4 เหตุผลที่ต้องยุบ ศบค.

เดิมที่การจัดการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอำนาจรับผิดชอบโดยตรงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2548 ต่อมาเมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน วันที่ 25 มีนาคม 2563  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้ประกาศโอนอำนาจจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาเป็นของนายกฯ และตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” หรือ “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19” (ศบค.) ขึ้น โดยมี พลเอกประยุทธ์ เป็นผู้อำนวยการ โดยอ้างเหตุผลความจำเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัย รวมทั้งการฟื้นฟูและเยียวยาประชาชนอย่างเข้มงวดและเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของ ศบค. ภายใต้พลเอกประยุทธ์ กลับให้ผลลัพธ์เป็นไปในทางตรงกันข้าม ประเทศไทยเกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ถึงสามระลอก และในปี 2564 การระบาดได้ลุกลามบานปลายอย่างรุนแรง จนเกินศักยภาพในการรับมือของระบบสาธารณสุข และการเยียวยาประชาชนก็ไม่ตรงจุดและไม่ทั่วถึง ทำให้มีการตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการมี ศบค. ในการแก้ไขปัญหาจนมีข้อเสนอในมีการยุบ ศบค. ด้วยมีเหตุผลดังนี้

51304084533_7e691e152e_o

รวมศูนย์ล่าช้า บริหารแบบราชการในภาวะวิกฤติ

การระบาดของโรคโควิด-19 คือวิกฤติของประเทศที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ด้วยเหตุนี้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งก็รวบอำนาจในกฎหมาย 40 ฉบับ เข้าสู่มือพลเอกประยุทธ์ ในฐานะ ผอ.ศบค. เพียงคนเดียว หรือที่เรียกกันว่า “single command” ในช่วงต้นของการระบาดจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ เพราะจะช่วยให้การตัดสินใจในสถานการณ์วิกฤติเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที ไม่ติดกับขั้นตอนราชการที่จะทำให้เป็นอุปสรรคได้

อย่างไรก็ตาม แม้พลเอกประยุทธ์จะมีอำนาจเต็มไม้เต็มมือตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่กลับใช้อำนาจเหมือนสถานการณ์ปกติ บริหารวิกฤติแบบราชการ ดังจะเห็นได้ว่า โครงสร้างการทำงานของ ศบค. ที่ยังเป็นขั้นตอนปกติที่เริ่มทำงานจาก ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ชุดเล็ก ที่มีเลขาธิการสภาความมั่งคงแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการ จากนั้นส่งต่อให้ ศบค. ชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ รวมทั้งการประชุมที่มักเป็นการประชุมในวันและเวลาราชการเป็นส่วนใหญ่แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเร่งตัดสินใจก็ตาม ด้วยเหตุนี้ทำให้ข้อมูลในการตัดสินใจล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์

กรณีตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การเซ็นต์สัญญาในการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกยี่ห้อ Moderna ให้กับโรงพยาบาลเอกชนที่ล่าช้า โดยติดขั้นตอนราชการในการร่างและตรวจสัญญาขององค์การเภสัชกรรม และสำนักงานอัยการสูงสุด ความล่าช้าที่เกิดจากหน่วยงานราชการจึงเป็นความรับผิดชอบของพลเอกประยุทธ์โดยตรง เพราะพลเอกประยุทธ์ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวบอำนาจกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่าง พ.ร.บ.องค์กรเภสัช พ.ศ. 2509 และพ.ร.บ.ความมั่งคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 เข้ามาอยู่ในมือเรียบร้อย ดังนั้นพลเอกประยุทธ์สั่งการและบังคับบัญชาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนได้

หลายกระทรวง หลายหน่วยงาน หลายคณะกรรมการ ทำงานซ้ำซ้อนกัน

ความพยายามใช้ระบบการบริหารแบบ single command โดยใช้ ศบค. เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาโรคระบาดอย่างบูรณาการของพลเอกประยุทธ์เละไม่เป็นท่า ไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างการทำงานภายใน ศบค. เองที่ทำงานทับซ้อนกัน เช่น เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 มีการตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยทำหน้าไม่แตกต่างจากที่ ศบค. ทำอยู่แล้ว ขณะที่องค์ประกอบของคณะกรรมการก็ไม่มีความแตกต่างจากเดิม โดยนายกรัฐมนตรียังคงเป็นผู้อำนวยการศูนย์ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติก็เป็นรองผู้อำนวยการคนที่หนึ่ง หรือในระดับจังหวัดเองก็มี “ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัด” ที่ทำงานซ้ำซ้อนกับ “คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด”

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนการบริหารที่ต่างคนต่างทำงานแต่ไร้ประสิทธิภาพ เช่น การสร้างแอพพลิเคชั่นเพื่อติดต่อผู้ติดเชื้อที่แต่ละหน่วยงานรัฐต่างทำขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ “หมอชนะ” (กระทรวงดิจิทัลฯ), “ไทยชนะ” (ศบค. และกระทรวงดิจิทัลฯ), “Air track” (กองทัพอากาศ), “Thai.care” (หอการค้าและกระทรวงสาธารณสุข) หรือล่าสุดระบบการจองวัคซีนที่มีทั้ง “หมอพร้อม” ที่จัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุข และยังมีระบบของแต่ละจังหวัด และแต่ละกระทรวงอีกต่าง การทำงานที่ซ้ำซ้อนกันได้สร้างความสับสนให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งสะท้อนความไร้ประสิทธิในการบริหารจัดการของพลเอกประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. 

ใช้ความมั่นคงนำสาธารณสุขจัดการโรคระบาด

การใช้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการตั้ง ศบค. นำมาซึ่งการให้ฝ่ายความมั่นคงเข้ามามีบทบาทในการบริการจัดการสถานการณ์โควิด-19 มากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการแต่งตั้งให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อย่างพลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็นผู้อำนวยการ ศบค.ชุดเล็ก ที่มีหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อน เร่งรัด ติดตามการทำงานของราชการ รวมทั้งการเสนอแนะ กลั่นกรองข้อเสนอต่างๆ ต่อ ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นและสำคัญมากกว่าคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ

นอกจากนี้ ในการทำงานควบคุมโรคในเชิงพื้นที่จังหวัด ยังได้มีการกำหนดให้มีการตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัด” หรือ “ศปก.จังหวัด” ขึ้น โดยได้นำฝ่ายความมั่งคงเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการ และให้มีรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรจังหวัด (ท) เข้ามาเป็นคณะทำงาน ร่วมกับหัวหน้าหน่วยราชการต่างๆ ภายในจังหวัด

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ จังหวัดนราธิวาส ที่นอกจากจะนำ รอง ผอ.รมน.จังหวัด (ท) แล้ว ยังนำ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส, ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน กองทัพเรือ,  ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 151 และ ผู้บังคับการหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 41 สำนักงานพัฒนาภาค 4  หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งโครงสร้างเช่นนี้ต่างจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่แม้จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเหมือนกัน แต่กรรมการส่วนใหญ่ตัวแทนจากฝ่ายสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก

สื่อสารสับสน ปลุกปั่นความกลัว

การสื่อสารของ ศบค. เป็นสิ่งที่เป็นปัญหาที่ชัดเจนที่สุดในการบริหารสถานการณ์โควิด-19 เป็นที่ประจักษ์ว่าการสื่อสารของ ศบค. แต่ละครั้งไม่เคยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้เลย เพราะการสื่อสารมักสร้างความสับสนให้กับประชาชน เช่น การสื่อสารที่ไม่ตรงกันระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะในกรณีของกรุงเทพมหานคร เมื่อท้องถิ่นออกมาตราการคลายล็อกดาวน์กิจการแปดประเภท แต่ต่อมาส่วนกลางยืนยันให้ล็อกดาวน์ต่อ รวมทั้งการให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกันกับ ศบค. ของบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มักเกิดขึ้นซ้ำ

นอกจากนี้ ศบค. มักไม่ชี้แจงสถานการณ์หรือมาตรการต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา แต่เลือกประดิษฐ์ถ้อยคำใหม่ๆ เพื่อสร้างความสับสน เช่น ไม่ใช้คำว่า “ล็อกดาวน์” แต่ใช้คำว่า “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติไม่มีความแตกต่างกัน หรือย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้นของการระบาด ศบค. มักสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชน ด้วยการแสดงตัวเลขการติดเชื้อที่มากขึ้นพร้อมทั้งเตือนประชาชนว่า อย่าการ์ดตก ไร้วินัย รวมทั้งการขู่มขู่ เช่น การแถลงของโฆษก ศบค. ที่กล่าวว่า หากไม่โหลดแอป “หมอชนะ” จะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จนสร้างความสับสนอลม่านให้กับประชาชน 

ยุบ ศบค. ใช้ระบบปกติเลือกคนที่มีความรู้จริง มีภาวะผู้นำ

ข้อเสนอให้ยุบ ศบค. ดังขึ้นมากจากในสภาโดยเฉพาะจากฟากฝั่งฝ่ายค้านที่ เช่น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลที่เสนอว่า ต้องมีการปรับ ครม. ดึงคนรุ่นใหม่ คนเก่ง จริงจัง เข้าใจปัญหา เข้ามาเป็นรัฐมนตรีโดยเฉพาะในกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข โดยตรงมองการบริหารด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจเป็นเรื่องเดียวกัน 

ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี จากกลุ่มแคร์ ก็เสนอว่าหัวใจสำคัญของวิกฤติภาวะผู้นำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พิสูจน์แล้วไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิ จึงต้องมีการเป็นตัวผู้นำในการแก้ไขปัญหาวิกฤติ และยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เอาฝ่ายสาธารณสุขที่เชี่ยวชาญเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา กลับไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งให้อำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาครอบคลุมอยู่แล้ว และที่ผ่านมาการแก้ไขวิกฤติโรคระบาดไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดนกหรือโรคซาร์ ก็ต่างใช้วิธีนี้ด้วยกันทั้งสิ้น