลน์ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และหาทางออกที่ดีกว่าการใช้กฎหมายพิเศษ
ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. พรรคก้าวไกล ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวเปิดงานเสวนาว่า นับย้อนกับไป 16 ปีที่ผ่านมา พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้คุ้นชินดีกับกฎหมายพิเศษที่รัฐไทยไม่ว่ารัฐบาลไหนก็เลือกใช้ ถามว่าแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วพื้นที่ชายแดนใต้เป็นเพียงสถานที่ทวีคูณอายุราชการ วันนี้ก็มีการประกาศภาวะฉุกเฉินในเมืองหลวงของประเทศไทยท่ามกลางสถานการณ์การต่อสู้กับไวรัส เห็นได้ว่ารัฐเลือกใช้กฎหมายพิเศษไม่ว่าจะในสถานการณ์ใด ถ้าการแก้ปัญหาสามารถทำได้ด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เราก็คงไม่เดินมาถึงวันนี้ 

ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องแจ้งยูเอ็น การจำกัดสิทธิต้องมีเงื่อนไข กฎหมายต้องโปร่งใส

ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตราภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในแง่หนึ่งก็อาจจะเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน มีอีก 108 ประเทศที่ประกาศเช่นเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายสิบประเทศที่เลือกใช้มาตรการอื่น การออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัตินั้นดีกว่าการใช้พระราชกำหนด เพราะพระราชกำหนดไม่ได้ผ่านการตรวจสอบของภาคประชาสังคมและฝ่ายสภา แต่ทำเพื่อความสะดวกของฝ่ายบริหาร เรามี พ.ร.บ. ที่โปร่งใสกว่าตั้งหลายฉบับ โดยเฉพาะ พ.ร.บ. โรคติดต่อที่ให้อำนาจมากอยู่แล้ว
เมื่อประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ แล้ว ก็ยังต้องอยู่ภายใต้กรอบสากลหรือกรอบระหว่างประเทศด้วย กล่าวคือต้องดูหลักที่เป็นภววิสัย (objective approach) ไม่ใช่อัตวิสัย (subjective approach) ดังนั้น เมื่อฝ่ายบริหารต้องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงต้องมีเงื่อนไข คือ ต้องใช้ชั่วคราวเท่านั้น ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าความอยู่รอดของรัฐตกอยู่ในอันตราย ยังต้องเคารพสิทธิบางประการ การจำกัดสิทธิต้องเป็นไปภายใต้เงื่อนไขของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ต้องคำนึงถึง (1) กฎหมายต้องโปร่งใส (2) ต้องจำเป็นตามสถานการณ์ที่เด็ดขาดมากถึงจะฟังขึ้น (3) ต้องได้สัดส่วน (4) ความชอบธรรม (5) ไม่ให้เลือกปฏิบัติ 
การใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่ผ่านมา 16 ปีนั้น มีหลายสิ่งที่น่าเป็นห่วง และที่ผ่านมาการประกาศก็ไม่มีการทบทวนโดยสภาหรือแจ้งสหประชาชาติเลย ในทางสากลเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เมื่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้กับปัญหาโควิด ก็มีข้อกำหนดตามมาถึง 27 ฉบับ ซึ่งทั้งหมดไม่มีความโปร่งใสตรวจสอบได้เลย ในฉบับล่าสุดที่ห้ามการเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวนั้นน่าเป็นห่วงมาก ไม่ใช่เพียงแค่ข่าวปลอมแล้ว พูดความจริงก็ถูกจับได้ถ้าทำให้เกิดความหวาดกลัว อะไรคือโรคกันแน่ โรคโควิดหรือโรคอำนาจ
“รัฐที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยมักจะอ้างเรื่องข่าวปลอม (fake news) แต่จริงๆ แล้วในเรื่องความมั่นคง สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือภัยเก๊ (fake threats) ที่ฝ่ายมีอำนาจอ้างเพื่อใช้มาตรการพิเศษ”
ศ.กิตติคุณวิทิต เสนอว่า ถ้าจะใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ทุกครั้งที่จะต่ออายุการใช้ ต้องแจ้งสหประชาชาติทราบ ปียังนี้ไม่มีการแจ้งเลย ควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้พูด ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ข้อ 11 ของข้อกำหนดฉบับที่ 27 วิธีการต่อสู้กับข่าวปลอมที่ดีที่สุด คือ การศึกษาของประชาชนที่มาจากประชาธิปไตย ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐในการมาตัดสินว่าอะไรคือความจริง โดยเฉพาะรัฐที่มาที่มาไม่โปร่งใส และต้องพยายามมุ่งสู่การปฏิรูปกฎหมายให้ได้ สภาควรจะมีการทบทวนการใช้กฎหมายทั้งหมด

ใช้ยาไม่ตรงกับโรค ทำผิดก็ขาดความรับผิดชอบ

นายแพทย์ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ล้มเหลวทั้งการแก้ไขปัญหาในภาคใต้หรือสถานการณ์ทางการเมือง ที่ผ่านมาเราใช้ยาไม่ตรงกับโรคที่เป็นอยู่ สถานการณ์การบริหารงานของรัฐบาลเต็มไปด้วยความสับสน เพราะฉะนั้นสื่อและหมอต่างๆ จึงต้องออกมาแจ้งข้อมูลที่อาจจะตรงกับข้ามกับรัฐบาล แต่การใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 27 ทำให้การพูดความจริงเป็นสิ่งที่ผิดนั้นมีปัญหาเป็นอย่างมาก อาจจะเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการจับกุมได้ ขอฝากให้กรรมการสิทธิฯ เข้าตรวจสอบดูแลในประเด็นนี้ด้วย
การแก้ไขปัญหาโควิดไม่สมารถทำได้โดยใช้กฎหมายอำนาจนิยมมาบังคับประชาชน การคุมโรคต้องใช้มิติเรื่องของคนและสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างความเข้าใจด้วย แม้ช่วงแรกเราอาจจะจัดการได้ดี แต่ก็เป็นเพราะมีการกระจายอำนาจให้กลไกตามชุมชนสามารถมีเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่พอระยะต่อมาเชื้อเริ่มกลายพันธุ์ นโยบายของรัฐจึงมีปัญหาตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงานข้ามชาติ บ่อน หรือวัคซีน การใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เลยเป็นการตัดแนวทางการทำงานพื้นฐาน
นอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องอภิสิทธิ์ปลอดความผิด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ทำให้ประชาชนไม่สามารถฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐในศาลปกครองได้ ทำให้ผู้มีอำนาจรู้สึกว่า ทำผิดก็ไม่มีใครมาทำอะไรได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือการกระทำขาดความรับผิดชอบ ขาดจิตสำนึก ภาพที่ออกมาจึงเห็นรัฐบาลที่คิดว่าตัวเองทำถูกแล้วทั้งๆ ที่ผิดพลาด ต่อจากนี้เราต้องทำให้เป็นบรรทัดฐานว่าไม่มีการใช้กฎหมายใดๆ ก็ตามโดยไม่ต้องรับผิด
นิรันดร์แยกความผิดพลาดของรัฐบาลเป็นสองส่วน ด้านแรก การควบคุมการระบาด ปัญหาของเราเป็นในเชิงโครงสร้าง ทั้งเรื่องการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ การทำงานที่ยึดระบบราชการเป็นสำคัญ ผูกขาดอำนาจที่นายกรัฐมนตรีคนเดียว ไม่สอดรับกับสถานการณ์ที่กระจายตัว เช่นล่าสุด มีการประกาศข้อกำหนดกลางดึกทำให้เกิดความเดือดร้อนมากมาย คนตกงานไม่มีการดูแลจากรัฐ มาตรการเหล่านี้ทำให้คนที่อยู่กรุงเทพฯ ต้องอพยพออกไปต่างจังหวัด ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อมากขึ้น จังหวัดต่างๆ ก็ต้องรับภาระในการตรวจเชื้อและดูแลผู้ป่วยที่ตามมา ส่งผลให้คนต่างจังหวัดติดเชื้อเสียชีวิตมากขึ้น
ด้านที่สอง การจัดการวัคซีน ขณะนี้มีปัญหามากมาย เราเลือกซื้อวัคซีนแทงม้าตัวเดียวโดยประชาชนไม่มีทางเลือกจนต้องเสียเงินซื้อวัคซีนทางเลือกเอง รัฐบาลไม่สามารถทำตามเป้าหมายการฉีดวัคซีนหรือการเปิดประเทศได้ ในขณะที่กลุ่มเสี่ยงมีอัตราติดเชื้อสูง บุคลากรแนวหน้า แพทย์ ประมาณ 1 แสนคน และผู้สูงอายุอีก 17 ล้านคนไม่ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง ตอนนี้เป็นปัญหาเรื่องธุรกิจข้ามชาติ และเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ การบริหารจึงต้องอาศัยผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล เพื่อให้วัคซีนกระจายได้อย่างทั่วถึง

