เปิดการ์ด ‘เหตุผลยอดฮิต’ ขยายต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

*อัพเดทข้อมูลล่าสุด 3 สิงหาคม 2565
ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ที่ครบกำหนดในวันที่ 31กรกฎาคม 2565 ออกไปอีกสองเดือน (เริ่ม 1 สิงหาคม 2565 จนถึง 30 กันยายน 2565) ได้ส่งผลให้การขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินในครั้งนี้ เป็นการขยาย ‘ครั้งที่ 19’ นับตั้งแต่การออกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับแรกเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563
  
ดังนั้น หากนับถึงวันบังคับใช้จากการต่ออายุครั้งล่าสุด (ปลายเดือนกันยายน 2565) ประเทศไทยจะอยู่ในสถานะของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้วมากกว่า 920 วัน จนสามารถกล่าวได้ว่า ภายใต้การบริหารจัดการของ ศบค. และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 เป็นการประกาศที่ ‘ยาวนานที่สุด’ ในประวัติศาสตร์ไทย และมากเป็นเกือบสามเท่าหากเทียบกับจำนวนวันของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับการชุมนุมที่ถนนราชดำเนินและราชประสงค์ในปี 2553 ที่มีระยะเวลาการประกาศใช้รวม 259 วัน
หมายเหตุ: งานชิ้นนี้ไม่นับรวมการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกขยายระยะเวลาบังคับใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน (สิงหาคม 2565) โดยประกาศมติของคณะรัฐมนตรีล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 ได้ระบุให้ขยายระยะเวลาออกไปอีกเป็นเวลา 3 เดือน โดยมีผลตั้งแต่ 20 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป
สำหรับ 'การ์ดเหตุผล' ต่างๆ ที่ปรากฏในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับแรกและประกาศการขยายระยะเวลาของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้ง 18 ครั้งที่ผ่านมา มีดังต่อไปนี้
การระบาดระลอกที่ 1
ครั้งแรก (26 มีนาคม 2563 จนถึง 30 เมษายน 2563) ได้ให้เหตุผล 2 ประการ 
(1) การระบาดของโรคกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน 
(2) พบการกักตุนสินค้า เครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน 
การขยายครั้งที่ 1 (1 พฤษภาคม 2563 จนถึง 31 พฤษภาคม 2563) ได้ให้เหตุผล 2 ประการ 
(1) โรคระบาดยังคงระบาดรุนแรงอยู่ในหลายประเทศและมีการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร / การไปมาหาสู่ข้ามจังหวัด 
(2) การไม่นำพาต่อมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด 
การขยายครั้งที่ 2 (1 มิถุนายน 2563 จนถึง 30 มิถุนายน 2563) ได้ให้เหตุผล 1 ประการ 
(1) จากกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการแล้วมักพบการระบาดระลอกใหม่ในระดับรุนแรง
การขยายครั้งที่ 3 (1 กรกฎาคม 2563 จนถึง 31 กรกฎาคม 2563)  ได้ให้เหตุผล 2 ประการ 
(1) ยาและวัคซีนยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย 
(2) สถานการณ์ทั่วโลกยังคงมีความรุนแรง เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการแล้วมักพบการระบาดระลอกใหม่ในระดับรุนแรง
การขยายครั้งที่ 4 (1 สิงหาคม 2563 จนถึง 31 สิงหาคม 2563) ได้ให้เหตุผล 2 ประการ 
(1) ประชาชนจำนวนมากละเลยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค และมีการรวมกลุ่มกันโดยไม่รักษาระยะห่าง 
(2) จำนวนผู้เดินทางเข้ามาในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การขยายครั้งที่ 5 (1 กันยายน 2563 จนถึง 30 กันยายน 2563) ได้ให้เหตุผล 3 ประการ 
(1) การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทำให้ประชาชนขาดความระมัดระวังตัว
(2) ผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
(3) การผลิตวัคซีนยังไม่ประสบความสำเร็จ
การขยายครั้งที่ 6 (1 ตุลาคม 2563 จนถึง 31 ตุลาคม 2563) ได้ให้เหตุผล 1 ประการ 
(1) มีคนต่างด้าวจำนวนมากลักลอบเดินทางเข้ามาผ่านช่องทางธรรมชาติ
การขยายครั้งที่ 7 (1 พฤศจิกายน 2563 จนถึง 30 พฤศจิกายน 2563) ได้ให้เหตุผล 2 ประการ 
(1) มีคนต่างด้าวลักลอบเดินทางเข้ามาผ่านช่องทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง 
(2) เชื้อโรคได้กลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์ ในขณะที่การผลิตวัคซีนยังไม่ประสบผลสำเร็จ 
การขยายครั้งที่ 8 (1 ธันวาคม 2563 จนถึง 15 มกราคม 2564) ได้ให้เหตุผล 5 ประการ 
(1) จำนวนผู้ติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงมีการระบาดซ้ำระลอกใหม่ 
(2) มีการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติมากขึ้น 
(3) ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การป้องกันและควบคุมโรคทำได้ยากมากขึ้น 
(4) ในช่วงเข้าใกล้ปีใหม่ จะมีการเดินทางของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมาก 
(5) ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติหลายรายการ
การระบาดระลอกที่ 2 (คลัสเตอร์สำคัญ: ตลาดกุ้ง สมุทรสาคร)
การขยายครั้งที่ 9 (15 มกราคม 2564 จนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2564) ได้ให้เหตุผล 3 ประการ 
(1) เกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อนขึ้นในหลายจังหวัดตั้งแต่ 17 ธันวาคม 2563 ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศและผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 
(2) ผู้ติดเชื้อในรอบนี้ไม่แสดงอาการของโรคในทันที จึงมีระยะเวลาแพร่เชื้อโดยที่ไม่รู้ตัวนานขึ้น 
(3) กรณีผู้ติดเชื้อจำนวนมากขาดความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการปกปิดข้อมูล
การขยายครั้งที่ 10 (1 มีนาคม 2564 จนถึง 31 มีนาคม 2564) ได้ให้เหตุผล 2 ประการ
(1) ผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการของโรค จึงทำให้แพร่กระจายได้ง่ายขึ้น 
(2) วัคซีนยังมีจำนวนน้อย ไม่ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศ
การระบาดระลอกที่ 3 (คลัสเตอร์สำคัญ: ผับทองหล่อ)
การขยายครั้งที่ 11 (1 เมษายน 2564 จนถึง 31 พฤษภาคม 2564)  ได้ให้เหตุผล 4 ประการ
(1) ปรากฏการระบาดของโรคในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะตลาดและชุมชนเมือง
(2) พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิม
(3) ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมจะมีวันหยุดต่อเนื่อง ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา
(4) มีการจับคนต่างชาติหลบหนีเข้าเมืองได้จำนวนมากในแต่ละวัน
การระบาดระลอกที่ 4 (คลัสเตอร์สำคัญ: แคมป์คนงาน)
การขยายครั้งที่ 12 (1 มิถุนายน 2564 จนถึง 31 กรกฎาคม 2564) ได้ให้เหตุผล 2 ประการ
(1) เกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อนขึ้นในพื้นที่ที่มีความแออัดหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
(2) เชื้อโรคได้กลายพันธุ์ทำให้เกิดการติดโรคได้ง่ายและไม่แสดงอาการ ผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้น รวมทั้งผู้ติดเชื้อเสียชีวิตมากขึ้นและเร็วขึ้นจากความรุนแรงของโรค

