ตรวจการบ้าน ศบค.: หนึ่งปีผ่านไป ประเทศไทยยังอยู่กับการล็อกดาวน์

51305651532_9ca668816b_o
นับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา นับเป็นเวลาปีกว่าแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ขึ้นมา เป็นองคาพยพหลักในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มีการออกข้อกำหนดหรือการออกมาตรการควบคุมโรคภายใต้การแนะนำของที่ประชุม ศบค. ไปแล้วอย่างน้อย 27 ฉบับ แต่ทว่า ทุกการระบาดใหญ่ตั้งแต่ระลอกแรกไปจนถึงการระบาดใหญ่ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา รัฐไทยยังคงหวังใช้มาตรการควบคุมทางสังคม เช่น “การล็อคดาวน์” เป็นกลไกหลัก ทั้งที่ หัวใจสำคัญ คือ มาตรการทางสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเชิงรุก การติดตามผู้ป่วย ไปจนการฉีดวัคซีน แต่รัฐไทยก็กลับละเลย

โควิดสามระลอก ศบค. ล็อคดาวน์ 3 ครั้ง-เคอร์ฟิว 2 ครั้ง

นับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการออกข้อกำหนดเพื่อเป็น “มาตรการหลัก” ในการควบคุมโรคโควิด-19 ตามที่ที่ประชุม ศบค. เสนอ ไปแล้วอย่างน้อย 27 ฉบับ โดยข้อกำหนดดังกล่าวจะเป็นมาตรการควบคุมทางสังคม หรือ มาตรการที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน เช่น การห้ามออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) การสั่งปิดสถานที่หรือกำหนดเวลาเปิดปิดสถานที่ หรือ การสั่งห้ามร่วมกลุ่มกัน เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา เราสามารถแบ่งช่วงเวลาที่มีการบังคับใช้มาตรการเข้มข้นได้ ดังนี้

หนึ่ง ช่วงที่การระบาดใหญ่ระลอกแรก

จากความล้มเหลวในการป้องกันผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่ให้แพร่เชื่อต่อคนภายในประเทศของรัฐบาล ทำให้สุดท้ายเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 จากการจัดแข่งขันชกมวยที่สนามมวยลุมพินี ซึ่งเป็นสนามมวยภายใต้การดูแลของกองทัพบก แถมยังเป็นการจัดชกมวยในขณะที่คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้งดการจัดกิจกรรมที่เป็นการรวมกลุ่มขนาดใหญ่ ซึ่งกว่าจะสามารถสืบต้นต่อของการแพร่ระบาดใหญ่ได้ เหตุการณ์ก็ลุกลามจนต้องมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และออกข้อกำหนดตามมาหลายฉบับ
โดยข้อกำหนดฉบับที่ 1 มีสาระสำคัญ คือ การสั่งประชาชนห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยงโรคตามที่คณะกรรมการควบคุมโรคหรือภาครัฐกำหนด รวมถึงให้มีการปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค หรือที่เรียกว่า “มาตรการล็อคดาวน์” เช่น ปิดโรงเรียนหรือสถานศึกษา ปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ ห้างสรรพสินค้า (แต่งดเว้นให้การขายสินค้าที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม สามารถเปิดได้แต่ให้งดการบริโภคภายในร้าน) 
นอกจากนี้  ยังมีการสั่งห้ามกักตุนสินค้า อาทิ หน้ากากอนามัยหรือเจลแอลกอฮอล์ และสั่งห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม ชุมนุม หรือ มั่วสุม และมีการสั่งห้ามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ไม่เป็นความจริงหรือบิดเบือนที่อาจจะทำให้เกิดความหวาดกลัวกับประชาชน รวมไปถึงการออกมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางเข้ามาในประเทศไม่ว่าทางน้ำ ทางบก หรือ ทางอากาศ และควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัด อีกด้วย
ถัดมาในข้อกำหนดฉบับที่ 2 นายกรัฐมนตรี ภายใต้มติของ ศบค. ได้มีคำสั่งให้บุคคลทั่วราชอาณาจักรห้ามออกนอกเคหะสถาน หรือ การประกาศเคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น. หลังจากนั้น ก็มีการออกข้อกำหนดออกมาอีกสองฉบับ ก่อนจะมีเริ่มผ่อนคลายมาตรการ ตั้งแต่ข้อกำหนดฉบับที่ 6 เป็นต้นมา เช่น การลดระยะเวลาการประกาศเคอร์ฟิว หรือ การให้บางสถานที่หรือบางกิจการสามารถเปิดได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี จากมาตรการที่รัฐได้ประกาศใช้พบว่า มีข้อผิดพลาดอยู่หลายประการ เช่น การออกมาตรการที่ล่าช้า เพราะกว่าที่นายกฯ จะออกข้อกำหนดประกาศล็อคดาวน์ก็มีผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อได้เดินทางออกนอกจังหวัดไปตั้งแต่มีการสั่งปิดร้านค้าในกรุงเทพ ซึ่งส่งผลให้เกิดการระบาดในพื้นที่ต่างจังหวัดตามมา หรือ การที่รัฐส่วนกลางออกมาตรการที่ไม่ได้คำนึงถึงความจำเพาะของแต่ละพื้นที่ และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนกลุ่มต่างๆ เช่น ชาวสวน ชาวประมง อีกทั้ง หลังจากที่มีการออกมาตรการล็อคดาวน์แต่มาตรการในการเยียวยาก็เป็นไปอย่างล่าช้าแทบเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง

สอง ช่วงที่มีการระบาดใหญ่ระลอกที่สอง

หลังจากที่การระบาดใหญ่ระลอกแรกเริ่มซาลง และรัฐเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น แต่ทว่า การระบาดใหญ่ก็กลับมาอีกครั้งที่จังหวัดสมุทรสาคร หรือ ที่เรียกว่า “คลัสเตอร์ตลาดกุ้งสมุทรสาคร” ในเดือนธันวาคม 2563 ที่นำไปสู่การระบาดใน 27 จังหวัด และพบผู้ป่วยติดเชื้ออย่างน้อย 1,400 คน โดยสาเหตุของการระบาดในระลอกนี้ คาดว่า เป็นผลมาจากการลักลอบนำเข้าแรงงานข้ามชาติ เพราะก่อนหน้านี้มีการระบาดจากพื้นที่ชายแดนอยู่เป็นระยะๆ เนื่องจากว่ามีคนไทยที่เดินทางจากเมืองท่าขี้เหล็กประเทศพม่าซึ่งมีการระบาดหนัก แต่ไม่มีการกักตัวหรือตรวจคัดกรอง
หลังจากมีการระบาดใหญ่ในสมุทรสาครและพื้นที่รอบข้าง ทำให้นายกฯ มีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 15 โดยให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดในการสั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ปี 2558 และห้ามให้มีการชุมนุม ทำกิจกรรม หรือ การมั่วสุมกัน โดยหลังจากนั้นจึงมีการสั่งปิดสถานที่ต่างๆ เช่น สนามกีฬา สนามมวย โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง ฯลฯ ในพื้นที่อย่างจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม หรือ กรุงเทพฯ แต่ในพื้นที่อื่นๆ ก็ยังคงผ่อนปรนให้ดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ

สาม ช่วงที่มีการระบาดใหญ่ระลอกที่สาม

ในวันที่ 7 เมษายน 2564 มีการแถลงข่าวถึงการระบาดใหญ่อีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มก้อนสถานบันเทิงในกรุงเทพมหานคร หรือ “คลัสเตอร์ทองหล่อ” โดยมีผู้ป่วยติดเชื้ออย่างน้อย 300 ราย อีกทั้งยังพบว่ามีนักการเมืองที่ติดเชื้อโควิดด้วย ได้แก่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่เขาอ้างว่า มีทีมงานหน้าห้องติดโควิด-19 จากกลุ่มก้อนสถานบันเทิงย่านทองหล่อ โดยทีมงานคนดังกล่าว คือ เจ้าหน้าที่ธุรการของกระทรวง นอกจากนี้ ยังมีนายตำรวจและคนขับรถที่เดินทางไปพร้อมกันได้รับการแพร่เชื้อโควิด
หลังการระบาดใหญ่ นายกฯ ได้ออกข้อกำหนดฉบับที่ 19 และฉบับที่ 20 ตามมา โดยสาระสำคัญคือ การแบ่งโซนพื้นที่ตามความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค โดยพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจะยังคงใช้มาตรการแบบ “กึ่งล็อคดาวน์” ได้แก่ การสั่งให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เปิดให้บริการได้ถึงเวลา 21.00 น. เช่นเดียวกับ ร้านอาหารและเครื่องดื่มให้เปิดให้บริการได้ถึงเวลา 21.00 น. แต่ให้งดทานในร้าน รวมถึงให้ปิดสถานศึกษาหรือโรงเรียน ในขณะที่บรรดาสถานบันเทิง ผับ บาร์ ยังคงถูกสั่งปิดอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน 2564 นายกฯ ได้มีการออกข้อกำหนดเพื่อผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ก็มีการระบาดใหญ่ในเรือนจำ โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อในเรือนจำทั่วประเทศ อย่างน้อย 28,833 คน คิดเป็นร้อยละ 20.15 จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศ ทั้งนี้ เรือนจำเป็นพื้นที่เปราะบางและเสี่ยงจากการระบาดหนักหากไม่มีกลไกป้องกันที่ดี เนื่องจากสภาพเรือนจำเป็นไปอย่างแออัด และมีจำนวนนักโทษเกินกว่าการรองรับของเรือนจำได้

สี่ ช่วงที่มีการระบาดใหญ่ระลอกที่สามแบบต่อเนื่อง

ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2564 สถานการณ์การระบาดของโควิดถึงจุดที่เลวร้าย ทั้งจากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายวันที่พุ่งสูงขึ้น “วันละหลายพันคน” ทำให้นายกฯ มีการออกข้อกำหนดติดต่อกันหลายฉบับในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยสาระสำคัญอยู่ที่ข้อกำหนดฉบับที่ 25 และข้อกำหนดฉบับที่ 27 ที่ให้กลับมาใช้มาตรการ “ล็อคดาวน์” อีกครั้ง
โดยข้อำหนดทั้งสอบฉบับ มีการระบุให้ ประชาชนห้ามออกนอกเคหะสถาน หรือ ประกาศเคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. และให้ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ให้ปิดบริการช่วงเวลา 20.00 น. ถึง 04.00 น. และให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น. เฉพาะซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา ร้านอาหาร ธนาคาร ฯลฯ ส่วนร้านอาหารและเครื่องดื่ม ให้เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น. และห้ามนั่งทานในร้าน
อีกทั้ง ยังกำหนดให้ขนส่งสาธารณะให้ปิดบริการตั้งแต่เวลา 21.00 น. ถึง 03.00 น. รวมถึงการกำหนดให้ห้ามรวมกลุ่มกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป แต่มีข้อยกเว้น เช่น พิธีกรรมทางศาสนา อีกทั้ง ยังกำหนดให้บรรดาข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เริ่มนโยบาย “ทำงานที่บ้าน” โดยพื้นที่การบังคับใช้ คือ 10 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพ นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา
นอกจากนี้ ในข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 27 ยังกำหนดมาตรการ ห้ามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร” โดยขยายองค์ประกอบความผิดให้กว้างออกให้ครอบคลุมถึงการโพสต์ข้อความให้ประชาชนหวาดกลัวแม้จะเป็นความจริงก็ตาม

สถานศึกษา-สถานบันเทิง ถูกสั่งปิดบ่อยและยาวนาน

ในการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งสามระลอก มาตรการที่รัฐใช้เป็นมาตรการหลัก คือ “การล็อคดาวน์” และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้บ่อยครั้งและยาวนานที่สุด คือ กลุ่มสถานบันเทิง ผับ บาร์ กับ กลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โดยถ้านับถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ในพื้นที่เฉพาะกรุงเทพมหานคร จะพบว่า
กลุ่มสถานบันเทิง ผับ บาร์  ถูกสั่งปิดรวมกันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 258 วัน แบ่งเป็น
  • สั่งปิดสถานที่ ครั้งที่หนึ่ง 18 มีนาคม 2563 – 30 มิถุนายน 2563 รวมระยเวลา 105 วัน
  • สั่งปิดสถานที่ ครั้งที่สอง 29 ธันวาคม 2563 – 24 กุมภาพันธ์ 2564 รวมระยะเวลา 58 วัน
  • สั่งปิดสถานที่ ครั้งที่สาม 9 เมษายน 2564 – วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 รวมระยะเวลา 95 วัน
ในขณะที่กลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา ถูกสั่งปิดและเปิดได้บางส่วนรวมกันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 215 วัน แบ่งเป็น
  • สั่งปิดสถานที่ ครั้งที่หนึ่ง 28 มีนาคม 2563 – 16 พฤษภาคม 2563  รวมระยเวลา 50 วัน
  • สั่งเปิดให้ใช้สถานที่ได้บางกรณี ครั้งที่หนึ่ง 17 พฤษภาคม 2563 – 30 มิถุนายน 2563 รวม 45 วัน
  • สั่งปิดสถานที่ ครั้งที่สอง 29 ธันวาคม 2563 – 31 มกราคม 2563  รวมระยเวลา 34 วัน
  • สั่งปิดสถานที่ ครั้งที่สาม 18 เมษายน 2564 – 12 กรกฎาคม 2564 รวมระยเวลา 86 วัน
โดยผลกระทบของการที่รัฐสั่งปิดสถานที่ อย่างเช่น โรงเรียน สถานศึกษา พบว่า มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือ ไม่สามารถที่จะเรียนในรูปแบบออนไลน์ได้ ทั้งนี้ จากข้อมูลของ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤติ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า การปิดโรงเรียนส่งผลต่อให้เด็กเกิดความถดถอยทางการเรียนรู้ 20-50% ทั้งด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ส่วนการปิดสถานประกอบการก็ส่งผลต่อกลุ่มคนหลากหลายอาชีพ 
ด้านกลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนฯ และศิลปิน ก็ได้รับผลกระทบจากการที่รัฐออกมาตรการล็อกดาวน์และปิดสถานบันเทิงเป็นระยะเวลานาน ทำให้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ทางสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนฯ และศิลปิน เดินทางเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยปลดล็อกกิจการภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 พร้อมชี้ว่า คนกลางคืนโดนสั่งปิดก่อนแต่เปิดทีหลัง แต่ไร้การเยียวยา 
นอกจากนี้ บรรดาร้านอาหารและเครื่องดื่มก็ต้องเผชิญกับศึกหนัก แม้ว่าจะยังให้เปิดให้ขายได้ แต่ก็ถูกจำกัดทั้งด้วยมาตรการไม่ให้นั่งทานที่ร้าน-ให้ซื้อกลับบ้าน หรือ การให้เปิดนั่งทานในร้านได้ไม่เต็มที่ก็ส่งผลให้มีผู้ประกอบการร้านอาหารที่ตัดสินใจปิดกิจการทั้งแบบชั่วคราวและถาวรแล้ว 50,000 ราย และเตรียมปิดกิจการทั้งแบบชั่วคราวและถาวรอีก 50,000 ราย จากการเปิดเผยข้อมูลของ ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย

มาตรการทางสาธารณสุข คือ “หัวใจสำคัญ” แต่ถูกละเลย

ที่ผ่านมา ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับว่าสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีในระลอกแรก แต่ความสำเร็จดังกล่าวก็เป็นความสำเร็จจากการทำหน้าที่ของบุคลากรทางแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) รวมถึงเป็นความสำเร็จจากการร่วมมือของประชาชน ในขณะที่รัฐบาลซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ กลับปล่อยปละละเลยให้มีการระบาดซ้ำ ทั้งจากกรณีแขกวีไอพีของรัฐ ปัญหาการลักลอบข้ามชายแดน และกรณีคลัสเตอร์ทองหล่อ จนในท้ายที่สุด ประเทศไทยที่ควรจะเข้าสู่การฟื้นฟูประเทศก็ยังต้องวนอยู่กับการล็อกดาวน์
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น รัฐบาลไทยยังขาดการเตรียมพร้อมให้กับระบบสาธารณสุข แม้ว่าจะเคยออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินถึงสองครั้ง เป็นวงเงินถึง 1.5 ล้านล้านบาท พร้อมกับตั้งงบไว้สำหรับแผนงานสาธารณสุขไว้ถึง 75,000 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล แต่ทว่า งบประมาณส่วนดังกล่าวกลับมีการอนุมัติล่าช้าไม่ถึงครึ่งของงบที่ตั้งไว้ และการเบิกจ่ายจริงก็ยังล่าช้า จนส่งผลให้หลังการระบาดครั้งใหญ่ โรงพยาบาลไม่มีความพร้อมในการรับมือ และมีคนเข้าไม่ถึงการตรวจและการรักษาพยาบาลจำนวนมาก
นอกจากนี้ ความผิดพลาดที่สำคัญ อีกประการคือ “การบริหารจัดกาวัคซีนที่ผิดพลาด” เนื่องจากหวังพึ่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศในสัดส่วนที่สูงมาก และหวังอาศัยวัคซีนซิโนแวคเป็นตัวเสริม ดังนั้น เมื่อวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าไม่มาตามจำนวนและเวลาที่ตั้งเป้าไว้ ทำให้ต้องสั่งวัคซีนซิโนแวคมาแก้ขัด แต่ทว่า วัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิผลไม่สูงในการสร้างภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะกับสายพันธุ์เดลต้า โดยมีข่าวพบแพทย์ด่านหน้าที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคไปถึงสองเข็มแต่ก็ยังติดเชื้อโควิดได้อยู่ จนสุดท้าย ประชาชนและแพทยสภาต้องออกมาเรียกร้องกดดันเพื่อให้มีการนำเข้าวัคซีนชนิดแบบ mRNA ที่ถูกมองว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคระบาดมากกว่าวัคซีนที่มีอยู่แทน