16 ปี สามจังหวัดภาคใต้ ละเมิดสิทธิหนัก ซ้อมทรมาน วิสามัญฆาตกรรม

อัญชนา หีมมิหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตลอด 16 ปี ในชายแดนใต้นำไปสู่การควบคุมตัวประชาชน ไม่ว่าเด็ก ผู้หญิง หรือประชาชนทั่วไปอย่างมากมาย สถิติจนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 อยู่ที่ 7,131 คน ยังไม่นับที่คนถูกควบคุมตัวซ้ำหลายครั้ง ในจำนวนนี้พบว่าเป็นการควบคุมตัวเด็กมากถึง 132 คน โดยมีคนที่อายุเพียง 1 ขวบและ 4 เดือน และยังมีผู้หญิงถูกควบคุมตัวอีก 24 คน มีการเก็บดีเอ็นเอกับเด็กตั้งแต่อายุ 1 ขวบถึง 17 ปีเพียงเพราะเป็นลูกของผู้ต้องสงสัย แม้แต่ผู้หญิงที่เป็นภรรยาของผู้ต้องสงสัยก็ถูกเก็บดีเอ็นเออย่างน้อย 10 คนด้วยกัน
กลุ่มด้วยใจบันทึกกรณีการซ้อมทรมานได้ทั้งหมด 144 ราย โดยมีอย่างน้อย 2 รายที่เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ วิธีการทรมานมีหลากหลายมากทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น มีการใช้ water boarding ด้านการวิสามัญฆาตกรรม จนถึงปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 271 ราย ในช่วงการระบาดของโควิด 19 เจ้าหน้าที่มีการเปลี่ยนรูปแบบบการวิสามัญ จากเดิมที่เริ่มจากการไปหาก่อนแล้วถ้าไม่ออกมาถึงมีการใช้ความรุนแรง เปลี่ยนเป็นการปิดล้อมแบบเต็มอัตราหรือปิดประตูตีแมว ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตต่อครั้งมากขึ้นถึง 3-7 คน โดยวิธีนี้เป็นการปิดโอกาสไม่ให้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้
ผลกระทบหลักที่เกิดจากการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ  คือ ความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม และการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เมื่อผู้ต้องหาถูกปล่อยตัวก็จะถูกสังคมตีตรา เจอแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่ จนเกิดผลกระทบทางด้านจิตใจ และบางคนก็เลือกหนีไปอยู่ที่อื่น

ประชาชนสามารถเรียกร้องให้รัฐรับผิดได้

รองศาสตราจารย์ ดร. มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายฉุกเฉินในช่วงนี้มีความน่ากังวลมาก เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องในการลิดรอนเสรีภาพของประชาชน นโยบายของรัฐขาดความชัดเจนจนประชาชนไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิเสรีภาพอย่างไรกันแน่ นอกจากนี้ยังมีความทับซ้อนของหน่วยงานต่าง ๆ ที่พยายามออกข้อกำหนดและบังคับใช้กฎหมายของตนเองจนทำให้เกิดความสับสน เมื่อ ศบค. ออกข้อกำหนดหนึ่ง หน่วยงานอื่นๆ ก็จะออกข้อกำหนดของตนเองตามมา เปรียบเทียบแล้วเห็นความต่างกันจนทำให้เกิดความสับสนได้
การขาดความชัดเจนเกิดจากการที่ไม่ได้ศึกษาผลดีหรือผลเสียของมาตรการให้ถี่ถ้วน ทำให้เกิดกรณีการประกาศใช้ไปแล้วโดยองค์กรหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นานก็ถูกยกเลิกทีหลังโดยองค์กรอื่น การออกข้อกำหนดต่างๆ ควรจะคิดถึงผลกระทบล่วงหน้าเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เตรียมตัว มาตรการที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังต้องมาพร้อมกับการเยียวยา หากทำได้อย่างเหมาะสม เชื่อว่าจะลดความเดือดร้อนของประชาชนได้ส่วนหนี่ง อย่างไรก็ตาม ในหลายครั้งรัฐบาลเลือกที่จะละเมิดสิทธิก่อน แล้วค่อยมาคิดว่าจะเยียวยาอย่างไรทีหลัง เราไม่มีกฎหมายที่เป็นระบบในเรื่องของการชะลอหนี้ หรือหนี้ครัวเรือนต่างๆ เลย
รัฐบาลลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น โดยใช้ข้ออ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัยและประชาชนไม่มีสิทธิฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ประชาชนรู้สึกสิ้นหวัง ในทางกลับกัน เรากลับเริ่มเห็นหน่วยงานรัฐไล่ฟ้องประชาชนที่ติชมโดยสุจริต หน้าที่ของนักกฎหมายต้องช่วยกันยืนยันว่า ประชาชนยังมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่ายอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น
มุนินทร์กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 99 กำหนดว่า รัฐมีหน้าที่ต้องให้บริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สำคัญมาก แต่จากสถานการณ์ที่เกิดซ้ำ ๆ คนก็เริ่มมองออกว่าเราควรจะมีมาตรฐานในการทำงานของรัฐบาล ตอนนี้เราสามารถเปรียบเทียบได้ว่าการปฏิบัติงานของรัฐเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่โดยอิงจากที่ผ่านมา ถ้ารัฐไม่ทำตามสิ่งที่ควรจะเป็นแล้วให้คำตอบที่ไม่สมเหตุสมผล ก็จะมีต้องมีเรื่องรับผิดตามมา ซึ่งก็น่าจะมีมูลที่จะไปพิสูจน์กันในศาลได้ แม้กระบวนการในศาลอาจจะใช้เวลานาน แต่สัญญาณที่ส่งออกไปคือรัฐบาลต้องระมัดระวังอย่างที่สุดในการออกนโยบายเพราะประชาชนไม่ยอมอีกแล้ว ถ้าไม่มี พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เรื่องเหล่านี้ก็ควรไปที่ศาลปกครอง แต่ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ถูกออกแบบให้เอาเครื่องมือของประชาชนออกไป 
มุนินทร์ ฝากไว้ด้วยว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ประชาชนต้องยืนยันว่าตนเองมีสิทธิแม้กระทั่งในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการละเมิดสิทธิเสรีภาพต้องจำกัดที่สุด ถ้าเกิดความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ ประชาชนก็สามารถเรียกร้องให้รัฐรับผิดได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา
กษิต ภิรมย์ สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เราเห็นกันชัดเจนแล้วว่าการบริหารงานของประยุทธ์ล้มเหลว พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ใช้เพื่อปราบปรามทางการเมือง ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่ไม่ชัดว่าเอาไปใช้เพื่อจัดการโควิดอย่างไร ที่เห็นก็คือการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งรัฐอิสระของตนเองในการบริหารงาน ออกมาตรการต่างๆ การจัดการเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่ทำไมให้เอกชนมาทำงานแทน ทำให้เกิดความสับสน
ส่วนในเรื่องของภาคใต้ กษิตเรียกร้องให้ผู้นำทางศาสนาภาคใต้บอกกับคนที่จับอาวุธว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกใช้กองทัพในการแก้ปัญหา แล้วใช้ตำรวจเข้าไปแทน ทั้งหมดนี้ต้องทำคู่ขนานไปกับการอภัยโทษ โดยไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะมาใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้
สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) กล่าวว่า ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ การบริหารในสถานการณ์เช่นนี้ต้องใช้กฎหมายธรรมดาก่อน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เป็นมาตรการที่สามารถใช้ได้หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่อาจทำให้ความมั่นคงของชาติ ชีวิตของประชาชน รวมถึงบูรณภาพทางดินแดนของรัฐตกอยู่ในอันตรายเท่านั้น สำหรับประเทศไทย เราอาจจะประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เร็วเกินไปในปีที่แล้ว ซึ่งพอประกาศไปแล้วก็จำเป็นต้องเยียวยา แต่พอมาปีนี้ที่มีความจำเป็นต้องใช้การเยียวยาจริงๆ จากสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงขึ้น กลับไม่สามารถทำได้แล้ว โดยปกติแล้วในต่างประเทศ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินประกาศก็เพื่อให้รัฐสามารถทำงานได้เร็วขึ้น แต่ของไทยเราเอามาแค่มิติด้านอำนาจ แต่มิติด้านการบริหารจัดการกลับไม่เอามาด้วย
ประเทศไทยมี พ.ร.บ. โรคติดต่อให้ใช้อยู่แล้ว และก็มีการใช้โดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น กรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกมาตรการภายในจังหวัดของตนเอง เป็นอำนาจตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ แต่การใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เช่นนี้เป็นการใช้แบบ “ผิดที่ผิดทาง” ไม่มีความจำเป็น