การขยายครั้งที่ 13 (1 สิงหาคม 2564 จนถึง 30 กันยายน 2464) ได้ให้เหตุผล 1 ประการ

(1) โรคติดเชื้อได้กลายพันธุ์และสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าเดิมโดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

 

การขยายครั้งที่ 14 (1 ตุลาคม 2564 จนถึง 31พฤศจิกายน 2564) ได้ให้เหตุผล 1 ประการ

(1) โรคติดเชื้อโดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้ามีการระบาดอย่างรวดเร็ว

 

การขยายครั้งที่ 15 (1 ธันวาคม 2564 จนถึง 31 มกราคม 2565) ได้ให้เหตุผล 4 ประการ

(1) ในทวีปยุโรปกลับมามีการระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้งจากสายพันธุ์โอไมครอน

(2) ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการระบาดของเชื้อได้ง่าย

(3) ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะมีการรวมตัวและการเดินทางของประชาชนจำนวนมาก

(4) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ทำให้ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองบริเวณพื้นที่ชายแดนรุนแรงมากขึ้น

 

การระบาดระลอกที่ 5

การขยายครั้งที่ 16 (1 กุมภาพันธ์ จนถึง 31 มีนาคม 2565) ได้ให้เหตุผล 2 ประการ 

(1) ไวรัสเกิดการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์โอมิครอน

(2) การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายในบริเวณพื้นที่ชายแดนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

การขยายครั้งที่ 17 (1 เมษายน จนถึง 31 พฤษภาคม 2565) ได้ให้เหตุผล 2 ประการ  
(1) ช่วงเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมจะมีวันหยุดต่อเนื่องหลายช่วง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว รวมทั้งอาจมีการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มโดยมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาด
แบบกลุ่มก้อน 
(2) การเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงยังคงอยู่ในระดับต่ำ
การขยายครั้งที่ 18 (1 มิถุนายน จนถึง 31 กรกฎาคม 2565) ได้ให้เหตุผล 4 ประการ
(1) สถานการณ์ระบาดทั่วโลกยังคงรุนแรง
(2) มีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นและระบาดแพร่หลายเป็นระยะ
(3) ต้องใช้เวลาในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครอบคลุมมากกว่าที่เป็นอยู่
(4) องค์การอนามัยโลกยังคงระดับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) 
การขยายครั้งที่ 19 (1 สิงหาคม จนถึง 30 กันยายน 2565) ได้ให้เหตุผล 3 ประการ
(1) เกิดการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 
(2) การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง
(3) องค์การ อนามัยโลกยังคงระดับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคระบาดใหญ่